Skip to main content

“ขอยุติความฟุ้งซ่านทั้งหลายไว้ตรงนี้ ผมจำต้องเริ่มแต่งบันทึกการเดินทางโดยไม่เคลื่อนไหวนี้ก่อน จะได้พร้อมเมื่อคนของสำนักพิมพ์มาถึง เธอจะเขียนตามคำบอกทีละตัวอักษร ผมบรรจงปั้นแต่งประโยค ตกแต่งอีกราวสิบหนอยู่ในสมอง แล้วท่องจำเนื้อความของผมจนขึ้นใจ ทีละย่อหน้า”


ภาพ นันทินี แซ่เฮง

หนังสือชุดประดาน้ำและผีเสื้อเป็นหนังสือเล่มแรกก็ว่าได้ที่ทำให้ฉันเข้าใจว่า ความต้องการสื่อสารเป็นส่วนหนึ่งของการมีชีวิตอย่างไร กว่าที่ตัวอักษรแต่ละตัวจะบรรจุบรรจงเป็นเรื่องราวหนังสือขนาดหนาร้อยกว่าหน้าโดยผู้เขียนที่สามารถใช้เพียงการกระพริบตาเพื่อบอกเล่าเรื่องราว ความคิด ความรู้สึกของการถูกขังอยู่ภายใต้ร่างกายประหนึ่งชุดประดาน้ำหนาหนักโดยที่สติปัญญาความรู้สึกนึกคิดยังคงเจิดจ้าแจ่มจรัส ดั่งผีเสื้อที่กระพือปีกโลดแล่นจากอักษรทีละตัว ให้เป็นคำ เป็นประโยคและจนกลายเป็นหนังสือเล่มย่อม ๆ

ฌ็อง โดมินิก โบบี้ เป็นอัมพาตทั้งตัวหรือที่รู้จักกันว่า Locked-in Syndrome (LIS) ซึ่งทำให้เขาไม่สามารถขยับเขยื้อนเคลื่อนไหวร่างกายได้ แม้แต่การหายใจ กลืนน้ำลาย กินอาหาร ก็ไม่สามารถทำได้เอง เหลือเพียงการกระพริบตาที่ยังพอทำได้ และเป็นทางเดียวที่ทำให้เขายังสื่อสารได้

ฝันร้ายของโบบี้เกิดขึ้นในวัย 43 ปี ในเวลาที่อนาคตการงานกำลังรุ่งโรจน์ในฐานะบรรณาธิการของนิตยสารแฟชั่นชั้นนำอย่าง Elle วันที่ 8 ธันวาคม 2538 คือวันที่เปลี่ยนชีวิตของเขาไปโดยสิ้นเชิง โบบี้เส้นเลือดในสมองแตก ก้านสมองได้รับความเสียหาย และอยู่ในภาวะโคม่า 20 วัน  เมื่อเขาฟื้นขึ้นมาก็พบว่า เขาถูกกักขังอยู่ภายใต้ร่างกายที่ไม่อาจเคลื่อนไหว หรืออัมพาตทั้งตัว เนื่องจากสมองส่วนล่างเสียหาย ขณะที่สมองส่วนบนที่เกี่ยวกับสติสัมปชัญญะ สติปัญญายังทำงานได้อย่างดี

“คุณใช้เก้าอี้ได้” นักอาชีวบำบัดออกความเห็น เขายิ้มเพื่อแสดงว่าคำพูดของเขาเป็นข่าวดี แต่สำหรับผมนั่นคือคำพิพากษา ผมได้เห็นความจริงอันน่าสะพรึงกลัวในทันที ทำให้ผมตาพร่า ไม่ต่างจากต้องแสงระเบิดนิวเคลียร์ ฉับไวยิ่งกว่ามีดกิโยติน

โบบี้บรรยายถึงช่วงเวลาโลกทลายเมื่อต้องยอมรับสภาวะพิการในบทที่ชื่อว่า ‘เก้าอี้’ แต่เขาก็ไม่ปล่อยให้ตัวเองดิ่งจมอยู่นาน เขาสามารถมองเห็นเหรียญอีกด้านของสภาวะการณ์ที่เลวร้าย ดังที่เขาบรรยายไว้ในบทถัดไป ‘บทภาวนา’

ในที่สุดการช็อคเรื่องเก้าอี้กลับให้ผลดี ทุกสิ่งทุกอย่างแจ่มชัดสำหรับผม จะได้เลิกคิดเลิกฝันเรื่องทำโน่นนี่ซะที เพื่อน ๆ ซึ่งมาเยี่ยมเยียนหลังอุบัติเหตุไม่ต้องปิดปากเงียบด้วยความรักผมอีกต่อไป เรื่องของผมไม่ใช่เรื่องต้องห้ามอีกแล้ว เราจึงเริ่มพูดกันถึงการเป็นอัมพาตทั้งตัว

“ดวงตาเป็นหน้าต่างของหัวใจ” สำนวนอมตะน้ำเน่าอาจไม่เกินจริงนักหากนำมาใช้กับผู้ป่วยอัมพาตทั้งตัว ที่ต้องใช้การขยับเปลือกตาเพื่อสื่อสารกับโลก สำหรับคนที่เติบโตอยู่ในแวดวงของการขีดเขียน การกระพริบเปลือกตาซ้ายของเขา เป็นดั่งผีเสื้อเริงระบำในสวนอักษร

 

