Skip to main content

ภาพประกอบ

นับตั้งแต่เกิด feminism คลื่นลูกที่ 2 ในทศวรรษที่ 1960 ที่มาพบตอว่า การกดทับกดขี่ผู้หญิงมาจากระดับโครงสร้างและระบบรากฐานของสังคมแบบ patriarchy ที่สร้างชนชั้นระหว่างเพศและเอื้ออำนวยให้ผู้ชายหรือ “ความเป็นชาย” มีคุณค่าเหนือกว่า มีอำนาจโอกาสที่จะเข้าถึงทรัพยากรได้มากกว่า เช่น Zillah Eisenstein นักเคลื่อนไหวและนักทฤษฎีการเมืองและสตรีนิยมชาวอเมริกัน นิยาม patriarchy ไว้ว่า “เป็นโครงสร้างทางการเมืองที่แสวงหาทางกำกับควบคุมผู้หญิง และลดทอนอำนาจในการตัดสินใจของผู้หญิงในทุกๆเรื่อง แม้แต่เรื่องเพศ การเลี้ยงดูลูก การแสดงออกถึงความรัก ไปจนถึงการใช้แรงงาน”[1]

ผู้หญิงถูกผูกติดกับสถาบันครอบครัวและการแต่งงานแบบรักต่างเพศที่นำไปสู่การเจริญพันธุ์ ทำให้ผู้หญิงต้องเป็นแม่และเมีย เฝ้าบ้านเลี้ยงลูก และลูกผู้หญิงถูกคาดหวังให้อยู่ติดบ้านมากกว่าผู้ชาย ให้ทำงานภายในบ้านที่ไม่มีค่าจ้างหรือค่าจ้างถูก ขณะที่ผู้ชายและเพศสภาพชายถูกทำให้ผูกขาดกับสถาบันหลักๆนอกบ้าน ทั้งศาสนา เศรษฐกิจ การเมือง การศึกษา ศาล ทหาร การทูต และรัฐบาลก็เอื้อผลประโยชน์ผู้ชายมากกว่าโดยไม่รู้ตัว ฉะนั้นรัฐด้วยตัวของมันเองจึงอาจกล่าวได้ว่าเป็น “รัฐผู้ชาย” (“male state”)[2]

ดังนั้นเพื่อความเสมอภาค ผู้หญิงไม่เพียงต้องต่อสู้ดิ้นรนต่อความสัมพันธ์เชิงอำนาจกับผู้ชายภายในบ้าน แต่ยังต้องรวมไปถึงพื้นที่นอกบ้านด้วย ทั้งการเมืองภาครัฐ เศรษฐกิจ ค่านิยม บลาๆ ๆ

นี่แค่ผู้หญิงไม่พิการนะ แล้วผู้หญิงพิการล่ะต้องเผชิญอะไรบ้าง ?

เพราะการเคลื่อนไหวที่ผ่านมา แม้นักสตรีนิยมและ feminisms สำนักต่างๆจะพุ่งเป้ามาที่ระบบปิตาธิปไตยที่กระทำต่อเนื้อตัวร่างกายของพวกเธอ เต้านม จิ๋ม มดลูก แต่ดูเหมือนว่า ก็ไม่ใช่ทุกร่างกายที่จะถูกเชิญรวมไปอยู่ในความหมายของคำว่า “สตรี” ผู้หญิงพิการถูกมองข้ามในพื้นที่ขบวนการเคลื่อนไหวของผู้หญิง ทั้งสิทธิในการศึกษาอาชีพ เสรีภาพในการเลือกคู่ครองได้เอง ค่าจ้างแรงงานของหญิงกรรมาชีพ ความรุนแรง โอกาสอย่างมากที่สุดของผู้หญิงพิการคือถูกกล่าวอย่างอ้อมๆหรือพ่วงท้ายไว้ว่าไม่ตกขบวน

เช่นเดียวกับข้อเสนอของบรรดานักสตรีนิยม ร่างกายมนุษย์เป็นพื้นที่ทางการเมือง ช่วงชิงอำนาจและการกดทับ ดูเหมือนว่า คนพิการไม่ว่าจะด้วยคุณลักษณะใดก็ตาม ถูกทำให้ “เป็นอื่น” ไปจากร่างกาย “ทั่วไป” ที่ถูกนิยามว่าเป็น “ความปรกติ” และ “ร่างกายตามธรรมชาติ” ซึ่งร่างกาย “ตามธรรมชาติ” เองก็เป็นวาทกรรมที่แปรผันตามบริบทสังคม ร่างกายผู้หญิงเองก็ถูกมองว่าเป็นความพิการชนิดหนึ่งในยุคที่ร่างกายของผู้ชายคือภาพตัวแทนของร่างกายตามธรรมชาติก่อนศตวรรษที่ 18 ที่นักภายวิภาค แพทย์และนักปรัชญาในยุโรปเชื่อว่าร่างกายตามธรรมชาติที่สมบูรณ์ไม่พิกลพิการคือร่างกายของผู้ชายที่มีงวงจู๋และพวกไข่ยื่นออกมาจากร่างกาย ขณะที่ร่างกายเพศหญิงมีจู๋ที่พิการไม่สามารถพัฒนาอวัยวะของตนเองให้ยื่นยาวออกมาได้[3]

