IN PARTNERSHIP WITH SINGHA CORPORATION
#TEAMPARATHAI #SINGHA
“ระหว่างทางสำคัญพอๆ กับเป้าหมายหรือสำคัญกว่าเป้าหมายอีก ถ้าตั้งเป้าไว้ว่า ต้องได้เหรียญทองพาราลิมปิกเกมส์แต่ซ้อมอาทิตย์ละวัน วันละ 2 ชั่วโมง มันจะได้ไหม มันสอดคล้องกันไหม มันก็ไม่สอดคล้องกัน ถ้าเราตั้งเป้าเหรียญทองแล้วซ้อม 6 วัน ก็มีโอกาสเป็นไปได้เพราะสอดคล้องกับเป้าหมาย ทุกอย่างมันสัมพันธ์กันหมด”
หากคุณค้นหาประวัติของ รุ่งโรจน์ ไทยนิยม นักกีฬาเทเบิลเทนนิสพาราลิมปิก คุณก็จะพบเรื่องราวความสำเร็จยาวเป็นหางว่าว ตั้งแต่ครั้งแรกของการแข่งขันพาราลิมปิกในปี 2012 เขากวาดเหรียญทองและกลายเป็นแชมป์ในสายตาของใครหลายคนทันที หลังจากนั้นเขาก็ยังคงแข่งขันและทำคะแนนได้ดีอย่างต่อเนื่อง แต่มีน้อยคนที่รู้ว่ากว่าจะสำเร็จ รุ่งโรจน์ฟิตซ้อมกีฬาชนิดนี้มาอย่างยาวนาน ทำการบ้านมาอย่างหนัก เคยชนะ เคยแพ้และเคยถอดใจมาก่อน
ชวนรุ่งโรจน์คุยถึงเรื่องราวชีวิตหลังจากการแข่งขันพาราลิมปิกเกมส์ที่ปารีส ประเทศฝรั่งเศส เพื่อเรียนรู้บทเรียน ความสุข ความเข้าใจ และเบื้องหลังของความสำเร็จที่ใครหลายคนอาจไม่เคยเห็นภายใต้หน้าฉากของนักกีฬามืออาชีพ
เด็กชายรุ่งโรจน์
รุ่งโรจน์: ผมพิการตั้งแต่กำเนิดหลังคุณแม่มีภาวะแท้งตอนอายุครรภ์ 6 เดือน ผมต้องเข้าตู้อบ หลังจากรักษาออกมาแล้วก็มีความพิการแขนขาลีบทั้ง 2 ข้าง ยังโชคดีที่คุณพ่อรับราชการตำรวจจึงได้รักษาขา
ผมใช้หลังเท้าเดินได้หลังการผ่าตัดหลายครั้งตั้งแต่เด็ก จนใช้ได้เกือบปกติแต่ก็ไม่ร้อยเปอร์เซ็นต์ ตอนเด็กๆ ผมอยู่กับคนไม่พิการตลอด มีพี่ชายเป็นคนไม่พิการ เลยไม่อยากอยู่แบบคนพิการ ตอนนั้นไม่รู้ว่าคนพิการคืออะไร รู้แค่ไม่อยากนั่งวีลแชร์เลยฝึกกายภาพและดูแลตัวเองตั้งแต่ช่วงอยู่โรงพยาบาล ฝึกใส่เบรส (Brace) หรือเหล็กดามขาสองข้างที่ลีบและไม่มีแรงเพื่อให้เข่าไม่งอ
พอมาอยู่โรงเรียนเพชราวุธวิทยาฯ แถวเกษตร เพื่อนๆ เล่นฟุตบอลกันแต่เราเตะไม่ได้ จะไปโดดหนังยางกับผู้หญิงก็คงไม่เหมาะ ก็เลยลองตีเทเบิลเทนนิส ตอนนั้นไม่ได้คิดว่าจะเล่นเพื่อติดทีมชาติแต่อยากพัฒนาร่างกายตัวเองมากกว่า แรกๆ พอใส่กางเกงขาสั้นก็โดนล้อไอ้เป๋ ไอ้ง่อยบ้างเพราะแปลกกว่าเพื่อน แต่สุดท้ายถ้าเราจมอยู่กับคำว่าไอ้เป๋ ไอ้ง่อย ก็ไม่ได้อะไร ผมเลยเอาคำเหล่านี้มาผลักดันตัวเอง
