Skip to main content
ภาพผู้หญิงที่เป็นผู้ป่วยโรคซึมเศร้ามีสีหน้าเหมือนกับคนธรรมดาทั่วไปแต่มือซ้ายถือกระจกซึ่งสะท้อนดวงตาอีกข้างที่กำลังร้องไห้อยู่
บ่อยครั้งที่เราได้อ่านเรื่องราวต่างๆเกี่ยวกับ 'โรคซึมเศร้า' โดยเฉพาะในสื่อสังคมออนไลน์ซึ่งนำเสนอผ่านหลายแง่มุม โดยส่วนใหญ่มักเป็นคำบอกเล่าจากปากของผู้เคยป่วยเป็นโรคซึมเศร้าซึ่งปัจจุบันหายแล้ว หรือบทความเชิงวิชาการที่ประกอบด้วยข้อมูลทางการแพทย์มากมาย เช่น อาการเบื้องต้นของโรคซึมเศร้าที่กว้างแสนกว้างจนคล้ายคลึงกับอาการเครียดปกติ แต่ผู้ป่วยที่ยังไม่หายล่ะ ผู้ป่วยที่อาการทรุดหนักลงเรื่อยๆ จนเริ่มมีอาการจิตเภทร่วมด้วย คุณเคยได้ยินเรื่องของเขาไหม เรื่องราวและโครงสร้างอันซับซ้อนของโรคซึมเศร้าที่มาจากประสบการณ์จริงที่แตกต่างจากทุกเรื่องที่คุณรู้มา และในวันนี้น้องสาวของผู้ป่วยโรคซึมเศร้าที่ปัจจุบันยังคงเป็นอยู่ทั้งยังมีอาการหลงผิดหลอนประสาทร่วมด้วยกำลังจะเล่าทุกรายละเอียดให้ฟัง

โรคซึมเศร้าคือโรคจิตใช่หรือไม่

ก่อนอื่นต้องทำความเข้าใจก่อนว่า ‘โรคซึมเศร้า‘ ไม่ใช่โรคจิต เพราะโรคจิตหมายถึงโรคที่มีอาการหลงผิด ประสาทหลอนเป็นอาการเด่นและมักจะเป็นเรื้อรัง ส่วนในโรคซึมเศร้านั้น อาการสำคัญคืออารมณ์จะเปลี่ยนไปจากปกติ โดยจะซึมเศร้า นอนไม่หลับ กินไม่ได้ บางครั้งถ้ารุนแรงมากๆ อาจมีอาการหลงผิดประสาทหลอนร่วมด้วยได้ แต่ก็พบไม่บ่อยและเมื่ออาการซึมเศร้าดีขึ้นอาการหลงผิดก็จะหายไป หากเรียกให้ถูกอาจเรียกว่าเป็นโรคทางอารมณ์[1]

ส่วนโรคซึมเศร้าที่พี่สาวของ อภิชญา (นามสมมติ) กำลังเผชิญอยู่ คือโรคซึมเศร้าที่มีอาการจิตเภทร่วมด้วย เนื่องจากเป็นผู้ป่วยที่มีอาการซึมเศร้ามากแล้วจนทำให้เกิดอาการหลงผิด ประสาทหลอน หูแว่ว ในเวลาต่อมา ซึ่งอาการเหล่านี้มักเป็นเพียงชั่วคราวเท่านั้น หากได้รับการรักษา จนอารมณ์ที่เศร้าหมองดีขึ้นอาการจิตเภทจะทุเลาตาม แต่เรื่องจริงไม่ได้เป็นเช่นนั้น เพราะพี่สาวของเธอเริ่มปฏิเสธการรักษา ไม่ยอมไปพบแพทย์ และงดยาด้วยตนเอง ทำให้อาการต่างๆที่กล่าวมายิ่งทรุดลงไปอีก ปัจจุบันเริ่มพูดจาไม่เป็นเรื่องราว และเห็นภาพหลอน ซึ่งรายละเอียดทั้งหมด อภิชญายินดีอย่างยิ่งที่จะแบ่งปันเรื่องราวของพี่สาวเธอซึ่งเป็นผู้ป่วยโรคซึมเศร้าชนิดรุนแรงให้ผู้อื่นได้รับรู้ เพื่อให้ตระหนักถึงความร้ายแรงของโรคซึมเศร้าที่ไม่ใช่แค่เรื่องของความเศร้าซึมหรือการเรียกร้องความสนใจเพียงอย่างเดียว โดยเรื่องราวต่าง ๆ ที่จะเล่านั้นมาจากคำบอกเล่าของพี่สาวของเธอเองร่วมกับการสังเกตอาการผู้ป่วยร่วมด้วย

โรคซึมเศร้าไม่ได้เป็นแค่ความผิดปกติทางอารมณ์?

