Skip to main content

ความพิการเป็นอุปสรรคสำคัญอย่างหนึ่งในการใช้ชีวิตของมนุษย์ การมีอวัยวะไม่ครบสมบูรณ์ทำให้หลายคนไม่สามารถช่วยเหลือตัวเองได้ หลายกรณี รัฐซึ่งมีฐานะเป็นเจ้าของคนพิการนั้นจำเป็นต้องเข้ามาให้ความช่วยเหลือในด้านต่างๆ ตั้งแต่การฟื้นฟูไปจนถึงจัดหาสิ่งอำนวยความสะดวกต่างๆ ในการใช้ชีวิต

แต่นอกจากความพิการแล้ว การไร้สัญชาติก็ถือเป็นอีกอุปสรรคหนึ่งที่ทำให้คนพิการหลายคนยิ่งด้อยโอกาสมากขึ้นอีก เพราะต้องกลายเป็นบุคคลนอกกฎหมายที่ไม่มีประเทศใดในโลกให้การยอมรับ จนไม่สามารถเข้าถึงสิทธิขั้นพื้นฐานที่แต่ละรัฐจัดให้พลเมืองของตนเองได้

ความไร้รัฐไร้สัญชาติมีที่มาจากหลายรูปแบบ นับตั้งแต่การย้ายถิ่นฐานข้ามประเทศอย่างไม่ถูกกฎหมาย การเป็นบุคคลที่ไม่มีเอกสารระบุตัวตนหรือที่เรียกว่าคนไร้รากเหง้า ไปจนถึงการที่พ่อแม่ของคนผู้นั้นไม่ยอมแจ้งเกิดให้ ทั้งหมดล้วนเป็นที่มาของปัญหาคนไร้สัญชาติทั้งสิ้น แต่ที่น่าสนใจคือสาเหตุหนึ่งของความไร้รัฐไร้สัญชาติในคนพิการไม่ได้มาจากชาติกำเนิดหรือความบกพร่องไม่รู้กฎหมายของบุพการี แต่กลับมาจากการถูกทอดทิ้งตั้งแต่แรกเกิดเพราะความพิการจนทำให้หลายคน ซึ่งมีข้อมูลบ่งชี้ว่าเป็นคนสัญชาติไทยแต่กลับถูกบันทึกไว้ในทะเบียนราษฎรไทยว่าเป็น ‘คนไร้สัญชาติ’

หมู่บ้านกะเหรี่่ยง อีกหนึ่งพื้นที่ที่มีคนไร้สัญชาติ
รูปจาก Bluerollingdot

‘เด็กหญิงผักกาด’ แม่พม่า-เกิดไทย-ไร้สัญชาติ

หากใครเข้าไปในห้องเก็บเอกสารของโรงพยาบาลพบพระ อำเภอพบพระ จังหวัดตาก จะเห็นเด็กหญิงตัวน้อยวัย 7 ขวบคนหนึ่ง นอนอยู่ในนั้นคอยยิ้มทักทายผู้คนที่ผ่านไปมา เด็กหญิงคนนี้มีชื่อว่า ‘น้องผักกาด’ เธอถูกแม่ทิ้งไว้ให้โรงพยาบาลพบพระเลี้ยงดูตั้งแต่เกิดเพราะป่วยเป็นโรคงวงช้างมีอาการกะโหลกศีรษะบวมอันเนื่องมาจากน้ำในสมองมีมากเกินไป ความผิดปกติดังกล่าวทำให้น้องผักกาดไม่สามารถนั่งได้เหมือนเด็กทั่วไป เช่นเดียวกับการช่วยเหลือตัวเองอย่างการเคี้ยวข้าวก็ทำไม่ได้

“เดิมแม่ของน้องผักกาดอยู่ในประเทศพม่า แต่มาฝากท้องอยู่ที่โรงพยาบาลพบพระ ตอนนั้นแพทย์ทำอัลตราซาวด์แล้วพบว่าเด็กในครรภ์มีหัวที่ใหญ่ผิดปกติ ตอนนั้นโรงพยาบาลพบพระยังไม่มีศักยภาพในการทำคลอดเด็กลักษณะนี้ เลยต้องส่งตัวแม่ของน้องไปทำคลอดที่โรงพยาบาลแม่สอด ตอนนั้นผมยังทำงานอยู่ที่โรงพยาบาลแม่สอด แต่ไม่ได้เจอน้อง จนหลังจากนั้น 6-7 เดือนจึงย้ายเข้ามาที่โรงพยาบาลพบพระ แล้วก็เห็นน้องอยู่ที่นี่แล้ว”

นพ.ศักดิ์บัญชา สมชัยมงคล ผู้อำนวยการโรงพยาบาลพบพระยังจำเรื่องราวตอนเห็นผักกาดครั้งแรกได้ดี ในตอนนั้นเด็กคนนี้อายุเพียง 6 เดือน ขนาดตัวไม่ต่างจากเด็กรุ่นราวคราวเดียวกัน แต่ศีรษะกลับมีขนาดใหญ่กว่ามาก

“เมื่อผ่าตัดทำคลอดแล้ว แพทย์พบอาการป่วยทางสมองของน้องจึงให้ความเห็นว่าน้องมีโอกาสรอดชีวิตไม่มาก ทางโรงพยาบาลแม่สอดจึงส่งน้องกลับมาที่โรงพยาบาลพบพระเพื่อดูแลต่อ ส่วนแม่เมื่อเห็นลูกพิการประกอบกับตัวเองยากจนจึงฝากน้องไว้กับโรงพยาบาล”

ในวันนั้นทุกคนต่างคิดว่าผักกาดคงมีชีวิตอยู่ได้ไม่นานจึงไม่ได้พาน้องไปแจ้งเกิด ทำให้ไม่มีสูติบัตรยืนยันการเกิดที่จะใช้รับรองความเป็นบุคคลในตัวน้อง

