Skip to main content

“ถ้าแขกไม่ให้สีไม้ 36 สีกับมือเด็ก สีเหล่านั้นไม่มีทางมาถึงมือเด็กพิการในสถานสงเคราะห์แน่นอน เพราะไปอยู่กับลูกผู้ดูแลหมด บางทีแมจะให้กับมือเด็กโดยตรงแต่พอไปถึงตึกนอน เจ้าหน้าที่ก็เอาอย่างอื่นมาขอแลก หรือมากดดันว่าจะต้องเอาของอันนั้นให้เขา”

หลายคนอาจเคยผ่านรั้วกำแพงสีหวานเย็น ด้านหน้ามีป้ายโฆษณาเชิญชวนบริจาคในวันเด็ก หรือวันเกิดใครหลายๆ คน หลายคนอาจเคยเข้าไปเป็นแขกเพื่อเลี้ยงข้าวเลี้ยงขนมใน “สถานสงเคราะห์” หรือบางที่ก็ใช้ชื่อว่า ”บ้านเด็ก” มีทั้งภายใต้สังกัดของรัฐ และเอกชน ทำหน้าที่ด้านสังคมสงเคราะห์ในการเลี้ยงดู รักษาพยาบาล กระตุ้นพัฒนาการ รวมถึงกายภาพบำบัดให้แก่คนพิการ งานของสถานสงเคราะห์จึงค่อนข้างกว้าง แต่ก็สำคัญในรายละเอียด 

หนึ่งในคำถามที่หลายคนอยากรู้ก็คือเด็กๆ อยากได้อะไร ขนม ของเล่น หรือของใช้ เงิน ตำราเรียน อะไรคือสิ่งที่พวกเขาต้องการมากที่สุด เราเคยคุยเรื่องนี้กันในงานที่มีชื่อว่า เด็กในสถานสงเคราะห์อยากได้ขนมจริงหรือ?

นอกจากคำถามที่ว่าพวกเขาอยากได้อะไร คือเราอยากรู้ว่าพวกเขารู้สึกอย่างไร เมื่ออยู่ที่นั่น มีความเป็นอยู่อย่างไร และมีความสุขบ้างไหม รวมไปถึงคุณภาพชีวิต การเติบโต เราได้มีโอกาสคุยกับคนพิการที่เคยใช้ชีวิตอยู่ในสถานสงเคราะห์ 2 คน ต่างยุคสมัย ต่างสถานที่ นี่เป็นเพียงตัวอย่างหนึ่งของสิ่งที่เกิดขึ้นภายนั้น แม้สิ่งเหล่านี้อาจจะไม่เกิดขึ้นกับอีกหลายที่ แต่เรื่องราวทั้งหมดก็เกิดขึ้นจริงกับเพื่อนคนพิการของเรา 

“อยากให้ปฏิบัติกับเราดีกว่านี้”

ราวช่วงปี 2522 “อ.” คนพิการรุนแรง และต้องนั่งวีลแชร์ ใช้ชีวิตในสถานสงเคราะห์ตั้งแต่อายุ 14 ปี เธอถูกญาตินำมาทิ้งไว้ให้สถานสงเคราะห์แห่งหนึ่งในจังหวัดทางภาคกลาง แม้ว่ายายจะฝากเงินป้าก้อนใหญ่ก้อนหนึ่งไว้ให้สำหรับดูแลเธอ แต่ปลายทางเธอก็ยังต้องถูกส่งมายังสถานสงเคราะห์อยู่ดี 

“อยู่บ้านเด็กกำพร้ามาตั้งแต่อายุ 14 หลังจากแม่เสีย ยายป่วย ป้าก็บอกว่าจะพาไปอยู่ที่กรุงเทพฯ แต่พอมาถึงก็พาไปที่บ้านสถานสงเคราะห์เลย ยายมีเงินให้มาก้อนหนึ่งเพื่อใหดูแลเราแต่ปรากฏว่า ป้าเอาเงินไปเลยและเอาเรามาส่งที่สถานสงเคราะห์ 

“ไปอยู่สถานสงเคราะห์ตั้งแต่ปี 2522 ไปถึงก็ร้องไห้ เหงา คิดถึงบ้าน คนไปอยู่ที่นั่นช่วงแรกร้องไห้กันทุกคน รู้สึกแย่ ไม่มีอิสระ ทำอะไรก็ต้องทำเป็นกลุ่ม อยู่เป็นเวลา อยากกินของดีๆ อย่าได้ฝัน เว้นแต่จะมีคนรวยมาเลี้ยง ที่ได้กินบ่อยก็คือบะหมี่กึ่งสำเร็จรูป เวลาจะกินก็ใช้น้ำก๊อกต้มเอาอุ่นๆ อืดๆ ”

อ. เล่าถึงการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นกับตัวเองหลังเข้าไปอยู่ข้างใน ความเป็นส่วนตัวหายไป ต้องใช้ชีวิตร่วมกับเพื่อน ต้องใส่เสื้อผ้ารวมกัน ไม่มีเสื้อของตัวเอง และต้องทำกิจกรรมตามตารางที่ถูกวางมาให้แล้ว 

“อยู่ที่นั่นจะทำอะไรก็ต้องเป็นเวลา เขานอนเร็ว สองทุ่มก็ต้องเข้าไปนอนแล้วทั้งที่เราอยากจะทำอย่างอื่นต่อ อยากจะดูหนัง” 

“ในช่วงเวลานั้นเสื้อผ้าไม่มีของใครของมัน ต้องใส่รวมกัน กางเกงเป็นแบบเอวยางยืดคล้ายๆ กับในโรงพยาบาล เสี่ยงติดโรคทางผิวหนังเหมือนกัน กลากเกลื้อนก็ติดกันหลายคน” 

“เราเป็นคนพิการที่ต้องนั่งรถเข็นและช่วยเหลือตัวเองไม่ได้ในทุกเรื่อง แต่พออยู่ในนั้นเขาให้เราเข็นวีลแชร์ไปไหนมาไหนเอง กว่าเราจะเข็นไปถึงเขาก็แทบจะเลิกกิจกรรมไปหมดแล้ว แขนเราไม่มีแรงเข็น เขามองว่าเป็นการออกกำลังกายซึ่งจริงๆ แล้วมันไม่ใช่ ร่างกายของเราไม่มีแรง”

เธอเล่าอีกว่าจริงๆ แล้วสามารถออกไปข้างนอกได้เมื่อเป็นวันหยุด แต่การจะออกไปไม่ใช่เรื่องง่าย จะต้องทำเรื่องขออนุญาติ จะไปที่ไหน ไปกับใครและกลับเมื่อไหร่ และถ้ากลับมาช้าจะต้องถูกลงโทษ เธอมองว่าตลอดเวลาที่อยู่ในนั้นความสุขที่มีคือช่วงที่แขกจากภายนอกเข้ามาเลี้ยงอาหาร และพูดคุยกับเธอเพื่อคลายความเหงา ความเครียด

