Skip to main content

ว่ากันว่า ‘มนุษย์เป็นสัตว์ประเสริฐ’ และมนุษย์ที่เกิดตามกันมาก็บอกต่อสิ่งเหล่านี้ แถมหยิบยกสิ่งต่าง ๆ มาอธิบายว่าตัวเองเหนือกว่าสัตว์ชนิดอื่นอย่างไรบ้าง

หากไม่ใช่แค่กับสัตว์ชนิดอื่นหรอกที่มนุษย์พยายามจะเหนือกว่า เพราะบางคนก็ทำทุกวิถีทาง เพื่อให้เหนือกว่ามนุษย์ด้วยกันเอง จนบางครั้งมนุษย์ที่แตกต่างในด้านใดด้านหนึ่ง ก็ถูกทำให้ด้อยกว่าไปโดยปริยาย


ภาพ ชนากานต์ ตระกูลสุนทรชัย

- ความ (ผิดปกติ) ของการศึกษาพิเศษ -

สมมติว่าด้วยพันธุกรรม ความเจ็บป่วย อุบัติเหตุ หรืออะไรสักอย่างก็แล้วแต่ในวัยเด็กทำให้คุณไม่มีอวัยวะบางส่วน หรือมีแต่ทำหน้าที่ไม่ได้เหมือนคนส่วนใหญ่ คุณก็จะถูกทำให้กลายเป็นคนพิการแล้วต่อมาหลังจากนั้นก็มีคนจำนวนหนึ่งถกเถียง แลกเปลี่ยนกันว่าควรเรียกคุณว่าอะไรดี

บ้างว่าเรียกเด็กพิการ เด็กที่มีความบกพร่องทางร่างกาย เด็กที่มีความสามารถแตกต่างและอีกหลายชื่อที่มีคนคิดไว้ให้คุณ เพื่อหวังจะคืนความเป็นคนให้กับคุณ ราวกับว่า ‘ความพิการ’ ได้ลดทอนความเป็นคนของคุณไปเรียบร้อยแล้ว

และเท่าที่ฉันรู้ ไม่ว่าคุณจะถูกเรียกว่าอะไรในคำหนึ่งคำใดนั้น โอกาสทางการศึกษาก็จะน้อยลงด้วย

แต่ใช่ว่าคุณจะโดดเดี่ยวหรอกเพราะเมื่อดูจากรายงานสถานการณ์คนพิการ กรมส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ พบว่า เดือนธันวาคม ปี 2559 ยังมีเด็กกลุ่มเดียวกับคุณที่อายุถึงเกณฑ์ แต่ยังไม่ได้รับการศึกษาอีกกว่าห้าแสนกว่าคน

ทั้งเกินครึ่งหนึ่งของเด็กกลุ่มนี้ได้รับการศึกษามากสุดเพียงชั้นประถมศึกษา และมีอยู่แค่หนึ่งเปอร์เซ็นต์เศษ ๆ ที่ได้เรียนต่อในระดับปริญญา

ถึงอย่างนั้น คุณคงไม่แปลกใจมากหรอกว่าทำไมถึงเป็นแบบนี้ เพราะแม้จะมีศูนย์การศึกษาพิเศษประจำอยู่ทุกจังหวัด แต่ก็มีโรงเรียนเฉพาะความพิการเพียงสี่สิบหกแห่งทั่วประเทศ

หลักสูตรการศึกษาขึ้นพื้นฐานเองก็ใช่ออกแบบมาโดยคำนึงถึงคุณ ครูที่มีความเชี่ยวชาญด้านเด็กพิการก็ใช่จะเพียงพอ สถานที่ สภาพแวดล้อมก็ใช่ว่าจะเอื้ออำนวยต่อคุณ

ก็นั่นแหละ ต่อมาหลังจากนั้นก็มีคนจำนวนหนึ่งถกเถียง แลกเปลี่ยนไปจนถึงเรียกร้องให้คุณได้รับการศึกษาที่มีคุณภาพเท่าเทียมกับคนทั่วไป

