Skip to main content

หลายคนอาจจะรู้จักการใช้สุนัขนำทางในไทยผ่านทรายและลูเต้อร์มาไม่มากก็น้อย (หากใครยังไม่รู้จัก เรามีบทสัมภาษณ์ที่นี่ https://thisable.me/content/2019/08/549 )

แต่รู้หรือไม่ว่า ลูเต้อร์ไม่ใช่สุนัขนำทางตัวแรกที่เข้ามาในไทย!ศ.วิริยะ นามศิริพงศ์พันธุ์ หรือ อาจารย์วิริยะ คือคนแรกที่ใช้สุนัขนำทางคนตาบอด



ย้อนกลับไปในปี 2524 อาจารย์วิริยะ กำลังศึกษาในระดับชั้นปริญญาโท ที่มหาวิทยาลัยฮาวาร์ด ประเทศสหรัฐอเมริกา โดยการแนะนำจากเพื่อน อาจารย์ได้รู้จักกับสุนัขนำทางคนตาบอด และติดต่อไปยังสโมสรไลออนส์เพื่อขอเข้ารับการฝึกอบรมการใช้งานสุนัขนำทางฯ

ปี 2526 อาจารย์วิริยะกลับมารับตำแหน่งอาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ แต่เขาไม่ได้กลับมามือเปล่า ยังมี "สกี๊ด" สุนัขสีดำตัวใหญ่สายพันธุ์ลาบลาดอร์ รีทรีพเวอร์ ช่วยนำทาง นอกจากเจ้าสกี๊ดแล้วก็ยังมีสุนัขตัวที่สองอย่าง "โทบี้" อย่างไรก็ดี ปัจจุบันอาจารย์ไม่ได้ใช้งานสุนัขนำทางอีกแล้วนอกจากประโยชน์ในการใช้สุนัขนำทางแล้ว อาจารย์เล่าว่า หมาเหล่านี้ยังทำให้ผู้คนหันมาสนใจและยอมรับประเด็นคนพิการมากขึ้น โดยเฉพาะในช่วงของการรณรงค์รัฐธรรมนูญฉบับปี 2540 ที่มีสุนัขนำทางเป็นตัวช่วงดึงความสนใจกับสื่อ

"ในการรณรงค์การแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับประชาชน ช่วงนั้นเราต้องมีกระบวนการรวมกลุ่ม ชุมนุม เรียกร้อง ทำสารพัดอย่าง เพื่อให้ประเด็นของคนพิการอยู่ในรัฐธรรมนูญ กว่าจะได้แต่ละประเด็นก็ต้องใช้เวลา ถึงขนาดว่าต้องเอาโลงศพไปวางหน้ารัฐสภาเพื่อประท้วง ด้วยเหตุผลว่าคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญไม่ได้ให้ความสำคัญกับสิทธิคนพิการ"

"หลังการได้มาของรัฐธรรมนูญฉบับนี้แล้ว เราถือว่า รัฐธรรมนูญปี 2540 มีเรื่องราวเกี่ยวกับสิทธิของคนพิการอย่างชัดเจน เป็นฉบับแรกของประเทศไทย คนหูหนวกมีสิทธิรับสมัครเลือกตั้งได้ การสรรหาสมาชิกวุฒิสภา (สว.) ต้องคำนึงถึงกลุ่มคนพิการด้วย ซึ่งตอนนั้น ก็ได้อาจารย์ณรงค์ ปฏิบัติสรกิจ เข้าไปเป็น สว. คนแรกที่เป็นคนพิการ นอกจากนี้ยังมีเรื่อง สื่อ การบริการ และการช่วยเหลืออื่นใดสำหรับคนพิการ ข้อนี้กว่าจะได้มาเหนื่อยมาก"

