Skip to main content

คนตาบอดแต่งหน้ายังไงนะ? คุยกับผู้หญิงตาบอด ที่แต่งหน้าเป็นกิจวัตร แลกเปลี่ยนว่าเธอแต่งหน้าอย่างไร หยิบจับเครื่องสำอางอย่างไร และมีความแตกต่างอย่างไรกับผู้หญิงที่ไม่พิการ เริ่ม!

ภาพประกอบ

“วันนี้ไปงานแต่งงาน อยากแต่งหน้าโทนชมพู แต่ถ้าพรุ่งนี้ไปเจเจ จะแต่งหน้าสาย ฝ. ไปเดินเฉิดฉาย”

การแต่งหน้า เป็นสกิลหนึ่งที่ผู้หญิงหลายคนอยากทำได้ดี ไม่เว้นแม้แต่ผู้หญิงตาบอด คนตาดีอาจมองว่าการแต่งหน้าที่มองไม่เห็นนั้นช่างดูยุ่งยาก ซับซ้อน และอาจจินตนาการไม่ออกว่าจะเป็นไปได้อย่างไร ภัทริสา ศศิตระกูล ซึ่งบกพร่องทางการมองเห็นและเป็นอดีตผู้อำนวยการสถาบันพัฒนาผู้นำคนตาบอดแห่งชาติ ปัจจุบันเธอทำงานด้านการล่ามและการแปลภาษา ผู้มองว่า การแต่งหน้าเป็นสิทธิ ความคุ้นชินและการฝึกฝนเช่นเดียวกับผู้หญิงคนอื่นๆ จะมาเล่าให้เราฟังว่า เธอได้สกิลการแต่งหน้านี้มาได้ยังไง

เมื่อมองไม่เห็นแล้วรู้ได้ยังไงว่าอะไรคือ ‘สวย’

“ผู้หญิงทุกคนย่อมมีสิทธิที่จะเลือกในสิ่งที่อยากจะเป็น อยากจะทำ อยากจะอยู่ ดังนั้น ถ้าเขาเลือกที่จะไม่แต่งหน้าก็เป็นสิทธิของเขา แต่ถ้าเขาเลือกที่จะแต่งหน้า เราก็ควรที่จะเคารพในสิทธิของเขาเช่นกัน” ภัทริสากล่าว

‘ดวงตา’ ถูกใช้เป็นอวัยวะที่สื่อถึงความสร้างสรรค์ และเสพความงามของมนุษย์ ผู้หญิงทั่วไปเสพความงามเหล่านี้ได้ง่ายดายโดยไม่ต้องใช้ความพยายามมากนัก แต่กับผู้หญิงตาบอด ตาเลือนราง การแต่งหน้าและมุมมองทางความงามของพวกเธอ ย่อมแสดงให้เห็นมากกว่าความสวยงามที่ถูกสร้างขึ้นโดยดวงตา

แล้วคนตาบอดแต่งหน้าไปทำไม? เจ้าตัวก็มองไม่เห็น แล้วก็ยังมองไม่เห็นอีกว่า คนรอบข้างมองตัวเองเป็นยังไง

ภัทริสาตอบกลับว่า

“แล้วผู้หญิงตาบอด คนตาบอดไม่ได้อยู่ในสังคมทั่วไปหรือ หน้าเราคนอื่นเขาไม่มองหรือ เราไม่ได้นั่งอยู่กับบ้าน เก็บตัว หมกตัวไว้อยู่กับบ้าน เราต้องพบปะพูดคุย คงจะดี ถ้าคนที่เราเจอถามว่า เฮ้ย เธอแต่งหน้าหรือ เธอแต่งหน้ายังไง น่าจะเป็นหัวข้อที่จะทำให้เราคุยกันได้สนุกขึ้น”

ผู้หญิงตาบอดที่แต่งหน้าในชีวิตประจำวัน หรือในโอกาสพิเศษต่างๆ ด้วยตัวเอง จำเป็นจะต้องเรียนรู้ และฝึกฝนทักษะ เพื่อให้เกิดความประณีต สวยงามตามความต้องการเช่นเดียวกับผู้หญิงทั่วไป ปัญหาการไม่สามารถแยกแยะเฉดสีต่างๆ บนผลิตภัณฑ์เครื่องสำอางนั้น แก้ไขได้ด้วยการถามจากคนรอบตัว เช่น พี่ น้อง เพื่อนหรือญาติ เพื่อให้ช่วยบรรยายและบอกลักษณะของสี เมื่อรู้แล้วว่าคือสีอะไร เฉดไหน ก็ถึงเวลาเริ่มแต่งหน้า

เริ่ม !

