Skip to main content

เพราะ พ.ร.บ.ส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการที่ล้าสมัย ทำให้คนพิการถูกละเมิดสิทธิการออกแบบอาคารที่คนพิการใช้งานไม่ได้แม้มีหลัก Universal Design แต่ทว่าทางลาดก็ชันดั่งยอดเขาเอเวอเรสต์ 

สิ่งเหล่านี้ทำให้ ดร.อรุณี ลิ้มมณี อดีตผู้ช่วยอธิการบดีฝ่ายบริหารศูนย์รังสิตด้านกายภาพและอาจารย์ประจำคณะสังคมสงเคราะห์ศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ตัดสินใจลาออกมาลงสมัคร ส.ส.แบบบัญชีรายชื่ออันดับที่ 43 ของพรรคภูมิใจไทย เพื่อสะท้อนความเหลื่อมล้ำที่เกิดขึ้น ผ่านนโยบายคนพิการของพรรคภูมิใจไทย

นโยบายคนพิการของพรรคภูมิใจไทยเป็นอย่างไร

อรุณี: นโยบายคนพิการที่เป็นหัวใจสำคัญของพรรคภูมิใจไทย คือ การแก้ไข พ.ร.บ.ส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการเพื่อให้คนพิการเข้าถึงสิทธิมากขึ้น เมื่อวันที่ 30 เมษายนที่ผ่านมา เราเชิญองค์กรคนพิการ 11 องค์กร มาพูดคุยและรับฟังความคิดเห็นเพื่อแก้ไขกฎหมายให้สอดคล้องกับความต้องการ เช่น การเชื่อมสิทธิการรักษาบัตรทอง ท.74 สิทธิประกันสังคม และสิทธิเบิกตรงทั้ง 3 ระบบที่ยังไม่เชื่อมกัน หากเลือกใช้สิทธิอันใดอันหนึ่งก็จะเสียสิทธิบางอย่างไป และได้ข้อเสนอว่า อยากให้ระบบเชื่อมโยงกัน จะได้ไม่ต้องเสียสิทธิบางอย่างไป เช่น หากใช้สิทธิประกันสังคมก็จะต้องสำรองจ่ายค่ากายอุปกรณ์ หากใช้สิทธิบัตรทอง ท.74 ไม่ต้องสำรองจ่ายแต่ต้องไปหาหมอที่โรงพยาบาลรัฐเท่านั้น 

ส่วนโยบายที่ประชาสัมพันธ์ตามสื่อจะแบ่งออกเป็น 6 ด้าน ดังนี้

1. การจัดการสวัสดิการเบี้ยคนพิการ

คนพิการรับเบี้ย 800 บาทมานานแล้ว ซึ่งไม่สอดคล้องกับค่าครองชีพในปัจจุบัน ถึงแม้ว่าจะเพิ่มเป็น 1,000 บาทแต่ได้ไม่ถ้วนหน้า คนพิการอายุเกิน 18 ปีจะต้องมีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐเท่านั้นจะได้เงินเท่านี้ แต่หลายคนไม่สะดวกทำบัตร เนื่องจากบางคนไม่มีสมาร์ทโฟน อายุมากแล้วทำไม่เป็น พรรคภูมิใจไทยมองว่า จะเพิ่มเบี้ยคนพิการเท่าไรก็ตามแต่ขอให้คนพิการได้ถ้วนหน้า โดยไม่มีเงื่อนไข ดังนั้น การพัฒนาที่ยั่งยืนกว่าการยื่นเงินให้คือ การจ้างงาน เราจะส่งเสริมให้ภาครัฐจ้างงานคนพิการมากขึ้น โดยตั้งเป้าไว้ 10,000 อัตรา จากการสำรวจข้อมูลพบว่า ปัจจุบันมีคนพิการวัยทำงานอายุ 15-59 ปีที่ว่างงานประมาณ 17,000 คน ในขณะเดียวกันเราจะไม่ลืมว่า มีคนพิการบางกลุ่มที่ทำงานไม่ได้ เช่น คนพิการรุนแรง คนพิการที่ไม่เรียนหนังสือ คนพิการสูงวัย คนพิการที่มีปัญหาสุขภาพ ยังต้องการเบี้ยเพื่อใช้ในการดำรงชีวิตอยู่