ผมมองว่าครอบครัวเป็นสังคมที่เล็กที่สุดแต่สำคัญที่สุด พ่อแม่ไม่เคยเก็บผมไว้ที่บ้าน มีมอเตอร์ไซค์ก็ขับพาผมไปทุกที่ ออกไปเจอคนข้างนอก เหมือนเป็นพลังบวกให้กับตัวเองว่า เรามีครอบครัวและเกราะป้องกันที่ดี เลยเผชิญกับสังคมข้างนอกได้ดี
แต่ถึงยังไงก็มีอุปสรรคอยู่บ้าง เช่น การขึ้นรถเมล์ ผมต้องนั่งรถเมล์ไปโรงเรียน เรียนเสร็จก็นั่งไปซ้อมเทเบิลเทนนิส บางครั้งก้าวขึ้นไปขานึงแล้วรถเมล์ออกก็มี คนช่วยดึงขึ้นก็มี บางทีก็ต้องยืนจนสุดสายแต่นี่คือชีวิต ผมอยากเดินทางด้วยตัวเองเพราะไม่ได้มีคุณพ่อดูแลตลอดเวลา เขาเองก็ต้องทำงาน ส่วนแม่ก็ขายอาหารตามสั่ง
จากไม่กล้า จนสนุกกับเทเบิลเทนนิส
พอ ม.1 ผมย้ายมาโรงเรียนหอวังด้วยโควตาช้างเผือกกีฬาเทเบิลเทนนิส ช่วงปิดเทอมผมก็ไปเล่นที่สมาคมเทเบิลเทนนิสสโมสรตำรวจที่พ่อดูแลอยู่ ตอนแรกๆ ผมกลัว รู้สึกแปลกที่ที่ต้องซ้อมเทเบิลเทนนิสกับเครื่องยิงลูกอัตโนมัติ พอช่วงบ่ายพี่ๆ มาซ้อม เราก็แอบ ไม่กล้าตีกับเขา เป็นอย่างนี้อยู่หลายอาทิตย์ จนวันหนึ่งพ่อมาเห็นว่าผมไม่เข้าไปตีข้างใน ผมเลยบอกว่า ผมอายไม่กล้าไปตีกับพี่เขา ได้แต่แอบดูว่าพี่เขาตีลูก forehand และตีลูก backhand ยังไง พ่อก็ลูบหัวผมแล้วพาเดินเข้าไปในยิม นั่นแหละคือจุดเริ่มต้นของการตีเทเบิลเทนนิสอย่างจริงจัง
ความสนุกขอเทเบิลเทนนิสคือการชิงไหวชิงพริบ เป็นกีฬาที่มีเทคนิคค่อนข้างสูง มีการตีหลายความเร็ว (speed) เขาตีความเร็วหนึ่งมาเราควรตั้งหน้าไม้เพื่อให้ลูกกระดอนลง แต่ถ้าความเร็วสิบเราควรปิดหน้าไม้เพื่อให้ลูกลงฝั่งตรงข้าม ถ้าเรายังตั้งหน้าไม้เหมือนความเร็วหนึ่งก็จะติดตาข่าย และถึงจะรู้เบสิกหมด แต่ยังมีเรื่องความ spin ลูกเทเบิลเทนนิสลูกกลมสามารถสร้าง spin ในการตีไม่เหมือนกัน หมุนซ้ายข้าง หมุนไปข้างหน้า ฯลฯ เวลาตีเล่นกันคนจะมองว่าง่าย แต่พอตีในระดับสูงก็เป็นเกมที่ชิงไหวชิงพริบกันมาก เหตุผลนี้ผมเลยยืนระยะได้ หากผมไปเล่นกรีฑาหรือว่ายน้ำที่ต้องการพลังก็คงไม่ไหว
กีฬาเทเบิลเทนนิสคนพิการเป็นอย่างไร
