Skip to main content

เมื่อต้องใช้ชีวิตประจำวันร่วมกับคนอื่นๆ ในสังคม เราอาจเห็นอุปกรณ์ชิ้นหนึ่ง เป็นไม้สีขาวยาวๆ โดนแกว่งไปแกว่งมาขณะเขาหรือเธอเดินอยู่  และเราก็จะรับรู้โดยอัตโนมัติว่า เขาหรือเธอเหล่านั้น เป็นคนตาบอด แต่ไม่ใช่คนตาบอดเท่านั้นที่ใช้ไม้เท้าขาว คนที่มีสายตาเลือนรางก็ใช้มันด้วยเช่นกัน

วันไม้เท้าขาวสากล (White Cane Safety Day) ตรงกับวันที่ 15 ตุลาคมของทุกปี เป็นวันที่กระตุ้นเตือนให้สังคมโลกตระหนักและส่งเสริมศักยภาพของคนพิการทางสายตา โดยใช้ไม้เท้าขาวเป็นสัญลักษณ์ของคนพิการทางสายตาทั่วโลก ซึ่งเป็นสัญลักษณ์ที่นำไปสู่การแสดงออกถึง ‘อิสรภาพ’  สำหรับคนพิการทางสายตาทุกคน

ทำไมต้องเป็น สีขาว ?

เคยสงสัยกันไหมว่า ทำไมไม้เท้าของคนตาบอดถึงเป็นสีขาว? เราอาจกล่าวได้ว่า สีขาวเป็นสีของ ‘ความสว่าง’ และ ‘พลังบริสุทธิ์’ อย่างไรก็ดี ในทางปฏิบัติไม้เท้าอาจไม่จำเป็นต้องเป็นสีขาวก็ได้ แต่ไม้เท้าสำหรับคนตาบอดที่ได้มาตรฐานมักจะใช้สีขาวเป็นส่วนใหญ่ก็เพราะ สีขาวเป็นสีที่สะท้อนแสงได้ดีในความมืด ช่วยให้คนอื่นๆ ที่สัญจรไปมาทั้งทางเท้าและทางถนนมองเห็นคนตาบอดที่กำลังเดินทางในเวลากลางคืน เป็นการป้องกันอันตรายให้กับคนตาบอดที่จำเป็นต้องออกเดินทางในยามวิกาลได้ดีอีกด้วย

แม้จะเห็นคนพิการทางสายตาใช้ไม้เท้าได้อย่างคล่องแคล่ว แต่ขั้นตอนก่อนการใช้ และการฝึกหัดก็เป็นเรื่องที่คนพิการจะต้องเรียนรู้หรือที่เรียกกว่า โอแอนด์เอ็ม

อะไรคือโอแอนด์เอ็ม

คนพิการทางสายตาจะสามารถใช้ประโยชน์จากไม้เท้าขาวได้อย่างเต็มที่ก็ต่อเมื่อพวกเขาผ่านการฝึกอบรมการใช้ไม้เท้าขาวในการดำรงชีวิตสำหรับคนพิการทางสายตาอย่างมีประสิทธิภาพเพียงพอแล้ว วิชา ‘การทำความคุ้นเคยกับสภาพแวดล้อมและการเคลื่อนไหวหรือโอแอนด์เอ็ม (Orientation & Mobility: O&M)’ เป็นหลักวิชาที่ว่าด้วยการฟื้นฟูสมรรถภาพคนพิการทางสายตาทั้งตาบอดและตาบอดเลือนราง ให้สามารถเคลื่อนไหว เดินทาง หรือสามารถเข้าถึงการดำรงชีวิตอิสระ (Independent Living) ด้วยการใช้ไม้เท้าเป็นส่วนหนึ่งในชีวิตประจำวัน

ดร.ริชาร์ด อี ฮูเวอร์ เป็นผู้ริเริ่มและพัฒนาทักษะในวิชาโอแอนด์เอ็มขึ้นมาเป็นคนแรกของโลก หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 มีทหารผ่านศึกและพลเรือนมากมายที่ต้องกลายเป็นคนพิการจากพิษของสงคราม รัฐบาลสหรัฐอเมริกาเล็งเห็นความสำคัญและคุณประโยชน์ของการใช้ไม้เท้าขาวเพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตคนตาบอด ในปี 2507 ประธานาธิบดีลินดอน บี จอห์นสัน จึงได้ประกาศให้วันที่ 15 ต.ค.ของทุกปีเป็นวันไม้เท้าขาวสากลตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา

