Skip to main content

 

ความพิการล้วนก่อให้เกิดการปรับตัวในทุกๆ ด้าน ทั้งด้านการใช้ชีวิตประจำวัน หรือการเรียนรู้ รวมทั้งมักจะเกิดความแตกต่างในทุกๆ เรื่องอยู่เสมอ ถึงแม้คนอเมริกันที่พิการกว่า 56 ล้านคน มีการรณรงค์เคลื่อนไหวเพื่อให้เกิดความเท่าเทียมในสังคม และต้องการแสดงความเป็นตัวตนให้มากขึ้น แต่เมื่อพูดถึงเรื่องเซ็กส์ ก็ดูเหมือนจะเป็นจุดบอดที่ไม่มีการกล่าวถึงเมื่อพูดถึง ‘เซ็กส์’ มักนำไปสู่ความขัดเขิน และยิ่งกับคนพิการแล้ว การพูดเรื่องเหล่านี้ยิ่งยากเข้าไปอีก โดยปกติเมื่อไหร่ก็ตามที่มีการพูดถึงเรื่องเพศ ผู้ปกครองส่วนมากมักรู้สึกกระอักกระอ่วนใจ หากมีคำถามเช่น ‘ร่างกายจะเปลี่ยนไปอย่างไร เมื่อถึงวัยหนุ่มสาว?’ หรือ ‘ทำอย่างไรถึงจะมีแฟน?’ หากยิ่งในกรณีที่ร่างกายนั้นๆ ผิดแปลกจากปกติ แม้แต่หมอและพยาบาลก็มักรู้สึกไม่สะดวกใจที่จะตอบคำถามเกี่ยวกับเรื่องเพศนั้นๆ เช่น เรื่องการใช้ถุงยางอนามัย หรือ ‘ฉันจะถึงจุดสุดยอดได้อย่างไร?’ และด้วยผลของความล้าหลังของข้อมูล คนพิการหลายๆ คนถูกทิ้งให้ต้องเรียนรู้เรื่องเหล่านี้ด้วยตัวเอง จนบางคนอาจมองว่า เรื่องเซ็กส์ไม่สามารถเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตได้

จากการศึกษาพบว่า คนพิการมีโอกาสน้อยกว่าที่จะมีความสัมพันธ์ยาวนาน หรือแต่งงาน เมื่อเทียบกับคนไม่พิการ อย่างไรก็ดี คำกล่าวอ้างนี้ขึ้นอยู่กับประเภทของความบกพร่องทางร่างกาย เมื่อปี 2557 หนังสือพิมพ์อังกฤษได้จัดทำโพลล์เพื่อสอบถามชาวอังกฤษว่า เคยมีเซ็กส์กับคนพิการหรือไม่ และพบว่าคำตอบร้อยละ 44 คือ “ไม่ และไม่คิดที่จะมี”


แมท เฟรเซอร์ 
(ภาพจาก 
Wellcome images, (CC BY-NC-ND 2.0)

แมท เฟรเซอร์ นักแสดงพิการชาวอเมริกันผู้โด่งดังจากซีรีย์ชุด American Horror Story กล่าวในบทสัมภาษณ์เมื่อไม่นานมานี้ว่า ถ้าคุณเป็นคนพิการ มีสองเรื่องที่คนอื่นๆ คิดว่าคุณทำไม่ได้ คือ ‘ต่อสู้และมีเซ็กส์’

สิบปีที่แล้ว คริสติน เซลลิงเกอร์ ประสบอุบัติเหตุจนเป็นอัมพาตตั้งแต่ช่วงเอวลงไป เป็นเวลากว่า 4 ชั่วโมงที่หน่วยกู้ภัยเคลื่อนย้ายเธอออกจากหุบเขา และพบว่าเธอได้รับบาดเจ็บที่ไขสันหลัง ทำให้ระบบประสาทบางส่วนไม่ทำงาน ส่งผลให้เหลือความรู้สึกและสามารถเคลื่อนไหวได้เล็กน้อย (อาการบาดเจ็บไขสันหลังชนิดไม่สมบูรณ์) เธอเข้ารับการผ่าตัดใหญ่ที่หลัง และต้องพักฟื้นนานถึงสามเดือนครึ่ง ซึ่งระหว่างการพักฟื้น เธอได้เรียนรู้การเริ่มต้นชีวิตใหม่ โดยไม่มีเรื่องการเดทและเซ็กส์

