Skip to main content

ถอดรหัสคดีฆาตกรรมคนพิการรุนแรง มีอะไรมากกว่าข่าวสลด

หนึ่งในข่าวเศร้าที่สุดในรอบสัปดาห์ อย่างข่าวการจบชีวิตลูกที่เป็นคนพิการรุนแรงจนติดเตียง ก่อนที่พ่อจะฆ่าตัวตายตามทำให้ใครหลายต่อหลายคนรู้สึกใจหายไปตามๆ กัน  ดังที่หนังสือพิมพ์พาดหัวข่าวว่า "สุดเศร้า พ่อจำใจรัดคอลูกป่วยติดเตียงก่อนลาโลกตาม แม่เล่าน้ำตาตก หมดเงินค่ารักษา"

เนื้อข่าวเล่าว่าผู้เสียชีวิตรายแรกเป็นชายวัย 22 ปี ถูกฆ่ารัดคอด้วยเชือกไนล่อนบนเตียงและไม่มีร่องรอยการต่อสู้ ในเวลาต่อมาก็พบศพอีกรายเป็นชายอายุ 54 ปี บิดาของผู้เสียชีวิตรายแรก เขามีบาดแผลเฉือนบริเวณลำคอเป็นแผลฉกรรจ์ และมีมีดพร้าตกใกล้มือด้านขวา

จากการพูดคุยกับแม่และภรรยาของผู้เสียชีวิตเล่าว่า ก่อนหน้านี้ลูกชายประสบอุบัติเหตุบนถนน ทำให้คอและกระดูกสันหลังหักกลายเป็นผู้ป่วยติดเตียง ต้องนอนรักษาตัวอยู่ในโรงพยาบาลนานหลายสัปดาห์ กระทั่งภายหลังกลับมารักษาต่อที่บ้านเนื่องจากไม่มีเงินค่ารักษาพยาบาล

ในด้านของสามีหรือพ่อ พอเห็นสภาพลูกชายกลายเป็นผู้ป่วยติดเตียง ได้แต่ยืนมองน้ำตาคลอเบ้าและเป็นคนคอยทำหน้าที่ดูแล เปลี่ยนแพมเพิร์สและนอนใต้เตียงผู้ป่วยเพื่อเฝ้าลูกชายเป็นประจำ จนวันที่เกิดเหตุ แม่กับลูกสาวคนเล็กออกไปดูข้าวในนา จึงบอกกับสามีว่าถ้าลูกหิวข้าวก็ป้อนด้วย หากกลับจากนาก็จะมาล้างแผลกดทับให้เอง แต่เมื่อกลับมากลับพบว่า ลูกและสามีหมดลมหายใจแล้ว

หากย้อนกลับไป จะพบว่านี่ไม่ใช่ข่าวเศร้าสลดข่าวแรก ในช่วงเดือนกันยายนปีนี้ที่จังหวัดลำปาง ก็เกิดเหตุลูกชายใช้มีดแทงแม่ซึ่งเป็นผู้ป่วยติดเตียงจนเสียชีวิต เนื่องจากความเครียดเมื่อต้องดูแล อย่างไรก็ดี แม้สังคมส่วนหนึ่งจะเห็นใจและเห็นถึงปัญหาความเครียดของผู้ดูแล แต่อีกด้านก็ยังมองว่า การฆ่านั้นบาปกรรมหรือไม่ก็มองว่าพ่อแม่ป่วยแค่นี้ทำไมดูแลไม่ได้ กระทั่งมองว่าเป็นลูกอกตัญญู

ประเทศไทยมีคนพิการรุนแรงกว่าแสนคนและมีผู้ช่วยคนพิการ (Personal Asisstance-พีเอ) ที่ได้การรับรองจากรัฐทั้งหมด 539 คน ภายใต้จำนวนที่ต่างกันขนาดนี้ ทำให้คนพิการจำนวนมากเข้าไม่ถึงสิทธิในการได้รับบริการผู้ช่วยคนพิการ คนในครอบครัวจึงต้องผันตัวเองกลายเป็นผู้ดูแล ซึ่งเป็นงานที่เสมือนว่าจะไม่มีวันจบสิ้น