สำหรับคนพิการที่อยากจะทำอาชีพอิสระ ทางพรรคภูมิใจไทยได้มีนโยบายเพิ่มจำนวนเงินกู้ยืมรายบุคคลจากเดิม 60,000 บาทเป็น 100,000 บาท และรายกลุ่มจาก 1,000,000 บาทเป็น 2,000,000 บาท 

2. การเข้าถึงสภาพแวดล้อมทางกายภาพ

พ.ร.บ.ส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการฉบับนี้เขียนมานานหลายปีแล้ว แก้ไขเพิ่มเติมล่าสุดปี 2556 มีหลายข้อที่ล้าสมัย ไม่มีบทลงโทษ เช่น ไม่มีการปรับเงินคนไม่พิการมาจอดรถที่คนพิการหรือออกแบบอาคารไม่ตรงตามหลัก Universal Design ทำให้การบังคับใช้กฎหมายไม่มีประสิทธิภาพ

3. การเข้าถึงข้อมูลข่าวสารและขนส่งสาธารณะประเทศไทยมีกฎหมายที่ทันสมัย ให้สัตยาบันอนุสัญญาว่าด้วยสิทธิของคนพิการ (Convention on the Rights of the Persons with Disabilities : CRPD) เป็นประเทศแรกๆ และเป็นภาคีสนธิสัญญามาร์ราเกชที่ว่าด้วยการเข้าถึงข้อมูลข่าวสารของคนพิการทางการมองเห็น แต่ในทางปฏิบัติคนตาบอดเข้าถึงข้อมูลได้บ้างแต่ไม่เท่าเทียม และปัญหานี้ยังเกิดกับคนหูหนวกเช่นเดียวกัน หากคนหูหนวกได้เข้าถึงระบบการศึกษาจะทำให้เรียนรู้ภาษามือที่สื่อสารกับคนอื่นได้และมีตัวเลือกในการเข้าถึงข้อมูลข่าวสาร ได้แก่ มีซับไตเติ้ล จอล่าม หรือมีทั้ง 2 อย่างให้เลือก รวมถึงสร้างการตระหนักรู้ให้สังคมว่า คนหูหนวกไม่ได้อยากดูรายการมีสาระอย่างเดียว เขาอยากดูละครแต่ไม่มีจอล่าม ถ้าอยากดูก็ต้องเดาเอา นอกจากนี้การเข้าถึงข้อมูลอย่างทันท่วงที เช่น การเตือนภัย คนหูหนวกควรรับรู้ได้ทันทีเพื่อจะได้มีโอกาสเอาตัวรอดชีวิต เพราะทุกชีวิตมีค่าเท่ากัน 

ส่วนเรื่องขนส่งสาธารณะ ตอนที่นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ ผู้สมัคร ส.ส.แบบบัญชีรายชื่ออันดับที่ 2 พรรคภูมิใจไทย เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมสมัยที่ผ่านมาได้เปลี่ยนมาใช้รถเมล์ชานต่ำ มีทางลาดให้วีลแชร์ขึ้นลงได้ทำให้คนพิการเข้าถึงขนส่งสาธารณะ แต่ปัญหาคือทางเท้าไม่ดี  เข็นวีลแชร์ต่อไม่ได้ บางคนก็ตกวีลแชร์ หากได้เข้าเป็นรัฐบาลจะทำงานบูรณาการร่วมกับกรุงเทพให้ซ่อมแซ่มทางเท้าให้ดี

4 การเข้าถึงธุรกรรมทางการเงิน

สำหรับคนพิการทางด้านการมองเห็นจะมีปัญหาทางด้านการทำธุรกรรมการเงิน บางธนาคารไม่ให้ทำหากไม่มีคนมาด้วย หลายครั้งถูกปฏิเสธ ซึ่งการปฏิบัติเช่นนี้ของเจ้าหน้าที่ธนาคารขัดต่อหลักการดำรงชีวิตอย่างอิสระ (Independent Living) เราจึงต้องสร้างการตระหนักรู้ให้กับเจ้าหน้าที่ว่าคนตาบอดทำอะไรได้บ้าง และไม่คิดแทนคนพิการ 

