Skip to main content

กระแสไอโฟนเจ็ดไหลเชี่ยวกรากอยู่บนสื่อสิ่งพิมพ์และโซเชียลมีเดีย สีใหม่ กันน้ำ หูฟังไร้สาย ทำให้หลายคนพูดถึงมันทั้งในชีวิตจริงและโลกออนไลน์--ฉันเองก็ไม่ต่าง        

ว่าก็ว่าเถอะ แต่ด้วยเรื่องของความใหม่มันมักกระตุ้นให้เราตื่นตาตื่นใจ อยากได้ อยากมี อยู่เสมอ ทั้งที่รู้อยู่แก่ใจว่าอีกหน่อยมันก็เก่า และเราคงถูกกระตุ้นให้ตื่นตาตื่นใจกับความใหม่ของสิ่งอื่น ๆ แทน  

ฉันเอง แม้จะโตมากับคอมพิวเตอร์ในยุคที่มีอินเทอร์เน็ตแพร่หลายแล้ว แต่ก็ยังประทับใจเรื่องเล่าของคุณตาที่ส่งจดหมายรักจีบคุณยาย จนบางทียังแอบรู้สึกแปลก ๆ ที่ทุกที่ทุกเวลา เราสามารถติดต่อหาคนรักได้ ขอแค่มีคนให้คอยรักและสัญญาณอินเทอร์เน็ต

ใช่, เหมือนที่เรารู้ วัน เดือน ปี เทคโนโลยีรุดไปข้างหน้าอย่างต่อเนื่อง แต่สำหรับบางเรื่องยังไปไม่ถึงไหน

“มีไหม ที่คุณจะไม่ทึ่งเวลาเห็นคนตาบอดใช้โทรศัพท์มือถือ แล้วมันจะมีสักกี่รุ่นที่ออกแบบมาให้คนตาบอดใช้ได้”

มณเฑียร บุญตัน หนึ่งในสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติหลังการรัฐประหาร ปี 2557 ชวนฉันทบทวนสิ่งที่เกิดขึ้น        

เราสองคนมีโอกาสคุยกันอยู่หลายครั้ง

ครั้งละหลายชั่วโมง ทั้งที่รัฐสภาในวันธรรมดาและสมาคมตาบอดแห่งประเทศไทยในวันหยุด ด้วยหน้าที่การงานของเขาทำให้ต้องเป็นสถานที่เหล่านั้นในเวลาต่างกันออกไป

---


ภาพประกอบ: นันทินี แซ่เฮง

เรานั่งคุยกัน สบตากันตามปกติ หากฉันเป็นฝ่ายเดียวที่มองเห็น

จู่ๆ เขาก็หยิบไอโฟนเจ็ดออกจากกระเป๋ากางเกงแล้วต่อเข้าแมคบุ๊คแอร์ที่หยิบออกจากกระเป๋าสะพายหลัง เพราะแบตมือถือใกล้หมดและลืมหยิบพาวเวอร์แบงค์ออกมาจากบ้าน จึงแก้ขัดแบบนี้ไปก่อน

วิธีใช้อุปกรณ์เหล่านั้นของเขาต่างไปจากเราเล็กน้อย แต่ท้ายที่สุดก็โทรออก รับสาย เล่นแอพพลิเคชั่นได้เหมือนกันหมดทุกอย่าง เพียงข้ามการมองหน้าจอแล้วลูบ คลำ ฟัง สั่งการด้วยเสียง

“ทึ่ง!” เอาเข้าจริง ฉันเผลอรู้สึกแบบนั้นอยู่ในใจ แต่ไม่ได้พูดอะไรออกไป และถ้าจะให้โทษใครก็ได้ที่ไม่ใช่ตัวเอง ก็กล้าพูดเต็มปากว่าทุกอย่างเหมือนถูกออกแบบมาสำหรับคนที่มองเห็น ไม่ใช่แค่สินค้าและบริการหรอก แต่สภาพแวดล้อมในสังคมของเราก็ด้วย แค่ลองปิดตาแล้วเดินเล่นริมถนน หรือในพื้นที่สาธารณะที่ไหนสักแห่ง ไม่ต้องนานเป็นชั่วโมงก็พอจะสัมผัสได้ถึงความลำบากในการมีและใช้ชีวิต

