Skip to main content

ในฐานะพรรคที่เคยมี ส.ส.ในสภาฯ เป็นคนพิการ พรรคก้าวไกลในการเลือกตั้งครั้งนี้ ก็ยังคงทำงานเรื่องคนพิการอย่างต่อเนื่อง 

ชวนคุยกับศิริพงศ์ นานคงแนบ ผู้สมัครสมาชิกสภาผู้แทนราษฏรเขต 3 จังหวัดนครพนม ผู้เชื่อว่ารัฐสวัสดิการ โครงสร้างที่เป็นธรรมเท่าเทียมและอาชีพที่มั่นคงของคนพิการจะทำให้คุณภาพชีวิตของคนพิการดีขึ้น


 

นโยบายด้านคนพิการของพรรคก้าวไกลเป็นอย่างไร 

ศิริพงศ์ : นโยบายแรก ก้าวไกลจะเพิ่มเงินสวัสดิการคนพิการจากเดือนละ 800 บาทเป็น 3,000 บาท เพราะ 800 บาทในปัจจุบันนั้นไม่เพียงพอต่อการดำรงชีพ ทุกคนก็จะถามว่าให้ 3,000 บาทเอาเงินมาจากไหน นโยบายของเราเอาเงินจากการรีดไขมันกองทัพ คือนําเงินจากกองทัพมาทำเป็นสวัสดิการ นอกจากนี้ยังมีเงินภาษีความมั่งคั่ง เช่น ภาษีที่ดิน การจัดสรรเหล่านี้เพียงพอสําหรับทําสวัสดิการของคนพิการแบบถ้วนหน้า ไม่ต้องพิสูจน์สิทธิ เพราะการพิสูจน์สิทธิอาจทำให้ตกหล่นระหว่างประเมินความพิการ บางคนอาจจะพิการแค่นี้ แต่ถูกประเมินว่าไม่พิการเลย ในภาพรวมเราอาจต้องแก้เรื่องการประเมินความพิการกันใหม่ เพราะทุกวันนี้คนพิการที่ตกหล่น จากการประเมินความพิการนั้นมีมาก อาจถึงครึ่งหนึ่งของคนพิการด้วยซ้ำ ถ้าแก้กฎหมายส่วนนี้ได้ คนพิการก็จะได้สวัสดิการถ้วนหน้า ตัวอย่างคนพิการที่มีบัตรคนจนแล้วได้เงินเพิ่ม 200 บาทแล้วต้องพิสูจน์ความจนก็จะเห็นว่าเป็นไปอย่างลำบาก ประเทศที่พัฒนาแล้วหลายประเทศเขาไม่ต้องพิสูจน์ความรวยความจนเลย ทุกคนไม่ว่าจะรวยหรือจนได้เท่ากันหมด เป็นสวัสดิการขั้นพื้นฐานที่ทุกคนต้องได้รับ ฉะนั้นการให้เพิ่ม 200 บาทต่อเดือนไม่ได้ช่วยอะไร และอาจต้องเพิ่มภาระในเรื่องการยืนยันตัวตน 

เรื่องที่สอง เรื่องอารยสถาปัตย์ กฏหมายที่บังคับเรื่องโครงสร้างอาคาร ผ่านการควบคุมและสนับสนุนงบโดยรัฐ ที่ผ่านมาเรามีความรู้ มีคนทํางาน มีคนพิการที่รณรงค์ แต่อารยสถาปัตย์ก็ยังไม่เกิดขึ้น สิ่งเหล่านี้ไม่ใช่หน้าที่ของคนพิการที่ต้องมารณรงค์ ผมเชื่อว่า อารยสถาปัตย์เป็นหน้าที่ของรัฐที่ต้องปลูกฝัง และออกข้อกฎหมายกําหนดว่า การสร้างอาคารใดๆ ต้องควบคู่กับอารยสถาปัตย์ หลายสิบปีแล้วที่คนพิการรณรงค์อารยสถาปัตย์แต่ไม่มีผลอะไรเลยเพราะฉะนั้นปัญหาเดิมสู้ด้วยวิธีเดิมไม่ได้ เราต้องเปลี่ยนวิธีสู้ เช่น บังคับเป็นกฎหมายในการสร้างอาคารใหม่ ส่วนอาคารเก่าที่จะบูรณะเพิ่มอาจจะมีงบประมาณลงไปช่วย หรือควรมีบทบังคับย้อนหลังในสถานที่ที่เป็นสาธารณะ 

