Skip to main content

หลังเรียนจบจากโรงเรียนโสตศึกษานครปฐม เพลง-จุฑาทิพย์ ศรีธำรงวัชร์ก็เข้าเรียนต่อในราชภัฏนครราชสีมาในสาขาวิทยาศาสตร์การกีฬาร่วมกับเพื่อนๆ ที่หูดี และได้รับเสียงเชียร์ให้เข้าร่วมประกวดนางงาม ก่อนที่เธอจะตัดสินใจส่งใบสมัครและได้รับตำแหน่งในที่สุด

เพลงเล่าว่า การใช้ชีวิตร่วมกับคนหูดีเป็นอุปสรรคอยู่บ้าง ทั้งเรื่องการสื่อสารและวัฒนธรรมที่ต่างกัน และนี่เองเป็นจุดประสงค์ของการมาประกวดนางงามของเธอในครั้งนี้ ที่ต้องการให้สังคมตระหนักถึงความเท่าเทียม และเปิดรับคนที่มีความแตกต่างกันมากขึ้น


เพลง-จุฑาทิพย์ ศรีธำรงวัชร์

คุยกับเพลง-จุฑาทิพย์ นางงามหูหนวกโลกจากเวที Miss Deaf World 2018 ผ่านล่ามภาษามือถึงความฝัน การประกวด และก้าวต่อไปในฐานะนางงามหูหนวกโลกหลังได้รับตำแหน่งรองอันดับหนึ่งจากเวทีดังกล่าว

การประกวดที่ผ่านมาเป็นอย่างไรบ้าง

จุฑาทิพย์: ช่วงแรกก็ต้องเก็บตัว กระชับสัดส่วนร่างกาย ตอนไปประกวดต่อที่ปราก สาธารณรัฐเช็กรู้สึกตื่นเต้น กลัวทำไม่ได้ แต่มีน้ำหวาน ชุติมา เนตรสุริวงค์ รุ่นพี่จากเวที MISS DEAF WORLD 2017 ไปด้วยก็อุ่นใจ อากาศที่ปรากหนาวมากเราเองไม่ชิน อาหารก็ไม่คุ้น ต้องกินแต่ขนมปังทุกวัน เพื่อนนางงามจากประเทศอื่นก็ใช้ภาษามือสากล ซึ่งเราใช้ไม่เป็นแต่ก็พยายามเข้าหาเพื่อน ยิ้มแย้มมีน้ำใจ ผ่านไปสักพักก็คุยกันได้โดยใช้สีหน้า และท่าทางธรรมชาติให้เยอะขึ้น

ความยากของการประกวดในต่างประเทศก็คือ เราต้องแต่งหน้าเองทั้งที่แต่งหน้าไม่เป็น (หัวเราะ) ยิ่งเวลากระชั้นชิดแล้วเราต้องทำทุกอย่างให้เร็วก็ยิ่งยาก ก็ต้องขอบคุณทีมกองประกวด ผู้สนับสนุนและที่สำคัญคือโรงแรมโนโวเทลสุวรรณภูมิแอร์พอร์ต ที่สนับสนุนที่พักก่อนวันเดินทาง

ก้าวเข้าสู่เวทีประกวดได้อย่างไร

เพื่อนหูดีเห็นประกาศรับสมัครแล้วจึงมาบอกเรา พวกเขาสร้างความมั่นใจให้จนเราเลือกไปบอกพ่อแม่ว่าขอมาสมัคร ซึ่งท่านก็เห็นด้วยและใหกำลังใจ ตอนที่เริ่มแข่งก็มีเพื่อนหูหนวกคอยให้กำลังใจตลอด จนถึงตอนที่ได้ตำแหน่งชนะเลิศที่ไทยเราก็ดีใจมาก ขอบคุณทุกคนที่มาคอยอยู่ข้างๆ ต่างกับตอนที่ไปประกวดในต่างประเทศที่ไม่มีใครไปเชียร์ เราต้องให้กำลังใจตัวเอง พรีเซนท์ตัวเอง