บางคนที่รู้จักคุณดีก็ว่าเดี๋ยวนี้มันดีขึ้นกว่าเมื่อก่อน หากไม่แน่ใจว่ามันจะดีขึ้นไปอีกได้จริงหรือไม่

 

- ทักทายความเงียบ -

มีเด็กนักเรียนชายวัยสิบแปดปีคนหนึ่งตัดสินใจไม่มีความรักแบบหนุ่มสาวอีกหลังดูโฆษณาไทยประกันชีวิตจบ เขาว่า ถ้ามีแฟนต่อไปก็ต้องมีลูก แล้วถ้าวันนั้นมาถึง เขาไม่อยากเห็นลูกเสียใจที่มีเขาเป็นพ่อ

หลายล้านยอดคนดูโฆษณาไทยประกันชีวิตตัวนั้นในยู-ทูป พอบอกได้ว่า สังคมส่วนหนึ่งรับรู้ถึงพล็อตเรื่องที่เด็กนักเรียนหญิงถูกเพื่อนล้อว่าเป็นลูกไอ้ใบ้ บนโต๊ะอาหารในวันเกิดของเธอที่พ่อเตรียมเค้กและนั่งซ้อมภาษามือ เพื่อขอโทษที่ตัวเองเกิดมาหูหนวกแต่ก็รักลูกมากที่สุดนั้น เธอกลับทำร้ายตัวเองอยู่ในห้อง

ภาพตัดไปฉากที่พ่อรีบลุกขึ้นจากเก้าอี้ใช้ตัวกระแทกประตูห้องเข้าไปช่วย อุ้มร่างลูกสาวในสภาพหมดสติส่งโรงพยาบาลแล้วลูกสาวก็ลืมตาขึ้นมาบนเตียง และเอื้อมมือไปจับมือพ่อที่นอนให้เลือดอยู่เตียงข้าง ๆ

มีเสียงพูดแทรกเข้ามาปิดท้ายว่าบางทีอาจจะไม่มีพ่อที่ดีที่สุด แต่มีพ่อที่รักคุณมากที่สุด ทำคนดูน้ำตาซึม ส่วนในความซึ้งนั้นอาจไม่มีใครสักคนเลยที่รับรู้ว่าบางตอนในโฆษณาอย่าง

“หนูอยากได้พ่อที่ดีกว่านี้ พ่อที่ไม่เป็นใบ้ พ่อที่เหมือนคนอื่น พ่อที่ได้ยินในสิ่งที่หนูอยากบอก พ่อพูดที่ได้แล้วก็เข้าใจหนูได้”

ทำให้เขาคนนี้ตัดสินใจแบบนั้น ไม่ใช่เพราะมีประวัติเสียหายชวนลูกตัวเองเสียใจอะไรหรอก จะว่าชวนดีใจเลยก็ได้ด้วยซ้ำ ก็เกิดมาแล้วได้เป็นหลานครูอาจารย์ เป็นลูกอดีตนักเรียนดีเด่นของโรงเรียนอย่างเขา

หากไม่ติดตรงที่เขาไม่ได้ยินเหมือนพ่อในโฆษณา

ทันทีที่ฉันเข้าไปยังโรงเรียนเศรษฐเสถียร ในพระราชูปถัมภ์ ซึ่งเดิมเป็นหน่วยทดลองสอนคนหูหนวกแห่งแรกของประเทศไทยที่นักเรียนชายวัยสิบแปดคนนี้เรียนอยู่ก็คล้ายกำลังดูโทรทัศน์ แต่ลืมกดปุ่มเปิดเสียง หรือถ้ามีเสียงก็มีคลื่นแทรก

นักเรียนราวสองร้อยคนที่นี่ตั้งแต่ชั้นอนุบาลถึงมัธยมปลายใช้ภาษามือคุยกัน แม้มีเสียงพูดออกมาบ้างก็ฟังออกไม่ชัดเป็นคำ ๆ