ราวกับว่าที่ผ่านมาสังคมทำเอาคนตาดีแทบนึกภาพไม่ออกว่าคนตาบอดจะใช้ชีวิตอยู่กันอย่างไร  จนบางทีก็ทึ่ง! ที่เห็นคนกลุ่มนี้ทำเรื่องเล็กเรื่องน้อยได้ หรืออาจลืมไปแล้วว่าคนกลุ่มนี้ยังมีชีวิตอยู่และกำลังใช้ชีวิตอยู่ร่วมกับเรา

                                                                                                                                                                                                       

- รู้จัก ส.ว. ตาบอด -

ถ้าลองพิมพ์ว่า มณเฑียร บุญตัน ในกูเกิลจะปรากฏทันทีว่าเขาเป็นคนพิการคนแรก ที่ได้เป็นสมาชิกวุฒิสภาจากการสรรหา

อีกหลายข้อมูลปรากฏตามมา อย่าง ปี 2546 เป็นคณะกรรมการเฉพาะกิจยกร่างอนุสัญญาว่าด้วยสิทธิคนพิการ หรือ CRPD ปี 2547 เขาเป็นนายกสมาคมคนตาบอดแห่งประเทศไทย ปี 2551 เป็นสมาชิกวุฒิสภาแบบสรรหาสองสมัยซ้อน ก่อนจะได้รับแต่งตั้งเป็นสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติหลังการรัฐประหาร ปี 2557 และเพิ่งได้รับเลือกตั้งให้ดำรงตำแหน่งสมาชิกคณะกรรมการว่าด้วยสิทธิคนพิการแห่งสหประชาชาติต่ออีกสมัย อยู่ยาวถึง ปี 2563

ส่วนในปีนี้ เขาอายุเกินเลขห้ามาเกือบสามปี

ไม่รู้การเมืองบ้านเรามีอะไรดี แต่สิบปีให้หลังเท่าที่มีชีวิตมา เขาเลือกใช้มันในสนามแห่งนี้และบอกว่าจะใช้มันที่นี่ต่อไป

ย้อนกลับไปวัยเด็ก มณเฑียรใช้ชีวิตอยู่ในชนบทแห่งหนึ่งของแพร่ วิ่งเล่น ปีนต้นไม้ ตักน้ำจากบ่อ ทำได้ทุกอย่างเหมือนลูกชาวนาคนอื่น ๆ โดยไม่รู้สึกยากง่าย มันสนุกสนาน มีความสุขและเป็นอิสระที่สุด

แม้ถูกผู้ใหญ่แกล้งอยู่บ้าง อย่างหลอกให้เดินไปเหยียบน้ำจนต้องอับอายเพื่อน แต่ก็ไม่ได้รู้สึกว่าเป็นปัญหา ตอนนั้นก็ตาต่อตาฟันต่อฟันกลับไปตามประสาเด็กสามสี่ขวบที่ไม่ต้องคิดหน้าคิดหลัง แค่คว้าหนังสติ๊กยิงใส่กระจกบ้านแล้วก็เจ๊ากันไป

หากสิ่งที่ทำให้รู้สึกว่าเป็นปัญหาคือเพื่อนเริ่มทยอยไปโรงเรียนกันหมด เหลือแค่ตัวเองที่ไม่ได้ไปและแม่ให้เหตุผลว่าไม่มีโรงเรียนสอนคนตาบอด

ผ่านไปไม่ถึงปี อาของเขาที่ทำงานอยู่เชียงใหม่ส่งข่าวมาบอกว่าที่นั่นมีโรงเรียนประจำคนตาบอด เขายังจำได้ถึงความดีใจที่จะได้เรียนหนังสือเหมือนคนทั่วไป และยังดีใจจนวันนี้ที่พ่อแม่ตัดสินใจส่งไปเรียนท่ามกลางเสียงต่อว่าจากคนรอบข้าง “ทำไมปล่อยให้ลูกพิการไกลบ้าน”

