Skip to main content

ท่ามกลางความรุนแรงของการแพร่ระบาคโควิด-19 ที่พุ่งสูงขึ้นเท่าตัวในรอบเดือนที่ผ่านมา ปัญหาการขาดแคลนเตียงและการเข้าถึงระบบสาธารณสุขเป็นปัญหาที่ตามมาอย่างเลี่ยงไม่ได้ ผู้ติดเชื้อคนพิการเองมีจำนวนเพิ่มมากขึ้นเช่นเดียวกับคนกลุ่มอื่น อย่างไรก็ดี ด้วยข้อจำกัดหลายอย่างทำให้การเข้าถึงการคัดกรองและการรักษาเป็นไปอย่างยากลำบาก

Thisable.me ชวน พญ.บุษกร โลหารชุน แพทย์เชี่ยวชาญ รองผู้อำนวยการด้านการแพทย์ และ พญ.ดลฤดี ศรีศุภผล แพทย์ชำนาญการพิเศษ หัวหน้ากลุ่มงานพัฒนาคุณภาพ ที่ทำหน้าที่ประจำการอยู่ที่โรงพยาบาลสนามคนพิการบ้านวิทยาศาสตร์สิรินธรเพื่อคนพิการ มาพูดคุยถึงสถานการณ์ความรุนแรงที่เกิดขึ้นในกลุ่มคนพิการ การรับมือและข้อจำกัดของการดูแลผู้ติดเชื้อที่เป็นคนพิการ 

สถานการณ์ปัจจุบัน

พญ.บุษกร: สถานการณ์ตอนนี้น่าจะเป็นวันที่ 8 หรือ 9 แล้วที่อัตราของคนติดเชื้อสูงขึ้นเกิน 15,000 คนต่อวัน หากดูตามสัดส่วนง่ายๆ แบบคณิตศาสตร์พื้นฐานก็คือร้อยละ 3 ของประชากรเป็นคนพิการ ยิ่งผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้น คนพิการที่ติดเชื้อก็เพิ่มขึ้น  อีกปัจจัยก็คือเมื่อเปิดช่องทางการตรวจมากขึ้น คนพิการก็เริ่มเข้าถึงการตรวจมากขึ้น กราฟผู้ติดเชื้อคนพิการจึงพุ่งขึ้นอย่างรวดเร็วในช่วง 2 สัปดาห์และลักษณะของการติดโรคในคนพิการเป็นการติดแบบไม่ใช่ตัวคนเดียว แต่เป็นลักษณะครอบครัวซึ่งมีทั้งเด็ก คนท้อง ผู้สูงอายุและคนพิการ 

พญ.ดลฤดี: โรงพยาบาลสนามคนพิการเปิดตั้งแต่วันที่ 1 มิถุนายนที่ผ่านมา ตอนนี้ก็เกือบ 2 เดือน มียอดคนไข้สะสมประมาณ 295 คน การเข้ามารักษาที่นี่จะเข้าออกเป็นรอบๆ รอบละ 90-100 คน สลับกับการทำความสะอาดเป็นเวลา 3-4 วัน คาดการณ์ว่าคนไข้รอบใหม่น่าจะขึ้นไปถึง 120 คน ในช่วงแรกมีคนพิการไม่เยอะมากจึงรับคนกลุ่มอื่นด้วยไม่เกิน 70% เช่น กลุ่มต่างด้าวหรือคนป่วยทั้งครอบครัวพร้อมลูกเล็กหรือคนแก่ 

