Skip to main content
  • คนพิการไม่ใช่คนที่ไม่มีพื้นที่ แต่พื้นที่ที่คนพิการได้มักจะเป็นคนละที่กับที่คนทั่วไปใช้ คือเป็นพื้นที่ที่ถูกจัดสรรออกจากผู้อื่น

  • ข้อบ่งชี้ที่จะนำไปสู่ความเป็น Inclusive Development ต้องมีด้วยกันสามประการ อย่างแรกคือการมีส่วนร่วมหรือ full and Deflective participation ช่วยกันคิด ทำและช่วยกันรับผล อย่างที่สองคือ การเข้าถึงทรัพยากร อย่างสุดท้ายคือการเสริมพลังหรือ Empower ช่วยกันพัฒนาและเสริมพลังกันอย่างเต็มที่

  • แนวคิดประชาธิปไตยควรจะ Inclusive Democracy คือไม่ควรจะเป็นประชาธิปไตยของคนส่วนใหญ่ แล้วแค่คำนึงถึงคนส่วนน้อย แต่ควรเป็นประชาธิปไตยของคนทุกคน Democracy for Allไม่ใช่การพัฒนาที่ไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลังแต่หนีบไปเฉยๆ ทุกคนควรพัฒนาไปด้วยกัน พร้อมกัน

<--break->

เมื่อวันที่ 24 ม.ค.ที่ผ่านมา สถาบันสิรินธรเพื่อการฟื้นฟูสมรรถภาพทางการแพทย์แห่งชาติ กรมการแพทย์ และกระทรวงสาธารณะสุข ได้จัดการประชุมเชิงวิชาการ “การฟื้นฟูสมรรถภาพคนพิการโดยชุมชน (CBR Forum 2018) โดยมีมณเฑียร บุญตัน นายกสมาคมคนพิการทุกประเภทแห่งประเทศไทย เป็นผู้ปาฐกถาพิเศษเรื่อง Disability  Inclusive Development  กับสังคมไทยในยุคปัจจุบัน ใจความว่า

ความเสมอภาคสู่ความเท่าเทียมในเรื่องสิทธิคนพิการ

มณเฑียรกล่าวว่า คำว่า Disability Inclusive Development ได้รับการกล่าวถึงมาเกือบ 20 ปี ในกระบวนการยกร่างอนุสัญญาว่าด้วยสิทธิคนพิการ (CRPD: Convention on the Rights of the Persons with Disabilities) ที่ผ่านมา มีความพยายามที่จะมองเรื่องสิทธิมนุษยชน และความเสมอภาคให้เป็นเรื่องเดียวกัน คำว่าความเสมอภาคหรือ Equality เป็นสุดยอดปรารถนาของนักสิทธิมนุษยชน สำหรับเครื่องมือที่ใช้ในการผลักดัน หรือเพื่อขับเคลื่อนไปสู่ความเสมอภาค ก็มักจะมองในแง่ของกติกา กฎหมาย  ความเสมอภาคเบื้องหน้ากฎหมายหรือ Equality  before the Laws หรือบางคนก็ใช้คำว่า Under the Laws

ในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยแทบทุกฉบับพูดถึงเรื่องความเท่าเทียม ในอนุสัญญาว่าด้วยสิทธิคนพิการก็วางตำแหน่งของคำว่า ความเสมอภาคไว้สูง น่าจะเรียกว่าเป็นหัวใจสำคัญที่ปรากฏอยู่ในวัตถุประสงค์ จุดมุ่งหมาย และหลักการทั่วไป ขณะเดียวกันก็มีอีกคำหนึ่ง ซึ่งเป็นคำที่มีวิวัฒนาการยาวนาน คำนี้นิยมใช้กันในกลุ่มของนักพัฒนา ซึ่งมีวิธีคิดที่อาจแตกต่างหรือใกล้เคียง  จึงอยากหลอมรวมนักเคลื่อนไหวในด้านสิทธิมนุษยชน ให้นอกจากมีคำว่า ความเสมอภาค ซึ่งเป็นกุญแจดอกสำคัญที่เราอยากไปถึงแล้ว มีคำว่า Inclusion (การหลอมรวม) ด้วย Inclusion เป็นคำนาม คำคุณศัพท์คือ Inclusive คำกริยาคือ Include ซึ่งแปลว่า รวม, รวมถึง แต่เมื่อมีนัยยะของการพัฒนาเข้ามา สังคมไทยยังมีปัญหากับคำเหล่านี้

เมื่อไหร่ที่พูดถึงเป้าหมายการพัฒนาในอนุสัญญาว่าด้วยสิทธิคนพิการ เรายกให้คำว่า Inclusion เป็นเป้าหมายสูงสุด เป็นบั้นปลาย เป็นสิ่งที่เราต้องการ เวลาเราพูดถึงการเคลื่อนไหวด้านสิทธิมนุษยชน เราพูดถึงความเสมอภาค และความเท่าเทียม

