“ตาบอดแล้วยังเดินห้างได้ สุดยอด
“พิการแล้วยังเรียนจบปริญญาได้อีก
“สวยนะแต่ไม่น่าพิการเลย”
ใครๆ ก็อยากได้คำชม แต่ชมแบบนี้ได้จริงๆ เหรอ สัมภาษณ์คนพิการเรื่องคำชมที่คนพิการไม่อยากได้แม้จะเจตนาดีก็ตาม เพราะหลายคำพูดก็เต็มไปด้วยการเปรียบเทียบ แต่หลายคำพูดก็เป็นสิ่งที่เราก็เคยพูดไปแต่อาจไม่รู้ว่ามีปัญหาตรงไหนทำไมคนพิการจึงไม่อยากได้
“ว้าว เก่งจังเลยกินข้าวเองได้ด้วย”
เก่ง - ณรงค์ศิลป์ ล้านศรี
เก่ง : ตอนนั้นกำลังนั่งกินข้าวอยู่ในโรงอาหารมหาวิทยาลัย ไม่รู้เป็นใครมาจากไหน เขาเดินมาร้อง “ว้าว เก่งจังเลยกินข้าวเองได้ด้วย” เราก็เอ้า เพิ่งรู้ตอนนั้นว่ามันเป็นคำชมกันได้ด้วย คำนี้มันกลายเป็นคำชมเพราะเขาเห็นเราเป็นคนพิการเขาก็เลือกตัดสินแล้วว่าทำไม่ได้ มันคือการตัดสินชั่วพริบตาเดียวจากคนอื่น ตอนนั้นเราก็ได้แต่ยิ้มแห้ง ไม่ได้พูดอะไร
การทำอะไรง่ายๆ ของคนพิการทำแล้วก็กลายเป็นสิ่งวิเศษ เป็นเพราะมายาคติต่อเรื่องคนพิการในสังคมนั้นมีการเหมารวม ความสงสาร รวมถึงศาสนาที่กล่อมเกลาความเชื่อเรื่องความพิการ ทุกอย่างรวมกันเป็นอันเดียว
คนเราถ้าได้รับคำชมที่จริงใจก็ทำให้รู้สึกดี มีพลังบวกได้ทั้งนั้น จริงๆ ที่เขาชมก็ไม่ได้ถือว่าไม่จริงใจนะ แต่เราคิดว่ามันเกินจริง ถ้าจะชมก็ควรชมด้วยความจริงใจและไม่เกินจริง เช่น ชมเรื่องทักษะความสามารถของเรา สิ่งที่เราทำจริงๆ เช่น เราสามารถทำหนังได้ ตัดต่อวิดีโอได้ เมื่อผลงานของเราถูกใจเขาเขาก็ชม แบบนี้ทำให้เรารู้สึกดี เพราะเป็นสิ่งที่เราฝึกฝนมา
ลองคิดดูดีๆ ว่ามันตลกไหม เมื่อคนชมกันเองในสิ่งที่อยู่ในชีวิตประจำวัน ชมว่ากินข้าวได้ เที่ยวได้ เดินได้ เก่งจังเลย ผมเองก็รู้สึกว่าตัวเองเป็นคนเก่งมาก ไม่ใช่เพราะกินข้าวเก่งมาก แต่เราเป็นคนมีความสามารถ แม้จะยังต้องถูกพัฒนาขัดเกลาต่อก็ตาม
“หน้าตาก็ดี เสียดาย ไม่น่าเป็นคนพิการ”
หญิง - กนกวรรณ นาคนาม
หญิง : ช่วงที่ทำขนม เขาก็พูดว่านั่งวีลแชร์ยังทำขนมได้ เราก็อธิบายไปว่าอาจจะลำบากกว่าคนปกติทั่วไปทำ เพราะเรานั่งทำ อาจจะต้องระวังเรื่องความร้อน แต่แค่อยากทำก็ทำ รู้ว่าต้องใช้ความพยายามมากหน่อย แต่ก็ไม่ได้รู้สึกยากหรือพิเศษมากว่าคนอื่นกับแค่การนั่งทำขนม
คำชมที่รู้สึกอิหยังวะที่สุดของเราคือ “สวยจัง ไม่น่านั่งวีลแชร์เลย” หรือ “หน้าตาก็ดี เสียดาย ไม่น่าเป็นคนพิการ” คิดไปคิดมาไม่รู้เขาชมเราหรือเปล่า เจอบ่อยๆ เราก็ขอบคุณไป แต่เราก็ไม่รู้ว่าจะต้องทำหน้าหรือรู้สึกยังไง หลายคนมักจะเข้ามาแบบรู้สึกเห็นใจ น่าสงสาร ทั้งที่เราไม่ได้ทำตัวให้เขาสงสารเลย เราก็แต่งหน้าทำผมให้สวยที่สุดเวลาออกไปใช้ชีวิต เพียงแค่เราต้องนั่งใช้ชีวิตเท่านั้นเอง
