Skip to main content

“พาราลิมปิกครั้งล่าสุดคือครั้งแรกที่ได้ไป พอรู้ว่าจะได้ไปก็ยิ่งเครียด เรารู้ตัวว่าไม่ใช่คนเก่ง แต่ประเภททีมที่มีความคาดหวังว่าจะได้เหรียญ เราจึงต้องทำยังไงก็ได้ให้ไม่เป็นจุดอ่อน เพราะอีกสองคนซ้อมเอเป้มาตลอด เราต้องวางดาบเซเบอร์ลง แล้วทำความเข้าใจให้ได้ใน 7 เดือน บางครั้งก็ท้อจนอยากลาออกวันละพันรอบ ทำไมไม่เข้าใจสักที ทำไมยากจัง พอไม่มีพรสวรรค์ก็ต้องอาศัยจากการทำซ้ำๆ ให้มันอยู่ในตัว มีช่วงหนึ่งที่รู้สึกไม่ค่อยพอใจในตัวเอง คิดลบ มองว่าตัวเองไม่คู่ควรกับโค้ชปุ๊ย เพราะลูกศิษย์ที่เขาปั้นมานั้นเก่งทุกคน”

จากนักกีฬาที่ซ้อมไปร้องไห้ไปและท้อแท้จนเกือบเลิกเล่น สู่นักกีฬาฟันดาบคนพิการประเภททีมที่ได้เหรียญทองแดงจากพาราลิมปิกเกมส์ครั้งล่าสุดอันน่าภาคภูมิใจ อย่างเดือน นาคประสิทธิ์ นักกีฬาฟันดาบหญิงคนพิการ ที่แม้ชีวิตอาจไม่เป็นดั่งฝัน แต่กีฬา ลูกชาย และโอกาสที่ใครหลายๆ คนหยิบยื่นให้ กลับเป็นแรงผลักดันที่ทำให้ชีวิตมีจุดมุ่งหมาย เจอสิ่งที่ตัวเองรักและภาคภูมิใจ

IN PARTNERSHIP WITH SINGHA CORPORATION

#TEAMPARATHAI #SINGHA

ขาที่หายไปตั้งแต่เด็ก

เดือน:  ตอนอายุ 9 ขวบเราป่วยเป็นมะเร็งกระดูก ก็รักษาตัว จนต้องตัดขาตอนอายุประมาณ 12 ปี สมัยนั้นเราไม่รู้เรื่องการฉายคีโม แต่เขาบอกว่าถ้าเราตัดขาก็จะรอด ด้วยความเด็กก็คิดว่าตัดก็ตัด ตายก็ตายไปเถอะไม่ได้คิดอะไร ชีวิตเราก็มีแต่ยายที่เลี้ยงมา อยู่ไปวันๆในชุมชนสลัมคลองเตย ไม่ได้มีความฝันอะไรเหมือนเด็กคนอื่นที่อยากเป็นครู อยากเป็นหมอ แล้วดันมาป่วยเป็นมะเร็งอีก

หลังตัดขาและรักษาอยู่ที่โรงพยาบาลประมาณ 2 ปี เราก็บอกยายว่า อยากเรียนหนังสือ ยายเลยส่งไปอยู่สถานสงเคราะห์เด็กพิการบ้านนนทภูมิ เราได้เรียนหนังสือและเจอคนพิการ จากที่ตอนแรกเราคิดว่า ตัวเองเป็นคนพิการคนเดียวบนโลกใบนี้ ไม่รู้จักว่าคนพิการคืออะไร แล้วได้เจอเด็กพิการในบ้านนนทภูมิ ที่ไม่มีแขนและมีขาข้างเดียวแต่เตะบอลได้ บางคนแขนขาดสองข้างแต่ว่ายน้ำได้ บางคนก็เอาปากวาดรูปได้ ทำให้เห็นว่าโลกนี้มีคนพิการแบบเราอยู่และเรายังทำอะไรได้อีกตั้งเยอะแยะ

ช่วงแรกๆ หลังตัดขาเราไม่ยอมใส่ขาเทียมเลยเพราะรู้สึกว่าน่าอาย ใส่แล้วเจ็บเพราะเป็นขาไม้หนักๆ หัวก็โล้นเพราะให้คีโม เลยเดินไม้ค้ำยัน 2 ข้าง แต่พอเริ่มโตเป็นสาวต้องใส่กระโปรงไปโรงเรียนก็เริ่มใส่ขาเทียม

