Skip to main content

เชื่อว่าหลายคนที่ไปโรงพยาบาลน่าจะเห็นป้ายที่ติดหน้าห้องตรวจมีโลโก้ห้ามถ่ายรูป ห้ามถ่ายวิดีโอ และห้ามบันทึกเสียงพร้อมกับข้อความคล้ายๆ กันว่า “การถ่ายภาพหรือบันทึกเสียง ในขณะที่แพทย์ พยาบาล ทำการรักษาพยาบาลถือเป็นการละเมิดสิทธิ ในการทำการรักษาผู้ป่วยของแพทย์และพยาบาล และเป็นการขัดขวางหรือทำให้การตรวจรักษาไม่สะดวก ซึ่งอาจเกิดผลร้ายกับผู้ป่วย หากนำไปเผยแพร่โดยไม่ได้รับอนุญาตและเกิดความเสียหายขึ้น จะต้องถูกดำเนินคดีตามกฎหมาย โดยมีโทษทั้งจำและปรับ” และเขียนอ้างอิงบรรทัดสุดว่า อ้างอิงมาจากมาตรา 7 พระราชบัญญัติสุขภาพ พ.ศ. 2550

นอกจากป้ายดังกล่าว เราอาจจะเห็นข่าวคนไข้ไม่พอใจหมอ หรือคดีฟ้องร้องกันอยู่บ่อยๆ  ทำให้เกิดความสับสนว่า อะไรที่ทำได้หรือไม่ได้บ้าง เช่นเดียวกับคนหูหนวกที่ไปใช้บริการ พวกเขาจำเป็นจะต้องมีล่าม และบางครั้งล่ามก็อยู่ในรูปแบบของวิดีโอคอล แล้วการวิดีโอคอลนั้นทำได้หรือไม่ อะไรที่เป็นข้อห้ามแต่อาจถูกยกเว้นในเรื่องการอำนวยความสะดวก และความไม่เข้าใจต่างๆ ทำให้คนหูหนวกเข้าถึงการแพทย์ยากอย่างไร Thisabe.me ชวนคุยกับคนหูหนวกเรื่องประสบการณ์การหาหมอ และกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับปัญหาการเข้าถึงข้อมูลทางการแพทย์ของคนหูหนวกไทย 

มีมือยื่นออกมาตรงกลางภาพ พร้อมถือโทรศัพท์บนหน้าจอเขียนว่า “ห้ามถ่ายรูป ห้ามถ่ายคลิป ห้ามบันทึกเสียง” และขวาล่างมีข้อความข้างใต้ว่า "เมื่อกฎหมายไม่ชัดเจน ส่งผลให้คนหูหนวกเข้าไม่ถึงการรักษาพยาบาล"

สิทธิผ่านกฎหมายที่คนหูหนวกควรได้รับ

อย่างที่เกริ่นไปก่อนหน้านี้ ไทยเองมีความพยายามรักษาความลับของคนไข้ตามมาตรา 7 ของพระราชบัญญัติสุขภาพ พ.ศ. 2550 ที่ระบุว่า 

“ข้อมูลด้านสุขภาพของบุคคล เป็นความลับส่วนบุคคล ผู้ใดจะนำไปเปิดเผยในประการที่น่าจะทำให้บุคคลนั้นเสียหายไม่ได้ เว้นแต่การเปิดเผยนั้นเป็นไปตามความประสงค์ของบุคคลนั้นโดยตรง หรือมีกฎหมายเฉพาะบัญญัติให้ต้องเปิดเผย แต่ไม่ว่ากรณีใดๆ ผู้ใดจะอาศัยอำนาจหรือสิทธิตามกฎหมายว่าด้วยข้อมูลข่าวสารของราชการหรือกฎหมายอื่นเพื่อขอเอกสารเกี่ยวกับข้อมูลด้านสุขภาพของบุคคลที่ไม่ใช่ของตนไม่ได้”

จากการตีความมาตรา 7 อาจทำให้บุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุขเข้าใจว่า ไม่สามารถวิดีโอคอลได้ ส่งผลให้คนหูหนวกไม่สามารถติดต่อกับล่ามภาษามือเพื่อแปลสารของตัวเองและหมอ เช่น อาการที่เป็น การวินิจฉัย การดูแลตัวเอง ยาที่ต้องกิน เป็นต้น