เขานอนร้องไห้ในบางคืน เพราะคิดถึงพ่อกับแม่ แต่ทุกอย่างในโรงเรียนประจำก็แปลกใหม่ ชวนตื่นเต้น พอเริ่มปรับตัวและจับทางได้ จึงมุ่งมั่นตั้งใจเรียน

พอเรียนจบจากโรงเรียนประจำสอนคนตาบอด ครูสอนภาษาอังกฤษคนแรกของมณเฑียรเห็นว่ามีผลการเรียนดี จึงไปปรึกษาผู้อำนวยการโรงเรียนมงฟอร์ตวิทยาลัยให้รับเข้าเรียนต่อในชั้นมัธยม

สำหรับเขา ที่นั่นนับเป็นการใช้ชีวิตร่วมกับคนทั่วไปแบบเป็นจริงเป็นจังครั้งแรก ไม่มีใครอ่านเขียนอักษรเบรลล์ได้ และอย่าพึ่งพูดถึงว่าจะเรียกร้องอะไรได้บ้าง เพราะเข้าไปใหม่ ๆ ก็ถูกแกล้งไม่เป็นท่า ระหว่างเดินขึ้นบันไดก็มีเพื่อนมาปลดล็อคกระเป๋า จนพิมพ์ดีดทั้งไทยทั้งอังกฤษที่พกติดตัวหล่นลงจากชั้นสอง ไหนจะนาฬิกาเบรลล์ที่รัดข้อมืออยู่ดี ๆ เพื่อนก็มาเปิดปิดฝาเล่นแล้ววิ่งหนี

นอกรั้วมงฟอร์ตวิทยาลัย เขายังเต็มไปด้วยเพื่อนตาบอด ตอนนั้นไปความอยากเป็นนักดนตรีมันลุกในใจเด็กหนุ่ม ทั้งปนเปความอยากสื่อสารอะไรบางอย่างออกมา จึงเป็นตัวตั้งตัวตีในกลุ่มเพื่อนว่าจะไม่รับเงินบริจาคของใครอีก

“พวกเราไปเล่นดนตรีที่โรงเรียนมัธยมแห่งหนึ่ง แล้วเขาก็เอาเงินที่เรี่ยไรเด็กในโรงเรียนได้ใส่ขันมาให้ พวกเราเลยประกาศคืนเงินบนเวทีต่อหน้าทุกคน บอกว่าขอคืนกลับให้เป็นทุนการศึกษาของนักเรียน ครูใหญ่เขาก็หน้าเสีย ทำอะไรไม่ถูก”            

เขาว่าที่ทำลงไปไม่ใช่ดูถูกน้ำใจคนอื่น ไม่ได้หยิ่งยโสในตัวเอง แต่คิดกันดีแล้ว

“เพราะมันเจ็บปวด ทำไมต้องอยู่รอดได้ด้วยการบริจาค ทั้งที่โดยส่วนตัวไม่เคยมองว่าการมองไม่เห็นเป็นความน่าสงสาร”

‘The Great Union’ คือชื่อวงดนตรีของพวกเขารับเฉพาะงานจ้างเท่านั้น เปลี่ยนที่เล่นกันไปทั่วเมืองเชียงใหม่ เคยประกวดร่วมเวทีกับคนตาดีก็เจ็บใจ เมื่อกรรมการบอกว่าทุกอยากดีหมดแต่ไม่มีอายคอนแทคกับคนดูเลยได้แค่ที่สาม

ช่วงหลังพวกเขาพากันไปเช่าสถานที่ เอาดนตรีหลายวงมาเล่นต่อกัน เปิดขายบัตรให้คนเข้ามาดู เข้ามาเต้น มีเหล้าเบียร์ให้ซื้อ แต่ก็ขาดทุน จึงต้องหาเงินคืนด้วยการเข้ากรุงเทพฯ ขายลอตเตอรี่เหมือนที่ทำกันทุกปิดเทอมตาม ๆ รุ่นพี่

“เพราะขึ้นชื่อว่าคนตาบอด ไม่เล่นดนตรีก็ขายลอตเตอรี่ ไม่ใช่ไม่ดี แต่เป็นทางเลือกที่น้อยเกินไป จนไม่ต่างกับการถูกบังคับ”