ความ “ปรกติทั่วไป” ถูกกำหนดผ่านการสังเกตทางร่างกายเป็นพื้นฐาน และร่างกายที่นิยามให้ “ผิดธรรมชาติ” และ “ผิดปรกติ” ก็ถูกลดคุณค่าและจัดประเภทให้เป็นตัวประหลาด เห็นได้จากการนำผู้หญิงมีหนวดเครา ผู้หญิงอ้วน ผู้หญิงชาติพันธุ์ชนเผ่าต่างๆที่มีผิวพรรณร่างกาย “ประหลาด” ในสายตาชาวตะวันตกคริสเตียนผิวขาว ต้อนมาจัดแสดงให้ชมใน “freak show” ช่วงศตวรรษที่ 19

แต่ไม่ได้หมายความว่าความเข้าใจเห็นอกเห็นใจคนพิการจะต้องเป็นอารมณ์ร่วมของผู้หญิงมากกว่าผู้ชาย เพียงเพราะครั้งหนึ่งมนุษยชาติเพศหญิงเคยถูกนิยามว่าพิการ หากแต่สำนึกการแบ่งประเภทมนุษย์ว่าอะไรผิดหรือไม่ผิดปรกติ เป็นลดทอนความเป็นมนุษย์อย่างหนึ่ง เช่นปล่อยให้ร่างกายของผู้หญิงที่ไม่ได้พิการมีคุณค่าเหนือกว่าหญิงพิการ ในฐานะ “ความเป็นผู้หญิงที่สมบูรณ์แบบ” Alexa Schriempf ผู้เชี่ยวชาญสาขาสตรีศึกษาเสนอว่า นักสตรีนิยมจำเป็นต้องนำทฤษฎีความพิการมารื้อถอนโครงสร้างการทำให้เป็นมาตรฐานความปรกติสามัญที่กดขี่ผู้หญิงพิการในฐานะผู้หญิงพิการ[4]

อย่างไรก็ตามการเปิดประเด็นผู้หญิงพิการในพื้นที่ของสตรีนิยมและการเคลื่อนไหวเพื่อสตรีก็ไม่ได้เพื่อเพิ่ม (add) คนพิการเข้าไปในพื้นที่แห่งความรู้หรือการเคลื่อนไหว หากแต่เริ่มจากมุมมองของคนพิการด้วย ที่จะอธิบายด้วยมุมมองโลกทัศน์ที่แตกต่าง นำไปสู่การผลิตสร้างความรู้และศาสตร์จากตำแหน่งแห่งที่ของเจ้าของประสบการณ์เอง ที่ผู้หญิงพิการได้เป็นประธานแห่งองค์ความรู้นั้น ไม่ใช่วัตถุแห่งการศึกษา

เช่นเดียวกับทฤษฎีจุดยืนสตรีนิยม (Feminist Standpoint Theory) ที่ประยุกต์พัฒนามาจากแนวคิดมาร์กซิสต์ (Marxism) และ “จุดยืนกรรมกร” (Proletarian Standpoint) ที่ยืนยันว่า คนเป็นนายทาสหรือผู้ควบคุมกฎจะมองโลกแตกต่างจากทาสหรือผู้ที่ถูกกดขี่ ซึ่งจุดยืนที่แตกต่างกันส่งผลต่อการสร้างความรู้นิยามความหมาย และจุดยืนของผู้ที่ถูกกดขี่ก็จะสร้างชุดความรู้เพื่อเปลี่ยนแปลงท้าทายการดำรงอยู่ของความสัมพันธ์เชิงอำนาจในสังคม เปิดโปงความเป็นจริงในสังคม เพื่อค้นหาแนวทางที่จะปลดปล่อยมนุษยชาติด้วยตนเอง ไม่ต้องให้ใคร “พูดแทน”[5] และตำแหน่งแห่งที่ของการถูกกดขี่ก็มีลำดับชั้นที่หลากหลายและซับซ้อน ผู้หญิงชนชั้นกลาง ผู้หญิงชนชั้นแรงงาน ผู้หญิงพิการ ผู้หญิงชนชั้นกลางพิการ ผู้หญิงชนชั้นแรงงานพิการ

