Skip to main content

หลายคนอาจสงสัยว่า คนตาบอดมองไม่เห็นจะมองเห็นภาพได้อย่างไร? แต่โสภณ ทับกลอง กลับทำให้สิ่งที่เป็นไปไม่ได้กลายเป็นเรื่องจริง เขาคือคนพิการทางสายตาที่มองเห็นภาพต่างๆ ได้ไม่ต่างจากคนตาดี และวิธีที่เขาเลือกใช้แทนสายตามองก็ทำให้ใครหลายคนประทับใจ เพราะทุกภาพของเขาเกิดจากการจดจำการเคลื่อนไหว ช่วงเวลา และความรู้สึก

โสภณ ทับกลองนักแสดงละครเวทีจาก Blind Theatre ผู้ชักชวนให้คนตาบอดออกมาลองเคลื่อนไหวไปพร้อมกันกับเขา โดยเปิดประสบการณ์ของเขาเองในฐานะคนตาบอดที่ดวงตาปิดลงแต่หัวใจกลับเปิดออก พร้อมจัดการแสดงภาพในแบบฉบับที่คนตาบอดเห็นให้สาธารณะชนผู้เข้าร่วมงานได้รับชมและรับฟังกันอย่างใกล้ชิด ท่ามกลางสายตาทุกคู่ที่เฝ้ามองอย่างใจจดใจจ่อด้วยความสนใจ

เมื่อวันที่ 2 กรกฎาคม 2560 ณ ร้าน Syrup The Space ซอยทองหล่อ 55 โสภณ ทับกลอง เป็นหนึ่งในวิทยากรรับเชิญของงาน ‘ThisAbleTalk’ เพื่อมาบอกเล่าเรื่องราวประสบการณ์การใช้ชีวิตที่แม้จะมองไม่เห็น แต่ความทรงจำที่มีต่อสิ่งต่างๆ กลับเป็น 'ภาพ' ที่ดีที่สุดที่เขาจดจำ

...

ทุกคนคงรู้กันดีอยู่แล้วว่า ผมเป็นคนพิการทางสายตา ก่อนจะเริ่มการพูดคุยกัน ผมมีคำถามข้อหนึ่งมาถามผู้ชมทุกท่านที่มาในงาน ThisAbleTalk วันนี้

"ทุกคนคิดว่าสำหรับผู้พิการทางสายตาอะไรคือสิ่งที่เขากลัวมากที่สุดครับ?"
"แมลงสาบ" ผู้ชมคนหนึ่งตอบขึ้น

ซึ่งคำตอบของผมกลับแตกต่างโดยสิ้นเชิง สิ่งที่น่ากลัวที่สุดสำหรับผมคือ ‘การเคลื่อนไหว’ ทุกคนที่อยู่ในที่นี้ส่วนมากก็จะมีร่างกายครบ 32 คนพิการบางคนอาจเหลือแค่ 31 แต่คนพิการอย่างผมมีแค่ 30 ครึ่ง โดย 30 ครึ่งที่ผมหมายถึงคือ ผมมองไม่เห็นและกลัวการเคลื่อนไหว เพราะผมกลัวอันตรายที่จะเกิดขึ้นจากการเคลื่อนไหวที่ผิดพลาด เช่น คนนั่งวีลแชร์ ถึงแม้พวกเขาสามารถนั่งรถที่มีล้อและเคลื่อนไหวไปกับรถได้ แต่ก็ยังมีข้อจำกัดในบางเรื่องที่พวกเขาเหล่านั้นไม่สามารถทำได้ จึงเป็นเหตุผลว่าทำไมผมถึงเรียกว่า ‘30 ครึ่ง’ เพราะไม่ใช่แค่มองเห็นแล้วจะสามารถไปที่ไหนก็ได้เสมอไป

ถ้าจะพูดให้ละเอียดกว่านั้น สมมติพี่ต่อ (ฉัตรชัย อภิบาลพูลผล) พาผมไปเดินเล่นในที่แห่งใดแห่งหนึ่ง เช่น สถานบันเทิง แล้วพี่ต่อเกิดแยกจากผมไปอีกที่หนึ่ง ผมก็กลายเป็นคนที่ทำอะไรไม่ได้แล้ว ไปไหนไม่ได้ เพราะว่าผมไม่กล้าที่จะเคลื่อนไหวนั่นเอง ซึ่งสิ่งนี้ก็เช่นกันที่ย้ำเตือนว่า ทำไมผมถึงเรียกว่า “ 30 ครึ่ง ” และก็เป็นเหตุผลที่ผมต้องมาพูดในวันนี้

