Skip to main content

IN PARTNERSHIP WITH SINGHA CORPORATION

#TEAMPARATHAI #SINGHA

“ตอนที่แข่ง พอรู้ว่าตัวเองไม่ได้เหรียญทองก็ยิ่งรู้สึกกดดัน แต่พอเล่นแล้วกลายเป็นว่าไปได้ที่4 ไม่ได้สักเหรียญเลยยิ่งไปกันใหญ่ เรากดดันตัวเองจนไม่สามารถเล่นอย่างที่ตั้งใจไว้ได้เลย ในใจเราโฟกัสแต่เรื่องผลการแข่งขัน คิดว่ายังไงก็ได้เหรียญกลับมา ปรากฏ แพ้เขาแต้มเดียวแล้วตกรอบ กลับห้องไปร้องไห้อยู่ครึ่งวัน ถามว่าเสียใจไหม ก็ไม่ เพราะเราพยายามเต็มที่แล้ว แต่มันเสียดาย มันแพ้แค่หน่อยเดียว แต้มเดียว ลูกสุดท้าย เขาทำได้ เราทำไม่ได้”

ในพาราลิมปิก 2024 ปารีส บอคเซียบุคคลชาย BC2 รอบชิงชนะเลิศ วรวุฒิ แสงอำภา ชนะ บินตัง เฮอลังกา จากอินโดนีเซีย 6-1 คว้าเหรียญทองให้กับประเทศไทยได้สำเร็จ ภาพชายใส่แว่นตะโกนดีใจหลังชนะ ปรากฏในทุกหน้าสื่อในฐานะเหรียญทองของประเทศ

วรวุฒิ เล่าให้ฟังถึงชีวิตที่เต็มไปด้วยการเรียนรู้  ตั้งแต่แรกเริ่มความพิการ การศึกษาของเขาที่ผลักดันตัวเองไปจนถึงระดับปริญญาตรี ก่อนจะหันมาเป็นนักกีฬาทีมชาติ จนถึงวันที่ได้เหรียญทอง และพ่ายแพ้ในเกือบทุกเกมที่ตัวเองเล่น เขาสะท้อนให้เราเห็นถึงมุมมองหลายอย่าง  ประสบการณ์ไม่ว่าจะแพ้หรือชนะ ต่างเป็นวัตถุดิบสำคัญในการทำงานของเขา

เราชวนเขามาคุยถึงสิ่งที่เบื้องหน้าคุณอาจจะไม่เคยเห็น เบื้องหลังของเหรียญทองพาราลิมปิกมีอะไรบ้าง บทเรียนและการเปลี่ยนแปลงในชีวิตของเขา กว่าจะมาถึงวันที่ไต่ขึ้นเป็นอันดับ 1 ของโลก และบทเรียนสำคัญที่ทำให้เขาเข้าใจ ทั้งชัยชนะและความพ่ายแพ้ เราชวนเขาคุยในศูนย์กีฬาบอคเซีย ใกล้กับราชมังคลากีฬาสถาน

วรวุฒิ : ความพิการของผมคือซีพีหรือ สมองพิการ (cerebral palsy) เป็นตั้งแต่กำเนิด ส่วนสาเหตุไม่แน่ชัดว่าเกิดจากอะไร ผมผ่าออกไม่ได้คลอดธรรมชาติ เพราะครบกำหนดแล้วปรากฏว่าหัวไม่กลับก็เลยต้องผ่าคลอด จากความพิการที่เกิดขึ้นเลยทำให้เรามีพัฒนาการที่ช้ากว่าปกติ ตอนนั้นที่บ้านก็ยังไม่รู้ว่าผมเป็นอะไร กว่าจะรู้ก็อายุ 6 - 7 ขวบแล้วก็ถึงได้ชัวร์แล้วว่าเป็นคนพิการ

ในยุคของผมคนไม่ได้ได้สังเกตง่ายขนาดนั้น พอเห็นว่ามีความผิดปกติก็พาไปบีบไปนวดไปหาหมอทั่วๆ ไปไม่ได้ดูอย่างละเอียด ตอนเด็กๆ ก็นั่งอย่างเดียวเดินไม่ได้

วัยเด็กรู้สึกถึงความแตกต่างไหม ความรู้สึกเป็นคนพิการมีบ้างหรือยัง

มี ตอนนั้นก็คิดเหมือนกันว่าทำไมเราถึงไม่เหมือนกับคนอื่น จนกระทั่งผมได้มีโอกาสไปเรียนในโรงเรียนศรีสังวาลย์แล้วไปเจอเพื่อนคนพิการที่เหมือนเรา บางคนก็แย่กว่าเราแต่พอเราอยู่กับเพื่อนกลับเป็นความรู้สึกที่รู้สึกว่าสนุกมากกว่าเพราะได้มีเพื่อนฝูง