“หากจะออกข้างนอก จะไปไหนก็ต้องบอกเขา ไปเช้าเย็นกลับไปได้ เสาร์อาทิตย์ต้องทำเรื่องล่วง หน้าส่วนจะไปได้ ไม่ได้ ก็แล้วแต่เขาจะอนุญาต ถ้ากลับมาช้าก็จะโดนทำโทษ ตีมือด้วยไม้ ด้วยท่อหรือให้นั่งหน้าเสาธง” 

“เรามีความสุขก็ตอนที่มีคนมาเลี้ยงเพราะได้มีโอกาสพูดคุยกับคนอื่น แต่ตอนอยู่กับเจ้าหน้าที่เราไม่มีความสุข แขนขาเราไม่ดีเขาชอบพูดว่าเราขี้เกียจ เราเห็นคนพิการติดเตียงถูกตบต่อหน้าต่อตาเราเลยเพราะฉี่ราดกางเกง ช่วยเหลือตัวเองไม่ได้ เขาพิการทางสติปัญญา เจ้าหน้าที่ลงไม้ลงมือ เอาเท้าถีบหน้าก็มี เอาขันน้ำตีหัวก็มี”

“เวลามีคนมาบริจาคเสื้อผ้า ของดีๆ เขาก็แยกเอาไปหมด ขนมดีๆ ไม่เคยได้กิน คุกกี้กล่องแดงไม่เคยได้ ก็ไม่รู้ว่าเขาจะเก็บเอาไปทำอะไร” 

อ. บอกกับเราว่าไม่ใช่ทุกคนที่อยู่ในนั้นจะมีความสุข ความเป็นส่วนตัวที่หายไปทำให้เธอรู้สึกเครียด เมื่อมีแฟนก็ถูกตำหนิ และเต็มไปด้วยกฎระเบียบที่มีความจริงจัง สุดท้ายแล้วไม่มีคนพิกาารคนไหนอยากจะอยู่หรือใช้ชีวิตแบบนั้น แต่ชีวิตก็เลือกไม่ได้ทุกอย่าง แม้ในภายหลังเธอจะได้ออกมาใช้ชีวิตข้างนอกแล้ว เธอก็ยังจำเรื่องราวในนั้นได้ดี เธอย้ำกับเราว่าชีวิตที่ดีคือชีวิตที่มีอิสระ 

“ไม่ใช่ทุกคนจะมีความสุขเมื่ออยู่ในนั้น เพราะมันไม่มีความเป็นส่วนตัว ตอนมีแฟนเขาก็บอกว่าไม่เจียมตัวเอาซะเลย เรามองว่าถ้าข้างในให้อิสระมากกว่านี้หน่อย ไม่เข้มงวดมากจนเกินไปก็อาจจะทำให้มีความสุขขึ้น อยากให้ใจดีกับเรากว่านี้หน่อย” 

“เอาเข้าจริงไม่มีใครอยากอยู่ในนั้นหรอก แต่ถ้ามันไม่มีใครดูแลก็ไม่มีทางเลือก คนอาจจะมองว่าอยู่ในนั้นมีความปลอดภัย ซึ่งก็ถูก แต่ถ้าถามเรา เราชอบอยู่ข้างนอกมากกว่า อยู่ข้างนอกมีอิสระ  อยากกินอะไรก็ได้กิน อยากใส่ชุดอะไรก็ได้ใส่ แต่ต้องดูแลตัวเอง ระวังตัวเอง” 

“อิสระเป็นคำเดียวที่เรายึดถือ เราอยากให้สังคมรู้ว่าคนพิการก็มีหัวใจ อยากให้ปฏิบัติกับเราดีกว่านี้ ถ้าคุณเจอแบบที่เราเล่าบ้างคุณจะรู้สึกอย่างไร” 

“เราไม่เรียกที่นั่นว่าบ้านเราเรียกที่ซุกหัวนอน”

“ป.” เป็นคนพิการทางร่างกาย เธอโดนรถชนตอนเจ็ดขวบ พ่อแม่แยกทางกัน เธอถูกส่งมาอยู่กับอา ไม่ได้เรียนหนังสือ ก่อนที่ภายหลังจะได้รับคำแนะนำจากนักสังคมสงเคราะห์ ด้วยหวังใจว่าข้างในสถานสงเคราะห์จะสามารถดูแลเธอได้ดีกว่าที่เป็นอยู่

“เราอยู่กับอาสองคน ตอนเราพิการพ่อแม่ก็ไม่ได้มาดูแลเราแล้ว อาก็เลยไปติดต่อนักสังคมสงเคราะห์ที่โรงพยาบาล ว่าอยากให้หลานได้เรียนหนังสือ อยากให้ได้ออกไปใช้ชีวิตบ้าง แทนที่จะอยู่แต่บ้านเฉยๆ นักสังคมสงเคราะห์ก็เลยแนะนำบ้านสถานสงเคราะห์แห่งหนึ่งให้ตอนประมาณปี 2546

“ด้วยความเป็นเด็กเราไม่ได้คิดอะไรมาก ตอนพิการมันก็งงๆ อยู่ๆ ก็เดินไม่ได้ แล้วจะเล่นกับเพื่อนยังไง ก่อนพิการเราก็เป็นเด็กที่มีเพื่อนทั่วไป แต่พอพิการแล้วเรากลับกลายเป็นคนไม่มีเพื่อน คนที่คุยกับเราก็จะมีแต่ผู้ใหญ่ คนแก่เข้ามาคุย เพราะอยู่แต่ในบ้าน ในความคิดมีแต่วันนี้จะเล่นอะไรดี ไม่ได้รู้สึกดราม่า” 

เมื่อ ป.ต้องไปอยู่สถานสงเคราะห์ จากบ้านที่ภูเก็ตมาอยู่ภาคกลางตอนนั้นเธอรู้สึกในใจว่าอาคงทิ้งเธอไปแล้ว  เธอรู้สึกใจหายที่ได้เจอคนที่พิการเหมือนกัน หลายคนก็โตกว่า ตอนนั้นโลกความพิการของเธอกว้างขึ้นจนทำอะไรไม่ถูก

“วันแรกที่่ไปถึง พอเจะไปอาบน้ำ เราเห็นรุ่นพี่สองคนกำลังซักผ้าอยู่ เลยอยากจะเอาเสื้อผ้าไปขอซักด้วย เขาก็ไม่ให้ซักด้วย บอกของใครของมัน พอแป็ปเดียวก็มีคนเดินมาขอซักด้วยเหมือนกัน แต่รุ่นพี่พวกนั้นเขากลับให้ซัก เราก็งง ทำไมกูซักไม่ได้วะ ตอนนั้นเข้าใจเลยว่าคงต้องปรับตัวเยอะ

