Skip to main content

ภายในบ้านที่มีต้นไม้ล้อมรอบ ของเล่นชิ้นต่างๆ ถูกเก็บอย่างเป็นระเบียบในโซนห้องเล่น โต๊ะและเก้าอี้เล็กๆ ถูกจัดแจงเป็นพื้นที่สำหรับงานศิลปะ เมื่อเดินสามสี่ก้าวออกมานอกตัวบ้านเป็นลานจอดรถเล็กๆ ที่ถูกดัดแปลงเป็นพื้นที่สันทนาการ มุมบ่อทราย เล้าไก่ และแปลงผักน่าจะเป็นเครื่องยืนยันได้ดีว่า พื้นที่แห่งนี้เป็นพื้นที่ที่เคลื่อนไหวอยู่ตลอดเวลา

ศุภฤทธิ์ ทวีเกียรติพ่อเลี้ยงเดี่ยวของลูกชายที่มีภาวะอัลฟี่ซินโดรม เจ้าของบ้านวรรณฤทธิ์ พื้นที่การเรียนรู้สำหรับเด็กที่มีความต้องการพิเศษแห่งนี้ ผันตัวเองจากบทบาทพ่อ ไปสู่บทบาทของครูฤทธิ์ ซึ่งถึงแม้ตลอดเวลาที่นั่งสัมภาษณ์เขาจะยืนยันว่า ตัวเองไม่ได้จบครูและไม่ได้มีใบรับรองในการเป็นนักบำบัด แต่ประสบการณ์และการค้นคว้าด้วยตัวเองที่ผ่านมา ผู้ปกครองจำนวนมากจึงพร้อมใจกันเรียกเขาว่า ‘ครู’ ของลูกกันได้อย่างเต็มปาก

มีกิจกรรมอะไรในบ้านหลังนี้บ้าง
ศุภฤทธิ์: กิจกรรมการเล่นต่างๆ ในสนามทราย ปลูกผักในแปลงผักจากโครงตู้เย็นเก่า เลี้ยงเป็ดไก่ นอกจากสอนให้เด็กรับผิดชอบตัวเองได้ การฝึกให้เขารับผิดชอบต่อหน้าที่อื่น เช่น ให้อาหารเป็ด เก็บไข่หรืออุ้มไก่ก็เป็นสิ่งจำเป็น

ที่นี่เริ่มเปิดตั้งแต่ปีที่แล้ว แต่รับนักเรียนได้ไม่เยอะ เด็กส่วนมากเป็นเด็กที่โรงเรียนไม่รับเพราะต้องดูแลใกล้ชิด ที่นี่จึงกำหนดครู 1 ต่อนักเรียน 3 คน ที่สำคัญ ในทุกๆ การเรียนจะมีเซน(ลูกชาย) อยู่ด้วยและจะบอกผู้ปกครองเสมอว่า แม้มีประสบการณ์แต่เราไม่ใช่นักบำบัด รวมถึงที่นี่ไม่ใช่ที่ฝากลูก และด้วยความที่เราเป็นผู้ชายหลายครั้งเรื่องเพศก็เป็นสิ่งที่ต้องตระหนัก ผู้ปกครองหลายคนคาดหวังให้คนที่ดูแลหรือสอนลูกเป็นผู้หญิง พอเราเป็นผู้ชายก็อาจมีความไม่สบายใจบางอย่างที่เพิ่มเข้ามา

เด็กประเภทไหนมาทำกิจกรรมที่นี่
เด็กที่มีปัญหาพฤติกรรม อารมณ์ ความคิดความรู้สึกหรือเด็กที่ไปที่อื่นไม่ได้ การกายภาพหรือกิจกรรมบำบัดมักไม่ค่อยปรับพฤติกรรม เราจึงอาศัยความเป็นผู้ปกครองเด็กที่มีความต้องการพิเศษ สังเกตและสร้างสิ่งแวดล้อมที่ดีให้กับเด็ก ยืนยันในเรื่องที่ผู้ปกครองต้องทำเพื่อให้เด็กรู้จักยับยั้งชั่งใจ รู้จักคิด ได้ทบทวนความรู้สึกและรู้สึกดีกับตัวเอง

นอกจากทำงานกับเด็กแล้วก็ยังให้คำปรึกษาผู้ปกครอง ตั้งแต่กลยุทธ์รับมือกับลูก ไปจนถึงการแก้ปัญหา


