Skip to main content

29 พ.ย. 2560 สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) จัดงานการสัมมนาเชิงปฏิบัติการ เรื่องข้อมูลเกี่ยวกับคนพิการ สำหรับการสร้างตัวละครในสื่อ ซึ่งในงานสัมมนาครั้งนี้มีทีมผู้เขียนบทละครชื่อดังร่วมพูดคุยกับคนพิการเรื่องประการณ์และให้ข้อมูลเพื่อนำไปเป็นแรงบันดาลใจในการผลิตผลงาน  โดยการจัดงานสัมมนาในครั้งนี้เป็นการร่วมมือระหว่างบริษัท กล่องดินสอ จำกัดและสำนักงาน คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) 

ผู้เขียนบทละคร ร่วมพูดคุยกับคนพิการถึงแนวทางในการนำเสนอเรื่องราวของละคร

คนพิการที่เข้าร่วม นอกจากจะเป็นคนพิการที่เห็นได้เด่นชัดอย่างความพิการทางร่างกายแล้ว ยังมีคนพิการทางการมองเห็น ที่มาร่วมเล่าประสบการณ์อันแสนธรรมดา คนพิการที่ใช้วีลแชร์คนหนึ่งเล่าถึงการเรียนสคูบ้าจนได้ใบอนุญาตว่า การเรียนสคูบ้าเริ่มต้นด้วยการเรียนทฤษฎีการดำน้ำ การบังคับลมภายในชุด การสื่อสารกับคู่บัดดี้ใต้น้ำ โดยเมื่อเรียนภาคทฤษฎีครบตามที่กำหนดแล้ว ก็ถึงเวลาลงน้ำและลองปฏิบัติจริง หลายคนอาจสงสัยว่า หากเธอขาไม่แข็งแรงและไม่สามารถว่ายน้ำได้ การดำน้ำจะเป็นไปได้อย่างไร ซึ่งเธอก็ตอบว่า ภายในชุดของนักสคูบ้านั้นสามารถปรับระดับความจุลม ซึ่งทำให้เธอสามารถลอยขึ้นหรือจมลงได้ตามที่ต้องการตราบเท่าที่เธอเรียนรู้ที่จะบังคับลมนั้นได้อย่างถูกต้อง หรือในเรื่องความรัก ที่คนพิการเกือบทุกคนเล่าว่า พวกเขามีทั้งประสบการณ์ที่ดีและไม่ดีเกี่ยวกับเรื่องนี้ บางคนก็สมหวังกับความรัก ในขณะที่บางคนก็อกหักรักคุด ไปนั่งเศร้าเหม่อลอยให้ยุงกัดอยู่หลายชั่วโมงโดยไม่รู้ว่าทำเพื่ออะไร นอกจากนี้หลายคนยังยืนยันว่า  คนพิการไม่จำเป็นต้องมีความรักกับคนพิการด้วยกันเท่านั้น แต่พวกเขาสามารถเลือกและรักกับใครก็ได้ที่รู้สึกพึงพอใจ

หลังงานสัมมนา ณัฐิยา ศิรกรวิไล ผู้เขียนบทละครช่อง 3 ซึ่งมีผลงานละครมากมาย เช่น สวรรค์เบี่ยง, สูตรเสน่หา, หนึ่งในทรวง, อย่าลืมฉัน ฯลฯ กล่าวว่า หลังจากที่ร่วมงานในครั้งนี้ประทับใจมากและมีแรงบันดาลใจในการไปทำงานต่อ ก่อนที่จะมีการจัดงานนี้ขึ้นมา ได้คุยกับคุณแจ็คจากบริษัท กล่องดินสอ ว่าเราต้องการทราบข้อมูลว่าวิถีชีวิตของคนพิการปัจจุบันนี้เป็นกันอย่างไร เพื่อให้เกิดความเข้าใจที่ถูกต้องตรงกันสำหรับคนทำสื่อที่จะนำเสนอต่อสังคม ซึ่งหลังจบงานก็ได้ข้อมูลตามที่ต้องการ และที่ได้มากกว่าข้อมูลก็คือความประทับใจที่ได้ฟังเรื่องราวต่างๆ ของน้องๆ ที่เล่าให้ฟังเป็นแรงบันดาลใจให้พวกพี่ได้ทำงานต่อไป 

ณัฐิยา ศิรกรวิไล ผู้เขียนบทละครช่อง 3 ซึ่งมีผลงานละครมากมาย เช่น สวรรค์เบี่ยง สูตรเสน่หา หนึ่งในทรวง อย่าลืมฉัน กล่าวว่า หลังจากที่ร่วมงานในครั้งนี้ประทับใจมากและมีแรงบันดาลใจในการไปทำงานต่อ