จุดเริ่มต้นกีฬาคนพิการ คือตอน ม.2 ที่มีการคัดตัวกับรุ่นพี่ ผมชนะพี่เขา ทุกคนดีใจที่มีเด็กรุ่นใหม่เข้ามา ตอนแรกไม่ได้คาดหวังว่าไปแข่งแล้วจะได้เหรียญทอง แต่พอแข่งแล้วได้เหรียญทองประเภทชายเดี่ยว คลาส 6 นั่นเป็นจุดเริ่มต้นของผมที่ทำให้จากไอ้เป๋ ไอ้ง่อยกลายเป็น “พี่รุ่ง ไม้ปิงปอง”
ตอนอายุ 23 ผมเกือบได้ไปพาราลิมปิกเกมส์แต่แพ้แมตช์ชิงแชมป์เอเชียที่ญี่ปุ่น 17 : 21 แต้ม หลังการแข่งขันนี้ผมก็รู้ว่าสามารถพัฒนากีฬาชนิดนี้ได้
กีฬาเทเบิลเทนนิสคนพิการแบ่งเป็นทั้งหมด 10 คลาส คลาส 1-5 นั่งวีลแชร์ คลาส 6-10 พิการแต่ยืนตีได้ คลาส 6 ก็คือแขนขาสองข้างแบบผม แต่ถ้าคลาส 10 แทบจะเหมือนคนไม่พิการเลยคือ นิ้วขาดนิดหน่อยหรือว่าไหล่หลุด นักกีฬาทุกคนจะมีคะแนน 100 คะแนน และถูกตัดคะแนนจากจุดที่พิการ ถ้าคะแนนต่ำก็อยู่ในคลาสต่ำ ถ้าคะแนนสูงอยู่ในคลาสสูง จะได้ไม่ได้เปรียบเสียเปรียบเยอะกันไป
ดรอปเรียนมาเล่นทีมชาติ
ผมเรียนมาตลอดจนมีอยู่ช่วงหนึ่งที่เปลี่ยนชีวิตคือตอนเข้ามหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ตอนนั้นผมไปแข่งพาราลิมปิกครั้งแรกในปี 2008 เรียนไปด้วยซ้อมไปด้วยอยู่พักหนึ่งก็ดรอปเรื่องการเรียนไว้ด้วยความคิดแบบเด็กๆ ว่าอยากเล่นกีฬาอย่างเดียว ผลคือตกรอบแรก เป็นอะไรที่เฟลที่สุดในชีวิตการกีฬา หลังจากนั้นประมาณ 3 เดือน ผมไม่เอาเทเบิลเทนนิสเลย อยู่แต่ร้านเกมส์กับกลุ่มเพื่อน กินนอน 24 ชั่วโมง รับจ้างเล่นเกมส์ เล่นเสร็จนอนอยู่ร้านแล้วก็ตื่นมาเล่นต่อ
สิ่งที่ผมกลัวคือการถูกบอกว่าขี้แพ้ แต่ปรากฎว่าไม่ใช่ น้องๆ ดีใจที่พี่รุ่งกลับไปซ้อม พ่อผมก็มาตามว่าจะกลับไปเรียนและกลับไปซ้อมได้ยัง ผมเลยเริ่มต้นใหม่อีกครั้งและได้ทุนนักกีฬาที่มหาวิทยาลัยรัตนบัณฑิตจนจบตรี-โท และปัจจุบันได้ปริญญาดุษฎีบัณฑิตจากมหาวิทยาลัยการกีฬาแห่งชาติ จนได้แฟนจากการเรียนที่ดูแลชีวิตกันมายาวจนลูกอายุ 13 ผมไม่รู้ว่ากีฬาจะอยู่กับเราได้นานแค่ไหน แต่ความรู้จะอยู่คู่ตัวตลอดไปจึงตั้งใจเรียนเพื่อเอาวุฒิไปทำงาน
