Skip to main content

เมื่อ 8 ปีก่อน อีวาน โอเวนซิ่งนักออกแบบหุ่นยนต์และกลไกในภาพยนตร์ “ทรานฟอร์เมอร์” ได้ออกแบบนิ้วเทียมและพิมพ์ด้วยเครื่องมือสามมิติเพื่อให้ช่างไม้ชาวแอฟริก้าใต้ที่ถูกเครื่องจักรตัดนิ้วมือทดลองใช้ และปรากฎว่าสามารถใช้งานได้อย่างดี จนนำไปใช้กับกลุ่คนที่ประสบอุบัติเหตุจนพิการ และขยายไปทดลองใช้กับกลุ่มเด็กที่ถูกถุงน้ำคร่ำรัดมือจนไม่ไม่นิ้วขณะอยู่ในครรภ์อีกด้วย


ภาพจาก คมชัดลึก

เมื่อ 8 ปีก่อน อีวาน โอเวนซิ่งนักออกแบบหุ่นยนต์และกลไกในภาพยนตร์ “ทรานฟอร์เมอร์” ได้ออกแบบนิ้วเทียมและพิมพ์ด้วยเครื่องมือสามมิติเพื่อให้ช่างไม้ชาวแอฟริก้าใต้ที่ถูกเครื่องจักรตัดนิ้วมือทดลองใช้ และปรากฎว่าสามารถใช้งานได้อย่างดี จนนำไปใช้กับกลุ่คนที่ประสบอุบัติเหตุจนพิการ และขยายไปทดลองใช้กับกลุ่มเด็กที่ถูกถุงน้ำคร่ำรัดมือจนไม่ไม่นิ้วขณะอยู่ในครรภ์อีกด้วย

ไม่นานนักศาสตราจารย์ จอน โซลล์ ผู้ก่อตั้งกลุ่ม e-NABLE ก็หยิบเอานวัตกรรมดังกล่าว โดยการดาวน์โหลดข้อมูลฟรี เนื่องจากตัวต้นแบบนั้นเปิดให้ผู้ที่่ต้องการโหลดใช้ได้แบบไม่ติดลิขสิทธิ์

ล่าสุด เครือข่ายผู้ก่อการดีได้ร่วมมือกับ e-NABLE เตรียมพิมพ์มือเทียมด้วยเครื่องสามมิติส่งแจกจ่ายให้คนพิการ โดยมี พญ.ปริยสุทธิ์ อินทสุวรรณ จิตแพทย์ประจำโรงพยาบาลสิรินธร และ James Quilty สามี ร่วมกับศัลยแพทย์กระดูกและข้อ, หัวหน้ากลุ่มงานกายภาพบำบัด, นักกายภาพบัดและนักกายอุปกรณ์ ร่วมกันจัดตั้งโครงการ ThaiReach (ไทยฤทธิ์) :e-NABLE เพื่อให้คนพิการก้าวข้ามความต่างทางร่างกายโดยไม่แสวงหากำไร

พญ.ปริยสุทธิ์ กล่าวว่า ตนได้ร่วมมือกับชุมชนและสร้างเครือข่ายกายอุปกรณ์ฟรี เพื่อให้คนพิการได้ใช้ชีวิตอย่างเท่าเทียมมากที่สุด ลดการรังเกียจและไม่เสียค่าใช้จ่ายใดๆ ตามวัตถุประสงค์ของผู้ริเริ่ม เพราะการเสียค่าใช้้จ่ายทำให้คนพิการบางส่วนเข้าไม่ถึงกายอุปกรณ์เหล่านี้

“เป้าหมายที่สำคัญคือ ต้องการเข้าถึงการพัฒนาการจ้างงานเพราะ การออกแบบกายอุปกรณ์นั้นดีที่สุดเมื่อผู้ใช้เป็นคนออกแบบเอง หากโครงการนี้สามารถไปถึงขั้นนั้นได้ คือจ้างงานพวกเขาให้มาออกแบบได้ ความมีคุณค่าในตัวเองก็เกิดขึ้น” พญ.ปริยสุทธิ์กล่าว

สถิติผู้พิการปี 2560 ที่โรงพยาบาลสิรินธร จ.ขอนแก่น ขึ้นทะเบียนทั้งสิ้น 2,369 คน มีจำนวนร้อยละ 54 พิการด้านการเคลื่อนไหว โดยพบว่าร้อยละ 50 เป็นความพิการของมือที่เกิดจากภาวะแทรกซ้อนของโรคเรื้อน กายอุปกรณ์นี้ถูกนำไปใช้ที่นิคมโนนสมบูรณ์ อ.บ้านแฮด จ.ขอนแก่น ซึ่งเป็นที่อยู่ของคนพิการกว่า 400 คน จัดตั้งมานานกว่า 60 ปี

คำนันท์ ปัสสาวะสัง ชายอายุ 80 ปี สูญเสียนิ้วมือมา 50 ปีแล้วจากภาวะแทรกซ้อนของโรคเรื้อน แต่ตอนนี้ได้รับมือเทียมสีม่วงจนกลับมาดื่มน้ำและเกี่ยวข้าวเองได้

"ยังปลื้มใจไม่หาย จากมือที่ไม่มีแผลเพราะไม่เคยสวมกายอุปกรณ์ พอสวมแล้วไปลองทำทุกอย่างแม้กระทั่งผ่าฟืน ยิ่งทำยิ่งสนุกจนเป็นแผลก็ยังไม่หยุดทำ เพราะปลื้มใจที่ได้กลับไปใช้มือได้อีกครั้งหนึ่ง ผมเพิ่งได้มือเทียมไปประมาณ 10 วัน แต่ฝึกฝนการใช้มือเทียมมา 2 เดือนแล้ว รู้สึกว่าช่วยเหลือตัวเองได้ จับสิ่งของได้ เมื่อก่อนไม่มีมือเวลากินข้าวหรือทำอะไรก็ต้องประคองสองมือช่วยกัน แต่เมื่อสวมมือเทียมเข้ามาจะถนัดมากขึ้น ตอนไปเกี่ยวข้าวก็มีความสุข ภูมิใจและดีใจ มีกำลังใจในการใช้ชีวิต อยากขอบคุณที่ช่วยเหลือคนพิการ เมื่อตอนที่ยังไม่มีมือเทียม ผ่าฟืนยังไม่ได้ แต่เมื่อมีมือเทียมแล้วมันสามารถทำได้ ดื่มน้ำได้ด้วยตัวเองก็ดีใจมาก”คำนันท์กล่าว


ภาพจาก คมชัดลึก

เช่นเดียวกับ สุวาท หยวกวิ่ง อายุ 67 ปี ทีี่ได้มือเทียมสีชมพูสลับเหลือง เล่าให้ฟังว่า ได้รับอุบัติเหตุจากโรงงานเมื่อ 30 กว่าปีที่แล้วจนกลายเป็นคนพิการ ทำอาชีพทออวน ที่ผ่านมาไม่มีมือเทียมใช้ แต่พอมาปี 2561 ได้โควตาการจ้างงานของคนพิการเป็นงบจากบริษัทเอไอเอสเพื่อขายบัตรเติมเงิน และได้รับมือเทียมเป็นกายอุปกรณ์ด้วย หลังจากลองใส่กายอุปกรณ์เธอก็กลับบ้านไปทดลองหั่นผัก พับผ้าและขี่จักรยานด้วยสองมือครั้งแรกในรอบหลายสิบปี