Skip to main content

จะเป็นอย่างไรนะ ถ้าอยู่ดีๆ เด็กชายที่เคยร่าเริง กลับไม่พูดไม่จาเพราะภาวะออทิสซึม รู้จักโอเวน ซัสไกนด์ หนุ่มวัย 23 ที่สื่อสารกับคนรอบข้างผ่านคำพูดของตัวการ์ตูนดิสนีย์ แม้ภาวะออทิสซึมที่เขามีจะทำให้เขาหวาดระแวงกับการเปลี่ยนแปลงรอบกาย แต่เขากลับเป็นหนุ่มวัยรุ่นที่เปี่ยมไปด้วยพลัง ความสุขและไฟในการใช้ชีวิต<--break->

เมื่อวันที่ 15 ก.พ.2560 ที่ผ่านมา Documentary Club ได้มีการฉายภาพยนตร์สารคดี Life, Animated  หรือขอบคุณนะที่โลกนี้มีการ์ตูน ภาพยนตร์ 1ใน 5 ผู้เข้าชิงออสการ์ครั้งล่าสุด ที่เล่าเรื่องของชายวัย 23 ปี ซึ่งเผชิญชีวิตช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อ เรียนจบและต้องแยกตัวเองออกไปอยู่อพาร์ทเมนท์เพียงลำพังตามวัฒนธรรมของวัยรุ่นอเมริกัน ที่เป็นทั้งจุดเปลี่ยนของชีวิต ตื่นเต้น สับสนและกังวลใจ

โอเวน ซัสไกนด์ มีภาวะออทิสซึม หรือที่รู้จักว่า ออทิสติก เขาเคยเป็นเด็กที่มีพัฒนาการแข็งแรงสมบูรณ์ดี แต่พออายุ 3 ขวบพัฒนาการทางการพูดก็เริ่มถดถอย ไม่เป็นภาษา ไม่มองตา ฉุนเฉียวและอีกหลายอาการแปลกๆ กระทั่งหยุดพูดนับแต่นั้นเป็นต้นมา โอเวนที่เคยพูดเก่งและฉลาดเฉลียวก็กลายเป็นโอเวนอีกคน ที่แม้แต่ครอบครัวของเขาเองก็ไม่รู้จัก

ในตอนแรก ครอบครัวใจสลาย และพับฝันทั้งหมดที่พวกเขามีกับลูกคนนี้

แม้โอเวนจะไม่สนใจโลกรอบกายและมีสมาธิกับอะไรได้ประเดี๋ยวประด๋าว การ์ตูนดิสนีย์กลับเป็นสิ่งเดียวที่ยึดเหนี่ยวโอเวนให้มีสมาธิและนั่งนิ่งๆ ร่วมกับวอลเทอร์พี่ชายของเขา วันหนึ่งขณะดูเดอะ ลิตเติล เมอร์เมดหรือเงือกน้อยผจญภัย โอเวนเริ่มพูดเลียนแบบคำจากในการ์ตูนหลังจากไม่พูดอะไรเลยมาหลายปี “Just your voice” (เสียงของเธอ) คือคำแรกที่โอเวนพูดกับพ่อ ซึ่งแน่นอนว่า พ่อไม่เข้าใจจนกระทั่งได้ดูฉากดังกล่าวในการ์ตูน

ครอบครัวเริ่มใจชื้นและเปลี่ยนการสื่อสารด้วยช่องทางใหม่คือ การพูดตามตัวการ์ตูน ความชื่นชอบนี้ทำให้โอเวนตั้งชมรมดิสนีย์ในโรงเรียนของเขา ซึ่งมีเพื่อนเข้าร่วมหลายสิบคน นอกจากดูการ์ตูนแล้ว พวกเขายังเรียนรู้การใช้ชีวิต การจัดการอารมณ์ตัวเองและผู้คนรอบข้างร่วมกัน

