Skip to main content

ในทุกปี การประกวดนางงามหูหนวกถูกจัดขึ้นคู่ขนานกับการประกวดนางงามกระแสหลัก เป็นการประกวดที่ทำให้ชุมชนคนหูหนวกภาคภูมิใจและมองว่าจะช่วยทำให้พวกเขาได้รับการปฏิบัติอย่างเท่าเทียม แต่น้อยครั้งนักที่ความภาคภูมิใจเหล่านี้จะถูกนำเสนอและได้รับกระแสความสนใจจากสื่อ รวมถึงมีน้อยคนที่จะรู้จักว่า ชุมชนคนหูหนวกก็มีการประกวดนางงามเฉกเช่นเดียวกัน

ชวนคุยกับปุ๊กกี้- กาญจนา พิมพา Miss Deaf Thailand คนล่าสุด หลังจากได้รับตำแหน่ง Miss Deaf Asia 2019 ที่เพิ่งประกวดในประเทศแอฟริกาใต้ ถึงเรื่องราวในชีวิตของเธอ ปัญหา อุปสรรคและแรงผลักดันที่ทำให้เธอก้าวขึ้นมาเป็นนางงามหูหนวกคนล่าสุดของประเทศไทย

ชีวิตวัยเด็ก

กาญจนา: สมัยก่อนตอนยังไม่รู้ภาษามือก็ใช้ชีวิตลำบาก สื่อสารกับคนในครอบครัวก็ไม่ได้ จนได้เรียนที่โรงเรียนโสตศึกษา จังหวัดอุดรธานี จึงสามารถสื่อสารกับพ่อแม่ได้ ใช้เขียนบ้าง สีหน้าบ้าง ภาษามือธรรมชาติบ้าง หลังเรียนจบ ม.6 ก็เรียนต่อมหาวิทยาลัยที่สกลนครและกำลังจะขึ้นปี 2 เรียนเกี่ยวกับด้านเทคโนโลยี

ความไม่เท่าเทียมที่เจอ

หลายเรื่อง ตั้งแต่เรื่องการเรียนที่มีอุปสรรค เราเคยมาสมัครเรียนในกรุงเทพฯ แต่หลายมหาวิทยาลัยก็ไม่รับ เพราะบอกว่าเราเรียนไม่ได้ ไม่มีล่ามภาษามือ

เรารู้สึกว่าเราอยู่ตัวคนเดียว รอบข้างมีแต่คนหูดี เราเห็นคนหูดีมีเพื่อน แต่เรากลับไม่มีเพื่อน ต้องอยู่บ้านตัวคนเดียว ตามพ่อแม่ไปไหนมาไหน จึงพยายามเรียนรู้การใช้ชีวิตจากเพื่อนหูดี ไปไหนกับเพื่อนหูดีโดยพูดคุยผ่านการใช้ท่าทาง ก็พอไปไหนกับเขาได้ อย่างเมื่อก่อนพี่สาวเราก็ใช้ภาษามือไม่ได้ ตอนนี้เขาก็ยอมเรียนและใช้ภาษามือกับเราในการพูดคุย

ความฝันของปุ๊กกี้

เราฝันอยากเป็นครู อยากเรียนมหาวิทยาลัย และอยากทำงานบริษัท แต่ก็มองว่ายากเกินไปสำหรับคนหูหนวก ทั้งเรื่องการสมัครงาน ซึ่งอาจไม่มีใครรับเพราะเราเขียนและสื่อสารยาก เราเห็นบริษัทส่วนมากไม่รับคนหูหนวกเข้าทำงาน พอคิดแบบนี้ก็เลยก็ไม่รู้จะทำอย่างไร

เราคิดว่าสังคมยังเปิดโอกาสให้คนหูหนวกค่อนข้างน้อย ไม่สนับสนุนในเรื่องต่างๆ กลับกันหากดูคนหูดีทำอะไรก็จะมีคนสนับสนุนมากมาย และมีโอกาสมากกว่าในทุกด้าน

ประสบการณ์ผ่านการประกวด

เราเห็นการแข่งขันเดินแบบ ประกวดนางงามของคนหูดีมีเยอะแยะไปหมด พอเห็นแล้วก็ชอบ อยากทำบ้าง สำหรับเรามันใช่มากเลย พอเห็นข่าวรับสมัครประกวดนางงามหูหนวกจึงรีบสมัคร และพยายามพัฒนาตัวเอง จนชนะได้เป็นตัวแทนของประเทศไทยไปแข่งที่ประเทศแอฟริกาใต้ และได้รางวัล Miss Deaf Asia 2019 ในปีนี้