ไม่นานมณเฑียรเรียนต่อวรรณคดีอังกฤษ ที่มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ด้วยความชอบและถนัด แต่ก็ยังยากที่ต้องอยู่กับความเสียเปรียบ ซื้อหนังสือมาก็ต้องจ้างให้คนอื่นอ่านแล้วอัดเทปเก็บไว้ฟัง เขียนตามด้วยอักษรเบรลล์อีกทีเพื่อเก็บไว้อ่านเตรียมสอบ เวลาสอบก็ต้องจ้างคนมาอ่านข้อสอบให้ฟังแล้วบอกให้กาตามคำบอก พอเรียนจบสามปีครึ่ง เขาได้รับเลือกในโครงการแลกเปลี่ยนระหว่างมหาวิทยาลัยเชียงใหม่กับวิทยาลัยเซนต์โอลาฟ สหรัฐอเมริกา ให้ไปเป็นทูตทางวัฒนธรรม คนทั่วไปที่สมัครด้วยแต่ไม่ได้ก็ข้องใจว่าเขาจะทำได้จริงไหมในเมื่อมองไม่เห็น

และแล้วเขาก็พิสูจน์ให้เห็น ใครเชิญไปแสดงดนตรี เขาไป ใครเชิญเล่าเรื่องวัฒนธรรมที่ไหน เขาไป ทั้งเรียนต่อปริญญาโทวิชาทฤษฎีและการประพันธ์เพลง ที่มหาวิทยาลัยมินนิโซตา สหรัฐอเมริกา

 

- การเดินทางสู่หนทางใหม่ -

มินนิโซตา วอชิงตัน ค่ำไหนนอนนั่นไปจนถึงบอสตัน เหล่านี้ในสหรัฐอเมริกา มณเฑียรไปมาหมดแล้ว ไปมาคนเดียว ถึงอย่างนั้น เขาว่ายังถูกเพื่อนร่วมงานชมว่า “เก่งจังเลย” อยู่ทุกเมื่อเชื่อวันเมื่อเดินขึ้นบันไดในรัฐสภาคนเดียวได้

เหตุผลของการเดินทางเขาว่า อย่างแรกคือไปเรียนหนังสือ อย่างที่สองคือหน้าที่การงาน เพราะขอศึกษาดูงานก่อนเมื่อถูกเชิญให้มาเป็นอาจารย์สอนสาขาดนตรีสำหรับคนตาบอด ที่วิทยาลัยราชสุดา มหาวิทยาลัยมหิดล ซึ่งมีนโยบายจะเปิดปริญญาตรีสำหรับคนพิการหลายประเภท

ครั้งนั้นเขากลับมาเสนอจนเป็นที่ถกกันในบรรดากรรมการ กว่าผู้บริหารจะยอมรับว่า สิ่งจำเป็นสำหรับคนตาบอดคือบริการทางด้านวิชาการ ไม่ใช่หลักสูตรใดหลักสูตรหนึ่งสำหรับคนตาบอด เพราะยิ่งมีมหาวิทยาลัยเฉพาะความพิการ มหาวิทยาลัยอื่นก็จะอ้างได้ว่าไม่จำเป็นต้องมาเรียนรวมกันอีก

กลับมาเมืองไทยใหม่ ๆ มณเฑียรว่าตัวเองแทบไม่ได้นอน รับเขียนเพลงโฆษณา นั่งทำงานถึงตีห้าแล้วก็ตื่นไปมหาวิทยาลัย กระทั่งเหตุการณ์ฟองสบู่แตก ปี 2540 จึงไม่มีใครจ้างเขียนเพลงโฆษณาอีก ชีวิตขื่นขมพอสมควร รายได้ห้าหกหมื่นเหลือเพียงหมื่นเศษจากเงินเดือนประจำข้าราชการ แต่ความท้าทายใหม่ก็เริ่มต้นขึ้นเมื่อตัดสินใจแต่งงานกับเพื่อนสาวชาวญี่ปุ่นที่รู้จักกันมาเจ็ดปี จนมีลูกสาวด้วยกันหนึ่งคนมาเป็นแสงสว่างให้เห็นอีกมิติหนึ่งของชีวิต โดยไม่ต้องอาศัยดวงตา

