Skip to main content

บอส นฤเบส กูโน ผู้กำกับ SideBySide

ร่วมพูดคุยกับ บอส นฤเบศ กูโน ผู้กำกับหน้าใหม่ไฟแรงผู้ให้กำเนิดซีรีส์ “SideBySide พี่น้องลูกขนไก่” ซึ่งบอกเล่าเรื่องราวความรักของครอบครัวนักกีฬาที่แสนอบอุ่น ผ่านตัวละครแม่ม่ายสองพี่น้อง แม่ตั้มกับแม่แตง ที่ต่างก็มีลูกชายด้วยกันทั้งคู่ ‘ยิม’ ลูกแม่ตั้มมีภาวะออทิสติก ส่วน ‘โด่ง’ ลูกแม่แตงเป็นคู่หูของพี่ยิม เรื่องราวของครอบครัวนี้จึงถูกถ่ายทอดผ่านทางกีฬาแบดมินตันและความสัมพันธ์แบบพี่น้องด้วยประเด็นที่ยังไม่เคยถูกนำเสนอมาก่อนอย่าง นี่จึงเป็นซีรีส์เรื่องแรกที่นำเสนอประเด็น ‘ออทิสติก’ อย่างลึกซึ้ง ซึ่งนอกจากบอสจะลงมือกำกับด้วยตนเองแล้วยังเป็นหนึ่งในทีมเขียนบทเรื่องนี้อีกด้วย 

 

เหตุผลและแรงบันดาลใจที่ทำให้เลือกหยิบประเด็น ออทิสติกมาเล่าเรื่องในซีรีส์กีฬา

นฤเบศ: เริ่มต้นจากได้หัวข้อเป็นกีฬาแบดมินตันก็มาคิดต่อว่า อยากทำประเด็นอะไรที่น่าสนใจเกี่ยวกับกีฬานี้ เลยคิดถึงเวลาเราเล่นแบดมินตันหน้าบ้าน ซึ่งดูทั่วไปดี ทุกครอบครัวต้องเคยเล่นด้วยกันหน้าบ้าน เลยเลือกหยิบประเด็นแบดมินตันที่เกี่ยวกับครอบครัวขึ้นมาและลงลึกไปอีกว่า ครอบครัวแบบไหนจะทำให้รู้สึกน่าสนใจในการนำเสนอเป็นซีรีส์ ลองหาหลายรูปแบบมากจนไปเจอสิ่งหนึ่งคือ ออทิสติก

เคยมีประสบการณ์ร่วมกับคนที่เป็นออทิสติกไหม

บอสมีน้องชายเป็นออทิสติก เป็นน้องชายลูกของคุณน้า จะคล้ายกับพี่ยิมเลยคือ มีความร่าเริงสดใส แต่พอหงุดหงิดไม่พอใจก็จะเขวี้ยงของ อารมณ์จะขึ้นๆ ลงๆ เยอะ โตมากับน้องคนนี้ตลอด เราเห็นพัฒนาการเขา ตอน 8 ขวบ เขาเป็นอย่างนี้ พอเข้าสู่วัยรุ่นอายุ15 เขาก็ยังคงเป็นอย่างนี้อยู่ ทุกอย่างเหมือนถูกหยุดเอาไว้ เลยมีความคุ้นชินอยู่กับเด็กออทิสติกตลอดเวลา

นิยามของออทิสติกสำหรับตัวเราคืออะไร

เขาเป็นเด็กปกติทั่วไปแต่แค่พัฒนาช้า เด็กบางคนที่เป็น High Function ใช้ชีวิตประจำวัน เดินสยาม เดินห้างสรรพสินค้า เราเห็นเขาอย่างนั้นเราอาจจะไม่รู้ พอเริ่มคุยถึงรู้ว่าเขามีอะไรบางอย่างที่ไม่เหมือนเรา เช่น วิธีคิดที่ช้าลง หรือการตอบโต้สื่อสารที่ไม่ตรงกัน