“ในนั้นไม่ได้มีใครมาบอก ว่าจะต้องทำอะไรหรือไม่ต้องทำอะไร อาศัยดูจากรุ่นพี่เป็นตัวอย่าง เขาทำอะไรเราก็ทำตาม เขาจะมีพี่เลี้ยงประจำตึก เวลาพี่เลี้ยงบอกว่าไปอาบน้ำ ไปกินข้าว เราก็ต้องไปตามที่เขาสั่ง แต่ถ้าเป็นเรื่องซักผ้า ออกไปข้างนอก มันไม่ได้มีใครบอก จะออกต้องทำยังไง ซักผ้าตรงไหน เอาผงซักฟอกตรงไหน หลายเรื่องก็ต้องเรียนรู้ด้วยตัวเอง”

กิจวัตรรวมหมู่

กิจวัตรประจำวันของเธอเริ่มขึ้นตั้งแต่ตี 5 หลังตื่นนอนก็ต้องไปอาบน้ำ ซึ่งเป็นการอาบรวมกับคนอื่นประมาณ 20 คน เสื้อผ้าก็ซักรวมของห้องซักผ้าสถานสงเคราะห์ ประมาณหกโมงเช้าก็ไปกินข้าว นั่งกินรวมกัน แล้วหลังจากนั้นก็จะมีบางคนไปโรงเรียน ส่วนที่ไม่ได้ไปก็จะแยกไปตามห้องฝึกอาชีพต่างๆ ห้องศิลปะ ห้องทำพรมเช็ดเท้า ทำดอกมะลิ หรือกลุ่มไปกายภาพบำบัด นันทนาการ  เที่ยงก็พักกินข้าว แล้วก็กลับไปทำกิจกรรมต่อ 

“ของเราพอโตขึ้นก็เริ่มไม่ได้ไปอาบน้ำรวมกับเพื่อนคนอื่นแล้ว  เราจะไม่อาบรอบรวมกับคนอื่น จะรอเขาอาบเสร็จก่อนแล้วค่อยไปอาบทีหลัง บางทีก็ไปอาบกับเพื่อนที่เป็นเด็กโตด้วยกันประมาณ 2-3 คน ถามว่าเขินไหมก็มีเขินแต่เราก็ทำอะไรไม่ได้

“เราอยู่ในนั้นเราก็ทำในสิ่งที่เราพอจะทำได้เพราะมันเปลี่ยนแปลงอะไรไม่ได้ อย่างตอนอาบน้ำเราก็ต้องอาบรวม ตอนนอนเราก็ต้องนอนรวม จะเด็กเล็กหรือเด็กโตก็ต้องนอนรวมกัน ซึ่งห้องนอนก็จะมีระบบพี่เลี้ยง 2-3 คนตามตึกต่างๆ ซึ่งพี่เลี้ยงเนี่ยเขาก็จะมีเตียงเป็นของตัวเอง ส่วนเด็กพิการก็จะต้องนอนพื้น ใช้การปูเบาะแล้วก็นอนเอา 

“อย่างตึกที่เราอยู่จะมี 2 ชั้น  ชั้นล่างจะเอาไว้ให้เด็กที่เป็นเด็กเล็ก ล็กหรือเด็กพิการซ้ำซ้อน เด็กที่ไม่ค่อยรู้เรื่องหรือเด็กตาบอดอยู่รวมกัน ประมาณ 50 กว่าคน ส่วนชั้น 2 จะเป็นที่สำหรับเด็กโต เด็กที่ได้ออกไปเรียนข้างนอกหรือเด็กที่อ่านเขียนรู้เรื่อง ก็จะได้อยู่ข้างบน ซึ่งก็จะเป็นกลุ่มที่มีอิทธิพล 

“ที่ตลกก็คือแม้จะเป็นสถานที่ของคนพิการแต่ก็ยังไม่ได้มีลิฟท์หรือสิ่งอำนวยความสะดวก เราได้ขึ้นไปอยู่ชั้น 2 ช่วง ม. 2 ก็ประมาณตอนมปลาย ต้องก็คือลงจากวีลแชร์แล้วคลานกระดึ๊บขึ้นไปเอง อยู่ชั้น 2 ่ในนั้นก็ใช้การถัดตัวคลานไปมาเอาเอง มีแต่บันไดล้วนๆ ไม่มีลิฟต์หรือทางลาดขึ้นชั้นบน

“ที่เล่ามาทั้งหมดนี้คือฝั่งของผู้หญิงอยู่ พอไปดูฝั่งของเด็กผู้ชายก็พบว่ามีความแตกต่างกันพอสมควร เช่น ที่นั่นจะมีเตียงให้กับทุกคน ไม่มีใครต้องนอนพื้น เราก็ไม่เข้าใจเหมือนกันว่าเพราะอะไร โคตรไม่เท่าเทียม อย่างตึกเด็กผู้ชายจะไม่มี 2 ชั้นจะเป็นตึกชั้นเดียวทั้งหมด จะเข้าออกก็สามารถใช้วีลแชร์ได้ปกติไม่ต้องเอาตัวดันไปมาตามพื้น เข็นรถไปได้ถึงหน้าเตียงนอนเลย เราก็ไม่เข้าใจเหมือนกันว่าเพราะอะไร โคตรไม่เท่าเทียม 

“ตึกที่เรานอนก่อนเข้าตัวอาคารจะต้องผ่านมีทางลาดที่เข้าไปในตัวอาคารก่อน ซึ่งความแย่ของมันก็คือไม่ได้มาตรฐาน ชันมากๆ เข็น เห็นวีลแชร์เข้าไปยาก ต้องใช้แรงเยอะมากในการเข้าที่พักของตัวเอง ทางลาดของฝั่งผู้ชายอันนี้ก็ชันเหมือนกัน เข็นกันจนกล้ามขึ้น มันแสดงให้เห็นถึงความไม่เข้าใจของผู้สร้าง  ซึ่งปัญหาแบบนี้ก็เป็นแทบจะทุกตึกเลย ทั้งเรื่องของทางลาด พื้นที่เรียบไม่เสมอกัน นเพราะตอนที่เราเอาตัวถัดไปกับพื้น เราก็ต้องระวังตัวเองไม่ให้เป็นแผล  แต่พอพื้นผิวไม่ดีก็เสี่ยงทำให้เกิดบาดแผลได้”

“คนที่ไปโรงเรียนก็จะแยกไปโรงเรียนข้างๆ เป็นโรงเรียนของคนพิการหรือไม่ก็โรงเรียนทั่วไปเราไม่มั่นใจเหมือนกันว่าทำไมไม่เหมือนกัน แต่เราเรียนที่โรงเรียนคนพิการข้างสถานสงเคราะห์ เพราะเราเป็นแผลกดทับ ทำให้ออกไปไกลไม่ได้ ไม่มีคนดูแลเรื่องแผล วันไหนเป็นหนักก็ต้องนอนอยู่ห้องพยาบาล แล้วจะมีครูมาสอนที่ห้องพยาบาล 