เวลาผ่านไป 7 ปี ความโชคดีประกอบกับการดูแลอย่างดีของโรงพยาบาลพบพระทำให้ผักกาดยังคงมีชีวิตอยู่จนถึงทุกวันนี้ แต่ผลจากการไม่ได้ไปแจ้งเกิดก็ทำให้น้องผักกาดต้องตกเป็นคนไร้รัฐ ไร้สัญชาติ ไม่สามารถเข้าถึงสวัสดิการต่างๆ ที่รัฐจัดให้ ทั้งเรื่องหลักประกันสุขภาพไปจนถึงเบี้ยคนพิการ ภาระในการดูแลค่ารักษาพยาบาลรวมถึงปัจจัยต่างๆ ที่จำเป็นในการดำรงชีวิตของน้องผักกาดจึงตกอยู่กับโรงพยาบาลทั้งหมด

“ตามปกติโรงพยาบาลจะได้งบประมาณเป็นก้อนจากกระทรวงสาธารณสุขตามจำนวนคนสัญชาติไทยในอำเภอ ซึ่งบางคนใช้มากบางคนใช้น้อย ทางโรงพยาบาลต้องนำเงินส่วนที่เหลือมาเกลี่ยเพื่อใช้เป็นค่ารักษาพยาบาลน้องผักกาด ซึ่งก็เป็นวิธีเดียวกับที่ทางโรงพยาบาลทำให้คนไร้สัญชาติคนอื่นๆ ที่ไม่มีเงินจ่ายค่ารักษาพยาบาลในพื้นที่”

เด็กพิการไร้สัญชาติ

น้องผักกาดเป็นคนไร้สัญชาติจริงหรือไม่?

เมื่อฟังจากประวัติที่ผู้อำนวยการโรงพยาบาลพบพระเล่าจะเห็นว่าแม่ของผักกาดเป็นคนจากประเทศพม่า แต่น้องผักกาดเกิดในโรงพยาบาลแม่สอดในประเทศไทย กรณีนี้ตามกฎหมายถือว่าน้องผักกาดสามารถยื่นคำร้องขอสัญชาติไทยตามหลักการเกิดได้ ตามพระราชบัญญัติสัญชาติ พ.ศ.2508 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติม โดยพระราชบัญญัติสัญชาติ (ฉบับที่ 2) พ.ศ.2535 มาตรา 7 ทวิ วรรคสอง ซึ่งเปิดช่องให้ผู้ที่เกิดในประเทศไทยหลังวันที่ 26 กุมภาพันธ์ 2535 สามารถยื่นคำร้องขอสัญชาติไทยได้ แต่ปัญหาที่พบคือน้องผักกาดไม่ได้แจ้งเกิด ทำให้ไม่มีเอกสารหลักฐานที่จะใช้ไปยืนยันว่าตนเองเกิดในไทยได้ จนกลายเป็นอุปสรรคต่อการยื่นคำร้องขอสัญชาติไทยตามมาตรา 7 ทวิ วรรคสอง

อย่างไรก็ตาม กฎหมายก็ยังเปิดช่องให้สามารถนำบุคคลที่น่าเชื่อถือซึ่งรู้เห็นการเกิดของน้องผักกาดอย่างน้อย 2 คนมาเป็นพยานในการยื่นเรื่องได้

“การช่วยเหลืออาจจะมี 2 ด้านคือสุขภาพกับการรับรองของรัฐ จะรับรองเป็นคนสัญชาติไทยได้หรือไม่ต้องดูว่าเกิดไทยหรือเปล่า พ่อหรือแม่สัญชาติไทยหรือเปล่า ถ้าเกิดในไทยหลังวันที่ 26 กุมภาพันธ์ 2535 ก็ต้องไปยื่นตามมาตรา 7 ทวิ แต่มันต้องฝ่าขั้นตอนการพิสูจน์การเกิดก่อน เพราะเราต้องจำให้ได้ก่อนว่าคนทำคลอดชื่ออะไร อันนี้หมอก็ต้องรื้อฟื้นให้ได้ว่าหมอหรือพยาบาลที่ทำคลอดชื่ออะไร” รศ.ดร.พันธุ์ทิพย์ กาญจนะจิตรา สายสุนทร อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ซึ่งทำงานด้านคนไร้สัญชาติมาตลอด เล่าให้ฟังถึงแนวทางการช่วยเหลือด้านสัญชาติ ผ่านกรณีของนักผักกาด

“คนไร้สัญชาติทั่วไปที่เกิดในประเทศไทยมาตรา 7 ทวิหรือมาตรา 23 เปิดช่องไว้แล้ว ถ้ารู้กฎหมายก็สามารถเดินทางไปที่อำเภอยื่นเรื่องด้วยตัวเองได้ แต่กับน้องผักกาด ถ้าเราไม่ช่วยเขาก็ทำเองไม่ได้ เอกสารเกี่ยวกับตัวน้องก็ต้องรื้อกลับมาดูให้หมดเพราะมันผ่านมาหลายปีแล้ว

“ถ้าหาไม่ได้น้องผักกาดก็จะกลายเป็นคนที่ไม่สามารถหาหลักฐานยืนยันที่มาของตัวเองได้หรือที่เรียกว่าคนไร้รากเหง้า แต่ทุกคนก็จำได้ว่ามีการพาแม่ของน้องผักกาดไปส่งที่โรงพยาบาลแม่สอด อันนี้น่าฟ้องคดียืนยันการเกิดนะ คือหมอเป็นคนบอกให้ไปส่งแม่น้อง มันก็น่าจะเป็นไปได้แล้วว่าน้องผักกาดเกิดในไทยต่อให้เราหาคนที่ทำคลอดน้องไม่ได้”

ทุกวันนี้ทีมงานบางกอกคลินิก ซึ่งเป็นคลินิกกฎหมายของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ได้เข้ามาให้ความช่วยเหลือด้านกฎหมายแก่โรงพยาบาลพบพระในด้านการแก้ไขปัญหาสถานะบุคคลของน้องผักกาด ขณะที่ในส่วนของหลักประกันสุขภาพก็ได้รับความช่วยเหลือจากองค์กร Save the children ในการออกทุนซื้อ ‘กองทุนท.99’ ซึ่งเกิดจากมติคณะรัฐมนตรีวันที่ 15 มกราคม 2556 ที่กำหนดให้กระทรวงสาธารณสุขดำเนินการตรวจสุขภาพและประกันสุขภาพให้กับคนต่างด้าวที่ไม่ได้อยู่ในระบบประกันสังคมในราคาปีละ 2,800 บาท

แม้การช่วยเหลือน้องผักกาดจะมีมาอย่างรอบด้านแต่จะเห็นได้ว่าส่วนใหญ่ยังเป็นการจัดการภายในพื้นที่และจากภาคเอกชน