อีกสิ่งที่เราควรรู้คือ อาจารย์วิริยะ รับราชการครั้งแรกในตำแหน่งอาจารย์ สาขากฎหมายแพ่งและนิติศึกษาฯ คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และได้รับแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งผู้ช่วยศาสตราจารย์ สาขากฎหมายแพ่งและนิติศึกษาฯ รองศาสตราจารย์และศาสตราจารย์ สาขากฎหมายแพ่งและนิติศึกษาฯ คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

ปัจจุบันเขาเป็นประธานมูลนิธิสากลเพื่อคนพิการ, ประธานมูลนิธิธรรมิกชนเพื่อคนตาบอดในพระบรมราชูปถัมภ์, กรรมการศูนย์ฝึกพัฒนาและฝึกอบรมคนพิการแห่งเอเชียและแปซิฟิก, กรรมการมูลนิธิคนตาบอดไทย และอาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

งานด้านการรณรงค์ก็เป็นอีกส่วนที่สำคัญ อาจารย์วิริยะเป็นผู้ริเริ่มบทบัญญัติเกี่ยวกับสิทธิของคนพิการในรัฐธรรมนูญไทย พ.ศ.2540 และรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2550 และมีส่วนร่วมในการรณรงค์ให้มีพระราชบัญญัติฟื้นฟูสมรรถภาพคนพิการ พ.ศ.2534 และพระราชบัญญัติส่งเสริมและพัฒนาชีวิตคนพิการ พ.ศ.2550 และที่แก้ไขเพิ่มเติม พ.ศ.2556

นอกจากนี้ยังมีส่วนสำคัญทั้งด้านการศึกษา กองทุน กฎกระทรวง และก่อตั้งมูลนิธิสากลเพื่อคนพิการ มูลนิธิคนตาบอดไทยและมูลนิธิสถาบันวิจัยเพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการประเทศไทย

"เราต้องไม่ลืมว่า ในอดีตสังคมไทยเขาไม่เชื่อเรื่องความสามารถของคนพิการ เขาบอกว่าคนพิการเป็นภาระ สิ่งที่ตามมาจึงเป็นการตัดโอกาสทุกอย่าง เพราะฉะนั้นกฎหมาย ก็จะระบุตรงนั้นเอาไว้เช่นไม่ให้ทำอาชีพอะไร แม้แต่สิทธิในการขับขี่รถยนต์ เราก็ต่อสู้สำเร็จ ประมาณปี 2531 ส่วนคนหูหนวกเพิ่งจะมีสิทธิ์เลือกตั้งเมื่อปี 2532 แต่สิทธิการลงสมัครรับเลือกตั้งก็ยังไม่สามารถทำได้

"กฎหมายฉบับที่สำคัญก็คือพระราชบัญญัติส่งเสริมคุณภาพชีวิตคนพิการ เราต่อสู้กันมาตั้งแต่ปี 2526 ในปีนั้นเป้าหมายของการตั้งสภา ก็คือการรณรงค์ ให้มีกฎหมายฉบับนี้ ตามที่รัฐบาลได้รับปากเอาไว้ในปีคนพิการสากล 2524 แต่ก็ยังไม่ได้เป็นไปตามนั้น เราเพิ่งจะมาประสบความสำเร็จในอีก 10 ปีต่อมา นั่นคือปี 2534 นับเวลาได้ 10 ปีกว่าเราจะได้กฎหมายฉบับหนึ่ง

"แต่จนถึงวันนี้เรื่องใหญ่ที่สุดก็คือการต้องเปลี่ยนความเชื่อ ตราบใดที่เรายังไม่สามารถเปลี่ยนความเชื่อคนได้ ต่อให้จะนโยบายกฎหมายดีแค่ไหน ก็ไม่พ้นเรื่องความเชื่อ พอมีกฎหมายบังคับหลายคนก็พอปรับปรุงบ้าง แต่บางคนก็ไม่ยอมเปลี่ยนแปลง"

อ้างอิง
https://www.matichon.co.th/lifestyle/news_570067
https://www.youtube.com/watch?v=uniblZtYBdM