Skip to main content

มูลนิธิเวชดุสิตเปิดตัวโครงการ “ความฝันไม่มีวันพิการ ปีที่ 3 ร่วม-ลงมือ-ทำ” และ ภาพยนตร์ประกอบโครงการ “Adaptive Clothing” มูลนิธิเวชดุสิต โดยการกำกับดูแลของบริษัท กรุงเทพดุสิตเวชการ จำกัด (มหาชน) หรือ BDMS โดยร่วมกับแบรนด์ดีไซเนอร์ได้แก่ Sretsis (สเรทซิส)  Patinya (ปฏิญญา) และ Greyhound Original (เกรฮาวด์ ออริจินัล)

โชว์ผลงานและดีไซน์การออกแบบ Adaptive Clothing หรือเสื้อผ้าดัดแปลง สำหรับผู้ที่มีข้อจำกัดทางร่างกาย ผ่านการเดินแบบบนแคทวอล์คขนาดใหญ่ใจกลางห้างสรรพสินค้า ดิ เอ็มควอเทียร์ ชื่อ “Unlimited Dreams Live Showcase” งานแฟชั่นโชว์แห่งความเท่าเทียม โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อสร้างแรงบันดาลใจและจุดประกายความฝันให้กับเด็กพิการ ให้สามารถก้าวข้ามข้อจำกัดทางร่างกาย เสริมสร้างความตระหนักต่อสังคมเรื่องความเท่าเทียม  และก้าวข้ามขีดจำกัดทางสังคมได้ในที่สุด

นอกเหนือจากดีไซน์เนอร์ทั้งสามแบรนด์ ยังได้รับการสนับสนุนจากอีกหลายภาคส่วน เช่น บริษัท กรุงเทพดุสิตเวชการ จำกัด (มหาชน) เครือโรงพยาบาลต่างๆ บริษัท วิริยะประกันภัย จำกัด (มหาชน) โรงเรียนศรีสังวาลย์ โรงเรียนโสตศึกษาทุ่งมหาเมฆ โรงเรียนประชาบดี รวมถึงดารา นายแบบ และนางแบบได้แก่ ยิปโซ อริย์กันตา, เจมส์ ธีรดนย์, แม๊กกี้ อาภา, คิตตี้ ชิชา, ก้อง AF9, คริส The Star 9, แจ๊กกี้ ชาเคอลีน, พีเค The Face Men, จีน่าและเจสซี The Face รวมถึงแขกรับเชิญพิเศษ  หนู - นลัทพร ไกรฤกษ์ บก.Thisable.me, ดิว - ไพฑูรย์ แซ่จิ้ว นักกีฬาเทเบิลเทนนิสพาราลิมปิก ที่มาร่วมเดินแฟชั่นโชว์ และวง Mild รวมไปถึงวง Reflection ที่มาช่วยสร้างเสียงดนตรีและสีสันภายในงาน


อัจจิมา เศรษฐบุตร กรรมการและเลขานุการมูลนิธิเวชดุสิตฯ กล่าวว่า ตลอดระยะเวลากว่า 3 เดือน มูลนิธิเวชดุสิตฯ และกลุ่มดีไซเนอร์ได้ทำงานร่วมกันอย่างต่อเนื่องในการช่วยกันทำความฝันของน้องๆ ให้เป็นจริง โดยได้ร่วมกันพัฒนาทักษะ ความสามารถ และเปิดโอกาสให้น้องๆ ได้แสดงศักยภาพที่ซ่อนเร้นออกมา ผ่านการเป็นส่วนหนึ่งของการสร้างสรรค์และออกแบบ  Adaptive Clothing หรือเสื้อผ้าดัดแปลงสำหรับผู้มีข้อจำกัดทางร่างกาย ที่นอกจากจะถูกนำมาแสดงและจัดจำหน่ายภายในงานแล้วนั้น คนที่เข้าร่วมโครงการยังสามารถนำประสบการณ์การทำงานไปต่อยอดตามเส้นทางอาชีพของตนเองได้