กำแพงสัญชาติขวางสวัสดิการรัฐ

ความเป็นคนพิการทางสมองของน้องผักกาดก็น่าจะเพียงพอแล้วสำหรับการเป็นผู้ทรงสิทธิ์ในอนุสัญญาว่าด้วยสิทธิคนพิการ ซึ่งเมื่อดูในพระราชบัญญัติส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ พ.ศ.2550 มาตรา 20 ก็กล่าวไว้อย่างชัดเจนว่าคนพิการมีสิทธิเข้าถึงและใช้ประโยชน์ได้จากสิ่งอำนวยความสะดวกอันเป็นสาธารณะตลอดจนสวัสดิการและความช่วยเหลืออื่นจากรัฐ โดยมีรายละเอียดปลีกย่อย 10 ข้อ หนึ่งในนั้นคือ การบริการฟื้นฟูสมรรถภาพโดยกระบวนการทางการแพทย์และค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาล ค่าอุปกรณ์ เครื่องช่วยความพิการและสื่อส่งเสริมพัฒนาการ โดยไม่มีกำหนดในพระราชบัญญัติฯ ว่าต้องเป็นคนมีสัญชาติไทย ซึ่งหากเป็นไปตามนี้จะตรงตามหลักการไม่เลือกปฏิบัติต่อเชื้อชาติในอนุสัญญาว่าด้วยสิทธิคนพิการ (Convention on the Rights of Persons with Disabilities - CRPD) ซึ่งประเทศไทยได้ให้สัตยาบันเมื่อวันที่ 29 กรกฎาคม 2551 และมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 28 สิงหาคม 2551 ที่ผ่านมา

แต่อุปสรรคที่ทำให้คนพิการไร้สัญชาติไม่ได้รับสิทธิตามมาตรา 20 คือ มาตรา 19

“เวลาดูกฎหมายถ้าดูที่ตัวอักษรจะไม่เห็นอะไร แต่ถ้ามาดูเข้าไปจะเห็นว่าความเป็นผู้ทรงสิทธิก็อยู่ที่ความเป็นมนุษย์ ฉะนั้นพอไปดูมาตรา 19 ที่บัญญัติไว้ว่าเพื่อประโยชน์ในการได้รับสิทธิตาม พ.ร.บ.ส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ พ.ศ.2550 มาตรา 20 คนพิการอาจยื่นคำขอมีบัตรคนพิการต่อนายทะเบียนกลาง นายทะเบียนจังหวัด ตามระเบียบที่คณะกรรมการกำหนด ในกรณีคนพิการเป็นผู้เยาว์ ผู้ไร้ความสามารถหรือเสมือนไร้ความสามารถ หรือกรณีที่คนพิการมีสภาพพิการจนไม่สามารถยื่นคำขอด้วยตัวเองได้ ผู้ปกครอง ผู้พิทักษ์หรือผู้ดูแลคนพิการแล้วแต่กรณีจะยื่นคำขอแทนก็ได้แต่ต้องนำหลักฐานแสดงว่าเป็นคนพิการไปยื่นต่อนายทะเบียนแล้วแต่กรณีด้วยอันนี้คืออุปสรรคอีกอันหนึ่ง” รศ.ดร.พันธุ์ทิพย์ฉายภาพของกฎหมายไทยในปัจจุบันให้ฟัง

กฎหมายสองข้อนี้ดูเหมือนจะไม่มีปัญหาอะไรแต่เมื่อดูไปที่ระเบียบคณะกรรมการส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการแห่งชาติว่าด้วยหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขการยื่นคำขอมีบัตรประจำตัวคนพิการ การออกบัตร และการกำหนดเจ้าหน้าที่ผู้มีอำนาจออกบัตรประจำตัวคนพิการ การกำหนดสิทธิหรือการเปลี่ยนแปลงสิทธิ และการขอสละสิทธิของคนพิการและอายุบัตรประจำตัวคนพิการ พ.ศ. 2556 ซึ่งข้อ 6 บัญญัติว่า ‘คนพิการซึ่งมีสัญชาติไทยไม่ว่าจะอยู่ในกรุงเทพมหานครหรือจังหวัดอื่นอาจยื่นคำขอมีบัตรต่อสำนักงานพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์จังหวัด ศูนย์บริการคนพิการระดับจังหวัด หรือหน่วยงานของรัฐ ตามที่ผู้อำนวยการหรือผู้ว่าราชการจังหวัดประกาศกำหนด แล้วแต่กรณี เมื่อถึงตรงนี้จะเห็นว่าคนสัญชาติไทยเท่านั้นที่จะขอขึ้นทะเบียนเพื่อมีบัตรประจำตัวคนพิการได้’

“คำถามคือน้องผักกาดพิการไหม ต้องได้รับการจดทะเบียนก่อนไหมถึงพิการ ไม่ต้องจดทะเบียนมันก็พิการอยู่แล้ว ถามว่าเรามีอนุสัญญาผูกพันไหม มี พ.ร.บ.เราดูแลคนพิการใช่ไหม...ใช่ แต่ในทางปฏิบัติกลับมีระเบียบบอกว่าจะทำทะเบียนคนพิการได้ต้องมีสัญชาติไทยในทะเบียนบ้าน แล้วการที่จะส่งเสริมสวัสดิการต่างๆ มันจะต้องมีบัตรประจำตัวคนพิการ มันไปผูกกันเป็นช่วงๆ ทำให้คนไร้สัญชาติเข้าไม่ถึงกองทุนคนพิการ”

เมื่อเห็นปัญหาในทางปฏิบัติ ในช่วงที่มีการปฏิรูปกฎหมายเมื่อปี 2556 จึงมีการเสนอให้แก้กฎหมายฉบับนี้ขึ้น โดยได้เพิ่มมาตรา 19/1 ซึ่งระบุว่าคนพิการซึ่งไม่มีสถานภาพทางทะเบียนราษฎรตามกฎหมายว่าด้วยการทะเบียนราษฎร อาจได้รับความช่วยเหลือที่เหมาะสมตามหลักศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์จากรัฐ ทั้งนี้ ตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่คณะกรรมการกำหนดในระเบียบขึ้นมา