ตอนวางแผนงาน เรามองว่ารับมือคนพิการได้สามกลุ่มคือ พิการทางกาย คนหูหนวกและคนตาบอด เพื่อไม่ให้ซ้ำซ้อนกับโรงพยาบาลสำหรับคนพิการทางจิตที่โรงพยาบาลบ้านสมเด็จเจ้าพระยาและโรงพยาบาลศรีธัญญา อย่างไรก็ดี ถึงแม้จะแบ่งหน้าที่กันแต่เมื่อมีครอบครัวที่มีลูกพิการซ้ำซ้อนตั้งแต่กำเนิดทางสติปัญญาเราก็รับเข้ามา คลัสเตอร์แรกๆ ที่เข้าสู่โรงพยาบาลสนามคือคนหูหนวก และคนตาบอดกลุ่มผู้แสดงความสามารถที่อยู่รวมกันเยอะถึง 50-60 คนในโกดัง ตอนนั้นพวกเขาแอดมิท 10 กว่าคนพร้อมกัน การดูแลค่อนข้างยากทีเดียว หลายคนไม่ได้มีการศึกษาสูงมากนัก เครื่องมือเทคโนโลยีเป็นเรื่องยาก กว่าจะให้นักกายภาพสอนวิธีใช้และการเก็บข้อมูลก็กินเวลาค่อนข้างนาน จากที่เราไม่ได้ต้องการติดวงจรปิด จึงจำเป็นต้องติดเพื่อให้คนตาบอดวัดไข้ละยื่นไปตรงกล้องให้พยาบาลดู เช่นเดียวกับอีกคลัสเตอร์คนหูหนวกเป็นเรื่องท้าทายโดยเฉพาะเรื่องการสื่อสาร แม้ว่าจะมีบริการล่ามภาษามือผ่านแอพลิเคชัน TTRS แต่คนส่วนหนึ่งไม่ได้ใช้หรือใช้ไม่เป็น จึงทำให้การติดตามอาการเป็นเรื่องยากมาก โชคยังดีที่ระหว่างนั้นมีคลัสเตอร์ล่ามภาษามือเข้ามาแอดมิทด้วยจึงเลยช่วยหมอพยาบาลในการสื่อสารได้

ช่วงหลังจะไม่เชิงเป็นคลัสเตอร์ใหญ่ เป็นเคสที่ไม่ได้อยู่รวมกันเป็นกลุ่ม และรับเคสผ่านช่องทางของ 1668 และกรมส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ อย่างไรก็ดี คนไข้ที่เรารับได้จะต้องถูกคัดกรองว่าอยู่ในระดับเขียว โดยต้องพิจารณาร่วมกับสภาพความพิการด้วย เช่น หากเป็นคนพิการร่างกายที่มีโรคประจำตัวเยอะ อาการป่วยสีเขียวก็อาจขยับไปเป็นสีเหลืองได้

โรงพยาบาลสนามบ้านวิทยาศาสตร์สิรินธร

พญ.บุษกร: โรงพยาบาลสนามบ้านวิทยาศาสตร์สิรินธรมีศักยภาพในการดูแลใกล้เคียงกับ Hospitel แต่เตรียมการในเรื่องของครุภัณฑ์ต่างๆ เช่น ออกซิเจน และเป็นแยกที่รองรับได้ตั้งแต่ 2-4 คน มีบ้างที่เกิน 4 คน หากเป็นเด็กเล็กที่อยู่กับครอบครัวได้ เด็กสุดที่เราเจอคืออายุ 2 เดือน 

