Skip to main content

สถิติในแคนาดาพบว่า มีเพียงร้อยละ 38 ของคนพิการทางสายตาที่มีงานทำ วิจัยชี้ คน 70% เลือกคนไม่พิการเข้าทำงานก่อน หากความสามารถเท่ากัน เพราะมองว่าการจ้างคนพิการนั้นเสียเปรียบ-ทำงานได้ไม่เต็มที่

เจสันและสุนัขนำทางของเขา

3 พ.ย. 2559 เว็บไซต์ข่าวโตรอนโตสตาร์ ของแคนาดารายงานสถานการณ์การประกอบอาชีพของคนพิการทางสายตาในแคนาดา ซึ่งพบว่า มีเพียงร้อยละ 38 ที่มีอาชีพ หลายคนเชื่อว่า การถูกปฏิเสธงานเป็นผลมาจากความพิการ และความไม่เข้าใจในเรื่องสิ่งอำนวยความสะดวกสำหรับคนพิการ

เจสัน มิทเชล ยืนอยู่หน้าห้องพิจารณาคดี ร่วมกับเพื่อนพนักงานอัยการและทนายฝ่ายจำเลย รับฟังรายละเอียดคดีของหญิงวัย 34 ปีที่ถูกจับกุมตัวในขณะกำลังขายโคเคนให้กับตำรวจนอกเครื่องแบบ โดยมีไคลัว สุนัขนำทางของเขา นั่งอยู่ทุกครั้งที่มันขยับตัว เสื้อคลุมที่อยู่ใกล้ๆ ก็จะย่นตามน้ำหนักตัวที่กดทับลงไป

ทนายฝ่ายจำเลยอ่านรายละเอียดของข้อกล่าวหา ขณะที่เจสันจะฟังเพื่อจดจำรายละเอียดทั้งหมด ครึ่งชั่วโมงต่อมา เจสันยืนอยู่หน้าผู้พิพากษา โดยมีไคลัวอยู่ข้างกาย ในขณะที่เขาไล่ลำดับเหตุการณ์ วันที่ สถานที่ และเวลา ซึ่งมีรายละเอียดเป็นหน่วยนาที อย่างไม่มีผิดพลาด

แม้เจสันจะพิการทางสายตา แต่เขาได้รับการยอมรับจากเพื่อนร่วมงานเป็นอย่างดี และไม่เคยคิดว่าตัวเองทำงานไม่ได้ เขาทำงานให้กับสำนักงานอัยการในแคนาดา (Public Prosecution Service of Canada: PPSC) เป็นเวลากว่าสิบปีแล้ว งานของเขาส่วนมากเกี่ยวข้องกับคดียาเสพติด

“เจสันมีความจำที่ยอดเยี่ยมในการจดจำข้อเท็จจริงเกี่ยวกับคดี ข้อกฎหมายที่เกี่ยวข้อง และบรรทัดฐานในการพิจารณาคดี ผมเคยถกประเด็นทางกฎหมายที่เข้าใจได้ยากกับเขา และเขายังสามารถอ้างอิงได้อย่างละเอียดถึงเลขวรรค แม้ว่าคดีนั้นจะย้อนหลังไปถึงหกปี และมีความหนากว่าสามสิบหน้า” ฮาฟรีด อามาชิ เพื่อนร่วมงานของเขากล่าว

นอกจากเจสันจะมีสุนัขนำทางแล้ว เขายังมีเทคโนโลยีที่ช่วยแปลงข้อความเอกสารเป็นเสียง เพื่อนร่วมงานที่คอยช่วยเหลือเขา รวมทั้งเพื่อนร่วมงานคนอื่นอย่างนักกฎหมายหรือผู้พิพากษา ก็มักจะมีความเข้าใจเกี่ยวกับคนพิการอยู่แล้ว