ก็ไม่รู้ว่าทำไมวิธีคิดคนไทยจึงคิดเรื่องคนพิการพ่วงกับความน่าสงสาร ทั้งที่หลายคนก็เหลือตัวเองได้ ออกไปใช้ชีวิตปกติเหมือนคนอื่น แต่พอไปเจอสถานที่ที่มันเข้าถึงยาก ไม่สะดวกก็ทำให้ใช้ชีวิตลำบาก ทางที่ดีคือควรไปปรับปรุงให้คนพิการเข้าถึงง่ายขึ้น ไม่ใช่มาสงสารเรา
อีกเรื่องที่ไม่เข้าใจคือทำไมสื่อถึงไม่นำเสนอคนพิการให้เป็นคนธรรมดาที่ใช้ชีวิต ชอบทำให้ดูพิเศษกว่าคนทั่วไป เราอยากเห็นสื่อที่นำเสนอได้สร้างสรรค์กว่านี้ เช่น การช่วยเหลือคนพิการด้วยวิธีที่ถูกต้องทำยังไง หรือการถามก่อนการช่วยเหลือก็เป็นสิ่งที่คนไม่ค่อยทำกัน
เราเคยแต่งตัวไปเที่ยวคาเฟ่กับเพื่อนก็มีคนในอินเตอร์เน็ตมาคอมเมนต์ว่า ทำไมถึงแต่งตัวแบบนี้ พิการก็น่าจะแต่งตัวให้มันเรียบร้อยหน่อย เราก็แค่ผู้หญิงคนหนึ่งที่อยากแต่งตัวแซ่บๆ ไปเที่ยว เลยเกิดคำถามว่า เป็นคนพิการมีขอบเขตเหรอว่าต้องแต่งตัวแบบไหนหรือไม่ควรแต่งแบบไหน เป็นคนพิการห้ามแต่งหน้าแต่งตัวเหรอ ทั้งที่เราแค่ดูแลตัวเอง สิ่งเหล่านี้เป็นเพราะสื่อที่สร้างภาพจำเดิมๆ ให้กับคนพิการที่ใช้ความน่าสงสารเรียกเรตติ้ง คนพิการแต่งตัวตามที่อยากไม่ใช่ไม่มีกาลเทศะแต่เขาก็แต่งตัวเหมาะสมตามสถานที่ เราไปเที่ยวคาเฟ่ไม่ได้ไปวัด เรื่องการแต่งตัวและหน้าตาไม่ควรถูกเอามาตัดสิน ไม่ว่าคนพิการหรือไม่พิการ
ถ้าอยากจะชมก็คือชม ไม่ต้องมีแต่ สวยก็คือสวยไม่ได้เกี่ยวกับพิการหรือไม่พิการ ไม่ต้องเสียดายที่เรานั่งวีลแชร์หรือเป็นคนพิการ จะชมก็ชม จะว่าก็ว่า ถ้าผิดก็ตำหนิไปเลย ติเพื่อก่อก็ยิ่งดี เรารับฟังนะเพราะคำติทำให้พัฒนาตัวเองได้ เราก็ยอมรับที่จะฟัง ไม่ใช่ว่าเป็นคนพิการจะผิดไม่ได้ บ้งไม่ได้ เราก็ต้องรับฟังคนอื่นด้วยเหมือนกัน
ดีที่สุดคือปฏิบัติกับเราเหมือนเป็นมนุษย์ทั่วไป ปฏิบัติให้เท่ากัน คุณชมคนอื่นแบบไหนคุณก็ชมเพื่อนคนพิการแบบนั้น
“…เก่งมาก ขนาดเขาตาบอดยังเรียนได้เลย”
บิ๊กเบล - กฤษณ์พงษ์ เตชะพลี
บิ๊กเบล - เหมือนเขาชมเราเพื่อเอาเราไปเปรียบเทียบกับคนอื่น ส่วนใหญ่เราจะเจอตอนยังเป็นเด็กนักเรียน ครูชมว่าขนาดเพื่อนตาบอดยังเรียนได้เลย ทำไมพวกเธอถึงไม่ตั้งใจเรียน ทำไมไม่อยากเรียน เราฟังแล้วก็รู้สึกอึดอัด รู้สึกว่ามันเป็นคำชมที่ออกจะเป็นคำประชดมากกว่า แล้วก็เอาเราไปเปรียบเทียบกับคนอื่น ซึ่งมันก็มองได้สองมุม บางคนเขาก็อาจจะมองเป็นแรงบันดาลใจ แต่บางคนเขาอาจจะรู้สึกว่าเป็นการเอาความพิการของเราไปกดคนอื่น มีร่างกายครบกว่าแต่ไม่ทำตัวให้เป็นประโยชน์ ผมรู้สึกว่าไม่โอเค มันไม่เกี่ยวกัน