“แผลกดทับ ตอนนั้นเป็นเรื่องใหม่มากๆ สำหรับเรา เพราะไม่เคยพิการมาก่อน เราเป็นเด็กเราก็ห่วงแค่เรื่องเล่น เวลาเล่นก็จะอยู่แต่ในท่าเดิม ไม่ได้ขยับไปไหน แล้วช่วงล่างก็ไม่มีความรู้สึก สุดท้ายกลายเป็นแผลกดทับ ตอนที่เป็นหลายคนก็บอกว่าเราอาจไม่รอดก็ได้ แต่โชคดีที่หมอท่านหนึ่งเขารับเคสเราไปดูแล แล้วก็เอาใจใส่ในเรื่องของการดูแล ทำแผล ท่านอน อาบน้ำ เราเป็นตอน ป.1 หายตอน ป.3

“พอหายเราก็ต้องกลับมาเรียน ป.1 ใหม่ เพราะก่อนหน้ายังไม่จบ ก็เรียนป.1 ถึง ป.6 ที่โรงเรียนคนพิการ หลังจากนั้นก็ย้ายไปเรียนอีกโรงเรียนในระดับมัธยม ที่มีแต่เด็กพิการเหมือนกัน ส่วนใหญ่เป็นคนพิการทางร่างกาย หรือพิการทางสติปัญญา แต่ยังพอสื่อสารได้ หรือถ้ามีผู้ปกครองมาคอยดูแลเขาก็ให้เรียนได้ 

โรงเรียนที่ตั้งคำถามไม่ได้

“ในโรงเรียนคนพิการจะถูกป้อนข้อมูลตลอดเวลา เราจะถูกสอนให้เป็นผู้รับอย่างเดียว เรียนตามที่ครูบอก เขาไม่ได้สอนตั้งคำถามกับสิ่งที่เรียน อย่างชั่วโมงอิสระหรือแนะแนวก็คิดให้ว่าใครควรจะเรียนอะไร เราจะตั้งคำถามถึงสิ่งที่เราอยากเรียนไม่ได้”

อาจเพราะการเรียนการสอนเน้นการช่วยเด็กที่ทำไม่ได้ ครูจึงเน้นการทำให้ มากกว่าที่จะสอนให้เข้าใจ เธอเองที่เรียนเข้าใจแล้วก็ต้องรอเพื่อนและเคยถูกแยกสอนกับชั้นเรียนที่โตกว่า  

“เราค่อนข้างคิดเร็วทำเร็ว แต่ก็ต้องรอเพื่อนในห้องที่เขาเรียนช้า เราเคยโดนเอาออกมาแยกสอบคนเดียวจากเพื่อน หรือบางวิชาเขาก็ให้เราไปเรียนกับพี่ที่โตกว่า ความแตกต่างด้านการเรียนรู้ทำให้เกิดปัญหาภายในห้องเรียน คนเร็วก็เร็วไป คนช้าก็ไม่ไหว 

พื้นที่ส่วนตัว

ที่ที่เธออยู่มีโรงอาหารอยู่บริเวณกลางสถานสงเคราะห์ สถานที่ไม่ใหญ่มากแต่ก็บรรจุได้ถึง 100 - 200 คน ส่วนใหญ่เด็กที่ออกมากินข้าวที่โรงอาหารก็จะเป็นเด็กที่ค่อนข้างพูดจารู้เรื่อง เป็นเด็กโต ส่วนเด็กที่พูดไม่ค่อยรู้เรื่อง เป็นเด็กพิการซ้ำซ้อน หรือกลุ่มเด็กตาบอด ก็จะกินข้าวที่อาคารนอน 

“ในโรงอาหารก็จะมีห้องน้ำคนพิการอยู่ แต่ห้องน้ำคนพิการนี้เขาไม่ได้สร้างมาให้เราใช้ เขาสร้างให้เจ้าหน้าที่หรือแขกที่มาใช้ ถ้าเด็กพิการไปใช้ก็โดนด่าเละ “มึงไปใช้ได้ยังไง ของที่ตึกนอนก็มีทำไมมึงไม่ไปเข้า 

“ช่วงแรกๆ ที่ไปอยู่เราก็ยังไม่ได้มีมุมของตัวเอง อาศัยนอนตรงไหนก็นอน นอนกลางห้อง ข้างเตียงของพี่เลี้ยงหรือรุ่นพี่บ้าง พออยู่ไปสักพักนึงก็ได้ไปนอนบนเตียงเพราะรุ่นพี่แบ่งเตียงให้ พอเป็นเด็กโตก็จะเริ่มมีตู้เป็นของตัวเอง เจ้าหน้าที่เขาก็จะให้ตู้ เอาไว้เก็บของส่วนตัวและเสื้อผ้า มีตะกร้าผ้าให้อีกใบหนึ่ง ของมีค่าเราก็ต้องเก็บไว้ในตู้นั่นแหละ เพราะตู้มันล็อคได้ แต่ก็เคยมีเหตุการณ์เด็กพิการบางคนที่เขาสติไม่ค่อยดีมารื้อตู้ หรือไม่ก็ถูกทุบทำลาย เราเองก็เคยถูกพังตู้เหมือนกัน ของมีค่าของเราตอนนั้นก็คือสมุดระบายสี กับอุปกรณ์อาบน้ำก็ถูกขโมยหายไปเหมือนกัน” 

เธอเล่าว่า ทุกคนในสถานสงเคราะห์นั้นรู้จักกันหมด  ช่วงแรกๆ ป.แทบไม่มีเพื่อนสนิทเลยเพราะเป็นคนชอบอยู่คนเดียว  ส่วนความสัมพันธ์กับกลุ่มพี่เลี้ยงก็ไม่ค่อยดีสักเท่าไหร่ เพราะเธอมีบุคลิกดื้อเงียบและทำอะไรค่อนข้างช้า จึงโดนตะคอกบ่อยๆ และถูกบอกว่าให้ทำอะไรให้มันเร็วๆ หน่อย  

“เจ้าหน้าที่ในนั้นมีทั้งคนที่ดีและคนที่ไม่ดี คนที่ดีเราก็รู้สึกเหมือนเขาเป็นพ่อแม่ บางทีเขาก็ดี บางทีเขาก็ดุเป็นเรื่องปกติ จะคอยเตือนว่าควรหรือไม่ควรทำอะไร ส่วนคนที่ไม่ดีเขาก็จะไม่สนใจเรา อยู่ดีๆ อยากจะตีเราก็มี สมมติตอน 6 โมงจะต้องเข้าตึกเรากำลังเข็นวีลแชร์ขึ้นทางลาด เขาเห็นว่าเราช้าก็เดินมาฟาดเลย เอาไม้มาฟาดมือก็มี ทั้งที่เราก็ช้าไม่ถึง 5 นาที 

“คนที่พิการซ้ำซ้อนจะโดนค่อนข้างเยอะกว่า โดยเฉพาะเด็กตาบอดหรือพิการทางสมอง ครั้งหนึ่งที่กำลังจะไปอาบน้ำแล้วเด็กพิการคนหนึ่งกำลังถัดตัวไปห้องน้ำ เจ้าหน้าที่ก็ไม่รู้โมโหอะไรมาจากไหน ใช้กะละมังสแตนเลสฟาดเข้าที่หลังเด็กคนนั้น เป็นภาพที่โคตรเหี้ย ต้องขนาดนั้นเลยเหรอ ทั้งๆที่เด็กก็กำลังจะไปเข้าห้องน้ำ