“ก็ใช่ค่ะ แต่อารมณ์เล็กๆ นี่แหละส่งผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางความคิดและร่างกาย ซึ่งพอปล่อยไว้ไม่รักษาและคนรอบข้างก็ละเลยที่จะเรียนรู้หรือปรับตัวเข้ากับผู้ป่วย สิ่งเหล่านี้จึงนำไปสู่อาการของโรคจิตเภทในเวลาต่อมา ซึ่งตอนนั้นเราเข้าใจว่า พี่สาวเรามีความผิดปกติทางอารมณ์เฉยๆ ซึ่งเป็นอาการปกติที่มาจากโรคซึมเศร้า เคยอ่านมาว่า 2-3 สัปดาห์ก็หาย จึงไม่ได้สังเกตอาการอื่นร่วมด้วย และปกติเขาก็ไม่เล่าอะไรให้เราฟังอยู่แล้ว รู้อีกทีคือตอนที่พี่สาวทำร้ายตัวเองจนต้องเข้า ICU เลยมีโอกาสได้คุยกัน ซึ่งพี่สาวก็เลือกเปิดใจกับเราและระบายให้ฟังทุกเรื่องโดยลำพัง ทำให้เรารู้ว่า โรคซึมเศร้า น่ากลัวกว่าที่เราเคยเข้าใจมาเยอะเลย” อภิชญากล่าว

‘อาการของโรคซึมเศร้า’ สามารถแสดงออกได้ 3 ทาง คือ อารมณ์ ความคิด และร่างกาย อาจแสดงออกทางใดทางหนึ่ง หรือสามทางเลยก็ได้[2] ซึ่งการแสดงออกส่วนใหญ่ที่พบได้บ่อยคือทางอารมณ์ เช่น อาการเรียกร้องความสนใจ เก็บตัว เศร้าซึม หรือผิดหวัง เพราะเป็นช่วงระยะแรกเริ่มสามารถรักษาให้หายได้ แต่กับผู้ป่วยโรคซึมเศร้าชนิดรุนแรงอย่างพี่สาวของอภิชญาไม่ได้เป็นเช่นนั้น

‘แล้วทำไมไม่รับการรักษาตั้งแต่ตอนนั้น ปล่อยให้เนิ่นนานหรือเปล่าทำให้อาการเป็นหนัก’

อภิชญาตอบกลับว่า “พี่สาวเริ่มไปพบจิตแพทย์ตั้งแต่เดือนตุลาคมปีที่แล้ว เนื่องจากมีอาการวิตกกังวลมากกว่าปกติ หลังจากเคยรับโทรศัพท์จากทางบ้านที่โทรมาแจ้งว่าน้าชายบุกรุกและขู่จะทำร้ายแม่ หลังจากนั้นมาพี่สาวก็ใช้ชีวิตด้วยความหวาดระแวงทั้งวัน กลัวคนมาดักทำร้ายตนหรือแม่ แม้กระทั่งเสียงโทรศัพท์สั่นเพราะคิดว่าจะมีคนโทรมาบอกข่าวร้าย จนกลายเป็นคนที่อยู่ติดโต๊ะทำงานจนค่ำทุกวันเพราะรู้สึกว่าเป็นที่ที่ปลอดภัยที่สุด แต่ที่แย่กว่านั้นคือ จู่ๆก็มีปัญหากับที่ทำงาน ถูกเจ้านายกดดันให้ออกจากงาน ที่ที่เคยปลอดภัยก็ไม่ปลอดภัย จากนั้นเขาก็กลายเป็นพวกเก็บตัว ไม่คุยกับใคร แล้วหายไปเลยจนกระทั่งมีโทรศัพท์จากโรงพยาบาลมาบอกแม่ว่าพี่สาวแอ็ดมิทอยู่ ICU เสียเลือดเยอะเพราะกรีดแขนตัวเองเป็นแนวตรง ยาว และลึกด้วย แม่ก็โทรหาเราเลยให้รีบไปด่วน แล้วนั่นก็เป็นครั้งแรกที่รู้ว่าพี่สาวเราอาการหนักถึงขั้นทำร้ายตัวเองแล้ว และตกใจมากว่าระยะเวลาแค่ 3 เดือนกว่าทำไมเป็นได้ขนาดนี้ แต่หลังจากได้พูดคุยกันก็เข้าใจเลยว่าอาการจะทรุดหรือไม่ทรุดปัจจัยไม่ได้อยู่ที่เป็นนาน อย่างการทำร้ายตัวเองพี่สาวเราบอกว่าเป็นการกระทำที่คิดมาอย่างดีแล้ว”

