Skip to main content

หลายครั้งที่ผู้ใหญ่จะให้กำลังเรา เรามักได้ยินประโยคอย่าง “ดูสิ ร่างกายเขาไม่ครบ 32 ยังทำได้เลย แล้วเราที่มีอวัยวะครบทำไมถึงจะทำไม่ได้” 

สำหรับเขา ประโยคเหล่านี้อาจทำให้รู้สึกมีพลังในการใช้ชีวิต แต่เราไม่เคยกลับรู้สึกแบบนั้นเลย ทุกครั้งที่ได้ยินประโยคเปรียบเทียบเช่นนี้ ก็มักจะตั้งคำถามในใจตลอดเวลาว่า ทำไมการให้กำลังใจจะต้องไปเปรียบเทียบกับคนที่ด้อยกว่า  แล้วมีวิธีการพูดแบบอื่นอีกไหมที่ช่วยให้เรามีแรงใจในการใช้ชีวิตโดยที่ไม่ต้องกดให้อีกคนอยู่ในจุดที่ตกต่ำยิ่งกว่าเดิม ความคิดเรื่องนี้เกิดขึ้นและถูกเก็บไว้ จนได้ทำงานที่ Thisable.me พื้นที่ที่มีเสียงของคนที่มักโดนนำไปเปรียบเทียบ จึงถือโอกาสนี้ชวนสิริพร เอมอ่อน นักจิตวิทยาคลินิกชำนาญการโรงพยาบาลหัวหิน มาพูดคุยถึงเรื่องนัยยะที่ซ่อนอยู่ในคำพูดจากคนไม่พิการ ว่าการเปรียบเปรย ชมเชยคนพิการแบบมีคำรั้งท้ายนั้นส่งผลอย่างไร และทำอย่างไรเราจะชมกันและกันได้โดยไม่ต้องกระทบกระเทือนจิตใจกัน

คุณสิริพรตัดผมสั้น ใส่เสื้อสีน้ำเงิน หันหน้าออกหน้าต่าง

 

1
จิตวิทยาและการเปรียบเทียบ

สิริพรเล่าว่า ทฤษฎีทางจิตวิทยาที่มารองรับการเปรียบเทียบตัวหลักๆ คือทฤษฎีการเปรียบเทียบทางสังคม (Social Comparison Theory) ของลีออน เฟสทิงเกอร์ ที่พูดถึงการเปรียบเทียบว่า เป็นวิธีการแสดงความสามารถของตัวเอง ซึ่งส่วนมากมีแนวโน้มที่จะเปรียบเทียบกับคนใกล้ชิดและคนที่เราใช้ชีวิตอยู่ด้วย การเปรียบเทียบจะมีทั้งหมด 2 รูปแบบ คือการเปรียบเทียบแบบแรกมักจะเปรียบเทียบกับคนที่มีคุณสมบัติดีกว่าเรา เก่งกว่าตัวเรา เรียกว่า Upward Comparison ส่วนใหญ่การเปรียบเทียบรูปแบบนี้เราจะคิดในใจ ไม่ได้เปิดเผยออกมาให้คนอื่นรู้ จุดประสงค์ของการเปรียบเทียบแบบนี้จะทำให้มีแรงผลักดันให้ทำกิจกรรมพัฒนาตนเองมากขึ้น รูปแบบต่อมาเป็นการเปรียบเทียบกับบุคคลที่ด้อยกว่าเราหรือแย่กว่าเรา เรียกว่า  Downward Comparison 

แต่ถ้าไม่ได้มองว่าการเปรียบเทียบเป็นเรื่องทฤษฎี การเปรียบเทียบก็จะมีการแบ่งอีกหลายรูปแบบ เช่น การเปรียบเทียบตัวเองกับผู้อื่น การเปรียบเทียบแบบ Healthy Comparision และการเปรียบเทียบแบบ Unhealthy Comparision

“การเปรียบเทียบเกิดมาคู่กับบุคคลอยู่แล้ว เราเกิดมาเป็นมนุษย์ ถ้าใช้ชีวิตก็จะมีเรื่องของการเปรียบเทียบแบบเลี่ยงไม่ได้ อยู่ที่ว่าเราใช้วัตถุประสงค์เรื่องของการเปรียบเทียบในเชิงที่ Healthy หรือ Unhealthy”