“เจ้าหน้าที่คนเดียวกันบางวันถ้าเขาไม่พอใจเด็กบางคน เขาก็จะไม่ให้เด็กกินข้าวโดยเฉพาะเด็กที่ต้องกินข้าวในตึกคือเป็นกลุ่มคนพิการซ้ำซ้อนหรือรุนแรง โดยให้เหตุผลว่ากินข้าวมากเกินไป อ้วนมากไปหรือนอนทั้งวัน เขาจะไม่ให้กินข้าวเที่ยงหรือกินข้าวเย็นเลย เรื่องไม่สมเหตุสมผลแบบนี้มีเยอะมากในนั้น ที่เราพูดก็ไม่ได้หมายความว่าเจ้าหน้าที่จะเป็นคนไม่ดีไปทั้งหมด ก็มีที่เขาลงโทษเพราะเด็กทำผิดจริงๆ ก็มี

“ตอนเข้าไปอยู่แรกๆ เราก็มีโดนบ้าง แต่พอโตขึ้นมาหน่อยก็เริ่มไม่โดนแล้ว เราโคตรไม่ชอบเวลาโดนตีหรือโดนด่าเลย รู้สึกเหมือนว่าโลกนี้แม่งเป็นเหี้ยอะไรวะเนี่ย ถึงต้องมาโดนที่เรา เลยพยายามอยูเพื่อทำหน้าที่ของตัวเอง ประมาณว่ากูทำงานของกูแล้วอย่ามายุ่งกับกูนะ ก็พยายามไม่แหลม” 

เมื่อต้องอยู่แบบชีวิตต้องสู้ จึงทำให้เด็กหลายคนต้องปรับตัว ป.เล่าว่าเด็กโตบางกลุ่มก็ต้องทำดีกับเจ้าหน้าที่เพราะอยากให้เขารักและเอ็นดู ให้เขาไม่ด่าไม่หมั่นไส้ ภาพแบบนี้เป็นภาพที่เธอเห็นประจำถึงวิธีเอาตัวรอดในแบบของแต่ละคน

“เหตุการณ์ที่จำได้ชัดก็คือ วันไหนที่กินข้าวหรือในวันที่ไม่มีแขกมาเลี้ยง เจ้าหน้าท่จะตักข้าวใส่กล่องข้าวของตัวเองก่อน ทั้งที่เจ้าหน้าที่มีปิ่นโตสำหรับตัวเองอยู่แล้ว จากนั้นก็จะมีเด็กที่คอยประจบประแจงเขาเดินเอาไปเก็บให้ เด็กเหล่านั้นจะคอยบริการตลอด ป.เล่าว่า เจ้าหน้าที่สถานสงเคราะห์จะอาศัยอยู่ที่แฟลตที่จัดไว้ให้ หลายคนอยู่กันเป็นครอบครัว มาทำงานทั้งพ่อแม่ พี่น้อง ข้าวที่ตักไปก็เอาไปให้ลูกหลาน ของบริจาคที่ได้รับมาหลายชิ้นจึงถูกเอาไป และไม่ค่อยตกถึงมือเด็กพิการสักเท่าไหร่ 

“สมมติว่าแขกเอาผ้านวมอย่างดีลายการ์ตูนมาบริจาค ของพวกนี้ไม่มีทางที่จะตกถึงมือเด็กพิการ เจ้าหน้าที่เอาไปหมด ส่วนเด็กพิการก็จะใช้ผ้าผืนบางๆ แบบที่ใช้บนรถทัวร์สมัยก่อน ตอนอยู่ ม.ปลายมีผ้านาโนก็ดีขึ้นมาหน่อย แต่ผ้านวมเนื้อผ้าดีๆ ลายการ์ตูนสวยๆ ไม่มีทางถึงมือเด็กพิการหรอก ภาพที่เขาเอาของไปก่อน ถูกทำจนเป็นปกติ แต่ไม่มีใครกล้าไปถามหรอกว่าเอาไปให้ใคร โดนด่า 

“สีไม้ 36 สีไม่มีทางมาถึงมือเด็กพิการในสถานสงเคราะห์แน่นอน ไปอยู่กับลูกผู้ดูแลหมด ถ้าแขกไม่ให้กับมือเด็กตรงๆ ไม่มีทางไปถึงเลย บางทีแม้ว่าจะให้กับมือเด็กโดยตรงแต่พอไปถึงตึกนอน เจ้าหน้าที่ก็เอาอย่างอื่นมาขอแลก หรือมากดดันว่าจะต้องเอาของอันนั้นให้เขา 

“เคยเห็นเด็กคนนึงได้รถบังคับอย่างดี สุดท้ายก็ถูกเจ้าหน้าที่เอาเสื้อกันหนาวลายการ์ตูนมาแลก เอาเสื้อกันหนาวไปแลกกับรถบังคับเท่ๆ คันนั้นมันแทนกันได้เหรอ เสื้อกับของเล่นมันคนละเรื่องกันเลย” 

หน้าที่ต้อ(ง)นรับแขก

เธอจำได้ว่าตอนแขกมาเลี้ยง ก่อนกินข้าวจะต้องมีการร้องเพลงขอบคุณแขกก่อน หรือต้องรอแขกแจกของให้เรียบร้อยก่อนถึงจะได้กินข้าว ป.จำได้ดีว่า ถ้า 11 โมงมีเจ้าหน้าที่มาเรียก วันนั้นจะมีการเลี้ยงข้าวหรือมีแขกมาทำกิจกรรมที่โรงอาหาร 

“เด็กโตก็จะค่อนข้างอิดออดหน่อยเพราะไม่อยากจะทำกิจกรรมสักเท่าไหร่ กิจกรรมที่ทำส่วนใหญ่คือการเต้นหรือเล่นกันแบบเด็กๆ เล่นดนตรี เปิดเพลง วาดรูประบายสี หรือกิจกรรมจับของขวัญ  

“บางคนทำกิจกรรมมาตั้งแต่ 5 ขวบจะไม่เบื่อได้ยังไง นานๆ ทีถึงจะมีกิจกรรมที่น่าสนใจ หรือของที่น่าสนใจ เช่น เครื่องเขียน อุปกรณ์การเรียน จักรยาน เครื่องนอนหรือเสื้อผ้า ก็จะดึงดูดเด็กโตได้มากกว่า อีกกิจกรรมที่เด็กหลายคนไม่ค่อยชอบก็คือก็จะมีแม่ชีหรือคนจากงานศาสนามาสอน นั่งสมาธิ สวดมนต์ 