ในช่วงซ้อมเราทำการบ้านกับโค้ชเรื่องเงื่อนไขในการแข่งขันพาราลิมปิก การเข้าร่วมไม่ยาก แต่ทำยังไงให้ได้เหรียญ จะต้องมีเงื่อนไขการควอลิฟายคุณสมบัติ (qualify) ว่าเป็น 1 ใน 4 ของโลก ในรอบ 8 คนสุดท้ายที่ลอนดอน ผมอยู่อันดับ 5 ของโลกแล้ว งบที่ กกท.ให้มาไม่พอไปแข่งแมตซ์สุดท้ายที่อาร์เจนตินา คุณพ่อต้องไปกู้สหกรณ์ตำรวจส่วนหนึ่ง โค้ชเรี่ยรายเงินจากผู้ปกครองส่วนหนึ่งจนได้ไปแข่ง และคว้าแชมป์ขึ้นเป็นอันดับ 4 ของโลก
หลังจากผ่านรอบ 8 คน รอบรองฯ รอบชิงฯ จนได้แชมป์เทเบิลเทนนิสพาราปิกเกมส์ปี 2012 ผมไม่รู้ว่าตัวเองแข่งกับใคร จนตอนหลังมารู้ว่าในรอบรองฯ เราเจอกับแชมป์เก่าจากประเทศเดนมาร์ก ผมชนะ 3 : 2 เกมส์ ส่วนในรอบชิงฯ ผมรู้สึกปลดล็อก ตีสบาย ตอนนั้นตีกับนักกีฬาจากสเปนซึ่งเป็นมือดีมากและได้เหรียญทองประเภททีมมาแล้ว แต่สุดท้ายผมก็ชนะเขา 3 : 0 และได้แชมป์มา
ความกดดันและความประทับใจเมื่อเป็นแชมป์
พาราลิมปิกเกมส์ 3 ครั้งที่ผ่านมาไม่เหมือนกัน ตอนแข่งที่ลอนดอนผมไม่มีหัวโขนที่ต้องแบก แต่พอ ครั้งต่อมาที่บราซิลในหัวมีคำว่า ต้องได้ สิ่งนี้ทำให้ผมตีไม่ดี ตีเสียเองเลยได้เหรียญทองแดง แต่พอมาที่ญี่ปุ่น ผมไม่มีคำว่าต้องได้ คิดแค่ผมคือรุ่งโรจน์คนเดิมที่ทำแต้มต่อแต้มให้ดีที่สุด ก็รู้สึกผ่อนคลายกว่าก็ได้ทองแดงมา แต่ก็รู้สึกภูมิใจและดีใจในเหรียญทองแดงนั้น
จนแมตซ์ที่ปารีสล่าสุด ผมไม่มีคำว่ารุ่งโรจน์ต้องได้อะไร ห่วงแค่เรื่องขาที่บาดเจ็บ คิดว่าถ้าขาดี ทุกอย่างจะดีเอง ไม่คาดหวังว่าจะได้เหรียญและไม่รู้สึกกดดันอะไรเลย แค่ลองเปลี่ยนความกดดัน เป็นความรู้สึกว่า ลองเริ่มต้นใหม่สิ เริ่มเป็นศูนย์เหมือนเดิมและทำแต่ละแต้มให้ดีสิ ถึงแม้ไม่ได้เหรียญก็ไม่เครียด แต่ยังอยู่ในเส้นทาง
แมตซ์ที่ประทับใจที่สุดคือพาราลิมปิกเกมส์ที่ลอนดอนที่ผมได้เหรียญทองที่สุดเพราะเป็นจุดสูงสุดของนักกีฬาแล้ว แต่อีกครั้งหนึ่งคือพาราลิมปิกเกมส์ ปารีสล่าสุดที่ชนะนักกีฬาเดนมาร์ก มือหนึ่งของโลก สภาพร่างกายผมไม่ดีแต่ผมสามารถเอาตัวรอดชนะมาได้ ผมชมตัวเองว่าผมแม่งโคตรเก่ง เพราะรู้ตัวดีว่าผ่านอะไรมาบ้าง ก่อนหน้านี้เคยแข่งกับเขา 3-4 ครั้งแล้วก็ไม่เคยชนะ คราวนี้เลยประทับใจมาก
รุ่งโรจน์และสิงห์
