Skip to main content

เฟสบุ๊กของ นายแพทย์ประเสริฐ ผลิตผลการพิมพ์ ได้เล่าถึงภาพยนตร์เรื่อง Temple Grandin ที่เล่าถึงผู้หญฺงที่มีภาวะออทิสติก ซึ่งสามารถก้าวข้ามข้อจำกัดต่างๆ ที่เธอต้องเจอเพื่อที่จะเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านการเลี้ยงสัตว์ โดยอ้างอิงจากบทความ "เด็กพิเศษคือเด็กที่มีพัฒนาการแบบพิเศษ" ที่ตีพิมพ์ครั้งแรกวารสารก้าวใหม่ สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ

เขากล่าวถึงภาพยนตร์เรื่องนี้ว่า นี่คือหนังที่ผู้ปกครองของเด็กพิเศษควรได้ดู

นพ.ประเสริฐเริ่มด้วยการเล่าว่า ก่อนอื่น ทำความเข้าใจความหมายของเด็กพิเศษให้ถูกต้องเสียก่อน เด็กพิเศษ หมายถึง เด็กที่มีพัฒนาการแบบพิเศษ อธิบายอย่างง่ายว่าคือเด็กที่มีพัฒนาการในรูปแบบ วิธีการ และจังหวะก้าวของตนเอง มิใช่เด็กผิดปกติ และมิใช่พัฒนาการไม่ได้

อันที่จริงแล้ว เราควรพยายามที่จะไม่ใช้คำว่า เด็ก"ปกติ"หรือ"ผิดปกติ"

เวลาดูหนังเด็กพิเศษที่ประสบความสำเร็จในชีวิต ผู้ปกครองบางท่านอาจจะรู้สึกเบื่อและไม่เชื่อว่าเป็นไปได้ เป็นความจริงว่ายากและเหนื่อยแน่ แต่ขอให้หาหนังเรื่องนี้มาดู ดูไปให้ถึงตอนจบ ดูฉากที่ เทมเปิล แกรนดิน ลุกขึ้นพูดในที่ประชุมออทิสติกแห่งชาติ โดยมีคุณแม่น้ำตาคลออยู่ด้านข้าง

เทมเปิล แกรนดิน (Temple Grandin) เป็นหนังเอชบีโอ ปี 2010 กำกับการแสดงโดยไมค์ แจคสันนำแสดงโดย แคลร์ เดนส์ เป็นเทมเปิล แกรนดิน และจูเลีย ออร์มอนด์เป็นคุณแม่

เทมเปิล แกรนดินเกิดเมื่อ 29 สิงหาคม ปี 1947 เธอเกิดมาเป็นเด็กออทิสติก ซึ่งเห็นได้ชัดจากในหนัง เนื่องจากคุณหมอในหนังวินิจฉัยตั้งแต่แรก เธอเรียนจบปริญญาตรีจิตวิทยา ปริญญาโทสัตววิทยา ได้รับปริญญาเอกและปัจจุบันโปรเฟสเซอร์แกรนดินสอนอยู่ที่มหาวิทยาลัยโคโลราโด

เธอไม่ให้แม่กอด นั่งเหม่อลอย กรีดร้อง และไม่พูดเลยก่อนอายุ 4 ขวบ


ตัวอย่างภาพยนตร์เรื่อง Temple Grandin

จากที่เห็นในหนังคุณแม่พาเธอไปพบคุณหมอแต่แรก คุณหมอสมัยนั้นยังใช้คำอธิบายว่า โรคนี้เกิดกับเด็กที่มีคุณแม่ห่างเหิน(detach) อันที่จริงแล้วในตำราสมัยก่อนเราเรียกว่า คุณแม่ตู้เย็น (refrigerator woman) ซึ่งปัจจุบันเราเลิกเชื่อเรื่องนี้ไปนานแล้ว

ฉากคุณแม่ไปพบหมอเป็นฉากที่น่าดู คุณหมอไม่เต็มใจอธิบายในตอนแรก บอกว่าเข้าใจยาก จูเลีย ออร์มอนด์ในบทคุณแม่ชักสีหน้าใส่คุณหมอแล้วพูดว่า “ลองสิคะ ดิชั้นจบฮาร์วาร์ด”

แคลร์ เดนส์ในบทเด็กสาวที่เป็นออทิสติกรับบทได้ดีเป็นที่หนึ่ง การเดิน การพูดจา การแสดงออกสีหน้าท่าทาง เหมือนเป็นออทิสติกจริง และน่าจะดีกว่าที่ดัสติน ฮอฟฟ์แมนทำไว้ในหนัง Rainman ปี 1988

คุณแม่พาเทมเปิลไปฝากไว้กับคุณป้าและคุณลุงที่ฟาร์มแห่งหนึ่งก่อนเปิดเทอมชั้นมหาวิทยาลัย หนังจะแฟลชแบ็ควัยเด็กเป็นระยะๆ เป็นโชคดีของเธอด้วยที่พบคุณครูวิทยาศาสตร์คนหนึ่งที่เข้าใจและเห็นความสามารถเฉพาะด้านของเธอ

คงจะจริงที่เด็กพิเศษต้องการโชค นั่นคือโชคที่จะได้พบคุณครูที่เข้าใจ เมื่อไรที่ประเทศไทยจะไม่ต้องอาศัยโชคเช่นนี้

