“บางครั้งก็เกรงใจน้องสาว เป็นแบบนี้แล้วยังต้องให้น้องมาลำบากกับเราอีก อยากหายเร็วๆ บางทีชีวิตเราอาจอยู่ได้ไม่นาน ถ้าหายแล้วก็ออกไปช่วยน้องสาวได้บ้าง”
อีกหนึ่งอุปสรรคของคนพิการบาดเจ็บไขสันหลังที่หลายคนอาจจะเคยผ่านหรือตอนนี้กำลังเผชิญอยู่ คงเป็นประสบการณ์การเป็นแผลกดทับ ที่ส่งผลสะเทือนทั้งต่อร่างกาย จิตใจ การใช้ชีวิต และครอบครัว
หลายคนอาจสงสัยว่า ทำไมคนพิการบาดเจ็บไขสันหลังต้องเป็นแผลกดทับ แล้วการเป็นแผลกดทับนั้นร้ายแรงอย่างไร เมื่อเป็นแล้วจะต้องดูแลจัดการยังไง และอะไรคืออุปสรรค์ในการรักษาแผลกดทับ
วันนี้เราได้คุยกับแก้ว คนพิการจากการบาดเจ็บไขสันหลัง ที่ตอนนี้กำลังเผชิญกับแผลกดทับอยู่ แผลกดทับครั้งนี้เป็นแผลครั้งที่ 2 แล้วตั้งแต่แก้วพิการ เขาอาศัยอยู่ที่อำเภอนครชัยศรี จังหวัดนครปฐม วันนี้ตอนเราเจอกัน แก้วกำลังนั่งอยู่บนวีลแชร์ที่ใต้ต้นมะม่วงริมชายคาบ้าน สีหน้าค่อนข้างเหนื่อยล้าและดูอ่อนเพลีย เขามีบ้านพักเป็นห้องแยกออกมาซึ่งอยู่ในที่ดินผืนเดียวกันกับครอบครัวของน้องสาว
หลังจากแนะนำตัวทักทายกัน ประเด็นแรกที่ได้พูดคุยกับแก้วคือเรื่องสาเหตุของความพิการ แก้วพิการมา 14 ปีแล้ว จากอุบัติเหตุตกรถมอเตอร์ไซค์ ทำให้ตั้งแต่หน้าอกลงมาไม่มีความรู้สึก ขาสองข้างใช้การไม่ได้ แต่แขนสองข้างมีกำลัง ตอนที่เกิดเหตุแก้วถูกส่งตัวเข้ารับการรักษาเบื้องต้นที่โรงพยาบาลประจำอำเภอแถวบ้าน และถูกส่งต่อไปโรงพยาบาลประจำจังหวัด และรักษาตัวอยู่ที่นั่นจนครบวงเงินรักษาตาม พ.ร.บ.คุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ ในวงเงินหนึ่งหมื่นบาท เมื่อหมดงบก็ถูกส่งไปที่โรงพยาบาลเอกชนที่ทำประกันสังคมไว้ในจังหวัดนครปฐม อีกปีกว่า
ตอนที่แก้วกำลังจะเล่าให้ฟังต่อว่า ขณะรักษาอยู่โรงพยาบาลเอกชนนั้นเป็นอย่างไร หมอจากโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลก็เข้ามาหาพอดีเพื่อล้างแผลให้ เราหยุดคุยกัน เพื่อให้แก้วกลับเข้าห้องพักและล้างแผลให้เสร็จก่อน แก้วเข็นรถเข้าไปในห้องนอน เทียบวีลแชร์ติดกับเตียงนอน แล้วย้ายตัวเองขึ้นเตียง จัดท่าทางร่างกายแล้วพลิกตัวลงในท่านอนคว่ำด้วยความระมัดระวัง เพื่อให้หมอทำแผลที่อยู่เหนือก้นกบ หมอทักทายชวนแก้วคุยไปด้วยระหว่างทำแผล
