Skip to main content

ไพฑูรย์ ไหลสกุล ศิลปินและนักการละครผู้มีชีวิตวัยเด็ก 4 ภาค ผู้บุกเบิกละครใบ้ และก่อตั้งคณะละคร "คนหน้าขาว" เปิดสอนศิษย์หลายรุ่น เสียชีวิตแล้วด้วยวัย 55 ปี


ไพฑูรย์ ไหลสกุล

9 พ.ย. 2560 เว็บไซต์ประชาไทรายงานว่า เมื่อกลางดึกคืนวานนี้ ไพฑูรย์ ไหลสกุล หรือ "อั๋น คนหน้าขาว" ศิลปินผู้บุกเบิกละครใบ้ เสียชีวิตแล้วด้วยด้วยวัย 55 ปี หลังเข้ารับการรักษาตัวโรคหัวใจ โดยกำหนดการบำเพ็ญกุศลศพ วันที่ 9 พฤศจิกายน เวลา 17.30 น. รดน้ำศพ และสวดพระอภิธรรมที่ศาลา 27 วัดธาตุทองจนถึงคืนวันที่ 12 พฤศจิกายน หลังจากนั้นวันที่ 13 พฤศจิกายน เวลา 14.00 น. จะมีพิธีฌาปนกิจศพ

ชีวิตวัยเด็ก 4 ภาค สู่ศิลปินผู้บุกเบิกละครใบ้

ในบทสัมภาษณ์ "อั๋น-ไพฑูรย์ ไหลสกุล" ต้นธารละครใบ้ไทย เปิดมุมมองแบบขำไม่ออก" เผยแพร่ในมติชนออนไลน์เมื่อ 29 ก.ย. 2555 ไพฑูรย์เกิดเมื่อ 31 ก.ค.2505 ที่ จ.นครศรีธรรมราช ต่อมาเขาย้ายตามมารดาไป จ.อุบลราชธานี ช่วง ป. 2-4 จนพูดภาษาอีสานคล่อง ชอบกินข้าวเหนียว และชอบทำข้าวจี่ขาย และย้ายกลับมาที่นครศรีธรรมราช กรุงเทพฯ เชียงใหม่ สุดท้ายกลับมาปักหลักที่กรุงเทพ

ทำให้ในวัยเด็กเรียนทั้งโรงเรียนเบญจมราชูทิศ จ.นครศรีธรรมราช, วัฒโนทัยพายัพ จ.เชียงใหม่, วัดธาตุทอง กทม. และโรงเรียนสุวรรณศรี จ.นครศรีธรรมราช (ปัจจุบันยุบแล้ว)

เก็บเกี่ยวประสบการณ์ด้านการละคร เรียนวิชาละครใบ้กับมิลาน สลาเด็ค

จุดที่ทำให้ไพฑูรย์ สนใจการละครเริ่มต้นจากการเรียนที่โรงเรียนวัฒโนทัยพายัพ จ.เชียงใหม่ ซึ่งเขาต้องเรียนภาคค่ำจะได้ทันเพื่อน พอกลางวันว่าง จึงไปทำงานที่ศูนย์ศิลปะเด็กเชียงใหม่ ทำให้ได้รู้จักกับ "เทพศิริ สุขโสภา" ผู้ก่อตั้งศูนย์ ซึ่งพาไปเล่นละครหุ่นตามที่ต่างๆ บ่อย กระทั่งได้ดูละครใบ้ของ "ครูช่าง-ชลประคัลภ์ จันทร์เรือง"

"เห็นครูช่างเล่นแล้วอยากเล่นเป็นบ้าง เลยขอให้ท่านสอน ตอนนั้นท่านยังหนุ่ม บอกวิธีเดินอยู่กับที่และการแตะกระจกให้แล้วก็ออกไปเที่ยว 4 ชั่วโมงผ่านไปท่านกลับมา เห็นเรายังซ้อมอยู่ท่านเลยสอนอย่างเต็มที่"

หลังจากนั้นก็เก็บเกี่ยวประสบการณ์ด้านการแสดงจากมูลนิธิดวงประทีป แสดงในค่ายอพยพกับมูลนิธิการศึกษาเพื่อสังคม เข้าเป็นนักแสดงรุ่นแรกของคณะละครมะขามป้อม ในปี 2523 มีโอกาสได้เรียนวิชาละครใบ้กับ "มิลาน สลาเด็ค" นักการละครชาวสโลวาเกีย