ฉากหนึ่งในห้องชมรม สมาชิกหลายคนนั่งล้อมวงดู เดอะ ไลออน คิงส์ และเป็นที่รู้ๆ กันดีว่า มีฉากเศร้าเคล้าน้ำตาอยู่หลายฉาก เราจึงได้เห็นการแสดงออกทางอารมณ์ความรู้สึกของเด็กที่แตกต่างกันออกไป ไม่ได้มีเพียงน้ำตาคลออยู่ที่ตาสองข้างเท่านั้น มือที่กำ หลังนั่งเกร็งและท่าทางทีแสดงถึงความกระอักกระอ่วน ก็อาจเป็นภาพที่แสดงออกได้ดีว่า คนที่มีภาวะออทิสซึมนั้น ไม่ได้รับอารมณ์ความรู้สึกย่อหย่อนน้อยไปกว่าเราเลย

ตอนหนึ่งในภาพยนตร์ ครอบครัวของโอเวนได้กล่าวถึงภาวะที่ลูกของตนเป็นว่า โลกของคนเป็นออทิสซึมนั้นเหมือนโลกที่มีพื้นที่จำกัด พวกเขาไม่ชอบการเปลี่ยนแปลง ไม่ชอบสิ่งที่คาดเดาไม่ได้ นั่นจึงอาจเป็นเหตุผลที่ทำให้การ์ตูนดิสนีย์ซึ่งไม่มีวันเปลี่ยนแปลงนั้นเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งในชีวิตของโอเวนได้อย่างง่ายดาย เขาจึงอ้างอิงการกระทำทุกอย่าง เข้ากับคาแรกเตอร์ของตัวการ์ตูนดิสนีย์ และเรียนรู้ไปพร้อมกับการเรียนรู้ตัวเอง อีกทั้งยังสื่อสารอารมณ์โดยเปรียบเทียบกับคาแรกเตอร์ของตัวการ์ตูน เช่น ไม่อยากโตเป็นผู้ใหญ่เหมือนกับปีเตอร์แพน หรือกล้าหาญเด็ดเดี่ยวเหมือนไลออนคิงส์


โอเวน ในสวนสนุกดิสนีย์แลนด์
(ที่มา Documentary Club)

ช้างดัมโบ ในฉากเก็บของด้วยสีหน้ากังวล ถูกใช้เป็นคาแรกเตอร์เพื่อแสดงความรู้สึกเมื่อต้องเตรียมตัวย้ายออกจากบ้านไปยังอพาร์ทเมนท์ในชุมชนอยู่อาศัยแบบมีผู้ช่วย ซึ่งเป็นพื้นที่อพาร์ทเมนท์เล็กๆ แยกห้องอยู่ร่วมกัน 3-4 คนต่อหลัง แม้จะมีการประชุม ฝึกความพร้อมและกระตุ้นพัฒนาการต่างๆ ของโอเวนอย่างต่อเนื่องโดยครู นักกิจกรรมบำบัดและนักฝึกการเข้าสังคม ซึ่งเขาทำมันได้ดี แต่เขาก็ยังอดกังวลไม่ได้ เมื่อจะต้องอยู่และทำทุกอย่างด้วยตัวเอง

ไม่นานนัก พ่อแม่ที่เคยกังวลใจ ก็มาส่งโอเวนที่อพาร์ทเมนท์พร้อมบอกว่า เขาทำได้ และกลับบ้านโดยไม่ลังเลใจ