หลังจากล้างแผลเสร็จ เราก็คุยกันต่อในห้องของแก้ว เพื่อให้แก้วได้เปลี่ยนท่าทางจากการนั่ง เป็นนอนบนเตียง เขาเล่าให้ฟังว่า การนอนรักษาตัวที่โรงพยาบาลเอกชนเป็นจุดเริ่มต้นของแผลกดทับครั้งแรก ตอนนอนรักษาตัวใหม่ๆ สภาพจิตใจของเขาแย่จนไม่อยากทำอะไร ได้แต่หวังว่าคงจะกลับมาหายและเดินได้อีกครั้ง
แผลกดทับ
“ตอนนั้นไม่รู้หรอกว่าแผลกดทับเป็นยังไง ไม่มีใครบอกหรือแนะนำอะไรเลย ตอนนั้นหมอบอกว่ามีหน่อดำๆ ขึ้นที่เหนือก้นและต้องคว้านเนื้อดำๆ นั้นออก เราถึงรู้จักว่านี่คือแผลกดทับ อยู่ไปอยู่มาก็เกิดแผลรอบตัว สะโพกซ้ายขวา ง่ามขาก็เป็นหมดเลย” แก้วเล่า
พอแก้วขาดส่งเงินประกันสังคมเขาก็ต้องกลับมาอยู่บ้าน ช่วงแรกที่กลับมาพี่สาวของเขายังไม่เสียชีวิต จึงได้พี่สาวเป็นคนคอยช่วยทำแผลให้ แต่แผลก็ดูไม่ดีขึ้นเลย พี่สาวเลยส่งไปรักษาที่โรงพยาบาลประจำอำเภอโดยใช้สิทธิบัตรทอง
“ตอนนั้นก็รักษาแบบตามมีตามเกิด ไม่ค่อยได้รับความใส่ใจสักเท่าไหร่ ได้เวลาล้างแผลก็ล้างๆ ไป ช่วงนั้นเหมือนร่างกายผอมลงเริ่มไม่รับอาหาร เหลือแต่หนังหุ้มกระดูก ทำความสะอาดได้แต่เช็ดตัว เวลาถ่ายท้องก็ต้องรอตอนที่พยาบาลมาทำแผล ถ้าไม่ใช่ช่วงล้างแผลก็ต้องรอจนกว่าจะมาล้างแผล และไม่มีใครแนะนำการดูแลเรื่องแผลกดทับเลยแม้นอนอยู่ที่นี่เกือบปี” แก้วเล่าต่อ
กระทั่งมีคนพิการจากศูนย์การดำรงชีวิตอิสระของคนพิการพุทธมณฑล เข้ามาเยี่ยมที่โรงพยาบาลประจำอำเภอและเห็นแผลไม่ไหวแล้ว เนื้อสะโพกซ้ายขวาปูดออกมาสีเขียวปิ้ จึงประสานส่งต่อไปรักษาที่โรงพยาบาลพระมงกุฎเกล้า แต่ก่อนจะไปได้ต้องไปที่โรงพยาบาลประจำจังหวัดก่อน ไปถึงก็รู้สึกว่าเขาไม่เต็มใจรักษา อยู่แค่ 3- 4 วัน โรงพยาบาลก็โทรให้โรงพยาบาลประจำอำเภอมารับกลับ โดยไม่บอกเหตุผล จนคนจากศูนย์การดำรงชีวิตอิสระของคนพิการพุทธมณฑลมาอีกเห็นเราเหลือแต่กระดูกจึงรีบประสานส่งตัวไปที่โรงพยาบาลพระมงกุฎเกล้าและ หมอก็ตอบรับบอกให้ส่งตัวมาผ่าตัด
