Skip to main content

ต้นปีที่ผ่านมา เอียน เบอเรล (Ian Birrell) คอลัมนิสต์ชาวอังกฤษ ผู้มีความสนใจเกี่ยวกับประเด็นคนพิการเป็นทุนเดิม และมีผลงานเขียนที่เกี่ยวข้องกับการใช้ชีวิตของคนพิการหลายชิ้น รวมทั้งลูกคนเล็กของเขาป่วยด้วยภาวะผิดปกติด้านการเรียนรู้ ได้เขียนบทความในเว็บสำนักข่าวดิอินดิเพนเดนท์ เกี่ยวกับบทบาทการแสดงของคนพิการในสื่อชนิดต่างๆ โดยเฉพาะในภาพยนตร์และละคร โดยเล่าถึงความแปลกใจต่อซีรีย์เรื่องหนึ่ง ที่แสดงโดยคนแคระ แต่กลับไม่ได้นำความแคระแกร็นเหล่านั้นมาเป็นจุดเด่นในการแสดง กรณีแบบนี้หาได้ยากเพราะโดยทั่วไปมายาคติเกี่ยวกับความพิการ มักถูกใช้เป็นสัญลักษณ์ของโศกนาฏกรรมหรือภาพความสำเร็จบนชะตากรรมที่ทุกข์ยากอยู่เสมอ

เบอเรลอ้างถึงผลการศึกษาว่า ร้อยละ 16 ของผู้ที่ได้รับรางวัลออสการ์ ล้วนแสดงในบทบาทของคนพิการ หรือผู้ที่มีปัญหาทางจิต พร้อมตั้งข้อสังเกตว่า บทบาทเหล่านั้นกลับไม่ได้แสดงโดยคนพิการ เช่น แดเนียล เดย์ ลิวอิส จากเรื่อง ลินคอล์น (Lincoln), ดัสติน ฮอฟแมน จากเรื่องเรน แมน (Rain man), เจฟฟรีย์ รัช หรือแม้แต่ทอม แฮงค์ จากเรื่อง ฟอเรซ กัมป์ (Forrest Gump) ดังเช่นเรื่อง “The Theory of Everything” นำแสดงโดยเอดดี เรดเมย์น (Eddie Redmayne) ซึ่งขึ้นรับรางวัลออสการ์ ในบทบาทของ สตีเฟน ฮอว์กิง (Stephen Hawking) ในปี 2015
 


เว็บช่อง 4 ประกาศวิสัยทัศน์เรื่องความหลากหลาย
ภาพหน้าจอ ช่อง 4

บีบีซี ทีวีสาธารณะของอังกฤษเปิดเผยว่า คนอังกฤษ 1 ใน 5 มีสัญลักษณ์ของความพิการปรากฏอยู่ แต่มีเพียงร้อยละ 1.2 เท่านั้นที่มีโอกาสเปิดเผยในสื่อ ซึ่งเรื่องนี้ไม่ได้เป็นเพียงแค่ปัญหาของนักแสดง หรือผู้จัด แต่ยังเกี่ยวเนื่องกับทัศนคติของสังคมในวงกว้างกว่านั้น อีกทั้งให้คำมั่นสัญญาว่า ในปีหน้าจะเพิ่มจำนวนคนพิการบนจอทีวีขึ้นอีก 4 เท่าจากปัจจุบัน ขณะที่ช่อง 4 ทีวีสาธารณะอีกช่องของอังกฤษ วางแผนว่าจะเพิ่มตัวแสดงหลักอย่างน้อยเรื่องละ 1 คน ที่มาจากกลุ่มคนชายขอบ โดยกล่าวในเว็บไซต์ www.channel4.com ว่า ต้องการเพิ่มความหลากหลาย โดยครอบคลุมถึงเรื่องคนพิการ, LGBT (กลุ่มบุคคลที่มีความหลากหลายทางเพศ), กลุ่มชาติพันธุ์ และเรื่องเพศอีกด้วย


ทีเซอร์ ซีรีย์ ‘บอร์น ดิส เวย์’ 

ปีที่แล้วในอเมริกา ซีรีย์ ‘บอร์น ดิส เวย์’ เริ่มฉายเป็นครั้งแรก โดยนักแสดงทั้งหมดล้วนเป็นดาวน์ซินโดรม บอร์น ดิส เวย์นำเสนอเรื่องราวของ 7 หนุ่มสาว ทั้งในแง่การใช้ชีวิต อาชีพ ความรัก รวมไปถึงการสร้างครอบครัว ซึ่งคริสตินา หนึ่งในนักแสดงเรื่องนี้ก็กำลังจะแต่งงานกับแฟนหนุ่มซึ่งคบหากันมากว่า 4 ปี นอกจากซีรีย์เรื่องนี้จะแปลกใหม่ในสายตาของผู้ชมแล้ว ยังแฝงไปด้วยแง่คิดและมุมมองใหม่ๆ ที่สวนทางกับมายาคติของสังคมภายนอก ทั้งยังได้รับกระแสตอบรับที่น่าสนใจจากสังคม เช่น บางคนคิดว่ามันเป็นเรื่องที่ตลกขบขัน จริงใจ และน่าสนใจ หรือกล่าวว่า เรื่องนี้ทำให้อบอุ่นหัวใจ เพราะไม่ว่าจะเป็นใคร ก็สามารถมีความสุขกับตัวตนของเราได้

