Skip to main content

นิว-ณุวัฒน์ ตาตุ พิการทางการมองเห็น ปัจจุบันเป็นอาจารย์ด้านกฎหมายที่มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ เมื่อก่อนนี้นิวเคยใช้ชีวิตอยู่ที่กรุงเทพเพื่อเรียนปริญญาตรี-โท และทำงานตั้งแต่ปี 2557- ต้นปี2564 จึงทำให้มีประสบการณ์การเดินทางทั้งในกรุงเทพและต่างจังหวัด

ความพิการเป็นอุปสรรคในการเป็นอาจารย์หรือไม่

ณุวัตน์: ทำให้เราต้องพยายามหาหนทางเพื่อไปถึงเป้าหมายมากขึ้น เช่น ตอนตรวจข้อสอบนักศึกษา ยิ่งช่วงนี้เป็นการเรียนรูปแบบออนไลน์ เด็กต้องเขียนคำตอบลงในกระดาษแล้วถ่ายรูปส่งมาให้ผ่านทางกูเกิ้ลคลาสรูม พอเป็นลายมือเราก็อ่านเองไม่ได้ จะใช้โปรแกรมอ่านลายมือแล้วแปลงมาเป็นตัวหนังสือก็ทำได้อย่างจำกัด สิ่งเหล่านี้จึงเป็นอุปสรรคที่ต้องเอาตัวรอดไปให้ได้ ตอนนี้เราให้ให้คนตาดีที่ทางคณะจัดให้และเราไว้ใจมาช่วย พอคนเปิดกว้างเรื่องคนพิการมากขึ้นก็ทำให้คนที่พยายามทำความรู้จักวิถีชีวิตและช่วยเสริมเราด้วย 

สิ่งที่ต้องพกพาขณะเดินทางคืออะไร

มีแค่ไม้เท้าอย่างเดียว ซึ่งราคาประมาณ 400-500 บาท 

เสียค่าใช้จ่ายไปกับการเดินทางประมาณเท่าไหร่

วันละประมาณ 200 บาท ที่เราจ่ายราคานี้เพราะต้องเพิ่มค่าวินมอเตอร์ไซค์เพื่อเลี่ยงเส้นทางรถติดในตอนเช้าและเย็น เราเดินทางเหมือนกับคนทั่วไปเพราะการเคลื่อนที่เหมือนกัน ไม่ว่าจะขึ้นรถ ลงเรือก็สามารถทำได้

ประสบการณ์การเดินทางที่ผ่านมาเป็นอย่างไร ช่วงนี้ต้องเดินทางไปมหาวิทยาลัยเพื่อเตรียมการสอนและทำงาน แต่ถ้าตอนที่อยู่กรุงเทพต้องเดินทางเยอะมากเพราะมีหลายตัวเลือกให้เราเลือกเดินทางและก็รู้สึกประทับใจทุกครั้ง สมัยที่เราทำงานอยู่ย่านแจ้งวัฒนะและอาศัยอยู่โชคชัย 4 ช่วงแรกเราก็ต้องหาวินมอเตอร์ไซค์เพื่อมาส่งที่MRT ลาดพร้าวตรงแยกรัชดา สาเหตุที่เราเลือกนั่งวินเพราะว่าไม่อยากตื่นเช้าเพราะถ้าจะนั่งรถเมล์ก็ต้องตื่นก่อนเวลา 1 ชั่วโมงมารอรถ วินมอเตอร์ไซค์ส่วนใหญ่แทบไม่รู้ว่าเราตาบอดเพราะว่าสามารถบอกทางเขาได้ เหตุผลที่เราสามารถบอกเส้นทางได้ก็เพราะคอยถามวินมอเตอร์ไซค์ทุกครั้งที่เลี้ยวเขาเห็นอะไรเพื่อที่จะได้จำเส้นทางไว้ เมื่อถึง MRT ลาดพร้าวแล้ว เราก็ต้องหยิบไม้เท้าออกมาเดินต่อ แรกๆ ก็สับสนเพราะเคยลงแต่อีกฝั่ง แต่พอมาทำงานที่นี่เราก็ต้องลงฝั่งอาคารจอดรถ ก็จะมีคนมาถามเราว่าจะไปทางไหน ซึ่งมักเป็นคนที่ไปเส้นทางเดียวกันกับเราอยู่แล้ว หลังจากนั้นเราก็พยายามจำเส้นทางจากจุดที่เราเดินไปจนจุดที่คนพาเราเดินว่ามีบรรยากาศรอบข้างเป็นอย่างไร พอจำเส้นทางได้เราก็สามารถไปเองได้ เว้นแต่ว่าบางวันมีสิ่งกีดขวาง เช่น รถเข็นหรือแฝงขายของ เราก็เดินชนนะแต่ก็แค่รีบถอยออกมา 