‘ความกลัว’ คือสิ่งที่คู่กันกับคนพิการ หากจะถามว่าคนพิการกลัวอะไร ก็น่าจะมีหลากหลายคำตอบ แต่คำตอบที่ชัดเจนและรับรู้ได้ทั่วไปคือ กลัวการต้องออกมาใช้ชีวิตข้างนอก อย่างงานในวันนี้ก็เป็นงานที่จะบอกให้กับทุกคนได้รู้และเชิญชวนให้คนพิการทุกคนออกมาใช้ชีวิตนอกบ้านให้มากขึ้น เพราะเดิมที หนึ่งสิ่งสำคัญที่คนพิการกลัวเช่นเดียวกันก็คือ การต้องออกมาพบเจอกับผู้คนข้างนอก มันเป็นเรื่องน่าแปลกใจมากในความคิดของผม

คนพิการในประเทศไทย ซึ่งผมก็ไม่ค่อยแน่ใจในตัวเลขว่ามีทั้งหมดเท่าไหร่ แม้ว่าจะมีสถิติชัดเจนออกมา แต่ผมขออนุมานว่า มีมากกว่าแสนคน  คนพิการเช่น คนตาบอด คุณพบเจอคนเหล่านี้ครั้งล่าสุดเมื่อไหร่ โดยเงื่อนไขมีอยู่ว่าไม่นับคนที่เราอยู่ด้วยอยู่แล้ว หรือคนที่เล่นดนตรีเปิดหมวก แต่ให้มองไปที่ คนที่เราเจอในสระว่ายน้ำ เจอในร้านอาหาร โรงหนัง หรือห้างสรรพสินค้า แน่นอนว่าคนส่วนมากต้องตอบคล้ายๆ กันว่า น้อยมากที่จะเจอคนเหล่านี้ในชีวิตประจำวัน แม้มันจะมีวิธีที่ชักจูง หรือเชิญชวนให้คนพิการออกมาใช้ชีวิตในโลกภายนอกแบบคนปกติทั่วไป แต่ใช่ว่ามันจะใช้ได้จริงทุกวิธี เช่น พี่เสาว์ (เสาวลักษณ์ ทองก๊วย) ก็มีวิธีของพี่เสาว์ พี่โอ (สันติ รุ่งนาสวน) ก็จะมีวิธีของพี่โอ ส่วนตัวผมก็มีวิธีของตัวเองเช่นกัน ผมเป็นนักแสดงละคร ซึ่งสิ่งที่ผมแก้ได้คือ การช่วยเหลือให้คนพิการทางสายตาสามารถกล้าที่จะเคลื่อนไหว กล้าที่จะออกมาใช้ชีวิตในโลกภายนอก ด้วยวิธีทางการละครที่ผมมี

ผมทำละครเวทีกับ Blind Theatre มาประมาณ 4-5 ปี กระบวนการในการแสดงละครนั้น ไม่ใช่แค่การสวมบทบาท และแสดงให้เป็นใครสักคนตามบทนั้น แต่มันคือการฝึกร่างกาย ผมต้องฝึกร่างกายหนักมากในแต่ละวัน และมันก็ทำให้ผมรู้ว่าร่างกายของผมมันสามารถเคลื่อนไหวได้ในรูปแบบใดบ้าง ซึ่งมันเป็นสิ่งแปลกใหม่ที่เกิดขึ้นกับคนพิการทางการมองเห็นแบบผม เพราะเรื่องร่างกายหรือรูปร่างเป็นสิ่งที่ห่างไกลกับผมมาก

หลายคนอาจสงสัยว่าผมเคลื่อนไหว และฝึกร่างกายอย่างไร ง่ายๆ ก็เช่น การหมุนข้อมือ ทุกคนก็รู้ว่าข้อมือของเรานั้นสามารถหมุนได้ในทิศทางใดบ้าง และนี่คือสิ่งที่ผมฝึกเป็นประจำ ซึ่งสิ่งสำคัญของผมก็คือ การลองจับและสัมผัส