จริงๆ แล้วโรงพยาบาลสนามคนพิการจะไม่ต้องเกิดขึ้นหากเรามีการเตรียมการที่ดีในระดับนโยบายให้โรงพยาบาลสนามทุกที่สามารถเข้าถึงและใช้งานได้สำหรับทุกคน แต่เมื่อปริมาณในการระบาดและการควบคุมการระบาดนั้นเกินคาด จึงยากที่จะเกิดโรงพยาลสนามในอุดมคตินั้นได้ เมื่อสร้างเร็ว สิ่งอำนวยความสะดวกที่เฉพาะเพื่อแก้ปัญหาข้อบกพร่องและข้อจำกัดทางร่างกายจากความพิการก็ไม่เกิดขึ้น เช่น เส้นทางจากเตียงไปห้องน้ำ การอยู่ในฮอลใหญ่นั้นยากที่จะเดินจากเตียงไปเข้าห้องน้ำความไม่มั่นคงของสภาพร่างกายสร้างความเสี่ยงเรื่องอุบัติเหตุ จึงจำเป็นจะต้องมีอุปกรณ์เสริมบางอย่างเพื่อให้สามารถใช้งานได้ปลอดภัย นอกจากนี้ยังมีกลุ่มคนพิการทางการเห็นและพิการทางการได้ยินที่ต้องคำนึงถึงเรื่องการสื่อสาร จะทำอย่างไรให้ทราบว่าสภาพแวดล้อมที่เขาต้องมาอยู่ 10-14 วันเป็นอย่างไร ห้องน้ำอยู่ไหน จุดไหนคือโทรศัพท์ จุดไหนคือจุดแจ้งเหตุ ฯลฯ 

ในโรงพยาบาลสนามคนพิการเจ้าหน้าที่จะต้องเตรียมรับมือดูแลเรื่องเหล่านี้ ต้องมีทักษะในการทำความเข้าใจเพราะการดูแล 14 วัน ต้องอาศัยความร่วมมือของผู้ป่วยในการส่งสัญญาณชีพ วัดออกซิเจนปลายนิ้วและวัดอุณหภูมิอย่างน้อย 2-3 ครั้งต่อวัน

สิ่งที่ที่นี่ต่างจากโรงพยาบาลสนามอื่นก็คือ เราคำนึงถึงข้อจำกัดของคนพิการและก้าวข้ามอุปสรรคโดยใช้อุปกรณ์ช่วยเหลือ ถึงแม้ว่าจะไม่ได้อยู่สบายเหมือนบ้านแต่เราก็รู้ว่าจะทำอย่างไรให้เขาอยู่ที่นี่ได้ 10-14 วัน หากโรงพยาบาลสนามที่อื่นต้องรับคนพิการสิ่งที่ควรทำเบื้องต้นก็คือ หาวิธีในการสื่อสาร เช่น ใช้เทคโนโลยีกับคนหูหนวก ใช้กำลังคนในการแนะนำสถานที่แก่คนตาบอด รวมทั้งต้องจัดเตรียมพื้นที่ที่เพียงพอสำหรับคนที่ใช้วีลแชร์ เป็นต้น 

แม้ว่าความตั้งใจคือรับคนพิการสามประเภท แต่ปัจจุบันโรงพยาบาลสนามคนพิการมีความหลากหลายกว่านั้นมาก ทั้งญาติและครอบครัวคนพิการ บุคลากรที่ทำงานเกี่ยวข้องกับคนพิการ บุคลากรในสถานสงเคราะห์ ล่ามภาษามือ เป็นต้น  นอกจากนี้ก็ยังมีคนพิการซ้ำซ้อนที่เป็นเด็กและบุคคลออทิสติกด้วย เพราะแม้มีความพิการทางสติปัญญา แต่มีอาการทางกายด้วย โรงพยาบาลสนามของกลุ่มความพิการทางจิตก็ไม่สามารถดูแลได้  ดังนั้นหากมีครอบครัวที่ดูแลและควบคุมคนพิการได้ เราก็ยินดีรับ 

ความรุนแรงของความพิการมีผลต่อการดูแล

พญ.บุษกร: คนที่จะเข้ารักษาในโรงพยาบาลสนามคนพิการได้ต้องช่วยเหลือตัวเองได้มากในระดับหนึ่ง เพราะที่นี่ไม่ใช่หอผู้ป่วย แต่เป็นห้องแยก ดังนั้นบุคลากรเรามีจำกัด โดยอัตราส่วนพยาบาล 3 คนต่อคนไข้ 90 คน ดังนั้นกลุ่มที่ต้องช่วยเหลือทั้งหมด (Total Dependent) ที่ต้องอุ้มหรือต้องย้ายตัวนั้นลำบากกับทีมและคนพิการระดับนั้นควรต้องอยู่ในโรงพยาบาล หากมากับญาติที่ติดเชื้อ ญาติก็ต้องแข็งแรงพอที่จะช่วยดูแลได้ทั้งหมดเพราะบุคลากรเราไม่สามารถใส่ชุด PPE ไปช่วยได้ตลอดเวลา 