ทุกคนถามว่ารุ่งโรจน์จะเล่นเทเบิลเทนนิสไปถึงเมื่อไหร่ ตอนนี้ผมมีไฟที่จะซ้อมเทเบิลเทนนิสและแข่งเทเบิลเทนนิสอยู่ เพราะมีลูก 2 คน เรารู้ว่าทำเพื่อใคร สมมติเรายังไม่มีลูก อยู่กับภรรยา 2 คน ก็คงเป็นรุ่งโรจน์เฉื่อยๆ เหมือนเดิมเพราะภรรยาก็มีหน้าที่การงานโอเค ผมก็โอเคในระดับหนึ่งแล้ว ครอบครัวก็มีธุรกิจ แต่พอมีลูกก็ไม่อยากให้เขามองว่า พ่อเป็นคนพิการแล้วดูแลเขาไม่ดี เราอยากให้คุณภาพชีวิตเขาดีที่สุดเท่าที่พ่อคนนี้จะทำให้ได้ ก็เลยมีไฟตีเทเบิลเทนนิสมา 25-26 ปี ตั้งแต่อายุ 13 ตอนนี้ก็ 38 แล้ว
ลูกคนโตของผม 5 ขวบครึ่ง คนเล็กขวบครึ่ง คนโตชื่อบุญรอด คนเล็กชื่อสิงห์ ตอนตั้งชื่อบุญรอดก็ไปขอคุณจุตินันท์ ภิรมย์ภักดี อดีตประธานพาราลิมปิกไทย ตอนนั้นท่านยังมีชีวิตผมก็ขอท่านว่า ขออนุญาตตั้งชื่อบุญรอดได้ไหม เพราะผมมีทุกวันนี้ได้เพราะท่าน ท่านบรรจุผมเข้าบริษัทบุญรอดเพื่อให้ได้เงินเดือน ไม่ต้องทำงาน มีเวลามาซ้อมเทเบิลเทนนิสได้ ท่านยังเป็นประธานให้ผมในงานแต่งด้วย เรียกว่าสนับสนุนผมในทุกด้าน นอกจากนี้ก็เป็นคนที่ใส่ใจ เต็มที่ในการช่วยเหลือผมทุกครั้งเวลาเดือดร้อนหรือต้องการอะไร
จนถึงตอนนี้ทุกอย่างถูกถ่ายทอดมาที่คุณต่อย ณัยณพ ภิรมย์ภักดี ลูกชายของท่าน และประธานคนปัจจุบัน ที่ไม่ได้ดูแลแค่นักกีฬาระดับท็อปๆ เท่านั้น แต่ดูแลทุกคนตั้งแต่รากหญ้า ยิ่งเริ่มต้นยิ่งสนับสนุนให้เติบโต พอเราดูแลตัวเองได้ระดับหนึ่งแล้ว ก็ไปสนับสนุนคนใหม่ๆ ให้รากฐานแน่นขึ้นมา
บรรยากาศที่ปารีส
คิดว่าถ้าไม่เจ็บขา รอบชิงฯ ชายคู่ผมน่าจะทำได้ดีกว่านี้ เราเคยชนะคู่แข่งจากจีนแล้วตอนเอเชียนพาราเกมส์ ที่หางโจว แต่รอบนี้ชายคู่ร่างกายผมตีต่อเนื่องไม่ไหวเพราะล้ามากแล้ว
จริงๆ อาจใช้คำว่าลงแข่งไม่ได้ก็ได้เพราะหนึ่งเดือนก่อนแข่งผมข้อเท้าอักเสบ เดินไม่ได้เลยจนต้องนั่งวีลแชร์ ถึงได้ซ้อมหนึ่งอาทิตย์ก่อนแข่ง ทำให้ทักษะแย่ลง แต่ที่สำคัญคือประสิทธิภาพของร่างกายลดลงเพราะไม่ได้ออกกำลังอย่างต่อเนื่อง ที่บ้านและทีมแพทย์กายภาพเลยรู้ดีว่า รุ่งโรจน์โคตรใจสู้ ขนาดมีอาการบาดเจ็บ เดินไม่ได้ อักเสบ บวม ฉีดยาเข้าข้อ ตอนแข่งก็ต้องกินยา 10 วันติด ก็ยังสู้