ก่อนหน้านั้นก็พยายามที่จะเข้าสู่โรงเรียนปกติทั่วไปแต่ไม่มีที่ไหนรับ พ่อกับแม่ก็พยายามสอนที่บ้านซื้อหนังสือก.ไก่ ข.ไข่ มาสอนเหมือนเราเรียนโรงเรียนประถมปกติผมสามารถเรียนรู้ได้แต่แค่ร่างกายของผมไม่เหมือนคนอื่น

แม่มีความพยายามมากในการหาที่เรียนให้ คอยไปถามตามที่ต่างๆ ว่าลูกเราเป็นแบบนี้ขอให้ไปเรียนได้ไหม ก็ถูกปฏิเสธทั้งหมด เขาบอกว่าสถานที่ไม่เอื้ออำนวยบันไดเยอะ แล้วก็อาจจะไม่สะดวกสำหรับเรา ในใจผมอยากเรียนโรงเรียนปกติทั่วไปมากกว่า เพราะมันน่าจะเห็นอะไรมากกว่า พอเรียนแต่กับคนพิการมันก็ไม่เห็นความหลากหลาย ไม่เกิดการแข่งขัน ไม่แอคทีฟ เราอยากจะพัฒนาตัวเองขึ้นไปเรื่อยๆ

เราเริ่มเรียนที่โรงเรียนศรีสังวาลย์ตั้งแต่ ป. 1 เพราะมีหมอแนะนำว่ามีโรงเรียนนี้ที่เขาเปิดรับคนพิการ เข้าไปครั้งแรกรู้สึกเลยว่าไม่อยากอยู่ ร้องจะกลับบ้านอย่างเดียวเลย เพราะว่าเป็นโรงเรียนประจำด้วยผมก็ร้องจะกลับบ้านให้ได้ แต่พออยู่ไปก็เริ่มมีเพื่อน ไปอยู่สองปีแรกแม่ต้องไปรับทุกวันศุกร์ อยู่ไปสักพักแม่มารับอาทิตย์เว้นอาทิตย์หลังจากนั้นก็เดือนละครั้ง จนแม่ต้องบอกว่ากลับบ้านบ้างเถอะ (หัวเราะ)

ส่วนหนึ่งเป็นเพราะว่าเราได้ออกไปเจอสังคมได้ออกไปเที่ยวด้วยเราก็ไม่เหงา จนกระทั่งได้รู้จักกีฬาได้มาหาอะไรทำ

เริ่มรู้จักกีฬาบอคเซีย

กีฬาบอคเซีย เริ่มเล่นมาตั้งแต่อายุ 13 ปี ตั้งแต่อยู่โรงเรียนประจำ ตอนนั้นมีการแข่งกีฬานักเรียนคนพิการทุกปี ครูเห็นว่าเราเล่นกีฬาชนิดนี้ได้ เขาก็ชวนเราไปเล่น ตอนนั้นไม่ได้คิดอะไรรู้สึกแค่ว่าอยากมีอะไรทำจากเวลาที่ว่าง

ที่นี่มีกีฬาให้เราเลือกเล่นเยอะ ปิงปอง ว่ายน้ำ บอคเซีย แล้วเราก็เริ่มเล่นที่นี่และรู้จักบอคเซียเป็นอย่างแรก แล้วก็รู้สึกว่าเป็นกีฬาที่ผมเล่นได้ เคยไปเล่นอย่างอื่นเหมือนกัน แต่ความพิการของเรามันหนักกว่าคนอื่น เล่นแบบเอามัน เล่นได้ แต่ถ้าเล่นเพื่อแข่ง เรารู้สึกชอบบอคเซีย เราไปต่อกับมันได้

กีฬาคนพิการจะแบ่งคลาส เพราะแต่ละคนพิการไม่เท่ากัน จึงต้องจัดวางตำแหน่งความพิการที่เหมาะสมให้แข่งด้วยกัน กีฬาบอคเซียเป็นกีฬาที่คนพิการรุนแรงสามารถเล่นด้วยได้ อย่างมือของผมก็จะไม่เหมือนของคนทั่วไป ไปไหนก็จะลำบากนิดหนึ่ง กีฬาชนิดนี้มีกลุ่มความพิการอยู่ไม่กี่กลุ่มที่จะเล่น เช่น ซีพี (cerebral palsy) และกล้ามเนื้ออ่อนแรง เป็นกลุ่มความพิการที่ค่อนข้างจะหนักกว่าประเภทอื่นส่วนผมจะเล่นที่คลาส 2

หมอจะเป็นคนระบุ แบ่งการแข่งขันออกเป็น 4 คลาส ตั้งแต่ความพิการรุนแรงที่สุด จนถึงคนที่มีกำลังแขนทั่วไป อย่างคลาสที่ 3 เขาไม่สามารถโยนลูกเองได้ ก็จะมีรางให้ปล่อยตัวลูกบอลลงมา จะมีผู้ช่วยหนึ่งคนเอาลูกวางให้นักกีฬาจะเป็นคนกะระยะและปล่อยลงมา ผมว่าอันนี้เล่นยากมากเพราะมันต้องจำน้ำหนักมือและระยะว่าจะต้องวางตรงไหนอย่างไร

