ฟอนท์ OpenDyslexic เป็นฟอนท์ที่สร้างขึ้นเพื่อช่วยให้คนที่เป็นโรคดิสเล็กเซียสามารถอ่านตัวหนังสือได้ง่ายขึ้น โดยฐานของตัวอักษรแต่ละตัวจะมีความหนามากกว่าปกติ
ที่มาภาพ https://upload.wikimedia.org/wikipedia/commons/3/3a/OpenDyslexic.png
บ่อยครั้งที่ผู้ปกครองหรือแม้แต่ครูอาจารย์ตีตราเด็กที่อ่านหนังสือไม่ฉะฉานเท่ากับเด็กคนอื่นๆ ในห้องว่า ‘โง่’ ‘ปัญญาทึบ’ ทั้งที่แท้จริงแล้ว สาเหตุที่เด็กๆ เหล่านั้นอ่านหนังสือไม่ออกเกิดจากสมองส่วนทาลามัส (Thalamus) ของพวกเขาทำงานผิดปกติ ทำให้ไม่สามารถอ่าน สะกดคำ หรือเขียนหนังสือได้เหมือนเด็กทั่วไป ซึ่งกลุ่มอาการดังกล่าวนี้เรียกว่า ‘ดิสเล็กเซีย’ (dyslexia)
ดิสเล็กเซียเป็นความผิดปกติทางกาย อันไม่ได้เกิดจากสิ่งแวดล้อมหรือการเลี้ยงดู ดังนั้น จึงไม่ใช่เรื่องน่าแปลกใจหากพบว่าแม้แต่บุคคลระดับผู้นำประเทศ นักกฎหมาย นักเขียน ศิลปินระดับโลก หรือแม้แต่เชื้อพระวงศ์อังกฤษจะ ‘อ่านหนังสือไม่แตก’
สำหรับคนทั่วไป การสะกดคำและการอ่าน เกิดขึ้นเมื่อสมองส่วนทาลามัสรับข้อมูลจากประสาทสัมผัสแล้วส่งต่อไปยังสมองที่แปลข้อมูลและการมองเห็น ดังนั้น เมื่อเห็นคำ สมองจะประมวลผลเกิดภาพรวม แปลข้อมูลและอ่านได้ทันที แต่สำหรับกรณีผู้มีอาการดิสเล็กเซียซึ่งสมองทาลามัสทำงานผิดปกตินั้น ตัวอักษรจะค่อยๆ ปรากฏและเดินทางมาสู่สมองส่วนที่แปลความจึงทำให้อ่านได้ช้า อีกทั้ง ยังมีข้อจำกัดในการแยกแยะตัวอักษรที่มีความคล้ายคลึงกันอาทิเช่น ช ซ ธ ถ รวมทั้งสระและวรรณยุกต์ ดังนั้น ผู้มีอาการดิสเล็กเซียจึงมีปัญหาในการประสมคำอันนำมาซึ่งการอ่านตะกุกตะกักในที่สุด
แม้จะมีสาเหตุมาจากปัจจัยทางกาย แต่กลุ่มอาการดิสเล็กเซียกลับสามารถแก้ไขได้ด้วยการฝึกฝน เพียงแต่ต้องอาศัยความอดทนและกำลังใจจากคนรอบข้าง ซึ่งแน่นอนว่าพ่อแม่ผู้ปกครองและครูคือบุคคลที่มีบทบาทสำคัญที่สุด ดังเห็นได้จากกรณีของไบรอัน เมน (Brian Mayne) ที่มีอาการดิสเล็กเซียรักษาไม่หายจนถึงอายุ 14 ปีจนได้มาเจอกับครูชื่อไมค์ โรสวอร์น (Mike Rosewarne) ผู้ให้กำลังใจด้วยประโยคที่ว่า “If you think you can, you can. If you think you can’t, you can’t. – and either way you’re right.” “ถ้าเธอคิดว่าเธอทำได้ เธอก็ทำได้ ถ้าเธอคิดว่าเธอทำไม่ได้ เธอก็ทำไม่ได้ และไม่ว่าเธอจะคิดอย่างไร เธอก็ถูกเสมอ”
บทความนี้เผยแพร่ครั้งแรกที่
อ่าน-ตะ-กุก-ตะ-กัก = dyslexia อาการอ่านหนังสือไม่ออก
โดย ชัชรพล เพ็ญโฉม