ความชอบเรื่องการประกวดเกิดขึ้นตั้งแต่เมื่อไหร่

ตั้งแต่เด็กเรารักการแสดง ชอบเดินแบบ และรักการรำเป็นที่สุด พอโตขึ้นเลยได้มีโอกาสไปทำกิจกรรมและมีส่วนร่วมในงานแข่งขันของโรงเรียนทุกครั้ง เรามีพี่ๆ นางงาม นางแบบเป็นไอดอล ก็คอยสังเกตว่าเวลาเดิน หรือโพสต์ท่าเขาทำอย่างไร น้ำหวานเองก็เป็นอีกคนที่เป็นแรงบันดาลใจที่ดี

คนหูหนวกเต้น ฟังเพลงหรือเดินแบบได้อย่างไร

คนหูหนวกเต้นโดยการจำจังหวะ นับและฝึกซ้อมบ่อยๆ ระหว่างเต้นจะมีครูคอยให้จังหวะในการแสดง และใช้เสียงทุ้ม เสียงกลองคอยส่งจังหวะ การเต้นยากกว่าการเดินแบบ เพราะต้องจำรูปแบบค่อนข้างเยอะ

เราชอบเพลงเกาหลี ทั้งดูและเต้นตามเพราะศิลปินเกาหลีมีท่าเต้นที่น่าสนใจ แม้ว่าจะไม่ได้ยิน แต่จังหวะและอารมณ์เพลงก็สามารถจับได้จากท่าที่ศิลปินกำลังแสดงออก

คาดหวังอะไรจากการเข้าประกวด

อยากเป็นตัวแทนทำให้สังคมมองเห็นคนพิการ ทำให้คนพิการทุกประเภท ทั้งคนหูหนวก คนหูดีอยู่ร่วมกันอย่างมีความสุข ไม่อยากให้มีความเหลื่อมล้ำ อีกทั้งเรื่องการสื่อสารของคนหูหนวกที่ยังเป็นอุปสรรคอยู่ก็อยากให้แก้ไขให้เท่าเทียม โดยมีล่าม แคปชันหรืออื่นๆ และอยากให้กำลังใจคนหูหนวกให้กล้าแสดงออก เรียกร้องสิทธิ เพื่อความเป็นอยู่ที่ดีของตัวเอง

อีกเรื่องที่อยากผลักดันคือเรื่องอาชีพ ปัจจุบันคนหูหนวกยังมีโอกาสน้อยกว่าคนหูดีเมื่อสมัครเข้าทำงานต่างๆ เราจึงผลักตัวเองออกสู่สื่อเพื่อให้คนในสังคมได้เข้าและยอมรับความแตกต่างมากขึ้น

เรื่องอะไรที่คนในสังคมยังไม่เข้าใจคนหูหนวก

คนทั่วไปมองว่าการเขียนภาษาที่ดีคือการใช้คำสละสลวย แต่คนหูหนวกเขียนสลับคำ และเป็นคำง่ายๆ คนทั่วไปจึงมักมองว่าตลกและไม่มีความรู้ จนตัดสินคนหูหนวกด้วยการใช้ภาษาทั้งๆที่ภาษาแรกของคนหูหนวกคือภาษามือ ความเข้าใจผิดนี้กระทบทั้งการทำงานและการเรียน

คนหูหนวกชอบใช้ภาษามือเพราะสื่อได้เข้าใจมากกว่า สื่อสารอารมณ์ความรู้สึกและหากต้องคุยกับคนหูดีพวกเขาก็ชอบใช้ล่ามเพราะเข้าใจกว่า มีเพียงคนหูหนวกส่วนน้อยเท่านั้นที่เขียนได้คล่อง

