Skip to main content

เสาร์ที่ 24 มิถุนายน 2560 เวลา 10.00 น. ที่ผ่านมา ขณะที่หลายคนกำลังใช้วันหยุดไปกับการหลับอยู่ใต้ผ้าห่มอุ่นๆ แอร์เย็นๆ หรือนั่งๆ นอนๆ ดูโทรทัศน์อยู่กับสมาชิกในครอบครัวอยู่นั่นเอง ในมุมหนึ่งของกรุงเทพมหานคร ได้มีการจัดงานเสวนาในหัวข้อ "Thailand 4.0 นักเขียนไทยตายไม่ได้!" ที่สำนักงานส่งเสริมสังคมแห่งการเรียนรู้และคุณภาพเยาวชน หรือ สสค.

เพียงแรกก้าวออกจากลิฟต์ เดินเลี้ยวขวาไปเพียงไม่กี่ก้าว ก็ได้พบกับผู้ร่วมเสวนาคนแรก คือปองวุฒิ รุจิระชาคร นักเขียนต้นแบบรุ่นใหม่ไฟแรง ทันทีที่เปิดประตูเข้ามาในสำนักงาน ก็พบกับคามิน คมนีย์ อดีตกรรมการซีไรต์ ที่ออกมาต้อนรับผู้เข้าร่วมเสวนาด้วยรอยยิ้ม และคำพูดที่ว่า “เชิญครับ มีกาแฟอยู่ตรงนั้น เชิญบริการตัวเองเลยนะครับ คิดซะว่าเป็นบ้านของตัวเอง” ทำให้อดรู้สึกไม่ได้เลยว่า การเสวนาในครั้งนี้ดูอบอุ่น เป็นกันเองมากทีเดียว นั่งจิบโอวัลตินร้อนได้ยังไม่ทันหมดแก้ว ผู้ร่วมเสวนาอีก 2 ท่าน คือวีรพร นิติประภา นักเขียนซีไรต์ ประจำปี พ.ศ. 2558 และแพน พงศ์พนรัตน์ อาจารย์ นักเขียน นักอ่าน ซึ่งรับหน้าที่ผู้ดำเนินรายการก็เดินทางมาถึง

ภายในงานเสวนาเล็กๆ มีทั้งบรรณาธิการจากสำนักพิมพ์ชื่อดัง นักเขียน นักอ่าน อาจารย์ เข้าร่วมฟังการเสวนา แม้จะมีจำนวนไม่มากนัก ซึ่งเป็นไปตามการจัดรูปแบบงานของผู้จัดเสวนาเอง แต่สิ่งสำคัญในงานก็คือ การแสดงทัศนะของนักเขียนทั้ง 3 ท่าน ทั้งคุณวีรพร คุณปองวุฒิ และคุณคามิน ในฐานะผู้ทำงานคร่ำหวอดอยู่ในวงการวรรณกรรม ในยุคเปลี่ยนผ่านจากสื่ออนาล็อคสู่สื่อดิจิตอล


ภาพ นันทินี แซ่เฮง

ทัศนะของนักเขียนไทยกับการปรับตัวในยุค 4.0

วีราพร  นิติประภา  ได้ให้ทัศนะว่า ยุคนี้นักเขียนต้องใช้สื่อออนไลน์ให้เป็นประโยชน์ ในการนำเสนอสื่อให้คนอ่านเข้าใจ มีระบบคิดที่จะสื่อสารกับคนในวงกว้าง  โดยงานเขียนของนักเขียนรุ่นใหม่ๆ  จะมีขนาดสั้นลงกว่างานของนักเขียนรุ่นเก่า นำเสนอสู่สื่อสังคมออนไลน์เนื่องจากต่างต้องดิ้นรน ไม่ใช่เพียงเพื่อยอดขายแต่เพื่อ ยอดนักอ่าน  

ปองวุฒิ  รุจิระชาคร  ได้ให้ทัศนะว่า  นักเขียนยุค 4.0 มิได้ให้ความสำคัญ กับจำนวนหน้าของงานเขียน แต่เน้นให้ความสำคัญกับการเขียน อย่างไรให้นักอ่านติดตาม ตลอดจนมีความรู้สึกร่วมไปกับเรื่องราวนั้นๆ คนรุ่นใหม่เองก็สามารถอ่านวรรณกรรมคลาสสิคได้ อยู่ที่ว่าวรรณกรรมเรื่องนั้นน่าสนใจหรือไม่ เรื่องราวที่นักเขียนนำเสนอออกมานั้นไม่จำเป็นต้องร่วมสมัยแต่ต้องนำเสนอออกมาในรูปแบบร่วมสมัย