ในสหรัฐอเมริกา มีพระราชบัญญัติคนพิการชาวอเมริกันปี 1990 (Americans with Disabilities Act : ADA) ซึ่งมุ่งขจัดการเลือกปฎิบัติกับคนพิการ ดังนั้นคนพิการทางการได้ยินมีสิทธิขอล่ามเพื่อเข้าถึงข้อมูลทางการแพทย์ของตนได้อย่างมีประสิทธิภาพ และช่วงที่ประธานาธิบดีโอบามาดำรงตำแหน่งก็ได้เพิ่มความเข้มข้นการเข้าถึงบริการทางสุขภาพอย่างเท่าเทียมด้วยการประกาศใช้รัฐบัญญัติคุ้มครองผู้ป่วยและการดูแลที่จ่ายได้ (The Patient Protection and Affordable Care Act) หรือรู้จักกันสั้นๆ ว่า โอบามาแคร์ มาตรา 1557 ระบุไว้ว่า หากผู้ให้บริการทางสุขภาพที่ได้รับเงินจากกระทรวงสุขภาพและบริการมนุษย์สหรัฐอเมริกานั้นเลือกปฏิบัติบุคคลจากเชื้อชาติ สีผิว ชาติกำเนิด เพศ อายุ หรือความทุพพลภาพเป็นเรื่องผิดกฎหมาย

อย่างไรก็ดี ถึงแม้สหรัฐฯ จะมีกฏหมายและรัฐบัญญัติ แต่ความเป็นจริงยังมีคนหูหนวกจำนวนมากไม่สามารถขอล่ามจากสถานบริการทางสุขภาพได้ เช่น กรณีของคนหูหนวกที่สื่อสารผิดพลาดจนทำให้ถูกถอนฟันไป 7 ซี่  ( Deaf patient didn’t know she agreed to have 7 teeth removed in Washington, feds say) หรือคนหูหนวกที่ชนะคดี หลังสถานพยาบาลไม่มีล่าม จนทำให้สถานพยาบาลนั้นถูกลงโทษปรับและต้องจัดหาล่ามภาษามือ ในที่สุด (South Florida Hospital Fined Following Deaf Patient's Lawsuit

ปัญหาการเข้าถึงล่ามของคนไข้หูหนวกไทย 

ภาพเฟิรสท์ใส่ชุดเดรสสายเดี่ยวสีขาว บนหัวมีมงกุฎเล็กๆ กรีดมือประคองหน้าด้านขวามือพร้อมกับมองกล้อง แล้วยิ่มจนเห็นเหล็กดันฟันสีฟ้า

เฟิรสท์—ธัญชนก จิตตกุล 

เฟิรสท์—ธัญชนก จิตตกุล คนหูหนวก เจอปัญหาการสื่อสารระหว่างหมอ พยาบาล กับเธออยู่หลายครั้ง เธอย้อนกลับไปสมัยตอนที่ยังไม่มีบริการล่ามภาษามือออนไลน์ (TTRS) ตอนนั้นเธอขอให้พ่อแม่แฟนมาช่วยสื่อสาร พอมีบริการดังกล่าวก็ไม่ต้องรบกวนพ่อแม่อีก แต่ TTRS กลับไปไม่ช่วยอำนวยความสะดวกในการหาหมอ

“เราเคยบอกหมอว่า เราเป็นคนหูหนวกนะ ขอใช้ TTRS คุยกับล่ามได้ไหม หันกล้องไปหาหมอ เขาก็ผลักออก ไล่เรากลับบ้าน”

พอเปลี่ยนวิธีสื่อสารเป็นการเขียน ศัพท์ทางการแพทย์ก็เขียนยาก เฟิรสท์จำไม่ได้ว่าคำๆ นั้นในภาษาไทยเขียนว่าอย่างไร พอเขียนภาษาไทยคุยกับหมอ หมอมีท่าทีงงๆ ไม่เข้าใจว่าคืออะไร

คำพูดของเฟิรสท์ชวนให้นึกถึงบทสัมภาษณ์ของชนากานต์ พิทยภูวไนย : หน้าที่ของล่ามภาษามือคือแปลสารให้ครบถ้วน เพื่อเป็นเสียงให้กับคนหูหนวก ที่เล่าทัศนคติที่ค้นพบระหว่างเป็นล่ามให้คนหูดีและคนหูหนวกคือ คนหูหนวกเขียนไม่รู้เรื่องเพราะต้องเข้าใจว่าคนหูหนวกใช้ภาษามือเป็นหลักและเขียนน้อยมาก เช่นเดียวกับที่ศาสตราจารย์วิริยะ นามศิริพงศ์พันธุ์กล่าวผ่านรายงานเรื่อง TTRS พันธกิจเพื่อ “โลกไม่เงียบ” ของ “คนไร้เสียง”  บนเว็บไซต์ The Story Thailand สอดคล้องไปในทางเดียวกันว่า คนพิการทางการได้ยินใช้ภาษาเขียนได้ แต่ไม่สะดวก เพราะรูปแบบไวยากรณ์ภาษาเขียนกับภาษามือต่างกัน ภาษาไทยที่คนหูดี พูด อ่าน เขียนทุกวันนี้คือ ภาษาที่สองของคนหูหนวก ล่ามจึงต้องเข้ามาช่วยเหลือ