ฉันคุยกับเขา--ฟร้องซ์ สุวัชร เอื้อไพบูลย์ โดยมีครูปอย ศศิชณา ดิษฐเจริญ ครูสอนศิลปะที่เขาสนิทด้วยมากที่สุดคอยแปลภาษาพูดของฉันเป็นภาษามือให้เขา และแปลภาษามือของเขาเป็นภาษาพูดให้ฉัน

บางตอนเขาเหมือนจะเข้าใจในสิ่งที่ฉันพูดก่อนครูปอยจะแปลพูดเป็นภาษามือ เพราะเดาคำจากรูปปากของคู่สนทนาที่ขยับไม่เร็วมากจนเกินไปได้อยู่บ้าง

“เรียนที่นี่เป็นอย่างไรบ้าง” นี่คือคำถามแรกจากฉันก่อนเราจะคุยกันไปเรื่อย ๆ

“ดีครับ”

เขาตอบก่อนถูกครูปอยแซวว่าแปลกที่วันนี้พูดน้อย

“ที่นี่สอนดีมากเลยครับ ผมเรียนที่นี่มาตั้งแต่อนุบาลแล้วครับ สนุกมาก ๆ เลยครับ มีเพื่อน ๆ หูหนวกมากมาย”

เขาตอบเพิ่มแก้เขิน

ครูปอยบอกฉันด้วยว่าภาษาของคนหูหนวกค่อนไปทางห้วน และถ้าจะเขียนคุยกัน อยากให้เข้าใจว่าคนหูหนวกชอบเขียนกลับคำหน้าหลัง

“ผมไม่สามารถสื่อสารให้คนหูดีเข้าใจผมได้ ผมจึงคิดว่าจะทำอย่างไรเพื่อให้คนหูดีเข้าใจในสิ่งที่ผมกำลังจะสื่อสารออกไป ผมจึงคิดว่าเราต้องเขียนสื่อสารกัน ผมก็เลยฝึกเขียน เพื่อให้คนหูดีเข้าใจว่าผมว่าอยากจะสื่อสารอะไร แต่ภาษาไทยมันเป็นคำเขียนที่ยากมากเลยครับ เวลาผมเขียนอะไรมันมักจะสลับกัน ผมก็เลยคิดว่าต้องอ่านหนังสือก่อนแล้วค่อยมาเขียนใหม่ แต่พอเอาคำมาเรียงกันมันก็ไม่เหมือนในหนังสือเลย ผมมักเรียบเรียงคำในประโยคผิดอยู่บ่อย ๆ ครับ”

ฟร้องซ์คุยกับพ่อ แม่ น้องชายและคนทั่วไปด้วยท่าทางเลียนแบบพฤติกรรมต่าง ๆ ในชีวิตประจำวัน ถ้าคุยกันไม่รู้เรื่องก็จะเขียนลงกระดาษ ไม่ก็พิมพ์ลงมือถือแล้วยื่นให้อีกคนดู

“ผมก็อยากคุยกับพ่อแม่มากกว่านี้เหมือนกันนะ แต่บางครั้งพ่อแม่ก็ไม่เข้าใจ เวลาผมเขียนไปให้พวกเขาอ่าน พวกเขาก็เหมือนจะตอบ จะอธิบายคำถามของผมไม่ถูกก็เลยเข้าใจผิดกัน ผมจึงแก้ปัญหาด้วยการเอาคำถามที่เขียนไปบอกป้า แล้วให้ป้าไปถามพ่อแม่ให้อีกทีครับ”

เขาว่าถึงคุยกันน้อยก็ไม่เคยรู้สึกว่าความรัก ความอบอุ่นในครอบครัวน้อยตามไปด้วย

ที่ผ่านมาเขาอยู่บ้านกับพ่อแม่และน้องชายที่ห่างกันหนึ่งปีแค่ช่วงดึกของวันศุกร์ถึงเช้าวันอาทิตย์ เพราะต้องมาอยู่บ้านน้าชายกับป้าเพื่อให้เดินทางไปโรงเรียนได้สะดวก