เรื่องอะไรบ้างเกี่ยวกับออทิสติกที่คนทั่วไปยังไม่รู้และสังคมยังเข้าใจผิด

หลายคนคิดว่าออทิสติกคือปัญญาอ่อน แต่ที่จริงไม่ใช่ อาจจะมีบางประเภทที่ดูคล้ายปัญญาอ่อนแต่ก็มีอีกประเภทเหมือนกันที่เป็นเด็กอัจฉริยะ และด้วยพัฒนาการที่ช้า-สื่อสารได้น้อย เมื่อเจอสิ่งที่ชอบหรือสนใจเขาจะจำแล้วก็จะยึดมั่นสิ่งนั้นมากทำให้เขาเนิร์ดสิ่งนั้น เหมือนพี่ยิมในเรื่องที่ชอบแบดมินตันก็เลยเนิร์ดแบดมินตัน แล้วก็เป็นอัจฉริยะไปโดยปริยาย ในขณะเดียวกัน สิ่งที่คนดูยังไม่รู้อีกคือเมื่อเขาเนิร์ดสิ่งนั้นกลับกลายเป็นว่าบางเรื่องก็ยืดหยุ่นไม่ได้ พอเขารู้ว่า ตัวเองชอบสิ่งนี้ก็จะจำว่าต้องทำแบบนี้ เช่น พี่ยิมต้องซ้อมทุกสี่โมงแล้วเลิกซ้อมตอนสองทุ่มทุกวัน ซึ่งผู้ปกครองที่มีลูกหลานที่เป็นออทิสติกก็ต้องคอยบอกคอยสอน

บอส นฤเบศ กูโน ผู้กำกับ SideBySide บอส นฤเบศ กูโน ผู้กำกับ SideBySide

 

แล้วออทิสติกมีกี่แบบกันนะ

เด็กออทิสติก 100 คนก็เป็น100แบบเลย เหมือนเราเป็นเด็กคนหนึ่งซึ่งคนคนหนึ่งก็มีนิสัยหลายแบบ ออทิสติกก็เช่นกัน ถ้าสมมติจะแบ่งประเภทง่ายๆ ก็คงแบ่งเป็น 2 แบบ คือ Low Function เป็นออทิสติกที่ไม่ค่อยมีความสามารถ สื่อสารไม่ค่อยได้ ไม่รู้ว่าตัวเองทำอะไรได้ดี เชื่องช้า กับ High Function ที่พูดโต้ตอบได้และมีความสามารถ เหมือนกับพี่ยิมที่เป็นนักแบดมินตันอัจฉริยะ

ทำไมเลือกใช้ความสัมพันธ์แบบครอบครัว-พี่น้องในการเล่าเรื่อง

ในเมืองไทยมีซีรีส์ที่เกี่ยวกับคู่รักที่เป็นความสัมพันธ์แบบพระเอก-นางเอกเยอะแล้ว เลยมีไอเดียใหม่ขึ้นว่าอยากลองทำตัวละครแม่ให้เป็นนางเอก แล้วทำตัวละครลูกชายให้เป็นพระเอกดู รู้สึกว่า ในประเทศไทยยังไม่มีใครเคยทำ ซึ่งไม่รู้ว่าดีหรือเปล่า (หัวเราะ) แต่อยากลองทำสิ่งใหม่ดู พอได้ตัวละครแล้ว บวกกับประเด็นเรื่องออทิสติกมา ก็ตั้งคำถามต่อว่า เคมีแบบไหนที่เจอกับเด็กที่เป็นออทิสติกแล้วจะเกิดความขัดแย้งและน่าสนใจ