คามิน  คมนีย์  ได้ให้ทัศนะว่า วรรณกรรมหรือแม้แต่นักเขียนไทยยังคงอยู่รอดได้ เราจะอ่านหรือไม่อ่านหนังสือก็จะพบกับเรื่องเล่าอยู่ตลอดเวลา โดยเฉพาะบนสื่อสังคมออนไลน์ยุคนี้อาจเป็นยุคของการเปลี่ยนผ่าน และอีกไม่นานหนังสือกระดาษก็จะกลับมา

 

นักอ่านพิการทางสายตากับการปรับตัวในยุค 4.0

ไม่ใช่แต่เฉพาะหนังสือกระดาษสำหรับผู้ที่มีสายตาปกติเท่านั้นที่ก้าวเข้าสู่การเปลี่ยนแปลง นักอ่านพิการทางสายตาเอง ทั้งที่เป็นคนตาบอดสนิทและคนสายตาเลือนรางก็มีการเปลี่ยนแปลงมีการตอบรับต่อยุค 4.0 ด้วยเช่นกัน 

แม้ในรูปแบบของการอ่าน การเข้าถึงวรรณกรรมจะไม่ได้แตกต่างจากเดิมคือ เป็นการอ่านหนังสือเสียง  แต่อุปกรณ์ที่ใช้มีการเปลี่ยนแปลงไปจากเดิมที่ในอดีตนั้น การอ่านหนังสือเสียงจะเป็นไปในรูปของการอ่านผ่านเทปคาสเซ็ท ที่อาสาสมัครผู้มีจิตอาสาบันทึกเสียงไว้แล้ว  ซึ่งมีข้อจำกัดคือพื้นที่ในการเก็บข้อมูลเสียงมีน้อย   ต้องใช้เทปหลายม้วนในการผลิตหนังสือเสียงเล่มใดเล่มหนึ่ง 

ก่อนจะพัฒนามาเป็นการอ่านหนังสือเสียงในรูปแบบซีดีผ่านเครื่องคอมพิวเตอร์และเครื่องแพคทอล์ค (แพคทอล์กเป็นเครื่องเล่นเสียง สมัยก่อนเป็นที่นิยมเพราะสามารถเล่นระบบเสียง DAISY ที่ย่อจาก Digital Accessible Information System หรือ “หนังสือเสียงระบบเดซี” ที่นับได้ว่า เป็นความก้าวหน้าของระบบการอ่านเพราะผู้ใช้สามารถเข้าถึงหนังสือเล่มนั้นๆ ได้ทุกส่วน ไม่ว่าจะเป็นการกรอกลับไปกลับมา การเลือกหน้า ได้อย่างสะดวก) แต่การอ่านหนังสือเสียงผ่านเครื่องแพคทอล์คก็มีข้อจำกัดอยู่ว่าสามารถอ่านได้เฉพาะไฟล์ในรูปแบบออดิโอเท่านั้น 

การอ่านหนังสือในรูปแบบของไฟล์ MP3  ผ่านเครื่องคอมพิวเตอร์   ซึ่งในขณะนั้นเครื่องคอมพิวเตอร์และเครื่องเล่นMP3 มีราคาค่อนข้างสูง  

และการอ่านหนังสือเสียงผ่านระบบโทรศัพท์ตามลำดับ  ซึ่งนอกจากสัญญาณโทรศัพท์จะไม่ชัดเจนแล้ว  ยังประสบปัญหาการรองรับคู่สาย ทำให้การเข้าไปใช้บริการในบางช่วงเวลาไม่สามารถใช้บริการได้

---

เมื่อสื่อออนไลน์เข้ามามีบทบาทต่อชีวิตของคนพิการทางสายตา  วิถีการอ่านจึงเปลี่ยนไป เป็นการอ่านหนังสือเสียงผ่านแอพพลิเคชั่น Tab2read  ด้วยสมาร์ทโฟน  โดยภายในแอพพลิเคชั่นดังกล่าวมีหนังสือเสียงหลากหลายแนวให้เลือกอ่านไม่แพ้การอ่านผ่านระบบโทรศัพท์และที่เด่นกว่าการอ่านผ่านระบบโทรศัพท์ก็คือ ระบบเสียงอ่านที่มีความชัดเจนมากกว่า ขจัดปัญหาเรื่องสัญญาณโทรศัพท์ไม่ดี อีกทั้งการค้นหาชื่อหนังสือก็มีความสะดวกสบายมากยิ่งขึ้น 

 