ESARINTULOMDPCFBVHGJQZYXKW เป็นการเรียงลำดับตัวอักษร 26 ตัวใหม่ตามลำดับความถี่มากไปถึงน้อยที่ใช้กันในภาษาฝรั่งเศส โบบี้สามารถเขียนบันทึกการเดินทางของกายที่ถูกกักขังด้วยความช่วยเหลือจากโกล๊ด ม็องดิบิล ผู้ช่วยที่สำนักพิมพ์ส่งมา ม็องดิบิล จะคอยชี้ตัวอักษรทีละตัว เมื่อโบบี้กระพริบตาหนึ่งครั้งคือ ใช่ สองครั้งคือ ไม่ใช่ รหัสสื่อสารเรียบง่ายที่ต้องอาศัยความถึกและมานะพยายามของทั้งผู้เขียนและผู้ช่วย

“เขียนในอากาศ” นั่นคือสิ่งที่โบบี้ทำ เขาคิดและตกแต่งเรียบเรียงถ้อยคำในหัวทีละย่อหน้า และพยายามจะท่องจำย่อหน้านั้นไว้ให้ขึ้นใจ รอเวลาที่ม็องดิบิลมาถึง ทั้งคู่ก็จะทำงานร่วมกัน ถ่ายทอดข้อความในอากาศ ออกมาเป็นข้อเขียนจริง ๆ

โบบี้เขียนเล่าถึงกระบวนการสื่อสารในการเขียนไว้ในบท ‘ตัวอักษร’ ได้อย่างเห็นภาพและน่าสนใจ

ระบบการติดต่อค่อนข้างง่าย จะมีคนท่องตัวอักษรชุด ESA ทีละตัว ---จนกระทั่งผมเลิกเปลือกตา เขาก็จะหยุดและเขียนอักษรนั้นลงกระดาษ แล้วเริ่มต้นใหม่สำหรับตัวต่อ ๆ ไป ถ้าไม่มีอะไรผิดพลาดก็จะได้คำที่สมบูรณ์หนึ่งคำในเวลาค่อนข้างสั้น

...

วิธีแปลความคิดของผมนี้มีคนเรียกว่ารหัส แต่ละคนถอดรหัสได้เร็วไม่เท่ากัน พวกที่ชอบเล่นปริศนาอักษรไขว้และต่ออักษรจะถอดได้ล่วงหน้า   ผู้หญิงจะแกะรหัสเก่งกว่าพวกผู้ชาย

สำหรับพวกยินดีทำงานละเอียด พวกนี้จะสื่อสารไม่ผิดพลาด ต่อให้คออยู่บนเขียงประหาร ก็จะไม่พยายามเดาความหมายล่วงหน้า แต่จะจดอักษรทีละตัวอย่างตั้งใจจนกระทั่งจบประโยค พวกเขาไม่สะกดคำให้สมบูรณ์เอง ไม่เติม 'ด' ท้ายคำว่า 'เห็-' ไม่ใส่ 'ร์' หลัง 'นิวเคลีย-' ไม่เติม 'ยด' ตาม 'ยาวเหยี--' และ 'ส่อเสียด' ด้วยตนเอง กระบวนการที่ไปช้า ๆ นี้ทำให้ค่อนข้างเหนื่อย แต่อย่างน้อยก็สามารถหลีกเลี่ยงความผิดพลาดซึ่งพวกใจเร็วด่วนได้มักจะเจอเมื่อพวกเขาไม่ตรวจสอบการรู้ของตน อย่างไรก็ตามผมได้เข้าถึงเสน่ห์ของการแสดงไหวพริบเช่นนี้ ในวันที่ผมเรียกหาแว่นตา แล้วมีคนถามอย่างสุภาพว่า ผมจะเอาดวงจันทร์ไปทำอะไร (ภาษาฝรั่งเศส lune คือดวงจันทร์ ส่วน lunettes คือแว่นตา)

ว่ากันว่ากว่าจะประสมคำได้แต่ละคำใช้เวลาโดยเฉลี่ย 2 นาที และกว่าที่จะสำเร็จออกมาเป็นเล่ม เขาต้องกระพริบตากว่า 200,000 ครั้ง การขยับเปลือกตาของเขาไม่เพียงช่วยให้เขาได้เชื่อมโยงกับโลก หากยังเป็นการช่วยให้เขาได้สัมผัสถึงจินตนาการของเขาเองอีกด้วย

ฌ็อง โดมินิก โบบี้ เสียชีวิตเมื่อวันที่ 9 มีนาคม 2540 จากปอดอักเสบ (Pneumonia) เพียงสองวันหลังจากที่หนังสือของเขาออกเผยแพร่วันที่ 7 มีนาคม 2540 พอได้มีโอกาสรับรู้ว่าหนังสือของเขาได้รับการต้อนรับอบอุ่น เพียงวันแรกขายได้ถึง 25,000 เล่ม  แต่เขาไม่มีโอกาสชื่นชมผลงานความสำเร็จของหนังสือที่ยิ่งใหญ่ เพียงสัปดาห์แรกก็ขายได้ถึง 150,000 เล่ม และถูกแปลออกไปหลายภาษา สำหรับภาษาไทย สำนักพิมพ์ผีเสื้อได้แปลจากต้นฉบับภาษาฝรังเศส พิมพ์จำหน่ายครั้งแรกเมื่อ พ.ศ. 2541 และยังคงมีการพิมพ์ซ้ำอยู่เนือง ๆ

นักวิจารณ์วรรณกรรมหลายคนพูดตรงกันว่า โบบี้ไม่เคยเขียนอะไรที่ดีกว่า หนังสือที่เขาเขียนหลังจากที่เขาต้องอยู่ในความเงียบ ซึ่งนั่นอาจเป็นเพราะ...

เสียงภายในกรีดก้องมาจากห้วงลึกของความเงียบสงัด: “ฉันยังมีชีวิตฉันสามารถที่จะคิด และไม่มีใครมีสิทธิ์ปฏิเสธความจริงสองข้อนี้กับฉันได้..”

                                                                                     – ฌ็อง โดมินิก โบบี้