เลยกลายมาเป็นพี่ยิมที่เป็นออทิสติกกับน้องโด่งเด็กขี้อิจฉา

หลายครอบครัวเวลามีพี่น้อง ไม่จำเป็นต้องเป็นออทิสติกก็ได้ มักจะมีพี่หรือน้องคนใดคนหนึ่งรู้สึกว่าแม่ลำเอียง แม่รักคนนี้มากกว่า แม่ซื้อของให้คนนี้มากกว่า หรือบางทีเราต้องใช้รองเท้าต่อจากพี่ ซึ่งเป็นประเด็นที่พบได้ทั่วไปมาก พอเอามาลองผูกกับเรื่องออทิสติกจึงเกิดเป็นตัวละครน้องซึ่งเป็นเด็กขี้อิจฉาขึ้นมา

แล้วพฤติกรรมแบบไหนบ้างของพ่อแม่ที่เด็กที่เป็นออทิสติกไม่ชอบ

เดี๋ยวในเรื่องจะมีเฉลยในตอนต่อไป

ทำไมพี่ยิมในเรื่องไม่ค่อยสบตาคน เป็นหนึ่งในอาการของออทิสติกหรือเปล่า

โดยส่วนใหญ่นะ อาจจะไม่ใช่ทุกคน พอเกิดมาแล้วพัฒนาการช้า สิ่งแรกที่จะเห็นได้ชัดเลยว่าเขาเป็นออทิสติกคือเขาจะไม่สบตาคน เวลาเล่นด้วยตาเขาจะลอยๆ ฉะนั้นแม่ต้องพยายามสอนให้ตัวเด็กที่เป็นออทิสติกค่อยๆสบตาทุกคน อย่างในเรื่อง พี่ยิมเขาก็สบตาทุกคนซึ่งเป็นคนที่เขารัก แต่ถ้าคนไหนที่เขาฝังใจเขาจะไม่สบตาด้วยโดยเฉพาะกับแม่ตั้ม พี่ยิมจะไม่สบตามาตั้งแต่เด็กจนโต เพราะว่าเขาไม่ชอบและไม่ไว้ใจคนคนนี้

บอส นฤเบศ กูโน ผู้กำกับ SideBySide

 

ฉากเกลียดอีตั้มพี่ยิมเกลียดแม่ตั้มจริงหรือเปล่า

ซีนนี้เป็นซีนที่จะเล่าว่า คนที่เป็นออทิสติกเวลาเขารักใครเขารักจริง และถ้าเขาเกลียดใครเขาเกลียดจริง ซึ่งมีความซับซ้อนตรงที่ว่า พอเวลาเขาโมโหแม่ จะต่อยแม่ แล้วบอกว่าเกลียดอีตั้ม ดูเหมือนเขาเกลียดแม่มาก แต่ว่าสุดท้ายแล้วเขาเลือกที่จะต่อยกำแพงแทน ซึ่งมันซ่อนความรักของเด็กคนนี้อยู่แต่มันถูกบดบังไปด้วยความรู้สึกว่าเขาไม่ชอบคนนั้น เขาไม่ชอบคนนี้อยู่ แต่ในใจลึกๆ เขารักมาก

ทำไมต้องมีตัวละครแม่สองคนในเรื่อง

พอได้เรื่องพี่น้องที่เป็นพี่ชายกับน้องชาย ก็เลยอยากหาประเด็นอะไรก็ได้ที่ทำให้ตัวละครแม่ไม่เหมือนในเรื่องอื่นๆทั่วไป ก็เลยสร้างตัวละครแม่ขึ้นมาสองคนให้เป็นพี่น้องกันเพื่อเล่าความสัมพันธ์พี่น้องแบบจัดเต็ม

ในเรื่องน้องโด่งต้องคอยยอมพี่ยิมอยู่ตลอดความเท่ากันในการอยู่ร่วมกันของพี่น้องคู่นี้อยู่ตรงไหน

