Skip to main content

อาทิตย์ที่แล้วเราได้รับอีเมลฉบับหนึ่งจากคณะ แจ้งว่าตอนนี้ตึกภาคเพิ่งเปลี่ยนประตูทางเข้าให้เป็นแบบเปิดปิดอัตโนมัติ ต่อจากนี้ไปจะเข้า จะออก ไม่ต้องเอื้อมไปจับลูกบิดเปิดประตูแล้ว แต่ให้กดปุ่มรูปวีลแชร์ที่ผนังแทน แล้วประตูจะเปิดเอง


ภาพ คชรักษ์ แก้วสุราช

เราชื่อปุ๋ม ถึงตอนนี้ก็มาเรียนต่อปริญญาโทที่อังกฤษได้ครึ่งปีแล้ว มหา’ลัยที่อังกฤษมีหลายอย่างต่างจากไทย สิ่งหนึ่งที่เห็นได้ชัดมากคือระบบอำนวยความสะดวกแก่คนพิการ สิ่งเหล่านี้ทำให้เรานึกถึงเพื่อนสนิทสมัยประถมคนหนึ่งที่ต้องนั่งวีลแชร์ไปไหนมาไหน ตอนนั้นเธอต้องมีพี่เลี้ยงอุ้มขึ้นลงอาคาร เพราะตึกเรียนของพวกเราไม่มีลิฟต์ ต้องรอให้เพื่อนเปิดประตูให้ เพราะดึงประตูเข้าออกไม่ได้ รวมถึงต้องเสียโอกาสหลายๆ อย่าง เพราะสภาพแวดล้อมในโรงเรียนที่ไม่เอื้ออำนวย

ชีวิตดูจะต่างจะเดิมไปไม่มากนักตอนเธอขึ้นมหา’ลัย เพราะมหาวิทยาลัยในไทยก็ไม่ได้มีระบบที่เอื้อต่อการเข้ามาเรียนต่อสำหรับคนพิการเท่าไหร่นัก จะว่าไปตึกสี่ชั้นของคณะเราช่วงปริญญาตรีก็ยังไม่มีลิฟต์ด้วยซ้ำ ทำให้พอมาเรียนที่นี่แล้ว มีหลายๆ ครั้งที่เรามักนึกถึงเพื่อนคนนี้ พร้อมกับความคิดที่ว่า “ถ้าแกได้มาเรียนที่นี่ แกต้องชอบแน่ๆ ”

จากเหตุผลที่ว่ามา เราเลยอยากพามาดูว่าระบบการศึกษาที่นี่เอื้อต่อคนพิการอย่างไรบ้าง เราเรียนอยู่ที่ University of Leeds ตั้งอยู่ทางตอนเหนือของประเทศอังกฤษ แม้อาจจะเป็นแค่มหาลัยเดียวที่เรายกมาให้ดูเป็นตัวอย่าง แต่คิดว่า มหา’ลัยอื่นๆ ของประเทศนี้ก็คงมีระบบการจัดการรูปแบบเดียวหรือใกล้เคียงกัน

สิ่งแรกที่จะพาไปดูคือประตูเข้าออกอาคารและห้องเรียน ประตูเข้าออกตึกของที่นี่ส่วนใหญ่จะเป็นประตูเปิดปิดอัตโนมัติ มีทั้งแบบที่เป็นเซนเซอร์คอยเปิดให้เอง กับแบบที่กดปุ่มบนผนังแล้วประตูจะเปิดออก คนทุกคนต้องเข้าออกทางเดียวกันหมด ในห้องเลคเชอร์ก็เช่นเดียวกัน ห้องเลคเชอร์ทุกห้องจะมีประตูที่ใช้ระบบเปิดปิดอัตโนมัติอย่างน้อยหนึ่งประตูสำหรับนักศึกษาที่นั่งวีลแชร์นั่นเอง

ประตูหลักของอาคารภาคที่ทุกคนต้องกดปุ่มนี้หมด พอกดแล้วประตูก็จะเปิดให้เอง

ต่อมาในห้องเรียน ครั้งหนึ่งเราเคยถูกเพื่อนถามว่า คิดว่าเพราะอะไรม้านั่งแถวยาวหน้าสุดของห้องเลคเชอร์ถึงได้แหว่งเป็นช่องแบบนั้น เรามองดูแล้วก็เดาว่าต้องเป็นที่สำหรับให้วีลแชร์เข้าไปจอดแน่ๆ ซึ่งก็เป็นอย่างนั้นจริง ในห้องสโลปใหญ่ๆ ทุกห้อง แม้จะมีลักษณะเป็นโต๊ะและเก้าอี้ที่ยึดติดกับพื้น แต่ก็เว้นช่องสำหรับวีลแชร์เอาไว้เสมอ แถมยังมีโต๊ะล้อลากที่ปรับระดับสูงต่ำได้เตรียมเอาไว้ให้ด้วย เช่นเดียวกับในห้องสมุดของมหาวิทยาลัยที่มีโต๊ะประเภทนี้เหมือนกันในโซนอ่านหนังสือ