ต่อมาเขาลาออกจากราชการใน ปี 2545 และการเป็นอาจารย์มหาวิทยาลัยที่ได้เข้าไปทำงานในภาคประชาสังคมก็ทำให้เห็นว่าหนทางเดียวซึ่งสั้นที่สุดที่จะทำให้สังคมรับรู้เข้าใจคนพิการมากขึ้น คือการมีส่วนร่วมทางการเมือง และเขาอยากร่วมด้วยอยู่นานแล้วตั้งแต่เห็นแบบอย่างจากการสมัครเป็นสมาชิก ‘National  Federation of the Blind’ องค์กรที่มีแนวนโยบายการต่อสู้เพื่อคนตาบอดที่เก่าที่สุดในโลก และกลุ่มนักเรียนผิวสีจากทั่วโลก

“วิธีเดียวที่เราจะทำได้คือสร้างกระแสสังคม แต่สร้างแบบอดข้าวหน้าทำเนียบ นอนขวางทางรถไฟมั นไม่พอ มันต้องสร้างมากกว่านั้นอีก ต้องไปไกลมากกว่านั้นอีก”

มณเฑียรเริ่มเข้ามามีบทบาททางการเมืองตอนปี 2544 โดยเป็นที่ปรึกษากฎหมายให้รัฐมนตรีด้านคนพิการในรัฐบาลทักษิณ ชินวัตร จากคำชวนของวิริยะ นามศิริพงศ์พันธุ์ ผู้ร่วมก่อตั้งพรรคไทยรักไทย ซึ่งเป็นคนตาบอดที่เคยทำงานร่วมกันในภาคประชาสังคม

เขาว่านั่นแหละก้าวแรกของตัวเองและความภูมิใจมันก็มีตามมาเรื่อย ๆ อย่าง ทำให้สังคมตระหนักถึงการเข้าถึงสภาพแวดล้อมสาธารณะ ส่วนที่อยากทำให้ได้คือปรับแก้กฎหมายบ้านเราให้สอดคล้องกับอนุสัญญาว่าด้วยสิทธิคนพิการ เพราะถ้าทำสำเร็จ เขาว่าคนพิการก็จะหลุดไปจากประเด็นสังคมสงเคราะห์ สวัสดิการการช่วยเหลือและมีพื้นฐานบนหลักสิทธิมนุษยชน                           

 

- ปรับจุดบอดเป็นจุดเปลี่ยน -

รายงานข้อมูลสถานการณ์ด้านคนพิการในประเทศไทย กรมส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ประจำเดือนธันวาคม  ปี 2559 พบว่า คนไทยได้รับการออกบัตรประจำตัวคนพิการเกือบหนึ่งล้านเจ็ดแสนคน ข่าวยังรายงานอีกว่ามีสามแสนคนที่พิการแต่คาดว่ายังไม่ได้รับการออกบัตรประจำตัวคนพิการ

ทั้งหมดในจำนวนนี้ถูกแบ่งประเภทออกเสร็จสรรพโดยหน่วยงานราชการเอง ให้เป็นคนพิการด้านการมองเห็นอยู่ราวสองแสนคน ทั้งกำกับชัดเจนว่าใครเข้าข่ายคนพิการของกระทรวงใดบ้างและมีสิทธิได้รับสิทธิ หรือมีสิทธิไม่ได้รับสิทธิอะไรบ้าง  

ตัวเลขหนึ่งล้านเจ็ดแสนคน จำนวนนี้เพิ่มขึ้นจากยี่สิบกว่าปีก่อนอยู่กว่าเจ็ดแสนคนและมีแนวโน้มว่าจะเพิ่มขึ้นตามการเพิ่มขึ้นของคนทั้งประเทศ ทว่ามีเพียงหนึ่งคนเท่านั้นที่เป็นคนพิการคนเดียวที่ยังมีบทบาทชัดเจนอยู่ในรัฐสภา

แม้เมื่อพูดถึงวิธีการสรรหาวุฒิสภา หรือผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองก็ไม่เคยมีข้อกำหนดห้ามคนพิการเข้ามามีส่วนร่วม ทั้งยังระบุชัดว่าต้องการให้มีความหลากหลายของบุคคลจากกลุ่มต่าง ๆ มาทำหน้าที่เพื่อประชาชน

