Skip to main content

เมื่อวันที่ 22 ธันวาคม 2564 ที่ผ่านมา กรมส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการโดยกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ได้ร่วมแถลงข่าวเพื่อมอบของขวัญปีใหม่ 2565 ให้กับคนพิการวัยแรงงาน ระบุว่า กระทรวงนั้นตระหนักดีว่าคนพิการวัยแรงงานเป็นกำลังการผลิตส่วนหนึ่งที่ร่วมขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศให้เติบโต โดยคำนึงถึงเทรนด์ที่กำลังเปลี่ยนผ่านจากยุคอุตสาหกรรมเข้าสู่ยุคดิจิทัล จึงได้จัดทำโครงการ  “Future of Work เพื่อคนพิการ ... สู่อาชีพใหม่ สร้างรายได้” ที่มีเป้าหมายในการสร้างอาชีพใหม่ให้กับคนพิการและผู้ดูแลคนพิการ กว่า 5,000 คน ทั่วประเทศ

โครงการได้มุ่งเน้นให้คนพิการและผู้ดูแลคนพิการสามารถประกอบอาชีพได้จริง โดยแบ่งเป็น 2 อาชีพ คือ 1) สร้างช่องทางการขายของออนไลน์ (E-commerce) 2,500 คน และ 2) สร้างคนพิการนักออกแบบอีก 2,500 คน ผ่านการอบรมคนพิการให้มีความสามารถเพื่อนำไปใช้ประกอบอาชีพได้ต่อไป Thisable.me จึงได้ชวน ฟ้า-วิญธัชชา ถุนนอก ยูทูบเบอร์ผู้มีประสบการณ์ด้านการขายของออนไลน์มากกว่า 5 ปี และ วี-ปวีนุช แก้ววงค์ กราฟิกผู้ทำงานออกแบบมามากกว่า 9 ปี ร่วมพูดคุยถึงประสบการณ์การทำงาน จุดเริ่มต้นของอาชีพ อุปสรรค ตลาดงานและสิ่งสนับสนุนที่ทั้งสองอาชีพต้องการเพื่อให้ประกอบอาชีพได้จริงอย่างยั่งยืน 

จุดเริ่มต้นในการทำงาน

ฟ้า และ วี จบปริญญาตรีในสาขาที่ตนเองสนใจ แต่เมื่อจบมาแล้วทั้งคู่กลับไม่สามารถหางานที่ตรงกับสายที่เรียนได้ จึงต้องเริ่มต้นเรียนรู้ทักษะใหม่และหันมาประกอบอาชีพขายสินค้าออนไลน์และ นักออกแบบกราฟิก

ฟ้า: ตอนที่เรียนจบแล้วไปสมัครงานแต่ไม่มีใครรับ แม้เรามีความสามารถด้านภาษาเพราะได้ทุนไปเรียนที่ประเทศอังกฤษ อาจเพราะตอนนั้นกำลังท้อง แล้วก็พิการด้วย บริษัทก็กลัวว่าจะทำงานให้เขาได้ไม่เต็มร้อย ความเครียดเริ่มมากขึ้นเพราะเราเองก็ท้องประมาณ 6 เดือนแต่ใจอยากช่วยแฟนหารายได้เสริม พอดีเจอเพื่อนไลฟ์สดขายของในเฟซบุ๊ค จึงเข้าไปสอบถาม แล้วก็เริ่มต้นจากตรงนั้น

วี: เราเรียนจบสาขาบริหารธุรกิจ ยื่นสมัครงานไปหลายที่มาก แต่เขาไม่รับเพราะใช้วีลแชร์ และส่วนมากสถานที่ทำงานจะมีบันไดทั้งหมด ดูแล้วค่อนข้างจะลำบากสำหรับคนที่นั่งวีลแชร์ ก็เลยไม่ได้ไปทำงานที่ไหน พอมีเวลาเลยฝึกออกแบบกราฟิกจากยูทูบ แล้วลองโพสต์ในอินเทอร์เน็ตว่ารับทำงานกราฟิก หลังจากนั้นก็เริ่มมีลูกค้าจ้างทำงาน พอคนหนึ่งจ้างแล้วเขาเห็นเราทำงานได้ ก็เริ่มแนะนำเพื่อนแบบปากต่อปาก