5.ด้านการเข้าถึงการศึกษาสำหรับคนพิการ

กฎหมายบัญญัติไว้ว่า ‘คนพิการต้องได้เรียน’ มีมานานแล้ว แต่ยังมีเสียงสะท้อนจากผู้ปกครองว่า บางโรงเรียน บางมหาวิทยาลัย ไม่รับผู้พิการทางสติปัญญาเข้าเรียน และเรื่อง ‘คนพิการเรียนฟรีถึงปริญญาตรี’ ในความเป็นจริงคนพิการเรียนฟรีถึงมัธยม ส่วนปริญญาตรีมหาวิทยาลัยต้องส่งหนังสือแจ้งกับรัฐบาลว่า ปีนี้มีนักศึกษาพิการกี่คน แล้วทางรัฐบาลจัดสรรเงินมาโดยจ่ายตามจริง ขึ้นอยู่กับสาขา วิชาที่เรียน แต่คนพิการหลายคนอยากเรียนฟรีถึงปริญญาตรีโดยไม่ใช้ระบบดังกล่าว เพราะมีขั้นตอนที่ยุ่งยาก นอกจากนี้ยังขาดอุปกรณ์ช่วยเรียน เช่น แผนการศึกษาเฉพาะบุคคล (IEP)  Notetake เป็นต้น 

6. ด้านการละเมิดต่อคนพิการ

เราได้รับข้อมูลจากอาสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) ที่ไปเยี่ยมคนพิการว่า ถูกกระทำความรุนแรงในครอบครัวโดยเฉพาะเด็กและสตรีพิการแต่ไม่สามารถขอร้องความช่วยเหลือใครได้ จนกระทั่ง อสม.มาเยี่ยมบ้านคนพิการสม่ำเสมอถึงได้รับความช่วยเหลือ ทางพรรคมองว่า หากใช้กลไกการทำงานเดิมของศูนย์บริการคนพิการจังหวัดและศูนย์บริการทั่วไป 2,000 กว่าแห่งและเข้าถึงคนพิการในท้องถิ่นอย่างใกล้ชิด ไม่ว่าจะเป็นการร้องเรียน สะท้อนความคิดเห็น จัดระบบสวัสดิการ ก็จะช่วยให้เข้าถึงคนพิการมากชึ้น และปัญหาเรื่องคนพิการไม่ใช่เรื่องที่พม. หรือ พก. อย่างเดียว แต่ยังเกี่ยวข้องกับหลายกระทรวง 

คิดยังไงกับรัฐสวัสดิการและเบี้ยคนพิการ 3,000 บาท

ในฐานะที่เคยเป็นอาจารย์สอนคณะสังคมสงเคราะห์ศาสตร์ ประเด็นนี้เป็นเรื่องที่พูดถึงมานานมาก หากรัฐทำให้เกิดรัฐสวัสดิการได้จะดีมาก หากจะต้องเสียภาษีมากกว่านี้เพื่อให้คนที่ยากลำบากได้มีชีวิตที่ดีขึ้น เราก็ยินดี 

ส่วนเรื่องเบี้ย 3,000 บาท เรามองว่าเป็นนโยบายเฉพาะหน้าของหลายๆ พรรค แต่นโยบายเราจะเน้นการช่วยเหลือให้คนพิการทำงานได้เป็นหลัก ถ้าให้เงินครั้งเดียวก็หมด เหมือนสุภาษิตจีนที่คนชอบพูดว่า “ถ้าท่านให้ปลาใครหนึ่งตัว เขามีกินแค่หนึ่งวัน สอนเขาจับปลา เขามีกินตลอดชีวิต” แต่คนพิการที่ไม่สามารถช่วยเหลือตัวเองได้ คิดว่าเบี้ยยังจำป็น ถ้าเพิ่มขึ้นมากกว่านี้จะดีมาก แต่จะเพิ่มเท่าไรต้องดูหลายอย่างประกอบ

