Skip to main content

สรุปไลฟ์เฟซบุ๊ก "คุณภาพชีวิตคนพิการเป็นอย่างไรในออสเตรเลีย" ที่ชวนคุยกับคุณสุธีนุช ตั้งสถิตย์กุลชัย NDIS Specialist Support Coordinator อาชีพ Social Worker (นักสังคมสงเคราะห์) ถึงคุณภาพชีวิตคนพิการในออสเตรเลียว่าเป็นอยู่อย่างไร

  • นุชสุธีนุช ตั้งสถิตย์กุลชัย ทำงานในตำแหน่ง NDIS Specialist Support Coordinator เธอเรียนปริญญาโทด้านสังคมสงเคราะห์ที่ The University of Western Australia ในเพิร์ท ประเทศออสเตรเลีย ซึ่งกำลังจะจบในเดือนพฤศจิกายนปีนี้ 

  • ที่ฝึกงานแรกของนุชนั้นเกี่ยวกับคนพิการทางสายตา โดยให้บริการแทบทุกอย่างไม่ว่าจะเป็นทีมบำบัด สอนวิธีการใช้ไม้เท้า สอนขึ้นรถเมล์ สอนเดินทาง และรวมไปถึงบริการให้คำปรึกษาเกี่ยวกับสุขภาพจิตสำหรับคนที่ได้รับผลกระทบทางจิตใจเมื่อเกิดความพิการ นอกจากนี้ยังมีบริการ เช่น Audio Production Audio Books ผลิตอักษรเบรลล์ ผลิตอุปกรณ์ด้านเทคโนโลยี และสุนัขนำทางอีกด้วย

  • หน่วยที่เธอทำมีหน้าที่หลักอยู่ 2 แบบ คือ 1.สนับสนุนด้าน Emotional Support โดยเฉพาะคนที่ตาบอดเมื่ออายุมาก หน้าที่นี้จึงมีเพื่อให้คำปรึกษาและการสนับสนุนคล้ายนักจิตวิทยา แต่จะเน้นรับฟังมากกว่ารักษา 2.การเชื่อมคนพิการเข้ากับการบริการต่างๆ หน้าที่นี้จะช่วยดูว่ามีบริการอะไรในสังคมและประเมินความต้องการพร้อมกับเชื่อมบริการหรือสิทธิประโยชน์ต่างๆ เข้ากับคนพิการ

  • หากเพิ่งประสบอุบัติเหตุและกลายเป็นคนพิการ คนมักรับความพิการไม่ได้ นุชรู้จักลูกค้าคนหนึ่งที่เกิดอาการมองไม่เห็นเฉียบพลันเนื่องจากจอประสาทตาลอก หลังเกิดความพิการเขารับไม่ได้กับสิ่งที่เกิดขึ้นเพราะรู้สึกสูญเสียคุณค่าในตัวเอง ทั้งไม่สามารถเป็นหัวหน้าครอบครัวได้เหมือนเดิม และไม่สามารถไปส่งลูกที่โรงเรียนได้อีก หน้าที่ของเธอจึงเป็นการเชื่อมคนพิการกับ NDIS (National Disability Insurance Scheme) หรือระบบสำหรับผู้พิการในออสเตรเลียที่มีเกณฑ์ 3 อย่างคือ 1.อายุต่ำกว่า 65 ปี 2.ต้องมีความพิการที่ถาวรและมีผลกระทบรุนแรงต่อการใช้ชีวิตประจำวัน 3.ต้องเป็นพลเมืองของออสเตรเลียหรือถือวีซ่าถาวร ซึ่งเกณฑ์ทั้ง 3 ต้องผ่านการวินิจฉัยจากแพทย์ 

  • NDIS ให้เงินเฉพาะบุคคล หากสูญเสียการมองเห็นก็จะได้เงิน 3 ประเภทคือ 1.Core Support Funding คือเงินพื้นฐานในชีวิตประจำวัน สิ่งของที่บริโภคแล้วหมดไปหรือบริการต่างๆที่ทำโดย Support Worker ที่ดูแลผู้บริการโดยตรง 2.Therapy Services ซึ่งจะเกี่ยวกับการบำบัดต่างๆ 3.Capital Support หรือพวกเทคโนโลยีต่างๆ ซึ่งราคาค่อนข้างแพง ซึ่งสุนัขนำทางก็รวมอยู่ในกลุ่มนี้ด้วย