นุชนาฎ โต๊ะดี ครูสอนวิชาโอแอนด์เอ็มหรือวิชาไม้เท้าขาว อยู่กับประสบการณ์ในแวดวงคนพิการทางสายตามากว่า 20 ปี ร่วมเล่าถึงความทรงจำที่เธอมีต่อไม้เท้าขาว และเส้นทางจากเจ้าหน้าที่การเงินที่เคยมองคนพิการทางสายตาว่าเป็นได้แค่ คนตาบอดขอทาน มาเป็นครูสอนการใช้ชีวิต

“คุณจะรู้สึกยังไง ถ้าต้องทำงานกับคนพิการ?” นี่คือคำถามแรกๆ ที่นุชนาฎถูกถามโดย ศ. เกียรติคุณ นพ.พูลพิศ อมาตยกุล ผู้อำนวยการคนแรกของวิทยาลัยราชสุดา มหาวิทยาลัยมหิดล วิทยาลัยที่เน้นการเรียนการสอนเพื่อผลิตบุคลากรที่เอื้อต่อการพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการของไทยในทุกด้าน

แม้ว่าปัจจุบันเธอจะเป็นนักวิชาการศึกษา (ผู้ชำนาญการ) สังกัดสำนักงานบริการวิชาการและวิจัย วิทยาลัยราชสุดา มหาวิทยาลัยมหิดล แต่เริ่มแรกเธอเข้ามาอยู่ที่นี่ด้วยตำแหน่งเจ้าหน้าที่การเงิน ซึ่งไม่มีความเกี่ยวข้องอะไรเลยกับคนพิการทางสายตา

เมื่อนึกถึงคนตาบอด ก็จะนึกถึงขอทานและชีวิตอิสระที่คนคาดไม่ถึง

นุชนาฎเล่าว่า ก่อนทำงานที่วิทยาลัยราชสุดา คนตาบอดในภาพจำและการรับรู้คือ ‘คนตาบอดขอทาน’ นอกจากนั้นก็ไม่ได้สนใจอะไรมากมายนัก จนกระทั่งมีโอกาสได้เข้ามาทำงานที่วิทยาลัยแห่งนี้ ความคิดของนุชนาฎจึงเปลี่ยนไปอย่างสิ้นเชิง

“พอได้มาทำงานที่วิทยาลัยราชสุดา ได้พบอาจารย์มณเฑียร บุญตันที่เป็นผู้บริหาร เรียนจบปริญญาโทจากสหรัฐอเมริกา เดินทางเองด้วย ทำอะไรเองได้โดยลำพัง มันเหมือนกับเป็นอีกโลกหนึ่งที่เราไม่เคยเจอ” นุชนาฎกล่าว

เมื่อมีโอกาสได้พบกับคนพิการที่ต่างไปจากภาพจำเดิมๆ ของตน นุชนาฎจึงอยากจะเรียนรู้ว่า คนตาบอดเขาเดินทางหรือใช้ชีวิตอย่างอิสระได้ยังไงกัน

โอแอนด์เอ็มครั้งแรกของนุชนาฎกับอาจารย์ โจเซฟ เอฟ โชฟี ครูสอนทักษะการใช้ไม้เท้าชาวอเมริกัน เกิดขึ้นในปี 2537 เป็นการเชิญวิทยากรจากต่างประเทศมาสอนในไทย ขณะนั้นที่วิทยาลัยราชสุดาไม่มีตำแหน่งครูสอนโอแอนด์เอ็มมาก่อน มณเฑียรจึงได้เชิญวิทยากรมาสอนนุชนาฎร่วมกับผู้ฝึกเพื่อเป็นครูสอนไม้เท้า เป็นเวลา 4 เดือน หลังจากนั้น นุชนาฎก็ไปฝึกประสบการณ์ในหน่วยงานและศูนย์ฝึกอาชีพต่างๆ เพื่อนำมาพัฒนางานด้านการสอนไม้เท้าขาว โดยมีผู้เชี่ยวชาญอีกคนคือ แฉล่ม แย้มเอี่ยม คนไทยคนแรกที่ไปฝึกทักษะวิชาโอแอนด์เอ็มจากประเทศอินเดียเป็นผู้ให้คำแนะนำ 

หลังจากปี 2537 ที่เข้ามาคลุกคลีกับการสอนวิชาโอแอนด์เอ็ม เธอก็พบปัญหาอย่างหนึ่งที่สำคัญมากในการหัดให้คนตาบอดหรือตาเลือนรางใช้ไม้เท้าขาว นั่นคือ ปัญหาการยอมรับความพิการของตนเองไม่ได้ เธอจึงตัดสินใจเรียนปริญญาโทวิชาเอกการให้คำปรึกษาในการบริการฟื้นฟูสมรรถภาพคนพิการ ที่วิทยาลัยราชสุดา มหาวิทยาลัยมหิดล

