Skip to main content

อุบลราชธานี — ในเช้าหลังฝนตกกลางเดือนพฤษภาคมปี 2546 ชายวัย 32 ปีจากบ้านทุ่งเสด็จ ตำบลโดมประดิษฐ์ อำเภอน้ำยืน เดินตามหลังน้องชายขึ้นไปบนภูเขาใกล้หมู่บ้านซึ่งเป็นบริเวณพรมแดนระหว่างประเทศไทยและกัมพูชา เพื่อไปหากบและหน่อไม้ตามปกติวิสัยของเขาและคนอื่นๆ ในหมู่บ้านแถบนี้  เขากลับต้องกลายเป็นผู้โชคร้ายที่เหยียบทุ่นระเบิดไม่ทราบเจ้าของที่นอนแน่นิ่งอยู่กับพื้นดิน  ส่งผลให้ต้องสูญเสียขาข้างขวาของเขาไป  “เดินตามน้องไป ทางที่เขาเดินไปมาเป็นสิบปี”  นายใส ละเม็ก เล่าด้วยสีหน้าเรียบๆ   “แล้วแต่ดวงวาสนาของคนนั้นล่ะมันก็บอกไม่ได้  น้ำมันอาจจะเซาะดินออกแล้วเราก้าวไปเหยียบพอดี”  จากผู้ประสบเหตุที่ต้องทำให้เสียขาในวันนั้น  สองปีต่อมา นายใส ได้กลายเป็น “ช่างใส” ผู้ประกอบขาเทียมให้แก่ผู้พิการขา จนถึงปัจจุบันก็หลายร้อยรายแล้ว

หมู่บ้านตามแนวตะเข็บชายแดนไทย-กัมพูชาในอดีตเคยลุกโชนไปด้วยไฟสงครามอย่างยาวนานหลายทศวรรษนับตั้งแต่สงครามประชาชนที่เริ่มตั้งแต่ช่วง พ.ศ 2508 ระหว่างรัฐไทยกับพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย ต่อด้วยการปะทุหนักในสงครามฆ่าล้างเผ่าพันธุ์เขมรแดงในช่วงปี 2522   หลังจากฝ่ายสนับสนุนเวียดนามสามารถบุกเข้ายึดพนมเปญเมืองหลวงของกัมพูชาในปีเดียวกัน  ทำให้ฝ่ายเขมรแดงต้องถอยร่นมาอยู่ทางตะวันตกติดกับแนวชายแดนไทย การถอยร่นของทหารเขมรข้ามเข้ามาในเขตแดนไทยเกิดขึ้นหลายครั้ง ตลอดภาวะสงครามกลางเมืองของกัมพูชา “เป็นลักษณะที่ว่าเขมรรบกันเองแล้วหนีข้ามมาฝั่งไทย คนในหมู่บ้านก็หนีไปเข้าไปแถวในอำเภอ”  โชเฟอร์วัยกลางชาวบ้านในพื้นที่ เล่าย้อนอดีตบรรยากาศช่วงสงคราม

ในปี 2538 เหตุสงครามความวุ่นวายในกัมพูชาเริ่มสงบลงหลังมีการลงนามในข้อตกลงสันติภาพของกลุ่มต่างๆ  ส่งผลให้สถานการณ์ตามแนวชายแดนเองก็เริ่มสงบลงตามไปด้วย  

แม้เสียงปืนจากสงครามเริ่มสงบลง  แต่เสียงที่ยังคงดังอยู่คือเสียงระเบิดของทุ่นระเบิดที่หลงเหลืออยู่จำนวนมากตามแนวป่า  ซึ่งถูกติดตั้งไว้ซ้ำแล้วซ้ำเล่าเพื่อปกป้องกันฝ่ายตรงข้ามยามฝ่ายของตนเพลี่ยงพล้ำ  ทำให้ตามแนวชายแดนเต็มไปด้วยระเบิดไม่ทราบฝ่าย     หลายครั้งในสงครามทุ่นระเบิดก็ได้ทำร้ายคนที่ติดตั้งมันเอง  แต่หลังสงครามสงบเหยื่อส่วนมากที่โดนทำร้ายจะเป็นพลเรือนทั่วไป   เหยื่อที่บังเอิญเหยียบลงในทุ่นระเบิดด้วยน้ำหนักกว่า 1 กิโลกรัม  แรงระเบิดจะเหวี่ยงร่างเหยื่อผู้นั้นขึ้นสู่ท้องฟ้าแล้วตกลงมาพื้นดินพร้อมกระดูกขาที่แหลกร้าว  ซึ่งทุกคนต้องตัดขาทิ้งเพื่อแลกกับชีวิต  แม้ว่าต่อมาจะเริ่มมีการปักปันเขตอันตรายไว้แต่ก็ไม่สามารถรับประกันได้ว่าทางที่สัญจรไปมาอยู่ทุกวันจะปลอดภัยจากทุ่นระเบิด