เรามักได้ยินคอนเส็ปที่ว่า เป็นคนพิการนั้นสู้ชีวิต แต่ที่จริงแล้วไม่ว่าใครๆ ก็ต้องสู้ชีวิตเหมือนกัน วิธีชมแบบนี้ทำให้คนในสังคมเข้าใจคนพิการแบบผิด แม้อีกมุมหนึ่งจะมองว่าเป็นแรงบันดาลใจได้ บางคนถึงขั้นมองเราเป็นฮีโร่ แต่ก็อาจจะมองข้ามความปกติของพวกเราออกไปก็ได้ ผมเป็นทนายความถามว่าผมเก่งกว่าคนอื่นไหม ก็ไม่ ผมก็สอบเข้าเหมือนกับคนอื่น อาจจะได้รับการส่งเสริมในเรื่องของการเข้าถึงสื่อเพราะเราเป็นคนตาบอด แต่ในเรื่องอื่นๆ เราก็ไม่ต่างกัน ผมไม่ได้มองว่าสิ่งเหล่านี้เป็นอภิสิทธิ์ การเป็นทนายความก็ต้องแข่งกันที่ความรู้ความสามารถ ทักษะและประสบการณ์
ประเด็นเรื่องการสร้างแรงบันดาลใจตัวผมเองก็ไม่ได้ติดใจอะไร แต่การมองคนพิการเป็นฮีโร่มันเป็นปัญหา ยิ่งเมื่อเอาไปเปรียบเทียบกับคนอื่น ผมฟังแล้วก็ไม่ได้ภูมิใจ คนที่ชมอาจจะไม่ได้คิดอะไรแต่คนที่ฟังรู้สึก แม้กระทั่งบางครั้งคนพิการด้วยกันเองก็ไม่ได้มีทักษะหรือความสามารถที่เก่งเหมือนกันไปหมด บางคนชอบชมคนพิการว่าเรียนเก่ง ซึ่งในความเป็นจริงมันก็มีคนพิการที่เรียนไม่เก่งเหมือนกัน แต่เขาอาจจะมีความสามารถด้านอื่น
อีกมุมนึงถ้าไม่ชมแบบเวอร์ ก็จะมองแบบกดหรือน่าสงสารไปเลย คนพิการไทยก็เลยกลายเป็นเครื่องมือของการทำบุญ เขามองว่าเรากลายเป็นบุคคลที่จะต้องสงเคราะห์ตลอดเวลา ทั้งที่ความจริงแล้วสิ่งที่คนพิการต้องการมากที่สุดก็คือโอกาส
ผมมองว่าการชื่นชมคนพิการนั้นทำได้ ที่พูดมาไม่ได้หมายความว่าห้ามชม ห้ามด่าเลย ถ้าชมในความสามารถอันนี้เราโอเค แต่ชมด้วยการเอาความพิการมายกตัวเราแบบนั้นไม่ใช่ ชมว่าเล่นกีฬาเก่ง ชมว่ามีความตรงต่อเวลา ชมว่ามีความรับผิดชอบต่อหน้าที่ ไม่ใช่ชมว่าเป็นคนตาบอดแล้วขึ้นรถเมล์ได้ ออกไปเที่ยวห้างได้ เป็นคนตาบอดแล้วไม่หลงทั้งที่คนตาบอดหลงทางเยอะแยะ แต่ผมก็ไม่ได้ไปโกรธอะไรเขาแค่สงสัยว่าเขาอาจจะไม่รู้จริงๆ หรือเปล่าว่าจะต้องปฏิบัติกับคนพิการอย่างไร ถ้าชมกันเรื่องความสามารถผมว่ามันน่าภาคภูมิใจมากกว่านะ
มุมหนึ่งก็มองได้เหมือนกันว่าคนไม่มีความคาดหวังต่อคนพิการ วันนี้ยังมีคนที่มีลูกเป็นคนพิการแต่ไม่กล้าพาออกสู่สังคม เขาเลยคาดหวังคนพิการอยู่แค่นั้น ถ้าอะไรที่เกินความคาดหวังก็กลายเป็นเรื่องที่แปลกมหัศจรรย์ ทั้งที่ความจริงคือเขาควรปรับสภาพแวดล้อมให้ทุกคนเข้าถึงได้ทั่วกัน เพื่อให้คนพิการใช้ชีวิตต่อได้ ไม่ใช่ปล่อยให้คนพิการออกมาลุยเอง แล้วคอยชื่นชม