ก่อนประกวดเราก็ดูแลตัวเองให้พร้อม ฝึกแต่งหน้า ทำผม ปรับบุคลิกภาพร่างกาย ฝึกเดินแบบ และฝึกภาษามือสากลทั้งที่ไม่เคยใช้ เพราะรู้ว่าหากอยากจะไปแข่งก็ต้องใช้ภาษามือสากลให้ได้ ซึ่งตอนนี้ก็พอใช้ได้แล้ว

ตอนแข่งขันมีจุดเน้น 5 อย่างคือ วัฒนธรรมไทย การเดินแบบ การเเสดงภาคอีสาน ชุดว่ายน้ำ และชุดราตรี เราถนัดรำไทยเพราะแสดงรำไทยตั้งแต่เด็ก แม้เมื่อก่อนจะไม่กล้าแสดง แต่เมื่อเห็นคนหูหนวกคนอื่นทำได้ ก็คิดว่าตัวเองน่าจะทำได้  จึงพัฒนาตัวเอง ความยากอยู่ที่ต้องใช้ความรู้สึก แทนที่จะได้ยินก็ต้องดูแสงไฟ และนับจังหวะในใจ

ความเท่าเทียมที่อยากให้เกิดขึ้น

อยากให้ทุกคนมีใจที่เท่าเทียมกัน คนหูดีได้รับข่าวสารต่างๆ แต่คนหูหนวกไม่รู้ จึงอยากให้มีสื่อและข่าวสารต่างๆ ให้เท่ากับคนหูดี เวลานางงามหูดีกลับมาไทย มีการประชาสัมพันธ์ต้อนรับ ให้เกียรติ นางงามหูหนวกก็ควรจะได้รับการปฏิบัติแบบนั้นเพื่อให้เกิดความเท่าเทียม

หากดูตอนนี้จะพบว่า เมื่อคนหูดีได้รางวัลมีนักข่าวเยอะแยะรอสัมภาษณ์ แต่นางงามหูหนวกไม่มีสื่อมาสนใจเลย เราจึงอยากได้ความรู้สึกแบบนั้น อยากให้มองว่า คนหูดีทำได้ คนหูหนวกก็ทำได้

หลังได้ตำแหน่งชีวิตเปลี่ยนไปอย่างไร

ยังเป็นปุ๊กกี้คนเดิม แต่บุคลิกภาพและการเดินเปลี่ยนไปเพราะเราพยายามพัฒนาตัวเอง มีคนแนะนำว่าเราต้องยิ้มแย้มแจ่มใส พัฒนาตัวเอง พอรู้ว่าตัวเองทำได้และได้รางวัลมาให้คนไทยก็ดีใจ

ความหมายของคำว่านางงาม

มีบุคลิกภาพที่ดี มีความรู้ในการตอบคำถาม สวย ครบเครื่อง ก่อนหน้ามีคนหูหนวกเข้าไปร่วมแข่งขันเวทีคนหูดี แต่ก็ตกรอบกลับมา เป็นเพราะไม่มีล่าม และเราไม่รู้ว่าเขาคุยอะไรกัน จึงอยากสนับสนุนให้ให้มีล่ามในการทำกิจกรรมหรือเข้าถึงสื่อต่างๆ มากขึ้น อย่างวันนี้พอมีล่าม เราก็สามารถสื่อสาร แปลการสนทนาได้เข้าใจ อธิบายได้ชัดเจน

สิ่งที่อยากให้คนทั่วไปเข้าใจคือ บางครั้งคนหูหนวกใช้ภาษาเขียนที่คนส่วนมากมองว่าเป็นคำสลับ ซึ่งการเขียนแบบนี้เป็นไวยากรณ์ของคนหูหนวก จนทำให้คนหูดีมองว่าเขียนอะไร จึงอยากให้คนหูดีช่วยแก้ ช่วยเปลี่ยนไวยากรณ์ให้คนหูหนวก ได้เรียนรู้การเขียนที่ถูกต้องมากขึ้น

-

ขอบคุณโรงแรมโนโวเทล สุวรรณภูมิแอร์พอร์ท และล่ามภาษามือที่ช่วยอำนวยความสะดวกในการสัมภาษณ์ครั้งนี้

คชรักษ์ แก้วสุราช
มัลติมีเดีย, Editor
content creator ที่หน้าตาดีที่สุดในตำบลบึงยี่โถ