ตอนไปเก็บตัว แม้แต่โลโก้พาราลิมปิกเกมส์ในหมู่บ้านนักกีฬาผมยังไปไม่ถึงเลย เลยไม่ได้อิ่มเอมกับบรรยากาศในพาราลิมปิกเกมส์ครั้งนี้สักเท่าไหร่ ได้นั่งรถชัตเตอร์บัสจากที่พักไปสนามกีฬา 40 นาที ได้ดูบรรยากาศรอบเมือง ดูอารยธรรมเก่าแก่ และวันสุดท้ายได้ไปหอไอเฟล ไปโบสถ์ เพราะเช่ารถตู้กันเองไปยังสถานที่สำคัญทางประวัติศาสตร์ หลังจากนั้นก็บินกลับวันที่ 9
เบื้องหลังความสำเร็จที่คนอื่นไม่เห็น
ผมอยากชมคุณหมอและนักกายภาพ อย่างที่บอกว่าผมมีอาการบาดเจ็บเยอะ พวกเขาดูแลผมดีมาก ท่านผู้ว่า กกท. อย่าง ดร.ก้องศักด ยอดมณี ก็ให้ทีมแพทย์ดูแลผมอย่างดี บางครั้งต้องปิดคลินิกดึก แต่ก็เป็นดาบสองคมเมื่อเราใช้ทรัพยากรและทีมแพทย์เยอะ ผมก็กลัวจะไม่ประสบความสำเร็จ กลัวความคาดหวัง
ปํญหาหนึ่งที่นักกีฬาไม่กล้าพูดคือเรื่องบุคลากรที่ไม่พอ ผมมองว่าผมจะพูดเพื่อเป็นกระบอกเสียงให้คนอื่น จากตอนพาราลิมปิกเกมส์ที่ญี่ปุ่นมีนักกายภาพคนเดียว หมอ 2 คน วันนี้ได้หมอ 3 คนและนักกายภาพ 3 คน นี่คือสิ่งสำคัญเพราะถึงแม้วันนั้นนักกีฬาอาจไม่บาดเจ็บ แต่การมีพร้อมทำให้นักกีฬาได้เตรียมตัว หากคาดหวังผลงานให้ดี ลงทุนงบประมาณเก็บตัวเป็นร้อยล้าน การเพิ่มคนสองคนเพื่อดูแลเราก็เป็นสิ่งสำคัญ ไม่ใช่แค่ผมที่ได้ประโยชน์ พี่แวว (สายสุนีย์ จ๊ะนะ) ก็มาทำกายภาพทุกวัน มาฝังเข็ม มาพบคุณหมอจิตวิทยาเรื่องความเครียด ทีมนี้สนับสนุนอยู่เบื้องหลังจริงๆ แต่ไม่ค่อยมีใครพูดถึง
การฝึกซ้อมและเป้าหมายที่ชัดเจน
6 โมงเช้าถึง 7 โมงครึ่งผมมาฟิตเนสออกกำลังแบบคาร์ดิโอ 9 โมงถึง 11 โมงมาตีเทเบิลเทนนิส บ่าย 3 ถึง 5 โมงเย็นตีเทเบิลเทนนิส 1 ทุ่มถึง 3 ทุ่มตีเทเบิลเทนนิสกับคนไม่พิการ ทุกวันนี้เราซ้อมที่มหาวิทยาลัยธนบุรี มีเยาวชนทีมชาติ นักกีฬาทีมชาติและนักกีฬาต่างประเทศมาซ้อมร่วมกันวันจันทร์ถึงศุกร์
ผมคิดว่าระหว่างทางสำคัญพอๆ กับเป้าหมายหรือสำคัญกว่าเป้าหมายอีก ถ้าตั้งเป้าไว้ว่า ต้องได้เหรียญทองพาราลิมปิกเกมส์แต่ซ้อมอาทิตย์ละวัน วันละ 2 ชั่วโมง มันจะได้ไหม มันสอดคล้องกันไหม มันก็ไม่สอดคล้องกัน ถ้าเราตั้งเป้าเหรียญทองแล้วซ้อม 6 วัน ก็มีโอกาสเป็นไปได้เพราะสอดคล้องกับเป้าหมาย ทุกอย่างมันสัมพันธ์กันหมด