“แขกบางคนแค่เห็นเราเข็นรถออกมาก็ร้องไห้ก็มี เขาน่าจะอ่อนไหวมาก ส่วนคนอุปการะก็มีเหมือนกัน เราเองก็เคยมีคนอุปการะ ช่วงประมาณ ม.ต้น เขาอยากจะสนับสนุนเด็กสักคนเรื่องการศึกษา เขาก็มาติดต่อกับส่วนกลาง แล้วก็เลือกเราในการสนับสนุน เขาแจ้งมาเลยว่าของทุกอย่างจะต้องถึงมือเราโดยตรง ตอนนั้นเขาก็ทำบัญชีเงินฝากให้ แล้วก็คอยโอนเงินเข้าบัญชีตรงมาที่เราทุกเดือนเลย คอยดูแลเราซื้อเสื้อผ้าหรือพาไปเที่ยว แวะมาเยี่ยมเป็นบางครั้ง” 

แม้ความต้องการของเด็กในสถานสงเคราะห์จะมีหลากหลาย ทั้งเสื้อผ้า อุปกรณ์การเรียน หรือขนม แต่สำหรับ ป.เธออยากได้การสนับสนุนเรื่องการเรียนมากกว่า โดยเฉพาะตอนที่เธอเป็นแผลกดทับยิ่งทำให้รู้สึกว่าอยากไปเรียน 

เรื่อง ‘เพศ’ พูดไม่ได้

“สิ่งที่เราจำได้ชัดก็คือความแตกต่างระหว่างคุณภาพชีวิตของเด็กผู้ชายและเด็กผู้หญิงในนั้น หลายคนค่อนข้างมีอคติกับเด็กผู้หญิง สมมุติว่าถ้าคุณมีเพื่อนสนิทเป็นผู้ชายที่ชอบมาเล่นมาคุยด้วย คุณก็จะโดนเจ้าหน้าที่ตำหนิว่าบ้าผู้ชาย อยู่แต่กับผู้ชาย ในขณะที่สิ่งเหล่านี้เด็กผู้ชายไม่โดน 

“ตอนเราอายุ 15 เรามีแฟนคนแรก วันหยุดเราสองคนก็นัดออกไปเที่ยวห้างแถวนั้น ไปกินข้าว ก่อนออกก็ต้องมีการเซ็นต์เวลาไปกลับที่ชัดเจน แต่วันนั้นเรากลับช้ากว่าที่เขียนไว้ก็ต้องถูกทำโทษ การทำโทษของเขาก็คือไม่ให้เราออกไปข้างนอกเลย ให้อยู่แต่ในตึก กินข้าวก็กินในนั้น รวมถึงห้ามไปเจอแฟนด้วย 3 เดือน เรามารู้ทีหลังว่าขณะที่เราโดนลงโทษทั้งเทอมแต่ฝั่งแฟนกลับไม่โดนอะไรเลย 

“อยู่ในนั้นเขาไม่ได้ห้ามมีแฟน หรือห้ามคบกัน แต่ถ้าเป็นแฟนกันแล้วคนทั้งศูนย์ก็จะรู้ว่าใครเป็นแฟนใคร ไม่ว่าคุณจะทำอะไรคนทั้งศูนย์ก็รู้หมด เราจึงไม่ค่อยอยากไว้ใจใครในนั้นไม่ว่าจะสนิทกับเขามากแค่ไหนก็ตาม บาดแผลบางอย่างก็ติดอยู่ในใจเราจนมาถึงทุกวันนี้แม้ว่าจะออกมานานแล้ว 

เรื่องเพศเป็นเรื่องพูดยาก เช่นเดียวกับในสถานสงเคราะห์ ป.เล่าว่า ที่นั้นไม่ได้มานั่งบอกว่าอะไรควรทำอย่างไร หรือทำแบบไหน สิ่งที่เขาพยายามบอกก็คือ ห้ามทำตัวแรด ห้ามจับมือถือแขนผู้ชาย ห้ามอยู่กับผู้ชายสองต่อสอง ทั้งหมดกลับเป็นห้ามมากกว่าแนะนำหรือสอน 

“สิ่งที่เขาสอนก็มีวีดีโอการทำคลอดหรือภาพของคนที่เป็นผู้ป่วย HIV มาให้ดู ว่าถ้าหากแอบไปมีเพศสัมพันธ์กันชีวิตก็จะเป็นแบบนี้ ถ้าไม่จบที่เอดส์ ก็จบที่ท้องไม่มีพ่อ เขาจะคอยพูดในแง่ลบ เราก็ตั้งคำถามว่าเป็นแบบนี้จริงหรือเปล่า เจ้าหน้าที่แต่ละคนเขาก็มีเมีย มีผัวกันไม่ใช่เหรอทำไมถึงสอนกันแบบนี้ เขาก็ไม่ได้เป็นอย่างที่ในคลิปบอกเลย 

“แม้ว่าเขาจะพูดขนาดนี้ ขู่ขนาดนี้ สุดท้ายแล้วเขาก็ห้ามเด็กไม่ได้อยู่ดี เด็กไปมีอะไรกันก็เยอะแยะ ตามห้องน้ำหรือตามซอกหลืบของพื้นที่ แล้วก็เกิดกรณีที่ท้องขึ้นมาจริงๆ ส่วนหนึ่งก็เพราะไม่สอนเรื่องการป้องกัน เขาไม่สอนหรอกว่าใส่ถุงยางอนามัยอย่างไรจะถูกวิธี คนที่พลาดท้องก็ถูกด่าเป็นอย่างแรก แล้วก็ถูกทำโทษแบบที่เราเคยโดนก็คือถูกกักบริเวณให้อยู่แต่ภายในตึกอาคารนอน 

“คนที่ท้องก็มีวิธีการจัดการหลายแบบ หลายคนจะถูกเอาไปฝากไว้ที่บ้านสงเคราะห์ผู้หญิงคอยให้ผู้ใหญ่ช่วยดูแล หรือถ้ามีครอบครัว มีบ้านก็จะถูกส่งกลับบ้าน เพื่อนเราก็ถูกส่งไปอยู่บ้านผูหญิงเหมือนกันแต่สุดท้ายตัวเขาก็เลือกที่จะกลับบ้าน 

“อีกเรื่องที่สำคัญคือเรื่องของการคุมกำเนิด เด็กหลายคนถูกบังคับทำหมัน ที่เราเห็นก็คือการฝังเข็มแบบคุมกำเนิดที่แขน เราเห็นรุ่นน้องหลายคนก็ถูกใช้วิธีการนี้ในการคุมกำเนิด หลายคนล่าว่าพวกเขาถูกบังคับทั้งนั้น ไม่ได้เต็มใจที่จะไปคุมกำเนิดด้วยตัวเอง ไม่ได้มีโอกาสตัดสินใจด้วยตัวเองว่าจะทำหรือไม่  