ปลายปีที่แล้ว วงการภาพยนตร์ไทยก็มีภาพยนตร์สร้างกระแสอย่าง ‘เดอะดาวน์ เป็นคนธรรมดามันง่ายไป’ ภาพยนตร์กึ่งสารคดีที่ใช้เวลาถ่ายทำกว่า 1 ปี ถ่ายทอดเรื่องราวชีวิตประจำวันผ่านนักแสดงที่เป็นดาวน์ซินโดรม 5 คน ทั้งในแง่การใช้ชีวิต การทำงาน และที่สำคัญภาพยนตร์เรื่องนี้เทน้ำหนักไปที่ความสำคัญของครอบครัวว่า มีส่วนช่วยในการสนับสนุนให้คนที่เป็นดาวน์ซินโดรมเข้ามามีบทบาทในสังคมได้อย่างไร ซึ่งได้กระแสตอบรับที่ดีจากผู้ชม บ้างก็ว่าทำให้รู้จักคนที่เป็นดาวน์ซินโดรมมากขึ้น บ้างก็ว่าได้รับกำลังใจที่ดีจากภาพยนตร์เรื่องนี้
 


ลูกเกด หนึ่งในกรรมการพูดถึง เฟิร์ส ธัญชนก
(ที่มา: 
เฟซบุ๊กเพจ สงครามนางงาม)

ไม่นานมานี้ มีผู้สมัครคัดเลือกนักแสดงจากละคร สงครามนางงาม ซีซั่น 2 ‘เฟิร์ส ธัญชนก’ ซึ่งพิการทางการได้ยิน และต้องอาศัยภาษามือในการสื่อสาร สามารถชนะใจกรรมการ และเข้าไปเป็น 1 ใน 10 นักแสดงตัวจริงในบทบาทของแม่ค้าขายเสื้อผ้าหูหนวก ท่ามกลางกระแสสังคมที่ต่างพร้อมใจกันกล่าวว่า เฟิร์สนั้นมีความสามารถทางการแสดงเทียบเท่าหรือมากกว่าคนไม่พิการ แต่กรรมการส่วนใหญ่ก็ยังมีความกังวลว่า เธอนั้นจะสามารถท่องบท สื่อสารให้คนดูเข้าใจ และทำงานร่วมกับผู้อื่นอย่างไร รวมทั้งอาจต้องใช้เวลาในการถ่ายทำเพิ่มขึ้นอีกด้วย

กรณีของเฟิร์ส นับว่าเป็นก้าวแรกที่สำคัญของวงการบันเทิงไทย เพราะช่วยเปิดมุมมองใหม่ๆ ของคนในสังคมที่มีต่อคนพิการ ซึ่งเห็นได้จากแรงเชียร์มากมายที่มีต่อเธอ

ด้วยความที่อาชีพนักแสดงพิการยังเป็นเรื่องแปลกใหม่ในไทย จึงมักเกิดความกังวลใจว่า คนพิการจะสามารถโลดแล่นบนจอทีวีได้อย่างไร แม้ว่ามีความพยายามในการเพิ่มเติมบทบาทของกลุ่มคนเหล่านี้ แต่ไม่ว่าจะผ่านมากี่ปี ผู้ที่รับบทเหล่านี้ ส่วนมากยังคงเป็นนักแสดงที่ไม่ได้มีความพิการแต่อย่างใด เห็นได้จากบทบาทของ ’ชายน้อย’ ในเรื่อง ’บ้านทรายทอง’ ซึ่งเน้นย้ำให้เกิดภาพจำแห่งความน่าสงสาร และรู้สึกต้องสงเคราะห์อยู่ตลอดเวลา  หากแม้มีนักแสดงที่เป็นคนพิการ ก็มักถูกนำเสนอในรูปแบบของสารคดี ที่นำเสนอชีวิตของพวกเขาเหล่านั้น เสมือนกับว่า ‘แค่ได้รับรู้เรื่องราวในชีวิตประจำวัน ก็เป็นเรื่องน่าสนใจไปเสียแล้ว’