เรารู้ว่าทำเพื่อลูก เราต้องลงสองอีเว้นท์เพราะหากได้เหรียญเดียวลูกต้องแย่งกันแน่ๆ ตีเทเบิลเทนนิสก็เหมือนทำงาน แต่ดีกว่าพนักงานบริษัทที่ต้องตอกบัตร 9 โมงเช้า สาย ขาด ลาโดนหักเงิน การเป็นนักกีฬายืดหยุ่นได้ สมมติซ้อม 9 โมง วันไหนเกิดเหตุไม่คาดคิดเข้าห้องน้ำนานหน่อยก็ไป 10 โมงได้ไม่โดนหัก สาย ลา เพราะเราอยู่แบบครอบครัว
สำหรับผมไม่มีโปรแกรมการฝึกซ้อมแบบไหนดีที่สุด ลองเอานักกีฬาที่เพิ่งเริ่มเล่นสองคนมาเล่นพร้อมๆ กัน ก็อาจจะได้ผลทั้ง 2 โปรแกรม ขึ้นอยู่กับว่าคุณประยุกต์ใช้โปรแกรมอันไหนให้เข้ากับนักกีฬาคนพิการคนนั้น อย่างผมคลาส 6 ที่พิการขาแขน ไปใช้โปรแกรมคลาส 10 ที่ต้องวิ่ง 5 กิโลเมตรก็คงไม่ได้ โค้ชก็ต้องลงรายละเอียดของนักกีฬาแต่ละคน
คุณค่าของกีฬาคนพิการ
สมัยก่อนผมไม่เคยรู้ว่ามีกีฬาคนพิการ จนผมเขามาอยู่วงการ ผมพยายามจะช่วยเหลือคนอื่นตลอดเวลาเลย เช่น เข็นวีลแชร์ แต่ผมก็ได้รู้ว่า จริงๆ เขาไม่ต้องการความช่วยเหลืออะไรจากเราเลย เขาเป็นคนพิการที่อัพเกรดแล้ว ดูแลตัวเองได้
พี่ๆ หลายคนเป็นคนพิการที่อัพเกรดตัวเองแล้ว ถ้าเขาไม่ต้องการความช่วยเหลือจริงจัง เขาจะไม่ขอความช่วยเหลือ คนที่ไม่มีแขนก็สามารถใช้ขากินข้าวได้ สามารถประยุกต์ตัวเองและต้องดูแลตัวเองให้ได้ เดิมหลายคนอาจจะอยู่บ้านมีคนคอยดูแล แต่พอมาอยู่ในแคมป์เก็บตัวเป็นนักกีฬา เขาต้องดูแลตัวเองให้ได้
คนพิการจำนวนหนึ่งเล่นกีฬาเพื่อเลี้ยงปากเลี้ยงท้องตัวเอง ถึงแม้ไปแข่งแล้วไม่ได้เหรียญก็ยังมีเงินเดือนระหว่างทาง หากไปแข่งแล้วประสบความสำเร็จก็ถือว่าเป็นโบนัสที่ทำให้ดูแลตัวเองและครอบครัวได้ดีขึ้น คนที่มาอยู่ในจุดนี้ไม่ได้เป็นภาระสังคม แต่เขาสามารถทำชื่อเสียงให้กับประเทศได้
การแข่งครั้งหน้าคาดหวังอะไร
ระหว่างทางก่อนจะแข่งครั้งหน้า เราจะมีการแข่งซีเกมส์และเอเชียนเกมส์ ปีหน้าไทยเราเป็นเจ้าภาพซีเกมส์ที่โคราช ผมก็ต้องเก็บสะสมคะแนนเหมือนเดิม แต่คงไม่เยอะแล้วเพราะจะให้น้องรุ่นใหม่ไปแข่ง เพื่อให้ได้อันดับโลกที่สูงขึ้น ปีหน้าคงจะเป็นปีของนักกีฬารุ่นใหม่ที่ซ้อมแล้วยังไม่ได้แข่งขัน ผมอยากให้เขาแสดงศักยภาพที่ฝึกซ้อมมา