ถ้าใครนึกภาพกีฬานี้ไม่ออก ถ้าบอกว่าเปตองก็คล้ายประมาณนึง แต่เปตองเป็นลูกเหล็กสีเงินมีลาย แต่ของเราจะเป็นสีแดงกับน้ำเงินและเล่นบนพื้นเรียบ เป็นพื้นยางหรือพื้นปาเก้ก็ได้ แต่จะต้องตีเส้นเขตสนาม เขาจะมีระยะทางที่เราห้ามออกจากบล็อคยาวสุดสนาม 10 เมตรซ้ายขวา 6 เมตรแล้วก็ต้องโยนให้เข้าใกล้ที่สุด

ตอนแรกที่มาเล่นก็ยังไม่ได้เอาจริง รู้สึกว่ามันเป็นกีฬาเพื่อความผ่อนคลายมากกว่า แล้วก็รู้สึกว่า พอได้แข่งก็ได้ออกไปข้างนอก ครูพาออกไป เช่น กีฬานักเรียนเยาวชนคนพิการ เล่นแบบชนะบ้างแพ้บ้าง ไม่ได้จริงจังจนถึงอายุ 20 จึงได้ไปคัดตัวทีมชาติ

เข้าสู่การเป็นนักกีฬาทีมชาติ

ตอนนั้นจะมีการแข่งขันกีฬาแห่งชาติ แต่ละจังหวัดเขาก็จะคัดคน ถ้าผลงานติดอยู่ในระดับต้นๆ ของประเทศก็จะได้ไปแข่งในสนามที่ใหญ่ขึ้น เขาจะมีรายการคัดอยู่ตลอด เราก็เล่นไปเรื่อยๆ จนติดระดับทีมชาติ

แต่ส่วนเสี้ยวของการตัดสินใจจริงๆ ว่าจะเป็นนักกีฬาทีมชาติ ตอนนั้นเรียนมหาวิทยาลัยอยู่ที่เชียงใหม่เรียนปีสอง คณะบริหารธุรกิจ ตอนนั้นก็คิดแล้วเพราะว่าเขามีการเก็บตัวนักกีฬาเพื่อเตรียมไปแข่งขัน ประมาณหกเดือนถึงหนึ่งปี ซึ่งเราก็ต้องหายจากการเรียนก็ต้องตัดสินใจว่าจะเอาอย่างไรดี ตอนนั้นคิดว่าเรียนก็เรียนเมื่อไหร่ก็ได้แต่การเล่นกีฬามันมีอายุของมัน ถ้าเราอายุเยอะขึ้นก็อาจจะเล่นไม่ได้ก็เลยตัดสินใจมาทางนี้ก่อน

จริงๆ ชีวิตในมหาวิทยาลัยเป็นชีวิตที่สนุกสำหรับผม ถามว่าลำบากไหมก็มีบ้างในฐานะคนพิการ ผมเป็นคนพิการคนเดียวในคณะตอนนั้น ปีหนึ่งทั้งปี ผมทำแต่กิจกรรม มีอะไรผมก็ทำหมด เรียนก็เรียนแต่ไม่ได้คิดว่าจะต้องเรียนเก่งถึงขั้นเกียรตินิยม คิดว่าผ่านมาตรฐานก็พอ ถามว่าเรียนผ่านไหม ผ่าน แต่ชอบไหม ไม่ชอบ ชอบใช้ชีวิต ชอบกิจกรรมในรั้วมหาวิทยาลัยมากกว่า

ผมชอบชีวิตมหาวิทยาลัยเพราะได้ใช้ชีวิตด้วยตัวเอง ผมชอบชีวิตที่เชียงใหม่เพราะได้ใช้ชีวิตด้วยตัวคนเดียวคิดว่าต้องทำให้ได้เผื่ออนาคตที่ไม่มีใครอยู่ซัพพอร์ตเรา เราตั้งคำถามกับตัวเองว่าจะอยู่ได้ไหม วันนี้มันยังมีคนช่วยแต่อนาคตถ้าไม่มีเราจะทำอย่างไรเลยคิดว่าต้องอยู่คนเดียวให้ได้

เราไม่มีทางรู้เลยว่าคนที่ดูแลเราจะอยู่ดูแลเราได้ถึงเมื่อไหร่ ไม่รู้ว่าเขาหรือเราจะไปก่อนเราถ้าเขาไปก่อนเราจะอยู่อย่างไรหรือแม้กระทั่งคนที่มีพี่น้อง วันหนึ่งที่เขามีครอบครัวหรือออกไปใช้ชีวิตของตัวเองเขาต้องมีลูกมีครอบครัวไม่มีใครมานั่งดูแลเราตลอด 24 ชั่วโมง ไม่มีใครอยากทิ้งเราหรอกแต่ทุกคนก็ต้องมีชีวิตเป็นของตัวเองจะให้เราไปอยู่กับคนอื่นตลอดมันก็ไม่ใช่