ถึงตัวเลขเหล่านี้จะบอกถึงความมากน้อยให้เห็น แต่ในทรรศนะของมณเฑียร ปริมาณไม่ได้ส่งให้เสียงของคนพิการมีความหมายทางการเมือง

คงเบาและบาง คล้ายไม่มีตัวตน

“คนยังเห็นว่าการมีส่วนร่วมทางการเมืองของพิการเป็นเพียงพระประดับ ขึ้นชื่อว่ามีส่วนร่วมแล้วก็พอแล้ว ไม่ได้มีนัยยะสำคัญอะไร เพราะถ้าเขาเห็นว่าการมีส่วนร่วมทางการเมืองของคนพิการ มันจำเป็น มันมีประโยชน์จริง เขาก็ต้องดันเปอร์เซ็นต์คนพิการในสภาให้สูงกว่านี้”

เรื่องแบบนี้ถ้าให้โทษใครนั้นเขาไม่โทษ ไม่ต้องหาถูกผิด ก็ในเมื่อวิธีคิด วิถีโดยรวม ในสังคมของเราเป็นแบบนี้ แต่ถ้าถามว่าเป็นธรรมหรือยัง เขารีบแสดงความคิดเห็น

“ผมคิดว่ามันไม่แฟร์กับคนพิการเท่าไหร่ เพราะมีอยู่เสียงเดียว ต่อให้คุณจะมีเหตุผลดี อภิปรายเก่ง มีหลักฐานเชิงประจักษ์อย่างไร มันก็จบลงที่การโหวต เพราะฉะนั้นคนคนเดียวมันไม่พอ มันอาจจำเป็นต้องมีคนพิการมาเป็น ส.ส. ส.ว. สักห้าคนสิบคนตามสัดส่วนประชากร พอมันเป็นแบบนั้น ไปไหนมาไหนมันก็จะมีคนช่วยกันสร้างน้ำหนัก ช่วยกันล็อบบี้มากขึ้น”

แม้เขาจะเข้าใจดีว่าบางเรื่องที่เกี่ยวกับคนพิการโดยตรงนั้น อาจกลายเป็นเรื่องเล็กเมื่อเทียบกับเรื่องอื่นของคนทั่วไป แต่ถ้าสังคมให้ความสำคัญกับเรื่องเล็ก ความเป็นอยู่ของภาพใหญ่ก็จะดีขึ้นด้วยได้

หากมองผ่าน ๆ มณเฑียรมีชีวิตไม่ต่างจากคนตาบอดคนอื่น ๆ มากนัก โตมาในโรงเรียนประจำร้องเพลง เล่นกีต้า ขายลอตเตอรี่ แต่วิธีคิดในการใช้ชีวิตกลับต่างกัน

 

ขณะที่เพื่อนตาบอดโอ่อวดกันว่าตัวเองยังพอมองเห็นอยู่บ้าง เขาว่าไม่เคยสนใจเรื่องพวกนี้

ขณะที่เพื่อนตาบอดเกทับกันว่าตัวเองอายุมากกว่า เขามองว่าเป็นเรื่องไร้สาระและไม่เคยร่วมด้วย สำหรับเขา ใครจะเก่ง จะเท่ น่าจะวัดกันที่ผลการเรียนไม่ใช่เรื่องแบบนี้

ทั้งไม่กี่วันก่อนฉันเห็นมณเฑียรเล่าเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นกับตัวเองตอนเรียนในโรงเรียนประจำตา-บอดเมื่อสี่สิบเอ็ดปีที่แล้วบนเฟซบุ๊กว่า

“ไอ้บอด...กินบูด...ก็ได้...นะจ๊ะ?...