“คราวนี้กรรมการฝ่ายหนึ่งบอกว่าต้องได้รับการทำบัตรประจำตัวผู้ไม่มีสถานะทางทะเบียนหรือบัตรเลข 0 จากกรมการปกครองก่อน สุดท้ายผลของความคิดอย่างนี้แม้จะทำให้คนเข้าถึงสวัสดิการคนพิการเพิ่มขึ้น แต่ก็จะทำให้มีคนพิการที่มีบัตรเลข 0 กับคนพิการที่ไม่มีบัตรเลข 0 อยู่ดีเพราะบางคนอาจจะไร้รัฐโดยสิ้นเชิงซึ่งทำให้ไม่มีบัตรเลข 0 ก็ได้ นั่นหมายความว่าประเทศไทยยังคงเลือกปฏิบัติเหมือนเดิม”

ครอบครัวนะโป๊ะเชอ ซึ่งมีคนพิการไร้สัญชาติอยู่ถึง 4 คน

‘ครอบครัวนะโป๊ะเชอ’ หนึ่งครอบครัว สองบรรทัดฐาน

กรณีตัวอย่างที่ชี้ให้เห็นความเหลื่อมล้ำในการเข้าถึงสิทธิของคนพิการที่เกิดจากปัญหาด้านสัญชาติอีกกรณี คือครอบครัวของนะโป๊ะเชอ แม่เฒ่าชาวกะเหรี่ยงเชื้อสายไทย วัย 80 ปีแห่งบ้านห้วยดินหม้อ อำเภอแม่ระมาด จังหวัดตาก

‘นะโป๊ะเชอ’ มีลูก 8 คน ในจำนวนนี้มี 3 คนที่เป็นโรคพิการทางสมอง คือ ‘คิลี้’ ลูกคนที่ 4 ‘เกะโพ’ ลูกคนที่ 7 และ ‘เก้วา’ ลูกคนสุดท้อง ปัญหาคือเมื่อลูกทั้งสามคนพิการทางสมองทำให้นะโป๊ะเชอไม่พาทั้งสามคนมาแจ้งเกิด จนปัจจุบันพวกเขากลายเป็นคนไร้ไร้สัญชาติ ในขณะที่แม่และพี่น้องคนอื่นๆ มีสัญชาติไทยกันหมด

ในกรณีนี้การแก้ไขปัญหาสัญชาติไม่ใช่เรื่องยาก เพราะหากพิสูจน์ได้ว่าทั้งสามคนเป็นลูกของนะโป๊ะเชอจริงก็จะได้รับการบันทึกว่าเป็นคนสัญชาติไทยทันที แต่สิ่งที่ยากคือครอบครัวของนะโป๊ะเชออาศัยในหมู่บ้านห่างไกลต้องอาศัยรถ ซึ่งก็มีแต่รถของร้านค้าซึ่งเข้าออกหมู่บ้านเพียงวันละเที่ยวในการโดยสารเข้าเมือง แต่ถ้าจะเดินทางด้วยตัวเองต้องใช้เวลาหลายวัน การพาลูกทั้งสามคนซึ่งช่วยเหลือตัวเองไม่ได้ไปแจ้งเกิดที่ที่ว่าการอำเภอแม่ระมาดจึงเป็นเรื่องที่หนักหนาสำหรับแม่วัยชรารายนี้

“สมัยก่อนจะไปที่อำเภอต้องใช้เวลาเป็นวัน ตอนนั้นไม่รู้หรอกว่าแจ้งเกิดไปทำไมรู้แค่ว่าต้องไปประทับหัวแม่มือที่อำเภอ แต่ลูกสามคนช่วยเหลือตัวเองไม่ได้ เลยตัดสินใจว่าไม่พาไปด้วยดีกว่า” นะโป๊ะเชอเล่าถึงความยากลำบากในการเดินทางของตัวเองให้ฟังผ่านล่ามชาวกะเหรี่ยงซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่สาธารณสุขของโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล

และไม่ใช่เพียงแค่ลูกสามคนเท่านั้น ในครอบครัวนี้ยังมีคนที่พิการทางสมองอีกหนึ่งคือลูกของเจ้ที ลูกสาวคนโตของนะโป๊ะเชอ แต่ด้วยความที่เจ้ทีแจ้งเกิดลูกของตัวเอง ทำให้ลูกของเธอได้สิทธิต่างๆ ครบถ้วนตามที่คนที่สัญชาติไทยพึงจะได้รับ ไม่ว่าจะเป็นการขึ้นทะเบียนคนพิการและบัตรประจำตัวคนพิการ

จากกรณีดังกล่าวเห็นได้ชัดว่าการมีสัญชาติไทยตามทะเบียนราษฎรกลายเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้คนพิการได้รับหรือไม่ได้รับสิทธิในสวัสดิการของรัฐ เหมือนครอบครัวของนะโป๊ะเชอที่มีคนพิการ 4 คนในครอบครัว แต่กลับได้รับสิทธิประโยชน์ไม่เท่ากันเพียงเพราะถูกบันทึกทะเบียนราษฎรต่างกัน

นอกจากนี้จะเห็นได้ว่าทั้งกรณีของน้องผักกาดและครอบครัวของนะโป๊ะเชอมีความเป็นไปได้สูงว่าทั้งหมดเป็นคนสัญชาติไทยแต่ถูกบันทึกว่าเป็นคนไร้สัญชาติ จนทำให้เสียสิทธิในสวัสดิการต่างๆ ที่รัฐจัดให้คนพิการ

ซึ่งเรื่องนี้ รศ.ดร.พันธุ์ทิพย์ ได้ลองเสนอทางออกที่น่าสนใจคือให้หน่วยงานที่มีหน้าที่ให้ความช่วยเหลือนั้น ควรจัดหานักกฎหมายที่สามารถกำหนดสัญชาติได้มาทำงานร่วมกัน แทนที่จะดูเอกสารของกรมการปกครองเพียงอย่างเดียว

“ตรงนี้ควรจะดูที่สัญชาติไม่ใช่ดูที่บัตรแล้ว กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ก็มีนักกฎหมายที่สามารถกำหนดสัญชาติได้ จึงไม่ควรเอาความล่าช้าของกรมการปกครองเป็นข้อจำกัดในการทำตามกฎหมายที่ตัวเองรับผิดชอบมาเป็นข้อจำกัดของคนพิการ เราต้องยอมรับว่า กรมการปกครองทำงานช้ามาก คนสัญชาติไทยจำนวนไม่น้อยยังถือว่าเป็นคนต่างด้าวในทะเบียนราษฎรไทย