การเข้าถึงหนังสือเสียงของคนพิการทางสายตา

คนพิการทางสายตาที่ถือบัตรประจำตัวคนพิการ สามารถติดต่อขอลงทะเบียนเป็นสมาชิกระบบ 1414 พลัสได้ที่สมาคมคนตาบอดแห่งประเทศไทย และเมื่อทำการสมัครสมาชิก และส่งเอกสารรับรอง ตามหลักเกณฑ์ที่ทางผู้รับลงทะเบียนกำหนดแล้ว คนพิการทางสายตาจะได้รับ username และรหัสผ่านเพื่อใช้ในการเข้าระบบ ผ่านแอพพลิเคชั่น 1414 plus และใช้ในการยืนยันตัวตนก่อนเข้าอ่านหนังสือเสียงแต่ละเล่ม ผ่านทางหมายเลข 1414 สายด่วนข่าวสารความรู้

 

ตัวอย่างการเข้าใช้งานแอพพลิเคชั่น 1414 plus

ถือสมาร์ทโฟนและคิดรหัสสมาชิกพร้อมแล้ว ลำดับต่อไปก็คือ การดาวน์โหลดแอพพลิเคชั่น 1414 plus ซึ่งสามารถดาวน์โหลดได้ทั้งจากทาง app store สำหรับผู้ใช้สมาร์ทโฟนระบบ ios และ google play store สำหรับผู้ใช้ android

เมื่อดาวน์โหลดแอพพลิเคชั่นมาเรียบร้อยแล้ว ก็เข้าสู่ระบบ โดยป้อน username และรหัสผ่านลงในช่องว่าง

หลังจากเข้าสู่ระบบแล้ว บนหน้าแอพพลิเคชั่นจะแสดงเมนูหนังสือจากห้องสมุดให้เลือกอ่านได้หลากหลาย ซึ่งสามารถเลือกได้จากเมนูหลักคือ หนังสือ ผู้แต่ง ผู้อ่าน สำนักพิมพ์ แต่หากผู้อ่านมีหนังสือที่อยากจะอ่านอยู่แล้ว ก็สามารถค้นหาหนังสือเสียงจากการพิมพ์ชื่อหนังสือลงไปแล้วทำการค้นหาได้เลย

ในส่วนของเมนูหลัก “หนังสือ” จะมีเมนูย่อย ให้เลือก เช่น หนังสือที่คุณชื่นชอบ หนังสือที่คุณเคยอ่าน 30 หนังสือเข้าใหม่ 30 หนังสือยอดนิยม สาระความรู้จากสื่อต่างๆ วรรณกรรมจากสื่อต่างๆ ให้ได้เลือกอ่านกันอย่างจุใจ  นอกจากนั้นยังมีภาพยนตร์ที่มีบริการเสียงบรรยายภาพให้ได้เลือกฟังกันด้วย  ซึ่งผู้อ่านสามารถฟังหนังสือเสียงในระบบออนไลน์และดาวน์โหลดหนังสือเสียงมาฟังแบบออฟไลน์ได้ด้วย  เพียงแค่มีสมาร์ทโฟนเครื่องเดียว ผู้อ่านก็สามารถฟังหนังสือเสียงได้ทุกที่ทุกเวลา เสมือนพกพาห้องสมุดไปตามสถานที่ต่างๆ แล้ว

---

จะเห็นได้ว่าขณะที่นักอ่านสายตาปกติหันหน้าจากหนังสือกระดาษมาสู่ทางเลือกใหม่คือหนังสืออิเล็กทรอนิกส์ นักอ่านพิการทางสายตาเอง ก็มีรูปแบบการอ่านที่แปรเปลี่ยนไปเช่นกัน เพื่อการเข้าถึงวรรณกรรมที่เป็นทั้งเรื่องราวใหม่และเรื่องราวเก่า เพื่อสัมผัสกับสุนทรียรสทางภาษา โดยก้าวผ่านข้อจำกัดด้านความพิการ สู่โลกแห่งตัวอักษร

และคนพิการทางสายตาจะไม่อาจเข้าถึงหนังสือเสียงในรูปแบบต่างๆได้เลย หากไม่ได้น้ำใจที่ดีงาม อันมีค่ายิ่งจากอาสาสมัครผู้ผลิตหนังสือเสียงทุกคน ที่ทุ่มเทแรงกายแรงใจ  สละเวลาอันมีค่า อ่านหนังสือแต่ละเล่มขึ้นมา  และหากนักเขียนไม่สร้างสรรค์วรรณกรรมขึ้นมาแล้วไซร้ ก็คงไม่มีหนังสือให้นักอ่านได้อ่านอีกเช่นกัน

นี่แหละนักอ่านกลุ่มหนึ่งที่แม้จะไม่มีจำนวนมากเท่านักอ่านสายตาปกติส่วนใหญ่  แต่ก็มีส่วนช่วยหล่อเลี้ยงหัวใจของนักเขียนให้เต้นอยู่ได้ ท่ามกลางกระแสความเปลี่ยนแปลง ผันผวนอยู่ทุกวันของยุค 4.0