ที่นั่งที่เว้นว่างสำหรับผู้ใช้วีลแชร์ในการเรียน พร้อมโต๊ะที่ปรับระดับได้

อีกสิ่งที่เราประทับใจคือห้องน้ำ ห้องน้ำคนพิการเป็นอะไรที่หาเจอง่ายว่าห้องน้ำธรรมดาเสียอีก (ฮา) แถมคนที่นี่ก็ต่อแถวใช้งานกันเป็นเรื่องปกติเสมือนเป็นห้องน้ำธรรมดาห้องหนึ่ง เราชอบนะ ข้างในนั้นกว้าง มีราวจับ มีกระจก เครื่องเป่ามืออะไรให้ครบครันจบในห้องเดียว แล้วก็มีอยู่ทุกที่ ทั้งในห้องสมุด อาคารเรียนรวม หรือแม้แต่ตึกสมาคมนักศึกษา


ห้องน้ำคนพิการ

นอกจากนั้น หลายๆ อาคารก็ยังมี Sky walk เชื่อมต่อกันได้ อาจเพราะเป็นเมืองหนาวการเดินในอาคารจะช่วยให้อบอุ่น ทางเดินนี้ยังเป็นประโยชน์กับคนพิการที่ต้องนั่งวีลแชร์ด้วย เพราะทางแบบนี้สะดวกกว่าพื้นข้างนอกเยอะเลย

ป้ายบอกทางภายในตึก นอกจากจะบอกรายละเอียดต่างๆ ที่ป้ายบอกทางทั่วไปมี เช่น ชั้น หรือทิศทางแล้ว ยังบอกรายละเอียดทั้งทางเชื่อม ห้องน้ำคนพิการ และใช้สีที่คนสายตาเลือนรางอ่านได้ง่าย จึงทำให้ไม่ใช่เพียงคนไม่พิการเท่านั้นที่จะได้ประโยชน์จากการอ่านป้าย แต่คนพิการประเภทต่างๆ ก็สามารถเข้าใจ และใช้งานป้ายอย่างได้ประโยชน์สูงสุด

ป้ายบอกทางในตึก บอกชั้นที่มีห้องน้ำสำหรับคนพิการ กับทางเชื่อมต่ออาคาร

 

สุดท้ายที่อยากจะพูดถึงคือ ที่นี่มีฝ่ายที่ดูแลนักศึกษาพิการที่ใช้ชื่อว่า Disability services ตั้งอยู่ที่ตึกภาคเคมี เป็นที่ที่นักศึกษาพิการสามารถเข้ามาติดต่อหรือขอคำปรึกษาได้ ซึ่งความพิการในที่นี้ก็ครอบคลุมไปตั้งแต่ความพิการทางด้านร่างกาย รวมไปถึงอาการทางจิตใจอย่างโรคซึมเศร้า โดยจะมีเจ้าหน้าที่คอยให้คำปรึกษา และคอยประสานงานกับทางภาควิชาให้หากนักศึกษาคนใดมีความต้องการพิเศษระหว่างช่วงการศึกษาอยู่ หรือต้องการคำขอพิเศษสำหรับการสอบ


ตัวอย่างหน้าเว็บไซต์ของศูนย์ Disability services ที่บอกบริการต่างๆ ของศูนย์

ทั้งหมดนี้คือรายละเอียดเล็กๆ น้อยๆ ที่เราสังเกตได้จากการอยู่ที่นี่ เราดีใจนะ ที่มีความพยายามลดอุปสรรคและข้อจำกัดในการเรียนของคนพิการให้เยอะที่สุด แม้ลักษณะและระบบการบริหารงานแบบนี้จะยังมีไม่ครอบคลุมในไทย และอาจยังเป็นไปได้ยากที่จะนำมาปรับใช้ได้ทั้งหมด แต่ก็น่าจะเป็นเรื่องดี หากเราได้เห็นตัวอย่าง และค่อยๆ พัฒนาสิ่งอำนวยความสะดวกต่างๆ ให้เอื้อกับการชีวิตของทุกคนอย่างเท่าเทียมกัน