“จากประสบการณ์การทำงานให้มูลนิธิและร่วมกับ BDMS ทำให้เราตระหนักถึงความสำคัญของฟังก์ชันการใช้งานเสื้อผ้า เนื่องจากคนพิการและผู้ป่วยติดเตียงนั้นมีข้อจำกัดทางด้านร่างกาย การมีเสื้อผ้าที่สวมใส่และถอดได้ง่ายจะช่วยอำนวยความสะดวก ไม่เพียงแค่กับตัวผู้ป่วยเองแต่ยังรวมไปถึงผู้ดูแลอีกด้วย ความรู้สึกแรกตอนที่เห็นดีไซน์เสื้อผ้า Adaptive Clothing คือดีใจมาก ดีใจที่ได้เห็นว่าคนพิการและผู้ป่วยจะมีโอกาสสวมใส่เสื้อผ้าที่ไม่ใช่แค่ใช้งานง่ายแต่ยังคงไว้ซึ่งดีไซน์ที่สวยงาม เสื้อผ้า Adaptive Clothing จึงสามารถช่วยลดช่องว่างทางสังคมและช่วยให้คนพิการได้มีโอกาสสวมใส่เสื้อผ้าในรูปแบบที่ทุกคนใส่ได้ นอกเหนือจากนั้นมูลนิธิจะนำเอาตัวต้นแบบ Adaptive Clothing ไปใช้ในการฝึกอบรม เสริมสร้างอาชีพ และพัฒนาคุณภาพชีวิตให้กับผู้พิการ ซึ่งผู้ที่ได้เข้ารับการฝึกอบรมจะได้เรียนรู้ทักษะการตัดเย็บเสื้อผ้า Adaptive Clothing ที่จะพัฒนาให้กลายเป็นอาชีพได้ ” อัจจิมากล่าวเสริม

แบรนด์ Patinya เป็นผู้ออกแบบชุดต้นแบบของ Adaptive Clothing เพื่อที่จะนำไปผลิตจริง และแจกจ่ายให้กับคนพิการ ผู้สูงวัย และผู้ป่วยที่ขาดแคลน ตามจุดประสงค์ที่ตั้งเอาไว้ ซึ่งการจัดทำเสื้อผ้าดังกล่าวนั้นจะเริ่มขึ้นภายในต้นปีหน้า ในขณะเดียวกัน Sretsis ได้เปิดโอกาสให้เยาวชนผู้ด้อยโอกาสและคนพิการที่สนใจเรียนรู้และสัมผัสการทำงานด้านการออกแบบแฟชั่น ร่วมทำงานจริง ส่วน Greyhound Original ให้ความร่วมมือในการผลิตสินค้าคอลเลคชันพิเศษที่คนพิการมีส่วนร่วมในการออกแบบ โดยรายได้จากการจำหน่ายหลังหักค่าใช้จ่ายในการผลิต จะมอบให้มูลนิธิเวชดุสิตฯ เพื่อใช้ในโครงการพัฒนาคุณภาพชีวิตและส่งเสริมอาชีพที่ยั่งยืนให้กับคนพิการต่อไป โดยผู้ที่สนใจสามารถดูรายละเอียดเพิ่มเติมเกี่ยวกับการบริจาคและการสั่งซื้อได้ที่ Facebook: Vejdusit Foundation    

 

“มูลนิธิเวชดุสิตฯ เชื่อมั่นเสมอว่า เพียงแค่เพราะข้อจำกัดทางร่างกายนั้นไม่สามารถทำให้คนๆ หนึ่งเลิกที่จะทำตามความฝันของตนเองได้ และจะเป็นเรื่องที่ดีมากหากพวกเรานับรวมผู้ที่มีข้อจำกัดทางร่างกายอยู่ด้วยในทุกๆ เรื่อง ไม่ใช่เพียงแค่เรื่องแฟชั่น หรือดนตรี แต่อาจรวมไปถึงเรื่องเทคโนโลยี หรือการศึกษาด้วย” อัจจิมากล่าวสรุป