ภาพโน้ตสวมชุดสูทสีแดง หันหน้าตรงแล้วยิ้มให้กล้อง

โน้ต—ศิริชัย กรุดสุข


ส่วนโน้ต—ศิริชัย กรุดสุข คนหูหนวกอีกคนก็ประสบปัญหาเช่นเดียวกัน ตอนนั้นทั้งหมอและพยาบาลไม่ให้ใช้บริการ TTRS แบบวิดีโอคอล แต่ให้อ่านปากและเขียนสื่อสาร

“พยาบาลเคยบอกว่าใช้ TTRS เหรอ รู้ไหมมันผิดพ.ร.บ. มันผิดกฎหมาย เราคิดว่าเป็นสิทธิของเราที่จะใช้บริการ TTRS เรารู้สึกว่าเขาใจแคบ มันแปลกมากเลยที่โรงพยาบาลมองแบบนี้”

สิทธิที่โน้ตกล่าวถึงคือ คนหูหนวกมีสิทธิใช้บริการล่ามภาษามือตามระเบียบคณะกรรมการส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการแห่งชาติว่าด้วยบริการล่ามภาษามือ พ.ศ. 2552 ได้ทั้งหมด 5 ด้าน ได้แก่ การแพทย์ การสมัครงานและการประกอบอาชีพ การติดต่อตำรวจหรือชั้นศาล การประชุมอบรมสัมมนา และบริการสาธารณะอื่นๆ ซึ่งศูนย์บริการถ่ายทอดการสื่อสารแห่งประเทศไทย (TTRS) จัดตั้ง เพื่อให้คนพิการทางการได้ยินสื่อสารกับคนทั่วไปผ่านโทรคมนาคมพื้นฐานได้อย่างทั่วถึงและเท่าเทียม โดยมีวัตถุประสงค์ให้เข้าถึงบริการของภาครัฐและเอกชนได้อย่างคล่องตัวและมีประสิทธิภาพมากขึ้น

ความกลัวการแอบถ่ายและไม่รู้จักวิธีการสื่อสารกับคนหูหนวก

 หมอไม่พร้อม "แบก " งานหนัก- เงินน้อย- ถูกฟ้อง เป็นชิ้นงานที่เคยเผยแพร่ลงเว็บไซต์ Thaipbs เนื้อหาสัมภาษณ์เภสัชกรประจำโรงพยาบาลเอกชนแห่งหนึ่ง ย่านนนทบุรี ระบุประเด็นปัญหาที่แพทย์ปัจจุปันต้องเผชิญว่า

“แพทย์รุ่นใหม่จะไม่แบกรับอะไรที่เป็นภาระหนัก เขาจะไม่เป็นเดอะแบก การทำงานต้องมีเวลาพัก เรียกว่า Work life and Balance ไม่อยากเสี่ยงต่อการถูกฟ้องร้อง หรือถูกกดดันจากผู้ป่วย ปัจจุบันผู้ป่วยและญาติก็ไม่ธรรมดา มีการแอบถ่ายคลิป ตั้งแต่เข้าห้องตรวจ”

ภาพหมอวัฒใส่เสื้อโปโลสีดำ ถือลูกโปงตัว P หันหลังให้กับกล้อง

 นายแพทย์วัฒ หมอโรงพยาบาล


จากประเด็นดังกล่าว นายแพทย์วัฒ หมอโรงพยาบาลแห่งหนึ่งให้ความเห็นส่วนตัวเรื่องการแอบถ่ายคลิปคุณหมอว่า เหตุการณ์คลิปแอบถ่ายหมอแล้วเป็นข่าว หมอโดนด่า พอเห็นคนไข้ ญาติคนไข้ทำท่าหยิบมือถือขึ้นมา ก็คิดว่าจะถ่ายรูป ถ่ายวิดีโอ นอกจากนี้การถ่ายเป็นการรบกวนอย่างหนึ่ง เหมือนมีคนมากดดัน หมอจะเกร็ง หากรักษาผิดพลาด หมอไม่มีโอกาสแก้ตัว ส่วนปัญหาการใช้ TTRS รูปแบบวิดีโอคอลหรือห้ามล่ามเข้าห้องตรวจนั่นน่าจะเกิดจากความไม่รู้ว่าจะสื่อสารกับคนหูหนวกอย่างไร