ในเมื่อเราเลือกไม่ได้ว่าเราจะมีลูกที่เป็นออทิสติก หรือเกิดมาในสังคมที่ต้องมีเพื่อนที่เป็นออทิสติก และต้องยอมรับว่าคนที่เป็นออทิสติกไม่ได้เป็นส่วนใหญ่ในสังคม แต่ว่าเขาก็ไม่ได้ผิดแปลกจนเราอยู่ร่วมกับเขาไม่ได้ ฉะนั้น มันมีบางอย่างที่เราต้องทำความเข้าใจกับเขา บางอย่างเขาอาจจะต้องได้รับมากกว่าเรา บางทีเราอาจต้องใช้ทั้งเวลาและสมาธิในการอยู่กับเขา และเป็นเรื่องปกติของเด็กที่เป็นออทิสติกเมื่ออยู่ในครอบครัวแล้วแม่จะให้สนใจมากกว่าเพราะเขาต้องใช้เวลามากกว่าในการทำสิ่งต่างๆ อย่างบางทีเราหัดกินข้าว มือซ้ายจับส้อม มือขวาจับช้อน เราลองทำครั้งแรกก็ทำได้เลย แต่เมื่อเป็นออทิสติกที่พัฒนาการช้า เขาต้องใช้เวลาเกือบปีกว่าจะทำได้ ซึ่งนอกจากจะต้องเห็นความอดทนของพ่อแม่แล้ว เราที่อยู่ใกล้ชิดกับเขา ก็ต้องเข้าใจเขาด้วยว่า บางทีเราอาจจะไม่ได้รับบางสิ่งเท่าเขา ซึ่งก็ไม่เป็นไร อย่ามัวมาคิดว่า ทำไมเราถึงได้น้อยกว่าเขาหรือทำไมเราถึงไม่ได้เท่าเขา ไม่จำเป็นต้องเปรียบเทียบกันเลย ในเมื่อเราโตมาไม่เหมือนกัน เกิดมาไม่เหมือนกัน

บอส นฤเบศ กูโน ผู้กำกับ SideBySide

 

คิดว่าทำยังไงคนที่เป็นออทิสติกจะสามารถใช้ชีวิตอยู่ร่วมกับคนทั่วไปในสังคมได้โดยไม่ถูกแบ่งแยกกัน

ส่วนใหญ่เวลาเห็นเด็กเป็นออทิสติกมักจะไม่เอาเข้ากลุ่ม พวกที่โตขึ้นมาหน่อยเจ้านายเห็นเขาใส่กางเกงสูงๆ เดินหลังค่อมๆ ช้าๆ ก็ตัดสินจากรูปร่างภายนอกไปก่อนว่าไม่สามารถทำงานได้ ซึ่งอันที่จริงต้องลองคุยก่อนเพราะบางคนเขาก็เก่ง อย่างเช่น เด็กที่เป็นออทิสติกคนนี้อยากเป็นนักกีฬาแบดมินตันแบบพี่ยิม เราก็ควรสนับสนุน หรือถ้าเด็กคนนี้เขาเก่งบัญชีก็ลองทดสอบดูก่อนว่าเขาทำหน้าที่นั้นได้ดีไหม อยากให้เปิดโอกาสให้เขาเยอะๆ