มากไปกว่านั้นในประเทศโลกที่สาม ที่รัฐสวัสดิการไม่เพียงพอทั่วถึง สถานะทางเศรษฐกิจของผู้หญิงก็เป็นอีกเงื่อนไขสำคัญในการดำรงชีวิต ความยากจนทำให้ผู้หญิงพิการต้องเผชิญความยากลำบากมากกว่า ความพิการยังคงเป็นอุปสรรคต่อการเข้าถึงการศึกษา วิชาชีพและอาชีพที่หลากหลายและสร้างรายได้ดี เมื่อมีฐานะยากจน ขาดการศึกษาหน้าที่การงานที่ดีมั่นคง จากข้อสังเกตในภูมิภาคและชุมชน ผู้หญิงที่พิการมักมีแนวโน้มที่จะยากจนกว่าผู้หญิงไม่พิการ ความพิการมักจะนำไปสู่ภาวะพึ่งพิงซึ่งเปิดโอกาสให้เกิดความเปราะบางต่อการถูกกระทำความรุนแรง เช่น ผู้หญิงพิการในแอฟริกาใต้[6]

ผู้หญิงตาบอดที่ถูกผลักให้เป็นผู้หญิงชายขอบของชายขอบ ก็ต้องเผชิญชุดกดทับหรือเงื่อนไขที่ซับซ้อนขึ้นอีก จากการสัมภาษณ์ศึกษาประวัติ การดำรงชีวิต และความรักหญิงตาบอดทั้งของจุฑารัตน์ อภิวัฒน์ธนกุล เผยให้เห็นถึงมายาคติของสังคมที่มีต่อผู้หญิงตาบอดว่า ลำพังสังคมก็ประคบประหงม ดูแลคนตาบอดมาจนคนตาบอดรู้สึกเป็นภาระ ผู้หญิงตาบอดยิ่งมักไม่ค่อยได้ออกจากพื้นที่บ้าน พ่อแม่ของลูกสาวตาบอดมักคิดว่าไม่ควรออกจากบ้าน เก็บไว้ในบ้านให้เฝ้าบ้าน ไม่ยอมให้ออกไปไหนแม้แต่เข้าโครงการอบรมพัฒนาคนตาบอด ขณะเดียวกันผู้หญิงตาบอดก็มักเกิดความกังวลใจเมื่อไม่มีลูกกับผัวอยู่ด้วยและในกรณีที่เลิกงานแล้วกลับบ้านดึก มักรู้สึกไม่สะดวกเท่าผู้ชายตาบอด ไม่มีความเชื่อมั่น รู้สึกไม่ปลอดภัย  ขณะเดียวกันก็ไม่กล้าถ้าแสดงออกมาก ทั้งอารมณ์ความรู้สึกความต้องการ[7]

สตรีนิยมสายเพื่อคนพิการอย่าง Jenny Morris กล่าวว่า ผู้หญิงพิการมักถูกประเมินว่าเป็นแม่และผู้หญิงที่ไม่สมบูรณ์ เพราะสภาพความพิการ ทั้งๆที่อันที่จริงแล้วคนพิการก็มีความต้องการอยากเป็นพ่อคนแม่คนที่สมบูรณ์ตามบรรทัดฐานทางสังคม แต่สังคมและรัฐมักคิดว่าคนพิการไม่สามารถช่วยเหลือตนเองได้ ซ้ำการมีลูกจะสร้างความลำบากให้กับแม่พิการ และไม่ปลอดภัยสำหรับเด็ก นำไปสู่การกีดกันการเจริญพันธ์ของคนพิการ[8] ดังที่นักทฤษฎีสตรีนิยม รัฐศาสตร์ สังคมศาสตร์ และพิการศึกษา (disability studies) Eva Kittay กล่าวว่า บางครั้งหญิงที่พิการก็รู้สึกและมองตนเองว่าพวกเธอเป็นผู้หญิงน้อยกว่าผู้หญิงปกติคนอื่นๆ[9]

แต่ถึงอย่างไร “ความเป็นหญิง” ก็ไม่จำเป็นต้องสัมพันธ์กับการเป็นเมียและแม่อย่างที่สังคมปิตาธิปไตยขัดเกลาให้เข้าใจ การมีลูกของคนพิการจึงควรเป็นทางเลือกมากกว่าเป็นเครื่องประกัน “ความเป็นหญิง” ของคนพิการหญิง เพราะไม่เช่นนั้นจะเท่ากับว่าได้ผลักผู้หญิงพิการที่ไม่มีลูก เป็นหมัน โสด ไม่แต่งงาน ไม่ต้องการมีลูก ออกจากความหมายของ “ความเป็นหญิง”