เมื่อถามว่า มุมมองก่อนที่จะได้สัมผัสพูดคุยกับคนพิการเป็นอย่างไร ณัฐิยากล่าวว่า ก่อนที่จะได้ร่วมงานตัวเองยังไม่เข้าใจเพราะว่าเราไม่รู้ เราก็เลยไม่ได้รู้สึกอะไร เหมือนกับเราไม่ได้ผูกพันหรือต้องพบเจอกับคนพิการ เหมือนกับถามว่ารู้สึกยังไงกับดาวอังคาร ก็จะมองแค่ว่านั่นคือดาวอังคารเพราะว่าไม่เคยไปดาวอังคาร ไม่ได้ศึกษาเรื่องดาวอังคาร ก็เลยไม่ได้รู้สึกอะไรกับมัน แต่วันนี้มันเหมือนกับเราได้รู้จัก เราได้รู้แล้วว่าคนพิการมีทัศนะคติแบบนี้ เขามีชีวิตแบบนี้ เขามีบุคลิกภาพ มีมุมมองทางความคิดแบบนี้ โลกของเขาเป็นแบบนี้ ตอนนี้แหละคือที่พี่รู้สึกประทับใจและรู้สึกตื่นเต้นกับข้อมูลที่เราได้รับรู้ ต่อไปก็คงจะหยิบยกเอาเรื่องราวของคนพิการเข้าสอดแทรกเข้าไปในเรื่องมากขึ้น แต่คิดว่า ถ้าในอนาคตเกิดบางเรื่องที่มีแรงบันดาลใจมากๆ กับคนเขียนบทคนใดคนหนึ่งอาจจะเกิดเป็นเรื่องราวนั้นขึ้นมาได้เลย เราก็ต้องเอาไปคิดต่อว่าเราจะสอดแทรกในงานของเราได้อย่างไร อาจจะต้องมีรายละเอียดและความเป็นจริงมากขึ้น การเปลี่ยนแปลงของสังคมอาจจะไม่ได้เปลี่ยนอะไรได้นอกจากการรับรู้ของผู้คนถึงความเข้าในในตัวคนพิการที่มากขึ้น

นักเขียนอิสระรุ่นใหม่ กรรณิการ์ โตวรานนท์ ผู้ที่เคยทำหนังสั้นเกี่ยวกับคนพิการเล่าถึงความรู้สึกในการเข้าร่วมงานครั้งนี้ว่าแต่ก่อนจะมองแค่ว่าสิ่งที่เขาทำไม่ได้ทำให้เกิดความสงสาร แต่พอได้ลองเข้ามาพูดคุยจริงๆ ได้เปลี่ยนมุมมองดู เราเห็นว่าเรื่องบางเรื่องเขาก็ทำได้แต่เราทำไม่ได้ ซึ่งมันไม่แตกต่างอะไรกับคนในสังคมที่บางคนถนัดอย่างหนึ่งบางคนไม่ถนัด

ปัญญ์ชลี พลายโถ คนพิการทางสายตา ซึ่งเป็นโปรเจคเมเนเจอร์ของบริษัทกล่องดินสอ กล่าวว่า การจัดงานในครั้งนี้เป็นโปรเจคหนึ่งที่ต้องการขับเคลื่อนการสร้างภาพลักษณ์ให้กับคนพิการให้ถูกนำเสนอในฐานะคนทั่วไป แทนที่จะแสดงออกไปในภาพลักษณ์ที่ดูน่าสงสาร หรือดูเก่งจนเกินไป ซึ่งหลังจากที่แลกเปลี่ยนพูดคุยกับคนอื่นๆ ก็ได้รับรู้ว่าคนพิการแต่ละคนก็มีเรื่องราวของชีวิตที่แตกต่างกันไป เวลาทีมเขียนบทถามอะไรมาทำให้รู้สึกว่าชีวิตของเราที่มันธรรมดา แต่คนอื่นกลับมองว่ามันไม่ธรรมดาทำให้เรารู้สึกว่ามันสำคัญที่จะต้องสื่อภาพลักษณ์ของคนพิการออกไป คนพิการก็เป็นส่วนหนึ่งของสังคมซึ่งเขาสามารถใช้ชีวิตได้เหมือนกับคนอื่นๆ ไม่ใช่แบบที่คนในสังคมทั่วไปมองว่าคนพิการดูน่าสงสาร คนมีกรรม หรืออย่างในละครก็จะเป็นตัวร้ายแล้วพอตอนจบได้รับผลกรรมเป็นคนพิการ มันไม่มีบทคนพิการไปทำงาน มีเพื่อนเป็นคนพิการ คือแบบใช้ชีวิตปกติทั่วไป เลยทำให้คนพิการถูกมองออกเป็นสองแง่ คือ 1.ความสงสาร 2.คนที่แบบดูเก่งเวอร์เกินไป ตอนนั้นเพื่อนเราไปซื้อของกินแม่ค้าก็จะแถมให้หรือให้กินฟรีแล้วบอกว่าทำบุญเพราะความสงสาร ซึ่งเราคิดว่าไม่โอเค เหมือนแบบว่า พอสื่อชอบทำภาพลักษณ์ของคนพิการให้ดูน่าสงสาร แล้วถ้าเราทำดีกับเขาเราก็จะได้บุญ

ปัญญ์ชลี พลายโถ คนพิการทางสายตา เป็นโปรเจคเมเนเจอร์ของบริษัทกล่องดินสอ กล่าวว่าคนพิการก็เป็นส่วนหนึ่งของสังคมซึ่งเขาสามารถใช้ชีวิตได้เหมือนกับคนอื่นๆ ไม่ใช่แบบที่คนในสังคมทั่วไปมองว่าคนพิการดูน่าสงสาร คนมีกรรม หรืออย่างในละครก็จะเป็นตัวร้ายแล้วพอตอนจบได้รับผลกรรมเป็นคนพิการ

ปัญญ์ชลี กล่าวต่อว่า ถ้าจะเปลี่ยนแปลงอะไรในสังคมด้วยการทำละครหรือสื่อออกไปก็อาจจะเป็นกระแสอยู่สักพัก คนไทยเหมือนจำแค่ว่าคนพิการมีแค่นี้ แล้วพอละครมันหายไปภาพความพิการก็จะหายไปด้วยเราคิดว่ามันไม่สามารถเปลี่ยนสังคมได้เพียงแค่ละครเรื่องเดียว จริงๆแล้วควรจะมีการรณรงค์ออกมาหลายๆ สื่อ ทุกภาคส่วนต้องช่วยกัน เพื่อสร้างความเข้าใจในตัวคนพิการใหม่และมากกว่าเดิม

บรรยากาศงานสัมนาเรื่องข้อมูลเกี่ยวกับคนพิการ สำหรับการสร้างตัวละครในสื่อ