“เราพูดถึงเรื่องปัสสาวะ เรื่องอุจจาระ เรื่องการดูแลผิวพรรณ เรื่องขั้นตอนการใช้วีลแชร์ เรื่องการแต่งตัว แต่ทำไมถึงไม่มีเรื่องเซ็กส์ ซึ่งเป็นเรื่องธรรมดาสามัญที่ทุกๆ คนทำ แต่ทำไมเราถึงเลี่ยงที่จะพูดถึงมัน? ฉันจึงคิดว่า คงไม่สามารถออกเดทกับใครได้อีกแล้ว เพราะไม่มีใครอยากเดทกับคนพิการ” เธอกล่าว

สิบปีหลังจากนั้น เธอทำงานให้คำปรึกษาในศูนย์บาดเจ็บไขสันหลัง ซึ่งเป็นองค์กรที่ช่วยเหลือ ให้คำแนะนำ และเพิ่มคุณภาพชีวิตคนพิการ เธอออกแบบการเรียนรู้เรื่องเซ็กส์ และสุขภาพทางเพศ ผ่านทั้งแผ่นพับ อินเทอร์เน็ต วิดีโอออนไลน์ และมีทีมงานที่คอยให้คำปรึกษาอย่างเป็นกันเอง โดยการให้คำปรึกษาจะมีความเป็นส่วนตัว และคำนึงถึงความแตกต่างในความพิการแต่ละประเภท

ในศูนย์บาดเจ็บไขสันหลังแคนาดาพบว่า ผู้ป่วยที่เป็นชาย มักสอบถามถึงเรื่องเพศแทบจะทันทีหลังได้รับการบาดเจ็บ แต่ในผู้หญิง คำถามเหล่านี้มักมาหลังจากกระบวนการพักฟื้น และเป็นคำถามที่เกี่ยวกับเรื่องรักๆ ใคร่ๆ รวมถึงการเดทมากกว่า

เนื้อหาเหล่านี้ยังคงเป็นเรื่องลับๆ ล่อๆ แม้แต่ในโรงเรียน ในปี 2553 สภาเพื่อการศึกษาเรียนรู้แคนาดาได้สำรวจความรู้เรื่องเซ็กส์สำหรับหนุ่มสาวที่พิการทางร่างกาย และพบว่าร้อยละ 100 ของผู้เข้าร่วมรู้สึกว่า การศึกษาเกี่ยวกับเรื่องเพศนั้นไม่พอ รวมทั้งผู้สอนก็ไม่ได้มีความรู้เพียงพอ ทั้งนี้ในปี 2518 สหรัฐอเมริกาออกกฎหมายรองรับการศึกษาของเด็กพิการในโรงเรียนรัฐบาลโดยกฎหมายกำหนดให้โรงเรียนในแต่พื้นที่ให้การศึกษาแก่เด็กพิการเทียบเท่าเพื่อนร่วมชั้นของพวกเขา รวมถึงอำนวยความสะดวกในเรื่องอุปกรณ์เฉพาะที่ช่วยเหลือในด้านการดำเนินชีวิตและการเรียนสำหรับเด็กพิการแต่ละคน อย่างไรก็ดี กฎหมายที่ว่ายังคงหละหลวม

ทิม โรส ซึ่งพิการด้วยโรค Cerebral palsy ชนิดเกร็ง (อาการทางสมอง ซึ่งส่งผลให้การขยับแขนขา ลำตัว ใบหน้า ลิ้นและการทรงตัวผิดปกติ และอาจมีปัญหาในการควบคุมลมหายใจเพื่อเปล่งเสียง – ประชาไท) กล่าวว่าโรงเรียนมัธยมปลายของเขาค่อนข้างปิดกั้นเขาจากการเรียนเรื่องเซ็กส์ และเมื่อถึงเวลาเรียน อาจารย์มักจะขอให้เขาออกจากห้องเรียน