เขาไม่ใช่เด็กอีกต่อไปแล้ว แน่ล่ะ แม้สิ่งที่เขาทำอยู่คือเปิดการ์ตูนดิสนีย์ดูซ้ำแล้วซ้ำเล่า แต่เขาก็มีหน้าที่ที่ต้องรับชอบเพิ่มเติม มีแฟนสาวซึ่งคบกับมากว่า 4 ปีที่ย้ายมาอยู่อพาร์ทเมนท์เดียวกัน (ซึ่งเลิกกันในอีกไม่นานและทำให้เขาหัวเสียมาก) และทำกิจวัตรเฉกเช่นเดียวกับที่ผู้ใหญ่คนอื่นๆ ทำ  เขาเริ่มฝึกทำอาหาร โดยมีผู้ช่วยในชุมชนเป็นคนสอน เริ่มวางแผนการเงินและจัดการค่าน้ำค่าไฟด้วยตัวเอง จนอาจเรียกได้ว่า เขาเป็นคนมีความสุขคนหนึ่งที่ใช้ชีวิตโดยไม่พึ่งพิงภายใต้สังคมที่เข้าใจ ยืดหยุ่นและยอมรับความแตกต่างหลากหลายของแต่ละบุคคลได้อย่างสมบูรณ์แบบ


วงเสวนา เข้าใจออทิสซึม (Autism be understanding)

ก่อนภาพยนตร์ฉาย มีวงเสวนา เข้าใจออทิสซึม (Autism be understanding) โดยได้รับความสนใจจากทั้งพ่อแม่ผู้ปกครองและคนทั่วไปเข้าร่วมฟังเป็นจำนวนมาก

ดร.ขวัญ หารทรงกิจพงษ์ ประธานชมรมเมืองไทยเข้าใจออทิสซึมกล่าวว่า ภาวะออทิสซึมจะแสดงออกได้หลายรูปแบบ ทั้งด้านการสื่อสาร การเรียบเรียงภาษา การเข้าสังคม จนอาจบางครั้งอาจมองว่า กลุ่มคนเหล่านี้มีพฤติกรรมแปลกๆ โดยสาเหตุของการเกิดอาการดังกล่าว ยังไม่รู้ชัดนัก บ้างก็ว่าเกิดจากสภาพแวดล้อม การปนเปื้อนสารเคมี ยาฆ่าแมลง ฯลฯ บ้างก็ว่าเกิดจากพันธุกรรมที่ทำให้พัฒนาการของสมองของพวกเขาไม่เหมือนคนทั่วไป

“หลายคนอาจเข้าใจว่า ออทิสซึมนั้นเหมือนกับดาวน์ซินโดรม แต่แท้จริงแล้ว ภาวะออทิสซึมนั้นเกี่ยวข้องกับการเข้าสังคมเป็นส่วนมาก การทำให้สังคมมีความเข้าใจจึงเป็นเหมือนก้าวแรกที่สำคัญ” เธอกล่าว

นอกจากนี้ เธอเสริมว่า สิ่งสำคัญคือจะต้องทำให้เด็กเชื่อว่า คนแต่ละคนมีหน้าที่ของตัวเอง และไม่ว่าแต่ละคนจะทำหน้าที่อะไร ก็ล้วนอยากจะบรรลุเป้าหมายที่ตั้งไว้ด้วยกันทั้งสิ้น

กิดานันท์ งามดีวิไลศักดิ์ หรือก้อย แม่และบล็อกเกอร์จากเพจ "การเดินทางที่อ่อนไหวกับเด็กชายออทิสติก” รู้ว่า ลูกของเธอมีภาวะออทิสซึมเมื่อตอนเขาอายุ 1 ขวบ แม้ว่าเธอจะภาคภูมิใจที่ลูกของตัวเองมีความจำดี อ่านหนังสือได้ไว ฟังโน้ตดนตรีได้แม่นยำ แต่ในใจก็รู้ว่ามีความผิดปกติเกิดขึ้น เพราะเธอไม่รู้จักตัวตนของลูก รวมทั้งลูกเองก็ไม่รู้จักเธอ

ความกังวลนี้ นำเธอไปพบกุมารแพทย์ ความหวังจึงเริ่มกลับมาเมื่อรู้ว่า ถึงแม้ลูกเธอจะมีภาวะออทิสซึม แต่หากได้รับการฝึกฝนให้ใช้ชีวิต ก็จะสามารถใช้ชีวิตร่วมกับผู้อื่นได้อย่างไม่มีปัญหา เธอเริ่มหาข้อมูลในอินเทอร์เนต และฝึกฝนพัฒนาการลูกอย่างจริงจัง