“ตอนแรกๆ ที่สอน เราเป็นครู เราเตรียมตัวแล้วว่าวันนี้เราจะต้องสอนเนื้อหาตามนี้ แต่มันไปไม่ได้ ไปไม่ได้เพราะตัวนักเรียนเขารับสภาพความพิการของเขาไม่ได้ เดินๆไปเขาร้องไห้ เราไม่เข้าใจก็บอกว่า ไม่ต้องเสียใจหรอก ฝึกนะอะไรอย่างนี้ เค้าไม่ฝึกกับเรา เขาต้องการให้เรานั่งฟังเขา คุยกับเขา

“ในช่วงแรก เราคิดว่า คุยทำไม เสียเวลา เราจะรีบสอน เราไม่เข้าใจ แล้วก็รู้สึกว่า งานไม่ประสบความสำเร็จ รู้สึกท้อ รู้สึกแย่ว่าเราเต็มที่แต่ทำไมเขาไม่เต็มที่นะ ทำไมเขาไม่เอากับเราด้วย ทำไมเขาไม่สู้ อาจารย์ทางด้านจิตวิทยาบอกว่า เรามีใจที่จะทำงานแต่ขาดความเข้าใจ ขาดการที่จะเข้าไปอยู่ในใจเขา เลยทำให้เราเป็นทุกข์ ก็เลยมาเรียนเอกการให้คำปรึกษา พอเข้าใจแล้วเราทำเต็มที่ ทำดีที่สุดแล้ว ผลเป็นยังไงเราต้องรับมันให้ได้” นุชนาฎกล่าว

เมื่อได้รับคำถามว่าอะไรคือสิ่งสำคัญที่ควรตระหนักระหว่างการฝึกทักษะการใช้ไม้เท้าขาวให้กับคนพิการทางการเห็น นุชนาฎให้ความเห็นที่น่าสนใจไว้ว่า

“คำพูดของเรา ตอนที่เราเป็นครูโอแอนด์เอ็มเรารู้ว่าบริเวณนี้ สถานที่นี้มีความยาก เรารอได้เพราะเราใจเย็น เราเคยผ่านบริเวณนี้มา มันต้องใช้เวลา แต่การจะกระตุ้นให้เขาทำ มันยาก แต่พอเรามีจิตวิทยาปั๊บ เรารู้ว่าเราจะต้องเริ่มพูดกับเขาอย่างไร เมื่อไหร่ที่เราควรจะเข้าไปหาเขา เมื่อเขาหลงทาง เช่นคนอายุเยอะ เป็นผู้ใหญ่วัยสักประมาณ 60 กว่าแล้ว เราเห็นแล้วคนนี้ร่างกายแข็งแรง แต่...มีความหยิ่งในศักดิ์ศรี อัตตาสูง จะไม่พูด ไม่ถามใคร ฉันจะทำให้ดูโดยที่ฉันไม่พึ่งใคร เดินหลงวนไปวนมา แล้วก็เริ่มเครียด ถ้าเห็นแบบนี้บางคนอาจจะเข้าไปช่วยเหลือเลย แต่เราจะดูก่อน ยังไม่เข้า เพราะเราตกลงกับเขาแล้วว่า ถ้าต้องการความช่วยเหลือ ให้ยืนอยู่กับที่แล้วเคาะไม้เท้า”

ไม่ใช่แค่คนพิการทางการมองเห็น แต่คนพิการซ้อนก็ต้องฝึกให้ได้

เมื่อถามถึงสิ่งที่ยากและท้าทายที่สุดในการเป็นครูสอนการใช้ไม้เท้าขาว นุชนาฎตอบอย่างไม่ลังเลเลยว่า คือการสอน “คนพิการซ้อน” ให้เรียนรู้ทักษะวิชาโอแอนด์เอ็มให้ได้

“คนพิการซ้อนเด็กหรือผู้ใหญ่ที่ประสบอุบัติเหตุแล้วมีปัญหาเรื่องของความจำ ไม่ใช่ตาบอด ตาเลือนรางอย่างเดียว เป็นเคสที่ท้าทาย ถ้าเราแก้ไขไม่ได้ก็ต้องปรึกษาหาผู้เชี่ยวชาญ เพื่อที่จะส่งต่อหรือหาทางออกเพิ่มเติม เราได้พัฒนาตัวเองด้วยจากที่ต้องไปศึกษาหาข้อมูลเพิ่มเพื่อมาปรับใช้กับเขา” นุชนาฎกล่าว