ตอนนี้คนพิการติดเตียงเป็นการบ้านใหญ่ของเราเพราะศักยภาพการรองรับไม่ถึง การติดเตียงมันพ่วงมากับความพึ่งพาทุกอย่าง ตั้งแต่เรื่องของอาหาร เช่น ถ้าต้องใช้อาหารเหลวผ่านสายยาง ที่นี่ไม่มี แค่เราพยายามมีเครื่องผลิตออกซิเจนก็มากกว่าปกติแล้วเพราะไม่มีท่อต่อ จึงใช้ได้เพียงเครื่องผลิตออกซิเจนแบบเสียบปลั๊ก ฉะนั้นคนพิการติดเตียงจะไม่เหมาะกับโรงพยาบาลสนามแน่นอน ยังคงเหมาะกับโรงพยาบาลหรือแม้แต่บ้านของเขาก็อาจจะเหมาะกว่าเพราะมีการปรับสภาพแวดล้อมสูงกว่าโรงพยาบาลสนาม อีกข้อจำกัดหนึ่งคือ ข้อจำกัดของสถานที่ ที่นี่ไม่ได้เป็นโรงพยาบาล ลิฟต์ค่อนข้างเล็ก ไม่สามารถรับเตียงเข็นได้ ฉะนั้นคนที่ไม่สามารถนั่งวีลแชร์ได้ก็ไม่สามารถขนส่งขึ้นไปชั้นบนได้

รูปคนไข้ในมอนิเตอร์

ข้อจำกัดของโรงพยาบาลสนามคนพิการ

พญ.ดลฤดี: ในช่วงอาทิตย์ก่อนเรามีเครื่องผลิตออกซิเจน 10 เครื่องและถูกใช้ทั้งหมด แปลว่ามีคนไข้ที่ต้องมอนิเตอร์ใกล้ชิดอยู่ 10% เครื่องออกซิเจนที่นี่ไม่มีท่อส่งออกซิเจนที่ปรับระดับได้ จะถูกลิมิตไว้ที่ 5 - 10 ลิตรแล้วแต่เครื่อง หากคนไข้คนหนึ่งต้องการออกซิเจนมากกว่านั้นเราก็ต้องเปลี่ยนเครื่องสลับกันไปมาระหว่างห้อง เหมือนเรากำลังดูคนไข้ในโรงแรมไม่ใช่โรงพยาบาล

พญ.บุษกร: ตอนนี้ล่าสุดเรามีเครื่องผลิตออกซิเจน 15 เครื่องจากการบริจาคและถูกใช้ทั้งหมดแล้ว โรงพยาบาลสนามคนพิการนั้นเต็มมา 5 รอบแล้ว เพราะถึงแม้จะบริหารจัดการยังไงก็จะมีช่องว่างเรื่องความสะอาด เราต้องทิ้งห้องไว้ 2 วันหลังจากคนไข้ออกเพื่อให้มั่นใจว่าสารคัดหลั่งที่ประกอบไปด้วยเชื้อไวรัสนั้นตาย หลังจากนั้นจะผ่านกระบวนการฉีดพ่นน้ำยาฆ่าเชื้อไวรัสและใช้ UV อบภายในห้อง รวมทั้งสิ้นประมาณ 4 วัน เมื่อเราเปิดรับคนไข้รอบใหม่ ก็มีคนต่อคิวทันที 20 - 30 คิว รอบนี้เราจึงต้องใช้ Home Isolation มาช่วยในผู้ป่วยสีเขียว ผ่านการใช้อุปกรณ์เทคโนโลยีในการมอนิเตอร์ให้มั่นใจว่าคนไข้ได้รับการดูแลติดตาม มีอาหารทาน

