Skip to main content
Scene  1 ดาบของเล่น
ภายนอก / ลานกิจกรรมของโรงเรียนเศรษฐเสถียร / กลางวัน

ซอล ซอล... มี ซอล ลา โด... เร โด ลา... ซอล ซอล มี...

 

 

เสียงเพลงลอยกระทงจากการเขย่าอังกะลุงดังขึ้น พร้อมๆ กับเสียงเคาะกระดานเพื่อกำกับจังหวะ เด็กๆ ที่กำลังถือเครื่องดนตรีต่างจดจ้องไปที่ปลายของดาบไม้ของเล่นซึ่งเป็นตัวแทนของไม้บาตอง ต่างคนต่างรอให้คุณครูเคาะจนถึงตัวโน้ตของตัวเอง บางคนก็เหลือบมองคุณครูอีกคนที่กำลังปรบมืออยู่และพยายามเล่นให้ตรงจังหวะ 

 

 

คุณครู

“เก่งมาก คราวนี้ครูขอเพิ่มลูกหมด แต่ให้เพื่อนเป็นคนนำนะ”

เมื่อคุณครูเขียนโน้ตชุดใหม่บนกระดานเสร็จ ก็ส่งสัญญาณไปยังนักเรียนที่ได้รับมอบหมายให้เป็นคอนดักเตอร์ เด็กหญิงเดินออกมายืนด้านหน้า สูดหายใจเข้าลึกๆ กวาดตามองโน้ตชุดใหม่รอบหนึ่ง นับหนึ่ง สอง สาม ก่อนจะยกมือของเธอขึ้นมาเคลื่อนไหวเป็นสัญลักษณ์ของโน้ตดนตรี เพื่อนๆ ของเธอต่างจดจ้องไปที่มือที่กำลังเคลื่อนไหวนั้นอย่างมีสมาธิ รอจนถึงคิวของตัวเองก็เขย่าอังกะลุงตามสัญลักษณ์มือนั้นๆ แม้จังหวะจะเหลื่อมๆ หรือเร็วเกินไปบ้าง พวกเขาก็ประคับประคองกันไปได้จนจบเพลง

 

 

 

คุณครู

“ลองอีกรอบนะ คราวนี้ให้เพื่อนลองเคาะจังหวะ ส่วนพวกเราก็ดูโน้ตตามไปนะ”

 

คุณครูยื่นดาบของเล่นให้กับเด็กหญิง เธอรับมาด้วยความเคยชิน ก่อนจะลองเคาะเป็นจังหวะเบาๆ บนกระดานที่เต็มไปด้วยตัวโน้ตอันไม่คุ้นเคย ไม่นานนักเธอก็ส่งสัญญาณมือให้เพื่อนๆ รับรู้ว่าเธอกำลังจะเริ่มกำกับมันในไม่ช้านี้ สาม สอง หนึ่ง... เธอค่อยๆ เคาะไปตามจังหวะที่นับอยู่ในใจ อาจจะเร็วไป หรือช้าไปบ้าง แต่เพื่อนๆ ก็ตั้งใจเขย่าอังกะลุงที่จับแน่นอยู่ทั้งสองมือตามเธอไป ไม่นานนักก็มาถึงท่อนสุดท้ายที่จังหวะต้องเร่งขึ้น

 

 

เร มี ซอล... มี ซอล ลา... ซอล ลา โด... ลา โด เร

โน้ตตัวสุดท้ายจบลงอย่างเฉียดฉิว นักเรียนคนหนึ่งลุกขึ้นมาดีใจอย่างแรงที่ตัวเองเล่นตามจังหวะได้สำเร็จ ลองสังเกตดูดีๆ หูของเขามีเครื่องช่วยฟังอยู่ เพื่อนๆ บางคนถึงกับถอนหายใจด้วยความโล่งอก บ้างก็หันไปหัวเราะและชี้เพื่อนที่ทำให้ตัวเองหลงจังหวะ สุดท้ายแล้วทุกคนก็หันไปยิ้มให้กัน และเริ่มสนทนาอย่างออกรสชาติด้วยภาษามือ

 

 

 

Scene 2 ภาพเหมือน
ภายใน / ห้องเรียนศิลปะ / กลางวัน

 

เด็กนักเรียนตัวเล็กๆ คนหนึ่งยืนนิ่งเกร็งบนเก้าอี้ เธอกำลังยืนเป็นแบบให้คุณครูศิลปะใช้ชอล์กบรรจงวาดภาพเหมือนใบหน้าเธอลงบนกระดาน ทุกอย่างถูกแบ่งออกเป็นสัดส่วน ทั้งหู ตา จมูก ต่างอยู่บนเส้นที่ถูกขีดไว้ เมื่อวาดเสร็จ คุณครูก็เขียนข้อความบางอย่าง พร้อมสะกดด้วยมือให้เด็กๆ ดู 

 

 

 

เ - ห - มื - อ - น - จ - ริ - ง

 

คุณครู

“ไม่ใช่ ก-า-ร์-ตู-น โอเคไหม”

คุณครูพูดพร้อมทำมืออย่างนั้นและวาดรูปแนวการ์ตูนขึ้นมาอีกหนึ่งรูปและกากบาททิ้ง คุณครูกล่าวว่าจุดประสงค์ก็คือต้องการฝึกให้นักเรียนรู้จักรูปแบบของการวาดภาพเสมือนจริง วาดตามหลักการให้ถูกต้อง แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น คุณครูก็ยังให้อิสระในการออกแบบและระบายสีตามใจของนักเรียนเอง

 

 

 

 