เป็นเรื่องน่าสงสัยว่า เหตุใดจึงไม่ค่อยพบนักแสดงที่เป็นคนพิการ เข้ามาเล่นในบทบาทอื่นๆ ที่ไม่ได้นำความพิการเหล่านั้นมาเป็นจุดเด่น เช่น เล่นในบทบาทของตัวเอก เพื่อนตัวเอก ผู้ร้าย แม้แต่ประกอบฉาก  หรือเล่นในบทบาทด้านอาชีพ เช่น พนักงานบริษัท ครู หมอ ตำรวจ นักธุรกิจ ฯลฯ กล่าวคือ ทำไมบทบาทที่ผู้พิการเล่นจึงมีลักษณะกึ่งสารคดี แทนที่จะแสดงในบทบาท ‘ปกติ’ เหมือนกับนักแสดงทั่วๆ ไป
 


ครรชิต สพโชคชัย

ครรชิต สพโชคชัย กรรมการผู้จัดการและผู้กำกับหนังโฆษณา บริษัท หับ โห้ หิ้น จำกัด ให้สัมภาษณ์เกี่ยวกับบทบาทคนพิการในสื่อไทยว่า บทบาทของคนพิการในวงการบันเทิงไทยนั้นยังนับว่ามีน้อย ซึ่งอาจเกิดจากหลายๆ ปัจจัย เช่น ผู้เขียนบทไม่เคยมีประสบการณ์ร่วมหรือใกล้ชิดกับคนพิการ ไม่เคยรับรู้ และไม่มีจินตนาการเกี่ยวกับเรื่องความพิการ จึงไม่ปรากฏภาพความพิการเหล่านั้นในบทที่เขียน รวมทั้งภาพจำของสังคมที่เห็น ไม่ค่อยมีภาพคนพิการอยู่ในความทรงจำเหล่านั้น จึงทำให้การถ่ายทอดเป็นไปตามความเคยชินที่พบเจอ จนทำให้ภาพของคนพิการไม่ได้ถูกหยิบยกมานำเสนอ

“ถ้าเราอยากผลักดัน เราอาจจะต้องเอาตัวอย่างของคนพิการมานำเสนอให้น่าสนใจขึ้น ให้คนมองเห็นขึ้น มองเห็นแบบไหนด้วย มองแบบยอมรับว่าเขาก็เป็นเรื่องปกติ หรือมองแบบที่คนไทยชอบมองว่า ต้องสงสาร ต้องให้ความเมตตา มันก็จะถูกทำซ้ำ และวางบทบาทแบบนั้น ซึ่งผมเห็นว่าเราควรจะเลิกคิดแบบนี้” เขากล่าว

เขากล่าวต่อว่า คนไทยยังอาจมองว่าคนพิการทำนั่น ทำนี่ไม่ได้ ชีวิตต้องน่าเวทนา และข้องเกี่ยวกับบาปบุญ คุณโทษตลอดเวลา เสมือนว่ามีลิสต์รายการสำหรับคนพิการว่า สามารถทำสิ่งนี้ได้ และสิ่งนั้นไม่ได้ พอพบเจอคนพิการที่มีชีวิตที่เท่าเทียมคนไม่พิการ เลยถูกมองว่าแปลก ซึ่งความคิดเหล่านี้ยังเป็นทัศนคติที่ต้องขยับเขยื้อนในสังคม

นอกจากขยับความคิดของสังคมแล้ว เขากล่าวว่า ตัวคนพิการเองก็ต้องหลุดออกจากกรอบความพิการ เพิ่มทักษะ และต้องมีบรรทัดฐานความสามารถในการแสดงเท่ากันกับคนไม่พิการด้วย

“สิบปีที่แล้วเคยเป็นอาสาสมัครทำสารคดีให้กับเครือข่ายผู้ติดเชื้อ HIV แล้วได้ไปสัมภาษณ์พี่คนหนึ่ง เขาพูดสิ่งซึ่งผมคิดว่าจริงว่ะ เขาบอกว่า ถ้าอยากจะให้คนไทยทั่วไปยอมรับผู้ติดเชื้อ จุดแรกเลยผู้ติดเชื้อก็ต้องยอมสลายตัวเองลง ยอมสลายกำแพงของตัวเองออก ยอมสลายความเป็นผู้ติดเชื้อของตัวเองออก แล้วก็บอกว่าตัวเราก็คือคนปกติ” เขาเสริม

เขากล่าวว่า สื่อมีบทบาทสูง ในการรวมกลุ่มคนต่างๆ เข้าด้วยกัน เพราะคนบริโภคเนื้อหาจากสื่อ จนค่อยๆ ซึมซับไปโดยไม่รู้ตัว ดังนั้นจึงควรเลิกการใช้คำจำกัดความ เช่น คนชายขอบ คนพิการ เพื่อลดการแบ่งกลุ่มและขจัดความสงสาร  สงเคราะห์ และสร้างให้เกิดภาพจำใหม่ๆ ว่าคนพิการก็มีความสามารถทัดเทียมคนไม่พิการ รวมทั้งต้องสะท้อนกลับไปสู่สังคมว่า ‘เราแข็งแรงนะ เราทำได้’