ชีวิตในสถานสงเคราะห์

เราเข้าไปอยู่ที่บ้านนนทภูมิตอนอายุประมาณ 13 ปี โดยเรียนต่อชั้น ป.4 ที่โรงเรียนประชาบดี เพราะยายมองว่าจะให้เรียนข้างนอกก็ยาก อีกทั้งมีกรมคนพิการเขามาสำรวจในชุมชนและแนะนำยายว่าให้ไปอยู่สถานสงเคราะห์เพราะที่นี่ความเป็นอยู่ค่อนข้างลำบาก ไปอยู่นู่นจะได้เรียนหนังสือ พอเราได้ยินคำว่าเรียนหนังสือก็อยากไป คิดว่าน่าจะดีกว่าอยู่ที่นี่ก็เลยไปอยู่สถานสงเคราะห์

พอไปแล้วเรามีความสุขมากเลย ได้เจอเพื่อนที่พิการด้วยกันเลยไม่รู้สึกแปลกแยกเหมือนตอนที่เราอยู่บ้านที่มีแต่คนบอกว่าเราน่าสงสารหรือเป็นเวรกรรม ที่สถานสงเคราะห์ ไม่มีใครมาสงสาร ไม่มีคนมาพูดว่าเราพิการเพราะเวรกรรม ทีนี่สนุกเหมือนเราได้ใช้ชีวิตวัยเด็ก ชอบวาดรูปเขาก็พาไปประกวดวาดรูป ได้รับทุนการศึกษา กินอยู่ไม่ต้องกังวล นอนหลับสบาย

กิจวัตรประจำวันที่สถานสงเคราะห์เริ่มต้นจากตื่นเช้ามาดูแลตัวเอง ไปเรียนหนังสือ กลับมาเจอเพื่อนพูดคุยแล้วก็เข้าหอนอน วันเสาร์อาทิตย์ก็นัดเพื่อนในสถานสงเคราะห์ไปเดินเล่นในศูนย์ แต่ออกไปเที่ยวข้างนอกไม่ได้ถ้าจะไปต้องทำเรื่องขอก่อนอย่างน้อยอาทิตย์นึง แต่ถ้ามีคนใจบุญมาจัดกิจกรรมพาเด็กๆ ออกไปเที่ยวก็ไปได้

การเรียนในบ้านนนทภูมิจะเรียนที่โรงเรียนประชาบดี พอจบป.6 เขาส่งให้ไปเรียนร่วมกับคนปกติที่โรงเรียนชลประทานสงเคราะห์ ตอนมัธยมมีเพื่อนสนิทอยู่ 3 คน เพื่อนๆ ไม่รังเกียจในความพิการเลย ทำเหมือนเราเป็นคนปกติ เป็นเพื่อนของเขา พาเราไปเที่ยว ไปเรียนหนังสือ ได้ใช้ชีวิตช่วงมัธยมอย่างมีความสุข พอใช้ชีวิตข้างนอกบางครั้งก็เจอคนที่มองขาก็รู้สึกอาย แต่ก็ต้องฝึกตัวเองให้อย่าไปอาย อย่าไปกลัว เลิกเรียนตอนเย็นก็กลับมาที่สถานสงเคราะห์

จนถึง ม.3 ชีวิตไม่ดีเท่าไร เรามีแฟนแล้วท้องในวัยเรียนจนต้องลาออกจากสถานสงเคราะห์ ไปเลี้ยงลูกกับพี่สาวที่ชลบุรี เราคิดว่าพ่อของลูกไม่มีความรับผิดชอบก็เลยไม่บอกเขาว่ามีลูก แต่จริงๆแล้วลูกเองก็เป็นจุดเปลี่ยนที่ทำให้เรามีทุกวันนี้

ชีวิตที่เปลี่ยนไปเมื่อมีลูก

หลังคลอดลูกแล้วเลี้ยงลูกที่ชลบุรีได้ 3 เดือนก็กลับมาที่นนทบุรี ตอนนั้นได้ความช่วยเหลือจากพี่แวว - สายสุนีย์ จ๊ะนะ ให้ที่พักเพราะแกสงสารเห็นบ้านที่ชลบุรีเป็นเพิงกระต๊อบ เราก็เกรงใจแต่ยังไม่มีเงินจ่ายค่าเช่า จนได้เข้าทำงานที่ The Mall มีเงินเดือน 8,000 บาท เลยลงทุนขายหมูปิ้งหน้าคอนโด วันไหนขายดีก็มีรายได้เพิ่มวันละ 300 บาท แต่วันไหนที่ขายไม่ได้ ฝนตก หมูก็บูดเขียว เราก็ต้องเอาหมูไปล้างน้ำแล้วมาทำกับข้าวกินต่อเพื่อให้มีชีวิตอยู่รอด