“สิ่งที่แย่ของการคุมกำเนิดก็คือ นอกจากจะถูกบังคับด้วยความไม่เต็มใจแล้วยังมีผลข้างเคียงในเชิงร่างกายอีกด้วย ทั้งเรื่องของน้ำหนักตัวที่มากขึ้น เพื่อนที่เราสนิทกันทั้งหมดก็อ้วนขึ้นหลังจากฝังเข็ม มีคนที่อารมณ์แปรปรวน หลายคนก็อยากจะเอาออกแต่ก็ไม่มีเงิน การบังคับคุมกำเนิดแบบนี้มันเป็นการแก้ปัญหาที่ปลายเหตุแล้วก็เหมือนโยนภาระมาให้กับฝ่ายหญิง ที่สำคัญคือเราไม่ได้ตัดสินใจเองด้วยซ้ำว่าจะทำหรือไม่ทำ คิดว่าวิธีการแก้ปัญหาที่ต้นเหตุคือการสอนวิธีการป้องกันเวลามีเพศสัมพันธ์ที่ถูกต้องจะต้องทำอย่างไร และควรพูดเรื่องนี้ให้เป็นธรรมชาติ ไม่ใช่เรื่องที่ผิดบาปหรือเป็นสิ่งที่ผิด ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการมีแฟนหรือการมีเพศสัมพันธ์เขาควรทำให้เป็นเรื่องที่เข้าใจได้ และเข้าใจง่ายว่าเป็นธรรมชาติของวัยรุ่น 

รู้สึกไม่ปลอดภัย

“ถ้าถามว่าตลอดเวลาที่เราอยู่ในนั้นเรารู้สึกอย่างไร เราคิดว่ามันเป็นความรู้สึกไม่ปลอดภัย ต้องระวังตัวอยู่ตลอดเวลา การพูด การทำอะไรสักอย่างเราต้องคิดและระวังให้มาก ว่าเรื่องที่เราพูดกับใครสักคนเขาจะเอาไปพูดหรือเอาไปฟ้องใครต่อไหม เวลาจะทำอะไรสักอย่างก็ต้องมานั่งคิดว่ามันทำได้ไหมทำแล้วผิดอะไรหรือเปล่า 

“ตอนช่วงมัธยมต้น เรากล้าคิด กล้าพูด กล้าถาม แต่ในสายตาเจ้าหน้าที่เรากลายเป็นเด็กที่ดื้อ เถียง พูดไม่ฟัง จนเจ้าหน้าที่ในนั้นพานักจิตวิทยมาติดตามชีวิตของเราทุกช่วงตั้งแต่ตื่นนอนจนถึงไปโรงเรียนและอยู่ที่สถานสงเคราะห์  วันหยุดเสาร์อาทิตย์ก็จะยังตามมาดูพฤติกรรมเรา โดยเจ้าหน้าที่เขาก็ไม่ได้ให้เหตุผลว่าทำไมเราถึงต้องถูกติดตาม เราเองก็ไม่ได้เข้าใจว่าเราทำผิดอะไร ไม่นานพี่นักจิตวิทยาคนนั้นก็เล่าให้ฟังว่า เขาตั้งคอยดูพฤติกรรมของเราแล้วช่วยปรับแก้พฤติกรรมความก้าวร้าวเพราะเจ้าหน้าที่เขามองว่าเราเป็นคนก้าวร้าว พูดอะไรก็เถียง สุดท้ายแล้วพี่นักจิตวิทยาคนนั้น ก็อยู่กับเราได้ประมาณเดือนกว่าก็ลาออกจากที่นั่น เพิ่งมารู้ทีหลังว่า เราเองก็ไม่ได้มีพฤติกรรมที่เป็นปัญหาอย่างที่เจ้าหน้าที่บอก เป็นเด็กปกติคนหนึ่งที่โตตามวัย แต่สิ่งที่ผิดปกติคือตรรกะและวิธีคิดของเจ้าหน้าที่ในนั้น เขาจึงพยายามที่จะปรับปรุงวิธีการพูดคุยกับเด็กในสถานสงเคราะห์ให้เจ้าหน้าที่ แต่ก็ถูกมองว่าคนทำงานเกินหน้าเกินตา เพราะพยายามจะเปลี่ยนแปลงกฎกติกาขนบธรรมเนียมและกดดันให้นักจิตวิทยาคนนี้ลาออก” 

วัฒนธรรมองค์กรสถานสงเคราะห

สิ่งหนึ่งที่ไม่ว่าองค์กรเล็กหรือใหญ่มักมีร่วมกันคือวัฒนธรรมองค์กร เช่นเดียวกับในสถานสงเคราะห์ ป.เล่าว่า คนในนั้นไม่ชอบการทำอะไรก็ตามที่เกินหน้าเกินตาคนเก่าๆ ที่อยู่ที่นั่น ถ้าผู้ใหญ่บอกให้ทำอะไรก็ทำไปอย่าทำเกิน อย่าปรับเปลี่ยน 

“เราเคยรู้จักพี่นักสังคมสงเคราะห์คนหนึ่ง เป็นคนที่น่ารักมาก ใจดีกับเด็กๆ แต่สุดท้ายก็ต้องลาออกเพราะอยู่ไม่ได้เพราะเวลาช่วยเหลือหรือทำอะไรก็จะทำจริง ติดตามและแก้ปัญหาชีวิตของเด็กแต่ละคนจริงๆ เด็กบางคนออกจากสถานสงเคราะห์ไปแล้วพี่คนนี้ก็ยังติดตามและถามความเป็นอยู่ว่าเป็นอย่างไร แต่ในสายตาของเพื่อนร่วมงานเก่าๆ กลับมองว่าพี่เขาทำอะไรเกินตัว ไม่ชอบให้พี่เขาทำอะไรแบบนี้

“นักสังคมสงเคราะห์หลายคนในนั้นเขาก็ไม่ได้แก้ปัญหาให้เราแบบที่เขาแก้ปัญหาให้ลูกเขาหรอก เวลาเด็กมีปัญหาอะไรก็ใช้การด่าอย่างเดียว ไม่มานั่งถามหรอกว่าช่วงนี้รู้สึกอย่างไร มีอะไรเป็นปัญหาไหม น้อยมากๆ ที่จะมีเจ้าหน้าที่มาถามเราแบบนั้น 

“อีกหนึ่งวัฒนธรรมของที่นั่นก็คือเจ้าหน้าที่ที่เขาทำงานมานานแล้ว จะชอบเอาลูกหลานของตัวเองมาทำงานต่อ มาเป็นพี่เลี้ยงบ้าง เป็นนักสังคมสงเคราะห์บ้าง บางคนก็อยู่กันเป็นครอบครัว คือเอาครอบครัวตัวเองมาทำงานจริงๆ พี่เลี้ยงคนนี้เป็นแม่ของพี่เลี้ยงอีกคนนึง หรือเป็นพี่สาวของพี่เลี้ยงอีกคนนึง เราเองก็ไม่รู้ว่ากระบวนการรับคนเข้าทำงานเป็นยังไง ภาพที่เราเห็นคือแม่ ลูกหรือพ่อ ลูกมาทำงานด้วยกัน เมื่อมีการเปลี่ยนแปลงแล้วเขาก็ไม่ยอมรับ ประสิทธิภาพก็ไม่เกิด เพราะเขาจมอยู่กับวัฒนธรรมเดิมๆ 

“เราไม่เคยรู้สึกเลยว่าที่นี่เป็นบ้าน ไม่ได้รู้สึกอะไรเลย สิ่งที่รู้สึกก็คือความอึดอัด ความไม่สบายตัว ความไม่สบายใจ ความหวาดระแวง เราจะรู้สึกสบายใจตอนที่เราอยู่คนเดียว