คนหูหนวกอยู่กันเป็นชุมชน มีภาษาและวัฒนธรรมของพวกเขา อยากให้ทุกคนเข้าใจเรื่องนี้ เปิดรับแต่ไม่ต้องพยายามเปลี่ยน หลายครั้งคนชอบช่วยเหลือด้วยการทำอย่างไรก็ได้ให้คนหูหนวกกลับมาได้ยิน ทั้งผ่าตัด ใส่เครื่องช่วยฟัง ฯลฯ แต่แท้จริงแล้วคนหูหนวกไม่ต้องการ ยิ่งโดยเฉพาะคนหูหนวกที่โตแล้วอย่างเรา การได้ยินเสียงเป็นเรื่องแปลกปลอมในชีวิต ไม่คุ้นชิน เราไม่เข้าใจว่าเสียงคืออะไร จึงอยากให้เลิกบังคับคนหูหนวกให้ฝึกฟัง ฝึกพูด แต่สนับสนุนให้ได้ใช้ภาษามือเสียมากกว่า

ทั้งคนหูดี และคนหูหนวกควรปรับตัวเข้าหากันอย่างไร

เวลาคนหูดีอยู่ในกลุ่มคนหูหนวกก็อาจสงสัยว่าทำไมคนหูหนวกต้องแสดงท่าทาง และทำเสียงดังขณะใช้ภาษามือด้วย คนหูหนวกเองก็รู้สึกเหมือนกันเวลาอยู่ในที่ที่ทุกคนพูดได้ เรากลัวโดนว่าและจะเซนซิทีฟกับสีหน้าของคนมากเป็นพิเศษเพราะพวกเราไม่ได้ยิน ถ้าเราเห็นคนหูดีที่มองเราแบบรำคาญ เราก็จะรำคาญเหมือนกัน เช่น เมื่อซื้อตั๋วโดยสารแล้วเราชี้ว่าไปไหนแต่พนักงานกลับทำหน้าเบื่อ รำคาญ เราไม่รู้หรอกหากเขาพูดอะไร เลยคิดไปเองว่าเขาคงเหนื่อย ไม่ชอบเรา หรือไม่อยากบริการหรือโดนชักสีหน้าใส่เมื่อต้องเขียนโต้ตอบกันแล้วไม่เข้าใจ มีครั้งหนึ่งขึ้นรถเมล์แต่กระเป๋ารถเมล์ใส่มาส์กปิดหน้าตอนบอกค่าโดนสาร เราไม่เข้าใจ จึงทำท่าบอกให้เขาถอดมาส์กออก แต่เขาก็กลับโมโหแล้วพูดต่อว่าเราเสียงดัง ทำให้เรารู้สึกไม่พอใจและอับอายจากที่ถูกคนทั้งรถมอง

คนหูดีควรเข้าใจว่า เมื่อพูดถึงอะไรในภาษามือ ส่วนมากจะใช้การชี้ จึงไม่อยากให้แปลกใจเมื่อเห็นคนหูหนวกออกท่าทางหรือชี้สิ่งต่างๆ หรือแม้ไม่เข้าใจทั้งหมด ก็อยากให้ยอมรับความแตกต่างของวัฒนธรรม แต่คนหูหนวกเองก็ต้องฝึกมารยาท ไม่โหวกเหวกโวยวายด้วยเช่นกัน

อีกอย่างที่อยากให้เข้าใจคือภาษามือไม่มีคำใหม่ๆ แบบ ‘จุงเบย’ ‘ไม่พูดเยอะเจ็บคอ’ (หัวเราะ) ตอนที่อ่านเจอเราก็งงเพราะภาษามือนั้นไม่มี เลยต้องเอาคำไปถามเพื่อนหูดีว่าแปลว่าอะไร

ก้าวต่อไปของเพลง

อยากมีโอกาสเป็นนักแสดง แสดงละคร ถ่ายโฆษณาและอยากเป็นแรงบันดาลใจให้เด็กหูหนวก

 

ถ่ายภาพโดย คชรักษ์ แก้วสุราช