“กฎหมายเป็นระบบที่มีความขัดแย้ง แต่ก็เป็นสิ่งที่จริงใจ” เขากล่าว

อย่างไรก็ดี คนพิการทางสายตาที่ทำงานด้านกฎหมายนั้นกลับหาได้ยาก จากสถิติพบว่า อัตราการว่าจ้างคนวัยทำงานที่พิการทางการมองเห็นในแคนาดานั้นมีเพียงร้อยละ 38 ไดแอน เบอร์เจอรอน ผู้อำนวยการสถาบันคนตาบอดแห่งชาติ ของแคนาดาหรือ ซีเอ็นไอบี (Canadian National Institute for the Blind: CNIB) กล่าวว่า คนตาบอดได้รับการศึกษา แต่เมื่อพวกเขาจบออกไปกลับไม่มีอาชีพที่พวกเขาสามารถทำได้ จึงทำให้ทางสถาบันจัดตั้งแคมเปญที่ชื่อว่า EmpolyAbility เพื่อลบล้างความเข้าใจผิดเกี่ยวกับการทำงานของคนพิการทางการมองเห็น และจัดทำวิดีโอเรื่องการทำงานของผู้พิการทางสายตา เพื่อให้คนไม่พิการเข้าใจความแตกต่างของการทำงานมากขึ้น

ซีเอ็นไอบีกล่าวว่า คนกว่าครึ่งล้านในแคนาดามีความบกพร่องทางสายตาในรูปแบบที่ต่างกัน และกว่าหนึ่งแสนคนอยู่ในวัยทำงาน คนเหล่านี้จึงนับเป็นทรัพยากรจำนวนมากที่ยังไม่ถูกนำมาใช้

บริษัทวิจัยการตลาด Ipsos ได้ทำโพลจากหลากหลายอาชีพทั้ง นักกฎหมาย เทรนเนอร์ฟิตเนส นักวิจัยด้านมะเร็งพบว่า ร้อยละ70 ของชาวแคนาดาตอบว่า หากต้องเลือกระหว่างผู้สมัครที่มีคุณสมบัติเท่ากัน ก็จะเลือกผู้ที่มีสายตาปกติ แทนคนพิการทางการมองเห็น

นอกจากนี้ รายงานเปิดเผยข้อมูลของปี 2555 ว่า ร้อยละ 55 ของคนพิการทางการมองเห็นรู้สึกว่า ผู้ว่าจ้างมองว่าพวกเขาเสียเปรียบคนไม่พิการ และร้อยละ 14 รู้สึกว่า พวกเขาถูกปฏิเสธงาน การสัมภาษณ์ หรือเลื่อนขั้น เนื่องจากการมองเห็นของพวกเขา

อาร์วิน คาแรนดัง เทรนเนอร์ด้านสุขภาพ มีอาการของโรคจอตาเสื่อม ซึ่งทำให้การมองเห็นของเขาเหลือเพียงร้อยละ 5 เขาจบการศึกษา ด้านการออกกำลังกายและการส่งเสริมสุขภาพ จากสถาบันอัลกอนควิน ในเดือนมิถุนายน  นอกจากนี้เขายังได้รับการรับรองความสามารถจากโครงการระดับชาติอย่าง CanFitPro อีกด้วย

“อาร์วินเป็นดั่งอัญมณี เขามีความปรารถนาอย่างแรงกล้าที่จะทำสิ่งที่ต้องการให้ออกมาดีที่สุด ถ้าเขาถูกจ้างให้เป็นครูฝึก คุณสมบัตินี้จะเป็นแรงบันดาลใจที่ดีเยี่ยมแก่ผู้ที่เขาทำงานให้ ความดีของเขาคือสิ่งที่สามารถส่งต่อกันได้” ซินดี เบรดลีย์ หนึ่งในอาจารย์ของสถาบันกล่าว

แต่คาแรนดังกลับกลายเป็นคนตกงาน ในคณะที่เพื่อนร่วมคลาสเรียนได้รับการว่าจ้าง

เขากล่าวว่า มีความเป็นไปได้ว่าความบกพร่องทางการมองเห็นของเขาคือสิ่งที่ขวางกั้นการหางานในสายอาชีพนี้

“ผมคิดว่าผมจะสามารถหางานได้ง่ายกว่าเพื่อนร่วมคลาสคนอื่นๆ เพราะผมทำได้ดีมากในระหว่างที่เรียน” เขากล่าว