ผมอยู่ในวงการมา 24-25 ปี เห็นว่าสมัยก่อนพี่สมชาย ดวงแก้ว พี่ประวัติ วะโฮรัมย์ ได้เหรียญมาก็ไม่ได้เงินอัดฉีดมากขนาดนี้ ยังต้องเอาเหรียญทองไปแห่ตามจังหวัดต่างๆ เพื่อขอเงินเขา แต่ตอนนี้รางวัลของเหรียญทองขึ้นมาเป็น 7.2 ล้าน เหรียญเงิน 6 ล้าน เหรียญทองแดง 3 ล้าน ก็ถือว่าภาครัฐดูแลเราได้อย่างดี
ส่วนภาคเอกชนก็ให้ความสำคัญมากขึ้น มีการจ้างงานในบริษัทต่างๆ เพื่อให้เราไปอยู่และซ้อมได้อย่างดี ก็อยากให้ภาคเอกชนให้ความสำคัญเราต่อไป และสนับสนุนในด้านอื่นๆ เพิ่มเติมด้วย
ถ้าถามว่าผมเป็นโค้ชไหม ตอบเลยว่า ไม่ ผมอิ่มกับเทเบิลเทนนิสแล้ว เล่นอีกมากที่สุดก็คงไม่เกิน 12 ปี หลังจากนี้ผมคงใช้ชีวิตกับลูก พอลูกโตแล้ว ก็คงใช้ชีวิตกับภรรยา เพราะว่าผมกับภรรยาได้ไปฮันนีมูนทีเดียวเองหลังแต่งงาน หลังจากนั้นก็ไม่ได้ให้ชีวิต ให้เวลาอะไรกับเขาสักเท่าไหร่ เลยอยากเก็บเงินก้อนเอาไว้ใช้ปั้นปลายชีวิต
สำหรับลูกก็คงไม่ได้คาดหวังว่าเขาต้องมาดูแล ขอแค่ให้เขาดูแลตัวเองได้ ก็อยากมองลูกโตขึ้นไปทุกวัน เราเพิ่งเข้าใจว่าทำไมพ่อแม่ถึงมาดูเราซ้อมกีฬาทุกวัน จนลูกผมเล่นเทควันโด เราได้ไปนั่งดูเขา ก็นั่งยิ้มที่ได้เห็นพัฒนาการของเขา
การมีกีฬาคนพิการเปลี่ยนมุมมองเรื่องคนพิการไหม
เปลี่ยนแน่นอน สิ่งที่ผมภูมิใจมากที่สุดตอนนี้คือ ผมได้เหรียญทองพาราลิมปิกเกมส์ที่ลอนดอน ได้ชื่อเสียง เกียรติยศ แต่อีกอย่างคือผมได้นั่งรถแห่จากสนามบินเพื่อเข้าทำเนียบ ได้สร้างจุดยืนว่าคนพิการไม่ได้เป็นภาระต่อสังคม คนพิการเองต้องทำให้สังคมเห็นว่า เราทำอะไรได้บ้าง ก่อนที่จะไปร้องขอให้ช่วย ต้องแสดงศักยภาพก่อน
ผมเชื่อว่าคนทั่วไปให้โอกาสและพื้นที่กับคนพิการมากขึ้น คุณไม่ต้องเล่นกีฬาก็ได้ คุณทำบัญชีหรือกราฟิก ออกแบบอะไรจนกลายเป็นอาชีพก็ได้ อย่ารอโอกาสลอยมาแต่เราต้องออกไปหาโอกาส
หากสนใจกีฬา ก็ขอให้คุณกล้าออกมาก่อน ลองเริ่มจากมหกรรมกีฬาคนพิการชิงแชมป์ประเทศไทย กีฬาแห่งชาติคนพิการ ผมเองก็หาช้างเผือกหรือคนที่พอมีแววจากตรงนี้ หรือไม่ก็สามารถติดต่อสมาคมกีฬาคนพิการแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ แจ้งว่าสนใจเล่นกีฬาชนิดนี้ ก็จะมีโครงการต้นกล้า มีที่ซ้อม มีที่พัก แค่คุณเสียสละตัวเองออกมา แสดงให้คนเห็นว่าคุณทำอะไรได้