โควิด-19 พ่วงมาด้วยความเครียด

พญ.บุษกร: ความเครียดพ่วงมากับผลกระทบหลายอย่าง สิ่งที่พบมากก็คือแผลบริเวณมุมปาก ซึ่งทำให้คนไข้ทานอาหารได้น้อยลงนอกเหนือจากนี้ยังพบผื่นผิวหนัง ลักษณะคล้ายงูสวัดและไวรัสลงปอด ยิ่งคนไข้มีภาวะเครียดและทานอาหารและดื่มน้ำได้น้อยสภาพร่างกายยิ่งถดถอยลงไปเรื่อยๆ เราต้องบอกให้คนไข้ฝืนใจกินแม้ไม่รับรู้กลิ่นหรือรส ไม่เช่นนั้นภูมิคุ้มกันจะต่ำลงไปเรื่อยๆ น้ำเกลือไม่ใช่สิ่งวิเศษถ้าไม่จำเป็นก็ไม่ควรใช้

คนพิการที่ไม่ได้คาดคิด

พญ.ดลฤดี: แม้เราจะมองว่า คนหูหนวก คนตาบอดอาจไม่เผชิญความยากลำบากเท่าไหร่นักเมื่อต้องอยู่โรงพยาบาลสนาม แต่ด้วยการคำนึงถึงสุขภาพที่ต่ำ เช่น ไม่เคยรู้เลยว่าที่ผ่านมามีโรคประจำตัวอะไรบ้าง ก็อาจทำให้เสี่ยงมากขึ้น

หากดูจากเกณฑ์ของกรมควบคุมโรคเรื่อง 7 โรคเสี่ยง จะพบว่ามีภาวะสโตรคอยู่ด้วย เพราะมีโรคร่วมทางกายเยอะทำให้สมรรถภาพทางปอดไม่ดี หมอคิดว่าถ้ากรมควบคุมโรคคุ้นเคยกับ Spinal Cord Injury หรือการบาดเจ็บไขสันหลัง เขาควรจะเพิ่มเข้าไปด้วย เพราะคนกลุ่มนี้มีแนวโน้มจะมีสมรรถภาพทางปอดไม่ดีและอาจเกิดโรคร่วมได้หรือบางกลุ่มโรคประจำตัวอย่างกล้ามเนื้ออ่อนแรง มีสมรรถภาพทางปอดไม่ดีตั้งแต่แรก ระดับการช่วยเหลือตัวเองจะต่ำกว่าไม่ว่าจะป่วยเป็นอะไร 

พญ.บุษกร: ใน 2-3 วันที่ผ่านมาเราพยายามสื่อสารให้ประชาชนเข้าใจและนำเข้าไปสู่การเข้าสู่ระบบ หากสีเขียวดูแลแบบ Home Isolation ไม่ว่าจะพิการหรือไม่และเตรียมทำ Community Isolation โดยจับคู่กับโรงพยาบาลที่อยู่ในพื้นที่ใกล้เคียง ซึ่งภาคประชาสังคมคนพิการที่เข้มแข็งในระดับหนึ่งน่าจะเป็นปัจจัยสำคัญที่ช่วยผลักดันให้เกิดขึ้น นอกจากนี้เราใช้ระบบการจัดสรรเตียงผ่านกรมส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการในระบบ Co-Link เพื่อไม่ให้เกิดความสับสน 