แม้เขามีปัญหาทางสายตา แต่นั่นก็ไม่เป็นอุปสรรคในการทำงานหากเขายืนอยู่ใกล้ลูกค้าพอ เมื่อเขาต้องการที่จะดูอย่างละเอียด เขาจะขออนุญาตถ่ายวิดีโอ แล้วปรับภาพให้ช้าลง ขยายภาพในไอแพด หรือแล็ปท็อปของเขา

“ทันทีที่เขาเห็นไม้เท้าของผม พวกเขาก็คิดไปเองว่าผมไม่สามารถมองเห็นได้เลย และเมื่อเห็นใบรับรองการทำงานของผม พวกเขามักสงสัยว่า ผมได้ใบนั้นมาได้อย่างไร” เขากล่าว

อย่างไรก็ดีผู้อำนวยการสถาบันคนตาบอดแห่งชาติแคนาดากล่าวว่า ความเข้าใจผิดเกี่ยวกับระดับความพิการของลูกจ้างเป็นหนึ่งในกำแพงใหญ่ที่ขวางกั้นพวกเขาจากการหางาน

“ผู้คนจำนวนมากไม่เข้าใจว่า ไม่จำเป็นจะต้องใช้อะไรมากมายเมื่อมีคนตาบอดหรือคนสายตาเลือนรางอยู่ร่วมในการทำงาน [ผู้ว่าจ้าง]มักเลือกคนที่มองเห็น เพราะจะได้ไม่ต้องจัดหาสิ่งอำนวยความสะดวก” เธอกล่าว

เบอร์เจอรอนกล่าวว่า คนพิการทางการมองเห็นส่วนมากใช้ซอฟต์แวร์ที่เปลี่ยนข้อความเป็นเสียง ซึ่งช่วยอ่านสิ่งที่ปรากฏอยู่บนหน้าจอคอมพิวเตอร์ ไม่ว่าจะเป็นหน้าเว็บไซต์ อีเมล ไฟล์พีดีเอฟ หรือสเปรดชีท โดยทั่วไป ซอฟต์แวร์เหล่านี้จะถูกฝังอยู่ในไอโฟนหรือมือถือสมาร์ทโฟน

มาฮาเดโอ ซูไค นักวิจัยมะเร็งเครือข่ายสุขภาพ มหาวิทยาลัยด้านสุขภาพ ในโตรอนโต มีความถนัดเฉพาะในเรื่องจีโนมเพื่อวินิจฉัยและรักษาผู้ป่วย เขาสามารถมองเห็นสิ่งต่างๆ แต่ไม่เห็นรายละเอียด หรือตัวอักษรที่มีขนาดเล็ก และสูญเสียกล้ามเนื้อควบคุมลูกตา ทำให้ยากที่จะเพ่งมองเกินสองสามนาทีโดยปราศจากอาการปวดหัวรุนแรง

ซูไคทำงานแล็ปค่อนข้างมาก ใช้เวลาส่วนใหญ่ไปกับผลตรวจของผู้ป่วยและวิเคราะห์ข้อมูลเพื่อช่วยแพทย์ทำแผนการรักษา เขาทำงานกับข้อความและภาพที่ถูกขยายขนาดบนจอคอมพิวเตอร์ขนาดใหญ่ งานของเขาจะต้องไม่ใช้สายตามากนัก การผ่าตัดหรือการจัดการกัมมันตภาพรังสี จึงเป็นงานที่จำเป็นต้องตัดออกไป

นอกจากนี้ที่สถาบัน ยังมีเจ้าหน้าที่เทคนิคที่ช่วยพัฒนาเทคโนโลยีต่างๆ เพื่อให้เขาสามารถทำงานได้อย่างเต็มความสามารถ เขาหวังว่า หากคนไม่พิการหยุดความเข้าใจผิดต่อคนพิการทางการมองเห็น ก็จะช่วยก่อให้เกิดความเท่าเทียมในการเลือกคนเข้าทำงานมากขึ้น และยังอาจก่อให้เกิดการพัฒนาทางด้านระบบเทคโนโลยีต่างๆ อีกด้วย

“คนพิการต้องพูดได้ว่า ผมสามารถเลือกทำสิ่งนี้ เพราะชอบและต้องการทำ และผมจะเก่งในด้านนี้” เขากล่าว

 

แปลและเรียบเรียงจาก

Blind workers teach employers to see the bigger picture