ทำร้ายร่างกาย = เจ็บปวดน้อยลง

รูปผู้หญิงที่กำลังใช้กระจกกรีดข้อมือตัวเองอย่างมีความสุข
ภาพประกอบ: TOYTHOYY

ในช่วงที่โรคซึมเศร้ากำลังเป็นที่รู้จักในสื่อสังคมออนไลน์ เรามักพบข่าวการทำร้ายตัวเองของผู้ป่วย ไม่ว่าจะเป็นการรับประทานยาเกินขนาดเพื่อปลิดชีวิต หรือการกรีดแขนตัวเอง ซึ่งพฤติกรรมดังกล่าวส่วนมากถูกเข้าใจว่าเป็นการเรียกร้องความสนใจ สงสาร หรือหนีปัญหาที่ประสบตามวิถีคนป่วย บ้างมองว่าเป็นการคิดสั้น หรือการกระทำโดยไม่คิด แต่นั่นอาจไม่ใช่เจตนาที่แท้จริงของผู้ป่วย สำหรับพวกเขาพฤติกรรมเหล่านี้กลับถูกคิดและไตร่ตรองมาอย่างดี!

“พี่สาวเคยเล่าให้ฟังว่า ที่กรีดแขนไม่ใช่เพราะเรียกร้องความสนใจหรือเสียใจนะ แต่แค่รู้สึกใจชา รู้สึกเจ็บปวดในความคิดของตัวเอง พอเริ่มไม่อยากจะทนกับความเจ็บปวดนั้นแล้ว เลยคิดหาทางจัดการกับมัน จึงลองทำร้ายร่างกายตัวเองดู ซึ่งก็ได้ผลดีทีเดียว การเอาความเจ็บปวดไปลงกับร่างกายแทนทำให้ใจหายเจ็บปวด ทุกครั้งเมื่อรู้สึกเจ็บใจ เจ็บในความคิด ก็เลยไปลงกับร่างกายแทน มีทั้งกรีดแขน เอาหัวโขกเตียง ทุบตัวเอง ดึงผม แล้วพี่เราก็คิดว่าเป็นเรื่องปกติที่ทุกคนที่เจ็บปวดเขาทำกัน ซึ่งต้องบอกก่อนว่าพี่สาวเราไม่เคยผิดหวังอะไรเลยในชีวิตจนกระทั่งอายุ 22 เพิ่งผิดหวังเป็นครั้งแรก เพราะเจอหลายปัญหาในคราวเดียว ทำให้ไม่มีประสบการณ์มากพอที่จะรับมือกับอารมณ์ ความรู้สึกแบบนั้น” อภิชญาเล่า

หลงไหลในความตาย

‘ความตาย’ คือการจากลาอย่างไม่มีวันกลับ ทั้งยังไม่สามารถล่วงรู้แน่ชัดได้อีกว่าเมื่อตายแล้วจะเป็นอะไร หรือจะไปอยู่ที่ไหน และโดยพื้นฐานมนุษย์มักกลัวในสิ่งที่ตนเองไม่รู้ ประกอบกับสัญชาตญาณของความอยู่รอดของมนุษย์ ความตายสำหรับมนุษย์จึงเป็นสิ่งน่ากลัว แต่ไม่ใช่กับพี่สาวของอภิชญา