แนวโน้มในอนาคต

พญ.บุษกร: เราดูหลายทางมาก ทั้งศาสตร์ทั้งไสย ถึงกระทั่งว่าดวงเมืองจะไปถึงไหน มีคนคาดการณ์ว่าเดือนสิงหาคมยังเป็นช่วงที่หนักอยู่ ทั้งหมดทั้งมวลขึ้นอยู่กับมาตรการและความระมัดระวังตะหนักรู้ของทุกคนในสังคม เราต้องใช้ชีวิตในแบบ New Normal เว้นระยะห่าง นอกจากนี้ปัจจัยการเข้าถึงวัคซีนเป็นเรื่องสำคัญ แม้วัคซีนตอนนี้ไม้ได้ป้องกันการติดเชื้อแต่ลดความรุนแรงได้ หากติดแล้วเป็นสีเขียวคุณไม่จำเป็นต้องเข้าโรงพยาบาล สามารถเข้าสู่ระบบการดูแล จึงไม่ควรกังวลว่าจะได้โรงพยาบาลเมื่อไหร่จนเกิดความเครียด คนพิการเองก็ต้องเข้าใจว่าเราไม่สามารถรองรับคนพิการได้ทั้งหมด ไม่สามารถสร้าโรงพยาบาลสนามคนพิการได้จำนวนมาก ทุกคนจึงต้องดูแลตัวเองให้ปลอดภัยและลดการแพร่เชื้อไม่ให้เพิ่มจำนวนคนที่เป็น 

วัคซีนคนพิการ

พญ.บุษกร: หากย้อนไปเมื่อเดือนมีนาคม หมอเป็นคนที่พยายามที่ให้บุคลากรการแพทย์ได้รับวัคซีน เพราะเรารู้ว่ามีภาระหน้าที่ที่ต้องทำ เรามองถึงความเป็นไปได้ในการเข้าถึงก่อน ไม่ว่าจะเป็นวัคซีนจากเทคโนโลยีใดก็กระตุ้นให้ร่างกายเกิดภูมิ เพียงแต่ว่าสูงต่ำไม่เท่ากัน ฉะนั้นจึงยืนยันคำเดิมว่า มีอะไรก็ฉีดไปก่อนเพราะเราแพ้ไม่ได้ ดังนั้นถึงแม้ว่าคนจะบอกว่า วัคซีนไม่ดี เราก็คิดว่าต้องเอามาชั่งกับความเสี่ยง หมากบนกระดานถอยลงไปสถานการณ์ยิ่งแย่ลง คนพิการเข้าถึงอะไรได้ก่อนก็ใช้ตรงนั้นก่อน มีคนถามว่า ทำไมไม่ใช้แอสตราเซเนกาในคนพิการ เหตุผลคือเราไม่แน่ใจในความมั่นคงของวัคซีน ไม่มีใครตอบได้ว่าตัวที่เราต้องการจะมีไหม คุณจะได้เข็มสองหรือเปล่า 

เมื่อไหร่ก็ตามที่คุณเข้าถึงโอกาสแล้ว อย่าทิ้งโอกาสนั้น คนพิการมีความเสี่ยงมากกว่าคนอื่นด้วยความจำกัดบางอย่าง หากเป็นขึ้นมาความรุนแรงจะมากกว่า แต่วัคซีนเป็นตัวช่วยลดความรุนแรง ความเห็นส่วนตัวจึงคิดว่าควรฉีด ในเรื่องข้อควรระวังต่างๆ นั้นเนื่องจากเรื่องนี้เป็นศาสตร์ใหม่ จึงมีเพียงการเก็บสถิติแนวโน้มเท่านั้น เมืองนอกเองก็ยังไม่รู้ว่าทำไมฉีดไฟเซอร์แล้วถึงเกิดปัญหาด้านหัวใจหรือทำไมฉีดแอสตราเซเนกาแล้วมีไข้สูงมากในเวลา 48 ชั่วโมงโดยเฉพาะในกลุ่มที่อายุต่ำกว่า 60 ปี สิ่งสำคัญในตอนนี้คือทุกภาคส่วนต้องไม่สร้างความสับสนและใช้ข้อมูลที่มาจากช่องทางที่เป็นทางการเท่านั้น