อุปกรณ์หลักในการทำขาเทียมหนึ่งข้าง โดยอุปกรณ์ทั้งหมดได้รับการสนับสนุนจาก มูลนิธิขาเทียมในสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี

“ได้เห็นคนเดินได้เราก็มีกำลังใจ มันผูกพันและภูมิใจ” ช่างใส หนึ่งในช่างสองคนที่เหลืออยู่ใน “ศูนย์บริการขาเทียม อบต.โดมประดิษฐ์”   ซึ่งเป็นศูนย์ที่บริการทำขาเทียมให้กับประชาชนทั่วไปโดยไม่คิดค่าใช้จ่าย  เนื่องด้วยจากปัญหาที่ชาวบ้านเข้าไปเหยียบทุ่นระเบิดอย่างต่อเนื่อง  แต่การทำขาเทียมกลับเป็นเรื่องยากลำบากเพราะต้องเข้าไปทำในโรงพยาบาลของในตัวเมืองไม่ว่าจะเป็นจังหวัดศรีสะเกษ หรือตัวเมืองอุบลราชธานี  ซึ่งทำให้เกิดความยากลำบากและค่าใช้จ่ายที่สูงในการเดินทาง  หลายคนต้องเดินทางไปกลับหลายรอบระหว่างหมู่บ้านกับตัวเมืองอุบลราชธานีซึ่งห่างกันกว่า 100 กิโลเมตร  หลายครั้งกินเวลาหลายเดือนกว่าจะได้ใช้ขาเทียม เพราะต้องเวลารอคิวจำนวนมากในโรงพยาบาลใหญ่ 

ความเป็นมาศูนย์ขาเทียมแห่งนี้เริ่มมาจากในช่วง พ.ศ 2547  มูลนิธิชาติชาย ชุณหะวัณ ได้ลงมาในพื้นที่เพื่อช่วยเหลือด้านสาธารณูปโภคและพัฒนา โดยผู้บริหารมูลนิธิเริ่มมองเห็นว่าในพื้นที่มีผู้พิการอยู่จำนวนมาก  จึงต้องการหาวิธีที่จะช่วยเหลือผู้พิการเหล่านั้น  จึงนำมาสู่การอนุมัติงบประมาณเพื่อก่อตั้งศูนย์ขาเทียมแห่งนี้ขึ้นบวกกับการร่วมแรงช่วยกันก่อสร้างของคนในหมู่บ้าน  ในช่วงเวลานั้นทั้งช่างใสและนายหรัส สุทะนังช่างอีกคนของศูนย์ ยังประกอบอาชีพเกษตรกรเป็นหลักอยู่ จึงถูกชักชวนให้เริ่มให้เข้ามาเป็นเป็นช่างทำขาเทียม  โดยเริ่มแรกศูนย์มีช่างทั้งหมด 5 คน  ทั้งหมดถูกส่งไปเรียนวิธีการทำขาเทียมที่มูลนิธิขาเทียมในสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี ที่จังหวัดเชียงใหม่  โดยงบประมาณในการดำเนินงานเป็นงบระยะสั้นๆ เพียงหนึ่งปี โดยช่างแต่ละคนจะได้เงินเดือนคนละ 3,000 บาท

หลังงบประมาณจากมูลนิธิชาติชาย ชุณหะวันหมดลง ทำให้ช่างในศูนย์ไม่มีเงินเดือน “มานั่งเล่นๆ มองหน้ากันในศูนย์  แต่ของมันเหลือก็มาทำให้เขาเรื่อยๆ อยู่สองสามเดือน คนไปมาก็ทำขาให้อยู่เหมือนเดิม”   ช่างใสย้อนความหลัง แม้ไม่มีเงินเดือนจากมูลนิธิชาติชาย ชุณหะวัณ  แต่ช่างในศูนย์ก็ยังทำขาเทียมให้ผู้พิการยังคงแวะเวียนเข้ามาขอรับริการอยู่ตลอด โดยอาศัยอุปกรณ์ที่ยังเหลืออยู่  และหลายต่อหลายครั้งช่างในศูนย์ต้องเป็นคนเสาะหาอุปกรณ์บางอย่างมาเอง  อย่างเช่นใช้ไม้แทนแกนขาที่เป็นเหล็ก