อภิชญาเล่าต่อว่า “เมื่อเริ่มรู้สึกดีขึ้นจากการทำร้ายตัวเองบ่อยครั้ง พี่สาวก็เริ่มเกิดความคิดแปลกๆมากขึ้น เริ่มหลงไหลกับเรื่องความตาย เริ่มปักใจเชื่อว่าความตายคือการปลดปล่อยตัวเองจากความเจ็บปวดและเป็นทางออกที่ดีที่สุดของโรคที่เป็นอยู่นี้ จะหายก็ต่อเมื่อตาย ตอนแรกเราคิดแง่ดีว่าเป็นการเปลี่ยนแปลงทางความคิดของคนเป็นโรคซึมเศร้าอาจมีท้อแท้ หรือสิ้นหวังบ้าง ไม่น่าจะคิดหรือเชื่อแบบนั้นจริงๆ ซึ่งในขณะนั้นพี่สาวเริ่มปฏิเสธการรักษาด้วยการงดยาด้วยตนเองโดยไม่มีใครรู้ และแอบแยกยาออกจากถุงเก็บเอาไว้ หวังใจไว้ว่าเมื่อวันหนึ่งยามีจำนวนมากขึ้นแล้วจะได้กรอกยาตาย ซึ่งในระหว่างนั้นก็ยังคงไปพบแพทย์ตามนัดเพื่อไม่ให้เป็นที่สงสัย และที่สำคัญยังดูร่าเริงและมีความสุขอีกด้วย จนที่บ้านเกือบเชื่อว่าหายแล้ว แต่จู่ๆพี่ก็มาพูดเรื่องความตายกับเรา เราเลยแอบถามว่า ไม่กลัวตายหรอ พี่เรากลับตอบว่าไม่ คิดถึงความตายแล้วมีความสุข ทุกวันนี้ก่อนไปเจอหน้าแม่ เจอเพื่อน ก็จะบอกตัวเองแบบนี้”

ไม่ฆ่าตัวตายสู่อาการจิตเภท

โรคซึมเศร้าสามารถรักษาได้ แต่ถ้าเป็นมากแล้วไม่ได้รับการรักษาหรือรักษาไม่ต่อเนื่อง จะมีแนวโน้มสู่การฆ่าตัวตายได้สูงถึง 30 %[3] และจากคำบอกเล่าของอภิชญา พี่สาวของเธอก็เป็นหนึ่งในนั้นซึ่งคิดฆ่าตัวตายอยู่ตลอดเวลา จนส่งผลไปถึงความเปลี่ยนแปลงของร่างกายที่เปลี่ยนไป คือ อ่อนเพลีย น้ำหนักลดลงชัดเจน ปวดตามร่างกาย นอนหลับได้น้อย เนื่องจากเมื่อคิดฆ่าตัวตายแล้ว พี่สาวของเธอเริ่มมีพฤติกรรม นอนติดเตียง ไม่กินข้าว พยายามที่จะอั้นปัสสะวะและอุจจาระ โดยเชื่อว่าวิธีดังกล่าวจะทำให้เธอได้เข้าใกล้ความตายมากขึ้น เพราะยังไม่สามารถตัดสินใจฆ่าตัวตายด้วยวิธีอื่นที่ทำให้ตายโดยทันทีได้ ด้วยเหตุผลที่ว่า แม่ คือ คนที่ทำให้ต้องมีชีวิตอยู่และเป็นคนเดียวกับคนที่ทำให้อยากตาย เพราะไม่ต้องการเป็นภาระอีก

ผู้หญิงนั่งกอดเข่ากำลังตกอยู่ภายใต้หมอกควันซึ่งแท้จริงแล้วเป็นเพียงภาพหลอนในความคิดของเธอเอง
ภาพประกอบ: TOYTHOYY

แต่การอยู่กับโรคซึมเศร้าต่อไปเป็นเวลานานก็ไม่ส่งผลดีเท่าใดนัก จากการวินิจฉัยล่าสุดของแพทย์ พี่สาวของเธอเริ่มมีอาการของโรคจิตเภทร่วมด้วย เนื่องจากหยุดการรักษาไปทั้งๆ ที่อาการยังหนักอยู่ โดยเริ่มมีอาการหลอนประสาท เห็นภาพหลอนและหูแว่วว่ามีผู้หญิงมานั่งคุยด้วยก่อนนอนถึง 2 ครั้ง มีอาการหลงผิดปักใจเชื่อกับสิ่งที่ตนเองคิดมากขึ้น พูดจาไม่เป็นเรื่องราว และไม่ตอบสนองต่อยาแก้เศร้า ปัจจุบันแพทย์จึงต้องให้ยารักษาโรคจิตเภทร่วมด้วย