ภาระหน้าที่ที่พ่วงมากับสิทธิที่ขาดหายไปและงานใหม่ที่เพิ่มขึ้นไม่ได้หนักหนาเฉพาะแค่เรื่องการใช้แรงกาย เศรษฐกิจครัวเรือนที่เริ่มฝืดเคืองจากการสูญเสียรายได้ ความเหน็ดเหนื่อยจากหน้าที่ที่ไม่มีวันหมดและความเครียดที่เกิดขึ้นเท่านั้น แต่การดูแลคนรักโดยผู้ดูแลที่เป็นคนในครอบครัวกลายเป็นเรื่องต้องคิดหนักเมื่อรวมถึงเงินค่ารักษาพยาบาล อุปกรณ์ เตียง วีลแชร์ แพมเพิร์สรวมทั้งความเครียดจากการดูแลผู้ป่วยติดเตียง การจัดการแผลกดทับและจัดการอุจจาระ ปัสสาวะ

พาย-ภาริอร วัชรศิริ เคยให้สัมภาษณ์ (อ่านที่นี่) ถึงการดูแลแม่ซึ่งเป็นผู้ป่วยติดเตียงว่าเธอเองซึ่งเป็นผู้ดูแลต้องประสบกับแรงกดกันค่อนข้างมาก คนดูแลหลายคนกลายเป็นผู้ป่วยไปเสียเองจากการดูแลคนอื่นเป็นเวลานาน อีกทั้งยังเมื่อไม่มีความรู้เรื่องการดูแลผู้ป่วยก็ยิ่งเพิ่มความกดดัน หลายคนจึงเลือกส่งพ่อแม่หรือผู้ป่วยในบ้านไปอยู่บ้านพักคนชรา หรือหากมีเงินทุนก็จ้างคนดูแล แทนที่จะดูแลด้วยตัวเอง

เมื่อต้องกลายเป็นคนที่ดูแลคนในครอบครัว ปัจจัยความเครียดก็เกิดขึ้น พายเล่าว่า การทำร้ายผู้ป่วยติดเตียงเกิดขึ้นได้เสมอผ่านสถานการณ์ความเครียด โดยเฉพาะเมื่อต้องดูแลผู้ป่วยติดเตียงเพียงตัวคนเดียว

"คนป่วยไม่ได้น่ารักทุกคน แม้ว่าเขาจะเป็นพ่อแม่เรา หลายคนรู้สึกว่า เราจะต้องเข้าใจ เห็นใจ อดทนกับพ่อแม่ แต่คนดูแลก็เป็นมนุษย์ ไม่ได้เป็นหุ่นยนต์ ยังต้องรับส่งอารมณ์ พอเกิดการกระทบกระทั่งก็อาจพลั้งมือและจะรู้สึกผิดมหันต์ กลับมาโบยตีตัวเองหนักมาก

"เราเคยเขียนในหนังสือเล่มแรกว่า เราเคยตีแม่เพราะแม่ทำอะไรบางอย่างที่ไม่ดี พอตีแม่เสร็จเราก็ตบหน้าตัวเอง ความรู้สึกตอนนั้นคือ การถามซ้ำๆ ว่า ทำไมเราถึงทำ ทั้งที่เขาไม่มีทางตอบโต้ เรื่องเหล่านี้เป็นเป็นเรื่องที่ยากมากสำหรับผู้ดูแลคนป่วย มันท้าทายด้านมืดในความเป็นตัวเรา ทำให้เราเห็นตัวเองในแบบที่ละเอียดมากขึ้นและต้องไม่ลืมว่า ไม่ว่าคุณจะเป็นลูก แฟน เพื่อนหรือบทบาทไหนก็ตามของการเป็นผู้ดูแล คุณก็ยังเป็นมนุษย์" พายกล่าว

ในมุมของคนพิการหรือผู้ป่วยติดเตียงก็เครียดไม่ต่างกัน หลายคนหลังกลายเป็นคนพิการยังต้องใช้เวลาปรับตัว บางคนใช้เวลาหลายปี บางคนหลายสิบปี เก๋- สุพัตรา แวววับ เจ้าหน้าที่ศูนย์ดำรงชีวิตอิสระพุทธมณฑล จังหวัดนครปฐม สะท้อนปัญหาในฐานะคนพิการรุนแรง หลังเกิดความพิการเธอนอนติดเตียงอยู่ถึง 21 ปี และสภาวะที่เกิดขึ้นทำให้เธอกลายเป็นคนอารมณ์รุนแรง (อ่านที่นี่)