การเปรียบเทียบเชิง Healthy จะทำให้คนสามารถดึงศักยภาพออกมาจนมองเห็นคุณค่าของตัวเองมากขึ้น แต่การเปรียบเทียบเชิง Unhealthy จะทำให้รู้สึกว่าตนเองอยู่ในจุดที่ต่ำกว่าสิ่งที่เป็นอยู่ จนทำให้เกิดความรู้สึกว่าตัวเองไม่มีคุณค่า พอคิดเปรียบเทียบไปเรื่อยๆ สักพักหนึ่งก็จะเกิดความรู้สึกไม่ชอบตัวเอง จนแรงจูงใจในการใช้ชีวิตน้อยลง มีพลังงานขับเคลื่อนในการทำงานก็น้อยลง ความมั่นใจในตัวเองน้อยลง สุดท้ายก็ไม่รู้จะมีชีวิตอยู่ไปทำไม ถ้าความคิดและความรู้สึกแบบนี้อยู่กับตัวเรานาน โดยที่ไม่ได้จัดการความรู้สึก ความคิดพวกนี้ก็อาจจะทำให้เกิดภาวะเกี่ยวกับซึมเศร้าได้


 

2
สังคมซับซ้อน การเปรียบเทียบก็ซับซ้อนตามไปด้วย

‘ดูสิ ร่างกายเขาไม่ครบ 32 ประการยังทำได้เลย แล้วเราที่มีอวัยวะครบถึงจะทำไม่ได้’ จากประโยคนี้สิริพรกล่าวว่ามีประเด็นเรื่องการเปรียบเทียบที่น่าสนใจอยู่เหมือนกัน มีลักษณะของการเปรียบเทียบทั้งสองแบบมาอยู่ด้วยกันในประโยคเดียว เขามีอวัยวะไม่เท่าเรานะ แต่เขาทำได้เท่าเราเลย ในมุมมองคนพูด เขาอาจจะไม่พอใจจุดที่ตนเองยืนอยู่ เขาก็เปรียบเทียบแบบ Upward ว่าคนพิการเป็นคนที่เหนือกว่าเขาและน่าชื่นชม  แต่ว่าในประโยคเดียวกันก็จะมีการเปรียบเทียบแบบ Downward อยู่ด้วย โดยการมองว่าคนที่ร่างกายไม่ครบ 32 ประการนั้นด้อยกว่า 

คนพิการบางคนได้ยินแบบนี้ก็อาจจะรู้สึกดีใจที่ตนเองทำให้คนอื่นมีพลังในการใช้ชีวิต แต่ก็มีอีกหลายคนที่ฟังแล้วรู้สึกว่ากำลังถูกลดทอนคุณค่าอะไรบางอย่างที่ทำให้รู้สึกว่าเขาไม่เหมือนคนอื่น คนที่พูดประโยคนี้ไม่ได้หมายความว่าเขาเป็นคนไม่ดี แต่เขาขาดความเข้าใจ ขาดความเห็นอกเห็นใจ และพูดไปโดยไม่ทันคิดว่าคนพิการฟังแล้วอาจจะรู้สึกไม่ดี 

“การสร้างกำลังใจหรือสร้างแรงจูงใจทำได้หลายวิธี เข้าใจว่าคนพูดอาจจะรู้สึกชื่นชมคนพิการที่ใช้ชีวิตได้อย่างมีความสุขและมีศักยภาพ แต่ว่าจริงๆ แล้วการสร้างกำลังใจไม่จำเป็นต้องไปพาดพิงใครด้วยซ้ำ”


 

3
ทำไมทุกครั้งที่ชมคนพิการ ต้องมีคำต่อท้ายว่า ‘แต่พิการ’ ไว้ทุกที 

“การใส่คำว่า ‘แต่’ มันเป็นเรื่องของการบั่นทอนความรู้สึก พอได้ยินแล้วรู้สึกบกพร่องมากขึ้นไปอีก” 

หลักการชมก็คือชมไปเลย ไม่ต้องมีคำว่าแต่ ต่อให้ไม่เป็นคนพิการ ถ้าเป็นคนไม่พิการฟัง ก็รู้สึกไม่ดีเหมือนกัน เช่น มีคนไข้เคสหนึ่งเล่าให้ฟังว่า ‘มีคนชมว่าผมชีวิตเพอร์เฟคทุกอย่างเลยแต่ผมเป็นเกย์ ผมก็ไม่เข้าใจเหมือนกัน ผมเป็นเกย์แล้วมันเป็นอะไร’ ไม่เห็นมีใครบอกว่านิสัยดีจังแต่เป็นผู้ชาย คนนี้ทำงานเก่งมากเลยแต่ร่างกายสมบูรณ์ มันแสดงให้เห็นว่าคำว่าแต่ มีไว้เพื่อผลักให้ออกจากความปกติของสังคม