คำพูดธรรมดาและการให้กำลังใจคือแรงผลักดันที่ทำให้อยากตาย

สำหรับคนไทยซึ่งมีนิสัยขี้สงสารและเห็นอกเห็นใจผู้อื่น โดยเฉพาะกับผู้ตกทุกข์ได้ยาก เช่น ผู้ป่วย คนพิการ หรือคนด้อยโอกาส และสิ่งที่ตามมาคือการพูดให้กำลังใจ ไม่ว่าจะเป็น “สู้ๆนะ” “เดี๋ยวก็หาย” ซึ่งกลายเป็นวลียอดฮิตไปแล้ว แม้จะเป็นคำพูดธรรมดาแต่ก็พูดด้วยเจตนาที่หวังดี ต้องการให้กำลังใจ แต่กับพี่สาวของอภิชญาซึ่งเป็นผู้ป่วยโรคซึมเศร้าที่กำลังอยู่ในระยะเปลี่ยนแปลงทางความคิด สองวลียอดฮิตคือคำต้องห้าม!

อภิชญาบอกว่า สำหรับผู้ป่วยจิตเวช เรื่องคำพูดคำจาเป็นสิ่งสำคัญมาก เพราะมีผลอย่างมากต่ออารมณ์และความคิดของผู้ป่วย ยกตัวอย่าง เช่น 4 วลีต้องห้ามของพี่สาวคือ “ทำงานที่ไหน” กับ ”ตอนนี้ทำอะไรอยู่” เพราะเป็นสิ่งที่ไปกระตุ้นความรู้สึกผิดหวัง อีกสองคำคือ “สู้ๆนะ” กับ “เดี๋ยวก็หาย” เพราะเป็นคำพูดที่พี่สาวฟังแล้วรู้สึกว่าสิ่งที่ตัวเองคิดน่ะถูกต้อง ส่วนสิ่งที่คนอื่นพูดคือเรื่องโกหก ความตายต่างหากคือทางออกที่แท้จริงที่สุด และจะเริ่มโหยหาหรือหมกมุ่นกับความตายอีก

‘การพูดคุยและรับฟังแบบไหนที่ผู้ป่วยโรคซึมเศร้าต้องการ’

“เคยถามพี่สาวว่า ‘ถ้าสามารถสร้างเพื่อนแบบไหนก็ได้มาอยู่ด้วยหนึ่งคนจะเลือกแบบไหน’ เขาตอบว่า เลือกตัวเองเมื่อก่อนก่อนจะป่วยเป็นโรคซึมเศร้าที่เป็นคนตลก ใจดี เจ๋ง และไม่เคยผิดหวังเลยตั้งแต่เด็กจนโต พอผิดหวังครั้งแรกตอนอายุ22ก็เป็นหนักเลยเพราะไม่เคยรับมือกับปัญหาเยอะขนาดนี้ ความรู้สึกแย่ขนาดนี้ ทุกอย่างมันวิ่งเข้าหาเราทันที มาพร้อมกันโดยไม่ทันตั้งตัว ไม่คาดคิดมาก่อนว่าจะต้องเจออย่างนี้ ยิ่งไม่เคยมีประสบการณ์ในการต้องดิ้นรนต่อสู้ก็ยิ่งแย่ หรือถ้าในความเป็นไปได้ อาจเลือกใครก็ได้ที่เราเปิดใจและกล้าพูดสิ่งที่คิดให้ฟัง แม้แต่น้องสาวอย่างเราที่ตีกันมาตลอด ห่างหายกันมานาน มีสถานะเหมือนเป็นอริกัน แต่สุดท้ายตอนนี้ตัวเลือกที่ดีที่สุดในการปรึกษาหรือเล่าอะไรให้ฟังก็คือ น้องสาว เพราะเราเปิดใจกับเขามากกว่าคนอื่น” อภิชญาตอบ