“เด็กจะต้องทำอะไรบ้าง ป้าก็รู้อยู่หมดแล้ว ป้าก็ทำให้เลย ป้ารู้ว่าเด็กต้องหิวข้าว ป้าก็ป้อนข้าวให้ฟร้องซ์ คือจัดเวลาทุกอย่างไว้ให้ ว่าต้องทำอะไร ฟร้องซ์เป็นเด็กเลี้ยงง่ายมาก ถ้าเทียบกับหลานคนอื่น”

อิ๊โอ๊ย หรือรุจาภา กีรติวุฒิพร วัยห้าสิบกว่า ป้าที่เลี้ยงฟร้องซ์มาตั้งแต่อายุสองขวบบอก

เธอว่าเพราะเรียนหนังสือมาน้อยจึงรับเลี้ยงหลานทุกคน และพูดติดตลกว่าอยู่กับฟร้องซ์แล้วตัวเองสบายใจที่สุด ต่อให้เธอจะเปิดโทรทัศน์ เขาก็ไม่ได้ยิน ต่อให้เขาจะเปิดคอมพิวเตอร์ ก็ไม่มีเสียง ต่างคนจึงไม่เคยรบกวนซึ่งกันและกัน

“ตอนเขาอายุได้ขวบกว่า ๆ ป้าพาเขาไปหาหมอก่อนเพราะเขาวิ่งตัดหน้ารถมอเตอร์ไซค์ทั้งที่มอเตอร์ไซค์บีบแตรดัง”

เธอว่าเป็นโชคดีที่มอเตอร์ไซค์แค่เฉี่ยวหลานชาย แต่มันก็เป็นเหตุการณ์เดียวกันที่ทำให้รู้เขาหูหนวก 

“ทั้งตกใจ ทั้งสงสาร ป้าก็น้ำตาซึมอยู่เหมือนกันนะตอนหมอที่ไปหามาทั้งสามโรงพยาบาลบอกตรงกันว่าเขาหูหนวก แต่คงไม่เสียใจเท่าคนเป็นพ่อเป็นแม่หรอก ครอบครัวพวกเราไม่เคยมีใครหูหนวกมาก่อนและทั้งคู่คงไม่อยากให้ลูกคนแรกของตัวเองเป็นแบบนี้”

ส่วนลึก ๆ เธอว่าเลี้ยงดูได้หมดไม่ว่าหลานจะเป็นอย่างไร

เธอเล่าย้อนกลับไปว่าฟร้องซ์เคยเรียนแบบห้องเรียนร่วม ที่โรงเรียนสาธิตลอออุทิศ ในมหาวิทยาลัยสวนดุสิตและเคยผ่าตัดประสาทหูเทียม แต่หมอบอกว่าไม่มีการได้ยินหลงเหลืออยู่ หลังจากนั้นครูที่นั่นจึงบอกว่าถ้าอยากให้เขามีความสุขก็ควรจะพาไปเรียนภาษามือ เธอจึงให้ฟร้องซ์มาเรียนที่นี่ตั้งแต่อนุบาล คอยไปรับไปส่ง บางวันก็อยู่ดูแลที่โรงเรียนด้วยความเป็นห่วง จนสนิทกับครูหลายคน

“มันไม่มีอุปสรรคอะไรเลยนะ ถ้าจะมีจริงๆ ก็แค่ว่าฟร้องซ์ไม่อยากให้ป้ายุ่งกับเขาเยอะ เหมือนเขาโตแล้วอยากทำอะไรด้วยตัวเอง แต่ป้าก็ชอบคิดไปเอง เป็นห่วงเขาอยู่ตลอด”

ระหว่างป้าหลานคู่นี้ใช้ท่าทางคุยกัน ถ้าบางทีไม่ได้ความก็ให้ครูที่โรงเรียนช่วยเป็นตัวกลาง ช่วยอธิบายจนกว่าจะเข้าใจกัน