“มีคุณลุงคนหนึ่งสายตาเลือนราง เข้ามารับการฝึกฝนอบรมการใช้ไม้เท้าขาว ทีมงานได้ประเมินเบื้องต้นก่อนเรียนกับคุณลุงแหมือนที่ทำกับผู้เรียนทุกคน ทั้งด้านการเคลื่อนไหว การสื่อสาร อารมณ์ ฯลฯ ทุกอย่างสามารถผ่านเกณฑ์ แต่สุดท้ายกลับพบว่า ลุงเป็นโรคอัลไซเมอร์ เลยทำให้เมื่ออยู่ในห้องเรียน สามารถเรียนรู้การใช้ทักษะเบื้องต้นได้ แต่เมื่อเริ่มการฝึกภาคปฏิบัติที่ต้องทดสอบการเดินทางคนเดียว ลุงจดจำเส้นทางที่ระบุไว้สำหรับการฝึกไม่ได้ อย่างให้ไปมหาวิทยาลัยมหิดล ลุงก็ไปวัด พร้อมกับบอกว่าจำไม่ได้ ก็เลยไปวัดก่อน ”

เมื่อเจอสถานการณ์แบบนี้วิธีแก้ปัญหาก็คือ เขียนอธิบายเส้นทางจากจุดเริ่มต้นไล่ไปแต่ละที่จนถึงจุดสิ้นสุดลงไว้ในกระดาษให้ลุง และถ้าหากลุงจำไม่ได้ ให้ควักกระดาษแผ่นนี้ออกมาถามคนแถวนั้นว่าตอนนี้อยู่ตรงนี้แล้วต้องไปต่ออย่างไร นอกจากจะแก้ปัญหาในระหว่างการฝึกแล้ว ยังเป็นการสอนให้  ลุงนำทักษะการจดบันทึกนี้ไปใช้ในเวลาเดินทางในชีวิตประจำวันด้วย

หนึ่งในแบบฝึกหัดครอสโอแอนด์เอ็มมีการจำลองเส้นทางในการฝึกปฏิบัตินอกสถานที่คือ เริ่มจากเดินออกจากห้องเรียนไปที่สะพานดาว เพื่อข้ามไปลงที่ป้ายรถฝั่งตรงข้ามกับวิทยาลัยราชสุดา จากนั้นขึ้นรถสองแถวไปลงที่สะพานลอยหน้ามหาวิทยาลัยมหิดล ศาลายา ข้ามสะพานลอยเพื่อมารอรถเมล์สาย 515 หลังจากนั้น นั่งรถเมล์ราว 1 ชั่วโมงเพื่อไปลงที่อนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ แล้วขึ้นบีทีเอสอนุสาวรีย์ชัยฯ เพื่อไปลงบีทีเอสหมอชิต เดินมาต่อเอ็มอาร์ทีจตุจักร เพื่อไปลงเอ็มอาร์ทีบางซื่อ ขึ้นรถไฟธรรมดาจากสถานีบางซื่อมาลงสถานีศาลายา ต่อสองแถวจากตลาดศาลายาเพื่อมาลงตีนสะพานดาวของวิทยาลัยราชสุดา แล้วจึงกลับมาที่ห้องเรียน เป็นอันครบจบกระบวนการฝึกหัดนอกสถานที่ในวันนั้น ต้องยอมรับว่า เป็นการเดินทางด้วยไม้เท้าขาวที่ทำให้ผู้ฝึกหัดทุกคนใจหายใจคว่ำพร้อมการเผชิญกับความสนุกในการแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้าไปตามๆ กัน

จุดเด่นของการอบรมทักษะวิชาโอแอนด์เอ็มของวิทยาลัยราชสุดาคือ ที่นี่เป็นทั้งแหล่งบ่มเพาะครูที่จะต้องไปเป็นผู้สอนโอแอนด์เอ็มในหน่วยงานต่างๆ และยังมีการอบรมเพื่อฝึกฝนทักษะการใช้ไม้เท้าให้กับคนพิการทางสายตาโดยตรงอีกด้วย ทั้งนี้เพื่อตอบสนองกลุ่มเป้าหมายคนพิการที่พิการภายหลัง หรือคนพิการที่ไม่ได้ผ่านการเรียนการสอนในโรงเรียนสอนคนตาบอดตามจังหวัดต่างๆ และคนพิการทางสายตาที่อาจมีงานทำอยู่แล้ว จึงไม่จำเป็นต้องเข้าสู่กระบวนการฝึกอาชีพของศูนย์ฝึกอาชีพต่างๆ ที่จะมีการสอนวิชาทักษะการใช้ไม้เท้านี้