“หน้าที่ของแม่ คือฝึกลูก ฝึกให้หมด เราส่งเขาไปโรงเรียนบำบัดพัฒนาการ เขากลับมาทำได้ทุกอย่าง แต่ขาดแรงบันดาลใจ บำบัดแล้วเรากลับได้หุ่นยนต์กลับมา เราสอนให้เด็กสบตาเมื่อพูด ลูกก็จำ พอเขาเจอคนที่พูดแล้วไม่สบตา ลูกก็ไปจับหน้าเขาหันมาให้สบตา สิ่งเหล่านี้มันใช้ไม่ได้ทุกอารมณ์และสถานการณ์ ดังนั้นโรงเรียนที่ดีที่สุดก็คือบ้าน และครูที่ดีที่สุดก็คือพ่อแม่

“สิ่งสำคัญคือ ไม่สำคัญหรอกว่านี่คือโรคอะไร เราต้องดูว่า เขาขาดอะไร บกพร่องอะไร หน้าที่ของเราคือเติมให้เต็ม อย่าทำให้คำๆ นี้ (ออทิสติก) จำกัดการพาลูกออกมาสู่โลกของเรา” เธอกล่าว

ด้าน Janelle Livingston ผู้เชี่ยวชาญด้านออทิสซึม จากศูนย์ฝึกแคร์ (Center for Autism Recovery and Education: CARE) กล่าวว่า ในสหรัฐอเมริกา พ่อแม่จะรู้ว่าลูกตัวเองมีภาวะออทิสซึมผ่านทางครูหรือโรงเรียน หลังจากรู้แล้ว เด็กก็จะถูกส่งต่อไปฝึกตามทักษะที่พวกเขาขาด เช่น การพูด การกิน การเข้าสังคม ฯลฯ หลังจากนั้นผู้เชี่ยวชาญด้านพัฒนาการก็จะประเมินว่า เด็กยังต้องการความช่วยเหลือในด้านใดบ้าง โดยเริ่มที่ผู้ปกครองว่า ตั้งเป้าให้ลูกตัวเองเป็นอย่างไร

เธอกล่าวว่า เด็กที่จะพัฒนาได้ดี ต้องฝึกพัฒนาการอย่างต่อเนื่องเป็นเวลา 40 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ เมื่อเด็กเข้าสู่วัยเรียน นักการศึกษาพิเศษก็จะจัดการเรียนการสอนที่เหมาะกับการเรียนรู้ของเด็กแต่ละคน เพื่อให้เด็กสามารถเรียนและได้รับการสนับสนุนอย่างเต็มที่

พอเด็กอายุ 16 ปี ก็จะมีการวางแผนร่วมกันระหว่างครู นักกิจกรรมบำบัด นักฝึกการเข้าสังคมและตัวเด็กเอง เพื่อสำรวจว่า เขาอยากจะเรียน ทำงานหรือทำอะไรต่อ

“สิ่งที่อยากเพิ่มเติม คือความรู้ความเข้าใจของพ่อแม่ ครูและผู้เชี่ยวชาญว่า แต่ละคนมีความแตกต่าง เราไม่ต้องการให้จับเด็กลงบล็อก แต่ควรทำให้เขาสามารถเรียนรู้ขณะที่มีความแตกต่าง ได้เรียนในบทเรียนที่แตกต่างเฉพาะบุคคล ได้สนทนา แสดงออก และเรียนรู้ร่วมกัน” Janelle กล่าว

ภาพยนตร์สารคดี Life, Animated จะเข้าฉายในโรงภาพยนตร์ตั้งแต่วันที่ 23 ก.พ.เป็นต้นไป สามารถเช็ครอบและโรงภาพยนตร์ที่เข้าฉายได้ที่ https://www.facebook.com/DocumentaryClubTH/videos/1114292078681950