"สำนักคนพิการ (สำนักงานส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการแห่งชาติ) ต้องเป็นตัวของตัวเอง แล้วนักกฎหมายที่กำหนดสัญชาติเป็นนั้นในประเทศไทยก็มี ถ้าไปเจอคนพิการที่น่าจะเป็นคนสัญชาติไทย สำนักคนพิการอาจต้องให้เงินสนับสนุนการพิสูจน์สัญชาติไทย การฟ้องคดีในศาลปกครองซึ่งกรณีนี้ถึงไม่อาจจะทำให้เขากลับมามองเห็นได้ แต่คุณภาพชีวิตจะดีขึ้นถ้ามีบัตรประชาชน การดูแลคนพิการต้องดูแลที่จะบรรเทาความยากลำบากด้วย ไม่ใช่ต้องไปซื้อไม้เท้าให้เขาหรือคิดแต่จะไปซื้อเครื่องช่วยฟังเพียงอย่างเดียว แต่ต้องเข้าไปดูแลเขา เพิ่มความช่วยเหลือให้รอบด้านมากขึ้นให้เขาอยู่ได้ในความพิการของเขา”

บัตรประจำตัวของคนไร้สัญชาติ

แก้สิทธิ-ขยายโอกาส สร้างศักดิ์ศรีของความเป็น ‘คน’

การแก้ปัญหาไม่ว่าจะเป็นการปรับนโยบายหรือการออกเงินช่วยเหลือเพื่อพิสูจน์สิทธิต่างๆ นั้นถือเป็นการแก้ไขปัญหาที่ได้ผลเพียงชั่วคราวเท่านั้น เพราะอุปสรรคสำคัญที่ทำให้คนเหล่านี้เข้าไม่ถึงสิทธิก็คือกฎหมาย

ชูศักดิ์ จันทยานนท์ นักกฎหมายและประธานมูลนิธิออทิสติกไทย ในฐานะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ เล่าให้ฟังถึงที่มาที่ไปของระเบียบคณะกรรมการส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการแห่งชาติว่าด้วยหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขการยื่นคำขอมีบัตรประจำตัวคนพิการฯ กำหนดให้คนที่จะขึ้นทะเบียนคนพิการต้องมีสัญชาติไทยว่าเกิดจากการที่ระบบราชการไทยต้องการความโปร่งใสในการจ่ายเงิน

“จริงๆ หน่วยราชการไทยก็อยากจะให้คนไร้สัญชาติด้วย แต่ว่างบประมาณเนี่ยเวลาจ่ายงบมันต้องมีว่าจ่ายให้กับใคร มันต้องมีเลข 13 หลัก ถ้าจ่ายผิดก็จะเกิดปัญหากับหน่วยงานของเขาเอง สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดินก็ต้องตรวจสอบ หน่วยงานก็จะมีปัญหาในการทำงาน นี่คือพื้นฐานของปัญหาเลย”

โดยชูศักดิ์เล่าประสบการณ์ของตัวเองหลังจากผ่านการทำงานกับหน่วยงานรัฐหลายแห่งว่า แต่กลุ่มจะมองทิศทางของปัญหาต่างกันไป หากเป็นสายปกครองจะมองว่าเรื่องความมั่นคงของรัฐเป็นหลัก และมองว่าคนไร้รัฐไม่ควรจะได้รับสิทธิอะไรมากมายนัก โดยเฉพาะเรื่องการเงิน ขณะที่สายนักพัฒนาจะมองต่างกันไป เพราะอย่างน้อยๆ ก็จะเห็นว่าคนไม่ว่าจะเป็นสัญชาติไทยหรือไร้รัฐก็ควรจะได้รับสิทธิพื้นฐานในการดำรงชีวิตของตัวเอง

“ผมนั่งประชุมกับหน่วยงานรัฐก็มีการถกกันว่าถ้าเป็นคนกลุ่มนี้สมควรได้รับสิทธิหรือไม่ คำตอบคือในเมื่อไม่ใช่คนไทยก็ไม่ต้องรับสิทธิ มันเป็นเงินภาษีขอคนไทยแต่ว่าเราก็อ้างหลักสิทธิมนุษยชนซึ่ง พ.ร.บ.การศึกษา ซึ่งเขียนไว้ค่อนข้างดีนะ เพราะไม่ระบุเรื่องความเป็นคนไทย แต่ พ.ร.บ.คนพิการระบุไว้เรื่องของบัตร ต้องเป็นคนพิการไทย อันนี้จริงๆ ตอนเขียนผมไม่ได้เขียนนะ เราก็ใช้หลักศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ แต่ว่าฝ่ายกระทรวงการคลังบอกว่าไม่ได้ถ้าไม่เขียนจะจ่ายงบประมาณไม่ได้ หน่วยงานก็จะทำงานลำบากและจะมีปัญหาเรื่องการทุจริตเพราะไม่มีหลักฐาน กระทรวงการคลังเลยบอกว่าต้องเขียน กฤษฎีกา (สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา) ก็เชื่อตามนั้น ผมก็เถียงไม่ออกก็ต้องปล่อยไปตามสภาพแต่ พ.ร.บ.ใหม่ที่ออกเมื่อปี 2556 ที่เราก็ได้แก้ไขเรื่องนี้เอาไว้แล้ว”

ขณะที่ รศ.ดร.พันธุ์ทิพย์ มองการแก้ไขปัญหาในระยะยาวควรมีการแก้กฎระเบียบ โดยเฉพาะส่วนที่เป็นการเลือกปฏิบัติออกไป ส่วนการให้ความดูแลในระดับที่แตกต่างกันระหว่างคนสัญชาติไทยกับคนต่างด้าวรวมถึงคนไร้สัญชาติก็เป็นสิ่งที่ยอมรับได้ หากเป็นไปอย่างถูกต้องเหมาะสมตามหลักมนุษยธรรม