ศุภฤทธิ์ ทวีเกียรติหรือครูฤทธิ์

รับมือเด็กแต่ละคนแตกต่างกันอย่างไร
เวลา 9.00-13.00 น. จะเป็นกิจกรรมกลุ่มยืดหยุ่นขึ้นกับจำนวนและความยากง่ายของเด็กแต่ละคน เช่น บางคนเล่าเรื่องไม่ได้ ก็จะเปลี่ยนสัดส่วนการเล่าให้เยอะขึ้น ทุกอย่างยืนพื้นไปตามกิจกรรมที่เราถนัดและคุยกับผู้ปกครองแล้วโอเค หลังบ่ายสามจะเป็นกิจกรรมเดี่ยวที่ถูกออกแบบมาเฉพาะตัวคนนั้น แบ่งเป็นเวลาของเด็ก 1 ชั่วโมงและผู้ปกครอง 30 นาที

สำหรับเด็กถ้าเราเห็นสัญญานของเขาทัน จะไม่มีเหตุการณ์หนักเกิดขึ้น เด็กที่โวยวายส่วนมากจะมีสัญญาณเล็กๆ ที่ผู้ใหญ่ละเลย เมื่อสิ่งเล็กๆ ไม่ได้รับการตอบสนอง เขาก็เล่นใหญ่ เราควรตัดสินใจว่าจะเอายังไง ตอบสนองหรือไม่ เมื่อไหร่และต้องตอบสนองตามเวลานั้้นจริงๆ

เป้าหมายของการทำบ้านหลังนี้คืออะไร
ให้เราเลี้ยงลูกและมีงานที่อยู่ได้ การทำงานเกี่ยวกับเด็กพิเศษ คนพิการ คนไข้จิตเวช คือความหมายของการมีชีวิตอยู่ของผม เมื่อรู้แล้วก็จะไม่เลือกทำอะไรที่ทุ่มเยอะแล้วไม่เกี่ยว ไม่นานมานี้เคยเจอคนที่สอนเด็กเรื่องทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว โดยมีตัวอย่างคือคนทำชั่วแล้วลูกเกิดมาปากแหว่งรักษาไม่หาย ในฐานะพ่อ ผมคงเสียใจมากถ้าลูกได้ยินเพราะเราฝึกลูกให้นับถือตัวเองมาตั้งนาน แต่สิ่งเหล่านี้มีแต่จะทำลายความนับถือตัวเอง

นอกจากนี้ อยากให้บ้านนี้เป็นพื้นที่แลกเปลี่ยนและเวิร์คชอปในประเด็นต่างๆ เช่น จะชมลูกอย่างไร รับฟังหรือสื่อสารกับลูกยังไง ฯลฯ

ข้อเสนอถึงรัฐที่มีต่อการศึกษาของเด็กที่มีความต้องการพิเศษ
รัฐควรมีทางเลือกที่หลากหลาย ถ้าพ่อแม่อยากทำโฮมสคูล รัฐก็ต้องมีกลไกสนับสนุนเพียงพอ หรือมีโรงเรียนทางเลือกและโรงเรียนเฉพาะทางที่เพียงพอ โดยมีอัตราส่วนครูต่อนักเรียน 1:3 นอกจากนี้ควรทำให้ระบบ IEP (Individual Education Program) ใช้งานได้จริง ซึ่งหมายถึงการจัดการศึกษาที่สอดคล้องกับเด็กที่มีความต้องการพิเศษแต่ละคนโดยเอาเด็กเป็นตัวตั้งจากการประเมินความสนใจ ซึ่งจะช่วยให้เกิดการวางแผนว่า เด็กคนนี้ควรเข้าโรงเรียนแบบไหน ไปเจอนักบำบัดหรือเปล่าหรือน่าจะทำอะไรก่อนหลัง


น้องเซนหรืออุลตร้าเซน ลูกชายของพ่อฤทธิ์

ผมยังไม่เอาลูกเข้าโรงเรียนในตอนนี้เพราะเขายังคลานอยู่ ซึ่งยากมากที่เด็กคนอื่นจะไม่เหยียบ เขาไม่ได้ไม่เดินแต่ยังเดินไม่ได้ ผมสามารถเป็นครูและสอนได้ และเชื่อว่าลูกจะนับถือตัวเองมากกว่าถ้าอยู่กับผมแต่ก็ไม่ติดขัดถ้าหากเขาพร้อมที่จะเข้าเรียนในอนาคต

 

บทสัมภาษณ์ชิ้นนี้เผยแพร่ครั้งแรกในนิตยสาร DTH เล่ม 1 โดยสภาคนพิการทุกประเภทแห่งประเทศไทย
ภาพโดย PYD, คชรักษ์ แก้วสุราช