ขั้นแรก พวกเธอจะเริ่มปาดสีที่เลือกลงบนผิว โดยใช้อุปกรณ์อย่าง แปรง พัฟ ซิลีโคนฯลฯ และลงน้ำหนักมือหนัก-เบาเพื่อกดเครื่องสำอางให้ติดลงบนผิวหน้า (เอ้ะ! ก็ไม่ต่างอะไรกับคนทั่วไปแต่งหน้านี่หว่า)

แม้มีหลายขวด ก็ไม่เป็นปัญหา หากบรรจุภัณฑ์ของเครื่องสำอางมีรูปร่างที่เหมือนกัน คนตาบอดสามารถแยกแยะด้วยการแยกเก็บ และทำตำหนิหรือสร้างสัญลักษณ์บางอย่างไว้บนบรรจุภัณฑ์นั้นๆ เพื่อให้สะดวกเมื่อต้องแต่งหน้าคนเดียว คนตาบอดบางคนยังเลือกที่จะเขียนอักษรเบรลล์แปะไว้ที่บรรจุภัณฑ์อีกด้วย


ผลิตภัณฑ์แต่งหน้าของภัทริสา

กระจกไม่จำเป็น! ผู้หญิงตาดีใช้กระจกในการสำรวจและจัดการตัวเอง ขณะที่ผู้หญิงตาบอดจะต้องหาเทคนิคอื่นเข้ามาช่วย เพราะพวกเธอมองไม่เห็นเงาสะท้อนจากกระจก หรือแม้แต่ผู้หญิงที่สายตาเลือนรางก็ดี การมองกระจกอาจทำให้เกิดความผิดเพี้ยนได้มากกว่าการฝึกที่จะไม่มอง การแต่งหน้าด้วยน้ำหนักมือที่คุ้นเคยเพื่อการลงผลิตภัณฑ์เครื่องสำอางต่างๆ จึงช่วยทำให้การแต่งหน้านั้นง่ายขึ้นมาก

แล้วคนตาบอดจะรู้ได้อย่างไรว่า แต่งไปแล้ว สวยหรือไม่สวย ภัทริสากล่าวว่า ข้อสงสัยนี้ไม่สามารถสรุปได้อย่างที่ผู้หญิงทั่วไปทำกัน อย่างการมองมองและสำรวจตัวเองผ่านกระจก แต่ผู้หญิงตาบอดจะเน้นไปที่ การศึกษาวิธีการแต่งหน้าที่ถูกต้อง ต้องทดลองทำเองก่อนที่จะแต่งหน้าออกไปใช้ชีวิตจริงข้างนอก ทดลองปาดสี กะประมาณสีและน้ำหนักมือด้วยตนเองจนกว่าจะพอใจ นอกจากนี้ยังรวมไปถึงการให้ความสำคัญกับความมั่นใจ ความรู้สึกชอบหรือไม่ชอบของตนเอง และเลือกฟังเสียงจากคนที่พวกเธอไว้ใจ สิ่งที่สำคัญที่สุดในการตัดสินว่า สิ่งไหนสวยหรือไม่สวยสำหรับเธอก็คือ ความมั่นใจที่ได้เลือกทำในสิ่งที่ตัวเองชื่นชอบ