มันก็เป็นช่วงชีวิตที่คิดว่าท้าทาย ตอนนั้นต้องไปเช่าหออยู่กับเพื่อนบางทีถ้าเพื่อนไม่ว่างผมก็ต้องนั่งรถม่วงก็จะนั่งจากหอไปส่งตามคณะต่างๆ รถบางคันเขาก็ไม่ค่อยอยากจะรับเพราะเขาต้องลงมามาช่วยเราขึ้นรถแต่ หลายคันก็ใจดี รับส่งผมตลอด

วันที่ตัดสินใจ

ผมคิดว่าถ้าเรียนไปเรื่อยๆ ก็คงจบ ผมเรียนได้แต่แค่รู้สึกว่าเมื่อเรียนจบแล้วจะไปทำงานอะไรเพราะมือเราไม่ได้ปกติสมมติว่าเราไปสมัครงานถ้าเขามีตัวเลือกสองคนคือคนพิการกับคนไม่พิการเขาก็ต้องเลือกคนไม่พิการก่อนอยู่แล้วเพราะเขามองว่าเราจะไปเขียนไปพิมพ์ได้เร็วเท่าคนอื่นได้ยังไงบริษัทไหนเขาจะเอาเรา ยิ่งเป็นบริษัทใหญ่ๆ เขาก็เลือกคนที่เก่งที่สุดก่อนด้วยซ้ำ สุดท้ายผมก็ต้องกลับไปอยู่บ้านอยู่ดี เห็นอนาคตล่วงหน้าเลยว่าไม่มีงานทำแน่นอน เลยเลือกหันมาทางกีฬาดีกว่า

สำหรับคนพิการผมคิดว่าทั้งโอกาสและความสามารถมีความสำคัญเท่าๆ กันต้องควบคู่กันไปบางคนได้โอกาสแต่ไม่มีความสามารถบางคนก็มีความสามารถแต่ไม่ได้รับโอกาสแต่ถ้าคนนั้นมีทั้งสองอย่างคนที่ถูกเลือกก็จะเป็นคนอย่างหลังเพราะฉะนั้นมันต้องคู่กัน แต่สำหรับคนพิการผมคิดว่าโอกาสควรจะมาก่อนทักษะมันพอไปฝึกฝนกันได้มันไม่มีใครที่เก่งและเป็นเลยตั้งแต่วันแรก

การมาเป็นนักกีฬาทีมชาติต่างเดิมอย่างไร

พอมาเป็นทีมชาติเราต้องปรับใหม่หมด แต่ก่อนเล่นอย่างเดียว แต่พอมาเป็นต้องออกกำลังกาย ฟิตร่างกาย ฝึกซ้อม เข้ามาตอนนั้นในทีมเขาเก่งกันมาก คิดว่าทำอย่างไรจึงจะไม่เป็นภาระพี่ๆ เพราะฉะนั้นต้องพัฒนาตัวเองให้อยู่ในระดับคนอื่นให้ได้  ต้องแยกซ้อมอยู่หกเดือน ถือว่าเป็นการเริ่มต้นนับหนึ่งใหม่จนกว่าจะเท่าคนอื่น ปรับใหม่หมดตั้งแต่ท่าทางจนถึงการนั่ง ตอนนั้นก็มีเจ็บบ้าง ท้อบ้าง เพราะเราไม่เคยซ้อมจริงจังขนาดนี้ ก็ต้องทนแต่ก็สนุก

พอมาได้ลองเล่นก็พบว่าแต่ละประเภทก็ไม่เหมือนกัน อย่างเภทเดี่ยว เราพลาดเองเราก็แก้เองได้ แต่ประเภททีมแต่ละคนจะมีแค่สองลูกเท่านั้น ถ้าคุณพลาดไปลูกนึงคุณก็เหลือแค่ลูกเดียว เพื่อนในทีมก็ลำบากมากขึ้น สมมติเราต้องตีเพื่อแก้เกมให้เพื่อน แต่ถ้าเราตีไม่โดน เพื่อนก็ต้องมาแก้แทน มันมีความกดดันมากกว่า เราต้องช่วยกัน ทำยังไงให้ได้ให้เราและเพื่อนได้แต้ม ทุกคนต้องเชื่อมั่นซึ่งกันและกัน

ตอนซ้อมถามว่าเหนื่อยไหม เหนื่อยมาก ซี่โครงผมเขียวไปหมด เพราะเราต้องเอียง นั่งเบี่ยงตัวจนตัวช้ำ แต่เดี๋ยวนี้ชินแล้วเพราะนั่งจนด้านแล้ว ใช้เวลาพอสมควรกว่าจะดีขึ้น เพราะจะเป็นทีมชาติเราต้องปรับหมด ทุกอย่างเข้มข้น เราต้องทำให้ดีขึ้น จากมวยวัดจะไปเป็นมวยอาชีพมันก็ต้องทำ