“การสอนเรื่องเซ็กส์ มักจะสอนในคาบวิชาพลศึกษาซึ่งเป็นวิชาที่ผมไม่เคยได้เรียนในทุกปี และถึงแม้นักเรียนจะหาช่องทางที่จะเรียนเรื่องเกี่ยวกับเซ็กส์ เนื้อหาที่สอนก็ไม่ใช่สำหรับคนพิการอย่างพวกเรา ความรู้เรื่องเซ็กส์ส่วนมากมาจากการลองผิดลองถูกจากข้อมูลที่ได้มาจากเพื่อน และจากโทรทัศน์” โรสกล่าว
 


เว็บศูนย์โรสเพื่อความรัก เซ็กส์ และผู้พิการ ซึ่งมีรูปทิม โรส และภรรยา เป็นปก

ในปี 2554 โรสและภรรยาได้ก่อตั้งศูนย์โรสเพื่อความรัก เซ็กส์ และผู้พิการ ซึ่งให้คำปรึกษาเชิงบวกกับคนพิการ จนทำให้เขาได้รับเชิญไปเป็นวิทยากรตามโรงเรียนและบริษัทต่างๆ มากมาย ศูนย์ของเขาโฟกัสในการเสริมสร้างประสบการณ์ในด้านการศึกษาและการทำธุรกิจ ทั้งยังให้คำปรึกษาเกี่ยวกับความพิการในเชิงบวกและการศึกษาเรื่องเซ็กส์

“ผมมักใช้เวลาในคืนวันศุกร์กับหนังผู้ใหญ่ในโทรทัศน์ พ่อแม่ของผมก็เข้าใจดี แต่ผมจะไม่ไปถามพวกเขาเกี่ยวกับการช่วยตัวเองแน่นอน” เขากล่าวและเล่าว่าเขาค้นพบวิธีช่วยตัวเอง ด้วยตนเอง

“การช่วยตัวเองของผมแตกต่างจากคนอื่นเพราะผมสามารถใช้งานนิ้วมือได้เพียงสองนิ้ว มันค่อนข้างจะนุ่มนวลและแผ่วเบา อย่างไรก็ตาม ผมรู้สึกดีที่หัวนมและติ่งหูยังไวต่อสัมผัส ดังนั้น การสัมผัสสิ่งเหล่านี้ช่วยผมได้มาก” เขากล่าว

ในบทบาทของผู้ให้ความรู้ โรสกล่าวว่าเขาพยายามเปิดรับฟังการถกเถียงในทุกเรื่องรวมถึงเรื่องการช่วยตัวเอง การพูดคุยอย่างเป็นกันเองของเขาช่วยให้เกิดการแลกเปลี่ยนที่มากขึ้น เขาพบว่า ภาพจำที่ไม่ดีต่อความพิการทำให้การปฏิบัติตัวของผู้อื่นแตกต่างออกไป และเกิดความคิดที่ว่า คนพิการไม่มีเสน่ห์ทางเพศ เพราะร่างกายที่ไม่สมบูรณ์ปกติ

“คนมักเห็นว่า ความพิการเป็นสิ่งผิดปกติที่เกิดขึ้นกับร่างกายคุณ นั่นทำให้หมดความภาคภูมิใจในตัวเอง ซึ่งผมไม่เชื่อ เพราะถึงแม้ร่างกายจะเปลี่ยนไป หรือมีความผิดปกติอะไรเกิดขึ้น ถ้าคุณมัวแต่ไปโฟกัสในเรื่องนั้นๆ มันก็ยากที่จะเห็นว่าตัวเองเซ็กซี่ หรือเห็นว่าเรื่องเพศเป็นเรื่องใกล้ตัว” เขากล่าว