“ในระยะยาวต้องแก้กฎหมายให้มันดี ระเบียบที่มันไปเลือกปฏิบัติด้วยเหตุของความเป็นสัญชาติไทยในทะเบียนราษฎรต้องเอาออก ประการที่ 2 เป็นไปได้ที่เราจะดูแลคนพิการต่างกัน คนที่มีสัญชาติไทยควรจะได้รับการดูแลดีที่สุดเพราะอย่างน้อยก็แปลว่ามีส่วนร่วมทางสังคมกับไทย คือเห็นด้วยที่คนสัญชาติไทยต้องดูแลที่สุดแต่ต้องดูที่กฎหมายสัญชาติไม่ใช่ไปดูที่ทะเบียนราษฎร คนต่างชาติที่มีส่วนร่วมทางสังคมกับประเทศไทยก็ควรได้รับสวัสดิการคนพิการเท่าคนไทยเพราะการจ่ายภาษีไม่ได้ขึ้นกับสัญชาติอย่างเดียวมันขึ้นกับว่าใครมีเงินได้ในประเทศไทยด้วย เช่นอาจกำหนดว่าถ้าทำงานในไทยอาศัยในไทยเกินกว่า 10 ปี ถ้ามีคนใดในครอบครัวหรือตัวเองตกเป็นคนพิการก็จะได้สวัสดิการคนพิการเกรดเอ อาจมีเกรดบีคือเกรดของคนซึ่งพึ่งเข้ามาแล้วเราต้องดูแลเพราะปัญหามนุษยธรรมอันนี้ก็เป็นสิ่งพื้นฐานที่สุดที่เขาจะอยู่ได้ท่ามกลางความพิการของเขา"

ส่วนเรื่องการศึกษา ซึ่งถือเป็นหัวใจของการพัฒนาศักยภาพชีวิตมนุษย์นั้น ก็อย่างชูศักดิ์กล่าวไว้ข้างต้นว่า มีปัญหาน้อยกว่าการเข้าถึงกระบวนการสาธารณสุขยิ่งนัก เพราะปัจจุบันมีการนำงบจากค่าใช้จ่ายรายหัวของเด็กสัญชาติไทยที่ได้รับจากจากกระทรวงศึกษาธิการมาเฉลี่ยใช้กับเด็กไร้สัญชาติในโรงเรียนซึ่งมีเด็กไร้สัญชาติ เพียงแต่อาจจะยังไม่ครอบคลุมความต้องการสำหรับเด็กทั้งหมด โดยเฉพาะเด็กพิการที่ต้องการอุปกรณ์ความช่วยเหลือมากกว่าเด็กทั่วไป

“ในสถานศึกษาที่ทำมาตั้งแต่ปี 2540 ก็คือแม้ว่าเด็กไม่มีสัญชาติเขาก็ให้การศึกษาเพราะว่ามันเกลี่ยกับค่าศึกษารายหัวปกติ ได้ อันนี้เด็กพิการก็ได้รับไปด้วย แต่ว่าพอจะทำแผนการสอน หรือจะให้คูปองสำหรับคนพิการ เด็กกลุ่มนี้ก็จะไม่ได้ ส่วนเรื่องสังคมอื่นๆ นี้ไม่ต้องพูดถึงเลย เช่นเรื่องเบี้ยคนพิการไม่ได้แน่นอน สวัสดิการอื่นๆ ก็แทบจะไม่มี แต่ในเรื่องสวัสดิการทางสังคม ทางรัฐไม่ได้เลือกปฏิบัตินะ พูดง่ายๆ คือเขายินดีจ่ายให้สำหรับบางอย่างไม่ต้องใช้บัตรประจำตัวคนพิการแต่บางอย่างที่ต้องใช้บัตรก็ให้ไม่ได้”

และอีกหนึ่งหนึ่งที่ยังคงเป็นปัญหาคาราคาซังถึงทุกวันนี้ ก็คือเรื่องอาชีพ โดยปัจจุบันกฎหมายแรงงาน กำหนดให้คนซึ่งไม่มีสัญชาติไทยหรือคนต่างด้าวสามารถประกอบอาชีพได้เพียง 27 อาชีพ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นอาชีพใช้แรงงานและช่างฝีมือ และที่ผ่านมาหากลองเทียบระหว่างคนไร้สัญชาติกับคนต่างด้าวแล้ว พบว่าคนต่างด้าวมีสิทธิเข้าถึงงานมากกว่าคนไร้สัญชาติ ซึ่งบางคนก็เกิด เติบโต และเรียนหนังสือในเมืองไทยเสียอีก

“ทางออกของเรื่องนี้ก็คือการทำนโยบายให้ชัดเจน แรงงานต่างด้าวเรายังมีได้เลย ทำไมแรงงานพิการไร้สัญชาติเราจะทำไม่ได้ เพียงแต่ใครจะเริ่ม ซึ่งตามความเห็นผม เรื่องค่าแรงอาจจะเท่ากัน เพราะเขาใช้แรงงานเหมือนกัน ไม่ใช่บอกคนนี้แล้วไร้แล้วจะราคาพิเศษ ทุกวันนี้สิ่งหนึ่งที่เขากลัวคือไม่มีฐานอำนาจในการทำ เพราะว่ามันว่าเกี่ยวพันกับหลายเรื่องมาก ถ้าจะทำก็ต้องแยกเฉพาะกรณีให้ดี โดยเราอาจจะเปิดให้คนไร้สัญชาติที่มีถิ่นพักอาศัยอยู่ในประเทศไทย เติบโตในเมืองไทยเคยรับสิทธิมากมายพอสมควร เราก็ให้โอกาสเขามีอาชีพพึงตัวเองได้”

ทว่า การแก้ไขกฎหมายอย่างเดียวคงไม่สามารถขจัดปัญหาได้หมด เพราะประเด็นหนึ่งที่ทั้งชูศักดิ์และ รศ.ดร.พันธุ์ทิพย์มองว่าน่าจะช่วยทำให้เรื่องนี้สำเร็จลุล่วงได้ก็คือ การนำเงินจากกองทุนส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ ซึ่งปัจจุบันมีเงินสูงถึงระดับ 5-6 พันล้านบาทแล้ว เข้ามาช่วยเหลือ แต่เรื่องที่หนักกว่าคือจะเข้าถึงกองทุนฯ อย่างไรไม่ให้มีปัญหาตามมา เพราะกองทุนฯ ในปัจจุบันไม่ได้เป็นเงินของภาครัฐ