ตอนนั้นอายุยี่สิบ รายการใหญ่รายการแรกคือเอเชียนเกมส์ ที่เกาหลีใต้ ปี 2018 ได้สองเหรียญทอง ทั้งประเภทเดี่ยวและทีม ก็คือทุกรายการที่ลง ตอนนั้นตื่นเต้นเพราะไม่คิดว่าจะได้ เราก็ไปทำหน้าที่ของตัวเองให้ดีที่สุด

อะไรคือสิ่งที่ยากที่สุดของกีฬาชนิดนี้

ทุกอย่างสำคัญหมด สมาธิ สติ การคิด ถ้าหัวไปแต่แขนไม่ตามก็ไม่ได้ ผิดจังหวะก็ไม่ได้ ทุกอย่างต้องไปพร้อมๆ กัน พลาดจุดใดจุดหนึ่งไปก็อาจจะทำให้เสียโอกาส เสียคะแนน จากเดิมที่เคยเป็นแต้มต่อ อาจจะพลาดจนกลายเป็นฝ่ายตามแล้วแพ้ก็ได้ เพราะฉะนั้นทุกอย่างสำคัญหมด โค้ชจะคอยเตือนตลอด จังหวะแขน ลำตัว ทุกอย่างมีจังหวะของมัน สมาธิสติก็ต้องมี อย่าวอกแวกเวลาอยู่ในเกม เสียงของคนในทีมจะช่วยเราดูตลอด เวลาเราเพลินกับเกมก็อาจจะทำให้เราลืมรายละเอียดเล็กๆ น้อยๆ

บางครั้งก็มีที่ผมเครียดกับมันเกินไปจนลืมโฟกัสที่ตัวเอง เราก็ต้องรีบกลับมาทบทวนว่าเป็นเพราะอะไร เราลืมอะไรหรือเปล่า กีฬามันก็มีขั้นตอนของมัน ถ้าคุณทำตามทุกสเต็ปมันก็จะเป็นอย่างที่คุณต้องการ แต่ถ้าไม่ทำตามเปอร์เซ็นที่จะพลาดก็มีมากขึ้นเรื่อยๆ ยิ่งสติไม่มีด้วยก็จบเลย หลายองค์ประกอบ

เราเล่นมาตลอดทั้งเอเชียนพาราเกมส์ ชิงแชมป์โลก ถ้าเป็นรายการที่พาราลิมปิก ปารีสก็เป็นครั้งที่ 3 ก่อนหน้าคือที่บราซิลกับญี่ปุ่น บราซิลได้เหรียญเงินประเภทเดี่ยว เหรียญทองประเภททีม เดี่ยวรอบสุดท้ายตอนนั้นก็คือชิงกันเอง ระหว่างไทยกับไทย นั่นคือพาราลิมปิกครั้งแรก

ครั้งต่อมาคือที่โตเกียว ญี่ปุ่น เป็นรอบสี่ ยังไม่ถึงชิง ปรากฏแพ้ พอถึงรอบชิงทองแดงเราก็แพ้ ตอนนั้นผมเป็นมือหนึ่งของโลกด้วย พอระดับเท่านี้ ความมุ่งมั่นเราก็สูงไปด้วย กดดันตัวเองมากเกินไป ก่อนไปโตเกียวผมเป็นมือหนึ่งของโลก ระยะทางสี่ปีก่อนพาราลิมปิก รายการใหญ่ๆ ผมเป็นแชมป์ทุกรายการ คำถามเดียวที่ทุกคนถามตอนนั้นคือพาราลิมปิกเรามีความคาดหวังอย่างไร เราไม่มีคำตอบอื่นเลย เพราะเป็นมือหนึ่งของโลก ถามพี่ถ้าเป็นพี่จะตอบว่ายังไง เขามาถามก็ตอบอย่างเดียว เหรียญทองครับ เหรียญทองครับ ตอนนั้นทุกคนก็คงคาดหวังมาก ข่าวก็นำเสนอกันยกใหญ่ เหรียญทองแน่นอน ความหวัง ความหวัง ความหวัง

คนข้างนอกเขาอาจจะไม่ได้เข้าใจว่ากีฬาก็มีจังหวะ จังหวะแพ้ จังหวะชนะ ถามว่าต่อให้คุณเป็นมือหนึ่งของโลก คุณก็ต้องเริ่มต้นจากศูนย์ ไม่ใช่แข่งรายการเดียวแล้วกลายเป็นที่หนึ่งของโลกได้เลย มันต้องใช้ระยะเวลา เก็บคะแนนสะสมไปเรื่อยๆ ค่อยๆ ไต่ขึ้นมา