ในเวลาต่อมาศูนย์ขาเทียมก็ได้รับการสานต่อโดยมูลนิธิขาเทียมในสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี  ผู้สนับสนุนงบประมาณให้ดำเนินการต่อในลักษณะเดิม ซึ่งมาจากการที่อาจารย์ที่สอนทำขาเทียมให้ช่างในศูนย์ทราบว่าลูกศิษย์ของเขาไม่มีเงินทำศูนย์ต่อ  จึงเดินเรื่องให้ศูนย์ขาเทียมแห่งนี้ให้ได้งบประมาณในการดำเนินการต่อไป  ในช่วงการสนับสนุนของมูลนิธิขาเทียมฯ ช่างในศูนย์เคยได้มีโอกาสเดินทางไปทำโครงการขาเทียมเคลื่อนที่ในประเทศต่างๆ ทั้งมาเลเซีย กัมพูชา เมียนมา ลาว ร่วมกับทางมูลนิธิขาเทียมฯ โดยต่อมาในช่วงปี 2552 องค์การบริหารส่วนตำบลโดมประดิษฐ์ จึงได้เข้ามาสนับสนุนโดยให้ช่างของศูนย์เข้าไปเป็นลูกจ้างของทาง อบต. ส่วนอุปกรณ์ต่างก็ยังได้รับการสนับสนุนจากมูลนิธิขาเทียม

“มันเป็นพื้นที่ทำมาหากินเขาไง” ช่างหรัส วัย 50 ปี กล่าว  ในพื้นที่ตำบลโดมประดิษฐ์เหมือนกับหลายพื้นที่ตามแนวตะเข็บชายแดน  ที่ชาวบ้านยังคงมีวิถีชีวิตที่ผูกติดป่าเขาที่เป็นแหล่งอาหารต่างๆ ทำให้ยังพบคนที่เหยียบทุ่นระเบิดเพราะเข้าไปทำมาหากินในป่าอยู่  แม้ว่าจะมีความพยายามจากทางรัฐบาลร่วมกับองค์กรนานาชาติในการเก็บกู้และกำหนดเขตที่มีทุ่นระเบิด  แต่ด้วยพื้นที่ที่กว้างทั้งการเก็บกู้ที่ทำได้อย่างยากลำบากทำให้การเก็บกู้และส่งมอบคืนพื้นที่ให้ประชาชนใช้ประโยชน์เป็นไปอย่างล่าช้า  จึงแทบจะไม่มีหลักประกันความปลอดภัยอะไรในกับชาวบ้าน  แม้จะอยู่ในแนวที่มีการสำรวจแล้วว่าปลอดทุ่นระเบิด

ช่างหรัส วัย 50 ปี หนึ่งในช่างทำขาเทียมประจำศูนย์บริการขาเทียม อบต.โดมประดิษฐ์ กำลังสาธิตวิธีการการประกอบขาเทียมเป็นตัวอย่าง

ขาเทียมกว่า 600 ข้างที่ทางศูนย์ได้ทำขึ้นมา  คนกว่า 200 คนที่เข้าใช้บริการตลอดสิบกว่าปีที่ก่อตั้งศูนย์ขึ้นมา ถึงก่อตั้งด้วยความตั้งใจจะช่วยเหลือเหยื่อจากทุ่นระเบิดโดยเฉพาะ  แต่ปัจจุบันทางศูนย์มีผู้ใช้บริการทำขาเทียมที่พิการขาจากเหตุอื่นๆ ด้วย  เช่น จากโรคเบาหวานหรือจากอุบัติเหตุต่างๆ

โรงเรือนกึ่งไม้กึ่งปูนชั้นเดียวเต็มไปด้วยเครื่องมือช่างตั้งอยู่ริมถนนลูกรังกลางทางเข้าหมู่บ้าน เป็นที่ประจำการของช่างทำขาเทียมทั้งสองคน “หลายครั้งรีบหล่อเบ้าขาให้เสร็จ  เดี๋ยวไฟดับเหงื่อออกเยอะเปิดพัดลมไม่ได้เวลาหล่อเบ้าขา” ช่างหรัส เล่าถึงบรรยากาศการทำงาน  “หลายคนทำแล้วก็หายไปเลยบางคนก็กลับมาทำใหม่เรื่อย หลายครั้งก็ได้ของฝากเป็นพวกของกินบ้าง”