เมื่อเราเดินทางหลายๆ ครั้งคนก็จะเริ่มจำเราได้แล้วเข้ามาทักเราบ้าง จากพลเมืองดีก็กลายเป็นเพื่อนที่คุยกัน ในตอนแรกหลายคนที่เข้ามาช่วยก็เกร็งเพราะไม่รู้ว่าต้องช่วยยังไง บางครั้งจับที่แขนก็รู้สึกได้ว่าแขนเกร็งมาก ทำให้เรารู้สึกว่าการช่วยตามหน้าที่ก็จะได้บริการแบบหนึ่ง แต่ถ้ามีความใกล้ชิดกัน เช่น เป็นคนรู้จักหรือเพื่อน การช่วยเหลือก็จะผ่อนคลายทั้งเราและเขามากขึ้น

การเดินทางด้วย MRT ไม่ได้มีอะไรพิเศษเจ้าหน้าที่จะคอยรับเราตั้งแต่บริเวณแสกนกระเป๋าแล้วพาเดินลงไปที่เสียบบัตร คนทั่วไปปกติจะเดินเข้าช่องเสียบบัตรแต่สำหรับเราต้องไปที่ประตู หลังจากนั้นเราก็ลงไปต่อแถว ส่วนมากเจ้าหน้าที่ก็จะพาเราแซงคิวไปอยู่ข้างหน้าสุด เมื่อก่อนรู้สึกกลัวว่าคนจะมองไม่ดี แต่เมื่อได้คุยกับหลายคนและพบว่าเขาเข้าใจในความจำเป็นของเรา เราก็โอเค 

 เราลงที่ MRTจตุจักรและต่อรถตู้สายปากเกร็ด พอเราจะเดินออกจาก MRT ก็จะมีเข้าหน้าที่คอยพาเดินไป ที่ท่ารถตู้ นายท่าเขาก็จะเตรียมที่ไว้ให้ บางครั้งเวลาจ่ายเงินแล้วเงินไม่พอดี  เราก็จะวานคนที่นั่งข้างๆ ช่วยหยิบตังค์ทอนให้ เราเองที่พิการตั้งแต่เกิดกล้าที่จะขอความช่วยเหลือ แต่ถ้าคนที่เพิ่งพิการก็อาจไม่กล้าที่จะขอ พอลงรถตู้ก็เดินเลาะฟุตปาธแล้วเลี้ยวเข้าที่ทำงาน ใต้ตึกมีเจ้าหน้าที่คอยเดินไปส่งในห้องทำงาน แต่ช่วงที่ต้องใช้ความมั่นใจเยอะหน่อยคือตอนเย็น เพราะมีรถเมล์เข้ามาเกี่ยวข้อง เราเดินออกจากตึกไปนั่งวินมอเตอร์ไซค์ คนขับจำเราได้แล้วรู้ว่าจะไปที่ไหน หลังข้ามสะพานลอยไปฝั่งวิภาขาเข้าเพื่อจะนั่งรถเมล์ไปยังจตุจักรแล้ว ส่วนใหญ่จะมีคนมาช่วยดูสายรถเมล์ให้ แต่บางวันก็ไม่มี อีกสิ่งที่เป็นปัญหาคือ เราไม่รู้ว่ารถเมล์สายที่มาเป็นสายที่เราจะขึ้นหรือไม่หากไม่มีคนช่วยบอก เราจึงไม่เรียก และต้องรอให้รถเมล์จอดที่ป้ายแล้วค่อยถามว่าสายอะไร แต่หากรถเมล์ไม่ได้จอดติดฟุตปาธหรือปิดประตูก่อนที่เราจะไปถึง เราก็ต้องใช้ไม้เท้าเคาะไปที่รถเพื่อถาม