ผมขยับตัวเข้าไปนั่งใกล้ติดกับแก้วเข้าไปอีกหน่อย เพื่อฟังสิ่งที่เขาพูด เพราะแก้วมีปัญหาเรื่องการได้ยิน จึงต้องพูดใกล้และใช้เสียงดังขึ้น เขาเล่าต่อว่า การรักษาของโรงพยาบาลพระมงกุฎเกล้าแตกต่างจากหลายที่ที่เคยรักษามา หมอให้นอนคว่ำออกมาจากห้องผ่าตัดเพราะแผลอยู่เหนือก้น เวลากินข้าวก็ต้องคว่ำกิน หมอให้กินอาหารเสริมและกินข้าวเยอะๆ พยายาบาลก็คอยมาพลิกตัวให้ทุกๆ 2 ชั่วโมง เรานอนคว่ำอยู่ประมาณ 9 เดือน จนแผลแห้งและหาย ถึงได้นอนหงายบนที่นอนลม
ที่นอนลม
แล้วที่นอนลมดียังไง เราถาม แก้วขยายความให้ฟังว่า ที่นอนลมมีสองแบบ คือแบบลอนยาวๆ และแบบหลุม คล้ายๆ หลุมขนมครก ที่นอนลมช่วยบรรเทาอาการ ทำให้แผลไม่หนักขึ้น หากนอนหงายจะช่วยถ่ายน้ำหนักตัวไม่ให้กดทับในจุดใดจุดหนึ่งนานเกินไป ไม่เหมือนกับที่นอนธรรมดาที่นอนแล้วจะรู้สึกเป็นแผ่นเดียวแข็งๆ
แก้วเล่าด้วยสายตาที่รู้สึกดี
“เรารักษาที่นี่ 9 เดือน เข้าห้องผ่าตัดทั้งหมด 13 ครั้ง รอให้ร่างกายพักฟื้น จนแผลหายสนิทก็กลับมาบ้านใช้ชีวิตปกติตั้งแต่ปี 2553 กระทั่งปี 2564 แผลก็กลับมาเป็นใหม่อีกครั้ง” แก้วเล่า
จากสิ่งที่ได้ยินจากแก้วเล่าก็รับรู้ได้ว่า แก้วต้องใช้ความอดทนเป็นอย่างมากเพราะการต่อสู้กับแผลกดทับนั้นไม่ใช่เรื่องง่ายๆกว่าจะผ่านมาได้ และกว่าจะกลับมาใช้ชีวิตปกติได้ก็กินเวลายาวนาน เรารู้สึกยินดีไปด้วยเมื่อแก้วเล่าพร้อมสีหน้าอาบรอยยิ้ม แต่แล้วไม่นานเขาก็เริ่มเล่าว่า แผลกดทับที่รุนแรงได้กลับมาหาเขาอีกครั้งหลังจากติดเชื้อในกระเพาะปัสสาวะ
แววตาของแก้วเริ่มเปลี่ยน บ่งบอกถึงความกังวลและเล่าต่อว่า แผลรอบที่สองเริ่มจากการติดเชื้อในกระเพาะปัสสวะหลังนอนอยู่ที่บ้านแล้วรู้สึกว่าหนาว มีไข้สูง ต้องใส่เสื้อหนาๆ ช่วยเหลือตัวเองไม่ไหวจนต้องโทรตามเพื่อนให้พาไปส่งโรงพยาบาลประจำอำเภอ นอนอยู่ 5 - 6 วันขาก็บวม ขยับตัวเองไม่ได้ มันรู้สึกหนัก ลุกขึ้นไม่ไหว ช่วยเหลือตัวเองไม่ได้และไม่มีญาติไปเฝ้า
แผลกดทับรอบที่ 2