ตั้งคณะละครใบ้ "คนหน้าขาว"

หลังจากนั้นเขาจึงเริ่มตระเวนเล่นเปิดหมวก และตั้งคณะละครใบ้ชื่อ "คนหน้าขาว" เมื่อวันที่ 11 พ.ย. 2527 และเปิดการแสดงในโอกาสต่างๆ

ข้อมูลจากสูจิบัตรงานเทศกาลคนรักละครใบ้ 2016 กลุ่มคนหน้าขาวเปิดการแสดงชุด "กามาละครใบ้" ในปี 2530 มีเนื้อหาเกี่ยวกับความเท่าเทียมระหว่างหญิง-ชาย เป็นเรื่องแรกของเอเชีย ผลจากการจัดแสดงทำให้ได้รับทุนจากสถาบันเกอเธ่ (Geothe Institute) หรือ สถาบันวัฒนธรรมไทย – เยอรมัน (German Cultural Institute) ให้ไปดูงานการแสดงละครใบ้ที่ประเทศเยอรมันเป็นเวลา 1 เดือน และเป็นศิลปินละครไทยที่ได้รับเชิญจากเทศกาลละครใบ้ในประเทศญี่ปุ่น จีน และเกาหลี ให้ไปเปิดการแสดงในเทศกาล

ต่อมาก่อตั้งสถาบันละครใบ้คนหน้าขาว (2547) เปิดทำการสอนการแสดงละครใบ้ให้กับกลุ่มนักศึกษาและบุคคลทั่วไป พร้อมทั้งกำกับและเปิดแสดงงานทุกๆ ปี ไพฑูรย์มีผลงานในวงการแสดงอย่างต่อเนื่อง อาทิ ร่วมแสดงในละครเวทีเรื่อง อโรคยา จอมยากับยาใจ นำแสดงโดย ธงชัย แมคอินไตย กำกับมิวสิควิดีโอเพลงให้กับค่ายเพลงสมอล์รูม แสดงประกอบภาพยนตร์ มิวสิกวิดีโอและโฆษณาต่างๆ อีกทั้งเป็นผู้ริเริ่มโครงการสอนละครใบ้เพื่อเด็กหูหนวกซึ่งได้รับทุนสนับสนุนจาก สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.)

สำหรับคณะละครใบ้คนหน้าขาวมีนักแสดงเข้าร่วมอบรมและแสดงหลายรุ่น มีการเปิดผลงานการแสดง เช่น กามาละใบ้, รัด-สา-หะ-กิจ, Mime Solo คุณคือตัวละคร, Mime Cocktail, เปลี่ยนหน้าไม่เปลี่ยนใจ, ผีเพื่อนแท้, แอปเปิ้ล เชอรี่แอน, Soulmate Dinner Nightmare, นักล้วงกระเป๋า, พระจันทร์สีส้มอมชมพู, อารมณ์มนุษย์ผู้ชาย, Falling in Heaven และอื่นๆอีกมากมาย

ในเดือนเม.ย.2559 ก่อนเริ่ม "เทศกาลคนรักละครใบ้ 2016" ไพฑูรย์ได้ให้สัมภาษณ์ประชาไทเล่าถึงความเป็นมาของละครใบ้ ที่ตามตำราศิลปะการแสดงสากลของยุโรปมีประวัติพัฒนาการเป็นมานับร้อยปีหรือพันปี เริ่มมีการแสดงละครใบ้มาตั้งแต่ยุคโรมัน หรือหากจะย้อนกลับไปยาวนานกว่านั้นก็คือสมัยที่มนุษย์เริ่มติดต่อกับเทพเจ้า

ในสมัยก่อน เวลาเราติดต่อกับเทพเจ้า มักเห็นคนที่เป็นตัวกลางในการติดต่อต้องทาหน้าขาวๆ และทำท่าทางเพื่อเล่าว่า วันนี้ไปทำอะไรมา ล่าสัตว์มาหรือเปล่า หรือทำโน่นทำนี่ไปตามประสา แล้วก็บอกกับเทพเจ้าว่า พรุ่งนี้อยากจะล่าสัตว์ให้ได้มากขึ้น” เขากล่าวและคนหน้าขาวเหล่านี้ จึงเปรียบเสมือนตัวแทนของมนุษย์เพื่อขอพรโดยใช้ท่าทาง ซึ่งนั่นคือต้นตอของละครใบ้ (อ่านบทสัมภาษณ์)