เมื่อได้ขึ้นรถเมล์ที่ต้องการแล้ว สิ่งที่เกิดขึ้นตามมาก็คือเราไม่รู้ว่ามีที่นั่งว่างตรงไหนบ้าง จึงต้องบอกกระเป๋ารถเมล์ว่ามองไม่เห็นหรือบอกผู้โดยสารคนอื่นให้พาไปนั่ง และต้องคอยบอกกระเป๋ารถเมล์ตลอดให้เรียกเมื่อถึง บางทีก็คอยถามผู้โดยสารว่าตอนนี้อยู่ที่ไหนแล้ว เพราะเคยนั่งไปจนถึงอู่รถเพราะคนขับลืม เมื่อเรามาถึง BTS เกษตรแล้วก็มีนักศึกษาแถวนั้นช่วยพาเราขึ้นบันไดเลื่อนไปส่งเจ้าหน้าที่ กระทั่งถึง BTS จตุจักรเราก็ถึงบ้าน

คิดว่าหากคนพิการคนอื่นเดินทางจะได้รับการช่วยเหลือแบบเดียวกันหรือไม่

คิดว่าได้เหมือนกัน เพราะพื้นฐานคนเราชอบช่วยเหลือกันอยู่แล้ว แต่การขอความช่วยเหลืออาจยากและลำบากกว่าคนที่พิการมาตั้งแต่เกิด เพราะบางครั้งคนพิการตอนโตยังรับมือกับตัวเองไม่ถูก จึงทำให้เขาไม่รู้ว่าจะแนะนำคนที่มาช่วยตัวเองอย่างไร

ถ้าต้องมาเดินทางโดยไม่มีคนช่วยเหลือในโครงสร้างแบบนี้ คิดว่าจะเป็นปัญหาไหม

เป็นปัญหามาก ไม่ใช่แค่กับเราแต่กับคนพิการทางสายตาทุกคน ทุกคนอยากใช้ชีวิตอย่างอิสระทั้งนั้น แต่พอไม่มีสิ่งอำนวยความสะดวก ก็ต้องหาทางเอาตัวรอด สิ่งเหล่านี้เป็นเหมือนภาพสะท้อนว่า สิ่งอำนวยความสะดวกในบ้านเราไม่มีความพร้อม การเดินบนฟุตปาธที่ถึงแม้จะมีเบรลล์บล็อกก็จริง แต่ก็ไม่ได้มีทุกที่และที่ที่มีก็มักจะถูกรบกวนโดยสิ่งของ เช่น รถที่จอดทับหรือแม้กระทั่งร้านค้าที่มาตั้งทับ เราเคยเดินตามเบรลล์บล็อกแล้วไปชนกับร้านขายขนมข้างทาง แม่ค้าไม่ได้โกรธเราแต่ก็ไม่ได้รู้สึกว่าต้องหลบให้เรา สุดท้ายเขากลับบอกให้เราเดินหลบ ภาครัฐไม่ได้ให้ความรู้คน เห็นได้จากที่แม่ค้าไม่ได้คิดว่าที่เราเดินชนมาจากร้านเขาตั้งทับเบรลล์บล็อก แถมเขายังรู้สึกว่าได้ช่วยให้เราพ้นจากสิ่งกีดขวางแล้ว ดังนั้น ภาครัฐจึงต้องทำให้คนกลุ่มนี้เข้าใจสิทธิพื้นฐานให้ได้ ขนาดโครงการบัตรทองยังทำให้คนทั้งประเทศรู้จักได้ ทำไมถึงไม่ใช้กระบวนการเดียวกันในการให้ความรู้คน อุปสรรคในตอนนี้จึงเกิดจากการที่ภาครัฐมีศักยภาพแล้วไม่ทำ ผลที่ตามมาคือความล้มเหลวและคนพิการต้องมารับกรรม