“ตอนนั้นเพราะพี่สาวเสียแล้ว ส่วนน้องสาวก็มีงาน มีลูกน้อยต้องดูแล ผมเองนอนบนที่นอนธรรมดา ไม่ใช่ที่นอนลม ถ่ายหนักก็ไม่ทำให้ ได้ญาติเตียงข้างๆ คอยเช็ดตัว หยิบผ้าไปชุบน้ำให้ หลังจากหายติดเชื้อก็กลับมาที่บ้านจึงเห็นแผลใหญ่”
หลังจากเกิดแผลรอบ 2 แก้วได้เรียนรู้การล้างแผลด้วยตัวเอง จากฝ่ายเวชศาสตร์ฟื้นฟู โรงพยาบาลพระมงกุฎเกล้า ที่นี่เขาได้เจอคนพิการที่พิการคล้ายกันและได้แลกเปลี่ยนแนะนำวิธีการล้างแผล จึงได้รู้ว่า หากมีแผลเหนือก้นก็สามารถใช้กระจกตั้งส่องและนอนตะแคงให้เห็นแผล หลังจากนั้นจึงค่อยๆ ล้าง
“เวลาเราทำแผลเองก็รู้สึกว่าไม่ยาก ไม่เห็นต้องรอคนอื่นมาล้างให้ บางทีคนล้างให้ก็อารมณ์เสียมาใส่อารมณ์กับเรา ตอนล้างแผลก็บ่นว่าเหนื่อย ผมเลยเกรงใจที่ไปเพิ่มภาระให้เขา แต่กลายเป็นว่าสุดท้ายล้างเองแผลกลับไม่ดีขึ้น” แก้วเล่า
เมื่อแผลมีทีท่าไม่ดีขึ้น แก้วก็ไม่สามารถทำเองได้อีกต่อไป เขาจึงปรึกษากับนักพัฒนาชุมชนของเทศบาล และประสาน อสม.ให้เข้ามาดู เมื่อปรึกษากับหมอที่โรงพยาบาลส่งเสริมตำบลแล้วก็ลงความเห็นกันว่า หมอต้องเข้ามาล้างให้ทุกวันยกเว้นวันหยุด โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย สุดท้ายก็ได้มานอนที่โรงพยาบาลพระมงกุฎเกล้า
จังหวะนี้แก้วดูผ่อนคลายกังวลลงเมื่อได้รับการรักษา แต่เพราะการระบาดของโควิด - 19 แผลที่กำลังจะได้รับการผ่าตัดจึงต้องเลื่อนออกไป
“ใกล้ถึงวันผ่าตัดมีพยายาบาลในวอร์ดติดโควิด เราเลยอดผ่าตัดและถูกส่งตัวกลับให้มานอนที่บ้านจนถึงตอนนี้ แต่ถ้าจะให้ไปนอนที่โรงบาลประจำอำเภอก็ไม่อยากไปแล้ว กลัว เพราะเคยได้ยินเจ้าหน้าที่พูดว่า พาไปแล้วไม่ต้องพากลับมาอีกแล้วนะ อยู่ก็เป็นแผล พากลับไปอยู่บ้านเลย”
แผลที่กดทับชีวิตอิสระ
เราหยุดพักช่วงสั้นๆ ก่อนจะชวนแก้วคุยกันเรื่องผลกระทบของแผลกดทับต่อการใช้ชีวิตประจำวัน แววตาของแก้วกำลังครุ่นคิดและค่อยๆ ตอบว่า แผลนี้ทำให้เขาไม่สามารถออกไปไหนได้ จากที่เคยออกไปตลาดเองได้ ก็ไปไม่ได้ ต้องรอรักษาให้แผลหายก่อนถึงจะใช้ชีวิตตามปกติได้ เขาย้ำว่าขนาดร่างกายไม่รู้สึกเนื่องจากเส้นประสาทที่ถูกทำลายแต่แผลกดทับก็ยังเจ็บปวดทรมาน ทรมานยิ่งกว่าอะไรทั้งนั้น ตอนนี้ก็มีแต่เราที่ได้แต่นั่งฟังอย่างตั้งใจเงียบๆ อยู่ข้างเตียง และรับรู้ได้ว่าแก้วกำลังทุกข์ใจ อึดอัดใจอย่างมาก