ตอนสมัยเรียนอยู่ประถม อยู่มัธยม คนไหนไม่เหมือนเรา คนไหนนิสัยเข้ากับเราไม่ได้ เราก็แยกกลุ่ม เป็นของตนเอง เวลาที่เพื่อนกลุ่มเดียวกันรู้สึกไม่ดีกับอะไรสักอย่าง เราก็จะรู้สึกไม่ดีร่วมด้วยใช่ไหม พอไม่ใช่เพื่อนกลุ่มเดียวกัน ความรู้สึกร่วมก็จะมีน้อยกว่า เช่นเดียวกันกับคนพิการถูกแบ่งแยกออกจากกลุ่มที่ร่างกายไม่พิการจนเขาไม่รู้เรื่องราวข่าวสารของคนที่ร่างกายไม่พิการ คนรู้สึกว่าพูดอะไรไปก็ไม่ต้องคิดอะไร เพราะเราไม่ได้อยู่กลุ่มเดียวกัน บางคนไม่ได้ตั้งใจพูดดูถูกเหยียดหยาม แต่เขาขาดวิธีการชมที่ดี ที่สร้างสรรค์กว่านี้


 

 4
การระมัดระวังคำพูดมากเกินไป ก็ทำให้คนพิการรู้สึกแปลกแยก

คนพิการอยากใช้ชีวิตปกติ อยากให้คนอื่นพูดจาปกติเหมือนคนทั่วไป ไม่ต้องหลีกหลี่ยงการใช้คำพูดที่คนพิการไม่สามารถทำได้เหมือนคนปกติ เพราะกังวลใจว่ากำลังคำพูดนั้นจะไปทำร้ายจิตใจคนพิการ

พอได้ยินสิริพรพูดแบบนี้ เราก็เล่าให้ฟังว่ามีเพื่อนร่วมงานไปสัมภาษณ์คนตาบอด แล้วมีคนตาดีชวนไปดูหนัง แต่เขาห่วงความรู้สึกของคนตาบอดและรู้สึกแปลกๆ ที่จะใช้คำว่าดูกับคนตาบอด ก็เลยใช้คำว่าฟังหนังแทน

“การระมัดระวังคำพูดมากเกินไปก็ทำให้เขารู้สึกบกพร่องเหมือนกัน แล้วก็ทำให้เขาเห็นข้อบกพร่องจากการพูดที่ไม่ได้คำนึงถึงความบกพร่อง ก็ทำให้เขารู้สึกบกพร่องเหมือนกัน”

เวลาพูดคุยก็ต้องประเมินคนคุยด้วยว่าสามารถใช้คำพูดระดับไหนได้บ้าง แต่หลักการคุยกับคนพิการก็พูดเหมือนคนทั่วไปนี่แหละ ไม่ต้องระวังคำพูดมาก แต่ก็ไม่ใช่ไม่ระวังคำพูดเลย 

 

 

  5
ถ้าสังคมไม่ยอมเข้าใจ’ คงต้องจัดการที่ใจตัวเอง

ไม่ใช่ทุกคนจะมีความเข้าใจเรื่องของคนพิการ แล้วพยายามหลีกเลี่ยงการใช้คำพูดที่คนพิการได้ยินแล้วรู้สึกไม่ดี ดังนั้นตัวคนพิการอาจจะจัดการตัวเองด้วยเวลาได้ยินคำพูดที่ไม่โอเค อันดับแรกคือ ต้องยอมรับว่าทุกคนมีสิทธิ มีเสียง มีเสรีภาพในการพูดของตัวเอง คนเราจะพูดอะไรออกจากตอนไหน เวลาไหนก็ได้ เนื้อหาจะเป็นบวกหรือลบก็ได้ อันดับต่อมาคือ ต้องรู้เท่าทันความเป็นมนุษย์ แต่ละคนจะมีระดับของ Empahty ที่ไม่เท่ากัน แต่ไม่ได้หมายความว่าคนที่ขาด Empahty นั้นเป็นคนไม่ดี เพียงแต่เขาขาดความเข้าใจ ขาดความรู้สึกร่วม ขาดความเห็นอกเห็นใจกับคนพิการ อันดับที่สุดท้ายคือ การสร้างคุณค่าในสิ่งที่เป็น หาข้อดีของตนเองและสร้าง Self-Esteem ให้แข็งแรง เมื่อไหร่ที่มีความเข้มแข็งทางใจ มีการเคารพตัวเอง เรารักตัวเอง ชอบตัวเองในจุดที่เรายืนอยู่มากพอ ไม่ว่าจะเป็นคำพูดแบบไหน มันจะกระทบจิตใจเราน้อยมาก