แชมป์โลกในวันที่ตกรอบ

ตอนที่แข่งพอรู้ว่าตัวเองไม่ได้เหรียญทองมันก็ยิ่งรู้สึกกดดัน แต่พอเล่นแล้วกลายไปได้ที่สี่ ไม่ได้สักเหรียญเลยยิ่งไปกันใหญ่ เรากดดันตัวเองจนไม่สามารถเล่นอย่างที่ตั้งใจไว้ได้เลย ในใจเราโฟกัสแต่เรื่องผลการเล่น คิดว่ายังไงก็ได้เหรียญกลับมา ปรากฎแพ้เขาแต้มเดียวแล้วตกรอบ ตอนแรกยังไม่เท่าไหร่ พอเดินออกจากสนามนักข่าวถามว่ามันเกิดอะไรขึ้น เป็นอะไร คุณเป็นแชมป์โลกนะ ผมไม่ให้สัมภาษณ์ กลับห้องไปร้องไห้อยู่ครึ่งวัน ร้องไห้ไม่หยุด แล้วก็หยุดตัวเองไม่ได้ ถามว่าเสียใจไหมก็ไม่ เพราะเราก็พยายามเต็มที่แล้ว แต่มันเสียดาย มันแพ้แค่หน่อยเดียว แต้มเดียว ลูกสุดท้าย เขาทำได้ เราทำไม่ได้

หลังจากแพ้ครั้งนั้นเราก็เป๋ไปเลย รายการต่อมาคือชิงแชมป์โลกเราตกรอบแรกเลย แชมป์เก่าตกรอบแรกเลย ที่บราซิลเหมือนกันแต่คนละเมือง คิดดูว่าจะเกิดอะไรขึ้นเมื่อแชมป์เก่าตกรอบแรก นักข่าวก็ถามเหมือนเดิมเลยว่าเกิดอะไรขึ้น ผมเองก็ไม่รู้ว่าเกิดอะไรขึ้นเหมือนกัน ตอนนั้นก็ตอบอะไรไม่ได้ ต่อมาก็เป็นเอเชียนพาราเกมส์เราเป็นแชมป์เก่า ตกรอบเหมือนกัน ทั้งหมดประมาณ 7 รายการผมเป็นแชมป์อยู่แค่ 3 ตกรอบบ้างอะไรบ้างคือเป๋ไปหมด ผมเคยตกรอบมาทุกระดับ ตกรอบแรก ตกรอบ 8 คน ตกรอบ 4 คน ได้ที่ 1 มาทุกระดับแถมยังตกรอบได้ทุกระดับอีกด้วยถ้าเป็นแชมป์แล้วไปชิงไม่เท่าไหร่แต่นี่คือตกรอบแรกเลย

หลังจากที่ได้อันดับ 1 ของโลกพอตกรอบเรื่อยๆคะแนนเราก็ตกลงไปด้วยจากที่ 1 ของโลกก็เลยร่วง ภายในระยะเวลาปีกว่าๆผมร่วงมาอยู่ที่ 7 ผมตกผลึกว่าตอนเป็นแชมป์มันแบกความหวังเอาไว้เยอะทั้งที่คนอื่นก็พูดว่าทำให้เต็มที่อย่าไปคิดอะไรมากเล่นให้สบายๆมันคิดง่ายแต่ทำยากพออยู่ในสนามมันมีความกดดันมาก หัวใจบีบมาก สมองก็คิดไปหมด

ตอนนั้นมันมีปัจจัยหลายอย่าง กดดันจนเล่นไม่ออก เราไม่สามารถทำตามที่คิดได้ โยนอย่างไรก็ไม่เข้าทางเราเลยลูกง่ายๆ ก็เล่นพลาด มันดิ่งไปเลย หลังจากแพ้มากๆเข้าผมก็ตั้งเป้าของตัวเองว่าอยากจะกลับมายืนที่เดิมให้ได้ แล้วผมก็เริ่มเปลี่ยนความคิดใหม่

ผมคิดว่าต่อให้เก่งแค่ไหนเราก็ต้องแพ้ให้เป็นเหมือนกัน ไม่ใช่ว่าคุณไม่เคยแพ้แล้วคุณจะไม่แพ้ในอนาคต เราไม่ใช่เทวดาหรือผู้วิเศษที่จะแพ้ไม่ได้ เราจำเป็นต้องเรียนรู้ในความผิดพลาดนั่นคือจุดที่ทำให้ผมคิด เพราะเมื่อก่อนเราไม่เคยแพ้นึกออกไหม ความคิดเรื่องแพ้มันเลยไม่มี พอได้มาเจอกับตัวเองจึงเป็นบทเรียน เข้าใจว่าความรู้สึกแพ้มันเป็นแบบนี้นี่เอง