เราลำบากอยู่อย่างนั้นประมาณ 2 ปี จนมีการแข่งขันเอเชียนพาราเกมส์ที่อินโดนีเซีย พี่แววให้โอกาสไปเก็บตัวเพื่อเก็บคะแนนก่อน 4 ปี จนประสบความสำเร็จจากเอเชียนพาราเกมส์ได้ 1 เหรียญทองแดง 2 เหรียญเงิน พอได้เงินมาก้อนหนึ่งเราก็ซื้อห้องชุด ซื้อรถไว้รับส่งลูก ชีวิตความเป็นอยู่ก็ดีขึ้นแล้ว

หลังจากเอเชียนพาราเกมส์ที่อินโดนีเซียจบ เราก็เก็บตัวไปเรื่อยๆ ถึงพาราลิมปิกเกมส์ที่โตเกียวในปี 2020 ก็มีการเก็บตัวอีก ตอนนั้นมีความหวังว่าจะไปในประเภททีมก็ไม่ได้ไป ก็ผิดหวังอยู่เหมือนกันที่พยายามเต็มที่แต่ยังไม่ประสบความสำเร็จ จนเอเชียนพาราเกมส์ที่จีนก็ไปและได้เหรียญประเภททีม ทำให้รู้สึกว่ามีความหวังในการเล่นประเภททีม นอกจากนี้ประเภทเดี่ยวก็มีชิงแชมป์เอเชียประเภทดาบเซเบอร์ ได้เหรียญทอง นับเป็นความภาคภูมิใจของเราอยู่เหมือนกัน 

กีฬาฟันดาบคนพิการต่างกับคนปกติอย่างไร

กติกาคล้ายกัน แต่เรานั่งวีลแชร์ คนปกติสามารถวิ่งหนีไปแล้วกลับมาเล่นใหม่ได้ แต่คนพิการไม่สามารถลุกหนีไปได้  ต้องสู้กันอยู่ข้างหน้าเลย เธอแทงฉันฉันแทงเธอ ชิงไหวชิงพริบว่าใครจะทำแต้มได้มากกว่ากัน

ฟันดาบจะมี 2 คลาส แยกชายหญิง คลาสเอ คลาสบี คลาสเอคือพิการขาแต่สามารถเดินได้ ช่วยเหลือตัวเองได้ มีกล้ามเนื้อ คลาสบีคือนั่งรถเข็นเป็นอัมพาต พิการกระดูกสันหลัง เดินไม่ได้ แต่การเก็บคะแนนเหมือนกันกับคนปกติ

ประเภททีมจะมี 3-4 คน ในทีมต้องมีคลาสบีอย่างน้อยหนึ่งคน ไม่สามารถที่จะมีคลาสเอ 3 คนได้ เพราะว่าจะมีความได้เปรียบเสียเปรียบกันทางเกมการเล่น สมมติว่าเป็นเอหมด อีกทีมมีบีหนึ่งคน เอสี่คนไปรุมบีหนึ่งคนก็ไม่ยุติธรรม แต่ก่อนเราเล่นเป็นตัวสำรองประเภททีมมาตลอด พอมีโอกาสเป็นตัวจริงก็ค่อนข้างที่จะหนักมากๆ แต่ก่อนพี่เล่นดาบเซเบอร์ ดาบเอเป้

เซเบอร์ เอเป้ คืออะไร

เซเบอร์คือการฟาด การเข้าทำด้วยความเร็ว แต่เอเป้ต้องมองแล้วหาจังหวะเพื่อหลอกเข้าไปแทงให้ได้ ไม่สามารถเข้าไปตรงๆ ได้ สไตล์การเล่นต่างกัน คะแนนจะดูจากสิทธิในการเข้าทำ อย่างเซเบอร์สมมติเข้าทำพร้อมกันไม่ได้แปลว่าเราจะได้แต้ม กรรมการจะต้องดูว่าใครออกตัวได้เร็วกว่า คนนั้นก็ได้แต้ม แต่ดาบเอเป้คือ ไฟขึ้นพร้อมกันก็ได้แต้ม แต่คุณจะทำยังไงที่จะเข้าไปแทงแล้วได้คะแนนเพิ่ม โค้ชของเราเปรียบให้ฟังว่า เหมือนเรารู้ว่าสาวชอบแบบไหน จะจีบเขาก็ต้องทำแบบที่เขาชอบแล้วเขาจะมีใจให้