“ปัญหาน่าจะคือเรื่องของการรับรู้มากกว่า เอาจริงๆ หมอส่วนใหญ่ไม่รู้เลยว่ามีแอพนี้ ถ้าเขารู้อาจจะมีแนวคิดเปลี่ยนไปว่าหยิบกล้องขึ้นมาไม่ใช่แอบถ่าย เราไม่เคยได้ยินมาก่อนเลย ถ้าไม่ได้เจอกับล่ามภาษามือที่โรงพยาบาล

“ประเด็นนี้เซนซิทีฟ หมอไม่เข้าใจว่าทำไมต้องใช้กล้อง แถมที่ผ่านมาก็มีอคติ หากสร้างความเข้าใจว่าคนหูหนวกต้องใช้ล่าม เขาหยิบกล้องมาวิดีโอคอลหาล่ามเพื่อการสื่อสาร หมอก็จะเข้าใจมากขึ้น”

ส่วนจะเข้าข่ายผิดมาตรา 7 หรือไม่ หมอวัฒได้กล่าวว่า ถ้าไม่มีผู้เสียหายสามารถใช้วิดีโอคอลได้ ถ่ายรูปได้ แต่ถ้าถ่ายติดคนอื่นแล้วเขาเดือนร้อน ก็มีความผิด หากมีการประชาสัมพันธ์บุคลากรในโรงพยาบาลให้มีความรู้ว่า  คนหูหนวกสื่อสารกับคนหูดีต้องใช้ล่ามภาษามือ ก็น่าจะเป็นความคิดที่ดีมาก 

ล่ามตัวเป็นๆ และ ตู้ TTRS นั้นไม่ตอบโจทย์การใช้งาน 

นอกจากการวิดีโอคอลหาล่ามผ่าน TTRS แล้ว ก็ยังมีบริการตู้ล่าม ที่ตั้งอยู่ตามสถานที่ต่างๆ แต่ตู้ดังกล่าวนั้นกลับใช้งานจริงไม่ค่อยได้

“ตัวตู้อยู่ข้างนอก เราจะทำยังไงให้หมอมาคุยกับล่ามที่ตู้ มันไม่ค่อยมีประโยชน์ แต่ถ้าเป็นในแอพพลิเคชั่นง่ายกว่ามากเลย”

คำพูดเฟิร์สทสะท้อนให้เห็นว่าตำแหน่งตู้ TTRS ใน 12 โรงพยาบาลทั่วประเทศไทย ส่วนใหญ่อยู่บริการสำหรับผู้ป่วยนอก (OPD) และไม่เกิน 2 ตู้ต่อโรงพยาบาลเท่านั้น

ในรายงาน TTRS พันธกิจเพื่อ “โลกไม่เงียบ” ของ “คนไร้เสียง” ได้กล่าวถึง ชนัญชิดา ชีพเสรี หัวหน้าล่ามภาษามือประจำศูนย์ TTRS มีความเห็นตรงกับศาสตราจารย์วิริยะ นามศิริพงศ์พันธุ์ว่า เทคโนโลยีการสื่อสารจะเข้ามาช่วยแก้ไขข้อจำกัดด้านเวลา ทำให้ล่ามไม่จำเป็นต้องเสียเวลาไปหาหมอกับคนหูหนวกทั้งวันเพื่อรอคุยกับหมอและแปลสารแค่ 10 นาที 

นอกจากวิดีโอคอล โน้ตมองว่า การมีล่ามมาหาหมอด้วยเป็นเรื่องดีกว่าเพราะสุขภาพเป็นเรื่องสำคัญ หากล่ามอธิบายอาการเจ็บป่วยของคนหูหนวกให้หมอฟังได้อย่างละเอียด ก็จะทำให้คนหูหนวกเข้าใจอาการป่วยชัดเจน 

"แต่ละครั้งที่ใช้บริการล่ามออนไลน์ ก็จะไม่ได้ล่ามคนเดิม แต่ถ้าเอาล่ามประจำของเรามา เขารู้ว่าสุขภาพเราเป็นยังไง แปลต่อเนื่องให้เราได้ ถ้าเปลี่ยนล่าม วิธีการสื่อสารเปลี่ยน เลยไม่สามารถถ่ายทอดข้อความที่เราต้องการสื่อได้ครบถ้วน” 