“ถามว่ามีเรื่องดีๆ บ้างไหมก็มีเยอะมากเหมือนกันนะ เช่น การที่เราได้มีโอกาสเรียนหนังสือหรือทำกิจกรรม เวลามีแขกมาชวนทำ เราจำได้ว่าช่วงเวลาดีๆ ก็คือตอนที่มีแขกเอารถทัวร์มาขนเด็กที่นี่ไปเที่ยวทะเล หรือเวลาที่มีการแข่งขันแล้วเราได้ออกไปแสดงความสามารถ  เรื่องตลกครั้งหนึ่งก็คือเราเคยได้แข่งนางงามพระประแดง ตอนไปเขาก็ไม่ได้บอกว่านางงามต้องทำอะไรบ้าง ควรจะเดินแบบไหนหรือยิ้มแย้มแจ่มใสยังไง เราก็นึกไม่ออกว่านางงามมันเป็นยังไง ปรากฏว่าไปถึงเราก็ไปนั่งหน้าตึงอยู่บนเวทีดอกไม้ก็ไม่ได้สักดอก (หัวเราะ) เพราะว่าเราไม่ยิ้ม เราเองก็ไม่รู้ น่าจะเป็นความทรงจำดีๆ ที่นึกออก 

“เราคิดว่าสถานสงเคราะห์เกิดขึ้นมาเพื่อสร้างความปลอดภัยให้กับเด็กพิการหรือเด็กที่ไม่มีที่พึ่ง เราอาจจะเรียกมันว่าที่ซุกหัวนอน มีข้าวให้กิมากกว่า แต่จะให้เราเรียกว่าบ้านก็คงยากตราบใดที่ยังมีเรื่องทำร้ายร่างกาย ทำร้ายจิตใจกันอยู่ภายใน” 

โลกใบใหญ่นอกสถานสงเคราะห์

พออยู่ชั้นมัธยมปลาย ป.ก็ได้ไปเรียนในโรงเรียนที่ไกลขึ้น เธอจึงต้ออยู่หอพัก ช่วงแรกเธอก็ไปๆ กลับๆ แต่ช่วงหลังเธอก็เลือกจะหางานทำเพื่อไม่ต้องกลับไปยังสถานสงเคราะห์อีกจุดที่ทำให้เธอได้ออกมาถาวรก็คือการเรียนในมหาวิทยาลัย ซึ่งนับเป็นช่วงชีวิตที่ทำให้เธอได้เห็นว่าการเลือกเองนั้นสำคัญมากแค่ไหน 

“พอได้อยู่มหาวิทยาลัยเราก็ตัดสินใจว่าต้องใช้ชีวิตให้ได้ด้วยตัวเอง ไม่ว่าเราจะทำอะไรเราจะเลือกมันให้ได้ด้วยตัวเอง เพราะที่ผ่านมาทุกเรื่องในชีวิตถูกคนอื่นหรือผู้ใหญ่กำหนดให้ทำอยู่เสมอ เขาเลือกให้เราหมด คำว่าอิสระมันคือที่สุดของเราแล้ว 

“เราออกมาข้างนอกถึงได้เห็นว่าคุณภาพชีวิตแม่งโคตรแตกต่าง  ชีวิตในมหาวิทยาลัยเป็นชีวิตที่เราไม่เคยเจอมาก่อน เหมือนเราได้ชีวิตที่ 2 กลับมาเลย หลังจากนั้นเราก็ไม่กลับไปยังสถานสงเคราะห์แห่งนั้นอีกเลย ที่นั่นเขาก็ไม่มาตามแล้วเพราะเห็นว่าเราน่าจะโตพอแล้ว การศึกษาเป็นสิ่งที่ดีที่สุดเท่าที่เด็กในนั้นจะนึกออก ถ้าไม่มีการศึกษาก็ออกจากนั่นไม่ได้ ซึ่งก็มีน้อยมากที่จะได้ออกมา เด็กบางคนไม่รู้ด้วยซ้ำว่าตัวเองจะเรียนไปทำไม ในเมื่ออยู่ในนั้นก็มีข้าวกิน มีที่นอน เด็กที่อยากเรียนแต่ไม่ได้เรียนก็มี เด็กบางคนไม่มีแววหรือเรียนไม่เก่งก็จะไม่ได้รับการสนับสนุน ให้เรียน 

“เราออกมาพร้อมกับบาดแผลทางนิสัย เช่น การไม่ไว้ใจคน หรือแม้กระทั่งบุคลิกโผงผาง พูดคำหยาบ พูดเสียงดัง คนในนั้นเวลาคุยกันก็จะชอบตะโกนคุยกัน เราอยู่ในนั้น 8-9 ปีมันก็ซึมซับนิสัยเหล่านี้มาหมด พอออกมาอยู่ข้างนอกเราถึงได้รู้ว่าสิ่งนี้เป็นสิ่งที่ควรปรับ ทั้งวิธีคิดและคำพูด 

สถานสงเคราะห์ที่มีคุณภาพ

“อย่างแรกที่ควรปรับปรุงเลยก็คือระบบเครือญาติ ควรจะหมดไปได้แล้ว เพราะทำให้เป็นองค์กรแบบแข็งตัว หลายปัญหาไม่ถูกแก้เพราะคนในระบบเดิมมองว่าไม่เป็นปัญหา เราเห็นหลายคนมีความตั้งใจที่จะทำให้ข้างในดีขึ้นแต่ก็ทำไม่ได้เพราะระบบเครือญาติเหล่านี้นี่แหละ มันฝังรากลึก 

“หรือจะเป็นเรื่องการแก้ปัญหาหลายที่เราคิดว่า ควรมองที่ต้นเหตุมากขึ้น การบังคับคุมกำเนิดเป็นสิ่งที่ไม่ควรเกิดขึ้น หลายปัญหาเขาใช้วิธีการรวบตึงแก้ปัญหาเฉพาะหน้าให้หมดไปก่อนแต่ไม่แก้ที่ต้นเหตุ วิธีแก้ปัญหาที่ดีกว่านั้นอาจใช้เวลามากกว่า แต่แก้ปัญหาระยะยาวได้ การสอนให้เด็กเห็นว่าเรื่องเพศเป็นเรื่องปกติเข้าใจและป้องกันให้ได้เป็นสิ่งที่เขาควรทำมากกว่าบังคับเด็กผู้หญิงไปทำหมัน 

“เราอยู่ในนั้นเราไม่ได้อยากได้ความใจดีจากเจ้าหน้าที่ เราอยากให้เขามองเราเป็นมนุษย์ให้มากขึ้น ไม่ใช่ว่าไม่พอใจอะไรก็เอากะละมังไปฟาดเขา คุณมีสิทธิอะไรไม่ให้เด็กพิการคนหนึ่งกินข้าว ด้วยเหตุผลว่าเด็กมันอ้วน มันละเมิดสิทธิกันเกินไป”