แม้การเล่นต่างกันแต่กติกาเหมือนกันคือใครถึง 15 แต้มก่อนคนนั้นชนะ แต่ก่อนเราเล่นเซเบอร์เป็นหลักจนได้รับโอกาสให้มาเป็นตัวจริงในเอเป้ อย่างพี่แววเล่นเอเป้แล้วสะบัดได้ ส่วนเราสะบัดไม่เป็น ส่วนใหญ่ใช้วิธีหลอกแทง แม้ตอนซ้อมจะสะบัดได้บ้างแต่พอเอาไปเล่นจริงก็ยังทำไม่ได้ นอกจากพี่แววในไทยก็ไม่มีใครเล่นแบบนี้ได้เลย

เริ่มต้นเกมทุกคนจะมีหนึ่งแต้มเท่ากันหมด การแทงสามารถแทงได้ตั้งแต่ข้อมือ มือ หน้า ถึงครึ่งตัวหรือที่หน้ากากก็ได้ ทุกครั้งที่แทงจะมีไฟขึ้น แทงตรงไหนก็ได้ให้หัวดาบไฟติด เวลาพูดเหมือนง่ายแต่ทำยังไงจะแทงได้นั้นยากกว่ามาก

พาราลิมปิกเกมส์ครั้งแรก

พาราลิมปิกครั้งล่าสุดคือครั้งแรกที่ได้ไป พอรู้ว่าจะได้ไปก็ยิ่งเครียด เรารู้ตัวว่าไม่ใช่คนเก่ง แต่ประเภททีมที่มีความคาดหวังว่าจะได้เหรียญ เราจึงต้องทำยังไงก็ได้ให้ไม่เป็นจุดอ่อน เพราะอีกสองคนซ้อมเอเป้มาตลอด เราต้องวางดาบเซเบอร์ลง แล้วทำความเข้าใจให้ได้ใน 7 เดือน บางครั้งก็ท้อจนอยากลาออกวันละพันรอบ ทำไมไม่เข้าใจสักที ทำไมยากจัง พอไม่มีพรสวรรค์ก็ต้องอาศัยจากการทำซ้ำๆ ให้อยู่ในตัว มีช่วงหนึ่งที่รู้สึกไม่ค่อยพอใจในตัวเอง คิดลบ มองว่าตัวเองไม่คู่ควรกับโค้ชปุ๊ย (นันทา จันทสุวรรณสิน) เพราะลูกศิษย์ที่เขาปั้นมานั้นเก่งทุกคน โค้ชต้องเคี่ยวเข็นกับความคิดลบของเราเหมือนกัน ไม่ให้เรามองตัวเองเป็นจุดอ่อนในการเล่น แต่พี่แววก็จะบอกว่าหากทีมแพ้ก็ห้ามโทษกัน

ตลอดระยะเวลา 7 เดือนเราซ้อมหนักมากกว่าคนอื่น บางคนซ้อม 6 ชั่วโมง แต่พี่ซ้อมวันละ 8 ชั่วโมงเพราะเราไม่มีพรสวรรค์ บางครั้งนึกย้อนไปก็ยังตลกตัวเองว่าแค่นี้ทำไมไม่เข้าใจ จนรู้สึกกดดัน คิดมากไปในการเล่น มัวแต่คิดว่าต้องเล่นเป็นแพทเทิร์น ตลอดเวลาฝึกซ้อมเราไม่เคยมีความสุขเลย บางครั้งไม่อยากจะจับ แต่โค้ชไม่เคยหมดหวัง ดุบ้าง เคี่ยวเข็นบ้างเพื่อให้เราอยู่กับดาบเอเป้ ร้องไห้ต่อหน้าโค้ชก็เคย