"เรากลายเป็นคนอารมณ์ฉุนเฉียวรุนแรง ยิ่งหนักขึ้นถ้าเจออะไรไม่ได้ดั่งใจก็จะโมโหและเริ่มทำร้ายตัวเอง เอามือฟาดกับพื้นแรงๆ เรื่องที่เราโมโหเป็นเรื่องอย่างพอนอนติดเตียง อุณหภูมิในร่างกายจะร้อนง่ายขึ้น เราก็เรียกให้เอาน้ำมาเช็ด พอไม่มีใครเอามาเราก็โมโห ทั้งๆ ที่ตอนเดินได้เราไม่เคยเป็นแบบนี้มาก่อน

"ช่วงกลางวันเราอยู่บ้านกับแม่ แม่รับซักรีดและไม่ค่อยมีเวลาว่างให้เราสักเท่าไหร่ สิ่งที่ทำได้จึงมีแค่นอนมองผนัง มองเพดาน ไม่ก็ดูโทรทัศน์ เพื่อรอพ่อกลับมาจากที่ทำงาน การนอนติดเตียงทำให้เราคิดไปเรื่อย คิดมากคิดว่าจะทำยังไงต่อและกังวลหากพ่อแม่เป็นอะไรไป"

ความเครียดของเก๋เห็นได้เด่นชัดเมื่อเธอไม่สามารถทำอะไรเองได้เหมือนเดิม อำนาจเหนือที่มีเพิ่มขึ้นของคนรอบตัวและความพิการที่ทำให้อำนาจของเธอในการตัดสินใจเรื่องต่างๆ ยิ่งลดน้อยลง โดยเฉพาะเมื่อคนในครอบครัวพ่วงสถานะของผู้ดูแล สภาวะคิดและตัดสินใจแทนเกิดขึ้นซ้ำๆ และดูเหมือนจะเลี่ยงไม่ได้  หากคนพิการอยากกินส้มตำปูปลาร้า แต่คนดูแลไม่ยอมเนื่องจากกลัวท้องเสียแล้วจัดการยาก คนพิการก็จำใจต้องยอมเพราะพวกเขาต้องพึ่งพาและอาศัยการดูแลจากผู้ดูแลอยู่ สิ่งเหล่านี้ส่งผลต่อคนพิการเป็นอย่างยิ่ง

ผู้ช่วยคนพิการหรือพีเอเป็นกลไกหนึ่งที่ได้รับการยอมรับว่าช่วยให้คนพิการรุนแรงได้มีชีวิตอย่างอิสระ พีเอนั้นทำหน้าที่เป็นผู้ช่วยเพื่อให้คนพิการสามารถทำกิจวัตรประจำวันของพวกเขาได้ผ่านการตัดสินใจด้วยตัวเองการมีพีเอทำให้คนพิการมั่นใจได้ว่า เมื่อวันที่ผู้ดูแล เช่น พ่อ แม่ ญาติพี่น้องนั้นตายไป เขาก็จะสามารถอยู่ได้ผ่านการตัดสินใจของเขาเอง  ระบบพีเอไม่เพียงถูกใช้ในประเทศไทยเท่านั้น แต่ยังถูกใช้และสนับสนุนโดยรัฐในประเทศที่พัฒนาแล้วหลายประเทศเพื่อให้คนพิการสามารถใช้ชีวิตได้ด้วยตัวเอง 

จากข้อมูลของจำนวนคนพิการรุนแรงและจำนวนผู้ดูแลคนพิการที่กล่าวไปในข้างต้น จะเห็นได้ว่าแม้ในไทยจะมีระบบสนับสนุนชนิดนี้ แต่จำนวนที่น้อยมากส่งผลให้เรื่องพีเอยังคงเป็นปัญหาใหญ่ ดังเช่นที่ธีรยุทธ สุคนธวิท ผู้อำนวยการศูนย์การดำรงชีวิตอิสระคนพิการ เคยระบุว่า ระบบพีเอเป็นการทำงานร่วมกันระหว่างคนพิการกับผู้ช่วย โดยเน้นการเลิกคิดแบบสงเคราะห์ หันมาเคารพสิทธิมนุษยชนและการรักษาความลับของผู้รับบริการ อย่างไรก็ดี พีเอภาครัฐที่เกิดขึ้นยังไม่ตอบโจทย์ที่คนพิการต้องการรับบริการ ตั้งแต่เรื่องของกระบวนการสรรหา พัฒนา ไปจนถึงความใส่ใจของภาครัฐต่อนโยบายพีเอ (อ่านที่นี่)