‘โรคซึมเศร้าเป็นโรคติดต่อหรือไม่คนจึงเป็นโรคซึมเศร้ากันเยอะ’

“ถ้าในเชิงทางกายภาพของโรคก็ไม่ แต่ถ้าในลักษณะการอยู่ร่วมกันผู้ป่วยที่มีสภาวะไม่ปกติทางอารมณ์และความคิด ถ้าเข้าใจในอาการที่เกิด มีสติตระหนักรู้อยู่เสมอว่า คนคนนี้เป็นผู้ป่วยโรคซึมเศร้าอยู่ก็โอเค แต่ถ้าไม่ และยิ่งเป็นคนเซนซิทีฟ อินกับอะไรง่าย อ่อนไหวง่าย ก็ควรยุติความสัมพันธ์หรือห่างออกไปก่อนจะดีกว่า เพราะมีโอกาสเสี่ยงสูงที่จะมีภาวะซึมเศร้าไปด้วย ซึ่งอาจพัฒนาเป็นโรคได้ในอนาคต อย่างพี่สาวก็เลิกกับแฟนเพราะโรคซึมเศร้า เพราะเหมือนตัวเขาเป็นพาหะทำให้แฟนเริ่มมีภาวะซึมเศร้า สุดท้ายก็ตัดสินใจยุติความสัมพันธ์” อภิชญากล่าว

การไปพบจิตแพทย์ไม่ใช่เรื่องน่าอาย

ในฐานะคนใกล้ชิดผู้ป่วยโรคซึมเศร้า อภิชญาแนะนำวิธีสังเกตหรือแยกความแตกต่างระหว่างคนป่วยเป็นโรคซึมเศร้ากับคนที่มีภาวะปกติ ให้กับคนอื่นที่กำลังคิดว่าตัวเอง ‘มีภาวะ’ หรือ ‘เป็นโรคซึมเศร้า’ ว่า อย่าเชื่อแค่เพราะเทียบอาการของตัวเองกับข้อมูลในอินเตอร์เน็ต เพราะเป็นการให้ข้อมูลในภาพกว้างซึ่งใกล้เคียงกับอารมณ์ความรู้สึกของคนธรรมดามาก เช่น เครียด ท้อแท้ ผิดหวัง หมดกำลังใจ หรือเบื่อหน่าย ในวันแย่ ๆ จนไม่อยากไปทำงาน ไม่อยากไปโรงเรียน อยากนอนนิ่งๆ ทั้งวัน ซึ่งทุกคนเคยมีความรู้สึกแบบนี้ทั้งนั้น แต่โรคซึมเศร้าเป็นเรื่องของการตอบสนองอารมณ์ความรู้สึกปกติด้วยวิธีการที่ไม่ปกติมากกว่า หากสงสัยว่ามีภาวะหรือเป็นโรค การไปพบจิตแพทย์คือตัวเลือกดีที่สุด แน่นอน ถูกต้อง และชัดเจน ถ้าตรวจพบภาวะจริงก็สามารถเข้ารับการรักษาได้เลย

อภิชญากล่าวทิ้งท้ายว่า “ปัจจุบันการไปพบจิตแพทย์ไม่ใช่เรื่องน่าอายแล้วเพราะจำนวนผู้ป่วยจิตเวชมีจำนวนเพิ่มสูงขึ้น โลกเปิดกว้างมากขึ้น และคนส่วนใหญ่ก็เริ่มตระหนักรู้และมีความเข้าใจว่าการเหมารวมผู้ป่วยซึ่งมีอาการทางจิตแตกต่างกันว่า ทุกคนเป็นคนบ้า คนโรคจิต คนสติฟั่นเฟือน เป็นสิ่งที่ไม่ควรทำอย่างยิ่ง ฉะนั้น การเข้าพบจิตแพทย์จึงไม่ต่างกับคนไม่สบายไปหาหมอ ต่างกันแค่ไม่ได้เจ็บป่วยทางร่างกายเท่านั้น ซึ่งคนป่วยไปเข้ารับการรักษาถือเป็นสิ่งถูกต้องและไม่น่าอับอายแต่อย่างใด”


[1] http://med.mahidol.ac.th/ramamental/generalknowledge/general/09042014-1017
[2] http://www.manarom.com/sara/depression.html
[3] http://www.komchadluek.net/news/edu-health/209489