 

ตอนนั้นผมอายุสิบปี หกเดือน ยี่สิบสามวัน เรียนอยู่ชั้นประถมปีที่สาม เส้นทางแห่งการต่อสู้ทางการเมือง เส้นทางแห่งการขับเคลื่อน สู่สังคมฐานสิทธิ สังคมฐานความรู้ (คิด) สังคมประชาธิปไตยที่สมบูรณ์และสังคมอยู่เย็นเป็นสุขร่วมกันได้เริ่มต้นขึ้นในใจของผมแม้จะผ่านไปนานแล้ว แม้ผมและหลายคนจะก้าวล่วงพ้นมาจากจุดนั้นแล้ว แต่ผมก็ระลึกอยู่เสมอว่าหนทางยังอีกยาวไกล ภารกิจอย่างไม่จบสิ้น ภาพของผมร่วมกับศิษย์เก่าและศิษย์ปัจจุบัน (ในขณะนั้น) ที่ปักหลักยืนอยู่กลางแดด ณ สนามหญ้าหน้าอาคารเรียน โรงเรียนสอนคนตาบอดภาคเหนือจังหวัดเชียงใหม่ ยังคงอยู่กับผมและจะอยู่กับผมตลอดไป แม้ว่าบางครั้งจะเหลือผมอยู่บนเส้นทางนี้เพียงลำพังก็ตาม”

 

มีหลายคนเข้ามาคอมเม้นท์บอกให้เขาสู้ต่อไป บอกอย่าคิดถึงความหลัง เขากดถูกใจและตอบกลับว่าขอบคุณสำหรับกำลังใจ คำวิพากษ์วิจารณ์ ความรู้สึกดีและไม่ดีต่อเขา หากเขาเพียงเล่าความทรงจำที่มีผลต่อความเป็นไปของตัวเองในวันนี้และต่อไปในวันหน้า

ตอนคุยกันเขาบอกด้วยว่าเหตุการณ์นั้นทำให้ถูกพักการเรียนไปหลายเดือน เพราะโรงเรียนกลัวว่าเขาจะร่วมประท้วงกับศิษย์เก่าอีก ส่วนสิ่งที่ได้เรียนรู้จากมัน คือคุณต้องรู้จักเรียกร้องเมื่อได้รับความไม่เป็นธรรม

เขาว่า ทั้งวัยสิบขวบของตัวเองยังตรงกับครั้งแรกของวงการคนตาบอดและคนพิการที่เริ่มเคลื่อนไหวหลายระดับในกรุงเทพฯ มีการเรียกร้องสิทธิในการถือโควตาลอตเตอรี่ ช่วงปี 2517 ถึง 2518 ทำให้อดตื่นเต้นไปกับมันด้วยไม่ได้ รวมถึงตัวเองมักนั่งอยู่ในวงสนทนากลุ่มอาสาสมัครนักศึกษามหาวิทยาลัยเชียงใหม่ที่พูดถึงเหตุการณ์บ้านเมืองในช่วงประชาธิปไตยกำลังเบ่งบานและฟังข่าวสารจากต่างประเทศผ่านวิทยุคู่ใจอยู่ทุกวัน

ถึงขั้นชอบ ขั้นเสพติด แม้ยังไม่เข้าใจ ยังถูกค่านิยมของโรงเรียนประจำคนตาบอดที่ว่าต้องเล่นดนตรีครอบไว้ แต่ทุกอย่างก็หลอมรวมให้เขาเป็นเขาอย่างที่เราเห็น

ในฐานะเพื่อนมนุษย์ที่ไม่ใช่ความสัมพันธ์ระหว่างนักกฎหมาย อย่าง มณเฑียรกับประชาชน อย่าง ฉันนั้นมันสัมผัสไม่ได้ถึงเส้นแบ่งของความแตกต่าง แต่มณเฑียรบอกว่าสังคมเราเปราะบางต่อความรู้สึกมากเกินไป และเพราะใช้ความรู้สึกเป็นฐานในการตัดสินทุกสิ่งที่เกิดขึ้น คนตาบอด หรือคนพิการ จึงเป็นอีกชนชั้นหนึ่งที่ไม่มีความสามารถ เป็นภาระ มีศักดิ์ศรีไม่เท่ากับคนทั่วไป

ฉันว่าแม้มณเฑียรจะตาบอด แต่ก็เห็นในสิ่งที่ฉันไม่เห็นและถ้าจะว่าต่อว่าดวงตาของเขาที่ไม่ทำหน้าที่เหมือนดวงตาของคนทั่วไปนั้นเป็นความบกพร่อง ทุกส่วนของฉันก็ไม่ได้สมบูรณ์แบบและเราก็เป็นของเราแบบนั้น ธรรมดา แต่ไม่ซ้ำใคร  

