Skip to main content

ลุงพีรศักดิ์ จิตต์วิมลกุล อายุ 67 ปี ชายผู้ร่วมชุมนุมในวันที่ 14 ตุลาคม 2516 ในวันนั้นมีการปราบปรามผู้ชุมนุมอย่างรุนแรงโดยรัฐบาลจอมพลถนอม กิตติขจร จนมีผู้เสียชีวิตและบาดเจ็บกว่า 800 คนและมีผู้สูญหายอีกเป็นจำนวนมาก การประท้วงเกิดขึ้นเนื่องจากสาเหตุหลายอย่างทั้งความคับข้องใจภายใต้ระบอบเผด็จการทหาร กอปรกับข่าวการฉ้อราษฎร์บังหลวง จึงนำไปสู่การเรียกร้องรัฐธรรมนูญที่เป็นประชาธิปไตยจากภาคประชาชน

การประท้วงใหญ่เริ่มตั้งแต่วันที่ 9 ตุลาคมที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ สู่การเดินประท้วงบนถนนราชดำเนินและลานพระบรมรูปทรงม้า มีแกนนำเป็นนักศึกษาและมีประชาชนเข้าร่วมด้วยหลายแสนคน กระทั่งเคลื่อนขบวนถึงพระบรมมหาราชวัง ก็เกิดความชุลมุนขึ้นและตำรวจเริ่มต้นปราบปรามนักศึกษาอย่างรุนแรง

ชวนคุยกับเขา ชายผู้ผ่านเหตุการณ์การต่อสู้เพื่อประชาธิปไตย แม้จะสูญเสียขาและนั่นก็เปลี่ยนแปลงชีวิตเขาไปตลอดกาล แต่สิ่งหนึ่งที่ไม่เคยเปลี่ยนคืออุดมการณ์ ความเชื่อที่ว่า คนทุกคนเท่ากัน ไม่มีใครควรถูกกดขึ่และอยู่อย่างต่ำต้อยกว่าใคร เหนือสิ่งอื่นใด เขายังเชื่อว่านักศึกษาและคนธรรมดาๆ นี่แหละ ที่จะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในบ้านเมืองของเรา

ความเชื่อ

ย้อนไปก่อนที่พีรศักดิ์จะร่วมชุมนุม เขาเล่าว่า ตอนนั้นประชาชนโดนกดขี่ จึงออกมาเรียกร้องรัฐธรรมนูญและต้องการให้เกิดการเลือกตั้ง ตัวเขาไปร่วมชุมนุมตั้งแต่วันที่ 8 ตุลาคม เริ่มจากการไปดูทุกๆ วันในช่วงเย็นหลังเลิกงานว่าแกนนำพูดเรื่องอะไร จนถึงวันที่เกิดเรื่อง ซึ่งเป็นวันอาทิตย์ 

“ผมรู้สึกว่าตัวเองโดนกดขี่ แม้จะไม่ได้เป็นแกนนำ แต่เป็นคนซึบซับจากสิ่งที่นักศึกษาพูด แต่ผมก็เข้าใจความรู้สึกได้จากการที่มีพ่อแม่เป็นคนจีน เวลาทำอะไรก็แล้วแต่ที่เกี่ยวกับราชการจะไม่ได้รับความสะดวก เขาจะโยนเราไปทางนู้นทางนี้ พอนักศึกษาขึ้นมาเคลื่อนไหวเราก็สนใจ อยากจะเห็นความเสมอภาค

“หลายคนบอกว่า ม็อบทำให้รถติด เศรษฐกิจแย่ ผมคิดว่า การเปลี่ยนแปลงต้องแลกกับความไม่สะดวกบ้าง ถ้าเทียบกันแล้วคนที่ออกไปเดือดร้อนกว่า ไหนจะต้องเดือดร้อนเรื่องอาชีพการงาน ไหนจะต้องเสียเวลา

“บางสื่อก็พยายามเสนอข่าวว่า คนมาชุมนุมถูกจ้างหรือได้ค่าตอบแทน ทั้งที่คนออกไปจริง ไม่เคยได้ ผมออกไปตั้งกี่ครั้ง จนกระทั่งม็อบเสื้อแดงถามว่าเคยได้อะไร ก็ไม่เคย สิ่งที่ได้คือความสบายใจ ความสุขใจที่ได้แสดงออกถึงความต้องการ”