นอกจากนั้น นัฐวุฒิ พูนพิริยะ ผู้กำกับภาพยนตร์เรื่องเคาท์ดาวน์ จากค่ายจีทีเอช ซึ่งมีประสบการณ์ในการกำกับเอ็มวีและโฆษณา ได้ให้ความเห็นว่า ความไม่หลากหลายในวงการบันเทิงนั้นเกิดขึ้นทุกๆ ประเทศ บางครั้งคนพิการอาจเล่นได้ดีในบทบาทหนึ่งๆ เท่านั้น จึงทำให้ความหลากหลายในการรับงานหายไป แต่ในทางกลับกัน หากมีบทบาทที่เหมาะสม เขาเชื่อว่าคนพิการเป็นตัวเลือกที่เพอร์เฟ็กต์



โฆษณา S&P นำแสดงโดยชายซึ่งพิการทางสายตา

ในปีที่ผ่านมา เขาได้ถ่ายทำโฆษณาสองเรื่อง ซึ่งมีตัวเอกที่เป็นผู้พิการทางสายตา หนึ่งในนั้นคือโฆษณาของ S&P โดยมีแนวคิดที่ว่า ไม่ว่าจะเป็นผู้พิการหรือไม่พิการ ทุกคนสามารถทำในสิ่งที่ต้องการได้ เป็นในสิ่งที่อยากเป็นได้ รู้สึกอย่างที่พวกเรารู้สึกได้ และสามารถรักลูก ห่วงลูกได้ ซึ่งเขาเชื่อว่าสิ่งเหล่านี้เป็นสิ่งที่คนไม่พิการแสดงไม่ได้ ด้วยท่าทาง รายละเอียดในการแสดงต่างๆ อีกทั้งอินเนอร์บางอย่างที่ไม่สามารถเลียนแบบได้ ซึ่งการทำงานก็มีความยากขึ้นในระดับหนึ่ง แต่ด้วยความเชื่อมั่นและร่วมมือ ผลลัพธ์ที่ได้จึงค่อนข้างน่าพอใจ

“ก็เป็นการพิสูจน์ในทางการสร้างและคนดูทั่วไปว่าเห็นไหม เขาก็ทำได้ ไม่จำเป็นต้องเอาคนที่เป็นนักแสดงซึ่งคิดว่าจะเล่นเก่งมาเล่น เราต้องทำให้ผู้พิการทางสายตาได้พัฒนาศักยภาพตัวเอง ทางด้านการแสดงขึ้นมาให้เทียบเท่าคนไม่พิการให้ได้ นี่คือความเชื่อผม” เขากล่าว

เขากล่าวว่า ในไทย ทิศทางของภาพยนตร์ ซีรีย์ ละครต่างๆ ก็กำลังถูกขยายกรอบออกไป เป็นผลจากการทำงานของกลุ่มคนรุ่นใหม่ๆ ที่ช่วยกันลบล้างมายาคติเดิมๆ ที่ว่า การมีคนพิการในสื่อจำเป็นต้องมีปมหลังบางอย่าง แต่ควรทำให้เห็นว่าจริงๆ แล้วมันไม่สำคัญ ความเป็นมนุษย์คือความเป็นมนุษย์ ไม่ได้ถูกแบ่งย่อยด้วยความพิการ และหากทำอย่างเข้มแข็งพอ น่าจะนำไปสู่จุดที่ว่านักแสดงที่ดี คือนักแสดงที่เก่งและสามารถรับได้ทุกบทบาท โดยไม่จำเป็นต้องแยกแยะว่า นี่คือคนพิการหรือไม่อย่างไร

“หวังว่าในหนังจะมีตัวละครที่เป็นคนพิการ ที่การเป็นคนพิการของเขาไม่ได้ถูกโปรในด้านดราม่า ก็เป็นแค่ตัวละคร ก็เป็นแค่มนุษย์คนหนึ่ง ที่มีความรู้สึกเหมือนกับพวกเราทั่วๆ ไป ซึ่งผมเชื่อว่า วันนั้นจะมาถึงในเร็ววัน”

 

อ้างอิง  
“Where are the disabled actors?”
http://www.independent.co.uk/voices/where-are-the-disabled-actors-a6831001.html
“New TV Series Features Young Adults With Down Syndrome” https://www.disabilityscoop.com/2015/11/16/new-tv-series-down-syndrome/20963/

สงครามนางงาม The Casting Project (นาทีที่ 10.57)