“แผลนี้กระทบกับคนอื่นด้วย บางทีน้องสาวก็ต้องมาดูแลเราจนเหนื่อย บางครั้งก็เกรงใจน้องสาวนะ (ร้องไห้) เป็นแบบนี้แล้วยังต้องให้น้องสาวมาลำบากกับเราอีก ไอ้เราก็อยากหายเร็วๆ ถ้าหายแล้วเรายังออกไปช่วยน้องสาวได้บ้าง เป็นแบบนี้ช่วยอะไรไม่ได้เลย ทุกวันนี้มีอะไรก็ยกให้น้องสาวหมดแล้ว แม้แต่ที่ดินก็ยกให้น้องสาวหมดเลย เพราะคิดว่าชีวิตเราอาจจะอยู่ได้อีกไม่นาน แต่ยังไงก็ต้องสู้ สู้จนวาระสุดท้ายเท่าที่จะไหว เราบอกน้องสาวไว้ว่า ถ้ารักษาแผลหายจะลงทุนหาซื้อต้นไม้สวยๆ มาปลูก แต่สุดท้ายก็ทำไม่ไหว”
จนถึงตอนนี้ เราได้แต่สงสัยว่า ระบบการดูแลรักษาแผลกดทับในกลุ่มคนพิการบาดเจ็บไขสันหลังระดับพื้นที่ เหตุใดจึงเป็นเช่นนี้ จึงถามแก้วตรงๆ ว่า การรักษาแผลกดทับนั้นมีข้อจำกัดอะไร
ในมุมของแก้ว ที่ไม่รู้ว่าแผลกดทับเกิดขึ้นได้อย่างไร อาจเพราะไม่มีใครให้ข้อมูลตั้งแต่แรก หนำซ้ำโรงพยาบาลแถวบ้านก็ไม่มีหมอที่เชี่ยวชาญเหมือนกับโรงพยาบาลใหญ่ๆ ที่มีหมอศัยลกรรมเกี่ยวกับแผลเฉพาะทางคอยดูแล
“โรงพยาบาลแถวบ้านมีหมอคนเดียวตรวจหมดทุกโรค บ้างก็วินิจฉัยโรคผิด เข้าใจว่าโรงพยาบาลขนาดเล็กอาจมีหมอไม่พอ หากต้องปรับปรุงเรื่องการจัดการแผลกดทับคงต้องเริ่มจากบุคลาการ เช่น พยายาบาล ผู้ช่วยพยายาบาล ที่ต้องมีความรู้เกี่ยวกับความพิการและคนพิการ ที่ปัจจุบันยังไม่ค่อยมีความรู้ แตกต่างจากโรงพยาบาลพระมงกุฎเกล้า ที่รู้ว่าคนพิการแบบนี้ควรดูแลแบบไหน ส่วนการดูแลเรื่องแผลกดทับ หรือป้องกันไม่ให้เกิดแผลกดทับก็ควรต้องมีอุปกรณ์ป้องกันที่จำเป็น เช่น เบาะลม ที่นอนลมคุณภาพดี เพราะช่วยป้องกันแผลกดทับเวลานั่งรถเข็น” แก้วเล่า
แก้วได้ฝากถึงเพื่อนๆ คนพิการบาดเจ็บไขสันหลังไว้ว่า ถ้ายังไม่เคยเป็นแผลกดทับก็ขอให้ดูแลตัวเองดีๆ หมั่นยกตัวบ่อยๆ ถ้านั่งรถเข็น หาเบาะลมมานั่ง นอนตะแคงและเปลี่ยนท่าบ่อยๆ อย่านอนหงายนาน เพราะเวลาเป็นแล้วแผลกดทับนั้นอาจกินเนื้อเข้าไปถึงกระดูกซึ่งทรมานมาก