อุปสรรคที่เจอ

ฟ้า: ช่วงแรกๆ ก็ขายยาก ต้องใช้เวลาในการสร้างตัวตนบนโลกออนไลน์เพื่อสร้างความน่าเชื่อถือ ต้องถ่ายรูปให้สวย รู้จักการทำการตลาดออนไลน์ การยิงแอดต่างๆ ปฎิเสธไม่ได้ว่าการขายของออนไลน์มีการแข่งขันกันสูง ต้องใช้ความพยามยามและความทุ่มเทค่อนข้างมาก อีกสิ่งที่จะต้องเจอสำหรับคนพิการที่ขายของในโลกออนไลน์คือ ช่วงขายของแรกๆ จะมีนักเลงคีย์บอร์ดมาดูถูก มาบลัฟ มาบอกว่าคนพิการเนี่ยนะจะมาขายของออนไลน์ หรือการบอกว่า คนที่ซื้อก็ซื้อเพราะเขาสงสาร ทำมาเป็นขายของแต่จริงๆ จะมาขอทาน มาเอาเงินบริจาคใช่ไหม  ฯลฯ เราก็ต้องทำให้เห็นว่า เราขายของด้วยศักยภาพและคุณภาพสินค้า ไม่ใช่ด้วยความต้องการให้ใครมาสงสาร 

วี: ช่วงเริ่มต้นมีปัญหาเรื่องอุปกรณ์ เพราะอุปกรณ์ที่มีนั้นสเปคค่อนข้างต่ำ เวลาต้องทำงานที่มีความละเอียดสูงแล้วแรมน้อย ก็เรนเดอร์งานช้าและทำให้ส่งงานลูกค้าช้า บางครั้งก็มีปัญหาเรื่องอินเทอร์เน็ตช้า รวมถึงอยากให้คนเข้าใจว่า คนพิการแต่ละคนมีร่างกายที่ต่างกันไป ระยะเวลาการทำงานของคนไม่พิการอาจจะไวกว่าเพราะสรีระที่คล่องตัวกว่า คนพิการบางคนอาจจับเมาส์หรือพิมพ์งานได้ช้า บางคนก็มีปัญหาเรื่องสายตา ยิ่งในคนพิการติดเตียงจะเจอปัญหานี้มากกว่าเพราะลุกเดินไปไหนไม่ได้ เลยต้องอยู่หน้าจอคอมตลอดเวลา แต่หากดูที่คุณภาพของผลงาน เราคิดว่าไม่มีอะไรต่างกันเลย

ตลาดการทำงานในปัจจุบันเป็นอย่างไร

ฟ้า: งานขายออนไลน์มีการแข่งขันสูงและเทรนด์เปลี่ยนไปไวมาก ตอนนี้การขายของใน TikTok กำลังมาแรง เราต้องศึกษาให้ทัน ลูกค้าน่ะมีอยู่ตลอดเราแค่ต้องรู้จักหาตลาด หากลุ่มเป้าหมาย รู้จักการสร้างตัวตนและสร้างจุดเด่นของตัวเอง ก่อนหน้านี้เราลองไปขายในแพลตฟอร์มอย่างลาซาด้าและชอปปี้ แต่ก็ขายไม่ได้เลย อาจเพราะเราเอารูปทุกอย่างไปโพสต์แต่เราไม่รู้ว่าเราจะทำให้สินค้าของเราเด่นขึ้นมาจากสินค้าทั้งหมดในแพลตฟอร์มยังไง ทุกอย่างต้องศึกษาและทุ่มเท เลือกทางที่ตนเองถนัดแล้วไปทางนั้น

วี: ตอนนี้มีคนทำกราฟิกเยอะกว่าคนจ้าง คนทำเป็นมีเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ แม้แต่เด็กมัธยมก็ทำเป็น ยิ่งเดี๋ยวนี้ไม่จำเป็นต้องทำในโปรแกรมคอมพิวเตอร์อย่าง Photoshop หรือ Illustrator แล้ว แต่ทำในมือถือก็ได้ อาจต่างกันแค่เรื่องคุณภาพ แต่สิ่งที่เกิดขึ้นคือการโดนตัดราคา เช่น เรารับทำคอนเทนต์โฆษณาชุดละ 500 บาท พอมีคู่แข่ง เราก็ลดลงมาเป็น 300 บาท จนปัจจุบันเทคโนโลยีในมือถือทำงานได้มากขึ้น คนทำง่ายขึ้น งานก็ขายยากจนราคาลดลงมาเหลือแค่ภาพละ 50 บาท สถานการณ์แบบนี้ทำให้กราฟิกมืออาชีพที่ไม่ได้สร้างชิ้นงานจากโปรแกรมสำเร็จรูปในโทรศัพท์มือถือหางานยากขึ้น แถมมีต้นทุนแพงกว่า งานก็แพงกว่า ลูกค้าที่สนใจราคาอันดับแรก คุณภาพมาทีหลัง ก็มักยอมเสี่ยง