คำว่า Rehabilitation หรือการฟื้นฟูสมรรถภาพ เป็นคำที่อยู่ในยุคก่อน เพราะฉะนั้นใช้การฟื้นฟูสมรรถภาพ ในบริบทของ Disability Inclusive Development ก็อาจไม่ลงตัว สำหรับผม คำว่า ฟื้นฟูสมรรถภาพ สามารถเปลี่ยนแปลงได้ตามพลวัตรหรือบริบทของสังคม เหมือนกับคำว่าคนพิการที่เปลี่ยนไปตามพลวัตรหรือบริบทของสังคม

ในยุคที่ความพิการเป็นเรื่องของปัจเจกบุคคล เป็นปัญหาส่วนตัว เป็นความไม่สมบูรณ์ หรือกระทั่งโทษกรรมที่บุคคลจะต้องได้รับ ความพิการเลยอยู่ใกล้คำว่าโดดเดี่ยว และแปลกแยก ความพิการในยุคนั้นจึงไม่ต้องพูดถึงการฟื้นฟูสมรรรถภาพด้วยซ้ำเพราะมองว่าเป็นเรื่องที่น่าอับอายและต้องจัดการกันเองภายในครอบครัว ภายในวงศาคนาญาติ แต่ในสังคมที่มีความสลับซับซ้อนมากขึ้น อำนาจรัฐเข้ามามีบทบาทในเรื่องสวัสดิการ แนวคิด ซึ่งขยายภารกิจในการดูแลคนพิการและความพิการ โดยมีวิวัฒนาการทางการแพทย์เป็นตัวอธิบาย ในขณะเดียวกันก็มีแนวคิดเรื่องความปกติและไม่ปกติ การฟื้นฟูสมรรรถภาพในยุคนี้ จึงคือการทำยังไงให้ปรกติ เพราะแกนกลางของความพิการคือความบกพร่อง พูดง่ายๆ คือต้องซ่อมหรือรักษา เพื่อให้ปกติ ฉะนั้นคอนเซ็ปจึงกลับไปกลับมาระหว่างปกติและผิดปกติ ปรากฎการณ์นี้ขัดแย้งกับหลัก Inclusive หรือ Inclusion เพราะความสัมพันธ์ระหว่างคนที่ทำหน้าที่ฟื้นฟูสมรรถภาพ กับคนที่ได้รับการฟื้นฟูสมรรถภาพ ไม่อาจเป็นความสัมพันธ์ในลักษณะร่วมได้

ยุคที่มี Social Development เป็นยุคที่คำว่า การฟื้นฟูสมรรถภาพ เปลี่ยนแปลงเป็นแบบมีส่วนร่วม เช่น การเซอร์วิส การบริการ ให้ความสำคัญในฐานะผู้บริโภคและผู้ให้บริการ มากกว่าการจัดการในระบบสถาบันดั้งเดิม ขณะเดียวกันโลกตะวันตกก็เป็นอีกแบบหนึ่ง ที่ให้ความสำคัญกับผู้บริโภคอย่างชัดเจน อำนาจในการต่อรองจึงมีมากขึ้น

บูรณาการหรือหลอมรวม?

แม้ว่า การวิวัฒนาการการฟื้นฟูสมรรถภาพมีความสัมพันธ์แบบมีส่วนร่วมมากขึ้น แต่เรื่องคนพิการก็ยังเป็นคนละเรื่องกับ Inclusive ยังแก้ปัญหาเฉพาะกลุ่มเฉพาะด้าน เห็นได้จากการคัดกรองว่าใครเป็นคนพิการรูปแบบไหน กฎหมายบ้านเราชัดเจนในการบอกว่า ใครพิการ โดยจัดลำดับความบกพร่องว่าใครบกพร่องในระดับที่ได้รับการจดทะเบียน ในสังคมฝรั่ง เราเริ่มเห็นคำว่า  integration หรือบูรณาการ เช่น การให้คนพิการเรียนหนังสือร่วมกับผู้อื่น แล้วมีมาตรการพิเศษช่วยเหลือ

ประเทศญี่ปุ่นมีฐานคิดที่เอื้อต่อการบูรณาการ เช่น ลิทธิขงจื๊อ หรือพุทธมหาญาณ จะมีหลักการหรือคอนเซ็ปแบบ harmonization หรือการประสานกัน ฉะนั้นเวลาเราพูดว่า Inclusion เราอาจกำลังบูรณาการเสียมากกว่า

มีคนเคยบอกว่า ประชาธิปไตยเกิดจากเสียงส่วนใหญ่เพื่อคนส่วนใหญ่ และรับฟังเสียงคนส่วนน้อย ฟังดูคล้ายกับการบูรณาการ คือเอาเสียงส่วนใหญ่เป็นเกณฑ์ แต่ตอนนี้อาจต้องเปลี่ยน เพราะคำว่า 'บูรณาการ' ไม่สอดคล้องกับคำว่า 'เสมอภาค' บูรณาการนั้นเป็นแค่ห้องรับแขก คนพิการหรือกลุ่มเปราะบางมักเป็นแขกที่จัดห้องเอาไว้ต้อนรับ ผมเคยไปงานหนึ่ง ผมนั่งโต๊ะที่ว่างไม่ได้ แต่ถูกให้นั่งในโต๊ะที่จัดไว้เพราะคนรู้สึกอึดอัดที่จะนั่งปะปน