นอกจากนี้ความคาดหวังว่า เด็กพิเศษบางคนจะเป็นอัจฉริยะนั้นเกินจริง เด็กพิเศษไม่จำเป็นต้องอัจฉริยะ แต่เด็กพิเศษทุกๆคนมีความสามารถเฉพาะด้านค่อนข้างแน่ เป็นโชคที่คุณแม่หรือคุณครูจะค้นพบก่อนที่จะสายเกินไป

ที่ฟาร์ม เทมเปิลออกอาการแปลกประหลาดเป็นครั้งๆซึ่งคุณป้ารับได้ ยกเว้นครั้งหนึ่งที่เทมเปิลตื่นกลัวอย่างรุนแรง เธอวิ่งเตลิดเข้าไปในคอกวัวแล้วดึงคันชักให้รั้วหนีบเธอไว้แน่นเสมือนหนีบวัวให้อยู่กับที่ ประสบการณ์ครั้งนั้นทำให้เทมเปิลรู้ว่าการถูก “กระชับ” เป็นอย่างไร

นั่นคือต้นเรื่องที่เธอจะประดิษฐ์ “เครื่องกอด” หรือ Hug Machine ในเวลาต่อมา

ที่ฟาร์มสอนเทมเปิลหลายอย่าง อย่างหนึ่งคือเธอพบว่าเธอเก่งเรื่องกลไก เรื่องนี้มิใช่โชค แต่เป็นเพราะคุณป้าของเธอใจเย็นมากพอจะนั่งดูเธอพัฒนาตนเองในรูปแบบ วิธีการ และจังหวะก้าวของเธอเอง

ที่มหาวิทยาลัยระดับปริญญาตรี เธอถูกล้อเลียนและพบสภาพแวดล้อมแปลกประหลาดสำหรับเธอ เธอกลัวประตูอัตโนมัติจากเดิมก็กลัวประตูอยู่ก่อนแล้ว จะเข้าจะออกจะผ่านประตูแต่ละบานต้องตั้งท่าจนเป็นที่หัวเราะเยาะของเพื่อนนักศึกษา เสียงและแสงเป็นสิ่งเร้าที่ทำให้เด็กออทิสติกบางคน “เจ็บ” เธอเป็นคนหนึ่งในนั้น ทั้งหมดนี้นำเธอไปสู่การสร้างเครื่องกอดไว้กอดตัวเองในห้องพักยามที่เธอควบคุมตนเองไม่ได้

มหาวิทยาลัยสั่งให้โยนเครื่องกอดนั้นทิ้งทางหน้าต่าง เธอต่อสู้เอากลับมา นำไปสู่งานวิจัยชิ้นแรกของเธอเพื่อเปรียบเทียบผลลัพธ์ของการใช้เครื่องกอดกับนักศึกษา ฉากนี้ขำมาก

เธอจบปริญญาตรีจนได้ ดูและฟังสปีชของเธอในวันรับปริญญา ดีมาก

เทมเปิล แกรนดินเรียนปริญญาโทสัตววิทยาต่อ เธอสังเกตพบว่าการต้อนวัวในปศุสัตว์เข้าสู่โรงฆ่าสัตว์ที่ทำกันอยู่นั้นน่ากลัวสำหรับวัวเป็นอันมาก อย่างไรวัวก็ต้องตายแน่ๆอยู่แล้ว เราควรมีวิธีช่วยให้วัวสงบ เดินไปข้างหน้าอย่างเรียบร้อย ได้หรือไม่

“ธรรมชาติโหดร้ายอยู่แล้ว เราไม่ต้องซ้ำเติมก็ได้” เป็นประโยคที่เธอพูดบ่อย

เธอนั่งมองแบบแผนการเดินของวัวในฝูงจนกระทั่งเข้าใจ รู้วิธีแตะตัววัวเพื่อให้ล่วงรู้ถึงความสงบหรือความตื่นกลัวของวัว ในที่สุดเธอออกแบบโครงสร้างทางเดินของวัวนำไปเสนอคอกปศุสัตว์ต่างๆ นี่คือทางเดินที่จะ “กระชับ” วัวให้ไม่ตื่นตระหนกก่อนที่จะเรียงรายเข้าสู่โรงฆ่าสัตว์ แต่ปศุสัตว์หลายแห่งไม่รับเพราะทำให้ต้นทุนสูงขึ้นโดยใช่เหตุ

“ธรรมชาติโหดร้ายอยู่แล้ว เราไม่ต้องซ้ำเติมก็ได้” เธอบอกรูมเมทคนใหม่ซึ่งเป็นนักศึกษาสาวตาบอดที่เข้าใจเธอมากกว่าเด็กทั่วไป

ย้ำอีกที เราไม่ใช้คำว่าปกติหรือไม่ปกติ

ดังที่เล่าให้ฟัง ฉากท้ายเรื่องคือฉากที่เธอลุกขึ้นพูดในที่ประชุมออทิสติกแห่งชาติโดยมีคุณแม่น้ำตาคลออยู่ด้านข้าง สปีชของเธอสร้างความตื่นตะลึงให้แก่พ่อแม่เด็กออทิสติกจำนวนมาก และเธอได้รับเลือกจากนิตยสารไทม์ในปี 2010 ให้เป็นหนึ่งในบุคคลที่สร้างความหวังและแรงบันดาลใจให้แก่โลก

ผู้ปกครองท่านหนึ่งถามว่าเธอหายจากออทิสติกได้อย่างไร
เธอตอบว่าเธอไม่หาย เธอเป็นและยังเป็นออทิสติก

และกว่าเธอจะให้คุณแม่กอดเป็นครั้งแรกในชีวิต หนังก็ใกล้จะจบเรื่อง