“การให้ความช่วยเหลือคนพิการที่มีสัญชาติไทยกับคนไร้สัญชาติ ถึงอย่างไรก็ไม่สามารถให้เท่ากันได้เพราะถ้าเท่ามันจะต้องใช้งบประมาณจำนวนมาก แล้วในเชิงนโยบายก็ไม่สามารถให้ได้อยู่แล้ว แต่เราสามารถให้ได้ในสิ่งที่จำเป็นต้องเท่าเทียมกัน จริงๆ ถ้าจะเอาเงินกองทุนฯ ไปแก้ปัญหา ก็ต้องทำแบบสมควรแก่เหตุ โดยเฉพาะเรื่องความเป็นมนุษย์ อะไรที่เป็นบริการที่จำเป็นก็ควรจะให้เขา อาจไม่ต้องถึงขั้นให้บริการที่เป็นประชานิยม เช่นเบี้ยคนพิการ เพราะมันอาจจะเกินความจำเป็นไป แต่อะไรที่ทำให้เขาอยู่รอดก็ควรจะจัดให้เขา เช่นประกันสุขภาพ อุปกรณ์เครื่องอำนวยความสะดวก ไม่อย่างนั้นเขาก็เดินไม่ได้ เรื่องอะไรต่างๆ ที่ทำให้เขามีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นอีกระดับหนึ่ง ควรจะให้ที่เป็นพื้นฐาน” ประธานมูลนิธิออทิสติกไทยขยายความ

“ตอนนี้ผมคิดว่าไม่ยากหรอกก็แค่ทำเป็นเกณฑ์ออกมา แค่มีมติก็ทำได้แล้ว ขอให้กระทรวงการคลัง สำนักงบประมาณยอมรับเรื่องนี้ เพราะกองทุนคนพิการไม่ใช่เงินรัฐบาลมันเป็นเงินที่ไปเก็บกับนายจ้างมา แล้วกฎหมายก็ให้อำนาจกรรมการอยู่แล้ว ซึ่งกรรมการก็มีสองประเภทก็คือผู้แทนของหน่วยงานราชการกับประเภทที่เป็นผู้แทนองค์กรคนพิการ ผู้แทนองค์กรนั้นบางคนก็ยังล้าสมัยอยู่ แต่ก็มีแค่เปอร์เซ็นต์เดียวที่เหลือก็ก้าวหน้าหมด แต่พวกราชการก็ยังมีที่ยึดอำนาจนิยมอยู่ มองเรื่องกติกาอยู่ อันนี้อันที่จริงทำได้เลยถ้าเราจะช่วยกันทำเรื่องนี้”

และอีกประเด็นที่สำคัญมากที่สุด ซึ่งชูศักดิ์บอกว่าเป็นปัญหาของประเทศไทยมานานแสนนาน คือข้อมูลที่ถูกต้อง เพราะที่ผ่านมาการสำรวจ โดยเฉพาะจำนวนในบ้านเรามีปัญหาอย่างมาก ทำให้การแก้ไขปัญหาไม่ได้สำเร็จเท่าที่ควร เพราะฉะนั้นตอนนี้ถึงเวลาแล้วที่บ้านเราจะสร้างฐานข้อมูลต่างๆ ขึ้น และไม่ใช่เพียงแค่คนพิการ หรือคนไร้รัฐเท่านั้น แต่ต้องทำทุกเรื่อง เพื่อให้การแก้ไขปัญหาเป็นไปอย่างมีระบบ และหน่วยงานต่างๆ จะได้เข้าถึงข้อมูลได้ เพือให้เกิดบูรณาการระหว่างภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคสังคมจริงๆ เสียที

ทฤษฎีความคุ้มค่าในโลกคนไร้รัฐ

อย่างไรก็ตาม โจทย์หนึ่งที่ทำให้คนจำนวนมากคิดและเป็นกังวลมากที่สุดอย่างหนึ่ง ก็คือความคุ้มค่าที่ภาครัฐจะต้องลงทุน และลงงบประมาณเพื่อให้คนไร้รัฐได้รับสิทธิในการดำรงชีวิต เพื่อทำให้เห็นภาพชัดเจน ดร.นพ.พงศธร พอกเพิ่มดี นักวิชาการด้านเศรษฐศาสตร์สาธารณสุข เสนอแนวทางจัดการปัญหาหลักประกันด้านสาธารณสุขว่า ก่อนอื่นควรจะแบ่งแยกคนไร้รัฐออกเป็นกลุ่ม เพราะแต่ละกลุ่มก็จะมีขอบเขต เงื่อนไขและความคุ้มครองที่แตกต่างกัน

“ถามว่าคนไร้สัญชาติกับคนไทยต่างกันยังไง คนไทยเองยังต่างกันเลยมีตั้งสามกองทุน คนไร้สัญชาติก็ต้องถามว่ากลุ่มไหน คนไร้สัญชาติมีตั้งหลายกลุ่ม มีบุคคลที่กำลังรอพิสูจน์สิทธิก็กลุ่มหนึ่ง ประมาณ 400,000-500,000 คนที่กระทรวงสาธารณสุขบริหารอยู่ กลุ่มที่ไม่มีเลขอะไรเลยก็กลุ่มหนึ่ง ก็ต้องเจาะจงว่ากลุ่มไหน หากเป็นกลุ่มต่างด้าวที่มีตัวตน เป็นพม่า ลาว กัมพูชามีสัญชาติระบุชัดเจนก็ทำให้มันถูกต้องแค่นั้นเอง ทำให้มันได้รับการป้องกันที่เรียบร้อยก็จบ คนที่ได้ประโยชน์จากเขาเช่นนายจ้างก็ต้องจ่ายหรือตัวเขาเองก็ต้องจ่าย อีกกลุ่มหนึ่งคือกลุ่มคนที่รอพิสูจน์สัญชาติไทย ตรงนี้อยู่ที่ว่าเราตั้งโจทย์ยังไง ถ้าตั้งโจทย์ว่าคนเหล่านี้คือคนไทยแต่ว่ารอพิสูจน์ซึ่งเมื่อพิสูจน์ก็จะได้เป็นคนไทยทั้งหมด ก็ควรได้สิทธิเหมือนคนไทยเพราะอยู่ระหว่างรอ คนกลุ่มนี้เขารอระบบราชการในการพิสูจน์ ถ้าพูดถึงสิทธิมนุษยชนเขาก็ต้องได้ ส่วนกลุ่มที่สามคือกลุ่มที่ยังไม่รู้อะไรเลย ซึ่งถามว่าจะเท่าคนไทยหรือไม่ก็บอกยากเพราะเขาไม่ใช่คนไทย”