อธิบดีกรมคนพิการควรเป็นคนพิการหรือไม่

หากคนพิการได้เป็นอธิบดีกรมคนพิการจะดีมาก เรามองว่าคนพิการควรเข้าไปอยู่ทั้งฝ่ายนิติบัญญัติ ฝ่ายบริหาร และฝ่ายตุลาการ โดยเฉพาะกระทรวง กรมที่เกี่ยวข้องกับคนพิการ แต่ทุกวันนี้งานคนพิการขับเคลื่อนช้าทั้งที่เราทำงานหนักมาก เพราะไม่มีคนพิการทำงานระดับนโยบาย การให้คนอื่นพูดแทนกับเราพูดเองก็ต่างกัน ไม่มีใครเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านความพิการมากเท่าคนพิการ เรารู้ดีที่สุดว่าเราต้องการอะไร มีข้อจำกัดอะไรบ้าง ที่ลงเล่นการเมืองเพราะเราอยากทำงานด้านนิติบัญญัติ เพื่อให้ให้มั่นใจว่า กฎหมายสอดคล้องกับการดำรงชีวิตของคนพิการจริงๆ ถ้ามีคนพิการเข้าไปอยู่ในรัฐบาลได้มากกว่า 1 คน 1 พรรคยิ่งดี เสียงคนพิการจะได้ดังขึ้น

พรรคภูมิใจไทยจะทำให้คนพิการมีส่วนร่วมในพรรคได้อย่างไรบ้าง

ในอนาคตคิดว่า คนพิการคงไม่ได้มีส่วนร่วมเป็นแค่ ส.ส. แน่นอน คิดว่ายังมีตำแหน่งอื่นๆ ที่พรรคภูมิใจไทยเปิดรับให้คนพิการเข้าไปทำงานร่วมกับคนอื่น เช่น ส.ส.ท่านอื่นที่สนใจประเด็นคนพิการแต่ไม่ได้พิการทำงานผลักดันนโยบายร่วมกัน 

ทำไมคนพิการต้องเลือกภูมิใจไทย

เพราะว่าพรรคภูมิใจไทยรับฟังคนพิการ ทำงานให้คนพิการแต่ละประเภทอย่างเท่าเทียม ไม่ทำงานประเด็นคนพิการเชิงสงเคราะห์แต่สร้างความยั่งยืน ไม่ว่าจะเป็นการเพิ่มเบี้ยคนพิการและเข้าถึงอย่างเท่าเทียม การเข้าถึงการศึกษา อาชีพ และจ้างงานโดยส่งเสริมให้ภาครัฐจ้างงานคนพิการ 10,000 อัตรา นี่เป็นจุดแข็งที่ทำให้คนพิการมั่นใจว่ามีอาชีพที่ยังยืน มีส่วนร่วมพัฒนาประเทศชาติได้ หากพรรคภูมิไทยได้เป็นรัฐบาลหรือดูแลกระทรวงที่เกี่ยวข้องกับคนพิการ เราจะมีประชุมอัพเดตความคืบหน้าการทำงานนโยบายที่พรรคเคยหาเสียงไว้  

ให้คะแนนการทำงานคนพิการของอดีตนายกประยุทธ์ จันทร์โอชา อย่างไร

รัฐบาลชุดนี้ทำงานช้า โดยเฉพาะช่วงโควิด-19 เริ่มระบาด มีคนพิการที่มีปัญหาเรื่องการหายใจหลายคนอยากฉีดวัคซีน ถ้าติดจะมีความเสี่ยงมาก สภาคนพิการต้องทำเรื่องขอวัคซีนไปถึงได้ ตามหลักแล้วไม่ควรทำหนังสือร้องขอไปด้วยซ้ำ ทางรัฐบาลควรจัดมาให้เลย นอกจากนี้ยังมีเรื่องการจัดสรรสวัสดิการไม่เหมาะสม ไม่ตรงกับความต้องการ เช่น สั่งวีลแชร์มาไซส์เดียว ไม่สอดคล้องกับสรีระคนพิการ บางคนใช้ได้ บางคนใช้ไม่ได้ ในฐานะที่เราเป็นคนพิการคนหนึ่งที่ได้รับสวัสดิการของรัฐให้คะแนน 5 แล้วกัน ยังไม่ถึงกับสอบตกแต่ยังต้องปรับปรุงอีกเยอะ ภาครัฐควรทำงานกับคนพิการและองค์กรคนพิการมากกว่านี้ หลายหน่วยงานไม่ค่อยรับฟังเสียงคนพิการ