  • สิ่งที่นุชประหลาดใจมากคือ ที่ออสเตรเลียมี Support Holiday หรือเงินไปเที่ยวสำหรับคนพิการ เงินส่วนนี้อาจรวมค่าที่พัก ค่าเดินทาง หรืออุปกรณ์ช่วยเหลือเสริมสำหรับผู้ที่ต้องการจะค้างคืนและยังรวมไปถึงส่วนของ Support Worker ที่นอนค้างคืนด้วย การได้เที่ยวนั้นสะท้อนคุณภาพชีวิต โดยเฉพาะคนพิการบางคนที่มีปัญหาทางการเคลื่อนไหวและไม่สามารถมีความสุขกับกิจกรรมได้เท่าคนอื่น

  • NDIS ถูกออกแบบระบบสำหรับปัจเจกบุคคล ตามแต่ละกรณีว่าใครมีความต้องการอะไร แต่เมื่อมีบริการมากมายขนาดนี้ คนก็ต้องจ่ายภาษีเยอะขึ้นด้วย แต่คนที่นี่ก็ยินดีจ่ายเพราะเห็นว่าภาษีที่เสียนั้นไปไหน

  • นุชอธิบายถึงสิ่งที่ทำให้เกิดการสนับสนุนคนพิการอย่างแนวคิดเรื่อง Equity หรือความเที่ยงธรรม วิธีการออกแบบนโยบายของที่นี่มีเป้าหมายอย่างแรกคือต้องเข้าถึงคนพิการ อย่างที่สองคือต้องครอบคลุมคนทุกกลุ่มในประเทศและอย่างที่สามคือคนพิการต้องมีทางเลือกในการใช้ชีวิตและการใช้บริการต่างๆ ด้วยตนเอง

  • นุชกล่าวว่าโครงสร้างพื้นฐานของออสเตรเลียนั้นดีมาก ทั้งเรื่องทางเดิน การคมนาคม และตัวอาคารต่างๆ เช่น ทางเดินดี มีทางเดินสำหรับคนพิการทางสายตา ไฟจราจรมีเสียง รถเมล์เป็นระบบไฮดรอลิก ทำให้คนที่นั่งรถเข็นหรือคนถือของหนักขึ้นรถง่าย ถ้าเป็นการเดินทางผ่านรถไฟก็จะมีเจ้าหน้าคอยช่วยเหลือประจำแต่ละสถานี ส่วนตึก อาคารก็มีทางลาดหรือลิฟต์ อาจเป็นเพราะการมีกฎหมายบังคับใช้ในสร้างตึกที่เป็นสาธารณะ เจ้าหน้าที่ให้บริการก็เป็นมิตรและทำงานรวดเร็วมาก มีประสิทธิภาพ และระบบทุกอย่างเป็นออนไลน์เชื่อมโยงกัน 

  • ความก้าวหน้าด้านสิทธิคนพิการในออสเตรเลียใช้เวลานาน ตั้งแต่ประกาศบทบัญญัติมาตั้งแต่ปี 2013 ได้เริ่มดำเนินการตอนปี 2017 หากไทยอยากทำได้แบบออสเตรเลียก็ควรจะต้องแบ่งระหว่างความพิการกับสุขภาพธรรมดาให้ชัดเจน อย่างที่ออสเตรเลียมี Disability Allowance ซึ่งถูกจ่ายโดยหน่วยงานที่ชื่อว่า Center Link หน่วยงานรัฐที่ทำหน้าที่จ่ายเงินคนหลายประเภท เช่น คนตกงาน คนพิการ ผู้สูงอายุ ผู้ที่ดูแลผู้ป่วย ซึ่งให้ประมาณสี่ร้อยเหรียญ (หนึ่งหมื่นบาท) ต่อสองอาทิตย์