“ป้าอยากให้ฟร้องซ์เรียนจบมหาวิทยาลัยแหละ ส่วนจบมามีงานทำไหม นั่นอีกเรื่อง มันไม่ค่อยอยู่ในหัวป้า แต่ก็ยังคิดว่าคงมีงานเข้ามาให้ทำบ้างนะ คือป้าแค่อยากให้เขาวาดรูป หรืออยากให้วาดรูปเป็นอาชีพเสริมก็ได้ ป้าว่าเขาก็ทำด้านนี้ได้ดีแต่ต้องไปศึกษาเพิ่มเติมอีกหน่อย”

เธอปลื้มมากที่เห็นหลานชายคนนี้ชอบศิลปะ

 

- นักเรียนดีเด่น -

ครูฝ่ายวิชาการบอกฉันว่าเขาเรียนเก่งที่สุดในโรงเรียน มักได้เป็นตัวแทนไปแข่งขันทักษะต่าง ๆ อยู่เสมอ ทั้งระดับจังหวัด ภูมิภาค ประเทศและโลก ล่าสุดฟร้องซ์ได้เหรียญทองแดงในการแข่งขันความท้าทายทางเทคโนโลยีสารสนเทศระดับสากลมาจากจีน

“ก็มีเหนื่อยครับ ที่โรงเรียนมีกิจกรรมเยอะมาก ผมทำกิจกรรมเยอะมาก ก็เหนื่อยเหมือนกัน แต่ก็ไม่ได้ท้อนะครับ ผมทำไป ทำให้ดีที่สุด ผมต้องสู้ ถึงเหนื่อยแต่ผมก็ชอบ”

ฟร้องซ์บอกว่ารู้สึกสนุกเมื่อได้ทำกิจกรรมของโรงเรียน แม้บางครั้งจะกดดัน เพราะลึก ๆ อยากชนะ

เหรียญรางวัล เกียรติบัตรต่าง ๆ เขาว่ามันเอามาต่อยอดโอกาสให้ตัวเองได้ในอนาคต

“เวลาลงสนาม ผมก็เคยกลัวคู่แข่งนะครับ ดูแล้วเขาเก่งจังเลย แต่เห็นคนอื่นเก่งมาก็ไม่เป็นไรครับ ผมก็ต้องพยายามเต็มที่ แพ้ก็ไม่เป็นไร เพราะผมได้พยายามแล้ว”

ฟร้องซ์บอกว่าตัวเองชอบวิชาศิลปะมากที่สุด การวาดภาพดีตรงที่บางครั้งมันก็ช่วยสื่อสารกับคนอื่นแทนการพูดได้

และศิลปะนี่แหละที่ทำให้เขาสนิทกับครูปอยมาตั้งแต่เรียนอยู่ประถมปีที่ห้า

“ฟร้องซ์มีพรสวรรค์ด้านวาดภาพอยู่แล้ว แต่เขายังไปไม่ถูกทาง เขายังไม่รู้ว่าจะวาดภาพอะไร แนวไหน เหมือนกับเด็กทั่วไปที่ชอบวาดการ์ตูน แต่พอมาอยู่กับครู ครูก็เริ่มสอนวิธีการจัดองค์ประกอบของภาพ จะจัดอะไรตรงไหน อย่างไร ครูก็พาฟร้องซ์ไปแข่งขันตามงาน เข้าร่วมกิจกรรมต่าง ๆ เขาจะได้เจอคนที่หลากหลาย ไม่ใช่แค่เด็กหูหนวกอย่างเดียว ทำให้เขาได้เรียนรู้ มีประสบการณ์ ถึงแพ้ เขาก็จะได้รู้ว่าทำไมคนนั้นคนนี้ถึงได้ที่หนึ่ง แล้วค่อยเอามาปรับให้เข้ากับการวาดภาพของตัวเอง”

ครูปอยบอก และเล่าให้ฟังว่าอิ๊โอ๊ยเป็นคนมาฝากให้เธอช่วยสอนศิลปะเขาหลังเลิกเรียน เธอรับคำเพราะไม่ได้มีธุระอื่นหลังทำงานเสร็จ อีกอย่างก่อนหน้านี้ด้วยความที่ไม่ได้เรียนจบการศึกษาพิเศษ มาโดยตรงและภาษามือยังไม่แข็งแรงก็มีนักเรียนเข้ามาคุยด้วยทุกเย็น จนเธอถนัด 