“คนพิการจะมีเซ็กส์และประสบการณ์ทางเพศที่แตกต่างออกไป ดังนั้น การเรียนการสอนในโรงเรียนจึงไม่ตอบโจทย์ตามที่พวกเขาต้องการ สมัยนี้ วัยรุ่นดูเหมือนจะหาข้อมูลทางอินเทอร์เน็ตหรือพูดคุยกับที่ปรึกษากันมากขึ้น นั่นเป็นสิ่งที่ดี แต่ก็ยังมีวิธีอื่นๆ เพิ่มเติม เพื่อลดช่องว่างในการสอนเรื่องเซ็กส์ระหว่างเด็กพิการและไม่พิการในโรงเรียน” เขากล่าวเสริม

เขากล่าวว่า คนพิการต่างต้องการความใกล้ชิดและมีความสัมพันธ์ที่ดี เฉกเช่นเดียวกับคนไม่พิการ การทำให้สังคมตระหนักว่า คนพิการต้องการข้อมูลที่แตกต่างจากคนไม่พิการนั้นจะช่วยให้เกิดประสบการณ์ทางเพศใหม่ๆ และเป็นก้าวแรกในระบบการศึกษาเพื่อคนทุกคน โดยเน้นว่า เรื่องเซ็กส์ไม่จำเป็นต้องเกี่ยวกับการร่วมเพศเพียงอย่างเดียว แต่รวมถึงการเรียนรู้ร่างกายตัวเอง ร่างกายผู้อื่น ความสัมพันธ์ อีกทั้งต้องทำให้รู้ว่าเรื่องเหล่านี้สามารถยืดหยุ่นได้ ในแต่ละตัวบุคคล

ด้านเซลลิงเกอร์ และคนรัก ที่คบหากันกว่า 4 ปี ก่อนที่จะตัดสินใจเดทกันเขาทั้งสองเป็นเพื่อนกันมากว่า 1 ปี ซึ่งหมายความว่า พวกเขาต้องเข้าใจดีเกี่ยวกับความพิการของเซลลิงเกอร์ และความยากลำบากที่จะต้องพบในความสัมพันธ์

“พวกเราคุยกันเรื่องเซ็กส์ เขารู้ว่าฉันมีปัญหาในเรื่องปัสสาวะและอุจจาระ ซึ่งอาจจะเกิดอุบัติเหตุเหล่านี้ได้ตลอดเวลา การเตรียมพร้อมแบบนี้ ช่วยให้สิ่งต่างๆ ดำเนินไปอย่างราบรื่น” เธอกล่าว

เขาทั้งสองมีความสุขกับชีวิตเซ็กส์ แต่เพราะขาทั้งสองข้างของเธอไม่สามารถใช้งานได้ จึงทำให้การจัดท่าทางนั้นค่อนข้างเป็นไปอย่างทุลักทุเล แต่พวกเขาทั้งสองก็ได้เจอท่าที่เหมาะสม และพบว่ามันสนุกมาก

เซลลิงเกอร์กล่าวว่า การขบคิดเรื่องเซ็กส์หลังจากได้รับอุบัติเหตุนั้นไม่ง่าย แต่คุ้มค่า

“ใครบางคนอาจพูดว่า มันจำเป็นจริงๆ เหรอ [ที่จะต้องมีเซ็กส์] หากคุณสูญเสียความรู้สึกเหล่านั้นไปแล้ว ฉันตอบได้เลยว่า มันคุ้มค่ามาก ทั้งกับตัวคุณเองและคนรักของคุณ มันจะช่วยประคับประคองความสัมพันธ์ คล้ายๆกับครั้งแรกที่คุณมีเซ็กส์ คุณจะต้องคิดว่าจะจัดการกับมันอย่างไร อะไรทำให้รู้สึกดี คุณจะต้องเรียนรู้มันใหม่ทั้งหมด แต่นั่นแหละ มันคือความตื่นเต้น ไม่ใช่ปัญหาหรืออุปสรรค” เธอกล่าว


แปลและเรียบเรียงจาก
How People with Disabilities Have Sex
https://broadly.vice.com/en_us/article/how-people-with-disabilities-have-sex
Sex, lives and disability
http://mosaicscience.com/story/sex-disability
Disabled and Fighting for a Sex Life
http://www.theatlantic.com/health/archive/2015/03/sex-and-disability/386866/