การทำขาเทียมให้ผู้มาใช้บริการเริ่มหลังจากที่ผู้ป่วยได้รับการรักษาจากแพทย์จนแผลเริ่มหายดีแล้ว  ซึ่งส่วนมากจะใช้เวลา 2-3 เดือน  การเลือกที่จะเข้ามาใช้บริการขึ้นอยู่กับการตกลงระหว่างผู้ป่วยและแพทย์  เมื่อเริ่มเข้ามาใช้บริการช่างก็จะเริ่มตรวจเช็คตอขาดูลักษณะต่างสอบถามอาการว่าเจ็บส่วนไหน  เพราะแต่ละคนจะถูกแพทย์ตัดขามาจากโรงพยาบาลไม่เหมือนกันขึ้นอยู่กับรอยร้าวของกระดูกของแต่ละคน  หลังจากนั้นก็มาสู่การหล่อเบ้าขา (ส่วนที่เชื่อมต่อจากตอขาจริง) ต่อมาจึงเป็นการวัดความยาวขาและเท้าและค่อยมาเอา “แกนขาเทียม” (คือส่วนที่แข็งที่สุดของขาเทียมที่เชื่อมระหว่างเบ้าขาและเท้า) และส่วนเท้ามาประกอบกัน

เวลาที่ใช้ทำอยู่ประมาณที่ประมาณ 1-2 วันขึ้นอยู่กับความยากง่ายของแต่ละขา โดยผู้มาใช้บริการแต่ละคนจะได้ทั้งหมดสองขาคือ “ขาเกษตร” ที่เป็นขาเปลือยมีความทนทาน และ “ขาสวยงาม” มียางไม้หุ้มยางเรซิน

“ผู้พิการเราต้องทำไร่ทำนา ขาเทียมเหมือนกับรองเท้า ใช้ต่างกันทำนาขาหนึ่ง เข้าไปในเมืองขาหนึ่ง”  ช่างหรัส อธิบาย  โดยประมาณแล้วขาเทียมแต่ละขาจะใช้ได้นานประมาณปีกว่า  จึงจะมีผู้ใช้บริการรายเก่าวนเวียนมาทำขาใหม่อยู่เรื่อยๆ

ความต่างอีกอย่างหนึ่งระหว่างศูนย์ฯ และโรงพยาบาลของรัฐคือ  ศูนย์แห่งนี้ไม่เลือกปฏิบัติผู้มาให้บริการไม่ว่าเชื้อชาติใด หลายครั้งจะมีคนจากประเทศเพื่อนบ้านอย่างกัมพูชาหรือลาวที่ข้ามพรมแดนมาขอให้ประกอบขาเทียมให้  โดยไม่จำเป็นต้องมีบัตรผู้พิการเหมือนที่ในโรงพยาบาลรัฐต้องการ

ไม่มีใครรู้ว่าจะเกิดอะไรขึ้นกับศูนย์ทำขาเทียมแห่งนี้ในอนาคต “ตัวผมทั้งสองก็อายุก็เริ่มมากขึ้น จะอยู่ตลอดไปไม่ได้ อยากให้มีคนมาสานต่อให้ศูนย์มันไปต่อได้”  ช่างใสตัดพ้อ  ตอนนี้ก็ยังไม่มีใครที่จะมาสานต่ออาชีพช่างทำขาเทียมต่อจากพวกเขา นอกจากนั้นแล้วในช่วงหนึ่งปีที่ผ่านมายังไม่มีการส่งอุปกรณ์ทำขาเทียมมาจากมูลนิธิขาเทียมฯ ที่เชียงใหม่ ทำให้อุปกรณ์หลายอย่างเริ่มหมดแล้ว  “ผมก็ไม่รู้สาเหตุ ไม่อยากพูดมากเรื่องนี้ อาจเป็นเรื่องภายในของเขา”  ช่างหรัสกล่าว ทำให้อนาคตของศูนย์แห่งนี้เริ่มไม่แน่นอนอีกครั้ง สวนทางกับความต้องการทำขาเทียมซึ่งยังคงมีอยู่เรื่อยๆ

ตราบใดที่ทุ่นระเบิดในพื้นตามแนวชายแดนยังคงหลงเหลืออยู่และวิถีของชาวบ้านที่ต้องเข้าไปทำมาหากินในป่าอยู่ ตราบนั้นศูนย์ขาเทียมแห่งนี้ก็จะยังมีความสำคัญ  “มันเป็นวิถีของเรา” ช่างใสย้ำ  “เวลาเห็นคนที่ทำขาแล้วเดินได้แต่ละคน  มาก็ดีใจแล้ว” ช่างใสทิ้งท้าย

ที่มา http://isaanrecord.com/2017/02/02/prosthetic-legs-center-borderlands/