และเนื่องจากชุดประสบการณ์ที่แตกต่างกันของผู้หญิงก็นำไปสู่การเคลื่อนไหวเฉพาะกลุ่มที่หลากหลาย ขณะที่ในพ.ศ. 2494 กลุ่มแรงงานกรรมกรหญิงก่อตั้ง “สหพันธ์กรรมกรหญิง” (ในความอุปถัมภ์ของท่านผู้หญิงละเอียด พิบูลสงคราม) เพื่อให้กรรมกรหญิงรวมกลุ่มกันเคลื่อนไหวเรียกร้องและรับสวัสดิการที่พึงได้ สมาชิกของสหพันธ์ฯจะได้ค่าคุ้มครองช่วยเหลือเช่นถ้ามีบุตรจะได้รับเงินช่วยเหลือ 150 บาท พร้อมอุปกรณ์เลี้ยงลูก เมื่อเจ็บป่วยสามารถนำใบเสร็จมาเบิกเงินได้ ถ้าตายก็จะได้รับค่าทำศพ 500 บาท สตรีพิการทางสายตา ก็ได้รวมกลุ่มในเชิงสถาบันเช่นกัน “สมาคมสตรีตาบอดในประเทศไทย” ได้ก่อตั้งขึ้นเมื่อพ.ศ. 2524 อันเนื่องมาจากในปีนั้น สหประชาชาติกำหนดให้เป็นปีคนพิการสากล ค.ศ. 1981 และองค์การสตรีตาบอดสากลจึงได้จัดสัมมนาสตรีตาบอดในเอเชีย ในวันที่ 23 มีนาคม – 10 เมษายน 2524 ที่กัวลาลัมเปอร์ หัวข้อ “การจัดตั้งองค์กรสตรีตาบอดแห่งชาติ” (“Training Seminar for Blind Women in Asia”) เพื่อให้หญิงตาบอดได้ปรึกษาหารือ แลกเปลี่ยนเรียนรู้ หาแนวทางแก้ไขปัญหาร่วมกัน สร้างเครือข่าย ด้วยการจัดตั้งองค์กรระดับชาติ เรียนรู้การบริหารองค์กร เช่นเดียวกับประเทศอื่นๆในเอเชีย มูลนิธิช่วยคนตาบอดแห่งประเทศไทยก็ได้รับจดหมายเชิญ[10] นำไปสู่ความพยายามตั้งกลุ่มเพื่อสิทธิและแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นจากประสบการณ์ผู้หญิงตาบอด ซึ่งจัดประชุมครั้งแรกวันที่ 22 สิงหาคม 2524 มีผู้เข้าร่วมประชุม 35 คน ตั้งเป็นชมรมสตรีตาบอดแห่งประเทศไทย ดำเนินการอย่างไม่เป็นรูปธรรมมาจนกระทั่ง พ.ศ. 2540 จึงจดทะเบียนเป็นองค์กรตามกฎหมาย เป็น “สมาคมสตรีตาบอดแห่งประเทศไทย” และได้ผลิต “วารสารแถบเสียง” ราย 3 เดือน เพื่อแก้ไขความไม่มั่นใจ ความรู้สึกเป็นปมด้อย เน้นคุณภาพชีวิต สวัสดิการ บุคลิกภาพ การศึกษาและอาชีพ จัดหาสวัสดิการช่วยเหลือสมาชิก โดยเฉพาะเวลาที่ต้องเผชิญกับความยากลำบากในการตั้งครรภ์ คลอดบุตร (เพราะคนตาบอดก็มีสิทธิที่จะแต่งงานมีครอบครัว มีลูก) และประสบอุบัติเหตุ

เช่นเดียวกับที่สตรีศึกษาและสตรีนิยมเป็นทั้งปรัชญาความรู้และการเคลื่อนไหวทางสังคมการเมืองที่ไม่สามารถแยกอกจากกันได้ขาด การเคลื่อนไหวเพื่อผู้หญิงก็ไม่สามารถแยกออกไปจากคนพิการได้ เพราะในคนพิการก็มีเพศ และในทุกๆเพศก็มีคนพิการ ต่างต้องเผชิญชุดประสบการณ์ รูปแบบของการถูกกดทับกดขี่ เลือกปฎิบัติ ล่วงละเมิดที่คล้ายคลึงและซ้อนทับกัน และทุกคนก็เป็นมนุษย์ที่พึงได้รับสิทธิอย่างเสมอภาค ภายใต้ร่มของสิทธิมนุษยชน