เรามาถึงจุดที่ยอมรับกับตัวเองว่าต้องรู้จักการแพ้ซะบ้าง

จุดที่ยอมรับกับตัวเองว่าต้องแพ้ให้เป็น

หลังจากเปลี่ยนความคิดเราก็ดีขึ้นเริ่มกลับมาทำแชมป์ได้ กลับมาได้ที่ 1 ในหลายรายการ เริ่มกลับมาทำเหรียญได้ก็เข้าสู่จุดที่ดีขึ้น ความมั่นใจเริ่มกลับมา จุดที่เรากลับมามั่นใจมากที่สุดคือรายการที่เราไปแข่งชิงแชมป์เอเชีย ก็ได้ 2 เหรียญทองเหมือนกัน ตอนนั้นจำได้ว่าผมโดนนำไป 5 ต่อ 0 ตอนนั้นคิดในใจว่าเอายังไงดีวะ แต่ก็คิดได้ว่ามันยังไม่จบ มันยังมีโอกาสให้เราแก้ตัวได้

ผมคิดแค่นั้นแล้วก็สู้ไปก่อนอย่าเพิ่งยอมทำให้เต็มที่ ถ้าแพ้ก็แพ้แบบไม่เสียดาย ตราบใดที่ยังไม่ยอมแพ้มันก็ยังมีโอกาสอยู่ สุดท้ายผมก็กลับมาชนะด้วยคะแนน 9 ต่อ 5 ตอนแข่งที่ปารีสผมก็เจอสถานการณ์แบบนี้ แต่ก็พลิกสถานการณ์มาได้ ผมรู้สึกว่าถ้าผมไม่เคยแพ้มาก่อนผมจะไม่เข้าใจถึงจุดนี้ แล้วก็อาจจะยอมและแพ้ไปแล้ว อาจจะไม่สู้แล้ว พอเราเคยแพ้เราก็รู้ว่าเราจะแก้เกมหรือสถานการณ์อย่างไร เพราะเราเคยแพ้มาแล้ว

ในการแข่งขันที่ปารีสผมลงแค่รายการเดียว แล้วก็ได้มา 1 เหรียญทอง ผมไม่กดดันตัวเองเพราะมีทางเดินแค่ทางเดียว ถ้าผมพลาดเหรียญนี้ไปก็ไม่ได้อะไร ผมแค่ตั้งใจแต่ไม่เครียด ถึงเวลาก็ไปแข่งไม่ต้องเครียดไม่ต้องกดดันไม่ต้องคิดอะไรทั้งนั้น เล่นไปตามที่ซ้อมมาแก้ปัญหาตามสถานการณ์ ทำตามความสามารถของเราที่มี

เราเล่นจนถึงรอบ 4 คนสุดท้าย ตอนนั้นผมก็โล่งแล้ว เพราะมันมีแต่คนไทย มีอันดับ 1 กับอันดับ 2 ของโลก เรากับเพื่อนไม่ใครก็ใครแน่นอน แต่เพื่อนดันแพ้ไปก่อน ก็เลยไม่ได้เจอกันรอบชิง เราก็เต็มที่ไปตามน้ำ รอบ 4 คนเราชนะเพื่อน แล้วก็ไปชิงเหรียญทองในรอบสุดท้าย

หลังจากนี้งานของผมก็คือซ้อมอย่างเดียว ซ้อมเพื่อแข่ง แต่ความท้าทายก็กลับมาอีกซึ่งเป็นปัญหาเดิม คำถามเดิมๆ วนลูปเดิมแต่ความคิดเราเปลี่ยนเราเคยเจอสถานการณ์นี้มาแล้วและคิดว่าน่าจะไม่เป็นเหมือนเดิม แต่ผมคิดว่าถ้าจะให้สนุกผมไม่อยากเป็นแชมป์ผมอยากเป็นรองมากกว่า ผมทำเต็มที่ทุกสนามแต่ไม่ได้คาดหวังตัวเองว่าจะต้องเป็นที่หนึ่งตลอด แค่ทำเต็มที่ที่สุดอย่างที่ซ้อมอย่างที่ตั้งใจ อันดับไม่มีผลกับผมแล้ว

บางคนมองมาตอนที่ชนะแล้วก็อาจจะไม่เห็นว่าก่อนจะมาถึงจุดนี้มันผ่านอะไรมาบ้าง เราล้มลุกคลุกคลานมาเท่าไหร่ เรามาถึงอันดับที่สูงที่สุดของโลกจากการนับศูนย์ ต้องค่อยๆ ไต่เต้า เก็บทั้งชัยชนะและความผิดพลาด มีทั้งความสุขความทุกข์ผิดหวังและสมหวังลองมาหมดทุกแบบ หลังจากนี้ก็อยากให้ติดตามไปด้วยกันแล้วจะเห็นว่าเส้นทางของผมเป็นอย่างไร ถ้าคุณรู้จักผมมากขึ้นผมคิดว่าเวลาเกิดอะไรขึ้นก็จะเข้าใจกันมากขึ้น ถ้าผมชนะคุณก็จะภูมิใจไปกับผมมากขึ้นด้วยเหมือนกัน

