Skip to main content

จากที่ก่อนหน้านี้ (11 ก.ย.) อธิบดีกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น (สถ.) ได้แจงเลื่อนจ่ายเงินเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุและเบี้ยความพิการเป็นภายในวันที่ 22 ก.ย.เพราะติดขัดขั้นตอนจัดสรรงบประมาณ โดยจะเปลี่ยนแปลงงบประมาณจากรายการอื่นมาจ่ายเป็นเงินเบี้ยยังชีพแทน จนเกิดการวิพากษ์วิจารณ์อย่างมากในโลกออนไลน์นั้น (อ่านที่นี่)

ล่าสุด วันนี้ (17 ก.ย.) วิลาวรรณ พยาน้อย รองอธิบดีกรมบัญชีกลาง ในฐานะโฆษกกรมบัญชีกลางระบุว่าได้โอนเงินเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุและเบี้ยความพิการประจำเดือน ก.ย.63 เข้าบัญชีเงินฝากธนาคารให้ผู้มีสิทธิแล้ว หลังเลื่อนจากกำหนดเดิมคือวันที่ 10 ก.ย. ผู้มีสิทธิสามารถตรวจสอบยอดเงินในบัญชีได้ตามระยะเวลาของการดำเนินการของแต่ละธนาคาร หากผู้มีสิทธิไม่มีบัญชีธนาคาร กรมบัญชีกลางจะโอนเงินไปยังองค์การปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) เพื่อจ่ายเป็นเงินสดให้แก่ผู้มีสิทธิ

สำหรับกลุ่มผู้สูงอายุที่ได้รับเบี้ยจะต้องมีอายุ 60 ปีขึ้นไป โดยจะได้รับเงินเป็นขั้นบันได ตั้งแต่ 600-1,000 บาทต่อเดือน หากยังไม่เคยลงทะเบียนสามารถติดต่อสอบถามไปที่องค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) หรือเทศบาลที่อยู่ปัจจุบัน โดยจะได้รับเบี้ยยังชีพเป็นรายเดือนต่อเนื่องตลอดชีวิต โดยมีอัตราเพิ่มขึ้นเป็นขั้นบันไดตามช่วงอายุ ดังนี้ อายุ 60-69 ปี ได้รับเงิน 600 บาท/เดือน, อายุ 70-79 ปี ได้รับเงิน 700 บาท/เดือน, อายุ 80-89 ปี ได้รับเงิน 800 บาท/เดือนและอายุ 90 ปีขึ้นไป ได้รับเงิน 1,000 บาท/เดือน

กลุ่มคนพิการที่จะได้รับเบี้ยความพิการจะต้องมีบัตรประจำตัวคนพิการ โดยจะได้รับ 800 บาทต่อเดือน และตั้งแต่วันที่ 1 ต.ค.63 เป็นต้นไป คนพิการที่มีบัตรประจำตัวคนพิการและมีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ หรือเป็นเด็กอายุต่ำกว่า 18 ปี จะปรับเพิ่มเบี้ยความพิการจาก 800  เป็น 1,000 บาท หากยังไม่ได้ลงทะเบียนรับเบี้ยคนพิการสามารถติดต่อสอบถามที่อบต. , เทศบาล หรือสำนักงานเขตที่อาศัย

ทั้งนี้ ตั้งแต่เดือน ม.ค.63 กรมบัญชีกลางได้จ่ายเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุและคนพิการเข้าบัญชีเงินฝากของผู้มีสิทธิแต่ละคนโดยตรง ซึ่งปกติจะจ่ายให้ทุกวันที่ 10 ของเดือน แต่หากเดือนใดตรงกับวันหยุด ก็จะเลื่อนวันขึ้นมาจ่ายให้เร็วขึ้น และจากกระแสวิพากษ์วิจารย์ที่ผ่านมา ชัชวาลย์ วงศ์สวรรค์ ประธานชมรมพัฒนาชุมชนองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ได้ตั้งคำถามผ่านเพจ “ชมรมพัฒนาชุมชน องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น” กรณีการจ่ายเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุและเบี้ยความพิการล้าช้านั้นหากกรมบัญชีกลางไม่มีความพร้อมในการดำเนินการ ก็ไม่ควรโยนความผิดให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น พร้อมเสนอให้โอนหน้าที่จ่ายเบี้ยยังชีพกลับมาที่กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น กระทรวงมหาดไทยเหมือนเดิม และยังตั้งข้อสังเกตว่า เหตุใดกรมบัญชีกลางไม่โอนเงินให้ผู้มีสิทธิ ทั้งที่ก่อนหน้านี้ กรมบัญชีกลางเคยระบุว่า หากงบประมาณไม่เพียงพอจะนำเงินทดที่มีวงเงิน 1,500 ล้านบาท มาสำรองจ่ายเบี้ยยังชีพทั้ง 2 ส่วนได้ทันที จากนั้นจึงไปเรียกเก็บคืนจากกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น ทำให้ตนมีคำถามว่าเงิน 1,500 ล้านบาท หายไปไหน

อย่างไรก็ดีจากคำถามดังกล่าว ภูมิศักดิ์ อรัญญาเกษมสุข อธิบดีกรมบัญชีกลาง ก็ได้ชี้แจงในวันที่ 15 ก.ย.ระบุว่า กรมบัญชีกลางและกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น (สถ.) ได้กำหนดปฏิทินการทำงานสำหรับการจ่ายเงินเบี้ยยังชีพขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ประจำปีงบประมาณปี 63 โดยกำหนดระยะเวลาในการดำเนินการร่วมกันในแต่ละเดือนเพื่อให้สามารถจ่ายเงินให้แก่ผู้มีสิทธิตามวันที่กำหนด ซึ่งการโอนเงินให้ผู้มีสิทธิแต่ละเดือนจะจัดสรรให้องค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) และเทศบาล จำนวน 7,774 แห่ง ไม่รวม อบจ. ตามจำนวนที่ต้องจ่ายเงินให้แก่ผู้มีสิทธิครบทุกแห่งตามขั้นตอนการดำเนินการ โดยกรมบัญชีกลางจะต้องตรวจสอบงบประมาณเพื่อเบิกจ่ายให้ผู้มีสิทธิตามปฏิทินการจ่าย และเมื่อตรวจสอบงบประมาณในเดือนก.ย.63 กลับพบว่าไม่เพียงพอ สถ.จึงต้องจัดสรรเพิ่ม ทำให้ระยะเวลาการจ่ายเงินเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุและเบี้ยความพิการคลาดเคลื่อนไปจากปฏิทินการทำงาน นอกจากนี้ กรณีวงเงิน 1,500 ล้านบาท ไม่ได้ถูกใช้เนื่องจาก สถ.โอนเปลี่ยนแปลงงบประมาณเพียงพอเเล้ว
 

อ้างอิง
https://www.thairath.co.th/news/business/1930392

https://www.thairath.co.th/news/business/1931453