การเข้าถึงข้อมูลเป็นเรื่องสำคัญ 

โน้ตเล่าให้ฟังว่า มีอยู่ครั้งหนึ่งเขาไปหาหมอฟัน แต่หมอฟันไม่ยอมให้ล่ามเข้า เขาไม่รู้ว่าต้องทำอะไรบ้าง เพราะไม่ได้ยิน มองไม่เห็นเพราะโดนปิดตา

“อยากให้หมอและพยาบาลรู้และเข้าใจว่าล่ามช่วยให้เราเข้าถึงข้อมูล มันเป็นเรื่องสำคัญ ล่ามจะได้อธิบายให้ชัดเจน” 

ตามกฎหมายแล้ว การทำให้ผู้ใช้บริการไม่ได้รับข้อมูลอย่างครบถ้วนแพทย์จะมีความผิดตามมาตรา 8  ในการบริการสาธารณสุข บุคลากรด้านสาธารณสุข ต้องแจ้งข้อมูลด้านสุขภาพที่เกี่ยวข้องกับการให้บริการให้ผู้รับบริการทราบอย่างเพียงพอที่ผู้รับบริการจะใช้ประกอบการตัดสินใจในการรับหรือไม่รับบริการใด และในกรณีที่ผู้รับบริการปฏิเสธไม่รับบริการใด จะให้บริการนั้นไม่ได้

“การวิดีโอคอลช่วยให้ล่ามอธิบายอาการเราได้ แต่ถ้าหมอไม่ใช้บริการล่าม มั่วแต่เขียน ดูท่าทางของเรา วินิจฉัยผิด เราตายจะทำยังไง คุณจะรับผิดชอบยังไง ชีวิตเราก็สำคัญ”  เฟิร์สกล่าวทิ้งท้าย

อย่างไรก็ดี ยังไม่มีบทลงโทษสำหรับผู้กระทำผิดมาตรา 8 ดังนั้นการฟ้องเพื่อเรียกร้องความเป็นธรรมในการเข้าถึงข้อมูลทางการแพทย์ของคนหูหนวกจึงแทบจะไม่มีให้เห็นเหมือนในหลายๆ ประเทศที่พยายามกำจัดอุปสรรคการสื่อสารของคนหูหนวก เช่น สหรัฐอเมริกา อังกฤษ ออสเตรเลีย เป็นต้น 

 

อ้างอิง

http://web1.dep.go.th/sites/default/files/files/law/%E0%B8%A3%E0%B8%B0%E0%B9%80%E0%B8%9A%E0%B8%B5%E0%B8%A2%E0%B8%9A%E0%B8%AF%20%E0%B8%A7%E0%B9%88%E0%B8%B2%E0%B8%94%E0%B9%89%E0%B8%A7%E0%B8%A2%E0%B8%9A%E0%B8%A3%E0%B8%B4%E0%B8%81%E0%B8%B2%E0%B8%A3%E0%B8%A5%E0%B9%88%E0%B8%B2%E0%B8%A1%E0%B8%A0%E0%B8%B2%E0%B8%A9%E0%B8%B2%E0%B8%A1%E0%B8%B7%E0%B8%AD%20%E0%B8%9E.%E0%B8%A8.%202561.PDF

https://www.dep.go.th/images/uploads/files/manual_interpreter2021.pdf

https://www.dms.go.th/backend/Content/Content_File/Information_Center/Attach/25621124013609AM_17.pdf

https://omhc.dmh.go.th/law/files/%E0%B8%9E%E0%B8%A3%E0%B8%9A.%E0%B8%AA%E0%B8%87%E0%B9%80%E0%B8%AA%E0%B8%A3%E0%B8%B4%E0%B8%A1%E0%B9%81%E0%B8%A5%E0%B8%B0%E0%B8%9E%E0%B8%B1%E0%B8%92%E0%B8%99%E0%B8%B2%E0%B8%84%E0%B8%B8%E0%B8%93%E0%B8%A0%E0%B8%B2%E0%B8%9E%E0%B8%8A%E0%B8%B5%E0%B8%A7%E0%B8%B4%E0%B8%95%E0%B8%84%E0%B8%99%E0%B8%9E%E0%B8%B4%E0%B8%81%E0%B8%B2%E0%B8%A3-%E0%B8%9E.%E0%B8%A8.2550.pdf

https://www.ttrs.or.th/%E0%B8%A3%E0%B8%B9%E0%B9%89%E0%B8%88%E0%B8%B1%E0%B8%81-ttrs/