  • สิทธิประโยชน์ของคนพิการในออสเตรเลียมีหลายอย่างมาก เช่น คนที่มีปัญหาในด้านการเคลื่อนไหวก็จะมีส่วนลดแท็กซี่ 75%, บัตร Smart Rider ที่เป็นบัตรเอาไว้แตะกับรถเมล์ รถไฟ เรือ ซึ่งฟรีสำหรับคนพิการ และ Companion Card สำหรับคนดูแลคนพิการ การดูแลเช่นนี้ ทำให้รู้สึกมั่นใจว่า หากแก่หรือพิการก็จะมีระบบรองรับ

  • ในออสเตรเลีย เราสามารถพบคนพิการได้ทั่วไปตามท้องถนนเพราะโครงสร้างพื้นฐานที่เอื้อ เช่น ทางเดินเท้า และการคมนาคมที่นึกถึงคนพิการ จึงทำให้คนพิการสามารถทำงานได้ อีกทั้งยังมีนโยบายในการรับคนพิการเข้าทำงานตามสามารถหรือคุณสมบัติ

  • หน่วยงานที่เธอทำงานก็มีบริการสนับสนุนสุนัขนำทางเช่นกัน สุนัขนำทางที่นี่เป็นพันธุ์ลาบราดอร์ พวกมันต้องผ่านการฝึกอย่างหนัก หากบางตัวเป็นมิตรกับคนมากเกินไปก็อาจถูกคัดให้ไปเป็นสุนัขบำบัด แต่ปัจจุบันเกณฑ์ในการได้รับสุนัขนำทางยังค่อนข้างยากเพราะยังไม่มีหลักฐานทางวิชาการมายืนยันว่าสุนัขนำทางมีประสิทธิภาพจริงๆ และอาจมีปัญหาเรื่องการเลี้ยงดู 

  • เป้าหมายหนึ่งของรัฐบาลออสเตรเลียคือการคำนึงว่าประเทศเรากำลังก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ จึงเตรียมการเรื่องนี้ผ่านการเอาคนอายุน้อยออกจากบ้านพักคนชรา ซึ่งในจำนวนนี้หลายคนเป็นคนพิการ เพราะที่พักที่เหมาะสำหรับคนพิการน้อยมาก บางคนถ้าอายุต่ำกว่า 65 ปี ก็ต้องไปบ้านพักคนชรา พร้อมไปกับการสร้างบ้านที่เหมาะสมกับคนพิการไปด้วย

  • สำหรับคนพิการที่สนใจเรียนในออสเตรเลีย ที่นี่จะมีศูนย์ Uni Access เพื่อบอกความพิการและข้อจำกัด มหาวิทยาลัยจะปรับสไตล์การเรียนที่เหมาะสมให้กับเรา เพื่อนของเธอที่เป็นโรคสมาธิสั้น ไม่สามารถนั่งในห้องสอบได้ ก็ได้รับการสอบแยก ที่นี่ให้ความสำคัญกับการศึกษามาก จึงพร้อมสนับสนุนเรื่องนี้และตอนนี้บางรัฐก็เริ่มรับนักศึกษาต่างชาติแล้วด้วย หากเข้ามาด้วยวีซ่าชั่วคราวก็จะได้บางสิทธิ แต่ไม่ว่าวีซ่าใดก็สามารถเข้าถึงโครงสร้างพื้นฐานได้อยู่แล้ว

  • นุชทิ้งท้ายว่าคนพิการที่นี่ได้รับการสนับสนุนแทบจะทุกด้านในชีวิต ระบบคนพิการไทยจะต้องแก้ข้างบนลงข้างล่าง เพราะแม้ระดับปฏิบัติการจะทำงานมากเท่าไหร่แต่ระบบไม่เอื้อ อะไรๆ ก็ยาก รัฐบาลจึงเป็นบุคคลสำคัญที่เริ่มแก้ปัญหา ทำให้โครงสร้างพื้นฐานและสิทธิคนพิการเกิดขึ้นจริงให้ได้

    สำหรับใครที่อยากชมไลฟ์ฉบับเต็ม สามารถรับชมได้ที่ https://www.youtube.com/watch?v=Ip96EpTLWf8&t=1089s