เหตุการณ์ในวันนั้น 

ในวันที่ 14 ตุลาคม ท่ามกลางความรุนแรงที่เกิดขึ้นยืดเยื้อหลายวัน พีรศักดิ์หนึ่งในผู้ชุมนุมถูกยิงเข้าที่ขา จนขาของเขาขาดในที่เกิดเหตุ

“ในวันนั้นมีการประท้วงเรียกร้องรัฐธรรมนูญ จนลามเป็นการลุกฮือของประชาชน เจ้าหน้าที่เข้าปราบปรามและมีการปะทะกัน ผมเองไปชุมนุมช่วงก่อนการปะทะ หลังจากนั้นพอกลับมาแล้วได้ข่าวว่ามีการปะทะเกิดขึ้นจึงย้อนกลับไปอีกรอบ โดยตั้งใจจะไปไปช่วยขนคนเจ็บ แต่สุดท้ายก็ไปโดนยิงตรงข้ามกรมประชาสัมพันธ์ ประมาณบ่ายโมง

“ผมตัดสินใจเข้าไปเข้าไปเพราเกิดการปะทะ ประชาชนโดนรังแก มีทั้งคนเจ็บเด็กและผู้ใหญ่ ยิ่งเกิดคำถามว่าทำไมประชาชนต้องโดนรังแกขนาดนี้ เท่าที่เห็นก็มีแต่ทหารที่ใช้กำลังกับประชาชนเท่านั้น แม้จะมีการยิงปืนเป็นพักๆ แต่ตอนนั้นไม่ได้คิดว่ากลัวหรือไม่กลัว รู้แต่ว่าเห็นคนเจ็บก็อยากจะช่วยคนเจ็บ 

“ตอนผมเข้าไปแล้วก็เกิดการยิงอีกรอบหนึ่ง ผมหมอบอยู่ตรงข้ามกรมประชาสัมพันธ์ พยายามคลานหลบกระสุน แต่ว่าสุดท้ายก็โดนยิงระหว่างที่คลานบริเวณช่วงต้นขา  เท่าที่ทราบมาการยิงนั้นมาจากรถถังที่จอดอยู่ที่สะพานปิ่นเกล้า เป็นการยิงกราด ไม่ได้ยิงเพื่อใครคนใดคนหนึ่ง หลังจากโดนยิง น้องชายก็ช่วยพาไปที่รถพยาบาล

“เท่าที่ถามมา กระสุนที่โดนเป็นปืนกล 93 แรงจนทำให้ขาขาดหายไปเลย ตั้งแต่หัวเข่ามาถึงต้นขา ณ วินาทีนั้นผมไม่ไม่รู้สึกเจ็บ รู้สึกแค่ว่าเสียวแปลบแต่ขาก็ขาดไปแล้ว ตอนนั้นคิดอย่างเดียวว่า ทางบ้านจะรู้สึกอย่างไร ต่างจากตัวผมที่ยังไม่ได้คิดเลยว่า ชีวิตจะเปลี่ยนไปอย่างไร”

“ผมคิดว่าการจัดการของเจ้าหน้าที่นั้นเกินกว่าเหตุ ตอนนั้นในมือประชาชนไม่มีอะไรเลย ประชาชนมือเปล่าแต่เจ้าหน้าที่อาวุธครบมือ หลังจากเกิดความรุนแรง ประชาชนก็พยายามหยิบจับอะไรก็ได้จากข้างทางขึ้นมาเป็นอาวุธป้องกันตัว”

ปัจจุบัน

ในปัจจุบันการชุมนุมของกลุ่มต่างๆ ยังเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง ในมุมมองของพีรศักดิ์มองว่า สิทธิในการชุมนุมของประชาชนนั้นไม่ได้ดีขึ้นเลย 

“เราไม่ควรปิดกั้นการชุมนุม การออกไปเพื่อบอกว่าเราต้องการอะไรควรต้องทำได้ การกลัวว่าจะเกิดอะไรขึ้นเป็นความคิดของฝ่ายตรงข้ามทั้งนั้น ประชาชนที่ออกไปไม่ได้ออกไปเพื่อหาเรื่อง แต่ออกไปเพื่อแสดงออก แม้จะมีสองคนหรือเป็นร้อยเป็นพันก็ต้องทำได้เพราะการชุมนุมเป็นสิทธิของประชาชนเมื่อคุณบอกว่าเราเป็นประเทศประชาธิปไตย ถ้าหากจำกัดสิทธิก็ไม่ใช่ประชาธิปไตยแล้ว  คุณต้องฟังเสียงประชาชนว่าประชาชนต้องการอะไร เอาไปพิจารณาในระบบรัฐสภา สำคัญคือต้องรับฟังจากข้างนอกเข้าไป ไม่ใช่ไปคิดแทน