“ไม่มองกระจกค่ะ แต่จะเรียนรู้จากน้ำหนักมือตัวเองเป็นหลัก เรียนรู้ว่าเราถือเครื่องสำอางยี่ห้อไหนอยู่ แล้วเม็ดสีของยี่ห้อนั้นมันมาก-น้อยขนาดไหน ก่อนที่จะลงมือแต่งจริงก็จะเรียนรู้ประมาณหนึ่งแล้วจากคนขาย จากบีเอที่เคาน์เตอร์ต่างๆ ที่เราไปซื้อ ตอนลองเราก็สังเกตน้ำหนักมือของเขาว่ามากน้อยขนาดไหน อาจขอลองเล่นเองโดยไม่ดูกระจก จะแนะนำคนตาบอดที่ยังพอเห็นบ้างว่า อย่าดูกระจกเลย เพราะว่ายิ่งดูกระจกมันจะยิ่งทำให้การแต่งหน้าช้า และกลายเป็นคนไม่มั่นใจในตัวเอง หนำซ้ำสิ่งที่คุณเห็นกับสิ่งที่อยู่บนหน้าเรา อาจไม่ได้ไปทางเดียวกัน เพราะเราไม่เห็นเท่าคนตาดี” เธอกล่าว 

สีสันบนใบหน้า = สิทธิส่วนบุคคล

หากกล่าวว่า การแต่งหน้าเป็นการเพิ่มความมั่นใจที่นิยมที่สุดก็คงไม่ผิดนักแม้แต่งหน้าเป็นหรือไม่เป็น ผู้หญิงทุกคนก็มีสิทธิที่จะเลือกได้เองว่า ต้องการจะแต่งหรือไม่แต่งไม่เว้นแม้แต่ผู้หญิงที่มีความบกพร่องทางการมองเห็น

เมื่อผู้หญิงตาบอดเลือกเสริมสร้างบุคลิกตนเองด้วยการแต่งหน้า ความบกพร่องทางการมองเห็นที่เกิดขึ้นอาจทำให้เธอสูญเสียความมั่นใจไปบ้างเป็นธรรมดา แต่ยังไงซะ การแต่งหน้าก็คือทักษะประเภทหนึ่งที่จำเป็นต้องฝึกฝน และน้อยคนจะสามารถทำได้ดีตั้งแต่ในครั้งแรก

และแน่นอน ผู้หญิงตาบอดหลายคนก็ยังติดกับดักทัศนคติที่มองว่า การแต่งหน้าเป็นอุปสรรคที่ยากเกินแก้ไข

“การแต่งหน้าของคนตาบอดนอกจากจะเพิ่มความสวยงามและสร้างความมั่นใจให้กับตัวผู้หญิงแล้ว ยังท้าทายตัวเอง ก้าวข้ามคอมฟอร์ตโซน เมื่อเริ่มลงสี ก็ต้องมั่นใจว่า น้ำหนักมือแค่ไหน การแต่งหน้าเป็นการฝึกสมาธิสำหรับผู้หญิงตาบอด ฝึกให้ทุกอย่างของร่างกายผสานเข้าด้วยกัน” ภัทริสากล่าว


 

กลัวแต่งแล้วจะพัง

ความกลัวคือ อุปสรรคใหญ่ในการแต่งหน้าทั้งสำหรับผู้หญิงตาบอดและตาไม่บอด ภัทริสากล่าวว่า สิ่งสำคัญที่สุดคือต้องมีความมั่นใจ ไม่กลัว และไม่โกรธหากเกิดข้อผิดพลาด หากแต่งแล้วไม่เป็นไปตามความตั้งใจ ก็เรียนรู้ที่จะแก้ไขเพื่อนำไปสู่สิ่งที่ดีกว่าในครั้งต่อไป

“เราคิดว่ามันเป็นฟรีดอมอย่างหนึ่ง ถ้าทุกคนเสพได้ คนพิการก็ย่อมจะเสพได้เช่นกัน” เธอกล่าว

เพราะสิทธิในเนื้อตัวร่างกายเป็นสิ่งที่ติดตัวตั้งแต่เกิด การพัฒนา ปรับปรุง และเสริมบุคลิกภาพตนเองจึงเป็นสิ่งที่ทุกคนทำได้

(แต่หลายคนมองว่า คนพิการไม่จำเป็นต้องแต่งหน้านะ?)