ใช้วิธีอะไรในการสร้างคาแรกเตอร์ตัวละครพี่ยิม

พอได้คาแรกเตอร์ออทิสติกมาแล้วต้องทำให้เขาเป็นเด็ก แต่ว่าเป็นเด็กแบบไหนล่ะที่เราจะทำให้เขาถูกนำเสนอในมุมมองของซีรีส์แล้วสนุก เลยคิดไอเดียว่าอยากทำให้เด็กคนนี้ดูร่าเริง พอได้คีย์เวิร์ดแล้ว เวลาไปเดินห้างเราจะสังเกตตลอดว่าเด็กร่าเริงเป็นยังไง มีครั้งหนึ่งเราไปที่ชั้นเครื่องเล่นในห้าง เจอเด็กซนคนหนึ่งกำลังจะเดินไปเล่น เลยพยายามสังเกตว่าถ้าเด็กซนอย่างนี้เขาจะเป็นยังไง แล้วเขาก็ปล่อยมือแม่แล้วก็วิ่งไปเลย(ทำเสียงหายใจหอบแบบตื่นเต้น) ไปเล่นเลย เราก็พยายามจับรายละเอียดว่า ถ้าซนจะเป็นอย่างนี้ แล้วถ้าหัวเราะก็จะเป็นแบบนี้(ทำเสียงหัวเราะ) ก็พยายามจับทีละนิดๆ แล้วค่อยประกอบสร้างตอนเขียนบท ซึ่งในหัวก็จะมีภาพแบบหนึ่ง แต่พอ ต่อ มานั่งอ่านบท เขาตีความไปอีกแบบหนึ่ง เขาก็ไปรีเสิร์ชข้อมูลของเขาเองว่าเด็กร่าเริงของเขาเป็นแบบไหน แล้วเราสองคนก็เอามารวมกัน แล้วก็เจอตัวละครพี่ยิม

ทำไมต้องเป็น ต่อ ธนภพ ที่รับบทนี้

มีโอกาสได้ร่วมงานกับต่อเลยอยากจะหาบทที่ท้าทายสำหรับน้อง ก็เลยคิดกันว่าอยากให้ต่อเล่นบทอะไรที่ดูไม่เท่หรือฉีกลุคไปจากสมัยก่อนที่เราเคยเห็นกัน เลยอยากเห็นเขาเล่นเป็นเด็กและเป็นออทิสติกด้วย แล้วความเป็นออทิสติกนี้มีความละเอียดอ่อนมากเพราะว่าเด็กที่เป็นออทิสติกก็เหมือนเด็กทั่วไปแต่ว่าพัฒนาการช้าความพิเศษคือ ในร่างกายเติบโตกลับกลายเป็นว่าเราเห็นนิสัย และเห็นคาแรกเตอร์เขาที่ดูเหมือนเป็นเด็ก

เราอยากเห็นในมุมใหม่บ้างซึ่งในมุมที่เป็นคาแรกเตอร์น่ารักของต่อคนยังไม่ค่อยเห็น แล้วน่ารักแบบเด็กยิ่งไม่เคยเห็นเข้าไปอีก ก็เลยจับใส่กางเกงสั้นๆ (หัวเราะ) ใส่เสื้อสีชมพูวิ่งเล่น

จะรู้ได้ยังไงว่าแอ็คติ้งแบบนี้ดีแล้ว ถูกต้องแล้ว ให้ผ่าน

ทุกครั้งในการออกกองหรือเขียนบท บอสจะคิดภาพที่ชัดเจนไปเลยว่าอยากได้แบบนี้ ถ้าซีนนี้เป็นซีนดราม่าจะจำไว้เลยว่าพี่ยิมจะต้องเล่นประมาณนี้ จะมีภาพอยู่ในหัวประมาณ 80% แล้วที่เหลือเดี๋ยวไปดูหน้างานว่าต่อเขาเล่นยังไง เขาอาจจะเล่นไม่เหมือนในหัวเราแล้วดีกว่าก็อาจจะผ่าน แต่ตัวเราเองต้องมีภาพที่ชัดมาก เคยมีประสบการณ์เหมือนกันตอนกำกับพี่ยิมแล้วภาพเวลาเขาเล่น เวลาเขามีความรัก เรากลับนึกภาพเขาไม่ออก พอหน้างานก็เริ่มไม่แน่ใจว่า สิ่งนี้ถูกต้องหรือไม่ถ ก็เลยคิดย้อนกลับมาที่ตัวเราว่าต้องทำการบ้านหนักมากขึ้น

ในเรื่องพี่ยิมชอบน้องหน่อยอยากรู้ว่าในชีวิตจริงคนเป็นออทิสติกมีความรักแบบนี้กันไหม