“สิ่งที่ผมสะเทือนใจที่สุดในช่วงที่ผ่านมาก็คือ การทำร้ายร่างกายทั้งจ่านิวและคุณเอกชัย ถ้าจะหาคนทำผิดผมว่าไม่ยาก แต่รัฐทำเหมือนไม่รู้ไม่เห็น ตอบได้แค่ว่ารออยู่ ทั้งที่เหตุการณ์เกิดขึ้นต่อหน้าประชาชน เวลากลางวันแสกๆ ใจกลางเมือง แต่รัฐบาลไม่มีใครทำอะไรได้เลยจนถึงทุกวันนี้”

ชีวิตที่เปลี่ยนไป

หลังจากเหตุการณ์ความรุนแรงที่เกิดขึ้น ชีวิตของพีรศักดิ์ก็เปลี่ยนแปลงไปตลอดกาล จากคนที่เคยทำงานหนักและเป็นเสาหลักของครอบครัว ต้องกลายเป็นคนที่ทำงานอะไรไม่ได้ แถมยังต้องให้ครอบครัวช่วยเหลืออยู่ตลอดเวลา 

“จากที่ผมเคยทำงานได้ก็ต้องกลับมาอยู่บ้านเฉยๆ เป็นเวลาหลายปี โชคดีที่ว่า พี่ชายทำงานช่างทอง เป็นงานที่เราไม่จำเป็นต้องเดินแค่มีมือก็ทำได้ จึงทำงานกับพี่ชายเกือบ  10 ปี หลังจากพี่ชายเลิกกิจการผมก็ออกมา ต่างคนต่างแยกมามีครอบครัวและใช้ชีวิตข้างนอก อย่างไรก็ดีผมยังมีพี่สาวบุญธรรมคอยช่วยดูแล คนทางบ้านก็ไม่มีใครตั้งข้อรังเกียจ แม้ชีวิตหลังจากนี้จะลำบาก แต่คิดว่าไม่มีผลกระทบต่อเรื่องจิตใจ” 

“ครอบครัวของผมมีแต่ให้กำลังใจ คอยประคองความเป็นอยู่ในช่วงแรกๆ ตอนที่เปลี่ยนจากใช้ชีวิตธรรมดากลับต้องอยู่ติดที่”

ความเชื่อที่ไม่เคยเปลี่ยน

“ตอนออกไปชุมนุมช่วงแรกๆ กระทั่งผ่านมาหลายต่อหลายปี  ผมคิดว่าประชาชนทุกคนเริ่มมีความหวัง แต่พอหลังจากปี 2519 เหตุการณ์การล้อมปราบก็เกิดขึ้นอีก ความรู้สึกของผมเสมือนต้องกลับไปเริ่มต้นใหม่  จนทุกวันนี้ผมรู้สึกว่าสถานการณ์บ้านเมืองไม่ได้ไปไหน อาจจะขยับไปบ้างแล้วก็ถอยกลับมา โดยเฉพาะหลังจากปี 2557 ก็เหมือนกับว่าถอยกันไปเริ่มต้นใหม่ อย่างที่เห็นว่าหากคุณอยู่ฝั่งนี้ คุณถึงจะอยู่ได้ แต่ถ้าอยู่คนละฝั่งคุณก็จะผิดไปซะทุกอย่าง 

“ถึงวันนี้จะมีเลือกตั้งแล้วปัญหาก็ยังไม่ได้ไปข้างหน้า เรายังย่ำอยู่กับที่ เผลอๆ ดูเหมือนจะย้อนถอยกลับไปมากกว่าเก่า หากดูแล้วเมื่อก่อนคนถูกก็ว่าไปตามถูก ผิดก็ยังว่ากันไปตามผิด แต่ทุกวันนี้ไม่ใช่เพราะมีกฏหมายที่พลิกไปพลิกมา พลิกถูกเป็นผิด พลิกผิดเป็นถูก คนคิดว่าหลังจากเลือกตั้งจะสามารถมีปากมีเสียง แต่ทุกอย่างไม่ได้เป็นอย่างที่คิดเลย ทุกวันนี้คนยังทำอะไรไม่ได้เหมือนเดิม แม้แต่การเห็นต่างก็ยังผิดเลย นักเคลื่อนไหวถูกทำร้ายและจับคนทำผิดไม่ได้ทั้งที่ก็เห็นๆ อยู่ว่าใครทำ”