ตัวชี้วัดง่ายๆ เพื่ออธิบายคำว่า Inclusion คือดูการมีส่วนร่วมของคนในสังคม ในอนุสัญญาว่าด้วยสิทธิคนพิการใช้คำว่า การมีส่วนร่วมอย่างเต็มที่และมีประสิทธิผลตั้งแต่ต้นจนจบ คือตั้งแต่ร่วมคิด ร่วมทำ และร่วมรับผิดชอบ ซึ่งไม่ได้แตกต่างจากคำว่า ประชาธิปไตยเลย สำหรับคนพิการ ตัวที่คอยดึงไม่ให้ไปถึงการมีส่วนร่วมอย่างเต็มที่ก็คือการคิดแทน ความหวังดี และการครอบงำโดยคนที่อยู่ใกล้ชิด 

ตัวชี้วัดกลุ่มที่สองคือคำว่า Access (การเข้าถึง) หรืออาจหมายความว่า การเข้าถึงและใช้ประโยชน์ได้ ไม่ใช่เฉพาะคนพิการเท่านั้น แต่หมายถึงคนทุกกลุ่มในสังคมว่าสามารถเข้าถึงทรัพยากร สภาพแวดล้อมทางกายภาพ ข้อมูลข่าวสาร เทคโนโลยี และบริการทั้งหลายทั้งปวงได้จริงไหม อย่างแรกคือ มี Viability หรือไม่สอง Approach ability เข้าถึงได้ขนาดไหน สามคือ Access ability ศักยภาพ หรือพลังอำนาจในการมีส่วนร่วมหรือการเข้าถึง ฉะนั้นตัวชี้วัด ว่าคนมีส่วนร่วมอย่างเต็มที่และมีประสิทธิผล จึงหมายถึงอำนาจในการตัดสินใจ เลือก และมีส่วนร่วม

จากการสำรวจขององค์การอนามัยโลกบอกว่า ประชากรโลกเป็นคนพิการถึงร้อยละ 15 ประเทศสหรัฐอเมริกาซึ่งเจริญกว่าเรามีคนพิการประมาณร้อยละ 20 ของประชากร ประเทศลาวบอกว่า มีคนพิการไม่ถึงร้อยละ 2 หลายปีก่อนนิวซีแลนด์บอกว่ามีร้อยละ 8 แต่ตอนนี้กลายเป็นร้อยละ 25 แสดงว่ามีการทิ้งคนไว้ข้างหลังหรือเปล่า ทำไมยิ่งพัฒนายิ่งมีคนพิการมากขึ้น หากไม่เน้นคำว่า คนพิการเข้าไป คนพิการจะเป็นคนกลุ่มแรกที่ถูกลืม ความพิการเป็นเรื่องที่พิลึกกึกกือ คือยิ่งพัฒนายิ่งมีคนพิการมากขึ้น การพัฒนาเป็น Disability Inclusive Development จึงทำเพื่อให้แน่ใจว่าคนร้อยละ 15 นั้นจะไม่ถูกทิ้ง

อยากชวนอ่าน พ.ร.บ.ส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการในมาตรา 22 ที่ระบุว่า หน่วยงานภาครัฐไม่ว่ามีหน้าที่ใด ให้ส่งเสริมคุณภาพชีวิตคนพิการตามอำนาจหน้าที่ ทั้งที่สมัยก่อนระบุแค่ 4 กระทรวงหลัก เราจึงมีภาระร่วมกันที่จะทำให้คำว่า Inclusion พัฒนาแบบหุ้นส่วน ช่วยกันคิดว่า การพัฒนาจะก้าวข้ามและทำอะไรให้ใครเพื่อสร้างสังคมอยู่เย็นเป็นสุขโดยมีคนพิการเป็นตัวชี้วัด

 

เนื้อหาเพิ่มเติม :

  • ปัจจุบัน มณเฑียร บุญตัน ดำรงตำแหน่งสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ

  •  อนุสัญญาว่าด้วยสิทธิคนพิการ หรือ CRPD เป็นอนุสัญญาว่าด้วยสิทธิของคนพิการ ที่ไทยเข้าร่วมลงสัตยาบันเมื่อวันที่ 29 ก.ค. 2551 แบ่งออกเป็น 4 ส่วนพูดถึงสิทธิของคนพิการและการไม่เลือกปฏิบัติกับคนพิการ ศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ รวมถึงข้อมูลสถิติ ความร่วมมือระหว่างประเทศ และผลการดำเนินงานตามอนุสัญญา

 

อ่านข่าวอื่นจากงาน CBR Forum ได้ที่นี่