โสภณให้ต่อทดลองให้คนดู ดูเป็นตัวอย่าง

นี่คือตัวอย่างง่ายๆ จากคนพิการแบบผม ซึ่งเน้นเรื่องการสัมผัสและอธิบายสิ่งที่สัมผัสเหล่านั้น ด้วยพื้นฐานว่าทุกอย่างไม่ได้เอื้อให้กับคนพิการแบบผมหรือคนพิการท่านอื่น อย่างไรก็ตาม นี่เป็นสิ่งที่จุดประกายการแสดงละครของผม ในฐานะของนักละคร ผมมองว่าการเคลื่อนไหวในร่างกายสำหรับตัวผมคือสิ่งที่พิเศษ เพราะว่าการที่ผมได้ทำอะไรซ้ำๆ เช่นนี้ ตลอดระยะเวลา 4-5 ปีที่ผ่านมา เปลี่ยนอะไรในชีวิตของผมได้เหมือนกัน สิ่งต่างๆ ที่ผมไม่เคยเห็น หรือไม่เคยได้สัมผัส แน่นอนว่าผมมองไม่เห็นอยู่แล้ว แต่การเคลื่อนไหวของร่างกายไปยังทิศทางต่างๆ ที่ผมต้องการ เป็นการอธิบายถึงภาพต่างๆ ที่เกิดขึ้น ผมไม่แน่ใจว่าตอนนี้มันมีภาพอะไรขึ้นมาบ้างหรือเปล่า สิ่งเหล่านี้ก็เป็นสิ่งที่บอกกับทุกคนว่า เรื่อง ภาพ กับ คนตาบอดนั้นสำคัญมากเพียงใด

(โสภณทำการแสดง โดยใช้หลอดไฟนีออน ซึ่งถูกดัดแปลงเป็นกำไลข้อมือ และแท่งยาวๆ เล็กๆ กวาดลวดลายไปมาขณะที่ไฟปิด กล้องที่ตั้งอยู่ฝั่งตรงข้ามจับภาพของเขาด้วยสปีตชัตเตอร์ที่นานกว่ารูปถ่ายปกติ ภาพที่ออกมาจึงเห็นเป็นเส้นสี)

บางคนอาจสงสัยว่า คนตาบอดเขามองเห็นรูปภาพได้อย่างไร ผมตอบตัวเองได้ว่า การเล่นละครฝึกการเคลื่อนไหวซ้ำไปซ้ำมาทำให้ผมมองเห็นถึงความรู้สึกในภาพเหล่านั้น ช่วงเวลาก่อนและหลังเหตุการณ์ต่างๆ ที่เกิดขึ้นมันคือ ภาพถ่ายของผม แม้บางทีคุณอาจจะแกล้งผมโดยการเอากระดาษเปล่ามาให้ และบอกว่ามันคือรูปภาพ แต่สำหรับผม ภาพคือสิ่งที่สำคัญที่สุดในชีวิต เพราะสิ่งที่ผมรับรู้และจดจำได้ชัดเจนก็คือเวลาและความรู้สึก

ในวันนี้ผมจึงอยากชวนทุกคนมาเคลื่อนไหวด้วยกัน ไม่เว้นแม้แต่คนพิการในที่นี้ด้วย เพราะผมไม่รู้หรอกว่า ภาพ ในความหมายของแต่ละคนมันเป็นอย่างไร แต่วิธีแก้ไขมันมีอยู่ ขึ้นอยู่กับว่า คนพิการและคนไม่พิการจะหาอะไรมาทำร่วมกันได้อย่างไร ซึ่งผมมองว่าเรื่องเหล่านี้มันถูกพูดมานานแล้วในเรื่องวิธีแก้ที่จะให้คนพิการออกมาใช้ชีวิตในโลกภายนอก ซึ่งสิ่งสำคัญที่สุดคือ การคุยกันนี้แหละ ผมอยากให้พวกคุณทุกคนเลิกกลัวคนพิการ และอยากให้คนพิการเองเลิกกลัว เลิกคิดว่าจะไปเป็นภาระของใคร และพูดในสิ่งที่อยากพูดออกมา