การเยียวยา

หลังจากเหตุการณ์ 14 ตุลา มีการตั้งมูลนิธิ 14 ตุลาฯ ขึ้น ผู้เสียชีวิตและผู้ได้รับบาดเจ็บได้รับการเยียวยาในอีกหลายสิบปีให้หลัง 

“ 20 กว่าปีที่ผ่านมาไม่เคยมีการเยียวยาอะไรเลย คนเจ็บตรงนั้นไม่เคยได้รับการช่วยเหลือ แม้แต่บางคนที่ตายไปแล้วก็ยังไม่เคยได้รับการช่วยเหลือหรือเยียวยา อย่างไรก็ดี การเยียวยาที่ได้รับส่วนตัวคิดว่า ยังไม่เต็มที่ ผู้บาดเจ็บบางคนช่วยเหลือตัวเองไม่ได้เลย อยากให้ช่วยเหลืออะไรก็ต้องออกมาเรียกร้องกัน 

“คนตายก็ตายไป ความยุติธรรมหน้าตาเป็นยังไงไม่เคยรู้เลย จำนวนคนเจ็บที่รัฐออกมาบอกก็ถูกเชื่อแบบนั้น ทั้งที่ความรู้สึกบอกเราว่าต้องมีมากกว่านั้น 

อนาคต

เราโยนคำถามที่ว่า ถึงตอนนี้แล้วยังอยากจะไปชุมนุมทางการเมืองอีกไหม พีรศักดิ์ตอบอย่างไม่ลังเลว่าอยาก โดยเฉพาะยิ่งเขาต้องเสียขาไป  ยิ่งอยากจะออกไปเรียกร้องความเป็นธรรม

“เท่าที่เราออกไปก็คือเรียกร้องขอความเป็นธรรมทั้งนั้น  ไม่ได้ไปหาเรื่อง คนที่บอกว่าม๊อบรุนแรงก็คือคนที่ไม่ได้อยู่ตรงนั้น เพราะหากได้เข้าไปฟังก็จะต้องรู้ว่า คนเรียกร้องเรื่องสิทธิ เรื่องความเป็นธรรมทั้งนั้น ผมจึงตอบว่าถ้ามีม็อบก็ยังจะไปอยู่ จะไปร่วมทุกครั้งถ้าไม่ลำบาก” 

บทเรียน

ทุกวันนี้สิ่งเดียวที่พีรศักดิ์อยากเห็นก็คือ บ้านเมืองที่ดีขึ้น แม้สุขภาพร่างกายของเขาไม่เต็มร้อยเหมือนเมื่อก่อน แต่ก็ยังหวังว่าตัวเองจะเป็นส่วนหนึ่งในการเปลี่ยนแปลงนี้

“ผมหวังว่าสักวันมันจะดีขึ้นเรื่อยๆ นับว่าทุกวันนี้เมื่อมีเลือกตั้งแล้วกลไกของผู้แทนก็อาจเป็นความหวังให้เราได้

ก็หวังว่า ผู้แทนที่เข้าไปจะสะท้อนความเห็นหรือความคิดของประชาชน และที่สำคัญประชาชนต้องสามารถแสดงออกได้ อย่ามาปิดกั้นความคิดเห็น

“อยากฝากให้คนรุ่นหลังสนใจการเมือง ไม่ได้เรียกร้องว่าคุณต้องออกไปชุมนุมเท่านั้น แต่ต้องติดตามและกล้าแสดงความคิดเห็น ความคิดเห็นของคุณเป็นประโยชน์ที่ช่วยปรับปรุงแก้ไขสิ่งที่ยังขาดอยู่ได้ ถ้าเมื่อไหร่ที่คุณคิดว่าการเมืองไม่ใช่เรื่องของฉัน ฉันไม่สนอะไรทั้งนั้น มันจะไม่มีวันเปลี่ยนแปลง”