นี่เป็นคำถามแรกที่คิดเลยตอนไปที่ศูนย์ออทิสติกไทย คือเราไม่คิดว่าเขาจะมีความรัก คิดแค่ว่าเขาก็คงเป็นเหมือนเด็ก 5-6 ขวบที่เห็นผู้หญิงคนนี้น่ารัก ก็รับรู้ว่าผู้หญิงคนนี้น่ารัก แต่พอวันนั้นได้เข้าไปที่ศูนย์กับ เบลล์ (เขมิศรา พลเดช) แล้วเจอเด็กที่เป็นออทิสติกคนหนึ่งที่เป็นพนักงานเสิร์ฟร้านกาแฟ เขาเจอเบลล์แล้วทำหน้าตะลึง เราก็สงสัยว่ารู้สึกอะไรเหรอ ก็พยายามสังเกตเขา สักพักเขาก็เข้ามาบอกว่า พี่เบลล์ขอถ่ายรูปหน่อย แบบไม่มองตา (ทำท่า) พอเบลล์จับไหล่เท่านั้นแหละ เขาก็เขินหัวเราะคิกคัก ซึ่งจริงๆแล้วตัวเขารู้ว่าเขาชอบผู้หญิง ผู้หญิงคนนี้น่ารัก แล้วเขาอยากอยู่ใกล้ แต่วิธีการแสดงออกของเขา บางทีเราจะอ่านเขาไม่ออกว่าสิ่งนี้คือเรียกว่าความรัก วันนั้นทำให้ได้ประเด็นมาเขียนบทเลยว่า พี่ยิมน่าจะต้องชอบน้องหน่อยแล้วแหละ

ในฐานะที่ SideBySide กำลังทำหน้าที่เป็นกระบอกเสียงให้กับคนที่เป็นออทิสติก อยากให้คนดูมีความเข้าใจใหม่หรือทัศนคติอย่างไรต่อพวกเขา

อยากให้ทุกคนเข้าใจคนที่เป็นออทิสติกมากขึ้น ท้ายที่สุดแล้วอาจจะไม่ได้เข้าใจทุกมุมมองของเขา แต่ว่า อยากให้รู้สึกว่าถ้าวันหนึ่งเขามานั่งข้างเรา เราจะไม่แสดงท่าทีรังเกียจ เราจะกินข้าวกับเขาได้ สื่อสารกับเขาได้ อยากให้เรื่องนี้เป็นกระบอกเสียงกับทุกคนว่า จริงๆ เขาก็เหมือนคนทั่วไปที่เราสามารถคุยด้วยได้ซึ่งอาจจะเป็นคนในหลากหลายรูปแบบ บางคนเราอาจคุยกับเขารู้เรื่อง บางคนเราอาจคุยกับเขาไม่รู้เรื่อง ซึ่งถือเป็นเรื่องปกติ เขาไม่ได้ผิดแปลกไปจากเรามากมาย เราอยากให้เขาใช้ชีวิตอยู่ในสังคมได้ โดยเฉพาะในสังคมโรงเรียน เพราะตอนเด็กเรามีเพื่อนที่เป็นออทิสติก บางทีเราชอบแกล้งเขา ชอบขำเขา เพราะว่าเขานั่งอยู่หลังห้องแล้วไม่มีใครคุยด้วย เราก็ชอบขำกัน ไป Bully เขา จึงอยากจะเปลี่ยนทัศนคตินี้แล้วก็เปลี่ยนตัวเองด้วย (หัวเราะ) ที่เมื่อก่อนเราเคยทำอะไรแย่ๆกับเขา อยากให้ทุกคนดูเรื่องนี้แล้วก็เปลี่ยนทัศนคติแล้วก็อยู่ร่วมกับเขาได้

 

บอส นฤเบศ กูโน ผู้กำกับ SideBySide

 

บอส นฤเบศ กูโน ผู้กำกับ SideBySide