เรื่องที่สาม คือเรื่องการคมนาคม รถไฟฟ้า รถเมล์ไฟฟ้าชานต่ำที่ใช้ได้จริง ที่คนพิการสามารถใช้งานได้ทั่วประเทศ นอกจากคนพิการจะสามารถใช้งานได้แล้ว ก็ยังสร้างงานในท้องถิ่นด้วย เช่น เมื่อมีรถไฟฟ้า ก็มีโรงงานผลิตรถไฟฟ้าก็เกิดขึ้นในไทย เรื่องที่จอดรถคนพิการก็มีปัญหา ที่ผ่านมาคนพิการถูกละเมิด เช่น คุณซาบะ (มานิตย์ อินทรพิมพ์) ที่โดนฟ้องหลังรณรงค์เรื่องที่จอดรถมาเป็นสิบๆ ปี ความคืบหน้าเท่ากับศูนย์ เหนื่อยแต่มันไม่เกิดผลอะไร นอกจากกฏหมายเรื่องนี้ต้องปลูกฝังจิตสำนึกในหลักสูตรการศึกษา และต้องมีบทลงโทษทางกฎหมายว่า การละเมิดที่จอดรถคนพิการจะถูกลงโทษอย่างไรบ้าง 

สี่ก็คือ การเพิ่มโควต้าหวยของคนพิการ เพิ่มจํานวนการพิมพ์สลากมากขึ้น เพราะว่าตอนนี้โควต้าสลากที่มีจำนวนน้อยหรือการตั้งสมาคมเพื่อให้โควต้าทำใหคนพิการเข้าไม่ถึงสลากโดยตรง เรื่องหวยเป็นเรื่องของความคาดหวัง คนพิการหลายคนเห็นผู้แทนราษฎรที่เป็นคนพิการด้วยกัน เข้าไปในสภาฯ เขาคาดหวังเรื่องหวยอยู่แล้ว เราจะทิ้งไม่ได้ ต้องทําเรื่องหวยให้ทั่วถึง เท่าเทียมกัน ในตอนนี้คนพิการมีโอกาสในการสร้างอาชีพน้อยกว่าคนอื่น อาจจะไม่ถูกมองเห็น ไม่ได้รับโอกาสในการประกอบอาชีพอื่น หวยจึงถูกมองว่าเข้าถึงง่าย ไม่ต้องใช้องค์ความรู้มาก เพราะการเข้าถึงองค์ความรู้สำหรับคนพิการก็ยังเป็นเรื่องยาก เพราะคนพิการยังเข้าไม่ถึงการศึกษา จึงต้องสนับสนุนให้อย่างน้อยๆ คนพิการต้องได้จบปริญญาตรีฟรีทุกคน การศึกษาของคนพิการจะช่วยลดความเหลื่อมล้ำด้านอาชีพ เมื่อคนพิการมีทักษะและการศึกษาแล้ว รัฐต้องทำให้เห็นเป็นตัวอย่างผ่านการจ้างงานคนพิการให้ครบ 20,000 ตำแหน่ง มีการตรวจสอบการทำงาน สภาพการจ้าง การทุจริตต่างๆที่เกิดขึ้น โดยเฉพาะการโกงกันในแวดวงคนพิการ ซึ่งรวมถึงแวดวงหวย ที่จะต้องให้โควต้าอย่างโปร่งใส เท่าเทียม และมีการตรวจสอบ

เรื่องที่ห้าคือ เงินกู้เพื่อขายสลากเป็นงวดต่องวด คล้ายกับเงินทุนหมุนเวียน เพราะบางคนเริ่มต้นขายสลากไม่ได้ เขาไม่มีเงินทุนเลย นี่อาจจะเป็นระยะแรกแรกของการทําให้คนพิการลืมตาอ้าปาก แต่ในอนาคตผมมองว่าคนพิการทําได้ทุกอาชีพ ไม่ว่าจะเป็นเกษตรกร สถาปนิก หรือแม้กระทั่งตํารวจก็อยากที่จะให้คนพิการมีโอกาสได้เป็น

  

