Skip to main content

นายกรัฐมนตรีอินเดียสั่งหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง สร้างห้องน้ำแบบยูนิเซ็กส์สำหรับคนพิการในแต่ละบล็อกที่อยู่อาศัย ภายใต้การขับเคลื่อนของแคมเปญ Swachh Bharat Mission ของรัฐบาล ที่ออกมาตรการเพื่อสนับสนุนให้เกิดสุขอนามัยที่ดีในเมืองต่างๆ อย่างเร่งด่วน ล้อกับการผลักดันประเด็นการเข้าถึงสถานที่และสิ่งอำนวยความสะดวกต่างๆ สำหรับคนพิการในประเทศอินเดีย


ภาพ นลัทพร ไกรฤกษ์

“ห้องน้ำ” เป็นอีกหนึ่งสถานที่ที่มีความจำเป็นมากในชีวิตทุกคน ดังจะเห็นจากไม่ว่าบ้านเรือน ที่พักอาศัย หรืออาคารสถานที่ใดที่เป็นสิ่งปลูกสร้าง จำเป็นจะต้องมีห้องน้ำอยู่ด้วยทุกแห่ง อย่างไรก็ดี “ห้องน้ำสำหรับคนพิการ” ที่คนพิการสามารถใช้งานได้จริงนั้น ยังคงเป็นนโยบายที่ไม่ค่อยได้รับการใส่ใจในทางปฏิบัติ

นายกรัฐมนตรีนเรนทรา โมดี ออกคำสั่งให้ทุกกระทรวงและทุกรัฐใต้การปกครองสร้างห้องน้ำยูนิเซ็กส์ ห้องน้ำที่สามารถใช้งานได้ไม่ว่าจะเป็นเพศใดก็ตาม เพื่อให้มีความเหมาะสมต่อการใช้งานเพียงพอในแต่ละบล็อกหรือเขตที่อยู่อาศัยของประชากร มาตรการนี้อยู่ภายใต้การดูแลของทีมงานจัดการแคมเปญ Swachh Bharat Mission ซึ่งทำเพื่ออำนวยความสะดวกให้แก่คนพิการโดยเฉพาะ เพราะหากเป็นห้องน้ำปกติ คนพิการก็จะเข้าไม่ถึง และไม่มีสิ่งอำนวยความสะดวกและการช่วยเหลือต่างๆ เช่น พื้นที่ขนาดใหญ่ให้วีลแชร์เข็นเข้าไปในห้องน้ำได้ ฯลฯ

ห้องน้ำยูนิเซ็กส์นี้ ได้รับการสนับสนุนจากศูนย์สนับสนุนและพัฒนาศักยภาพคนพิการซึ่งได้รับคำสั่งให้ลงพื้นที่ตรวจสอบโดยตรง ประกอบไปด้วยเจ้าหน้าที่อาวุโสตรวจสอบความเป็นไปได้ในการใช้งานจริงสำหรับคนพิการว่ามีความยากลำบากในการเข้าถึงหรือไม่

จากผลการสำรวจจำนวนประชากรในปี 2554 ประเทศอินเดียมีประชากรพิการราว 26.8 ล้านคน ในที่นี้หมายรวมถึงการมีคนพิการ 4.1 ล้านคนในรัฐอุตตรประเทศ (Uttar Pradesh) 3 ล้านคนในรัฐมหาราษฏระ (Maharashtra) และ 2.3 ล้านคนในรัฐพิหาร (Bihar)

นอกจากนี้นายกรัฐมนตรีนเรนทรายังได้สั่งการลงไป เน้นย้ำให้ แผนการเข้าถึงสิ่งอำนวยความสะดวกสำหรับคนพิการในประเทศอินเดียต้องเสร็จสมบูรณ์ให้ได้ ทั้งนี้ รวมไปถึงความร่วมมือจากกระทรวงต่างๆ ในการสร้าง ออกแบบ หรือต่อเติมสำนักงาน ระบบขนส่ง การทำเว็บไซต์หน่วยงานต่างๆ ของรัฐบาล และระบบต่างๆ ที่คนพิการจะต้องสามารถเข้าถึงได้

ตามที่ได้มีการลงพื้นที่สำรวจและทดสอบหลายๆระบบที่ผ่านมา นายกรัฐมนตรีได้ตั้งคำถามว่า ทำไมเว็บไซต์ของหน่วยงานรัฐบาลจึงไม่รองรับการเข้าถึงของคนพิการ และกำชับว่า สิ่งที่เกิดขึ้นควรได้รับการปรับปรุงให้เร็วที่สุด