จะเล่นไปอีกนานแค่ไหน

กีฬาชนิดนี้มันไม่มีลิมิต มันเล่นไปได้เรื่อยๆผมก็บอกไม่ได้ว่าจะเลิกเล่นตอนไหน ความท้าทายมันยังไม่จบสำหรับผม พอเราได้แชมป์มาเยอะๆแล้ว ลำดับถัดไปของเราก็คือการป้องกันแชมป์ รักษาแชมป์ เราก็อยากทำไปให้มันถึงที่สุด เป็นแชมป์ 3 สมัยซ้อนก็น่าสนใจ เราต้องฝึกซ้อมและยืนระยะให้ได้ แต่ขณะเดียวกันก็ไม่ได้ใช้ชีวิตแบบกดดันตัวเอง แค่ทำหน้าที่ของตัวเองให้ดีที่สุด

กีฬาคนพิการมันไม่ใช่แค่เรื่องของชัยชนะหรือเรื่องเงินอย่างเดียว มันมีเรื่องของการยอมรับคนพิการ ทำให้คนอื่นยอมรับคนพิการมากขึ้นไม่ใช่แค่ตัวผมคนเดียวแต่หมายถึงคนพิการทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็นนักกีฬาหรือไม่ใช่นักกีฬาก็ตาม ทำให้เขาเห็นว่าคนพิการก็มีความสามารถเหมือนกันเพียงแต่ความสามารถจะเป็นด้านไหน บางคนอาจจะเป็นกีฬา บางคนอาจจะเป็นนักวิชาการ เป็นครูบาอาจารย์ก็เยอะแยะ เราทำให้คนพิการถูกยอมรับให้ได้มากที่สุด เราพยายามเปลี่ยนความคิดคนในสังคม

เราจะเห็นได้ว่ากีฬาทุกกีฬาของคนพิการมันถูกสร้างมาเพื่อรองรับทุกประเภทความพิการไม่ว่าจะมากหรือน้อย มันทำให้เห็นว่าทุกคนมีส่วนร่วมได้ แม้กระทั่งกีฬาบอคเซีย ที่เริ่มต้นจากการเป็นกีฬาคนพิการแต่วันนี้ในประเทศญี่ปุ่นก็ได้รับความนิยมมากขึ้นคนไม่พิการทั่วไปก็หันมาเล่นเหมือนกัน มีจัดแข่งกันทั้งปี ตอนที่มีแข่งในประเทศญี่ปุ่นแล้วผมเข้าไปผมรู้เลยว่าได้รับการตอบรับอย่างไรคนที่นั่นรู้จักผม เขาชื่นชมเรามาก มีครอบครัวคนญี่ปุ่นที่ตามมาดูผมในทุกการแข่งขันในญี่ปุ่น

สิงห์ผู้สนับสนุนกีฬาคนพิการในทุกๆ สนาม

ตั้งแต่ผมเล่นทีมชาติมาผมก็เห็นสิงห์มาตลอด เขาคอยสนับสนุนอยู่เสมอ ตั้งแต่คนพิการที่เพิ่งเริ่มต้นจนถึงนักกีฬาเหรียญทองพาราลิมปิกพาราริมปิกส์โดยเฉพาะคุณ จุตินันท์ ภิรมย์ภักดี อดีตประธานพาราลิมปิกไทย ที่เพิ่งเสียไปผมรู้จักท่านมาตั้งแต่ 10 กว่าปีก่อนท่านก็ให้การสนับสนุนตลอด ไม่ว่าจะเกิดปัญหาอะไร ไม่ว่าจะแพ้หรือชนะ แม้กระทั่งปัจจุบันที่คุณต่อย ณัยณพ ภิรมย์ภักดี เข้ามารับหน้าที่แทน ก็ยังได้รับการสนับสนุนที่ดีเหมือนเดิม

อาคารกีฬาบอคเซียแห่งนี้ก็เป็นสิงห์ที่ทำให้มันเกิดขึ้น ร่วมกับผู้ใหญ่อีกหลายท่านจึงเกิดเป็นสถานที่แห่งนี้ขึ้นมา แต่ก่อนพวกเราต้องเร่ร่อนกันซ้อม ต้องไปเช่าสนามไปเช่ายิมของที่อื่น ต้องปั่นรถวีลแชร์ข้ามแยกปากเกร็ดไปซ้อม (หัวเราะ) เราต้องกระเตงไปซ้อมกันทุกวัน ซึ่งมันสวนกับผลงานที่พวกเราทำ สิงห์เขาก็เห็นความตั้งใจว่าพวกเราทำได้ ถ้ามีศูนย์แล้วผลงานก็น่าจะดีกว่านี้ ก็ต้องขอบคุณทางบุญรอดบริวเวอรี่ และ สิงห์ที่สนับสนุนพวกเรามาตลอด