ด้วยความที่คู่แข่งเยอะขึ้น การรับงานข้างนอกอย่างเดียวไม่เพียงพอในการดำรงชีพ นักออกแบบกราฟิกจึงต้องทำงานประจำควบคู่ไปด้วยเพื่อเพิ่มรายได้ แต่ด้วยข้อจำกัดที่หลายบริษัทกำหนดให้คนพิการทำงานที่สำนักงาน และส่วนมากรับเฉพาะคนพิการที่ดูแลตัวเองได้ จึงทำให้กราฟิกคนพิการจำนวนมากเข้าไม่ถึงอาชีพและรายได้ไปโดยปริยาย

คำว่าช่วยเหลือตัวเองได้สำหรับเขาคือ ไม่ต้องมีคนดูแล ไม่ต้องป้อนข้าว ไม่ต้องพาเข้าห้องน้ำ สามารถช่วยเหลือตัวเองได้ทั้งหมด เหมือนคนทั่วไปนั่งวีลแชร์และที่สำคัญต้องมาทำงานที่บริษัทได้ พอช่วงที่มีสถานการณ์โควิด ประกอบกับสุขภาพของคนพิการที่อ่อนแอกว่าคนทั่วไป ก็ยิ่งยากที่จะเข้าไปทำงาน พอการเดินทางลำบากโอกาสที่คนพิการมีก็ลดลงไป

แต่คนพิการหลายคนทำกราฟิกได้ แต่ช่วยเหลือตัวเองไม่ได้ หากทำงานที่บริษัทก็ต้องมีญาติหนึ่งคนยอมออกจากงานเพื่อมาดูแล

ข้อกังวลต่อโครงการฝึกอาชีพ

ฟ้า: เรามองว่าเป็นจุดเริ่มต้นที่ดี แต่อาจไม่สามารถต่อยอดในการสร้างอาชีพอย่างยั่งยืนได้ถ้าหลักสูตรไม่มีความต่อเนื่องหรือหยุดแค่การอบรมฝึกทักษะ ควรจะจัดอย่างต่อเนื่องและเพิ่มเนื้อหามากขึ้นเรื่อยๆ พัฒนาให้ทันโลกในทุกปี ไม่ใช่ว่าทำครั้งนี้แล้วจบไป

วี: การให้ความรู้และการอบรมอาชีพเป็นสิ่งที่ดี เราเห็นด้วย แต่ว่าพออบรมจบแล้วจะมีหน่วยงาน บริษัท หรือแบรนด์ไหนมาจ้างทำงานอันนี้ยังเป็นเรื่องท้าทาย เพราะการอบรมไม่ได้ประกันว่าจะมีงานในอนาคต 

ของขวัญที่ต้องการเพื่อประกอบอาชีพขายของออนไลน์และออกแบบกราฟิก คืออะไร

ฟ้ามองว่า ตลาดขายของออนไลน์เปลี่ยนไปอยู่เสมอ การเข้าใจเทรนด์เป็นส่วนสำคัญที่ทำให้ขายสินค้าได้ โครงการจึงควรเพิ่มหลักสูตรที่กว้างและตามกระแส นอกจากนี้จะต้องเหมาะเหมาะกับคนพิการทุกประเภทที่จะนำความรู้จากการอบรมไปใช้ประกอบอาชีพ และสร้างรายได้ได้จริง