อย่างไรก็ดี ในเดือนพ.ค. The Economic Times (ET) หนังสือพิมพ์รายวันฉบับภาษาอังกฤษในประเทศอินเดียได้รายงานความล้มเหลวในมาตรการดังกล่าว ที่เกิดขึ้นเบื้องหลังเป้าหมายในหลายรัฐ หลังจากที่นายกรัฐมนตรีนเรนทรา ได้ปล่อยโครงการนี้ออกมาตั้งแต่เมื่อวันที่ 3 ธ.ค.2558 โดยหนังสือพิมพ์ฉบับดังกล่าวรายงานว่า จากตึกของรัฐบาลทั้งหมด 1662 แห่ง ในกว่า 50 เมือง ที่ควรได้รับการปรับปรุงให้มีการเข้าถึงได้สำหรับคนพิการ มีเพียง 647 แห่งที่มีการส่งโครงการเสนอการแก้ไข  เท่ากับว่ามีเมืองต่างๆ 12 เมืองที่ไม่ยอมส่งแผนโครงการในการพัฒนาตามมาตรการของรัฐบาล ทั้งนี้ ศูนย์สนับสนุนคนพิการมีแผนมอบเงินทุนสมทบการก่อสร้างเพิ่มเติมให้กับอาคารทั้งหลายเหล่านั้นด้วย เพียงแต่หน่วยงานที่รับผิดชอบอาคารเหล่านั้นต้องส่งแผนงานโครงการการก่อสร้างให้กับภาครัฐก่อน

ตัวอย่างของความสำคัญของห้องน้ำสำคนพิการเกิดขึ้นในประเทศอังกฤษ ทาชา กอลล็อบ และคริส อัลเดอร์แมนแฟนหนุ่มของเธอ คู่รักชาวอังกฤษซึ่งพิการด้วยโรคซีริบรัล เพาร์ซี หรือโรคสมองพิการ จากข้อจำกัดทางร่างกายทำให้ทั้งสองคนต้องใช้วีลแชร์ ทั้งคู่ไปบริการอาหารฟาสฟู้ดจากร้านแมคโดนัลด์ในเมืองคอร์นฮิล มณฑลลินคอล์นเชอร์ ประเทศอังกฤษ และเข้าห้องน้ำภายในร้านอาหาร เนื่องจากทาชาเดินไม่ได้เลยแต่คริสยังพอเดินได้ในระยะที่ไม่ไกลมากนัก คริสจึงจำเป็นต้องช่วยทาชาระหว่างทำธุระในห้องน้ำ และใช้เวลาในนั้นราว 15 นาที

ระหว่างนั้นกลุ่มเด็กสาวนอกห้องน้ำ เริ่มส่งเสียงข่มขู่แพราะคนข้างในใช้เวลาในห้องน้ำนาน หญิงสาวกลุ่มนั้นทั้งเตะประตูห้องน้ำ และด่าทอทาชาด้วยคำพูดที่หยาบคาย เพราะทาชาและคริสใช้เวลาในห้องน้ำนานเกินไป

จากกรณีดังกล่าว ทำให้เห็นว่า การจัดโซนที่เหมาะสมสำหรับห้องน้ำคนพิการเป็นอีกหนึ่งสิ่งสำคัญที่คนออกแบบพื้นที่ที่คนพิการสามารถเข้าถึงได้ควรพิจารณาเป็นอันดับต้นๆ เพราะอาจไม่ใช่ทุกคนที่เข้าใจว่า ”ทำไมคนพิการถึงใช้ห้องน้ำนาน” “ทำไมพวกเขาต้องรอคนพิการที่ใช้ห้องน้ำนาน” หรือ “ทำไมพวกเขาต้องแบ่งปันพื้นที่ร่วมกันกับคนอื่นๆ ที่มีความแต่กต่างอย่างหลากหลายในสังคม”

 

แปลและเรียบเรียงจาก

https://timesofindia.indiatimes.com/india/build-unisex-toilets-for-the-disabled-pm-narendra-modi/articleshow/60935671.cms

https://www.thesun.co.uk/news/4567764/disabled-woman-branded-a-fat-slag-in-mcdonald-after-customers-raged-at-how-long-she-took-to-help-her-cerebral-palsy-sufferer-boyfriend-go-to-the-loo/