 

ไอโฟนเจ็ดยังไม่หายไปจากหน้าสื่อสิ่งพิมพ์และโซเชียลมีเดีย

สังคมยังพูดถึงมันอยู่ แม้จะน้อยลงไปเรื่อย ๆ คล้ายกับเรื่องบางเรื่องที่ไม่ใหม่แต่ก็ยังไม่เก่า แม้ฉันเองจะเชื่อในผลของการศึกษาเรียนรู้ ไม่ว่าใครเมื่อได้จมกับข้อมูลบางอย่างย่อมเกิดผลดีตามมาให้เห็นในเร็ววัน แต่ก็ปฏิเสธความคิดของมณเฑียรที่ว่าเราอาจต้องอาศัยเวลาเป็นร้อยปีในการทำวิจัยต่าง ๆ เพื่อให้สังคมรับรู้เข้าใจคนพิการมากขึ้นไม่ได้ แล้วทุกครั้งที่ได้พบปะ ทุกครั้งที่ได้คุยกัน เขามักมีคำพูดติดปากหนึ่งว่า

“มันเป็นเช่นนั้นเอง”

ถึงเจ้าตัวจะบอกฟังออกไปทางธรรม แต่ฉันว่ายังพอใช้ได้อยู่ในทางโลก

“ตามสิทธิมนุษย์ก็ต้องเชื่อว่าเงื่อนไขภายนอกก่อโทษกรรมกับบุคคล ส่วนความบกพร่อง มันเป็นเช่นนั้นเอง คุณทำอะไรมันไม่ได้หรอก เกิด แก่ เจ็บ ตาย สูง ต่ำ ดำ ขาว มันก็เป็นของมันแค่นั้น คุณจะไปแก้ฉีกเนื้อคนเป็นชิ้น ๆ แล้วประกอบร่างขึ้นใหม่เหรอ บางคนก็บอกว่าตาบอดรักษาได้ แล้วจะรักษาได้หมดทุกคนเหรอ จริงไหม แต่สิ่งคุณทำได้ แน่นอนเลย คือ แก้ไข สภาพแวดล้อม เงื่อนไขภายนอก แต่มันก็แก้ยาก ตราบใดที่คุณยังคิดว่าเรื่องคนพิการเป็นเรื่องบุญทำกรรมแต่ง เป็นปัญหาเฉพาะบุคคล โดยไม่ตั้งคำถามว่ามันเป็นปัญหาเชิงโครงสร้างหรือเปล่า”

ครั้งล่าสุดหลังคุยกันเสร็จที่สมาคมคนตาบอดแห่งประเทศไทย ฉันแยกกับมณเฑียรตรงวินมอเตอร์ไซค์หน้าปากซอยบุญอยู่ แถวดินแดง เขาบอกว่า วันนี้รีบ เพราะติดนัดทานข้าวเที่ยงกับเพื่อนเก่า แถวซอยอารีย์อยู่ก่อนแล้ว แต่ถ้าอยากคุยกันอีกให้ฉันรีบนัดเขาก่อนสิ้นปี เพราะช่วงต้นปีหน้ามีแพลนเดินทางไปประชุมที่สวิตเซอร์แลนด์  

ใช่, มันเป็นเช่นนั้นเอง

ฉันคงเข้าใจไม่ผิดหรอกว่า เราล้วนมีความบกพร่องเป็นของตัวเอง อยู่ที่ว่าจะมองมันในมุมไหน และต่างไปถึงจุดหมายกันได้โดยไม่อาศัยดวงตา

ขอให้เดินทางโดยสวัสดิภาพ ทั้งมณเฑียรและคุณ.

 

บทความนี้เป็นส่วนหนึ่งในหนังสือ ไม่มีพื้นฐานแต่ไม่ต่างกัน: เรื่องเล่าระหว่างฉัน เธอ เขา และ'ความพิการ'ของเรา ทีสิสนักศึกษาคณะเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร สาขานิเทศศาสตร์ เอกวารสารและหนังสือพิมพ์ มหาวิทยาลัยศิลปากร