Skip to main content

ในงาน ICPD25 (International Conference on Population and Development) ที่กรุงไนโรบี ประเทศเคนย่าเมื่อวันที่ 12-14 พฤศจิกายนที่ผ่านมา มีเวทีที่ชื่อว่า We decide: Person with disability and the ICPD programme of action ที่นำเสนอความก้าวหน้าด้านงานคนพิการจากหลากหลายประเทศและหลากหลายภูมิภาค เช่น เคนย่า แปซิฟิก โมรอคโคและคอสตาริกา โดยมีจุดมุ่งหมายเดียวกันคือทำให้คนพิการมีอำนาจในการตัดสินใจเรื่องสิทธิอนามัยเจริญพันธุ์ และมีส่วนร่วมในสังคมได้อย่างเต็มที่

ตัวแทนจาก UNFPA ระบุว่า We decide คือโปรแกรมของ UNFPA ที่ทำงานรณรงค์เรื่องสิทธิมนุษยชน การมีส่วนร่วมทางสังคม และการสร้างภาวะผู้นำ โดยเฉพาะในกลุ่มผู้หญิงและวัยรุ่นหญิง

จากสถิติระบุว่า มี 1 ใน 7 คนเป็นคนพิการ เท่ากับว่ากว่า 1 พันล้านคนเป็นคนพิการ พวกเขาเผชิญกับความยากลำบาก ทั้งการใช้ชีวิตประจำวัน และสิ่งที่มากไปกว่านั้นคือการเข้าถึงสิทธิด้านสุขภาวะอนามัยเจริญพันธุ์ จากข้อมูลพบว่า วัยรุ่นหญิงที่พิการทางสติปัญญามีแนวโน้มที่จะเผชิญความรุนแรง และยิ่งรุนแรงขึ้นอีกเมื่อปัญหาเหล่านั้นไม่ได้รับการสนใจและแก้ไข


 

ตัวแทนจากประเทศเคนย่า แลกเปลี่ยนว่า ในวันที่ 14 ธันวาคม 2008 ประเทศเคนย่าได้เกิดกฎหมายด้านคนพิการขึ้นเป็นครั้งแรก และนับเป็นครั้งแรกที่งานด้านคนพิการก้าวหน้าขึ้นอย่างก้าวกระโดด วันนี้จึงเป็นวันที่คนพิการเคนย่าเฉลิมฉลอง และหวังว่าการเกิดขึ้นของกฎหมายในครั้งนี้จะทำให้งานด้านคนพิการพัฒนา คนพิการเข้าถึงสิทธิและทำให้เกิดการมีส่วนรร่วมทางสังคมมากขึ้น

ตัวแทนจากแปซิฟิก ซึ่งทำงานในองค์กร Disability forum ระบุว่า แปซิฟิกมีความพยายามพลักดันให้เยาวชนมีความเข้มแข็ง ที่จะสามารถนำเสนอความต้องการ ความคิดเห็น รวมทั้งเป็นปากเป็นเสียงให้กับคนพิการคนอื่นๆ นอกจากนี้ยังต้องเข้าร่วมผลักดันกฎหมายที่เกี่ยวข้องเพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการในประเทศ

นอกจากนี้ยังมีแพลตฟอร์มเยาวชน ซึ่งเป็นพื้นที่ปลอดภัยสำหรับเด็กและเยาวชน พันธกิจหนึ่งของประเทศแถบแปซิฟิกคือความร่วมมือระหว่างประเทศในหมู่เกาะ แลกเปลี่ยนกิจกรรมและทำงานร่วมกันในเชิงพาร์ทเนอร์


ตัวแทนคนหูหนวกจากเคนย่า ซึ่งทำงานเรื่องเทคโนโลยีแอปพลิเคชันภาษามือระบุว่า ปัญหาของคนหูหนวกคือการเข้าไม่ถึงข้อมูลข่าวสาร จึงมีเป้าหมายในการทำงานที่ต้องการให้คนหูหนวกเข้าถึงข้อมูลมากขึ้น  โดยการใช้แอปพลิเคชันล่ามภาษามือ เป็นสื่อการในการสื่อสาร นอกจากนี้อีกปัญหาหนึ่งที่คนหูหนวกมักพบคือ เข้าไม่ถึงบริการด้านสุขภาวะทางเพศและไม่มีที่ปรึกษา พวกเขาจึงทำแพลตฟอร์มที่ให้ความรู้เกี่ยวกับเรื่องนี้ขึ้นโดยเฉพาะ

ด้านตัวแทนจากคอสตาริกา เธอเป็นผู้นำเยาวชนที่ทำงานในประเด็นการดำรงชีวิตอิสระ หรือ IL-Independent Living มีข้อเสนอว่า คนพิการจะต้องถูกนับรวมในทุกกิจกรรม ต้องเข้าถึงการเรียนรู้เรื่องเพศ และคนพิการไม่ได้ไร้เพศ พวกเขาต้องได้รับการสอนเรื่องการคุมกำเนิด ยาคุม และการป้องกันโรค พวกเขาต้องมีความรู้ด้านกฎหมายเพื่อปกป้องตัวเอง และสามารถเปล่งเสียงเพื่อเรียกร้องผลักดันนโยบายต่างๆ ที่เหมาะสมกับเยาวชนพิการได้