สำหรับคนพิการทางสายตาแล้ว การเดินทางเป็นสิ่งที่ค่อนข้างยากลำบาก คุณลองจินตนาการดูว่า ถ้าวันหนึ่งมีคนเอาผ้ามาผูกตาคุณไว้ ให้ไม้ยาวๆ กับคุณมาอันหนึ่ง ให้คุณเดินออกจากบ้านเพื่อไปซื้อของหรืออาหารการกินอย่างที่คุณเคยทำอยู่ทุกวัน คุณคิดว่าคุณจะเริ่มต้นอย่างไรเพื่อให้ไปถึงจุดมุ่งหมาย นี่ยังไม่นับรวมสิ่งกีดขวางหรือระบบขนส่งที่คุณจะต้องใช้บริการหากคุณต้องเดินทางไปไหนไกลๆ ดังนั้น วิชาโอแอนด์เอ็มว่าด้วยทักษะการใช้ไม้เท้าขาวสำหรับคนตาบอดนี้จึงมีความสำคัญมาก

“เราถามผู้เรียนทุกคนว่า ถ้าเรามองไม่เห็นแล้ว อะไรคือความยากลำบากที่สุด พี่กล้าพูดได้เลยว่า คนส่วนใหญ่จะให้คำตอบแรกคือ การเดินทาง พอเมื่อปัญหามันเกิดจากการเดินทางที่ทำให้เขาเกิดความยากลำบากในการใช้ชีวิต จะไปที่ไหนก็ลำบาก จะต้องช่วยตนเอง จะไปเรียน จะไปทำงาน ก็เป็นปัญหาอุปสรรคหมด เพราะฉะนั้นไม้เท้าคืออุปกรณ์เครื่องช่วย ที่เป็นทางออกทางหนึ่งที่จะทำให้เขาสามารถเดินทางได้ด้วยตนเอง แล้วก็การที่ถือไม้เท้า ทำให้คนทั่วไปเห็นว่า มีความบกพร่องทางการเห็นหรือมีความต้องการที่จะขอความช่วยเหลือจากสาเหตุปัญหาทางการเห็น มันเป็นสัญลักษณ์สากลที่ทั่วโลกเขารับทราบ แต่ของประเทศไทยเรา ยังไม่ค่อยรู้สักเท่าไหร่ ช่วงหลังๆ มานี่เอง เริ่มมีการกระตุ้นในสังคม เพราะคนกลุ่มนี้มีการเรียนและการออกไปใช้ชีวิตมากขึ้น สิ่งอำนวยความสะดวกต่างๆ มากขึ้น การขนส่งต่างๆ ก็เริ่มเยอะขึ้น ก็ทำให้ผู้คนทั่วไปเห็นบุคคลกลุ่มนี้ ถือไม้เท้าเดินออกมามากขึ้น เดี๋ยวนี้หลายคนเวลามาเรียนไม้เท้าแล้ว เขาบอกว่าถึงเขาจะไม่ใช้อย่างกลุ่มที่เป็นโล วิชัน แต่ถือไปด้วย เมื่อมีความจำเป็น เขาสามารถนำออกมาใช้และได้รับการช่วยเหลือ บางคนมองว่ามันคือสิ่งที่พิเศษ ที่ทำให้เขาสามารถมีโอกาสในสังคม แต่กับบางคนอาจจะมองว่า เป็นเรื่องของความน่าอาย ยังไม่ยอมรับตรงนี้  แต่ก็ไม่เป็นไรค่ะ อย่างน้อยที่สุดเขาก็จะได้รู้ว่ามันมีอุปกรณ์อย่างนี้อยู่นะ

“การที่เราถือไม้เท้าออกไปข้างนอก อย่าดูถูกตัวเองหรือสมเพทตัวเองว่า ทำไมฉันต้องเป็นแบบนี้ แต่ให้คิดว่า การที่เราถือไม้เท้าออกไป นั่นคือการที่ทำให้คนอื่นเขามีพลัง อยากให้มองอย่างนี้มากกว่าที่จะมองว่าพอเราออกไปข้างนอกแล้วจะเป็นภาระให้คนอื่นหรือเปล่า”นุชนาฎกล่าว