เขาเล่าด้วยว่าแนวทางของละครใบ้ในโลกมี 3 แบบหลักๆ คือ หนึ่ง แบบดั้งเดิมซึ่งไม่มีการใช้เสียงพูด หรือซาวน์เอฟเฟคใดๆ สอง แบบพัฒนา คือมีการใช้ซาวน์ประกอบ  และสามแบบประยุกต์ คือมีการนำเอามายากลเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งในการแสดง ผ่านนักแสดงละครใบ้ที่ทาหน้าขาว ไม่แสดงสีหน้า และแต่งกายด้วยเสื้อผ้าสีสันเรียบๆ อย่างไรก็ตาม ละครชนิดนี้เริ่มเข้ามาในประเทศไทยราว 4 ทศวรรษ แต่ความนิยมที่มีต่อละครชนิดนี้กลับไม่ค่อยเพิ่มขึ้น ซ้ำยังคงถูกเล่นอยู่ในวงแคบ ซึ่งมีเพียงแค่นักแสดงกลุ่มเล็กๆ ไม่กี่คน เท่านั้น

“ถ้าจำนวนคนเล่นก็มีหลักสิบ ถ้าคณะละครก็สามถึงสี่คณะ”เขากล่าว

เขาเห็นว่าแม้ละครใบ้จะยังไม่ได้รับความนิยมเท่าที่ควร แต่กลุ่มคนรุ่นใหม่กลับสนใจละครชนิดนี้กันมากขึ้น ไพฑูรย์เห็นว่า อาจเป็นเพราะละครใบ้เป็นศิลปะที่ไม่ต้องแบกอะไรเลย เสื้อผ้าก็ง่ายๆ ไปที่ไหนก็เล่นได้ ลำบากแค่อย่างเดียวนั่นคือคือต้องใช้เวลาฝึกฝนค่อนข้างนาน

“ปัญหาหลักที่พบนอกเหนือจากนั้นก็คือโครงสร้างของละคร ที่เราต้องมีโรงละคร ทีมงาน นักแสดง และผู้ชม ตอนนี้เราไม่มีโรงละคร นักแสดงก็ไม่ได้รับการสนับสนุนจากรัฐ เมื่อไม่มีพื้นที่ให้เขาแสดง นักแสดงจึงไม่เติบโต เพราะไม่มีใครทำอย่างจริงจังเป็นอาชีพ” เขากล่าว

ท่ามกลางอุปสรรคสารพัดที่ทำให้ศิลปะแขนงนี้ยังไม่พัฒนาไปมากนักในสังคมไทย แต่เขาก็มีประสบการณ์ด้านบวกอยู่เหมือนกัน เช่น มีช่วงหนึ่งที่ได้รับเชิญไปเล่นให้เด็กดู ทั้งในสลัม บนดอย ค่ายอพยพ และรวมทั้งเด็กพิการทางการได้ยิน  ซึ่งพบว่า เด็กพิการทางการได้ยินมีความสุขมาก การสื่อสารแนวนี้ไปกันได้ดีกับเขา จึงพัฒนามาสู่การสอนละครใบ้เด็กพิการ

ละครใบ้เป็นเครื่องมือที่ช่วยทำให้โลกที่พวกเขามีกว้างขึ้น  เด็กพิการมักถูกจำกัดให้อยู่ในกรอบว่าทำสิ่งนี้ได้ หรือทำสิ่งนั้นไม่ได้ การมีกิจกรรมที่พวกเขาสามารถทำได้อย่างเท่าเทียมอย่างแสดงละครใบ้ จึงทำให้เด็กๆ  รู้สึกมีความภาคภูมิใจที่พวกเขาสามารถเล่นละครให้คนที่ไม่พิการดูได้ ที่สำคัญคือเขาก็สามารถดูละครใบ้อย่างเท่าเทียมร่วมกับคนอื่น ความเท่าเทียมในเรื่องเล็กๆ เช่นนี้น่าจะเป็นจุดเริ่มต้นที่ดี ที่ทำให้ความเท่าเทียมนั้นกระจายไปสู่เรื่องอื่นๆ ด้วย