ปัญหาต่างๆ ทำให้คนพิการในไทยยังไม่ค่อยออกมาเดินทางหรือไม่

มีส่วนมาก ทั้งในเรื่องสิ่งอำนวยความสะดวกและอุปสรรคจากบุคคล คนพิการจึงเลือกใช้วิธีอื่น สำหรับเรา จะเก็บเรือไว้ตัวเลือกสุดท้าย เพราะรู้สึกว่าอันตรายที่สุด โดยเฉพาะถ้าไม่จำเป็นหรือมีคนตาดีไปด้วยจะไม่ใช้เลย

สิทธิคนพิการที่ได้รับมีอะไรบ้าง

เบี้ยคนพิการที่ตอนแรกให้ 500 บาทต่อเดือน แต่ช่วงหลังเปลี่ยนเป็น 800 บาทต่อเดือน ส่วนการศึกษาก็ให้สิทธิเรียนฟรีถึงปริญญาตรีถ้ามีบัตรคนพิการ สุขภาพเป็นสิทธิเดียวกับบัตรทอง หากมองในแง่หนึ่งก็เป็นรัฐสวัสดิการ แต่ยังออกแบบมาเพื่อคนเฉพาะกลุ่ม หากสามารถทำให้เป็นเรื่องของคนทุกคนได้ เช่น การออกแบบโครงสร้างพื้นฐานให้เป็นมาตราฐานสากลก็จะทำให้คนพิการไม่ต้องไป พึ่งพาน้ำใจคนในสังคม  คนไทยไม่ได้มีน้ำใจมากกว่าคนชาติอื่น แต่สิ่งอำนวยความสะดวกน้อยจึงทำให้สามารถแสดงน้ำใจได้ เช่น พอได้เจอคนพิการเราก็มีโอกาสที่จะได้แสดงความมีน้ำใจแล้วเป็นสุขกับช่วงเวลานั้น ซึ่งในต่างประเทศก็อาจจะไม่ต้องทำแบบนั้นเพราะคนพิการใช้ชีวิตของเขาเองได้ 

เราจะแก้ไขปัญหาเหล่านี้ได้อย่างไร

ทั้งเรื่องสิ่งอำนวยความสะดวกและการให้ความรู้คนควรเป็นสิ่งที่รัฐต้องทำทั้งหมด ในเรื่องสิ่งอำนวยความสะดวกเราอาจไม่ต้องไม่นึกถึงที่อื่นไกล สามารถไปดูที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ รังสิตได้ เพราะเป็นที่ที่คนพิการสามารถอยู่ร่วมกับคนไม่พิการได้โดยที่เรารู้สึกเป็นปกติ ตอนที่เราเรียนอยู่ปี2552 ยังมีสิ่งอำนวยความสะดวกไม่พร้อมเท่าไหร่ แต่หลังจากนั้นธรรมศาสตร์ก็เริ่มปรับปรุงเส้นทางให้เดินสะดวก ไม่มีสิ่งกีดกวางระหว่างทาง ซึ่งเป็นที่ที่พอสำหรับคนนั่งวีลแชร์ คนตาบอด และคนทั่วไปเดินได้ เรารู้สึกปลอดภัยเวลาเดิน ซึ่งนี้คือสิ่งที่เมื่อทำลงไปแล้วคุณภาพชีวิตของคนในมหาวิทยาลัยก็ดีขึ้นโดยเฉพาะคนพิการ 

 

กาญจณี สุคะมะโน
นักศึกษาฝึกงาน