“เราไม่ได้มองว่า  มันเป็นการลิดรอนสิทธิ แต่มองว่า เป็นการไม่คำนึงถึงสิทธิของคนๆ นั้น คนๆหนึ่งมีสิทธิที่จะทำอย่างไรต่อตัวเองก็ได้ ตราบใดที่ไม่ทำให้ใครเดือดร้อนและเสียหาย ถ้าเราจะแต่งหน้าแล้วหยิบฉวยเครื่องสำอางของคนอื่น อันนั้นคือละเมิดสิทธิ แต่ในเมื่อนี่ตัวของเรา หน้าของเรา ผู้หญิงทุกคนย่อมอยากสวย ไม่ว่าคุณจะพิการหรือไม่ก็ตาม เราจึงควรมีสิทธิที่จะจัดการกับมันได้เต็มที่” เธอกล่าว

ภาพจำเรื่องคุณค่าผู้หญิง ส่งผลยังไงต่อคนพิการ

ภาพจำของสังคมที่มองว่า ผู้หญิงต้องเป็นเพศที่นุ่มนวล เรียบร้อย และเป็นผู้ตามมากกว่าผู้นำ จนบางครั้งอาจพ่วงกับคำว่า ‘อ่อนแอ’ เห็นได้ชัดหากหญิงคนนั้นพิการ สังคมก็มักมอบพื้นที่ปลอดภัยให้ จนอาจกลายเป็นการตีกรอบให้กับทุกการกระทำจนเกินไป

“ผู้หญิงเป็นเพศที่ด้อยกว่าอยู่แล้วในสังคม มักถูกให้ค่าน้อยกว่าผู้ชาย ยิ่งเป็นคนพิการก็ยิ่งด้อยค่าซ้อนเข้าไปอีก ฉะนั้นถ้าเราอยากมีอิสระเสรีก็ต้องเริ่มที่จะให้โอกาส และอิสระเสรีกับตัวเราก่อน ทำไมเราต้องอยู่ในกรอบของสังคมที่ว่า ผู้หญิงตาบอดไม่ควรแต่งหน้า หรือแต่งตัว” ภัทริสากล่าว

ปัจจุบัน ผู้หญิงเข้ามามีบทบาทมากขึ้นในหลายแวดวง ซึ่งแสดงให้เห็นถึงความสามารถและศักยภาพที่ได้รับการยอมรับมากขึ้นกว่าในอดีต แม้แต่ผู้หญิงพิการหลายคนก็ออกมาใช้ชีวิตในสังคมมากขึ้น

หากจะหาเหตุผลอีกอย่าง ว่าทำไมการแต่งหน้าถึงจำเป็น ภัทริสาก็ได้อธิบายว่า ภาพลักษณ์ของผู้หญิงซึ่งเป็นองค์ประกอบที่สำคัญในการทำงาน ถือได้ว่าเป็นสิ่งสำคัญที่ช่วยเรียกความเชื่อมั่นและศรัทธาจากผู้อื่น ดังจะเห็นได้จาก เมื่อผู้หญิงต้องปรากฏตัวต่อสาธารณะเพื่อแสดงความเป็นมืออาชีพในสายงาน การแต่งตัวที่เหมาะสม ซึ่งหมายรวมไปถึงการแต่งหน้า มักเป็นสิ่งที่ถูกใส่ใจ แสดงให้เห็นว่าการแต่งหน้า แต่งตัวให้เหมาะสมเป็นองค์ประกอบสำคัญที่ทำให้ผู้หญิงมีความมั่นใจในตัวเองมากขึ้น หลังจากที่เธอได้รับทุน ก.พ.เพื่อไปศึกษาต่อตั้งแต่ระดับปริญญาตรีจนถึงระดับปริญญาเอกด้านกฎหมายที่ประเทศอังกฤษ เธอได้รู้จักการแต่งหน้าหลายแบบ ทั้งผลิตภัณฑ์และเทคนิควิธีการต่างๆ อย่างไรก็ดี เธอเริ่มสนใจการแต่งหน้า และแต่งตัวอย่างจริงจังเมื่อเริ่มชีวิตการทำงาน

ชอบแต่งสไตล์ไหน?