เหมือนกับการเดินขบวนด้วยสันติวิธี ในนาม Women's March on Washington เมื่อวันเสาร์ที่ 21 มกราคม 2560 ที่มีผู้คนทุกเพศสภาพเพศวิถี อย่างน้อยที่สุด 3.3 ล้านคนทั่วสหรัฐฯ แสดงจุดยืนถึงความเคารพศักดิ์ศรีและสิทธิที่มนุษย์พึงมี ไม่เฉพาะสิทธิความเท่าเทียมทางเพศในฐานะที่เป็นหรือมีเพศใดเพศหนึ่ง สิทธิของ LGBTQIA บลาๆ และการเข้าถึงสุขภาวะทางเพศของผู้หญิงอย่างทั่วถึงเท่านั้น แต่ยังรวมไปถึงเรียกร้องการคุ้มครองสิทธิให้กับกรรมาชีพ กลุ่มผู้อพยพ ศักดิ์ศรีของศาสนิกและชาติพันธุ์อันหลากหลาย ซึ่งรวมไปถึงสิทธิคนพิการด้วย ในฐานะสิทธิมนุษยชน[11]

เพราะสถานะและตำแหน่งแห่งที่ของการถูกกดทับ อันเป็นปริมณฑลที่จะผลิตองค์ความรู้และเครื่องมือกลไกต่อสู้เคลื่อนไหวจากชุดประสบการณ์เพื่อปลดปล่อยมนุษยชาตินั้น แม้จะต้องระมัดระวังการพูดแทนบ้าง แต่ก็สามารถก้าวข้ามแลกเปลี่ยนเรียนรู้ไปมาระหว่างกันได้

เพราะอย่างไรก็ตามพรมแดนของความรู้และการเคลื่อนไหว ถูกขีดเส้นแบ่งไว้เป็นเส้นประเท่านั้นเอง

 

 

[1] Eisenstein, Zillah R. (1981). The radical future of liberal feminism. New York, Longman.

[2] Radtke, H. Lorraine; Stam, Henderikus J. (1994). Power/gender : social relations in theory and practice. London : Sage, p. 145.

[3] Libbon, Stephanie E.. (2007, May). Pathologizing the Female Body: Phallocentrism in Western Science. Journal of International Women’s Studies  8 (4), Pp. 79-92.

[4] Schriempf, Alexa. (2001, November). (Re)fusing the Amputated Body: An Interactionist Bridge for Feminism and Disability, Hypatia Feminism and Disability, Part 1 16(4), pp. 53-79.

[5] ทวีลักษณ์ พลราชม,งานเขียนของผู้หญิงโลกที่สามกับการตั้งคำถามญาณวิทยาสตรีนิยม. กรุงเทพฯ: สาขาสตรีศึกษา วิทยาลัยสหวิทยาการ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, 2550, น. 60-63.

[6] Chindimba, Agness. (2011, September). The place of women with disabilities in feminist movements,

BUWA! A Journal on African Women's Experiences 1(2), pp. 98-100.

[7] จุฑารัตน์ อภิวัฒน์ธนกุล. หญิงตาบอด : วิถีชีวิต การสร้างพลังอำนาจและกระบวนการต่อสู้เพื่อพัฒนาโอกาสทางสังคม. กรุงเทพฯ : สำนักบัณฑิตอาสาสมัคร มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, 2546, น. 85, 87-88.

[8] Morris, Jenny. (1998) Feminism, gender and disability: Paper presented at a seminar in Sydney, February 1998. Sydney.; (2001, November). Impairment and Disability: Constructing an Ethics of Care That Promotes Human Rights. Hypatia16 (4), pp.1-16.

[9]Kittay, Eva; Schriempf, Alexa; Silvers, Anita and Wendell, Susan. (2001, November). Introduction, Hypatia Feminism and Disability, Part 1 16(4), pp. vii-xii.

[10] จุฑารัตน์ อภิวัฒน์ธนกุล. หญิงตาบอด : วิถีชีวิต การสร้างพลังอำนาจและกระบวนการต่อสู้เพื่อพัฒนาโอกาสทางสังคม. กรุงเทพฯ : สำนักบัณฑิตอาสาสมัคร มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, 2546, น. 83-85.

[11]  Women's March on Washington. Guiding Vision and Definition of Principles. ดาวน์โหลดได้ที่

https://static1.squarespace.com/static/584086c7be6594762f5ec56e/t/587ffb20579fb3554668c111/1484782369253/WMW+Guiding+Vision+%26+Definition+of+Principles.pdf