วงการที่ผู้หญิงร้องไห้กันเป็นปกติ

ส่วนใหญ่จะเป็นสาวๆ ร้องไห้ ผู้ชายจะไม่ร้องไห้กันหรอก ผู้ชายจะชอบขิงกัน แต่เรามีความคาดหวัง กลัวจะดีไม่พอ แต่ก็โชคดีที่มีคนช่วยเหลือและสนับสนุนเยอะ คู่ซ้อมที่ไปด้วยกันก็ให้กำลังใจตลอด เขาบอกว่า มึงมาถึงจุดนี้แล้ว ไม่มีอะไรจะเสียแล้ว ต้องสู้ ตอนอยู่ที่ฝรั่งเศสชีวิตไม่ได้คิดอะไรเลยต่างจากตอนอยู่ไทยเรายังคิดเรื่องลูก เรื่องครอบครัว เรื่องจุกจิก แต่ตอนนี้สมองมีแต่เรื่องดาบ กิน นอน ซ้อมดาบ การเก็บตัวที่ฝรั่งเศสทำให้เราได้ใช้เวลาอยู่กับตัวเอง ชัดเจนกับเป้าหมาย สิ่งนี้ทำให้เราดีขึ้น พึงพอใจในตัวเองขึ้นมาบ้าง

แต่พอไปปารีส เราก็กลับมามีอาการเดิมอีกคือ เครียด กังวล กดดันตัวเอง เพราะเราพูดกับตัวเองเสมอว่า ไม่ใช่คนเก่งก็เลยไม่มีความมั่นใจ โค้ชเลยถามว่า เดือนคาดหวังเกินไปใช่ไหมถึงได้เป็นแบบนี้ ทำไมไม่ฟันดาบให้เหมือนเรียนหนังสือ เรียนๆ เล่นๆ ก็สอบผ่าน เราเลยเปลี่ยนความคิด เลิกเครียด เล่นไป โค้ชสอนก็ทำ เขาสอนเราหมดแล้วจะสำเร็จไหมก็ขึ้นอยู่กับว่ามาใช้ได้แค่ไหน

ตอนแรกที่เจอกับยูเครน ในใจตั้งความหวังว่าไปถึงเหรียญเงินแน่เลย แต่สุดท้ายแพ้รอชิงเหรียญทองแดง เราก็นอนคิดเลยว่าถ้าครั้งนี้แพ้อีกก็จะลาออกเพราะรู้สึกว่าถ้าทีมมีคนเก่งกว่านี้ก็อาจจะประสบความสำเร็จกว่ามีเราอยู่ก็ได้ จนเจอนักกรีฑารุ่นพี่ที่ตาบอดมาเชียร์ เขามองไม่เห็น แต่รู้ว่าตอนเล่นเป็นยังไงเพราะว่ามีคนพากย์ให้ฟัง  พอได้ยินเสียงเราเหนื่อยๆ เขาก็ถามทำไมเสียงเป็นอย่างนี้ เขาก็ให้กำลังใจว่าเรามาถึงจุดนี้แล้วต้องสู้ น้องเอื้อง (อภิญญา ทองแดง) ก็บอกว่า ถ้าไม่แทงวันนี้ วันอื่นเราจะไม่ได้แทงแล้ว อาจจะไม่ได้มีโอกาสมานั่งแทงใครแล้วนะพี่ กลายเป็นว่าวันนั้นเรารู้สึกภูมิใจในตัวเองที่ช่วยทีมได้ สิ่งที่โค้ชพยายามสอนทั้งหมด เราเอาออกมาใช้แบบเป็นตัวของตัวเองได้

ได้เหรียญทองแดง

ตอนได้เหรียญไม่คุยอะไรแล้ว ร้องไห้ หัวเราะ กอดกัน มีความสุข ตอนอยู่บนเวทีก็กอดกัน ร้องไห้ กรี๊ดกร๊าดดีใจว่าอย่างน้อยเราก็ยังอยู่ต่อผ่านเงินเดือนของรัฐบาลได้อีก 4 ปี สิ่งที่เราเครียด กดดันมาหายไปหมดเลยภายในวันเดียว

หลังจากนี้เราต้องเปลี่ยนเอเป้เป็นดาบหลัก แล้วเอาเซเบอร์เป็นดาบรอง ใช้เวลาศึกษาให้มากกว่านี้ ทำความเข้าใจมันให้มาก และรักมันเพราะมันเปลี่ยนชีวิตเรา

ลูกคนสำคัญและความฝันที่อยากไปต่อ

ลูกเราโตมาในสังคมคนพิการและคนไม่พิการ เขาเคยถามว่าแม่เป็นอะไรทำไมไม่มีขาเหมือนหนูเราก็บอกเขาว่า ตอนเด็กๆ แม่ไม่สบาย ไม่ค่อยแข็งแรงเลยเป็นแผลที่ขา หมอเลยตัดขาแม่ทิ้ง ทุกวันนี้เราก็ทำหน้าที่ของตัวเอง เล่นกีฬาให้มีรายได้เพื่อดูแลคุณภาพชีวิตเขาให้ดีที่สุด เหมือนมีลูกเป็นเป้าหมาย ไม่รู้ว่าถ้าไม่มีเขาเราจะใช้ชีวิตแบบไหน ก็อาจจะเป็นวัยรุ่นธรรมดาคนนึง