คิดอย่างไรกับรัฐสวัสดิการและเบี้ยความพิการ 3,000 บาท

3,000 บาทผมว่ายังน้อยไปด้วยซ้ำ การเริ่มต้นกันที่ 3,000 บาท ไม่ได้เป็นภาระที่หนักหน่วง เป็นเรื่องที่เราสามารถหาเงินมาทําสวัสดิการได้ ในอนาคตเราอาจจะทําได้มากกว่านั้น เพราะต่างประเทศไปไกลกว่าเรา 70 ปี ถ้าเราไม่เริ่ม 3,000 บาทในตอนนี้ก็ไม่รู้จะเริ่มตอนไหน เพราะเงินจำนวนนี้คือเงินตามเส้นความยากจนที่คนคนหนึ่งจะสามารถใช้ชีวิตอยู่ได้ต่อเดือน แต่มันเพียงพอจริงไหม สําหรับผม 3,000 บาทต่อเดือนไม่พอหรอก เป็นใครก็ไม่พอ ส่วนเรื่องรัฐสวัสดิการ นั้นเป็นพื้นฐานของประเทศที่พัฒนาแล้ว อย่างประเทศญี่ปุ่นมีสวัสดิการที่ดีสําหรับคนพิการ ประเทศเยอรมัน ประเทศอังกฤษมีรัฐสวัสดิการที่ดีทั้งนั้น 

ให้คะแนนและวิจารณ์การทำงานเรื่องคนพิการของรัฐบาลที่ผ่านมา

คะแนนเต็ม 100 ผมให้ 0.1 ตอนเป็นรัฐบาล คสช.มีอํานาจเต็มใบแต่ว่าไม่สามารถช่วยเหลือในเรื่องนโยบายที่ทําให้คนพิการมีชีวิตที่ดีกว่านี้ได้เลย ทั้งเรื่องสวัสดิการ สังคม การศึกษา การแพทย์ เมื่อเป็นรัฐบาลจากการเลือกตั้งมีอํานาจน้อยลงกว่า คสช. ยิ่งทําไม่ได้ไปกันใหญ่ นโยบายที่คิดออกมีแค่สวัสดิการบัตรคนจน ที่เพิ่มให้คนพิการเดือนละ 200 บาท

คิดอย่างไรหากอธิบดีกรมคนพิการควรเป็นคนพิการ

เอาจริงๆ เป็นคนพิการหรือไม่พิการไม่ใช่ประเด็นสําคัญ สําคัญที่เขาเข้าใจคนพิการหรือเปล่า บางทีคนพิการด้วยกันก็อาจจะยังไม่เข้าใจกันเอง แต่คนไม่พิการที่เข้าใจคนพิการก็มีไม่น้อยเหมือนกัน เพราะฉะนั้นผมคิดว่าไม่เกี่ยวว่าพิการหรือไม่พิการแต่อยู่ที่ทัศนคติของคนๆ นั้นที่จะทําให้คนพิการเข้าถึงสิทธิขั้นพื้นฐาน ไม่ตั้งข้อแม้อะไรยุ่งยาก ที่ผ่านมายังไม่เคยเห็นคนแบบนั้น

พรรคก้าวไกลทำอย่างไรให้คนพิการมีส่วนร่วมกับพรรค

ผมเชื่อว่าทุกคนอยากเห็นความเปลี่ยนแปลงในชีวิตตัวเองดีขึ้นกว่านี้ คนพิการต้องไม่ถูกตีกรอบว่าเป็นคนพิการต้องทำได้แค่นี้ ทําอะไรไม่ได้ เป็นภาระสังคม ยิ่งคนพิการต่างจังหวัดยิ่งถูกสังคมมองว่า เป็นคนพิการเนี้ยเกิดมาก็ต้องนอนอยู่บ้าน สอบใบขับขี่ก็มองว่าคนพิการทําได้เหรอ ไม่มีปัญญาทําหรอก ฉะนั้นคนพิการต้องแสดงศักยภาพให้สังคมได้รู้ได้เห็นว่าเราทําอะไรได้มากกว่านั้น สําคัญมากกว่านั้นก็คือทำให้คนพิการได้เห็นตัวอย่างที่จะใช้ชีวิต คนพิการหลายคนไม่มีแรงบันดาลใจที่จะออกมาสู่สังคม ก้าวไกลเรามี ส.ส.เป็นคนพิการมาแล้ว เราแสดงให้เห็นความจริงใจว่าคนพิการสามารถมีบทบาทในเรื่องนโยบาย ไม่ใช่มีเพื่อหลอกขอคะแนนเสียง

ทำไมคนพิการต้องเลือกพรรคก้าวไกล

การเลือกตั้งครั้งนี้มีผลต่อคุณภาพชีวิตคนพิการจํานวนมาก เราจะอยู่กันอย่างเดิมหรือจะพลิกชีวิตคนพิการ ผมก็อยากให้ทุกคนออกมาเลือกตั้งกันเยอะๆ ทุกนโยบายของก้าวไกลคิดมาจากคนพิการ ฉะนั้นนโยบายจึงตรงจุด ตรงเป้า ตรงใจ