Skip to main content

สรุปไลฟ์เฟซบุ๊ก "การศึกษาของเด็กพิเศษเป็นอย่างไรในอังกฤษ"  คุยกับพิชญา ปิยจันทร์ ครูประกบเด็กพิเศษในประเทศอังกฤษว่า เด็กพิเศษที่นู้นได้รับการสนับสนุนในห้องเรียนกันอย่างไรและมีการพัฒนาระบบการศึกษาเด็กพิเศษมากน้อยขนาดไหน

  • ปิ่น—พิชญา ปิยจันทร์ ทำงานเป็นครูประกบเด็กพิเศษ (Special Educational Needs Teaching Assistant : SEN TA) อยู่ที่โรงเรียนประถมเล็กๆ ใน West Sussex ประเทศอังกฤษ เธอมีหน้าที่ประกบเด็กพิเศษไม่ว่าจะเป็นออทิสซึม สมาธิสั้นหรือเรียนรู้ช้า เพื่อช่วยให้พวกเขาอยู่ร่วมกับคนอื่นในสังคมได้ 
     
  • แม่ของเธอเป็นครูสอนเด็กทั่วไปแต่ก็มีเด็กพิเศษประปรายเข้ามาบ้าง สิ่งนี้จุดประกายให้เด็กเรียนจบอักษรศาสตร์ผันมาเรียนด้านการศึกษาพิเศษไกลถึงประเทศอังกฤษ หลังจากนั้นเธอทำงานเป็นอาสาสมัครกับเด็กออทิสติกที่หน่วยงานแห่งหนึ่ง บรรยากาศการเรียนการสอนทำให้เธอตัดสินใจส่งใบสมัครทำงานที่นี่และได้ดูแลเด็กพิเศษที่เรียนในห้องเรียนร่วม
     
  • ที่ประเทศอังกฤษห้องเรียนเป็นระบบเรียนร่วมกันระหว่างเด็กทั่วไปและเด็กพิเศษ โดยเด็กพิเศษจะมีแผนการศึกษาสำหรับเด็กพิเศษตั้งแต่ 0-25 ปี (Education Health and Care Plan ;EHCP) ที่มีกุมารแพทย์ พ่อแม่ ครูแต่ละชั้นช่วยกันสังเกตว่าพัฒนาการเรียนรู้สมวัยหรือไม่ มีปัญหาอะไรในการดำเนินชีวิต ถ้าพิจารณาแล้วว่าเรียนร่วมกับเด็กทั่วไปได้ก็จะส่งไปโรงเรียนรัฐบาลใกล้บ้าน แต่ถ้าเรียนร่วมกันยังไม่ได้ก็จะส่งเรื่องต่อไปที่ (Special Educational Needs Coordinator ;SENCO) ให้ดึงสหวิชาชีพเข้ามาช่วย โดยที่รัฐบาลเป็นคนออกเงินช่วยเหลือ
     
  • ปิ่นเล่าให้ฟังว่าในหนึ่งห้องเรียนจะมีเด็กไม่เกิน 30 คน จะมีครูประจำชั้น (Class Teacher) และครูผู้ช่วยครูประจำชั้น (Teacher Assistant) ถ้าโรงเรียนนั้นมีเด็กพิเศษก็จะจ้างครูประกบเด็กพิเศษมาช่วยดูแลอีกทีหนึ่ง การเรียนการสอนในช่วงเช้าจะเป็นการเรียนตามหลักสูตรที่ส่วนกลางกำหนดไว้ ส่วนช่วงบ่ายครูประกบเด็กพิเศษจะทำกิจกรรมซ่อมเสริมทักษะที่มีปัญหา เช่น กิจกรรมบำบัดต่างๆ ทักษะการพูดและทักษะการจัดการอารมณ์
     
  • สิ่งที่เธอประทับใจมากก็คือมาตรการวัดผลการศึกษาให้เหมาะสมกับระดับการเรียนของเด็กแต่ละกลุ่ม เพื่อไม่ให้เกิดการจัดลำดับว่าใครสอบได้ที่เท่าไหร่ จนทำให้เกิดความเครียด ความกดดันผ่านการแข่งขันเพื่อให้ได้ลำดับที่ดีขึ้น 
     
  • การวัดผลการเรียนจะไม่ใช้เกณฑ์เดียวเพื่อวัดความสามารถของเด็กทุกคน เด็กทั่วไปอาจเขียนเรียงความสามหน้าได้เป็นเรื่องปกติ กลับกันสำหรับเด็กพิเศษการเขียนได้ 5 ประโยคด้วยตัวเองก็อาจถือว่าประสบความสำเร็จในการเรียนการสอนแล้วเช่นเดียวกัน 
     
  • การเรียนที่นี่จะเน้นให้คิดและลงมือทำ หากมีเด็กมาหาแล้วบอกว่า ‘ไม่รู้’ หรือ ‘ทำไม่ได้ ก็จะมีกฎเหล็ก 4 ข้อให้เด็กลองทำก่อนที่จะช่วย เริ่มต้นจากให้เด็กลองคิดหาคำตอบเองอีกรอบ ถ้ายังคิดไม่ออกก็จะชวนเด็กสำรวจว่ามีอะไรที่ช่วยให้ได้คำตอบบ้าง ถ้าไม่ได้อีกก็ให้เขาหันไปถามเพื่อนหรือครูที่ค่อยช่วยเหลือ
     
  • ช่วงการแพร่ระบาดของโควิด-19 ปิ่นพยายามปรับการเรียนการสอนเพื่อให้เด็กสามารถเรียนรู้ได้ด้วยตัวเอง พึ่งพาพ่อแม่ให้น้อยที่สุดและมองว่าการเรียนรู้ตามหลักสูตรกลางที่วางไว้สามารถทำได้ไม่ว่าจะเป็นในรูปแบบของการเขียนหรือการวาดรูป 
     
  • สิ่งที่ทำให้ปิ่นแฮปปี้มากกับการเป็นครูอยู่ที่นี่ก็คือ Universal Design ภายในโรงเรียนที่เอื้อกับทุกคน ไม่ว่าจะคนพิการ คนไม่พิการ ถึงแม้โรงเรียนจะมีบันไดไม่ถึง 10 ขั้น แต่ก็มีลิฟต์ให้ใช้เพื่อรับรองเด็กที่นั่งวีลแชร์หรือเด็กที่ประสบอุบัติเหตุจนไม่สามารถเดินได้สะดวก 

สำหรับใครที่อยากชมไลฟ์ฉบับเต็ม
https://www.youtube.com/watch?v=ZIuQvteqDuY