ครั้งหนึ่งมีเหตุการณ์ที่เราผิดหวังเพราะคาดหวังความรักจากคนอื่น ทำดีไปแล้วเขาไม่รัก เราร้องไห้แล้วลูกถามว่า แม่เป็นอะไร ลูกก็มาเช็ดน้ำตาเรา ลูกเป็นคนปลอบเรา ก็เลยเข้าใจว่านี่ไงความรักที่แท้จริง

ตอนแรกเราตั้งใจว่า หลังพาราลิมปิกเกมส์ที่ญี่ปุ่นจะเลิกเล่นเพราะอยากมีลูกสาวอีกคน แต่สุดท้ายก็เปลี่ยนความคิดว่าอยากจะไปลองพาราลิมปิกอีกสักรอบ หากได้เงินก้อนก็อาจเอาไปเปิดร้านกาแฟเล็กๆ ไปซื้อที่ สร้างบ้าน ใช้ชีวิตเรียบง่ายกับลูก ไม่ได้ทะเยอทะยานฝันสูงอะไร

ทุกวันนี้ที่ประสบความสำเร็จได้ก็เพราะมีโค้ชปุ๊ย - นันทา จันทสุวรรณสิน โค้ชที่ทำให้ตอนเรารู้สึกไม่เก่ง ไม่มีใคร เขาก็ยังให้กำลังใจและพยายามกับเรามากที่สุด ในขณะที่เราหมดกำลังใจแต่โค้ชไม่เคยหมดหวัง อีกคนนึงก็คือ พี่แวว ที่คอยเตือนคอยสอน คอยมองดูเราอยู่ไกลๆ เรียกง่ายๆ พี่แววแกเป็นแม่อีกคน แม้แกมีลูกแล้ว แต่แกดูแลเราเหมือนเป็นลูกคนนึงทั้งเรื่องการใช้ชีวิตและการฟันดาบ ในช่วงแรกๆ คนบอกว่าที่เราทำได้เพราะเป็นลูกน้องพี่แวว แต่พี่แววก็บอกให้เราพิสูจน์ตัวเอง ว่าเข้าทีมด้วยความสามารถจริงๆไม่ใช่เพราะเป็นลูกน้อง

ถ้าคนพิการอยากเริ่มต้นเล่นกีฬา ต้องเริ่มต้นอย่างไร

คุณต้องมีความอยากก่อน ลองดูแล้วมันดีก็ไปต่อ ตอนแรกเราจินตนาการว่า ฟันดาบคือคนสองคนถือมีดแต่มันไม่ใช่ ยิ่งพอเจอพี่แวว เรารู้สึกว่าคนนี้ดูเท่จังเลย เก่งจังเลย เขามีรถขับ มีบ้าน เราอยากมีชีวิตแบบนี้เลยมาลองเล่นฟันดาบ เกือบสิบปีที่ผ่านมาเราต้องอยู่ด้วยความหลงใหล เราจะอยู่กับมันได้นาน

การเล่นกีฬาสร้างความภาคภูมิใจให้เรา สอนให้เป็นคนที่อดทนมากขึ้น ใจเย็นขึ้น เวลาออกมาใช้ชีวิตข้างนอกคนก็เข้าใจคนมากขึ้น แต่ก่อนเราเป็นคนหัวร้อน ปากร้าย เดี๋ยวนี้กลายเป็นคนเงียบ สงบ นิ่ง เข้าใจคน ไม่ถือสา เหมือนสอนความอดทนไปในตัว ที่ผ่านมา “สิงห์” ก็สนับสนุนและมีใจกับนักกีฬาจริงๆ นักกีฬากลับมาก็จัดงานเลี้ยงให้ มีเงินให้ นอกจากนี้ก็อำนวยความสะดวกในการซ้อมและติดแอร์ภายในห้องซ้อมฟันดาบ พวกเราก็ไม่ต้องซ้อมร้อนๆ กันแล้ว

เมื่อประสบความสำเร็จแล้วเรามีความสุขมาก ผู้หญิง 11 คนขึ้นไปยืนบนโพเดียมแล้วหนึ่งในนั้นคือเรา สิ่งนี้จะเป็นตำนานและอยู่ในความทรงจำของเราตลอดไป