ฟ้า: ควรต้องขยายหลักสูตรการอบรมให้กว้างมากขึ้นทั้งด้านการตลาด การยิงแอด การถ่ายภาพ การหากลุ่มลูกค้าและการพูด ต้องศึกษาเทรนด์ให้ทัน โซเชียลไม่ได้อยู่กับที่แต่เปลี่ยนไปตลอด อะไรที่ดังในปีที่แล้วเอามาสอนปีนี้ก็ไม่ทันแล้ว เพราะเทรนด์เปลี่ยนไปแล้ว หากเราตามทันเทรนด์แล้วก็ค่อยจ้างวิทยากรที่เชี่ยวชาญในด้านนั้นๆ มาให้ความรู้ และปรับหลักสูตรให้เข้ากับคนพิการที่อาจมีต้นทุนในการขายไม่มาก

หากทีมอบรมมีนักจิตวิทยาด้วยก็ดี เพราะโซเชียลเป็นที่ที่เต็มไปด้วยคำพูด คำบูลลี่ที่เลี่ยงไม่ได้ จิตใจของคนพิการแต่ละคนไม่เหมือนกัน เราเป็นคนมั่นใจ มองว่าคนพิการก็คนเท่ากัน ไม่ได้ด้อยกว่าคนอื่น เวลาใครด่าก็กล้าที่จะสวนกลับไป แต่ไม่ใช่คนพิการทุกคนจะรับเรื่องเหล่านี้ได้ ทัศนคติของคนไทยบางกลุ่มยังไม่ค่อยเปิดกว้างสำหรับคนพิการ พอเห็นคนพิการมาขายของอาจใช้คำพูดที่ทำร้ายจิตใจได้

ท้ายที่สุดคือเป็นไปได้ไหมที่จะทำข้อตกลงกับแพลตฟอร์ม E-commerce ต่างๆ เพื่อให้สิทธิเพิ่มเติมกับพ่อค้าแม่ค้าคนพิการ เช่น การส่งฟรี ลดราคาค่าส่ง หรือลดค่าธรรมเนียม  เพื่อเปิดโอกาสให้ลูกค้าเห็นและอุดหนุนร้านค้าของคนพิการมากขึ้น และสามารถสร้างรายได้ให้คนพิการได้จริง 

ขณะที่วีมองว่าอาชีพกราฟิกเป็นอาชีพที่เหมาะกับคนพิการมาก เพราะไม่มีความจำเป็นต้องเดินทาง สามารถทำงานอยู่กับบ้านได้ แต่ด้วยตลาดแรงงานกราฟิกในปัจจุบันที่งานฟรีแลนซ์มีไม่มากพอที่จะหารายได้เพื่อเลี้ยงชีพ การทำงานในสถานประกอบการควบคู่ไปด้วยจึงเป็นสิ่งจำเป็น

วี: เราคิดว่าทุกบริษัทก็มีนโยบายการจ้างงานคนพิการ แต่ปัจจุบันยังไม่ทั่วถึง คนที่เดินทางไปสำนักงานได้เท่านั้นจึงจะได้รับการว่าจ้าง ถ้าเป็นไปได้อยากให้บริษัทต่างๆ ปรับ หรือขยายการจ้างงานคนพิการที่ทำงานอยู่บ้าน เพราะจะทำให้คนพิการมีโอกาสได้ทำงานมากขึ้น สามารถเข้าถึงการทำงานและประกอบอาชีพได้มากขึ้นการทำงานกราฟิกจำเป็นต้องใช้อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ราคาค่อนข้างสูง ถ้าหน่วยงานภาครัฐมีโครงการให้ยืมอุปกรณ์ ช่วยออกคนละครึ่ง หรือแบ่งเบาค่าใช้จ่าย จะช่วยเพิ่มโอกาสให้คนพิการที่มีความสามารถด้านออกแบบกราฟิกสามารถทำงานได้จริง 

คนพิการก็เหมือนกับคนทั่วไป แต่ละคนมีความถนัดของตัวเอง ไม่ใช่ทุกคนที่จะถนัดทำกราฟิกทั้งหมด ถ้าเป็นไปได้ก็อยากให้มีการอบรมที่กว้างและหลากหลายมากขึ้น สิ่งสำคัญที่สุดก็คือ อบรมแล้วจะไปทำงานที่ไหนต่อ เป็นไปได้ไหมที่รัฐอาจทำสัญญากับบริษัทต่างๆ ว่าหลังฝึกอบรมแล้วจะรับคนพิการเข้าทำงาน การคิดให้สุดทางจะสร้างโอกาสให้คนพิการมีงานทำ และสามารถหาเงินเลี้ยงดูตนเองและครอบครัวได้อย่างยั่งยืนจริงๆ