อ่านประสบการณ์การใช้ชีวิตร่วมกับคนหูหนวกผ่านงาน ‘โสตทุ่ง Showcase’

2020-02-19 18:05

เมื่อวันที่ 15 ก.พ.63 EDeaf หรือ Education for the Deaf ร่วมกับโรงเรียนโสตศึกษาทุ่งมหาเมฆ จัดแสดงงาน “โสตทุ่ง Showcase” ที่ห้างสรรพสินค้า Siam Square One กรุงเทพฯ โดยแสดงผลงานของเด็กหูหนวก จากการทำงานร่วมกันตลอด 10 สัปดาห์ เช่น สติกเกอร์ไลน์ ภาพถ่าย หนังสั้น และการแสดง

นอกจากนี้ ภายในงานยังมีการสนทนาแบ่งปันประสบการณ์การใช้ชีวิตร่วมกับคนหูหนวกในหัวข้อ ‘The Silent Love’ โดยมี สุชีพ เจริญสาริกิจ สามีผู้ใช้ชีวิตร่วมกับภรรยาหูหนวก, พีรพงษ์ บุญคุณานันท์ พูดถึงบทบาทของครอบครัวและการศึกษาสำหรับนักศึกษาคนหูหนวกในประเทศไทยและชัชชาติ สิทธิพันธุ์ พูดถึงบทบาทความเป็นพ่อในการดูแลลูกชาย ร่วมเป็นวิทยากร

สุชีพ เจริญสาริกิจ สามีผู้ใช้ชีวิตกับภรรยาหูหนวกกล่าวว่า ช่วงแรกผมก็งงนิดหน่อยเพราะไม่เคยสัมผัสกับคนหูหนวกมาก่อน เราพิมพ์คุยกัน พยายามทำความเข้าใจเขา เขาก็พยายามทำความเข้าใจเรา ทุกสิ่งขึ้นอยู่ที่ว่าตัวเรายอมรับในสิ่งที่เขาเป็นได้ไหมต่างคนต้องต่างพร้อมที่จะพัฒนาความรัก สำหรับเราหูหนวกไม่เป็นอุปสรรคที่จะเป็นแฟนกัน เพราะฉะนั้นเรื่องอื่นไม่สำคัญเลย ทั้งภาษามือ ภาษาเขียนหรือภาษาพูดล้วนเป็นภาษาใจที่คนหูหนวกสามารถรับรู้ได้เหมือนกันเพียงแค่ต้องพัฒนาให้มาก

พีรพงษ์ บุญคุณานันท์ กล่าวว่า การเรียนร่วมเริ่มยากขึ้นในแต่ละระดับ หากเด็กปกติเรียนรู้ได้ 80% ลูกเราที่หูหนวกจะรับได้แค่ 30% ฉะนั้นเราต้องเพิ่มแรงผลักดันเขามากขึ้น ส่วนใหญ่เราสู้กับการเรียน หลังจากจบ มัธยมต้น ขึ้นมัธยมปลาย ตอนนั้นเรารู้เลยว่าลูกเรียนร่วมกับเด็กปกติไม่ได้ การสื่อสาร การเข้าใจในแต่ละวิชาเริ่มยากขึ้น จึงตัดสินใจเปลี่ยนไปเรียนโรงเรียนเฉพาะทางของเด็กหูหนวกด พอไปโรงเรียนเฉพาะ เขาเริ่มรู้สึกว่าเขามีเพื่อนที่เป็นเพื่อนจริง ๆ เด็กหูหนวกที่นั่นยิ้มแย้มแจ่มใส มีสังคมของเขา มีกิจกรรมของเขาและใช้ชีวิตอย่างปกติ

ด้าน ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ กล่าวว่า ชีวิตคนเราไม่แน่นอน ไม่มีปาฏิหาริย์ เด็กที่ใส่ประสาทหูเทียมจะไม่ได้ยินเสียงพูดเพราะเครื่องไม่ได้ขยายเสียงแต่แทนเสียงด้วยสัญญาณไฟฟ้า ฉะนั้นจึงมีคนที่ผ่าตัดใส่ประสาทหูเทียมแล้วไม่สำเร็จเยอะมาก หัวใจของเรื่องนี้อยู่ที่การฝึก การผ่าตัดใช้เวลา 6 ชั่วโมง แต่การฝึกอาจกินเวลายาวนานกว่า 2 ปี ความเอาใจใส่ของพ่อแม่จึงเป็นเรื่องสำคัญ อย่าหวังว่าครูจะช่วยแก้ปัญหาให้เราได้ เพราะครูอยู่กับลูกเราไม่กี่ชั่วโมงต่อวัน พ่อแม่จึงควรต้องมีวิธี ต้องเข้าใจ และต้องกลายเป็นวัฒนธรรมของครอบครัวเลย ไม่ว่าจะเป็นภาษามือ หรือการอ่านปากและอย่าท้อถอยเพราะชีวิตลูกขึ้นอยู่กับเรา