ฉันที่กำลังเดินสังเกตการณ์อยู่นั้นสะดุดตากับภาพวาดของน้องคนหนึ่ง ซึ่งแม้เธอจะอยู่แค่ชั้นประถมศึกษา แต่ผลงานนั้นโดดเด่นมาก คุณครูบอกฉันว่าปีก่อน น้องได้ไปคว้ารางวัลของงานศิลปหัตถกรรมมา แถมยังบอกอีกว่า น้องเป็นแฟนคลับการ์ตูนญี่ปุ่น เริ่มต้นจากการอ่านมาถึงความชื่นชอบในสไตล์ ทำให้ตั้งใจฝึกฝนวาดรูปตามการ์ตูนที่ตนชอบจนพัฒนาฝีมือได้ขนาดนี้

 

คุณครู

“ธิดาพร เพิ่งบอกไปว่าให้วาดภาพเหมือน ทำไมตาถึงโตขนาดนี้”

คุณครูชี้ไปที่ภาพวาดของธิดาพรพร้อมกับส่งสัญญาณมือ เธอเผลอวาดตามสไตล์ญี่ปุ่นอีกแล้วตามความเคยชิน...

 

คุณครู

“แต่ก็ต้องขอบคุณการ์ตูนนะ ที่ช่วยทำให้เขามีจินตนาการกว้างไกลมากขึ้น

เพราะปกติความคิดสร้างสรรค์มักจะมาจากเสียงเป็นตัวช่วย จากการพูด การเล่า หรือจากเพลง

ถ้าให้วาดภาพตามจินตนาการ ก็ต้องหาอะไรมาอธิบายเยอะหน่อย”

 

 

 

 

Scene 3 ตะ แลก แต๊ก ฉึ่ง

ภายใน / ห้องวงโยธวาทิต / กลางวัน

 

ตึง ตึง ตึง ...ตึง ตึง ตึง 

 

 

เสียงวงโยธวาทิตดังสนั่นไปทั่ว นักเรียนที่เล่นกลองและฉาบต่างทดลองซ้อมตามโน้ตจังหวะของตนเอง อีกไม่นานนักพวกเขาต้องไปเล่นกำกับจังหวะให้กับวงอังกะลุงที่กำลังซ้อมอยู่เช่นกัน นักเรียนหลายคนกระตือรือร้นในหน้าที่ของตัวเอง ไม่นานนักคุณครูที่กำลังเป็นคอนดักเตอร์ก็ส่งต่อหน้าที่ให้นักเรียนคนหนึ่งมานำเพื่อนๆ ต่อ แม้จะเริ่มใหม่กันอยู่หลายครั้ง ทั้งกลองหลุดจังหวะบ้าง ฉาบตีไม่พร้อมกลองบ้าง แต่เด็กๆ ก็ไม่ได้แสดงท่าทางท้อแท้แต่อย่างใด กลับยกมือเรียกคุณครูให้มาช่วยทำให้ดูเป็นตัวอย่างจนสามารถตีได้ถูกต้อง

 

 

 

 

 

หลังจากซ้อมกันอยู่พักหนึ่ง คุณครูก็ส่งสัญญาณให้ออกมารวมวงกัน เด็กๆ วิ่งหอบกลองออกมาอย่างตื่นเต้น จนคุณครูต้องส่งสัญญาณมือดุเตือนกลัวว่าจะทำหล่นพังไปเสียก่อน

 

คุณครู

“ทีนี้จะเล่นพร้อมกันแล้วนะ พวกเราก็ดูจังหวะตามเพื่อนนะ”

 

 

นักเรียนผู้นำจังหวะของวงอังกะลุงถือดาบไม้อันเดิมเตรียมตัวจะส่งสัญญาณให้เพื่อนๆ แต่รอบนี้เธอต้องมองทั้งโน้ตที่อยู่บนกระดาน และนักเรียนอีกคนที่กำลังกำกับจังหวะกลองด้วย เรียกได้ว่าสมาธิและการสังเกตสำคัญมาก โน้ตตัวสุดท้ายจบลงเกือบพร้อมกับกลองจังหวะสุดท้าย เด็กๆ ลุกขึ้นมายืดเส้นยืดสายและแสดงท่าทางดีใจที่ทุกอย่างผ่านไปได้ด้วยดี คุณครูหันไปคุยกันว่า การส่งเด็กๆ ไปประกวดในปีนี้นั้นมีหวัง 

 

 

 

 

คุณครู

“เพราะเขาไม่ได้ยิน เขาก็เลยมีความสุขกับการได้ตี ได้เคาะ ได้ขยับตามจังหวะ

อาจจะไม่พร้อมกันบ้าง เพราะจังหวะในใจของแต่ละคนไม่เท่ากัน

แต่เขาก็สนุกกับสิ่งที่กำลังทำอยู่นะ”

 

ระหว่างที่ฉันกำลังจะเดินออกจากโรงเรียนเศรษฐเสถียร ฉันหันไปเห็นน้องๆ บางคนกำลังจะกลับบ้านพอดี พวกเขาหันมาโบกมือบ๊ายบายและยิ้มให้ยกใหญ่

แม้ฉันจะมาใช้เวลาอยู่ที่นี่แค่ครึ่งวัน แต่ก็ได้เรียนรู้อะไรหลายๆ อย่างจากน้องๆ แม้พวกเขาจะไม่ได้ยิน แต่ก็ไม่ได้เป็นอุปสรรคใดๆ กับดนตรีและศิลปะเลย พวกเขาหลายๆ คนต่างสมัครใจที่จะมาร่วมกิจกรรมเหล่านี้ด้วยซ้ำ ความเงียบไม่ได้ทำให้พวกเขาสนุกกับดนตรีน้อยลง และความเงียบยังช่วยทำให้มีสมาธิจดจ่อตอนวาดรูปจนฝึกฝนได้อย่างรวดเร็วอีกด้วย