การแบ่งประเภทคนนี้ทำให้ง่ายต่อการวางแผนและการบริหารจัดการในอนาคต และยังทำให้คนอีกจำนวนหนึ่งสามารถเข้าถึงสิทธิที่พึงจะได้ได้รวดเร็วขึ้น แต่ทั้งนี้ก็ไม่ได้หมายความรัฐจะละเลยกลุ่มคนที่พิสูจน์อะไรไม่ได้ เพราะสุดท้ายแล้ว หากรัฐไม่ดำเนินการอะไรเลย ผลกระทบก็จะตกอยู่กับคนไทย เพราะสุดท้ายคนเหล่านี้ก็คือภาระของประเทศไม่ทางตรงก็ทางอ้อม โดยเขายกตัวอย่างเหตุการณ์โรคคอตีบระบาด เมื่อปี 2556 เพื่ออธิบายความคุ้มทุนในการดูแลสุขภาพของคนต่างด้าวรวมกึงคนไร้สัญชาติที่อาศัยในประเทศไทย โดยมองว่าหากไม่มีการดูแลด้านสุขภาพที่ได้มาตรฐานให้กับคนกลุ่มนี้ ปัญหาที่ตามมาจะส่งผลกระทบต่อคนไทยอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้และเมื่อถึงเวลานั้นรัฐอาจต้องใช้งบประมาณในการรักษามากกว่างบที่ใช้ในการป้องกันหลายเท่า

“ถ้าย้อนกลับไปเมื่อสองปีที่แล้วเป็นตัวอย่างชัดเจนที่เกิดโรคคอคีบในเมืองไทยแต่คนไม่ค่อยรู้ แล้วก็เป็นที่มาว่าปีนี้คนไทยทุกคนต้องฉีดกระตุ้นวัคซีนโรคคอตีบทั้งประเทศ ปีนี้กำลังเริ่ม อันนี้ก็ชี้ให้เห็นถึงประเทศไทยในอดีตที่ไม่ค่อยมีการเคลื่อนไหวของแรงงานระหว่างประเทศ ประกอบกับคนไทยได้รับวัคซีนที่ดีโรคนี้ก็เลยหายไป แล้วอยู่ดีๆ เมื่อมันระบาดขึ้นมา เราก็สันนิษฐานว่าเกิดจากประเทศเพื่อนบ้านที่นำเข้ามาซึ่งบังเอิญไทยไม่มีนโยบายกระตุ้นวัคซีนหลังจากสิบปี ภูมิคุ้มกันจึงลดลงทั้งประเทศ ก็เลยเหมือนเป็นพื้นที่ที่สะอาด พอมีคนมาปล่อยก็กระจายอย่างรวดเร็ว

“ถ้าเราให้บริการด้านสุขภาพกับคนต่างด้าวที่เข้ามาในประเทศไทยในระดับที่ควรจะเป็น เหตุการณ์แบบนี้มันก็คงไม่เกิด ซึ่งมันก็ต้องจัดการทั้งระบบให้เป็นมาตรฐานเลยว่าคนกลุ่มนี้ต้องได้รับอะไร เหมือนเวลาเราไปต่างประเทศ เข้าประเทศนี้เขาจะถามเลยว่าคุณต้องได้รับอะไรบ้าง ก็ต้องจัดระบบกันใหม่หมด อยู่ที่จะจัดกันแบบไหน การลงทุนพวกนี้มันดีกว่าที่เรามารอแก้ปัญหา เหมือนอย่างเช่นวัณโรค เท้าช้าง เอดส์ ถ้าจัดการให้ดีมันก็แพร่สู่คนไทยน้อยลง ผมคิดว่าคงต้องจัดการอย่างนี้”

....................

แม้หลายชาติจะออกมาชื่นชมว่ากฎหมายคนพิการของเมืองไทยจะก้าวหน้ากว่าหลายๆ ประเทศ แต่ถ้าลองเทียบกับอนุสัญญาว่าด้วยสิทธิคนพิการ ของสหประชาชาติแล้ว ก็ยังมีอีกหลายประเด็นที่ยังเป็นปัญหาอยู่ แน่นอนเรื่องพวกนี้คงจะโทษว่าเป็นความผิดของกฎหมายหมดก็คงไม่ได้ เพราะกลไกหลักนั้นอยู่ที่คนซึ่งเป็นผู้บังคับใช้กฎหมายว่ามีแนวคิดเช่นใด หากเขาผู้นั้นตระหนักและรับรู้ว่ามนุษย์ทุกคนไม่ว่าจะถือสัญชาติใดๆ ก็ตามควรจะมีสิทธิการเข้าถึงบริการต่างๆ ขั้นพื้นฐานเพื่อให้สามารถดำรงชีวิตต่อไปได้ ปัญหาเหล่านี้ก็คงไม่เกิดขึ้น หรือหากเกิดขึ้นก็คงจะพอเยียวยาให้แผลนั้นทุเลาและไม่ลุกลามต่อไปได้ เพราะต้องไม่ลืมว่า ปัญหาของมนุษย์ย่อมเกี่ยวพันกันไปหมด

อย่างเรื่องไร้รัฐถือเป็นตัวอย่างที่ดี เพราะว่ามันไม่ใช่แค่เรื่องของความมั่นคงเท่านั้น หากแต่ยังโยงไปถึงระบบสาธารณสุข เศรษฐกิจ สังคม การศึกษาและอื่นๆ อีกมากมาย และที่สำคัญนี่ยังเป็นเครื่องมืออย่างหนึ่งในการวัดคุณภาพและการจัดการปัญหาของประเทศนั้นๆ ว่าเป็นเช่นใดด้วย

 

เรื่องและภาพเผยแพร่ครั้งแรกที่
‘คนพิการไร้สัญชาติ’ ความทับซ้อนแห่งวังวนปัญหาเรื่อง ‘สิทธิ’

เขียนโดย
อาทิตย์ โชติสัจจานันท์