การแต่งหน้าของภัทริสาซึ่งตาบอดนั้น ไม่ต่างอะไรจากผู้หญิงที่มองเห็นทั่วไป ไม่ว่าจะเป็นความชอบหรือรูปแบบการแต่งหน้าที่หลากหลาย รวมทั้งหลายคนก็ตามเทรนด์การแต่งหน้าใหม่ๆ แต่ท้ายที่สุดแล้วแต่ละคนมักเลือกตามความพอใจของตนเป็นหลัก ไม่เว้นแม้แต่การเลือกซื้อเครื่องสำอาง ที่คนตาบอดมักเป็นผู้เลือกซื้อและตัดสินใจด้วยตัวเอง

“ถ้าถามว่า ปกติชอบไปซื้อเครื่องสำอางที่ไหน ก็ไม่มีที่ที่โปรดปรานเป็นพิเศษ ช่วงไหนอยากได้อะไร ไปเดินที่ไหน หากมีเคาท์เตอร์ของแบรนด์นั้นก็ซื้อ ถ้าที่ประจำจริงๆ ก็จะอยู่ที่เซ็นทรัลลาดพร้าว พารากอน และเซนทรัล รังสิต แถวบ้าน แต่เซนทรัล รังสิตไม่ได้มีทุกแบรนด์ที่เราอยากได้ แต่ก็มีบางอย่างที่ดี คือเขาบริการดี ดูแลดี อาจเป็นเพราะคนน้อยด้วย” เธอกล่าว

บี เอ

เมื่อกล่าวถึงการซื้อเครื่องสำอางกับเคาท์เตอร์แบรนด์แล้ว เราจึงรู้ว่า บีเอ (BA: Beauty Advisor) หรือพนักงานที่คอยให้คำแนะนำเกี่ยวกับเรื่องความงามและผลิตภัณฑ์ความงามต่างๆนั้น มีส่วนสำคัญในการให้คำแนะนำในเรื่องผลิตภัณฑ์ความงามได้เป็นอย่างดี และยังมีผลกับความรู้สึกของลูกค้าตาบอดในการซื้อและความประทับใจในแบรนด์ด้วย

ภัทริสาอธิบายว่า บีเอมีส่วนช่วยให้คำแนะนำกับเธอได้มาก สำหรับเธอ บีเอที่ดีต้องไม่ดูถูกคนอื่น เธอชอบบีเอที่พูดคุย ซักถาม และต่อให้ถามว่า  แต่งเองจริงเหรอ แต่งเองไหม หรือใครแต่งให้ เธอก็ยินดีจะตอบ แต่ก็มีบีเอบางคนที่ถามว่า อ้าวตาบอดแล้วจะแต่งไปทำไม แต่งไปให้ใครดูเหรอคะ

“เราจะดูที่น้ำเสียงของบีเอ เวลาที่มีปฏิสัมพันธ์กับเรา หรือที่ขายของให้เรา เราชอบบีเอที่ชี้ชวนว่า มีอันนั้น อันนี้ตัวใหม่อยากให้ลอง ไม่บังคับซื้อ แต่ก็ชี้ชวนให้เราลองผลิตภัณฑ์อย่างนั้นอย่างนี้ สีนั้นสีนี้ บีเอบางคนก็อาจจะคุยเก่ง เราก็ชอบ บางคนคุยไม่เก่งแต่ว่าเขาไม่รู้สึกรังเกียจเรา ไม่รู้สึกยี้เรา เราก็โอเค” เธอเสริม

จากประสบการณ์ที่ผ่านมาของภัทริสาพบว่า ปฏิกิริยาที่พบของพนักงานเคาท์เตอร์เครื่องสำอางบางคน ยังมองว่าการแต่งหน้าหรือการลุกขึ้นมาสร้างสรรค์ความงามให้ตนเองสำหรับผู้หญิงตาบอด ยังเป็นเรื่องที่แปลกใหม่ และน่าแปลกใจอยู่มาก   

ภัทริสากล่าวทิ้งท้ายว่า สุดท้ายแล้วผู้หญิงตาบอดก็ต้องการความตรงไปตรงมา การคอมเม้นท์อย่างจริงใจ ไม่เห็นใจเพราะความพิการนั้นเป็นสิ่งที่คนไม่พิการสามารถทำได้ คนตาดีอาจช่วยดู ว่าใส่แบบนี้ แต่งแบบนี้มันดีไหม สวยหรือเปล่า เข้ากับเธอไหม ซึ่งนี่ทำให้ต่างคนต่างอยู่ร่วมกันได้อย่างเคารพสิทธิ์ของกันและกัน