"ความไร้ประสิทธิภาพของการจัดพีเอภาครัฐ คือการให้พีเอไปหาลูกค้าคนพิการใกล้บ้านแล้วทำใบสัญญา แค่เริ่มต้นก็ผิดแล้วเพราะเขาไม่ได้สนใจว่า คนพิการคนนั้นเป็นกลุ่มเป้าหมายตามที่กฎหมายระบุไว้หรือเปล่า เช่น พิการรุนแรงจนไม่สามารถช่วยเหลือตัวเองในชีวิตประจำวันได้ พีเอที่มีจึงเลือกเคสที่ไม่ต้องดูแลอะไรเยอะ แค่วัดความดัน อ่านหนังสือพิมพ์ให้ฟัง บีบนวด ซื้อขนมมาฝาก นั่งคุยเล่น ฯลฯ การทำงานจึงไม่ตอบเจตนารมณ์ของกฎหมาย ฉะนั้นพีเอในระบบของรัฐเกินครึ่งนับว่าไม่ประสบผลสำเร็จและในจังหวัดที่ประสบความสำเร็จจะไม่ใช่พีเอที่ทำด้วยใจ แต่ทำตามคำสั่งและนโยบาย

“คนพิการรุนแรงหากมีเงิน พ่อแม่ดูแลดีก็ดี ไม่มีเงินก็ต้องปล่อยตามมีตามเกิด อยู่แบบสงเคราะห์ ไม่มีเกียรติ ไม่มีศักดิ์ศรี คนพิการจะเผยอหน้าอ้าปากอะไรไม่ได้เลย มืดแปดด้าน ได้แต่นอนคุยกับจิ้งจก ตุ๊กแกเท่านั้น

“เรื่องมาตรฐานการคัดคนและจ้างคนก็เป็นอีกเรื่องที่ต้องทำให้เกิด พีเอบางคนไม่ได้ค่าจ้าง ได้เพียงค่ารถ เขาจึงไม่อยากทำงานไกลบ้าน บางคนก็ได้แต่ค่าแรง ไม่ได้ค่าเดินทางหรือบางคนก็หัวใส เอาค่าเดินทางรวมกับค่าแรง แล้วบอกว่า นี่ไง! ขึ้นเงินค่าจ้างแล้ว เหตุผลเหล่านี้ทำให้ไม่มีใครอยากเป็นพีเอ หนำซ้ำ พมจ.บางจังหวัดไม่อยากจ่ายเงินให้พีเอเพราะไม่อยากจัดการ” ธีรยุทธกล่าว

จะเห็นได้ว่า ปัญหาข้างต้นตั้งแต่เรื่องของความเครียด ความกดดัน ชีวิตความเป็นอยู่ที่ไร้อำนาจของคนพิการ ไปจนถึงระบบผู้ช่วยคนพิการที่ยังไม่เป็นรูปร่างในไทย ล้วนทำให้ภาระการดูแลและการใช้ชีวิตของคนพิการรุนแรงนั้นตกเป็นเรื่องของปัจเจกบุคคล ปัญหาดังกล่าวทำให้เกิดโจทย์ใหญ่ว่าจะทำอย่างไรหากในอีกไม่กี่ปีบ้านเรามีคนพิการรุนแรงเพิ่มขึ้นและกลายเป็นสังคมผู้สูงอายุ และหากปัญหาที่เป็นรูปธรรมอย่างระบบผู้ช่วยไม่ถูกแก้ไขเกิดขึ้นอย่างเร่งด่วน เราก็คงต้องเห็นข่าวการฆาตกรรมคนพิการกันแบบนี้ต่อไป

 

อ้างอิง 

https://www.matichon.co.th/region/news_3006211

https://thisable.me/content/2020/02/594

https://thisable.me/content/2019/07/539

https://thisable.me/content/2017/08/261

https://www.youtube.com/watch?v=hWv2_RBq3eU