สิ่งที่ยากสำหรับการสอนศิลปะสำหรับหูหนวก เธอว่าจะทำอย่างไรให้เขาตีโจทย์แตกได้

“โจทย์ที่บอกว่าแล้วแต่จิตนาการจะค่อนข้างยากสำหรับเด็กหูหนวก ครูเองต้องเอาประสาทสัมผัสที่หลงเหลืออยู่เข้ามาใช้ให้เกิดประโยชน์ที่สุดนั่นก็คือตา ถ้าจะวาดรูปวัฒนธรรมก็ต้องเปิดภาพวัฒนธรรมให้เขาดูว่ามันคืออะไร มันมีอะไรบ้าง คือเขารู้ภาษามือแต่วาดมันออกมาเป็นภาพไม่ได้ ครูก็ใช้คอมพิวเตอร์ช่วยในการสอน การฝึก หลักๆ คือพยายามเปิดภาพให้เขาดูเยอะๆ”

ครูปอยบอก และแปลภาษามือจากฟร้องซ์ให้ฉันฟังต่อว่าโตขึ้นเขาอยากเป็นนักคอมพิวเตอร์กราฟฟิกและกำลังเตรียมตัวเข้าเรียนต่อในมหาวิทยาลัยกรุงเทพธนบุรี หลังผ่านการยื่นใบสมัครแบบรับโควต้าคนพิการ  ทั้งเธอเองแสดงความคิดเห็นต่อระบบโควต้าการรับคนพิการเข้าเรียนด้วยว่า

“ส่วนตัวครูมองว่ามันเป็นโอกาสดีสำหรับเด็กหูหนวกมากกว่าเป็นสิทธิพิเศษ มหาวิทยาลัยคงต้องการพัฒนาบุคคลที่สามารถพัฒนาได้ เราเองก็จะได้เด็กหูหนวกที่พัฒนาประเทศได้เช่นกัน เพราะถ้าจะให้เด็กหูหนวกไปสอบเข้าเหมือนทุกอย่างกับเด็กหูดีเลย มันก็ไม่ได้ จึงต้องเปิดโอกาสตรงนี้ให้เด็กหูหนวกเข้าไปในมหาวิทยาลัย ที่ผ่านมามหาวิทยาลัยรัฐบาลเปิดรับสมัครเด็กหูหนวก แต่ให้เด็กหูหนวกสอบเข้าเหมือนทุกอย่างกับเด็กหูดี เด็กหูหนวกก็สอบเข้าไปไม่ได้ เพราะมันไม่มีสิทธิพิเศษอะไรให้เลย”

 

เท่าที่ฉันได้คุยกับฟร้องซ์

เขาเป็นเด็กที่สนุกกับการเรียนและมั่นใจในตัวเองอยู่พอสมควร

“ผมคิดว่าการเรียนทำให้ผมมีอนาคตที่ดี ผมคิดว่าอะไรที่คนหูดีทำได้ ผมก็ทำได้”

นับเป็นการคุยครั้งแรกของฉันที่มีช่วงเงียบระหว่างบทสนทนานานที่สุด หากอะไรบางอย่างในช่วงนั้นก็ยังก้องกังวานอยู่

 

บทความนี้เป็นส่วนหนึ่งในหนังสือ ไม่มีพื้นฐานแต่ไม่ต่างกัน: เรื่องเล่าระหว่างฉัน เธอ เขา และ'ความพิการ'ของเรา ทีสิสนักศึกษาคณะเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร สาขานิเทศศาสตร์ เอกวารสารและหนังสือพิมพ์ มหาวิทยาลัยศิลปากร

---

อ่าน "เรื่องเล่าระหว่างฉัน เธอ เขา และ'ความพิการ'ของเรา" ตอนอื่นได้ที่ :

ไต่บันไดในความมืด

พลังที่ซ่อนอยู่ในคนพิเศษ